ข้ามไปเนื้อหา

ฉิ้น อรมุต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฉิ้น อรมุต หรือ หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) เมื่อพ.ศ. 2532

ฉิ้น อรมุต เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2474 ที่จังหวัดสงขลา จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดธรรมโฆษณ์ เมื่อพ.ศ. 2486 อุปสมบทและศึกษาทางธรรมอยู่หนึ่งพรรษา จนสอบได้นักธรรมตรี เมื่อพ.ศ. 2496

ฉิ้น อรมุต หรือ หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2560 สิริอายุ 85 ปี

ด้วยใจรัก

[แก้]

ฉิ้น อรมุต รักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ชอบอ่านหนังสือธรรมะและวรรณกรรมชั้นเยี่ยมของไทยเป็นอย่างยิ่ง การอ่านทำให้เขามีความรู้กว้างขวางและลึกซึ้งกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน นอกจากหนังสือแล้วสิ่งที่ฉิ้น อรมุต รักนักหนา ก็คือหนังตะลุงนั่นเอง เขาเคยทำรูปหนังจากกระดาษมาเล่นให้เพื่อนดู แต่บิดาไม่พอใจ ห้ามไม่ให้เล่น และเผารูปหนังเหล่านั้นทิ้งทั้งหมด แต่ด้วยใจรัก ฉิ้น อรมุต ก็ยังทำรูปหนังชุดใหม่ขึ้นมา แล้วเอาไปแอบเล่นที่กุฏิพระในวัดธรรมโฆษณ์ใกล้บ้าน จนชาวบ้านไปเห็นและพากันออกปากชมว่าฉิ้น อรมุต มีความสามารถและในอนาคตคงจะได้เป็นนายหนังตะลุงเป็นแน่

เมื่อบิดาทราบว่าลูกชายแอบไปเล่นหนังตะลุงอีก และเห็นว่าคงห้ามไม่ได้ ก็หันมาสนับสนุนและเป็นคนสอนการแต่งกลอนให้ด้วยตนเอง เนื่องจากเป็นผู้มีความสามารถในด้านเชิงกลอนอยู่แล้ว ฉิ้น อรมุต เรียนการแต่งกลอนจากบิดาสืบต่อมาจนบิดาเสียชีวิต

ฉิ้น อรมุต พยายามหาความรู้ด้านการแสดงหนังตะลุงเพิ่มเติม โดยติดตามไปดูหนังตะลุงคณะต่างๆ ทั้งนั่งดูอย่างคนดูทั่วไปที่หน้าโรง และขึ้นไปดูการแสดงของนายหนังที่หลังโรงด้วย เขาจดจำแบบอย่างที่ดีมาฝึกฝนด้วยตัวเองที่บ้าน จนฝีมือพัฒนาขึ้นตามลำดับ นายหนังตะลุงที่ฉิ้น อรมุต ยึดถือเป็นแบบอย่างด้วยศรัทธาในความสามารถเป็นพิเศษ มีสองท่านคือ หนังขับ บ้านดีหลวง นายหนังอาวุโสผู้มีความสามารถสูงจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนลอยฟ้า โพยมหน ซึ่งฉิ้น อรมุต ได้ไปขอให้เป็นนายหนังขึ้นครู (ฝากตัวเป็นศิษย์และอยู่เรียนวิชาการแสดงด้วย) เมื่ออายุได้ประมาณ 17 - 18 ปี อีกท่านคือ หนังกั้น ทองหล่อ (ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2529) ซึ่งฉิ้น อรมุต ก็ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์เช่นกัน (ตอนอายุ 47 ปี)

ก้าวแรก

[แก้]

เมื่อเริ่มต้นอาชีพนายหนังตะลุง ฉิ้น อรมุต หรือหนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ได้รับการสนับสนุนจากพระภิกษุสองรูปคือ พระพุ่ม และพระครูธรรมโฆษิต (คง โกกนุตโต) ซึ่งได้ช่วยจัดหาเครื่องดนตรีประกอบให้อย่างครบชุด ในระยะแรก ๆ เขาแสดงเรื่องที่จดจำลอกเลียนมาจากหนังตะลุงคณะอื่นๆ ที่เคยดูมา ไม่นานก็สามารถเข้าใจวิธีผูกเรื่องได้ทะลุปรุโปร่ง จึงลองแต่งเรื่องขึ้นมาเอง และทำได้อย่างยอดเยี่ยม จากนั้นมา หนังฉิ้นก็เขียนบทหนังตะลุงเอง จนมีผลงานที่นำออกแสดงซึ่งแต่งขึ้นเองจำนวนมากมาย ในระยะหลัง หนังฉิ้นฝึกฝนการแกะรูปหนังเองด้วย เรียกว่าเป็นนายหนังที่มีความสามารถด้านหนังตะลุงอย่างรอบด้านคนหนึ่งเลยทีเดียว

หนังฉิ้นยึดถือแนวการเขียนบทหนังตะลุงตามแบบอย่างโบราณ คือเน้นการเปิดเรื่องและดำเนินเรื่อง (บรรยายเรื่อง) ด้วยการ "ว่าบท" (ร้องเป็นกลอนตะลุง) ซึ่งแตกต่างจากนักเขียนบทรุ่นใหม่ที่นิยมดำเนินเรื่องด้วยการพูดบรรยาย นอกจากนี้ หนังฉิ้นยังฝึกร้องกลอนสดจนเชี่ยวชาญ จนสามารถว่าบทพลิกแพลงให้เข้ากับสถานการณ์หน้าโรง หรือสถานการณ์เฉพาะของสถานที่ที่ไปแสดงได้อย่างสด ๆ นับว่ามีไหวพริบปฏิภาณอันเป็นเลิศ

ความสำเร็จและรางวัล

[แก้]

หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ได้รับการต้อนรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคใต้ ด้วยความสามารถในการแสดงที่จัดเจนรอบด้าน ตั้งแต่การวางโครงเรื่องที่สนุกน่าติดตาม บทกลอนที่ลื่นไหลงดงาม บทเจรจาที่น่าประทับใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอเรื่องราวที่ส่งเสริมศีลธรรมและคุณธรรมอันดีงาม ซึ่งสอดแทรกไว้อย่างแนบเนียน แม้กระทั่งบทตลก ซึ่งเป็นบทสำคัญมากอย่างหนึ่งของหนังตะลุง หนังฉิ้นก็สามารถสร้างความขบขันและสนุกสนานให้กับผู้ชมได้โดยไม่ต้องใช้ถ้อยคำสกปรกหรือหยาบคายเลย

นามพระราชทาน

[แก้]

หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ได้ออกตระเวนเล่นหนังทั้งในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ได้แสดงแพร่ภาพทางโทรทัศน์อยู่เสมอ และเทปบันทึกเสียงการแสดงก็ได้มีการเผยแพร่ออกอากาศทางวิทยุมาโดยตลอด เมื่อพ.ศ. 2517 หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ได้เล่นหนังตะลุงถวายให้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทอดพระเนตร ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงได้พระราชทานนามคณะหนังตะลุงของหนังฉิ้นว่า "หนังอรรถโฆษิต" อันหมายถึงคณะหนังตะลุงที่ประกาศความดี ยังความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจแก่หนังฉิ้นเป็นล้นพ้น

เมื่อประสบความสำเร็จขั้นสูงสุดในวิชาชีพแล้ว หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ก็ได้ใช้ความสามารถและศักยภาพของความเป็นนายหนังตะลุงยอดนิยม ช่วยเหลืองานทางสังคมต่างๆ ฐานะสื่อที่ช่วยเผยแพร่ข่าวสารและเสริมสร้างศีลธรรมอันดีงามในสังคม ส่วนในด้านการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงหนังตะลุงนั้น หนังฉิ้นได้ทำการบันทึกการแสดงเอาไว้ทั้งที่เป็นภาพถ่าย เทปบันทึกเสียง และเทปบันทึกภาพ ตลอดจนเอกสารที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด แล้วนำไปมอบให้เป็นสมบัติของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา สถาบันทักษิณคดีศึกษา เพื่อให้เป็นข้อมูลและหลักฐานสำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังได้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ที่สนใจและเป็นวิทยากรรับเชิญในหลายโอกาส

ศิลปินแห่งชาติ

[แก้]

ในปีพ.ศ. 2532 หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ได้รับการประกาศให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) และ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ในปีเดียวกัน นับเป็นนายหนังตะลุงคนที่สองที่ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ท่านแรกคือหนังกั้น ทองหล่อ ครูผู้ล่วงลับไปแล้วของหนังฉิ้นนั่นเอง

วาทะ

[แก้]

"หนังตะลุงตั้งแต่อดีตกาลมา นอกจากจะให้ความบันเทิงกับท่านผู้ชมแล้ว ก็ยังทำหน้าที่เป็นผู้อบรมจริยธรรมให้กับชาวบ้าน โดยการสอดแทรกธรรมะเข้าไปในบทบาทของการแสดง หนังตะลุงยังทำหน้าที่เหมือนอย่างกับสื่อมวลชน ที่เราจะให้ทั้งข่าวสาร ทั้งความรู้ ความคิด มีทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการสังคม ตลอดจนขนบประเพณีต่างๆ..." --- หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์

ผลงานวรรณกรรมหนังตะลุง

[แก้]

นอกจากจะมีความสามารถทางการเล่นหนังตะลุงแล้ว หนังฉิ้น อรมุตยังสามารถเขียนบทหนังตะลุงได้ดีเป็นพิเศษ ได้เขียนบทหนังตะลุงไว้ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เรื่อง แต่สามารรถรวบรวมต้นฉบับได้รวมทั้งหมด ๘๒ เรื่อง คือ

๑.กรรมลิขิต ๒.ก่อนตะวันจะลับฟ้า ๓.กามเทพผิดคิว (ความรัก ความลวง) ๔.กุหลาบดำ ๕.กำสรวลสวาท ๖.ขุนศึกนรสิงห์ ๗.ขุนศึกพระพันวษา ๘.คมพิฆาต ๙.คัมภีร์ดำ ๑๐.คู่เกิด คู่กรรม ๑๑.ครูบ้านนอก ๑๒.คู่สร้าง คู่สม ๑๓.ฆาตกรเหนือเมฆ ๑๔.จำเลยรัก ๑๕.จำเลยลึกลับ ๑๖.เจ้าค่อมทอง ๑๗.เจ้าดำดง ๑๘.เจ้าแสงเพชร ๑๙.ดอกฟ้า ละอองดิน ๒๐.ดัชนีนาง ๒๑.แดนอภินิหารย์ ๒๒.ต้นรักดอกโศก ๒๓.ตุ๊กตาทอง ๒๔.ถล่มวิมานรัก ๒๕.ทวนทิพย์ทวนทอง ๒๖.แหวนประดับชีวิต ๒๗.ทุ่งร้างทางรัก ๒๘.เทพเจ้าหลงชาติ ๒๙.เทพธิดาดง ๓๐.เทพบัญชา ๓๑.เทพวงศ์ จงกลนี ๓๒.น้องแก้ว ๓๓.นางในฝัน ๓๔.น้ำใจแม่ ๓๕.ฝนหลงฟ้า ๓๖.พรสวรรค์ ๓๗.พรหมลิขิต ๓๘.เพลิงพยาบาท ๓๙.เพื่อนแก้ว เมียขวัญ ๔๐.ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ๔๑.ภูตเหลือง ๔๒.มหาราชกำสรวล ๔๓.มัจจุราชเจ้าเล่ห์ ๔๔.มัจจุราชสายน้ำผึ้ง ๔๕.มัตติกา ๔๖.ม่านมลทิน ๔๗.มีดสั้น ๔๘.ยอดกตัญญู ๔๙.รอยหมึกนิลกาฬ ๕๐.รักไร้พรมแดน ๕๑.ราชินีบอด ๕๒.ราชินีมหากาฬ ๕๓.ราชินีวิปโยค ๕๔.แรงพิศวาส ๕๕.แรงรักรอยมลทิน ๕๖.แรงสายเลือด ๕๗.แรงอธิษฐาน ๕๘.ลูกหลงแม่ ๕๙.เลือดรักล้างมลทิน ๖๐.วงศ์ไพรวัลย์ ๖๑.วงเวียนแห่งความรัก ๖๒.วงศ์อมรินทร์ ๖๓.เศวตฉัตรน่านเจ้า ๖๔.เศวตฉัตรล้านนา ๖๕.เศวตฉัตรเวียงชาน ๖๖.สวรรค์บันดาล ๖๗.สองฝั่งฟ้า ๖๘.สัจจะกับความรัก ๖๙.สาปฟ้า ลาดิน ๗๐.สายเลือดขัตติยา ๗๑.สามพี่น้องฝาแฝด ๗๒.สามมงกุฎ ๗๓.สายเลือดลึกลับ ๗๔.สิงหราชกษัตริย์ศึก ๗๕.สี่แผ่นดิน ๗๖.สุพรรณิการ์ ๗๗.แสงพยัคฆ์ ๗๘.แสงวารินทร์ ๗๙.ห้วงรักเหวทำลาย ๘๐.อภินิหารย์สุริยเทพ ๘๑.อภินิหารย์ลึกลับ ๘๒.อาถรรพ์สวาท