ข้ามไปเนื้อหา

บุญยงค์ เกตุคง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บุญยงค์ เกตุคง
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ. 2531
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดบุญยงค์ เกตุคง
เกิด28 มีนาคม พ.ศ. 2463
ที่เกิดเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
เสียชีวิต9 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 (76 ปี)
แนวเพลงเพลงไทย
อาชีพข้าราชการกรุงเทพมหานคร
นักดนตรีไทย
เครื่องดนตรีระนาด
ช่วงปีพ.ศ. 2473 - 2539
ค่ายเพลงวงดนตรีไทยกรุงเทพมหานคร

ครูบุญยงค์ เกตุคง (28 มีนาคม พ.ศ. 2463 - 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2539) คีตกวี นักดนตรีที่มีชื่อเสียงชาวไทย ได้รับยกย่องสรรเสริญว่าเป็นระนาดเทวดา เพราะมีฝีมือบรรเลงระนาดเอกได้ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยเดียวกัน และเป็นผู้ก่อตั้งวงฟองน้ำ มีบทบาทที่สำคัญในการทลายกรอบของจังหวะที่ใช้ลูกตกเป็นจังหวะหนักหรือจังหวะที่ถูกเน้น ให้เกิดการเล่นแบบเน้นที่จังหวะยกแทน (Syncopation) และนำเทคนิคดังกล่าวมาประพันธ์ดนตรีที่สำคัญ ๆ หลายต่อหลายชิ้น ชิ้นที่โด่งดังมากมีชื่อว่า "ชเวดากอง"

ประวัติ

[แก้]

ครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นบุตรชายคนใหญ่ของนายเที่ยงและนางเขียน เกตุคง. เกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2463 ที่ตำบลวันสิงห์ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร บิดามารดามีอาชีพเป็นนักแสดง ซึ่งต้องย้ายสถานที่ประกอบอาชีพบ่อย ๆ เมื่อยังเยาว์จึงอาศัยอยู่กับตาและยายที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับการศึกษาชั้นต้นที่วัดช่องลม และเริ่มหัดเรียนดนตรีไทยกับครูละม้าย (หรือทองหล่อ) ซึ่งเป็นครูสอนดนตรี อยู่บ้านข้างวัดหัวแหลม จังหวัดสมุทรสาคร

เมื่ออายุได้ 10 ปี ก็สามารถบรรเลงฆ้องวงทำเพลงโหมโรงเช้าและโหมโรงเย็นได้ ซึ่งถือว่าได้ผลการศึกษาดนตรีขั้นต้น ครั้นอายุได้ 11 ปี บิดาได้นำไปฝากให้เป็นศิษย์ของครูหรั่ง พุ่มทองสุข ซึ่งเป็นครูดนตรีมีชื่ออยู่ที่ปากน้ำภาษีเจริญ โดยมีน้องชายชื่อบุญยัง เกตุคง ไปร่วมเรียนด้วย และได้เป็นเพื่อนร่วมเรียนดนตรีพร้อมกับนายสมาน ทองสุโชติ ได้เรียนอยู่ที่บ้านครูหรั่งนี้ประมาณ 2 ปี จนสามารถบรรเลงเดี่ยวฆ้องวงเล็กได้ ก็ย้ายไปเรียนดนตรีกับพระอาจารย์เทิ้ม วัดช่องลม จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นสถานที่เรียนดนตรี ที่มีชื่อเสียงมากอีกแห่งหนึ่งในยุคนั้น

เมื่อครูอายุได้ 16 ปี บิดาเห็นว่ามีความรู้เพลงการดีพอสมควรจะช่วยครอบครัวได้ จึงช่วยให้ไปทำหน้าที่นักดนตรีประจำคณะนาฎดนตรีของบิดา ซึ่งแสดงเป็นประจำอยู่ที่วิกบางลำภู กรุงเทพมหานคร โดยเริ่มจากคนตีฆ้องวงใหญ่ แล้วจึงได้เป็นคนตีระนาดเอก ทั้งนี้ได้รับการฝึกสอนเป็นพิเศษจากอาชื่อนายประสิทธิ์ เกตุคง ให้มีความรู้เรื่องเพลงสองชั้นที่ลิเกให้ร้องเป็นประจำ จึงมีความรู้และไหวพริบดีมากขึ้นในเรื่องเพลงประกอบการแสดง เป็นที่ทราบกันว่าย่านบางลำภูนั้นเป็นที่ใกล้ชิดกับบ้านนักดนตรีไทยหลายบ้าน โดยเฉพาะบ้านของสกุล ดุริยประณีต ซึ่งมีนายชื้นและนายชั้น ดุริยประณีต บุตรชายของครูสุข ดุริยประณีต มาช่วยบิดาครูบุญยงค์ตีระนาดประกอบการแสดงลิเกเป็นครั้งคราว จึงได้สนิทสนมไปมาหาสู่กันจนเกิดความคุ้นเคยเป็นอันมาก ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางเพลงกันมากขึ้นเป็นลำดับ

ต่อจากนั้นครูบุญยงค์ได้เดินทางไปเรียนดนตรีจากครูเพชร จรรย์นาฎย์ ครูดนตรีไทยฝีมือดีและเป็นศิษย์ที่มีชื่อเสียงของท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เมื่อปี พ.ศ. 2485 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในกรุงเทพมหานคร การแสดงดนตรีซบเซาลง จึงให้เวลาว่างประกอบอาชีพแจวเรือจ้างอยู่ระยะหนึ่ง แล้วไปสมัครเป็นศิษย์ท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ณ บ้านดนตรี วัดกัลยาณมิตร ธนบุรี จึงได้เรียนรู้ทางเพลงทั้งทางฝั่งพระนครและทางฝั่งธนเป็นอย่างดี เมื่อน้ำลดแล้ว จึงได้เรียนดนตรีเพิ่มเติมอีกจากครูสอน วงฆ้อง ซึ่งช่วยสอนดนตรีอยู่ที่บ้านดุริยประณีตนั้น

สมัยที่พลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร เป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ครูบุญยงค์ เกตุคง ได้สมัครเข้าเป็นนักดนตรีประจำวงดนตรีไทยของกรมประชาสัมพันธ์ ทำให้ได้ใกล้ชิดกับนักดนตรีอีกหลายคน อาทิ ครูประสงค์ พิณพาทย์ และครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ ซึ่งเป็นหัวหน้าวงดนตรีไทยอยู่ในขณะนั้น

ในระหว่างที่ใกล้จะเกษียณอายุราชการ ครูบุญยงค์ได้ร่วมมือกับอาจารย์บรูซ แกสตัน ก่อตั้งวงดนตรีไทยร่วมสมัยชื่อ “วงฟองน้ำ” ขึ้น ครูบุญยงค์ เกตุคง ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2539 สิริรวมอายุได้ 76 ปี ได้รับยกย่องสรรเสริญว่าเป็นระนาดเทวดา เพราะมีฝีมือบรรเลงระนาดเอกได้ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยเดียวกัน และท่านยังได้รับคำยกย่องอีกว่าเสียงระนาดของท่านเปรียบได้กับเสียงของไข่มุกร่วงบนจานหยก

นอกจากนั้นท่านยังได้รับการยอมรับนับถือจากเซอร์ ไซมอน แรตเทิล วาทยากรชาวอังกฤษ ในฐานะครูผู้ใหญ่อีกด้วย

ผลงานประพันธ์เพลง

[แก้]
  • ประเภทเพลงโหมโรง มีอยู่ด้วยกันหลายเพลงอาทิ เพลงโหมโรงสามสถาบัน โหมโรงสามจีน และโหมโรงจุฬามณี เป็นต้น
  • ประเภทเพลงเถา ได้แก่เพลงเงี้ยวรำลึกเถา เพลงทยอยเถา ชเวดากองเถา เริงเพลงเถา กัลยาเยี่ยมห้อง เป็นต้น
  • เพลงประกอบการแสดง ตระนาฏราชและ เพลงระบำต่างๆที่ประกอบในละคร
  • เพลงเดี่ยวทางต่างๆ ได้แก่ ทางเดี่ยวระนาดเอก 3 ราง เพลงอาหนู และเพลงอาเฮีย ฯลฯ

เดี่ยวระนาดเอกเพลงม้าย่อง ม้ารำ

  • เพลงประกอบภาพยนตร์และโทรทัศน์ เงาะป่า ของนาย จริญญา โกงเหลง
  • เพลงร่วมสมัย เจ้าพระยา คอนแชร์โต้ เพลงผสมต่างๆ ของวงฟองน้ำ

ผลงานการแสดง

[แก้]

เป็นเจ้าของและหัวหน้าคณะนาฏดนตรีแสดงทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ชื่อ คณะเกตุคงดำรงศิลป์

ผลงานบันทึกเสียง

[แก้]
  • แผ่นเสียงของวังสวนผักกาด อำนวยการโดย ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร เพลงชุด Drum of Thailand ทำหน้าที่เป็นผู้บรรเลงระนาดเอก
  • เพลงมุล่ง เดี่ยวระนาดเอก แผ่นเสียงตรามงกุฏ
  • บันทึกผลงานเพลงโหมโรงและเพลงเถา (ในหัวข้องานประพันธ์เพลง 1, 2 ข้างต้น) ในโครงการ "สังคีตภิรมย์" ของธนาคารกรุงเทพ และเก็บผลงานไว้ที่ศูนย์สังคีตศิลป์และผลงานของวงดนตรีฟองน้ำ

งานเผยแพร่ต่างประเทศ

[แก้]

รางวัล

[แก้]
  • ถ้วยทองคำ นาฏดนตรี
  • โล่เกียรตินิยม พระราชทาน ร.9
  • ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ดนตรีไทย พ.ศ. 2531

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]