วงจันทร์ ไพโรจน์
วงจันทร์ ไพโรจน์ | |
---|---|
ข้อมูลพื้นฐาน | |
ชื่อเกิด | วงศ์จันทร์ ไพโรจน์ |
รู้จักในชื่อ | จิ๋ม |
เกิด | 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2479[1] |
ที่เกิด | กรุงเทพมหานคร |
แนวเพลง |
|
อาชีพ |
|
ช่วงปี | พ.ศ. 2493 - ปัจจุบัน (74 ปี) |
ศิลปินแห่งชาติ | สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงไทยสากล - ลูกทุ่ง) พ.ศ. 2566 |
วงจันทร์ ไพโรจน์ หรือ จ่าโทหญิง ปรียนันท์ สุนทรจามร มีชื่อเดิมว่า ดวงจันทร์ ไพโรจน์ เป็นนักร้องเพลงไทยลูกทุ่ง เริ่มบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกในปี พ.ศ.2493 ในเพลงราตรีเจ้าเอ๋ย ผลงานของ ฮอน หาญบุญตรง วงจันทร์ ไพโรจน์ มีผลงานบันทึกเสียงเอาไว้ทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 1,200 เพลง[2] ผลงานเพลงต้นฉบับที่บันทึกเสียงได้รับความนิยมสูงสุด เช่น กุหลาบเวียงพิงค์, สาวสะอื้น, อุทยานดอกไม้, แม่พิมพ์ของชาติ, ช่างร้ายเหลือ, ถึงร้ายก็รัก, ฝนมาน้ำตาตก, แน่แล้วหรือ, โลกนี้ยังมีผู้ชาย, ไทรโยคแห่งความหลัง, อย่าหลอกฉันเลย, กัณฑิมาอาภัพ, นันทวดีพลาดรัก, ปอละเตียงครวญ, มารสังคม,แว่วเสียงซึง ฯลฯ
วงจันทร์ ไพโรจน์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงไทยสากล - ลูกทุ่ง) ประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติคนแรกที่เป็นนักร้องไทยสากลและลูกทุ่ง[3]
ประวัติ
[แก้]วงจันทร์ ไพโรจน์ มีชื่อเล่นว่า จิ๋ม เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายทวี และนางสงิม ไพโรจน์ จบการศึกษาชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวันรับศีลวิทยา ก่อนที่จะมาศึกษาต่อที่โรงเรียนสตรีเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเล็ก ทำให้ต้องมาอยู่ในความดูแลของยายทองศรี พิกุลหอม ที่มีบ้านในซอยกิ่งเพชร ใกล้กับวังอัศวินของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล หรือเสด็จพระองค์ชายใหญ่ และเรื่องนี้ก็เป็นเหตุให้เธอมีโอกาสได้คลุกคลี ร่ำเรียนวิชานาฏศิลป์และร่วมแสดงละครหรือภาพยนตร์ของคณะอัศวินการละครในเวลาต่อมา
เข้าสู่วงการ
[แก้]ด้วยใจรักการร้องเพลง ในวัยเพียง 9 ขวบ ภายใต้การสนับสนุนจากครูมงคล อมาตยกุล เธอก็ได้ขึ้นแสดงความสามารถในด้านนี้โดยการประกวดร้องเพลงรำวงในงานวัดภูเขาทอง โดยใช้เพลงที่ชื่อว่า “8 นาฬิกา” ในการประกวด และได้รางวัลชนะเลิศ จนบริษัท ต.เง็กชวน เห็นแววจึงนำไปอัดแผ่นร้องเพลงเด็ก ร่วมกับนักร้องรุ่นราวคราวเดียวกันอย่าง นริศ อารีย์ และณรงค์ ธนะวังน้อย
ตอนอายุได้ 14 ปี การที่เธอได้ตำแหน่งรองชนะเลิศในการประกวดร้องเพลงชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร (รางวัลที่ 1 เป็นของลัดดา ศรีวรนันท์) ทำให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทรงนำเธอมาร้องเพลงสลับหน้าม่านละครและภาพยนตร์ รวมทั้งให้ร้องเสียงลิปซิงค์ สมจิตร ทรัพย์สำรวย นางเอกละครแสดงหน้าเวที ซึ่งสามีของนางเอกคนดัง นายสวง ทรัพย์สำรวย หรือล้อต็อก ยอดศิลปินจำอวดก็ยังเคยทำนายไว้ว่า เธอจะเป็นหนึ่งในนักร้องชั้นนำของแผ่นดินสยามในภายภาคหน้า โดยภาพยนตร์ที่เธอร่วมแสดงในช่วงนี้ก็อย่างเช่น นเรศวรมหาราช, ลูกโจร และนางกลางเมือง
การค้นพบความสามารถของตัวเองทางด้านการร้องเพลงที่ไพเราะจับใจ น้ำเสียงใสเย็นถึงขั้นเย็นยะเยือก แถมมีเอกลักษณ์ตรง "ลูกคอชั้นเดียว" ทำให้เธอได้มาร่วมเป็นสมาชิกของวงดนตรีมงคล อมาตยกุล หรือวงดนตรี ป.ชื่นประโยชน์ โดยวงนี้จะใช้ชื่อใดในสองชื่อนี้ ก็แล้วแต่จังหวะและโอกาส แต่นักดนตรีและนักร้องล้วนแล้วแต่เป็นชุดเดียวกันทั้งสิ้น โดยวงนี้เป็นการรวมตัวกันของครูมงคล กับเพื่อน ๆ คือ ครู ป., ครูเนียน วิชิตนันท์, ครูไพบูลย์ บุตรขัน และครูแก้ว รักไทย งานแสดงของวงดนตรีนี้ มักจะแสดงในงานลีลาศหรือตามโรงภาพยนตร์ โดยมีนักร้องที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากมายหลายคนเช่น ลัดดา ศรีวรนันท์, นริศ อารีย์, ปรีชา บุณยเกียรติ เป็นต้น และที่นี่เอง ที่เธอได้เปลี่ยนชื่อจากดวงจันทร์ มาเป็นวงจันทร์
ในปี 2496 ขณะมีอายุได้ 20 ปี ช่วงนั้นวงของครูมงคลเริ่มมีนักร้องหญิงหน้าใหม่เข้ามามากขึ้น วงจันทร์จึงผันตัวออกจากมาเป็นนักร้องประจำวงดุริยางค์กองทัพเรือ ที่คับคั่งไปด้วยนักร้องประจำวงคนดัง เช่น สมยศ ทัศนพันธ์, พยงค์ มุกดา และเอมอร วิเศษสุทธิ์ โดยไม่มีเงินเดือนประจำ แต่ได้เป็นเบี้ยเลี้ยงวันละ 17 บาท ขณะที่รายได้เสริมในช่วงนั้นยังมีไม่มาก
ต่อมาครูฮอน หาญบุญตรง ได้ชักชวนมาร้องเพลงที่ไนต์คลับ “ห้อยเทียนเหลา” และให้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกชื่อ "ราตรีเจ้าเอ๋ย" กับ “วิมานรัก” ที่แต่งโดยครูฮอน หาญบุญตรง กับบริษัท ต.เง็กชวน โดยเธอได้ค่าเหนื่อย 50 บาท แต่ก็ยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก ซึ่งในระหว่างนี้ แม้จะยังไม่ดังมากนัก แต่เธอก็โชคดี ที่มีครูเพลงหลายคนป้อนเพลงให้เธอบันทึกแผ่นเสียงอยู่ไม่น้อย
ในสมัยนั้น ประเทศไทยยังทำแผ่นเสียงเองไม่ได้ จะต้องส่งไปที่อินเดีย ทำให้กระบวน การทำแผ่นเสียงแต่ละครั้งต้องใช้เวลาถึง 3 ปี ประกอบกับทางผู้ผลิตเพลงมักจะไม่รีบปล่อยเพลงออกมา แต่ชอบที่จะรอให้เพลงที่ดังมาก ๆ เริ่มซาความนิยมไปแล้ว จึงจะปล่อยเพลงใหม่ออกมา
การมีชื่อเสียง
[แก้]วงจันทร์ ไพโรจน์ เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในปี 2498 จากผลงานเพลงที่บันทึกเสียงเป็นเพลงที่ 4 คือเพลง "ช่างร้ายเหลือ" ผลงานการประพันธ์ของครูมงคลที่บันทึกเสียงไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2498 ขณะที่เธอมีอายุได้ 15 ปี งานชุดนี้เธอได้ค่าเหนื่อยมา 100 บาท
และในปี พ.ศ. 2498 เมื่อเพลงช่างร้ายเหลือโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วจนทำให้ผู้ขับร้องได้รับฉายาจากแฟนเพลงว่านักร้องเสียงระทม ครูมงคลจึงได้ตัดสินใจตั้ง "วงดนตรีจุฬารัตน์" ขึ้นมา
ความดังของเพลงช่างร้ายเหลือ ทำให้เพลงต่อมาที่เธอบันทึกเสียงในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มีการปล่อยออกมาในภายหลังตามแนวการทยอยปล่อยเพลงของยุคนั้น ก็โด่งดังตามมาอีกหลายเพลง อย่างเช่น ชาตินี้ชาติเดียว แต่งโดย เปรื่อง ชื่นประโยชน์, ถึงร้ายก็รัก ซึ่งเพลงหลังนี้ก็ดังไม่แพ้เพลงช่างร้ายเหลือเลยทีเดียวเพลงนี้ประพันธ์คำร้อง จำลอง เบญจานุวัตร ทำนอง มงคล อมาตยกุล เพลงนี้เป็นการขับร้องร่วมกัน 3 คนของ วงจันทร์ ไพโรจน์, ลัดดา ศรีวรนันท์ และ ดวงตา ชื่นประโยชน์ เมื่อปี 2499
วงจันทร์ ไพโรจน์ ยังได้ขับร้องเพลงดังอีกหลายเพลงจากฝีมือการประพันธ์ของครูเพลงชื่อดังแห่งยุคมากมาย เช่น "สาวสะอื้น" สมาน กาญจนะผลิน, "ไทรโยคแห่งความหลัง" นคร มงคลายน, "เสียงสะอื้นจากสาวเหนือ" สุรพล สมบัติเจริญ, แม่พิมพ์ของชาติ เพลงอิทธิพลที่ส่งผลทำให้ผู้ฟังในยุคนั้นอยากเป็นครูมากที่สุด ซึ่งประพันธ์โดย สุเทพ โชคสกุล, อุทยานดอกไม้ คำร้อง สกนธ์ มิตรานนท์ และทำนอง ชูศักดิ์ รัศมีโชติ ที่ได้ชื่อว่าเป็นเพลงที่รวบรวมรายชื่อดอกไม้ไว้มากที่สุดคือ 49 ชนิด นอกจากนั้นก็ยังมีเพลง แน่แล้วหรือ, ปรารถนาแห่งหัวใจ, เมินเสียเถิด, พิศวาสวาย, ช่างร้ายเหลือ, สันป่าตอง, สาวบ้านแพน, มนต์รักอารีดัง, สาวสะอื้น, น้ำตาสาวเหนือ, บุษบาเสี่ยงเทียน, หญิงคนชั่ว โดยเพลงส่วนใหญ่ของเธอมักเป็นเพลงเศร้า เข้ากับฉายานักร้องเสียงระทมของเธอ[4]
และจากดอกกุหลาบมอญ ที่แฟนเพลงมอบให้ที่ชานชาลาสถานีรถไฟ ก็เป็นการจุดประกายแง่มุมชีวิตนักแต่งเพลงให้กับเธอด้วยงานเพลงชิ้นแรก “กุหลาบเวียงพิงค์“ และเมื่อนับต่อเนื่องมากว่า 50 ปี จนถึงปัจจุบัน วงจันทร์ ไพโรจน์ ได้แต่งเพลงไว้กว่า 100 เพลง
เธอเริ่มหัดเขียนเพลงจากความอยากลองว่าจะเขียนเพลงเองได้ไหม โดยเมื่อเขียนแล้วก็ขอให้ครูเพลงช่วยเกลา โดยบอกกับครูเพลงเพียงว่าอยากแต่งให้ใครร้อง เหมือนกับที่ครูเพลงเคยเอาเพลงมาให้เธอร้อง และต่อมาเมื่อเธอเห็นว่าเด็กคนไหนมีแวว อยากเป็นนักร้อง เธอก็เอามาฝึก โดยคิดเสมอว่าตอนเธอเป็นเด็ก ๆ หากมีใครยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือก็คงจะดีไม่น้อย
เดินสายร้องเพลง
[แก้]เธออยู่กับวงดุริยางค์ทหารเรือจนอายุ 28 ปี และการที่เป็นคนที่มีชื่อเสียง งานนอกจึงเริ่มเข้ามามากขึ้น จนต้องลาออกจากวงมาเดินสายร้องเพลงตามต่างจังหวัดอย่างจริงจังกับวงบางกอกชะชะช่า โดยได้ค่าตัววันละ 500 บาท ต่างจากสมัยที่ยังอยู่กับวงดุริยางค์กองทัพเรืออย่างมาก
นอกจากนั้นเธอก็ยังมีรายได้เสริมจากการเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณายาแก้ไอเพอลี่วิทเที่ยวละ 500 บาท โดยสมัยนั้นยังไม่มีทีวี ก่อนร้องเพลงเธอก็จะเดินออกไปที่หน้าเวที โดยถือขวดยาออกไปด้วยแล้วพูดว่า “ดิฉันเสียงดีเพราะทานยาเพอลี่วิท“
สมัยนั้นนักร้องดัง ๆ ไม่ค่อยมีมากสักเท่าไหร่ การที่วงจันทร์ ไพโรจน์ ไปร้องที่ไหนก็ได้รับความสนใจจากแฟนเพลงทุกที่ จนกลายเป็นธรรมเนียมที่ทางเจ้าของงานที่จ้างวงไปแสดง จะต้องให้ค่าเหนื่อยกับเธอต่างหากอีก 500 บาท ทำให้ในการเดินสายแต่ละครั้ง วงจันทร์ ไพโรจน์ จะได้ค่าตัวรวมแล้วถึง 1,500 บาท
เธอเดินสายอยู่ 2 ปี ก็หันมาร้องเพลงประจำไนต์คลับอเล็กซานดรา แถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยร้องประจำอยู่ที่เดียว แต่ก็ได้ค่าตัวมากกว่าอยู่กับวง และช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่รุ่งโรจน์ที่สุด นอกจากนั้น ก็ยังมีโอกาสร่วมแสดงภาพยนตร์ เรื่อง "เพื่อนแพง" ของเชิด ทรงศรี และมีดีกรีเป็นถึงนางเอกในเรื่องผู้ชนะสิบทิศ, กากีกับดอกไม้, เดือนเสี้ยว และนางบังเงา
ยุคร่วงโรย
[แก้]ส่วนทรัพย์สินที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นผลมาจากการที่เธอร้องเพลงที่ไนต์คลับ 11 ปี ก็เข้าสู่ยุคร่วงโรย ในปี 2513 เธอจึงลงทุนเปิดภัตตาคารตาลเดี่ยว ที่ถนนพหลโยธิน ตรงข้ามกับแดนเนรมิต ที่นี่มีนักร้องเสียงระทมชื่อวงจันทร์ ไพโรจน์ ขับกล่อมทุกคืน กอปรกับการที่ได้เพื่อนนักร้อง เช่น สมยศ ทัศนพันธ์, วิเชียร ภู่โชติ, นริส อารีย์, ลัดดา ศรีวรนันท์, ศิริจันทร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และพูลศรี กำเนิดเหมาะ แวะมาเยี่ยมเยือนและขึ้นร้องเพลง ทำให้ร้านประสบความสำเร็จอย่างมาก ภัตตาคารของเธอดังมาก มีกว่า 100 โต๊ะ และคนแน่นทุกวัน เธอทำร้านอยู่ 16 ปี ก็หมดสัญญาเช่า ซึ่งในปัจจุบันที่ดินผืนนั้นก็คือห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว
วงจันทร์ ไพโรจน์ ย้ายไปทำร้านใหม่อยู่ที่หมู่บ้านอมรินทร์นิเวศน์ ขนาดเล็กกว่าเดิม ชื่อว่าร้านวงจันทร์แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าเก่า กระนั้นก็ยังมีการเปิดสาขาทั้งที่พัทยาและเชียงใหม่ และในยุคที่วงการโทรทัศน์ได้รับความนิยม วงจันทร์ ไพโรจน์ ก็ได้ผลิตรายการเพลงรักสามสมัย และรายการอาศรมนักเพลงด้วย นอกจากนั้นเธอก็หันไปจับธุรกิจโรงแรมที่พัทยา ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่พออายุมากขึ้นทำไม่ไหว แล้วก็เลิกไปทีละอย่าง
ปัจจุบัน
[แก้]วงจันทร์ ไพโรจน์ ได้ปิดฉากอาชีพนักร้องไปแล้วอย่างเป็นทางการ หลังจัดงานคอนเสิร์ตอำลาชีวิตการเป็นนักร้องไปเมื่อปี 2549 ขณะมีอายุ 73 ปี[5]
ปัจจุบัน เธอหันมาทำงานฝีมือประเภทศิลปะการร้อยสร้อยประดับลวดลายไทยจากดินญี่ปุ่น ส่งออกตามออเดอร์ลูกค้าที่มีจำนวนมาก และเขียนเพลงอยู่กับบ้านที่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ กับสามี วิภาค สุนทรจามร ทายาทเจ้าของมรดกบทเพลงดังของครูเวส สุนทรจามร
ผลงานการแสดง
[แก้]- เพื่อน-แพง (2526) – คุณนายทองดี
- ภาพยนตร์เรื่อง มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. (2545)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ วันเกิด วงจันทร์ ไพโรจน์[ลิงก์เสีย]
- ↑ "วงจันทร์ ไพโรจน์" ต้นตำรับน้ำเสียงระทม. จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557
- ↑ "ยกย่อง 12 ศิลปินแห่งชาติ 2566 "โย่ง เชิญยิ้ม-วงจันทร์ ไพโรจน์"". ไทยพีบีเอส. 28 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2024.
- ↑ คอนเสิร์ตเชิดชู..ครูของแผ่นดิน โดยศิลปินระดับตำนาน "วงจันทร์ ไพโรจน์"[ลิงก์เสีย]. จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557
- ↑ วงจันทร์ ไพโรจน์ นักร้องเสียงระทม เก็บถาวร 2012-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. จากหนังสือพิมพ์สยามดารา [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557