กรุณา กุศลาสัย
กรุณา กุศลาสัย | |
---|---|
ภาพบุคคลของกรุณา | |
เกิด | 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 อำเภอปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ |
เสียชีวิต | 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552 (89 ปี) กรุงเทพมหานคร |
นามปากกา | สามเณรไทยในสารนาถ |
อาชีพ | นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ |
สัญชาติ | ไทย |
คู่สมรส | เรืองอุไร กุศลาสัย |
บิดามารดา | (บิดา) เจ็ง โค้วตระกูล, (มารดา) เกียง โค้วตระกูล |
ลายมือชื่อ | |
สถานีย่อยโลกวรรณศิลป์ |
กรุณา กุศลาสัย (10 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552) เป็นนักเขียนบทความและสารคดี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาฮินดี ภาษาสันสกฤต และภารตวิทยา กรุณาได้รับรางวัลศรีบูรพาปี พ.ศ. 2538, รางวัลนราธิปปี พ.ศ. 2544 และได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2546 ผลงานที่มีชื่อเสียงคือผลงานแปลกวีนิพนธ์ "คีตาญชลี" ของรพินทรนาถ ฐากูร และอัตชีวประวัติ ชื่อเรื่อง "ชีวิตที่เลือกไม่ได้"
ประวัติ
[แก้]กรุณา กุศลาสัย เดิมชื่อ นายกิมฮง แซ่โค้ว [1] เกิดในเรือกระแชง หน้าวัดตะแบก ตำบลแควใหญ่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ บิดามารดามีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว มีอาชีพค้าขายทางเรือ แต่เสียชีวิตเมื่อกรุณายังเด็ก จึงเติบมาโดยการเลี้ยงดูของน้าสาว เมื่อน้าสาวเสียชีวิตจึงได้ไปบวชเป็นสามเณร เมื่อ พ.ศ. 2476 เมื่ออายุ 13 ปี ในโครงการ "พระภิกษุสามเณรใจสิงห์" ของพระโลกนาถ พระสงฆ์ชาวอิตาลี เพื่อนำภิกษุสามเณรจากประเทศไทย พม่า ศรีลังกา ไปศึกษาอบรมที่ประเทศอินเดีย
กรุณามีโอกาสได้ศึกษาภาษาฮินดี ภาษาสันสกฤต และภาษาอังกฤษจนเชี่ยวชาญ สอบภาษาฮินดีได้ที่ 1 ของอินเดีย ได้รับทุนการศึกษาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่ออายุเพียง 18 ปี [2] และเริ่มเขียนข่าวและบทความ ส่งมาตีพิมพ์ในประเทศไทย ในวารสาร ธรรมจักษุ พุทธศาสนา และ ประชาชาติ ใช้นามปากกา "สามเณรไทยในสารนาถ" จากนั้นได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยวิศวภารติในเมืองศานตินิเกตัน รัฐเบงกอลตะวันออก เมื่อ พ.ศ. 2482
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง สามเณรกรุณาถูกจับเป็นเชลยศึก เนื่องจากเป็นพลเมืองไทยซึ่งเป็นประเทศคู่สงครามกับอังกฤษในฐานะบริติชราช และถูกจองจำในค่ายกักกันที่นิวเดลีพร้อมทั้งพระโลกนาถและเฟื้อ หริพิทักษ์ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ในขณะนั้น กรุณาได้ลาสิกขาบท และพบรักกับโยโกะ โมริโมโตะ เชลยชาวญี่ปุ่นในค่ายเดียวกัน แต่ทั้งคู่ได้แยกจากกันหลังสงครามสงบ [3]
หลังสงคราม กรุณาเดินทางกลับประเทศไทย โดยไม่ศึกษาต่อให้จบ และทำงานเป็นครูสอนภาษาสันสกฤตและภาษาไทย ที่อาศรมวัฒนธรรมไทย–ภารต จากนั้นได้เป็นล่าม พนักงานแปล และเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ประจำสถานกงสุลอินเดีย (ต่อมาเป็นสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย) และเป็นผู้บรรยายวิชาธรรมภาคภาษาอังกฤษ ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ขณะทำงานอยู่ที่สถานทูตอินเดีย กรุณา กุศลาศัย เคยเป็นผู้แทนของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อเดินทางไปสร้างความสัมพันธ์กับประเทศจีน และเมื่อทำงานหนังสือพิมพ์ก็ได้เดินทางไปกับคณะผู้แทนการค้า ร่วมคณะกับสุวัฒน์ วรดิลก, กุหลาบ สายประดิษฐ์ และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี แต่ครั้งหลัง เมื่อเดินทางกลับมาในปี พ.ศ. 2501 ภายหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำการรัฐประหารในปีนั้น กรุณาถูกจับและคุมขังที่เรือนจำลาดยาว ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมกับสังข์ พัธโนทัย และอารีย์ ภิรมย์ กรุณาต้องติดคุกอยู่เป็นเวลา 9 ปี จึงได้รับอิสรภาพ หลังจากล้มป่วยด้วยอาการทางสมอง และศาลอนุญาตให้ประกันตัว เพื่อไปรักษาตัวที่บ้าน และได้รับการถอนฟ้อง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2512 [3]
กรุณา กุศลาศัย สมรสกับ เรืองอุไร กุศลาสัย (สกุลเดิม: หิญชีระนันท์) เมื่อ พ.ศ. 2492 และเริ่มสร้างผลงานร่วมกันในนามปากการ่วม "กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย"
กรุณา กุศลาศัย ล้มป่วยด้วยโรคพาร์คินสัน และมีอาการของโรคสมองเสื่อม [4] จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลาประมาณ 17.00 น. สิริอายุ 89 ปี โดยบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษาให้กับภาควิชากายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช รวมถึงได้กำชับไม่ให้นำร่างขนย้ายมาประกอบพิธีศพแต่ให้ใช้รูปถ่ายตนตั้งแทนหีบศพและไม่ให้พิธียาวเกิน 3 วัน และได้ขอให้ลงแจ้งความข่าวการเสียชีวิตในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน ทั้งหมดนี้กรุณาระบุไว้ในจดหมายที่ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2529
ผลงานหนังสือ
[แก้]ผลงานชิ้นสำคัญ เช่น
- ภารตวิทยา: ความรู้เรื่องอินเดียทางวัฒนธรรม (2510)
- มหากาพย์มหาภารตะ (2525, แปลจาก มหาภารตะ)
- อินเดียในสมัยพุทธกาล (2532)
- วัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-อินเดีย (2537)
- พบถิ่นอินเดีย (2537, แปลจากงานเขียนของชวาหะร์ลาล เนห์รู)
- อโศกมหาราชและข้อเขียนคนละเรื่องเดียวกัน (2539)
- เหมือนหนึ่งนกที่จากรัง
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2541 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- พ.ศ. 2534 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
- พ.ศ. 2547 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กระทรวงมหาดไทย; กระทรวงศึกษาธิการ; คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ; กรมศิลปากร (1999). "บทที่ ๖ บุคคลสำคัญของจังหวัดนครสวรรค์". วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครสวรรค์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว. pp. 281–284. ISBN 974-419-287-9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2008-04-22.
- ↑ "คำเชิดชูเกียรติ นายกรุณา กุศลาสัย ศิลปินแห่งชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2008.
- ↑ 3.0 3.1 "กองทุนศิลปินครูบ้านป่า สลา คุณวุฒิ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 เมษายน 2008. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2008.
- ↑ หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2550. ISSN 1686-8218.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ (ศิลปินแห่งชาติ) เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๔ ข ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ หน้า ๑๖๑
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บทางการ เก็บถาวร 2021-05-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2463
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2552
- บุคคลจากอำเภอเมืองนครสวรรค์
- นักเขียนชาวไทย
- นักหนังสือพิมพ์ชาวไทย
- ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์
- นักเขียนจากจังหวัดนครสวรรค์
- นักวิชาการจากจังหวัดนครสวรรค์
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- บุคคลจากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จ.ภ.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ช.
- พุทธศาสนิกชนชาวไทย
- ชาวไทยเชื้อสายแต้จิ๋ว