ข้ามไปเนื้อหา

กัว ซิว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กัว ซิว / กัว สฺวิน
郭脩 / 郭修 / 郭循
ขุนพลซ้าย (左將軍 จั่วเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 253 (253)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
นายทหารมหาดเล็ก (中郎 จงหลาง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจฮอง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครซีหนิง มณฑลชิงไห่
เสียชีวิตค.ศ. 253
บุตรบุตรชายอย่างน้อย 1 คน
อาชีพขุนนาง, ขุนพล
ชื่อรองเซี่ยวเซียน (孝先)
สมัญญานามเวย์ (威)
บรรดาศักดิ์ฉางเล่อเซียงโหว (長樂鄉侯)

กัว ซิว[a] (จีน: 郭脩 หรือ 郭修; พินอิน: Guō Xiū; เสียชีวิต ค.ศ. 253) หรือ กัว สฺวิน[b] (จีน: 郭循; พินอิน: Guō Xún) ชื่อรอง เซี่ยวเซียน (จีน: 郭修; พินอิน: Xiàoxiān) เป็นขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน มีตำแหน่งเป็นนายทหารมหาดเล็กหรือจงหลาง (中郎)[c] กัว ซิวถูกเกียงอุยขุนพลของรัฐจ๊กก๊กจับตัวได้ ต่อมากัว ซิวจึงยอมสวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊ก ภายหลังกัว ซิวลอบสังหารบิฮุยขุนพลและผู้สำเร็จราชการของรัฐจ๊กก๊ก กัว ซิวจึงถูกประหารชีิวิต

ประวัติ

[แก้]

กัว ซิวเป็นชาวเมืองเสเป๋ง (西平 ซีผิง) มณฑลเลียงจิ๋ว (凉州 เหลียงโจว) ซึ่งอยู่บริเวณนครซีหนิง มณฑลชิงไห่ในปัจจุบัน[1] ในอรรถาธิบายของเผย์ ซงจือ (裴松之) นักประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 5 ที่แทรกในจดหมายเหตุสามก๊ก ซึ่งยกมาจากเว่ย์ชื่อชุนชิว (魏氏春秋) ของซุน เชิ่ง (孫盛) ระบุว่ากัว ซิวค่อนข้างมีชื่อเสียงในมณฑลทางตะวันตก[4]

กัว ซิวถูกเกียงอุยขุนพลของรัฐจ๊กก๊กจับตัวเป็นเชลยศึกระหว่างการรบกับจ๊กก๊กครั้งหนึ่ง ต่อมากัว ซิวยอมสวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊ก[5] เล่าเสี้ยนจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กทรงแต่งตั้งให้กัว ซิวเป็นขุนพลซ้าย (左將軍 จั่วเจียงจฺวิน) แต่แท้จริงแล้วกัว ซิวไม่เต็มใจเป็นขุนนางของรัฐจ๊กก๊ก ทั้งยังต้องการหาโอกาสลอบปลงพระชนม์เล่าเสี้ยน ครั้งหนึ่งกัว ซิวก้าวเข้าไปใกล้เล่าเสี้ยนอ้างว่าจะถวายพระพร คิดจะหาจังหวะเข้าปลงพระชนม์ แต่เหล่าทหารราชองครักษ์ของเล่าเสี้ยนสังเกตเห็นอะไรชอบกลในพฤติกรรมของกัว ซิว จึงหยุดเขาไว้ก่อนที่จะเข้าไปใกล้จักรรพรดิ กัว ซิวเห็นว่าการปลงพระชนม์เล่าเสี้ยนยากจะสำเร็จ จึงหันไปหาเป้าหมายลอบสังหารอื่น[6]

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 253[d] บิฮุยขุนพลและผู้สำเร็จราชการของจ๊กก๊กจัดงานเลี้ยงในเทศกาลขึ้นปีใหม่วันแรกในอำเภอหั้นสือ (漢壽縣 ฮั่นโชฺ่วเซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเจี้ยนเก๋อ มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) เวลานั้นกัว ซิวเข้าร่วมในงานเลี้ยงนั้นด้วย ขณะที่บิฮุยกำลังเมาสุรา กัว ซิวก็จัดการลอบสังหารบิฮุย[2][9] หลังจากนั้นตัวกัว ซิวเองก็ถูกสังหารโดยผู้ใต้บังคับบัญชาของบิฮุย

ในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 253 โจฮองจักรพรรดิวุยก๊กออกพระราชโองการยกย่องกัว ซิวสำหรับ "การปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญเพื่อวุยก๊ก" และเปรียบเทียบกัว ซิวกับเนี่ย เจิ้ง (聶政) และฟู่ เจี้ยจื่อ (傅介子) พระองค์พระราชทานบรรดาศักดิ์ย้อนหลังให้กัว ซิวเป็นฉางเล่อเซียงโหว (長樂鄉侯) มีศักดินาพันครัวเรือน พระราชทานสมัญญานามว่าเวย์ (威) บุตรชายของกัวซิวได้สืบทอดบรรดาศักดิ์ของบิดา ได้รับยศเป็นนายกองร้อยราชรถ (奉車都尉 เฟิ่งเชอตูเว่ย์) ได้รับพระราชทานเงินพันแผ่นและผ้าไหมพันผืน[10]

คำวิจารณ์

[แก้]

แม้ว่าราชสำนักวุยก๊กจะยกย่องการสละชีพของกัว ซิวเพื่อลอบสังหารบิฮุย แต่เผย์ ซงจือวิจารณ์การกระทำของกัว ซิวในเชิงลบ โต้แย้งพระราชโองการของโจฮองว่ากัว ซิวไม่ใช่วีรบุรุษ และการลอบสังหารบิฮุยก็ไม่ใช่ "การปฏิบัติหน้าที่เพื่อวุยก๊ก" โดยให้เหตุผล 3 ประการ:

  1. กัว ซิวเป็นพลเรือนขณะถูกจับตัวโดยข้าศึก จึงไม่ได้ "ปฏิบัติหน้าที่" ให้วุยก๊กอย่างแน่นอน ดังนั้นการลอบสังหารบิฮุยโดยกัว ซิวจึงไม่ควรถือเป็นการกระทำที่เป็น "การปฏิบัติหน้าที่เพื่อวุยก๊ก"
  2. วุยก๊กไม่ได้ถูกคุกคามโดยจ๊กก๊กในลักษณะเดียวกับที่รัฐเอี๋ยน (燕 เยียน) ถูกคุมคามโดยรัฐจิ๋น (秦 ฉิน) ในช่วงปลายยุครณรัฐ ดังนั้นการลอบสังหารบิฮุยโดยกัว ซิวจึงไม่ควรถูกมองในแง่เดียวกับการพยายามลอบสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้โดยเก๋งคอ (荊軻 จิง เคอ)
  3. จากมุมมองของเผย์ ซงจือแล้ว เล่าเสี้ยนและบิฮุยถือเป็นผู้ปกครองและผู้สำเร็จราชการที่มีความสามารถระดับกลาง ดังนั้นการเสียชีวิตของคนทั้งสองจะไม่ส่งผลเสียหายอย่างมีนัยสำคัญต่อจ๊กก๊ก

เผย์ ซือจงจึงสรุปว่ากัว ซิวเป็นเพียงนักฉวยโอกาสที่แสวงหาชื่อเสียงในการลอบสังหารผู้สำเร็จราชการของรัฐ แก่นแท้และแรงจูงใจของการลอบสังหารเทียบไม่ได้กับของเนี่ย เจิ้งและฟู่ เจี้ยจื่อที่กล่าวถึงในพระราชโองการของโจฮอง และกัว ซิวไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ "สละชีพเพื่อความชอบธรรม"[11]

ชื่อ

[แก้]

ในจดหมายเหตุสามก๊ก ภาคจ๊กก๊ก (蜀書 ฉู่ชู) ทั้งบทพระราชประวัติเล่าเสี้ยน (後主傳 โฮ่วจู้จฺว้าน) และบทประวัติบิฮุย (費禕傳 เฟ่ย์ อีจฺว้าน) ต่างบันทึกเรื่องการลอบสังหารบิฮุย ทั้งสองบทบันทึกชื่อผู้ลอบสังหารว่า "กัว สฺวินผู้แปรพักตร์จากวุย" (魏降人郭循 เว่ย์เจี้ยงเหริน กัว สฺวิน)[2][3] ส่วนในจดหมายเหตุสามก๊ก ภาควุยก๊ก (魏書 เว่ย์ชู) บทจดหมายเหตุสามยุวจักรพรรดิ (三少帝紀 ซานเฉ่าตี้จี้) ในพระราชโองการของจักรพรรดิโจฮอง ผู้ที่ลอบสังหารบิฮุยถูกเรียกว่า "กัว ซิวชาวเสเป๋ง อดีตนายทหารมหาดเล็ก" (故中郎西平郭脩 กู้จงหลางซีผิง กัว ซิว)[1]

ในบทชีวประวัติเตียวหงี (張嶷傳 จาง หนีจฺว้าน) ยังบันทึกด้วยว่าเตียวหงีเคยอ้างถึงเรื่องที่งิมเหง (岑彭 เฉิน เผิง) และไลเอียก (來歙 หลาย ซี) เมื่อต้นยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกถูกลอบสังหาร เพื่อเตือนบิฮุยให้ระวังการลอบสังหาร และยังระบุด้วยว่า "ภายหลัง[บิ]ฮุยถูกกัว ซิวผู้แปรพักตร์จากวุยก๊กสังหารจริง ๆ"[12]

ในจดหมายเหตุสามก๊ก ภาคง่อก๊ก (吳書 อู๋ชู) บทชีวประวัติจูกัดเก๊ก (諸葛恪傳 จูเก่อเค่อ จฺว้าน) บันทึกเรื่องที่จูกัดเก๊กถูกซุนจุ๋นลอบสังหาร เผย์ ซงจือยกคำวิจารณ์ในจื้อหลิน (志林) ของยฺหวี สี่ (虞喜) กล่าวถึงการลอบสังหารบิฮุยเป็นตัวอย่าง โดยบันทึกว่าไว้ว่า "แต่ด้วยเหตุที่เป็นคนมีน้ำใจกว้างขวางแต่ไม่ระมัดระวัง จึงจบลงด้วยการถูกกัว ซิวผู้แปรพักตร์สังหาร"[13]

ตัวอักษร "ซิว" (脩) และ "สฺวิน" (循) มีรูปร่างคล้ายกัน เมื่อนับดูตลอดจดหมายเหตุสามก๊กรวมถึงอรรถาธิบายของเผย์ ซงจือ พบการบันทึกชื่อ "กัว สฺวิน" 2 แห่ง และพบการบันทึกชื่อ "กัว ซิว" 4 แห่ง ดังนั้นชื่อดั้งเดิมน่าจะเป็น "กัว ซิว"

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ชื่อที่บันทึกในจดหมายเหตุสามก๊ก บทพระราชประวัติโจฮอง[1]
  2. ชื่อที่บันทึกในจดหมายเหตุสามก๊ก บทพระราชประวัติเล่าเสี้ยน[2] และบทประวัติบิฮุย[3]
  3. อาจเป็นนามแฝง ในพระราชโองการของโจฮองเรียกกัว ซิวว่า "กู้จงหลาง" (故中郎) หรือ "อดีตนายทหารมหาดเล็ก" แต่เผย์ ซงจือชี้ว่ากัว ซิวเป็นเพียงชายชาวมณฑลทางตะวันตก
  4. ชีวประวัติบิฮุยในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าบิฮุยถูกลอบสังหารในวันที่ 1 เดือน 1 ของศักราชเหยียนซีปีที่ 16 ในรัชสมัยจักรพรรดิเล่าเสี้ยน[7] เทียบได้กับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 253 ในปฏิทินกริโกเรียน ประวัติเล่าเสี้ยนในจดหมายเหตุสามก๊กระบุเพียงว่าการลอบสังหารเกิดขึ้นในเดือนนั้นโดยไม่ระบุวันที่แน่ชัด[8]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 (故中郎西平郭脩,砥節厲行,秉心不回。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  2. 2.0 2.1 2.2 (十六年春正月,大將軍費禕為魏降人郭循所殺於漢壽。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 33.
  3. 3.0 3.1 (十六年歲首大會,魏降人郭循在坐。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  4. (脩字孝先,素有業行,著名西州。) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  5. (姜維劫之,脩不為屈。) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  6. (劉禪以為左將軍,脩欲刺禪而不得親近,每因慶賀,且拜且前,為禪左右所遏,事輙不克,故殺禕焉。) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  7. ([延熙]十六年歲首大會,魏降人郭循在坐。禕歡飲沈醉,為循手刃所害,謚曰敬侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  8. ([延熙]十六年春正月,大將軍費禕為魏降人郭循所殺于漢壽。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 33.
  9. (延熙十五年,命禕開府。十六年歲首大會,魏降人郭循在坐。禕歡飲沉醉,為循手刃所害,謚曰敬侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 33.
  10. ([嘉平五年]八月,詔曰:「故中郎西平郭脩,砥節厲行,秉心不回。乃者蜀將姜維寇鈔脩郡,為所執略。往歲偽大將軍費禕驅率羣衆,陰圖闚𨵦,道經漢壽,請會衆賔,脩於廣坐之中手刃擊禕,勇過聶政,功逾介子,可謂殺身成仁,釋生取義者矣。夫追加襃寵,所以表揚忠義;祚及後胤,所以獎勸將來。其追封脩為長樂鄉侯,食邑千戶,謚曰威侯;子襲爵,加拜奉車都尉;賜銀千鉼,絹千匹,以光寵存亡,永垂來世焉。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  11. (臣松之以為古之舍生取義者,必有理存焉,或感恩懷德,投命無悔,或利害有機,奮發以應會,詔所稱聶政、介子是也。事非斯類,則陷乎妄作矣。魏之與蜀,雖為敵國,非有趙襄滅智之仇,燕丹危亡之急;且劉禪凡下之主,費禕中才之相,二人存亡,固無關於興喪。郭脩在魏,西州之男子耳,始獲於蜀,旣不能抗節不辱,於魏又無食祿之責,不為時主所使,而無故規規然糜身於非所,義無所加,功無所立,可謂「折柳樊圃」,其狂也且,此之謂也。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  12. (後禕果為魏降人郭脩所害。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  13. (斯乃性之寬簡,不防細微,卒為降人郭脩所害) อรรถาธิบายจากจื้อหลินในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.

บรรณานุกรม

[แก้]