จวนตวน
จวนตวน (เฉฺวียน ตฺวาน) | |
---|---|
全端 | |
ขุนพล (將軍 เจียงจวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 258 | |
กษัตริย์ | ซุนเหลียง |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ นครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง |
เสียชีวิต | ไม่ทราบ |
ญาติ | จวนจ๋อง (ญาติ) |
อาชีพ | ขุนพล |
จวนตวน หรือ จวนต๋วน (มีบทบาทในช่วงปี ค.ศ. 252-258) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เฉฺวียน ตฺวาน (จีน: 全端; พินอิน: Quán Duān) เป็นขุนพลของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 257-258 จวนตวนแปรพักตร์เข้าด้วยวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของง่อก๊กและกลายเป็นข้าราชการของวุยก๊ก
ประวัติ
[แก้]จวนเต๊กเป็นชาวอำเภอเจียนต๋อง (錢唐縣 เฉียนถางเซี่ยน) เมืองง่อกุ๋น (吳郡 อู๋จฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคือนครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง[1] เป็นญาติของจวนจ๋องขุนพลของรัฐง่อก๊ก[2]
ในปี ค.ศ. 252 เดือน 10 ของศักราชเจี้ยนซิง (建興) ปีที่ 1 จูกัดเก๊กราชครูแห่งง่อก๊กยกทัพไปยังทะเลสาบเจาอ๋อ (巢湖 เฉาหู) และสั่งให้สร้างก่อสร้างเขื่อนที่ตังหิน (東興 ตงซิง; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของนครเฉาหู มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) และให้สร้างป้อมปราการ 2 แห่งขึ้นระหว่างภูเขา 2 ลูก จูกัดเก๊กมอบหมายให้จวนตวนและเล่าเลียก (留略 หลิว เลฺว่) แยกกันนำทหารคนละพันนายไปรักษาป้อมปราการ 2 แห่งที่ตังหิน โดยจวนตวนรักษาป้อมตะวันตก เล่าเลียกรักษาป้อมตะวันออก เพื่อป้องทัพทัพของรัฐวุยก๊กที่อาจเข้าโจมตีรัฐง่อก๊ก[3]
กบฏจูกัดเอี๋ยน
[แก้]ในปี ค.ศ. 257 เดือน 5 ของศักราชไท่ผิงปีที่ 2 จูกัดเอี๋ยนขุนพลของรัฐวุยก๊กก่อกบฏที่อำเภอฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว นครลู่อาน มณฑลอานฮุย) เพื่อต่อต้านสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก จูกัดเอี๋ยนส่งจูกัดเจ้งบุตรชายและงอก๋งหัวหน้าเสมียน (長史 จ๋างฉื่อ) ไปขอการสนับสนุนจากง่อก๊ก ง่อก๊กจึงส่งบุนขิม, จวนเต๊ก (全懌 เฉฺวียน อี้) , จวนตวน, ต๋องจู (唐咨 ถาง จือ), หวาง จั้ว (王祚) และนายทหารคนอื่น ๆ ให้นำกำลังพลง่อก๊ก 30,000 นายไปสนับสนุนการก่อกบฏของจูกัดเอี๋ยน[4] ในเดือน 6 บุนขิม จวนเต๊ก และนายทหารคนอื่น ๆ เดินทัพตัดผ่านภูมิประเทศภูเขาเข้าฉิวฉุนทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ[5] หลานอาของจวนเต๊กคือจวนฮุย (全禕 เฉฺวียน อี) และเฉฺวียน อี๋ (全儀) อยู่ที่นครหลวงเกี๋ยนเงียบ (建業 เจี้ยนเย่; ปัจจุบันคือนครหนานจิง มณฑลเจียงซู) เกิดทะเลาะกับสมาชิกในครอบครัว จึงพามารดาและคนรับใช้หลายสิบคนข้ามแม่น้ำไปเข้าร่วมกับสุมาเจียว จงโฮยผู้ช่วยคนสนิทของสุมาเจียวจึงวางแผนเขียนหนังสือลับในนามของจวนฮุยและเฉฺวียน อี๋ แล้วส่งคนสนิทของจวนฮุยและเฉฺวียน อี๋ให้นำหนังสือลับเข้าฉิวฉุนไปแจ้งจวนเต๊ก โดยอ้างว่าผู้คนในง่อก๊กโกรธมากที่จวนเต๊กและคนอื่น ๆ ไม่สามารถเอาชนะทหารข้าศึกที่กำลังปิดล้อมฉิวฉุนได้ และคิดจะใช้เรื่องนี้ในการสังหารสมาชิกในครอบครัวของจวนเต๊กและคนอื่น ๆ แล้วจึงยอมจำนนต่อวุยก๊ก จวนเต๊กและคนอื่น ๆ ได้รับข่าวก็ตกใจและรู้สึกไม่สบายใจ ในเดือน 12 จวนเต๊กและคนอื่น ๆ นำทหารหลายพันนายยอมจำนนต่อสุมาเจียว ผู้คนในฉิวฉุนทราบเรื่องนี้ก็รู้สึกหวาดกลัวและไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป[6] ราชสำนักวุยก๊กแต่งตั้งให้จวนเต๊กเป็นขุนพลสยบภาคตะวันออก (平東將軍 ผิงตงเจียงจวิน) และให้มีบรรดาศักดิ์เป็นหลินเซียงโหว (臨湘侯) จวนตวนและคนอื่น ๆ ก็ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งต่าง ๆ กัน[7]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ (全琮字子璜,吳郡錢唐人也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
- ↑ (端,其從子也。) จื้อจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77.
- ↑ (冬十月,太傅恪率軍遏巢湖,城東興,使將軍全端守西城,都尉留略守東城。)จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 48.
- ↑ (遣長史吳綱將小子靚至吳請救。吳人大喜,遣將全懌、全端、唐咨、王祚等,率三萬眾,密與文欽俱來應誕。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (文欽、全懌等從城東北因山乘險,得將其眾突入城。) จื้อจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77.
- ↑ (懌兄子輝、儀留建業,與其家內爭訟,攜其母,將部曲數十家渡江,自歸文王。會建策,密為輝、儀作書,使輝、儀所親信齎入城告懌等,說吳中怒懌等不能拔壽春,欲盡誅諸將家,故逃來歸命。懌等恐懼,遂將所領開東城門出降,皆蒙封寵,城中由是乖離。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (十二月,懌等率其眾數千人開門出降,城中震懼,不知所為。詔拜懌平東將軍,封臨湘侯;端等封拜各有差。) จื้อจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.