เตาเขง
เตาเขง (ตู้ ฉฺยง) | |
---|---|
杜瓊 | |
เสนาบดีพิธีการ (太常) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
เสนาบดีปฏิคม (大鴻臚) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ขุนพลราชองครักษ์ฝ่ายซ้าย (左中郎將) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ที่ปรึกษาผู้เสนอและทัดทาน (諫議大夫) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ป. ทศวรรษ 160[1] เฉิงตู มณฑลเสฉวน |
เสียชีวิต | ค.ศ. 250 (อายุราว 80 ปี)[1] |
บุตร | ตู้ เจิน |
อาชีพ | ขุนนาง, นักดาราศาสตร์, โหร |
ชื่อรอง | ปั๋วยฺหวี (伯瑜) |
เตาเขง ( ป. ทศวรรษ 160 – 250)[1] หรือชื่อในภาษาจีนกลางว่า ตู้ ฉฺยง (จีนตัวย่อ: 杜琼; จีนตัวเต็ม: 杜瓊; พินอิน: Dù Qióng) ชื่อรอง ปั๋วยฺหวี (จีน: 伯瑜; พินอิน: Bóyú) เป็นขุนนาง นักดาราศาสตร์และโหรของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน
ประวัติ
[แก้]เตาเขงเป็นชาวอำเภอเซงโต๋ (成都 เฉิงตู) เมืองจ๊ก (蜀郡 ฉู่จฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคือนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน เตาเขงในวัยหนุ่มศึกษาคัมภีร์อี้จิงร่วมกับเหอ จง (何宗)[2] โดยเป็นลูกศิษย์ของเริ่น อัน (任安)[2] เตาเขงเชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์และการทำนาย ระหว่างปี ค.ศ. 194 ถึงปี ค.ศ. 214 เล่าเจี้ยง เจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) ได้รับเตาเขงมารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย (從事 ฉงชื่อ) ของตน[3]
ในปี ค.ศ. 214[4] หลังจากที่ขุนศึกเล่าปี่เข้ายึดเอ๊กจิ๋วจากเล่าเจี้ยง เล่าปี่แต่งตั้งเตาเขงให้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยในสำนักที่ปรึกษา (議曹從事 อี้เฉาฉงชื่อ)[5] หลังจากการสิ้นสุดของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ในปี ค.ศ. 220 เตาเขงอ้างการทำนายเพื่อโน้มน้าวให้เล่าปี่ประกาศตนเป็นจักรพรรดิ[2] ซึ่งในที่สุดเล่าปี่ก็ขึ้นเป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 221 และสร้างสถาปนารัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊ก หลังจากเล่าปี่สวรรคตในปี ค.ศ. 223[6] เตาเขงยังคงรับราชการกับเล่าเสี้ยนโอรสและผู้สืบทอดตำแหน่งจักรพรรดิถัดจากเล่าปี่ ในรัชสมัยของเล่าเสี้ยน ( ค. ค.ศ. 223–263) เตาเขงดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง ได้แก่ ที่ปรึกษาผู้เสนอและทัดทาน (諫議大夫 เจี้ยนอี้ต้าฟู) ขุนพลราชองครักษ์ฝ่ายซ้าย (左中郎將 จั่วจงหลางเจี้ยง) เสนาบดีปฏิคม (大鴻臚 ต้าหงหลู) และเสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง)[7] เมื่อจูกัดเหลียงอัครเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กเสียชีวิตในปี ค.ศ. 234 เล่าเสี้ยนมีรับสั่งให้เตาเขงนำพระราชโองการไว้ทุกข์ไปที่หลุมฝังศพของจูกัดเหลียงและอ่านออกเสียง[2]
เตาเขงเป็นที่รู้จักจากการเป็นคนพูดน้อยและไม่ทำตัวเด่นตลอดการรับราชการของตน เตาเขงแทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนขุนนางนอกสถานที่ทำงานและอยู่ในที่พักของตนเป็นส่วนใหญ่ในช่วงนอกเวลาราชการ เจียวอ้วนและบิฮุยซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าขุนนางราชสำนักกลางของจ๊กก๊กระหว่างปี ค.ศ. 234 ถึง ค.ศ. 253 เคารพและยกย่องเตาเขงเป็นอย่างสูง[8]
แม้ว่าเตาเขงจะเชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์เป็นอย่างดี แต่เดิมนั้นไม่มีความรู้ด้านดาราศาสตร์มาก่อน[9] จนกระทั่งได้พบกับเจียวจิ๋วที่เป็นเพื่อนขุนนางซึ่งแสวงหามุมมองเกี่ยวกับดาราศาสตร์อยู่ตลอดเวลา เตาเขงบอกเจียวจิ๋วว่า "ไม่ง่ายเลยที่จะเข้าใจดาราศาสตร์ จะต้องสังเกตท้องฟ้าและระบุลักษณะของปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ประเภทต่าง ๆ ด้วยตนเอง แทนที่จะเชื่อในสิ่งที่คนอื่นบอก การเรียนดาราศาสตร์ต้องใช้ความพยายามและเวลามากก่อนที่จะเข้าใจดาราศาสตร์อย่างแท้จริง เมื่อเข้าใจแล้วก็จะเริ่มกังวลว่าความลับในอนาคตจะรั่วไหล ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการดีที่สุดที่จะไม่รู้ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเลิกสังเกตท้องฟ้า"[10]
เจียวจิ๋วถามเตาเขงว่า " โจฺว ชูเคยกล่าวไว้ว่า 'บางสิ่งที่สูงบนถนน' [นิยมพูดกันว่า 'บางสิ่งที่สูงบนถนนจะมาแทนที่ (ราชวงศ์) ฮั่น'] หมายถึงรัฐวุย (魏 เว่ย์) ทำไมท่านถึงคิดว่าเป็นเช่นนั้น” เตาเขงตอบว่า "คำว่า เว่ย์ (魏) ยังมีความหมายถึงหอสังเกตการณ์สองแห่งที่แต่ละประตูของพระราชวัง หันหน้าไปทางถนนและโดดเด่นในฐานะโครงสร้างสูงมากจากระยะไกล (เพราะเว่ย์เป็นชื่อของรัฐโบราณด้วย) นักปราชญ์จึงใช้คำนี้ในสองความหมาย " เมื่อเจียวจิ๋วต้องการให้ขยายความให้ชัดเจน เตาเขงจึงอธิบายเพิ่มเติมว่า "คำว่าเฉา (曹) ไม่เคยใช้เรียกตำแหน่งขุนนางราชสำนักในยุคโบราณ การเรียกเป็นตำแหน่งเช่นนี้เริ่มขึ้นในราชวงศ์ฮั่น เสมียนเรียกว่า ฉู่เฉา (屬曹) และทหารองครักษ์เรียกว่า ชื่อเฉา (侍曹) นี่อาจเป็นความประสงค์ของสวรรค์" [11][a]
เตาเขงเสียชีวิตในปี ค.ศ. 250 ขณะอายุราว 80 ปี[1] ตลอดชีวิตของเตาเขงเขียนตัวอักษรจีนมากกว่า 100,000 ตัวในหันชือจางจฺวี้ (韓詩章句) เพื่อเป็นคำอธิบายโดยละเอียดของคัมภีร์ชือจิง[2] อย่างไรก็ตาม เตาเขงไม่เคยรับลูกศิษย์คนใดเลย ดังนั้นจึงไม่มีใครสืบทอดภูมิปัญญาของเตาเขง[b][12]
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ เตาเขงกำลังพูดถึงการแทนที่ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกโดยรัฐวุยก๊กแห่งยุคสามก๊ก ตระกูลโจหรือเฉา (曹) เป็นตระกูลผู้ปกครองรัฐวุยก๊ก
- ↑ รายละเอียดนี้ขัดแย้งกับในหฺวาหยางกั๋วจื้อซึ่งบันทึกว่าเกา หวาน (高玩) เป็นลูกศิษย์ของเตาเขง เกา หวานยังรับราชการในสมัยราชวงศ์จิ้นในตำแหน่งนักดาราศาสตร์หลวง (太史令 ไท่ฉื่อลิ่ง) จึงน่าจะสืบทอดความรู้บางอย่างของเตาเขง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 (瓊年八十餘,延熈十三年卒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 de Crespigny (2007).
- ↑ (杜瓊字伯瑜,蜀郡成都人也。少受學於任安,精究安術。劉璋時辟為從事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
- ↑ Zizhi Tongjian เล่มที่ 67.
- ↑ (先主定益州,領牧,以瓊為議曹從事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
- ↑ จือจื้อทงเจียน เล่มที่ 69–70.
- ↑ (後主踐阼,拜諫議大夫,遷左中郎將、大鴻臚、太常。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
- ↑ (為人靜默少言,闔門自守,不與世事。蔣琬、費禕等皆器重之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
- ↑ (雖學業入深,初不視天文有所論說。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
- ↑ (後進通儒譙周常問其意,瓊荅曰:「欲明此術甚難,須當身視,識其形色,不可信人也。晨夜苦劇,然後知之,復憂漏泄,不如不知,是以不復視也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
- ↑ (周因問曰:「昔周徵君以為當塗高者魏也,其義何也?」瓊荅曰:「魏,闕名也,當塗而高,聖人取類而言耳。」又問周曰:「寧復有所怪邪?」周曰:「未達也。」瓊又曰:「古者名官職不言曹;始自漢已來,名官盡言曹,吏言屬曹,卒言侍曹,此殆天意也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
- ↑ (著韓詩章句十餘萬言,不教諸子,內學無傳業者。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ)
- de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.
- ซือหม่า กวัง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน