ข้ามไปเนื้อหา

เตียวอิบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เตียวอิบ (จาง จี)
張緝
ที่ปรึกษาผู้ใหญ่ราชสำนัก
(光祿大夫 กวางลู่ต้าฟู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 252 (252) – ค.ศ. 254 (254)
กษัตริย์โจฮอง
เจ้าเมืองตงกว่าน (東莞太守 ตงกว่านไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 252 (252)
กษัตริย์โจฮอง
เจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการราชวัง
(中書郎 จงชูหลาง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
เสียชีวิต27 มีนาคม ค.ศ. 254[a]
นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน
คู่สมรสเซี่ยงชื่อ (向氏)
บุตร
บุพการี
อาชีพขุนนาง
ชื่อรองจิ้งจ้ง (敬仲)
บรรดาศักดิ์ซีเซียงโหว (西鄉侯)

เตียวอิบ[1] (เสียชีวิต 27 มีนาคม ค.ศ. 254)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จาง จี (จีน: 張緝; พินอิน: Zhāng Jī) ชื่อรอง จิ้งจ้ง (จีน: 敬仲; พินอิน: Jìngzhòng) เป็นขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นบุตรชายของเตียวกี๋ข้าหลวงมณฑลเลียงจิ๋ว เป็นบิดาของเตียวฮองเฮา และเป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของโจฮองจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของรัฐวุยก๊ก

ประวัติ[แก้]

เตียวอิบเป็นชาวอำเภอเกาหลิง (高陵) เมืองผิงอี้ (馮翊) ซึ่งปัจจุบันคือเขตเกาหลิง นครซีอาน มณฑลฉ่านซี บิดาของเตียวอิบคือเตียวกี๋ (張既 จาง จี้) ผู้ดำรงตำแหน่งข้าหลวง (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลเลียงจิ๋ว

ในปี ค.ศ. 223 เตียวกี๋บิดาของเตียวอิบเสียชีวิต เตียวอิบสืบทอดบรรดาศักดิ์ซีเซียงโหว (西鄉侯) ของบิดา[2]

ในช่วงศักราชไท่เหอ (太和; ค.ศ. 227-233) ในรัชสมัยของโจยอยจักรพรรดิลำดับที่ 2 ของรัฐวุยก๊ก เตียวอิบมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอ (令 ลิ่ง) ของอำเภอเวิน (溫縣 เวินเซี่ยน) มีชื่อเสียงจากความสามารถในการปกครอง[3] ในช่วงเวลานั้น จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กยกทัพจ๊กก๊กบุกขึ้นเหนือ เตียวอิบจึงเขียนหนังสือเสนอแผนไปยังราชสำนัก จักรพรรดิโจยอยตรัสถามความเห็นจากซุนจูผู้เป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書令 จงชูลิ่ง) ซุนจูมีความเห็นว่าเตียวอิบเป็นผู้มีไหวพริบในการวางกลยุทธ์ โจยอยจึงทรงแต่งตั้งให้เตียวอิบเป็นนายกองทหารม้า (騎都尉 ฉีตูเว่ย์) เข้าร่วมยุทธการรบต้านรัฐจ๊กก๊ก[4] หลังเสร็จศึก เตียวอิบได้รับการตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการ (尚書郎 ช่างชูหลาง) และได้รับการยอมรับจากจักรพรรดิโจยอยในเรื่องความสามารถในการปฏิบัติงาน[5] ต่อมาเตียวอิบทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書郎 จงชูหลาง) แล้วไปเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองตงกว่าน (東莞; อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภออี๋ฉุ่ย มณฑลชานตงในปัจจุบัน)[6] ในช่วงเวลานั้นเตียวอิบได้วิเคราะห์สถานการณ์ของรัฐจ๊กก๊กและง่อก๊กส่งขึ้นไปยังราชสำนักหลายครั้ง

ในปี ค.ศ. 252 โจฮองจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของรัฐวุยก๊กตั้งให้บุตรสาวของเตียวอิบขึ้นเป็นจักรพรรดินีเตียวฮองเฮา เตียวอิบได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาผู้ใหญ่ราชสำนัก (光祿大夫 กวางลู่ต้าฟู) ได้รับการเลื่อนยศเป็นพิเศษ[7] ไม่นานหลังจากนั้น รัฐวุยก๊กยกทัพโจมตีรัฐง่อก๊กและพ่ายแพ้ให้กับจูกัดเก๊กราชครูแห่งง่อก๊กในยุทธการที่ตังหิน ในช่วงเวลานั้นเตียวอิบบอกกับสุมาสูผู้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และมีตำแหน่งมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) ว่าแม้จูกัดเก๊กจะได้รับชนะในการศึก แต่ไม่นานหลังจากนั้นจะถูกประหารชีวิต[8] ในปีถัดมาจูกัดเก๊กนำทัพง่อก๊กปิดล้อมหับป๋า แต่จำต้องถอยทัพเนื่องจากโรคระบาด ท้ายที่สุดจูกัดเก๊ํกก็ถูกซุนจุ๋นสังหาร สุมาสูจึงยกย่องเตียวอิบว่ามีสติปัญญามากกว่าจูกัดเก๊ก[9]

ครอบครัวเตียวอิบและลิฮองผู้เป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書令 จงชูลิ่ง) เป็นสหายกันมาหลายรุ่น เตียวอิบและลิฮองยังเป็นชาวเมืองผิงอี้ด้วยกันและยังอาศัยอยู่ใกล้กันด้วย[10] ลิฮองจึงร่วมคิดการกับเตียวอิบและแฮเฮาเหียนวางแผนจะโค่นล้มสุมาสูและตั้งแฮเฮาเหียนเป็นมหาขุนพลแทน เวลานั้นเตียวอิบรู้สึกไม่เป็นสุขในราชสำนัก ด้านลิฮองนั้นกุมอำนาจอยู่ภายใน ทั้งยังเป็นชาวเมืองเดียวกันกับเตียวอิบ หลี่ เทา (李韜) บุตรชายของลิฮองก็สมรสกับเจ้าหญิงใหญ่แห่งเจ๋ (齊長公主 ฉีฉางกงจู่) เตียวอิบจึงเชื่อใจลิฮองอย่างมาก[11]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 254 ในช่วงเวลาที่กำลังจะมีการแต่งตั้งสนมตำแหน่งกุ้ยเหริน (貴人) ลิฮองและคนอื่น ๆ วางแผนจะนำกำลังทหารเข้าสังหารสุมาสู แล้วจะตั้งให้แฮเฮาเหียนดำรงตำแหน่งมหาขุนพลแทนสุมาสู ตั้งให้เตียวอิบเป็นขุนพลทหารม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน)[12] แต่แผนการรั่วไหลรู้ไปถึงสุมาสู สุมาสูจึงเรียกตัวลิฮองมาพบและจัดการสังหารลิฮอง[13] แฮเฮาเหียน เตียวอิบ และคนอื่น ๆ ถูกจับกุมไปส่งให้เสนาบดีตุลาการ (廷尉 ถิงเว่ย์) พิจารณาคดี ท้ายที่สุดเตียวอิบถูกบังคับให้ฆ่าตัวตายในคุก บุตรชายทุกคนของเตียวอิบก็ถูกประหารชีวิตด้วยเช่นกัน[14] แต่หลานชายของเตียวอิบชื่อจาง (張殷) รอดชีวิต ภายหลังได้ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลเลียงจิ๋วในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันตก[15]

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. 1.0 1.1 วันเกิงซฺวี (庚戌) ในเดือน 2 ศักราชเจียผิง (嘉平; ค.ศ. 249-254) ปีที่ 6 ในรัชสมัยของโจฮองตามที่ระบุในพระราชประวัติโจฮองในจดหมายเหตุสามก๊ก แฮเฮาเหียนและลิฮองก็เสียชีวิตในวันเดียวกัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "สามก๊ก ตอนที่ ๘๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ June 14, 2023.
  2. (黃初四年薨。... 子緝嗣。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 15.
  3. (緝字敬仲,太和中為溫令,名有治能。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 15.
  4. (會諸葛亮出,緝上便宜,詔以問中書令孫資,資以為有籌略,遂召拜騎都尉,遣參征蜀軍。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 15.
  5. (軍罷,入為尚書郎,以稱職為明帝所識。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 15.
  6. (緝以中書郎稍遷東莞太守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 15.
  7. (嘉平中,女為皇后,徵拜光祿大夫,位特進,封妻向為安城鄉君。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 15.
  8. (數為國家陳擊吳、蜀形勢,又嘗對司馬大將軍料諸葛恪雖得勝於邊土,見誅不久。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 15.
  9. (及恪從合肥還,吳果殺之。大將軍聞恪死,謂衆人曰:「諸葛恪多輩耳!近張敬仲縣論恪,以為必見殺,今果然如此。敬仲之智為勝恪也。」) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 15.
  10. (緝與李豐通家,又居相側近。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 15.
  11. (豐旣內握權柄,子尚公主,又與緝俱馮翊人,故緝信之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  12. (嘉平六年二月,當拜貴人,豐等欲因御臨軒,諸門有陛兵,誅大將軍,以玄代之,以緝爲驃騎將軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  13. (大將軍微聞其謀,請豐相見,豐不知而往,即殺之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  14. (豐被收,事與緝連,遂收送廷尉,賜死獄中,其諸子皆并誅。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 15.
  15. (其諸子皆並誅。緝孫殷,晉永興中為梁州刺史,見《晉書》。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 15.

บรรณานุกรม[แก้]