ต้านท่าย
ต้านท่าย (เฉิน ท่าย) | |
---|---|
陳泰 | |
รองราชเลขาธิการฝ่ายซ้าย (尚書左僕射 ช่างชูจั่วผูเย่) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 256 – ค.ศ. 260 | |
กษัตริย์ | โจมอ |
ขุนพลพิทักษ์ทัพ (鎮軍將軍 เจิ้นจฺวินเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 256 | |
กษัตริย์ | โจมอ |
รองราชเลขาธิการฝ่ายซ้ายขวา (尚書右僕射 ช่างชูโย่วผูเย่) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 255 – ค.ศ. 256 | |
กษัตริย์ | โจมอ |
ขุนพลโจมตีตะวันตก (征西將軍 เจิงซีเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง 255 | |
กษัตริย์ | โจมอ |
ขุนพลสำแดงเดช (奮威將軍 เฟิ่นเวย์เจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 249 – ค.ศ. 255 | |
กษัตริย์ | โจฮอง / โจมอ |
ข้าหลวงมณฑลยงจิ๋ว (雍州刺史 ยงโจวชื่อฉื่อ) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 249 – ค.ศ. 255 | |
กษัตริย์ | โจฮอง / โจมอ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ[a] |
เสียชีวิต | ป. มิถุนายน ค.ศ. 260[b] |
บุตร |
|
บุพการี | |
ญาติ | ดู ตระกูลตันแห่งเองฉวนและตระกูลซุนแห่งเองฉวน |
อาชีพ | ขุนพล, ขุนนาง |
ชื่อรอง | เสฺวียนปั๋ว (玄伯) |
สมัญญานาม | มู่โหว (穆侯) |
บรรดาศักดิ์ | อิ่งอินโหว (潁陰侯) |
ต้านท่าย (เสียชีวิต ป. มิถุนายน ค.ศ. 260[c])[1] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เฉิน ท่าย (จีน: 陳泰; พินอิน: Chén Tài) ชื่อรอง เสฺวียนปั๋ว (จีน: 玄伯; พินอิน: Xuánbó) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน ต้านท่ายเป็นบุตรชายของตันกุ๋น[d] และเป็นหลานตาของซุนฮก[e] ต้านท่ายมีความรู้ด้านพิชัยสงครามเป็นอย่างสูง และนำทหารของตนโดยปฏิบัติต่อทหารเหมือนเป็นบุตรชายของตนเอง เมื่อผู้สำเร็จราชการสุมาสูเริ่มใช้อำนาจตามใจตนและจักรพรรดิโจมอสวรรคตในสถานการณ์ที่น่าเคลือบแคลงอย่างยิ่ง ต้านท่ายก็แสดงความจงรักภักดีต่อสูงต่อรัฐวุยก๊กโดยการสวมเสื้อไว้ทุกข์ในงานพระศพของโจมอ
ประวัติช่วงต้น
[แก้]ในฐานะทายาทของตระกูลที่ทรงอิทธิพลที่สุดของวุยก๊ก 2 ตระกูลคือตระกูลตัน/ต้าน (เฉิน) และตระกุลซุน (สฺวิน) ต้านท่ายเติบโตมาพร้อมกับบุตรชายของตระกูลทางการเมืองที่มีชื่อเสียงตระกูลอื่น ๆ อย่างตระกูลสุมา (ซือหม่า) ต้านท่ายเป็นมิตรกับสุมาสูและสุมาเจียวซึ่งต่อมาได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นผู้ปกครองโดยพฤตินัยของวุยก๊ก หลังจากต้านท่ายเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงมณฑลเป๊งจิ๋วในปี ค.ศ. 244[4] ระหว่างดำรงตำแหน่งที่เป๊งจิ๋ว ต้านท่ายได้ออกรบต้านการจู่โจมของชนเผ่าเซียนเปย์ แล้วต้านท่ายก็ขึ่้นมามีชื่อเสียงในฐานะผู้นำทัพที่มากความสามารถ ในช่วงเวลานี้มีข้าราชการบางคนพยายามติดสินบนต้านท่ายเพื่อจะซื่อทาสจากชนเผ่า แต่ต้านท่ายปฏิเสธและคืนเงินไป เมื่อต้านท่ายถูกเรียกตัวกลับไปนครหลวงลกเอี๋ยงในปี ค.ศ. 249 สุมาอี้เพิงยึดอำนาจจากการก่อรัฐประหารโค่นโจซองที่เป็นผู้สำเร็จราชการร่วม ต้านท่ายเป็นหนึ่งในข้าราชการหลายคนที่ส่งหนังสือมาถึงโจซองที่มีเนื้อความโน้มน้าวให้โจซองยอมจำนนต่อสุมาอี้ โจซองยอมทำตามนั้นและภายหลังก็ถูกประหารชีวิตพร้อมกับคนในตระกูลและพรรคพวกคนสนิทส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนการของสุมาอี้ที่จะเข้าควบคุมราชสำนักวุยก๊กโดยสมบูรณ์
รบกับจ๊กก๊กทางด้านตะวันตก
[แก้]เมื่อโจซองถูกกำจัด ตระกูลสุมาขึ้นมามีอำนาจในวุยก๊กและผูกขาดอำนาจรัฐโดยสิ้นเชิง ในตอนแรกต้านท่ายสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การเมือง เพราะต้านท่ายเชื่อว่าสุมาอี้มีความสามารถในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มากกว่าโจซอง แต่ต้านท่ายรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับอิมธิพลที่มากขึ้นของตระกูลสุมา และกลายมาปลีกตัวให้ห่างจากเรื่องความจงรักภักดีทั้งต่อโจฮองจักรพรรดิวุยก๊กและต่อผู้สำเร็จราชการสุมาอี้ ต้านท่ายต้องการจะหลีกเลี่ยงการเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง จึงขอให้ย้ายตนไปยังรักษาชายแดนทางตะวันตกเพื่อต้านการรุกรานของจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริ ราชสำนักวุยก๊กจึงตั้งให้ต้านท่ายเป็นขุนพลและตั้งให้เป็นข้าหลวงของมณฑลยงจิ๋วแทนที่กุยห้วย
ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 249 เกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กนำทัพจ๊กก๊กบุกชายแดนด้านตะวันตกของวุยก๊ก ต้านท่ายเห็นว่าเกียงอุยที่ได้ป้อมปราการที่เขาก๊กสัน (麴山 ชฺวีชาน) และยุยงชนเผ่าเกี๋ยง (羌 เชียง) หลายกลุ่มให้ก่อกบฏต่อต้านการปกครองของวุยก๊กในอำเภอใกล้เคียง ต้านท่ายจึงร้องขอต่อผู้บังคับบัญชาของตนคือกุยห้วยขุนพลของวุยก๊กให้นำการโจมตีป้อมปราการเพื่อตัดขาดกับทัพหลักของเกียงอุย ต้านท่ายชี้ให้เห็นว่าแม้ว่าป้อมปราการบนเขาก๊กสันจะแข็งแกร่ง ก็แต่ก็อยู่ห่างจากฐานกำลังหลักของจ๊กก๊กจึงง่ายต่อการตัดเส้นทางลำเลียงเสบียง กุยห้วยพร้อมด้วยต้านท่ายและเตงงายจึงนำทัพวุยก๊กเข้าปิดล้อมค่ายของจ๊กก๊กที่เขาก๊กสัน ตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงได้อย่างง่ายดาย กุยห้วยยังทำตามคำแนะนำของต้านท่ายที่ให้นำทหารเข้ายึดเขางิวเทาสัน (牛頭山 หนิวโถวชาน) เพื่อสกัดทางถอยของเกียงอุยและตัดขาดจากเส้นทางลำเลียงเสบียง เกียงอุยและทัพจ๊กก๊กจึงล่าถอยโดยทิ้งทหารที่เขาก๊กสันไว้ ทหารที่รักษาค่ายเขาก๊กสันจึงยอมจำนนต่อทัพวุยก๊กอย่างรวดเร็ว
ภายหลังในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน ค.ศ. 253 เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กโจมตีอาณาเขตของวุยก๊กและเข้าล้อมกองทหารรักษาการณ์ที่เต๊กโตเสีย (狄道 ตี๋เต้า; อยู่บริเวณอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เวลานั้นจูกัดเก๊กขุนพลรัฐง่อก๊กที่เป็นอีกหนึ่งรัฐอริของวุยก๊กก็นำทัพง่อก๊กโจมตีชายแดนด้านตะวันออกของวุยก๊ก เกียงอุยหวังว่าจูกัดเก๊กจะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของทัพวุยก๊กทางตะวันออก เพื่อให้ตนได้ตั้งมั่นทางตะวันตก แต่กุยห้วยและต้านท่ายนำทัพวุยก๊กเข้าโจมตีเกียงอุยและสามารถสลายวงล้อมที่เต๊กโตเสีย ทำให้เกียงอุยต้องล่าถอยอีกครั้ง
หลังจากกุยห้วยเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 255 ต้านท่ายได้รับช่วงตำแหน่งของกุยห้วยและดูแลราชการทหารในภูมิภาคกวนต๋ง (關中 กวานจง) ในช่วงเวลานั้น เกียงอุยได้นำทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีวุยก๊กและตั้งเป้าจะเข้ายึดเต๊กโตเสีย ต้านท่ายจึงสั่งให้อองเก๋งข้าหลวงมณฑลยงจิ๋วไปป้องกันเต๊กโตเสียและรักษาป้อมปราการระหว่างที่รอกำลังเสริม แต่อองเก๋งอยากสร้างผลงานในการรบจึงนำกองกำลังออกจากเต๊กโตเสียเข้าโจมตีข้าศึกที่ด่านกู้ (故關 กู้กวาน) อองเก๋งพ่ายแพ้ยับเยินต่อทัพจ๊กก๊กและจำต้องล่าถอยกลับเข้าเต๊กโตเสียโดยเหลือทหารเพียง 10,000 นาย จากนั้นอองเก๋งจึงมุ่งเน้นไปที่การปกป้องเต๊กโตเสียตามที่ต้านท่ายสั่งไว้ เมือต้านท่ายทราบข่าวความพ่ายแพ้ของอองเก๋ง ต้านท่ายจึงเร่งระดมพลไปช่วยอองเก๋ง แต่ต้านท่ายก็ยังกังวลว่าเกียงอุยจะใข้โอกาสนี้เข้าโจมตีคลังเสบียงของทัพวุยก๊กที่ลี่หยาง (櫟陽) ทางตะวันออก และกังวลว่าเกียงอุยจะเกณฑ์ชนเผ่าเกี๋ยงมาร่วมทัพจ๊กก๊กและก่อภัยคุกคามที่ร้ายแรงกว่านั้น แต่เกียงอุยก็ไม่ได้ทำเรื่องดังกล่าวตามที่ต้านท่ายเป็นกังวล กลับมุ่งเน้นไปที่การโจมตีเต๊กโตเสียและการปิดล้อมป้อมปราการแทน กองกำลังของวุยก๊กนำโดยเตงงาย, หวาง ปี้ (王弼) และเฮาหุน (胡奮 หู เฟิ่น) มาเข้าสมทบกับทัพต้านท่าย เกียงอุยคาดการณ์ได้ถูกต้องว่ากำลังเสริมของวุยก๊กจะมายังเต๊กโตเสีย เกียงอุยจึงสั่งทหารบางหน่วยให้ดักซุ่มโจมตีกำลังเสริมเมื่อยกมาถึง แต่ทัพต้านท่ายใช้อีกเส้นทางผ่านภูมิประเทศภูเขา และมาถึงเนินเขาทางตะวันออกเฉียงใต้ของเต๊กโตเสีย โดยหลีกเลี่ยงเส้นทางอื่นที่มีกำลังดักซุ่มไว้ได้อย่างสิ้นเชิง เกียงอุยเข้าโจมตีต้านท่ายบนเนินเขา แต่ต้านท่ายตีเกียงอุยแตกพ่ายไปอย่างง่ายดายเพราะภูมิประเทศภูเขาทำให้ต้านท่ายได้เปรียบ เมื่อกำลังเสริมเพิ่มเติมของวุยก๊กมาถึงเต๊ํกโตเสีย เกียงอุยเห็นว่าการปิดล้อมไม่อาจทำได้อีกจึงถอนทัพกลับจ๊กก๊กและล่าถอยไปถึงจงถี (鐘堤) ในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ค.ศ. 255
ประวัติช่วงปลายและเสียชีวิต
[แก้]ในปี ค.ศ. 256 ราชสำนักวุยก๊กเรียกตัวต้านท่ายจากชายแดนด้านตะวันตกกลับไปยังนครหลวงลกเอี๋ยง โดยให้เตงงายรับหน้าที่ป้องกันชายแดนแทน ในลกเอี๋ยง ต้านท่ายได้รับตำแหน่งเป็นรองราชเลขาธิการฝ่ายซ้าย (尚書左僕射 ช่างชูจั่วผูเย่) ภายใต้การบริหารงานของสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในปี ค.ศ. 257 เมื่อจูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊กเริ่มก่อกบฏในฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) สุมาเจียวมอบหมายให้ต้านท่ายดูแลราชการในสำนักกลางในขณะที่ตัวสุมาเจียวเองนำทัพหลวงของวุยก๊กเข้าปราบปรามกบฏ ต้านท่ายยังช่วยประสานงานกับกับกองกำลังต่าง ๆ ของวุยก๊กซึ่งระดมมาจากทั่วแผ่นดินวุยก๊กไปช่วยสุมาเจียวในการปราบกบฏ กบฏถูกปราบปรามอย่างสิ้นเชิงในช่วงต้นปี ค.ศ. 258
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 260 โจมอจักรพรรดิวุยก๊กพยายามก่อรัฐประหารเพื่อจะยึดอำนาจคืนจากสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ล้มเหลวและจบลงด้วยการถูกปลงพระชนม์โดยเซงเจนายทหารใต้บังคับบัญชาของกาอุ้นซึ่งเป็นผู้ช่วยคนสนิทคนหนึ่งของสุมาเจียว ต้านท่ายพยายามเร่งไปที่เกิดเหตุเพื่่อคลายความตึงเครียดของสถานการณ์แต่มาไม่ทันการณ์ เมื่อต้านท่ายเห็นพระศพของโจมอก็ร้องไห้และปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในการประชุมขุนนางเพื่อประท้วงการปลงพระชนม์จักรพรรดิ แต่ภายหลังต้านท่ายยอมผ่อนปรนและกลับไปรับราชการหลังสุมาหูซึ่งเป็นขุนนางวุยก๊กที่เป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงและเป็นอาของสุมาเจียวมาโน้มน้าวให้ต้านท่ายกลับไปรับราชการ กาอุ้นต้องรับผิดชอบในเรื่องการสวรรคตของโจมอ แต่สุมาเจียวไว้ชีวิตกาอุ้นและให้ประหารชีวิตเซงเจแทน ต้านท่ายคัดค้านการตัดสินใจของสุมาเจียวและเสนอให้สุมาเจียวประหารชีวิตกาอุ้น แต่สุมาเจียวปฏิเสธ ต้านท่ายเสียชีวิตด้วยความทุกข์ใจในเวลาต่อมาไม่นาน
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ แม้ว่าไม่มีการบันทึกปีเกิดของต้านท่าย แต่ยังอนุมานได้ว่าต้านท่ายน่าจะมีอายุยี่สิบต้น ๆ ขณะเมื่อรับตำแหน่งราชการแรกในช่วงศักราชชิงหลง (ค.ศ. 233-237) ในรัชสมัยของโจยอย ดังนั้นปีเกิดของต้านท่ายน่าจะเป็นในทศวรรษ 210 หรือก่อนหน้านั้น
- ↑ ชีวประวัติต้านท่ายในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าต้านท่ายเสียชีวิตในศักราชจิ่ง-ยฺเหวียน (ค.ศ. 260–264) ปีที่ 1 ในรัชสมัยของโจฮวน[1]
- ↑ ต้านท่ายเสียชีวิตภายในเวลาไม่นานหลังการสวรรคตของโจมอซึ่งอยู่ในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 260 ดังนั้นวันที่ต้านท่ายเสียชีวิตจึงน่าจะอยู่ในช่วงกลางหรือช่วงปลายของเดือนมิถุนายน ค.ศ. 260
- ↑ ชื่อสกุล "ตัน" ของตันกุ๋ย (陳群 เฉิน ฉฺวิน) และชื่อสกุล "ต้าน" ของต้านท่ายเป็นชื่อสกุลเดียวกันคือชื่อสกุล "เฉิน" (陳) ในภาษาจีนกลาง
- ↑ ชีวประวัติสฺวิน อี่ (荀顗) ในจิ้นชูระบุว่าสฺวิน อี่เป็นน้องภรรยาของตันกุ๋น[2] และ จิ้นจี (晉紀) โดยก้าน เปา (干寶) ระบุว่าต้านท่ายเป็นหลานน้าของสฺวิน อี่[3] ต้านท่ายนั้นเป็นบุตรชายของตันกุ๋น จึงอนุมานได้ว่าตันกุ๋นจะต้องแต่งงานกับบุตรสาวของซุนฮก และบุตรชายของทั้งคู่คือต้านท่าย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 (景元元年薨,追贈司空。謚曰穆侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 22.
- ↑ (荀顗,字景倩,潁川人,魏太尉彧之第六子也。幼為姊婿陳群所賞。) จิ้นชู เล่มที่ 39.
- ↑ (干寶晉紀曰:高貴鄉公之殺,司馬文王會朝臣謀其故。太常陳泰不至,使其舅荀顗召之。) อรรถาธิบายจากจิ้นจีในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 22.
- ↑ (正始中,...,为并州刺史,....) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 22 ข้อความต้นฉบับบันทึกว่าการแต่งตั้งต้านท่ายเป็นข้าหลวงมณฑลเป๊งจิ๋วเกิดขึ้นในช่วงศักราชเจิ้งฉื่อในรัชสมัยของโจฮองโดยไม่มีการระบุปีแน่ชัด นอกจากนี้ยังมีบันทึกว่าต้านท่ายได้รับตำแหน่งราชการครั้งแรกในช่วงศักราชชิงหลงในรัชสมัยของโจยอย
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อจู้).
- ฝาน เสฺวียนหลิง (648). พงศาวดารราชวงศ์จิ้น (จิ้นชู).