ข้ามไปเนื้อหา

เลี่ยว ลี่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เลี่ยว ลี่
廖立
นายพันฉางฉุ่ย (長水校尉 ฉางฉุ่ยเซี่ยวเว่ย์)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 223 (223) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
ขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 219 (219) – ค.ศ. 223 (223)
กษัตริย์เล่าปี่
เจ้าเมืองปากุ๋น (巴郡太守 ปาจฺวิ้นไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ป. ค.ศ. 215 (215) – ค.ศ. 219 (219)
เจ้าเมืองเตียงสา (長沙太守 ฉางชาไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 209 (209) – ค.ศ. 215 (215)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครฉางเต๋อ มณฑลหูหนาน
เสียชีวิตไม่ทราบ
อำเภอเม่า มณฑลเสฉวน
อาชีพขุนนาง
ชื่อรองกงเยฺวียน (公淵)

เลี่ยว ลี่ (จีน: 廖立; พินอิน: Liào Lì; มีบทบาทในช่วง ค.ศ. 209–234) ชื่อรอง กงเยฺวียน (จีน: 公淵; พินอิน: Gōngyuān) เป็นขุนนางของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน[1]

รับราชการกับเล่าปี่

[แก้]

เลี่ยว ลี่เป็นชาวอำเภอหลินยฺเหวียน (臨沅縣 หลินยฺเหวียนเซี่ยน) เมืองบุเหลง (武陵郡 อู่หลิงจฺวิ้น) ซึ่งตั้งอยู่ในนครฉางเต๋อ มณฑลหูหนานในปัจจุบัน[2] เลี่ยว ลี่เริ่มรับราชการกับขุนศึกเล่าปี่เมื่อราวปี ค.ศ. 209[3] หลังจากเล่าปี่สืบทอดตำแหน่งเจ้ามณฑลเกงจิ๋วถัดจากเล่ากี๋ เล่าปี่รับเลี่ยว ลี่ซึ่งเวลานั้นอายุน้อยกว่า 30 ปีมาทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย (從事 ฉงชื่อ) และภายหลังแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเตียงสา (長沙 ฉางชา)[4]

ในปี ค.ศ. 211[3] เมื่อเล่าปี่นำกองกำลังไปยังมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) เล่าปี่มอบหมายให้จูกัดเหลียงหัวหน้าที่ปรึกษาอยู่รักษาอาณาเขตในมณฑลเกงจิ๋วระหว่างที่ตนไม่อยู่ ในช่วงเวลานั้นซุนกวนพันธมิตรของเล่าปี่ส่งทูตมาพบจูกัดเหลียงและขอให้แนะนำขุนนางบัณฑิตที่เชี่ยวชาญการจัดการราชการของรัฐ จูกัดเหลียงตอบว่า "บังทองและเลี่ยว ลี่เป็นผู้มากความสามารถในเกงจิ๋ว สามารถช่วยเหลือข้าในการปกครองรัฐได้"[5]

ในปี ค.ศ. 215 เมื่อความตึงเครียดระหว่างเล่าปี่และซุนกวนในเรื่องกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตในมณฑลเกงจิ๋วได้เพิ่มสูงขึ้น ซุนกวนสั่งให้ขุนพลลิบองนำกองกำลังไปยึดสามเมืองทางใต้ของมณฑลเกงจิ๋ว ในช่วงเวลานั้นเลี่ยว ลี่ทิ้งตำแหน่งเจ้าเมืองเตียงสาและหนีไปทางตะวันตกไปยังเซงโต๋นครหลวงของมณฑลเอ๊กจิ๋วเพื่อไปสมทบกับเล่าปี่ เล่าปี่ให้ความเคารพเลี่ยว ลี่อย่างสูงจึงไม่ได้ตำหนิเลี่ยว ลี่เรื่องที่เสียเมืองเตียงสาไป และแต่งตั้งให้เลี่ยว ลี่เป็นเจ้าเมืองของเมืองปากุ๋น (巴郡 ปาจฺวิ้น; ครอบคลุมบางส่วนของนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) แทน[6]

ในปี ค.ศ. 219 หลังจากเล่าปี่ยึดครองเมืองฮันต๋งและสถาปนาตนเป็นอ๋องแห่งฮันต๋ง ได้แต่งตั้งให้เลี่ยว ลี่เป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง)[7]

รับราชการกับเล่าเสี้ยน

[แก้]

ภายหลังจากเล่าปี่สวรรคตในปี ค.ศ. 223[8] เล่าเสี้ยนพระโอรสขึ้นสืบราชบัลลังก์เป็นจักรพรรดิพระองค์ถัดไปของรัฐจ๊กก๊ก หลังการขึ้นครองราชย์ เล่าเสี้ยนแต่งตั้งให้เลี่ยว ลี่มีตำแหน่งเป็นนายพันฉางฉุ่ย (長水校尉 ฉางฉุ่ยเซี่ยวเว่ย์)[9]

เลี่ยว ลี่ประเมินตัวเองไว้สูงมาโดยตลอดและเชื่อว่าตนทัดเทียมกับจูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีของจ๊กก๊กทั้งในด้านความสามารถและเกียรติคุณ แต่เลี่ยว ลี่ก็ตระหนักว่าสถานะของตนในราชสำนักจ๊กก๊กยังด้อยกว่าขุนพลลิเงียมและคนอื่น ๆ เลี่ยว ลี่จึงรู้สึกไม่เป็นสุขอย่างมาก[10]

เหตุหมิ่นประมาท

[แก้]

ครั้งหนึ่งเมื่อขุนนางผู้ช่วยของจูกัดเหลียงคือหลี่ เช่า (李邵) และเจียวอ้วนมาเพื่อหารือกับเลี่ยว ลี่ในบางประเด็น เลี่ยว ลี่บอกกับทั้งคู่ว่า:

"กองทัพจะออกรบในแดนไกล ท่านทั้งหลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนยุทธวิธี ในอดีต จักรพรรดิองค์ก่อน (เล่าปี่) เลือกจะรบกับง่อเพื่อเข้าควบคุมสามเมืองทางใต้แทนที่จะพิชิตฮันต๋ง ท้ายที่สุดพระองค์ก็ยังเสียสามเมืองให้ง่อ เป็นการเสียเวลาและกำลังอย่างสูญเปล่าแก่กองกำลังของเรา เมื่อฮันต๋งล่ม พระองค์ก็ปล่อยให้แฮหัวเอี๋ยนและเตียวคับบุกเข้าเอ๊กจิ๋วและเกือบทำให้เราต้องเสียการปกครองทั้งมณฑลไป แม้ภายหลังยึดฮันต๋งมาได้ พระองค์ก็ล้มเหลวในการกู้คืนศพของกวานโหว (กวนอู) และเสียเซียงหยงให้ข้าศึก กวนอูก็ประเมินตัวเองสูงเกินไปทั้งที่ตนเป็นผู้นำทัพที่ไร้ความสามารถ ทั้งยังหัวแข็งและบ้าบิ่นเกินไป นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เราแพ้ในยุทธการและเสียไพร่พล คนอย่างเอี่ยงลองและเหวิน กง (文恭) เป็นชนชั้นกลาง เหวิน กงไม่รู้จักบทบาทของตนในฐานะเจ้าหน้าที่ ในอดีต เอี่ยงลองชื่นชมม้าเลี้ยงและน้องชายอย่างมากถึงขั้นขึ้นเทียบกับนักปราชญ์ บัดนี้เขากลายเป็นหัวหน้าเลขานุการ ทุกสิ่งที่เขาทำมีเพียงการพยายามจะทำให้เรื่องราวระหว่างผู้คนราบรื่น กัว เหยี่ยนฉาง (กุยฮิวจี๋) เอาแต่ทำตามผู้อื่นอย่างไร้หัวคิด เขาไม่มีความสามารถในการทำการใหญ่แต่ก็ยังได้เป็นขุนนางมหาดเล็ก บัดนี้จ๊กตกต่ำลง ข้าไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่ควรเลยที่จะปล่อยให้สามคนนี้รับผิดชอบหน้าที่สำคัญเช่นนี้ อองเลี้ยนก็เป็นชนชั้นต่ำ ละโมบและทุจริต หากเขาได้อำนาจก็จะนำความทุกข์ทรมานอย่างมากมาสู่ผู้คน นั่นทำให้เราต้องลงเอยอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้"[11]

หลี่ เช่าและเจียวอ้วนรายงานจูกัดเหลียงเรื่องการหมิ่นประมาทของเลี่ยว ลี่ จูกัดเหลียงจึงเขียนฎีกาถวายจักรพรรดิเล่าเสี้ยนว่า:

"นายพันฉางฉุ่ยเลี่ยว ลี่เป็นคนเห็นแก่ตัวและเย่อหยิ่ง เขาวิพากย์วิจารณ์ขุนนางสำคัญเสีย ๆ หาย ๆ และยังว่าร้ายรัฐอย่างเปิดเผยว่าแต่งตั้งคนธรรมดาสามัญแทนที่ผู้มีความรู้และความสามารถในตำแหน่งสำคัญ เขายังกล่าวอีกว่าผู้นำการทหารของเรานั้นเป็นเด็กเหลือขอ เขาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของจักรพรรดิองค์ก่อนและใส่ร้ายขุนนางของเรา หากมีผู้บอกว่ากองทัพของเราฝึกฝนมาเป็นอย่างดีและกำหนดหน่วยต่าง ๆ อย่างชัดแจ้ง เลี่ยว ลี่จะแสดงสีหน้าเย่อหยิ่งและตอบด้วยความโกรธว่า 'ไม่ควรค่าแก่การกล่างถึงเลย!' นี่ไม่ใช่ครั้งเดียวที่เขาพูดแบบนี่้ หากแม้แกะเพียงตัวเดียวยังสามารถทำให้แกะทั้งฝูงหลงทางได้ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนเช่นเลี่ยว ลี่ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงจะไม่ทำให้คนอื่น ๆ ในสังคมหลงผิดและสับสน"[12]

จูกัดเหลียงยังเขียนอีกว่า

"เมื่อครั้งเลี่ยว ลี่รับใช้จักรพรรดิองค์ก่อน เขาไม่มีทั้งความภักดีและความกตัญญู เมื่อครั้งควรจะรักษาเตียงสา แต่กลับทิ้งเมืองปล่อยประตูเปิดไว้ให้ข้าศึกเข้าครอง เมื่อครั้งเขารับราชการในเมืองปากุ๋น ก็มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่น่าสงสัย เมื่อครั้งเขาอยู่ใต้บังคับบัญชามหาขุนพล ก็เอาแต่ใส่ไคล้ผู้คน เมื่อครั้งเขาอยู่เฝ้างานพระบรมศพของของจักรพรรดิองค์ เขาตัดศีรษะบางคนที่อยู่ใกล้พระบรมศพ ภายหลังจากฝ่าบาทขึ้นเสวยราชย์ ทรงแต่งตั้งขุนนางในตำแหน่งสำคัญ ๆ ของราชสำนัก เมื่อเลี่ยว ลี่ทราบว่าเขาได้รับตำแหน่งทางการทหาร ก็บอกกับข้าพระพุทธเจ้าว่า 'ข้าจะเหมาะกับการทหารได้อย่างไร เหตุใดข้าจึงได้รับตำแหน่งในหมู่นายพันทั้งห้าแทนที่จะเป็นเสนาบดี' ข้าพระพุทธเจ้าตอบเขาว่า 'ท่านดำรงตำแหน่งสำคัญในฐานะรองจากขุนพล เหตุที่ท่านไม่ได้เป็นเสนาบดีนั้น ก็จงดูลิเงียมเป็นตัวอย่าง เขาก็ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีี ท่านเองก็คู่ควรกับตำแหน่งชั้นนายพันทั้งห้าแล้ว' เลี่ยว ลี่จึงเริ่มไม่พอใจนับตั้งแต่นั้น"[13]

ตกต่ำและถูกเนรเทศ

[แก้]

เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กทรงให้ออกพระราชโองการความว่า:

"เมื่อชาวเหมียวก่อกบฏก็ถูกลงโทษด้วยการเนรเทศ เลี่ยว ลี่หลงผิดและสับสน ข้าทนสั่งประหารชีวิตเขาไม่ได้จึงขอสั่งเนรเทศเขาไปอยู่ที่ห่างไกล"[14]

เลี่ยว ลี่ถูกถอดจากตำแหน่งและลดสถานะลงเป็นสามัญชน เลี่ยว ลี่และครอบครัวถูกเนรเทศไปยังเมืองเวิ่นชาน (汶山郡 เวิ่นชานจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณอำเภอเม่า มณฑลเสฉวน) แล้วอาศัยในฐานะเกษตรกร ดำรงชีพด้วยการทำนา ในปี ค.ศ. 234[15] เมื่อเลี่ยว ลี่ได้ข่าวการเสียชีวิตของจูกัดเหลียง เลี่ยว ลี่ก็หลั่งน้ำตาร้องไห้ว่า "บัดนี้ข้าต้องใช้ชีวิตที่เหลือเยี่ยงจั่วเริ่น!"[a][17]

หลายปีต่อมา เมื่อเกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กผ่านมาทางเมืองเวิ่นชาน เกียงอุยได้ไปเยี่ยมเลี่ยว ลี่และเห็นว่าเลี่ยว ลี่ยังคงเป็นผู้ทรนงตนและทะเยอทะยานอย่างที่เคยเป็น และยังคงความสงบและใจเย็นเวลาพูด เลี่ยว ลี่เสียชีวิตในเวิ่นชานโดยไม่ทราบปีที่เสียชีวิต หลังเลี่ยว ลี่เสียชีวิต ภรรยาและบุตรของเลี่ยว ลี่ได้รับการอภัยโทษและได้รับอนุญาตให้กลับมายังเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก[18]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. คำว่า จั่วเริ่น (左袵) หมายถึงรูปแบบการแต่งกายที่พบได้ทั่วไปในหมู่ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่ชาวฮั่นในจีนยุคโบราณ คำนี้ในจีนยุคโบราณยังมีความหมายในเชิงเปรียบเทียบถึง "อนารยชน" (กล่าวคือเป็นคนในชนกลุ่มน้อย)[16]

อ้างอิง

[แก้]
  1. de Crespigny (2007), p. 465.
  2. (廖立字公淵,武陵臨沅人。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  3. 3.0 3.1 Sima (1084), vol. 66.
  4. (先主領荊州牧,辟為從事,年未三十,擢為長沙太守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  5. (先主入蜀,諸葛亮鎮荊土,孫權遣使通好於亮,因問士人皆誰相經緯者,亮荅曰:「龐統、廖立,楚之良才,當贊興世業者也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  6. (建安二十年,權遣呂蒙奄襲南三郡,立脫身走,自歸先主。先主素識待之,不深責也,以為巴郡太守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  7. ([建安]二十四年,先主為漢中王,徵立為侍中。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  8. Sima (1084), vol. 70.
  9. (後主襲位,徙長水校尉。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  10. (立本意,自謂才名宜為諸葛亮之貳,而更游散在李嚴等下,常懷怏怏。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  11. (後丞相掾李邵、蔣琬至,立計曰:「軍當遠出,卿諸人好諦其事。昔先帝不取漢中,走與吳人爭南三郡,卒以三郡與吳人,徒勞役吏士,無益而還。旣亡漢中,使夏侯淵、張郃深入于巴,幾喪一州。後至漢中,使關侯身死無孑遺,上庸覆敗,徒失一方。是羽怙恃勇名,作軍無法,直以意突耳,故前後數喪師衆也。如向朗、文恭,凡俗之人耳。恭作治中無綱紀;朗昔奉馬良兄弟,謂為聖人,今作長史,素能合道。中郎郭演長,從人者耳,不足與經大事,而作侍中。今弱世也,欲任此三人,為不然也。王連流俗,苟作掊克,使百姓疲弊,以致今日。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  12. (邵、琬具白其言於諸葛亮。亮表立曰:「長水校尉廖立,坐自貴大,臧否羣士,公言國家不任賢達而任俗吏,又言萬人率者皆小子也;誹謗先帝,疵毀衆臣。人有言國家兵衆簡練,部伍分明者,立舉頭視屋,憤咤作色曰:『何足言!』凡如是者不可勝數。羊之亂羣,猶能為害,況立託在大位,中人以下識真偽邪?」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  13. (亮集有亮表曰:「立奉先帝無忠孝之心,守長沙則開門就敵,領巴郡則有闇昧闟茸其事,隨大將軍則誹謗譏訶,侍梓宮則挾刃斷人頭於梓宮之側。陛下即位之後,普增職號,立隨比為將軍,面語臣曰:『我何宜在諸將軍中!不表我為卿,上當在五校!』臣荅:『將軍者,隨大比耳。至於卿者,正方亦未為卿也。且宜處五校。』自是之後,怏怏懷恨。」) อรรถาธิบายจากจูเก่อเลี่ยงจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  14. (詔曰:「三苗亂政,有虞流宥,廖立狂惑,朕不忍刑,亟徙不毛之地。」) อรรถาธิบายจากจูเก่อเลี่ยงจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  15. Sima (1084), vol. 72.
  16. "Meaning of 左袵 (zuǒ rèn)". ChineseWords.org. สืบค้นเมื่อ 26 May 2018.
  17. (於是廢立為民,徙汶山郡。立躬率妻子耕殖自守,聞諸葛亮卒,垂泣歎曰:「吾終為左袵矣!」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  18. (後監軍姜維率偏軍經汶山,往詣立,稱立意氣不衰,言論自若。立遂終於徙所。妻子還蜀。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.

บรรณานุกรม

[แก้]