เอาเจ้
เอาเจ้ (หู จี้) | |
---|---|
胡濟 | |
ขุนพลม้าทะยานฝ่ายขวา (右驃騎將軍 โย่วเพี่ยวฉีเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 256 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
มหาขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตก (鎮西大將軍 เจิ้นซีต้าเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 256 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
แม่ทัพเมืองฮันต๋ง (漢中都督 ฮั่นจงตูตู) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 248 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ก่อนหน้า | อองเป๋ง |
ผู้จัดการทัพกลาง (中典軍 จงเตี่ยนจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 234 – ค.ศ. 248 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ขุนพลราชองครักษ์สำแดงยุทธ (昭武中郎將 เจาอู่จงหลางเจี้ยง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 234 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
หัวหน้ารัฐบาล | จูกัดเหลียง |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ อำเภอถงไป่ มณฑลเหอหนาน |
เสียชีวิต | ไม่ทราบ |
ญาติ | หู ปั๋ว (น้องชาย) |
อาชีพ | ขุนพล |
ชื่อรอง | เหว่ย์ตู้ (偉度) |
บรรดาศักดิ์ | เฉิงหยางถิงโหว (成陽亭侯) |
เอาเจ้[a], ออจี้[b] หรือออเจ๊ก[c] (ราว คริสต์ทศวรรษ 220– ค.ศ. 256) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หู จี้ (จีน: 胡濟; พินอิน: Hú Jì) ชื่อรอง เหว่ย์ตู้ (จีน: 偉度; พินอิน: Wěidù) เป็นขุนพลของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน
ประวัติ
[แก้]เอาเจ้เป็นชาวอำเภองีหยง (義陽縣 อี้หยางเซี่ยน) เมืองงีหยง (義陽郡 อี้หยางจฺวิ้น) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของอำเภอถงไป่ มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน มีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับประวัติในช่วงต้นของเอาเจ้ เอาเจ้ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในบันทึกประวัติศาสตร์เมื่อเอาเจ้รับราชการแล้วในรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กในตำแหน่งนายทะเบียน (主簿 จู่ปู้) ของจูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งจ๊กก๊ก
ในปี ค.ศ. 231 ลิเงียมขุนพลจ๊กก๊กผู้รับผิดชอบการขนส่งเสบียงระหว่างการทัพที่รบกับวุยก๊กรัฐอริของจ๊กก๊ก ไม่สามารถขนส่งเสบียงไปยังแนวหน้าได้ทันเวลาที่กำหนด จึงพยายามปกปิดความผิดพลาดของตน แต่จูกัดเหลียงพบความจริง เอาเจ้ในเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการที่ปรึกาษาทัพ (參軍 ชานจฺวิน) และขุนพลราชองครักษ์สำแดงยุทธ (昭武中郎將 เจาอู่จงหลางเจี้ยง) ร่วมกับจูกัดเหลียงในการถวายฎีกาต่อเล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กให้ปลดลิเงียมจากตำแหน่งและถอดบรรดาศักดิ์
หลังการเสียชีวิตของจูกัดเหลียงในปี ค.ศ. 234 เล่าเสี้ยนทรงแต่งตั้งให้เอาเจ้เป็นผู้จัดการทัพกลาง (中典軍 จงเตี่ยนจฺวิน) และตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เฉิงหยางถิงโหว (成陽亭侯)
เมื่ออองเป๋งขุนพลจ๊กก๊กเสียชีวิตในปี ค.ศ. 248 ราชสำนักจ๊กก๊กแต่งตั้งให้เอาเจ้เป็นแม่ทัพพื้นที่ของเมืองฮันต๋ง (漢中 ฮั่นจง) แทนที่อองเป๋ง มอบอาญาสิทธิ์ และแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ในนามของมณฑลกุนจิ๋ว[d] หลายปีต่อมาเอาเจ้ได้เลื่อนขึ้นเป็นมหาขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตก (鎮西大將軍 เจิ้นซีต้าเจียงจฺวิน)[4][5]
ในปี ค.ศ. 256 เกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กนำทัพจ๊กก๊กออกรบกับวุยก๊ก เกียงอุยนัดแนะกับเอาเจ้ที่นำอีกกองกำลังแยกให้ยกไปบรรทบกับทัพของเกียงอุยที่อำเภอเซียงเท้ง (上邽縣 ช่างกุยเซี่ยน; อยู่ในนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) แต่เอาเจ้ไม่สามารถยกกำลังมาสมทบกับเกียงอุยได้ทันกาล เกียงอุยจึงถูกทัพวุยก๊กใต้บังคับบัญชาของเตงงายตีแตกพ่าย[6] ภายหลังเอาเจ้ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นขุนพลม้าทะยานฝ่ายขวา (右驃騎將軍 โย่วเพี่ยวฉีเจียงจฺวิน)
ในปี ค.ศ. 258 เกียงอุยส่งเอาเจ้ อองหำ (王含 หวาง หาน) และเจียวปิน (蔣斌 เจี่ยงปิน) ไปรักษาอำเภอเซียวเส (漢壽縣 ฮั่นโช่วเซี่ยน; ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเจี้ยนเก๋อ มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน), อำเภอก๊กเสีย (樂城縣 เล่อเฉิงเซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอเฉิงกู้ มณฑลฉ่านซี) และอำเภอฮั่นเสีย (漢城縣 ฮั่นเฉิงเซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอเหมี่ยน มณฑลฉ่านซี) เพื่อป้องกันการบุกของวุยก๊ก[7]
ไม่ทราบแน่ชัดของเอาเจ้เสียชีวิตในปีใด
เอาเจ้มีชื่อเสียงในฐานะผู้ซื่อสัตย์ชอบธรรม ครั้งหนึ่งจูกัดเหลียงเคยกล่าวว่าเอาเจ้, ซุยเป๋ง (崔州平 ชุย โจวผิง), ชีซี และตั๋งโห (董和 ต่ง เหอ) เป็นสหายเพียงกลุ่มเดียวที่สามารถวิจารณ์จูกัดเหลียงและชี้ให้เห็นข้อบกพร้องของจูกัดเหลียง[8]
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 85[1]
- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 70[2]
- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 83[3]
- ↑ ในช่วงเวลานั้นมณฑลกุนจิ๋วอยู่ในอาณาเขตของวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของจ๊กก๊ก ดังนั้นเอาเจ้จึงเป็นข้าหลวงมณฑลแต่ในนามเท่านั้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ("เกียงอุยรับสั่งแล้วก็ลาไปเมืองฮันต๋ง จึงให้หาขุนนางทหารมาพร้อมกันแล้วว่า บัดนี้พระเจ้าเล่าเสี้ยนโปรดให้เรายกไปตั้งอยู่ตำบลหลงเส ให้ทำไร่นาฝึกสอนทหารให้ชำนาญ จงตระเตรียมตัวให้พร้อมกันแล้วเราจะยกไป ครั้นบอกทหารทั้งปวงแล้ว จึงให้เอาเจ้ไปอยู่รักษาเมืองเซียวเส ให้องเสียไปอยู่รักษาเมืองก๊กเสีย เจียวปีนไปอยู่รักษาเมืองฮั่นเสีย แล้วให้เอียวสีกับอุเยียมคุมทหารไปเปนกองตะเวนด่านทางทุกตำบล") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๕". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 26, 2024.
- ↑ ("แล้วขงเบ้งก็ถวายบังคมลามาที่อยู่ จึงจัดแจงนายทหารสามสิบคน อุยเอี๋ยน เตียวเอ๊ก อองเป๋ง ลิอิ๋น ลิหงี ม้าต้าย เลียวฮัว ม้าตง เตียวหงี เล่าตำ เปงจี๋ ม้าเจ๊ก อ้วนหลิม งออี้ โกเสียง งอปัน เอียวหงี เล่าเป๋า เคาอิ้น เตงหำ เล่าปิ้น กัวหยง ออจี้ เงี้ยมอ้าน เหียนสิบ ตอหงี ตอกี๋ เซงฮู ฮวนกี๋ อวนเกี๋ยน ตังควด กวนหิน เตียวเปา จะยกไปตีเมืองฮูโต๋") "สามก๊ก ตอนที่ ๗๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 26, 2024.
- ↑ ("เกียงอุยก็จัดแจงกองทัพให้เลียวฮัวกับเตียวเอ๊กเปนกองหน้า ให้อองหำกับเจียวปินเปนปีกขวา ให้เจียวฉีกับปอเฉียมเปนปีกซ้าย ให้ออเจ๊กกับหัวสิบเปนกองหลัง ตัวเกียงอุยกับแฮหัวป๋าคุมทหารยี่สิบหมื่นเปนทัพหลวง") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 26, 2024.
- ↑ (亮卒,為中典軍,統諸軍,封成陽亭侯,遷中監軍前將軍,督漢中,假節領兗州刺史,至右驃騎將軍。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 39.
- ↑ (十一年,鎮北將軍王平卒,以中監軍胡濟為驃騎將軍,代平督漢中事。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 7.
- ↑ (十九年春,就遷維為大將軍。更整勒戎馬,與鎮西大將軍胡濟期會上邽。濟失誓不至,故維為魏大將鄧艾所破於段谷,星散流離,死者甚眾。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (維建議,以為錯守諸圍,雖合《周易》「重門」之義,然適可禦敵,不獲大利。不若使聞敵至,諸圍皆斂兵聚谷,退就漢、樂二城,使敵不得入平,有事之日,令遊軍並進以伺其虛。敵攻關不克,野無散谷,千里縣糧,自然疲乏。引退之日,然後諸城並出,與遊軍並力搏之,此殄敵之術也。於是令督漢中胡濟卻住漢壽,監軍王含守樂城,護軍蔣斌守漢城。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (又曰:「昔初交州平,屢聞得失,後交元直,勤見啟誨,前參事於幼宰,每言則盡,後從事於偉度,數有諫止;雖姿性鄙暗,不能悉納,然與此四子終始好合,亦足以明其不疑於直言也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 39.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- ฉาง ฉฺวี (ศตวรรษที่ 4). หฺวาหยางกั๋วจื้อ.
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).