ข้ามไปเนื้อหา

จงโฮย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จงโฮย (จง ฮุ่ย)
鍾會
ภาพวาดจงโฮยจากนวนิยายภาพสามก๊ก (ค.ศ. 1957)
เสนาบดีมหาไทย (司徒 ซือถู)
ดำรงตำแหน่ง
8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 264 – 3 มีนาคม ค.ศ. 264
กษัตริย์โจฮวน
ก่อนหน้าเจิ้ง ชง
ถัดไปโฮเจ้ง
ขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตก
(鎮西將軍 เจิ้นซีเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 263 – 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 264
กษัตริย์โจฮวน
นายกองพันผู้กำกับมณฑลราชธานี
(司隷校尉 ซือลี่เซี่ยวเว่ย์)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 258–263
กษัตริย์โจมอ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 225[a]
เสียชีวิต3 มีนาคม พ.ศ. 264 (39 ปี)[a]
นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน
บุตรจง อี้ (หลานชาย, บุตรชายบุญธรรม)
บุพการี
ญาติจง ยฺวี่ (พี่ชายต่างมารดา)
จง เช่า (พี่ชายต่างมารดา)
ซุนโจย (หลานชาย)
อาชีพนักอักษรวิจิตร, นักเขียนความเรียง, ขุนพล, ขุนนาง
ชื่อรองชื่อจี้ (士季)
บรรดาศักดิ์โหวระดับอำเภอ (縣侯 เซี่ยนโหว)
ภาพวาดจงโฮยในยุคราชวงศ์ชิง

จงโฮย (ค.ศ. 225 – 3 มีนาคม ค.ศ. 264)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จง ฮุ่ย (จีน: 鍾會; พินอิน: Zhōng Huì) ชื่อรอง ชื่อจี้ (จีน: 士季; พินอิน: Shìjì) เป็นนักอักษรวิจิตร นักเขียนความเรียง ขุนพล และขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน จงโฮยเป็นบุตรชายคนเล็กของจาง ชางผู (張昌蒲) ที่เกิดกับจงฮิวผู้ดำรงตำแหน่งเป็นราชครู (太傅 ไท่ฟู่) ในราชสำนักวุยก๊ก จงโฮยเป็นที่รู้จักในเรื่องความรอบรู้และเฉลียวฉลาดตั้งแต่วัยเยาว์ จงโฮยขึ้นมาโดดเด่นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 250 เมื่อจงโฮยได้เป็นผู้ช่วยคนสนิทของสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และผู้ปกครองโดยพฤตินัยของวุยก๊ก จงโฮยแนะนำสุมาเจียวถึงวิธีการปราบกบฏสามครั้งในฉิวฉุนตั้งแต่ปี ค.ศ. 257 ถึง ค.ศ. 258 และได้รับความนับถืออย่างสูงจากสุมาเจียว ด้วยความช่วยเหลือของสุมาเจียวทำให้จงโฮยได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเรื่อย ๆ และกลายเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของราชสำนักวุยก๊ก

ในปี ค.ศ. 263 ราชสำนักวุยก๊กออกคำสั่งให้จงโฮย เตงงาย และจูกัดสูนำทัพแยกกันเข้าโจมตีและพิชิตจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊ก ระหว่างและหลังการทัพกับจ๊กก๊ก จงโฮยใส่ร่ายจูกัดสูและเตงงายในข้อหาที่ขี้ขลาดในการรบสำหรับจูกัดสู และข้อหากบฏสำหรับเตงงาย แล้วเข้ากุมอำนาจบัญชากำลังทหารของทั้งสอง หลังจ๊กก๊กยอมจำนนต่อวุยก๊กในปี ค.ศ. 263 จงโฮยก็มีอำนาจเต็มในการบัญชาการทัพวุยก๊กทั้งหมดที่อยู่ในอาณาเขตของจ๊กก๊กเดิม ในปี ค.ศ. 264 จงโฮยเริ่มก่อกบฏต่อต้านสุมาเจียว โดยได้รับการหนุนหลังจากเกียงอุยอดีตขุนพลของจ๊กก๊ก แต่การก่อกบฏล้มเหลวเพราะแผนการของจงโฮยที่จะกวาดล้างนายทหารหลายคนของวุยก๊ก (เพราะจงโฮยระแวงว่านายทหารเหล่านี้จะไม่สนับสนุนตน) รั่วไหล เหล่านายทหารหลบหนีการควบคุมตัว แล้วรวบรวมกลุ่มทหารของพวกตนก่อการต่อต้านจงโฮย สังหารได้ทั้งจงโฮยและเกียงอุยในที่สุด

ประวัติช่วงต้นและการรับราชการ

[แก้]

บ้านเกิดบรรพบุรุษของจงโฮยคือในอำเภอฉางเช่อ (長社縣 ฉางเช่อเซี่ยน) เมืองเองฉวน (潁川郡 อิ่งชฺวานจฺวิ้น) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของนครฉางเก่อ มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน จงโฮยเป็นบุตรชายคนเล็กของจงฮิวผู้ดำรงตำแหน่งเป็นราชครู (太傅 ไท่ผู่) ในราชสำนักวุยก๊ก จงโฮยในวัยเยาว์มีชื่อเสียงในเรื่องความรอบรู้และฉลาดหลักแหลม[สามก๊กจี่ 3] มารดาของจงโฮยคือจาง ชางผู (張昌蒲) เป็นที่รู้จักในเรื่องความเข้มงวดต่อบุตรชายของตน และเรื่องการมีบทบาทสำคัญในการศึกษาในช่วงต้นของบุตรชาย

เจียวเจ้ขุนนางวุยก๊กเขียนในงานเขียนหนึ่งของตนว่าเราสามารถบอกบุคลิกลักษณะของบุคคลได้โดยการสังเกตรูม่านตาของบุคคลนั้น ๆ เมื่อจงโฮยอายุ 4 ปี จงฮิวผู้บิดาส่งจงโฮยไปพบเจียวเจ้ เจียวเจ้สังเกตได้ว่าเด็กชายจงโฮยไม่ธรรมดา เมื่อจงโฮยเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ก็มีชื่อเสียงในเรื่องการทำงานหนัก อ่านหนังสือมาก และเชี่ยวชาญศิลปะหลายประเภท ในช่วงศักราชเจิ้งฉื่อ (正始; ค.ศ. 240–249) ในรัชสมัยของโจฮอง จงโฮยรับราชการเป็นเจ้าพนักงานห้องสมุดหลวง (秘書郎 มี่ชูหลาง) และภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพนักงานสำนักราชเลขาธิการราชวังและราชเลขาธิการ (尚書中書侍郎 ช่างชูจงชูชื่อหลาง) จงโฮยได้รับการตั้งให้มีบรรดาศักดิ์กวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว) เมื่อโจมอขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 254[สามก๊กจี่ 4]

จงโฮยศึกตำราอี้จิง หลังการเสียชีวิตของจงโฮย มีการค้นพบตำรา 20 เล่มชื่อว่า เต้าลุ่น (道論) ในบ้านของจงโฮย ตำรานี้เชื่อว่าเขียนโดยจงโฮย มีเนื้อหาที่อภิปรายหลักปรัชญาทั้งนิตินิยมและตรรกนิยม แม้ว่าชื่อตำราจะบ่งบอกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับลัทธิเต๋า (道 เต้า) ก็ตาม เมื่อจงโฮยเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ชื่อเสียงของจงโฮยก็ทัดเทียมกับนักปรัชญาหวาง ปี้ (王弼) ที่มีอายุไล่เลี่ยกัน[สามก๊กจี่ 5]

ได้รับความสนใจจากสุมาสู

[แก้]

ชื่อ-ยฺหวี่ (世語) บันทึกเหตุการณ์ที่จงโฮยได้รับความสนใจจากสุมาสูผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก สุมาสูสั่งให้งีสง (虞松 ยฺหวี ซง) หัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (中書令 ช่างชูลิ่ง) ให้ร่างฎีกา สุมาสูยังไม่พอใจหลังอ่านร่างของงีสงและสั่งให้งีสงเขียนใหม่ งีสงคิดไม่ออกว่าจะเขียนฎีกาให้ดีขึ้นอย่างไร ขบคิดแล้วขบคิดอีกจนรู้สึกเศร้าหมอง จงโฮยเห็นว่างีสงดูกังวลจึงเสนอตัวช่วยเหลือและเปลี่ยนคำ 5 คำในฎีกา งีสงรู้สึกยินดีหลังดูการแก้ไขของจงโฮยจึงเสนอร่างที่แก้ไขแล้วนี้ให้กับสุมาสูในภายหลัง หลังสุมาสูอ่านร่างก็ถามงีสงว่า "ท่านไม่ใช่ผู้แก้ไขส่วนเหล่านี้ ใครเป็นผู้แก้ไข" งีสงตอบว่า "เป็นจงโฮย ข้าพเจ้าอยากแนะนำเขาให้นายท่าน บัดนี้เมื่อท่านถามมา ข้าก็จะไม่เก็บเขาไว้กับตัวอีก" สุมาสูกล่าวว่า "เขาสามารถรับความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงกว่านี้ได้ จงเรียกตัวเขามา" เมื่องีสงกลับไปบอกจงโฮยว่าสุมาสูต้องการพบตัว จงโฮยถามเรื่องความสามารถของสุมาสู งีสงตอบว่า "ท่านผู้นั้นรอบรู้ ฉลาดหลักแหลม และมีความสามารถหลากหลาย" จงโฮยอยู่กับบ้านเป็นเวลาประมาณสิบวัน ในช่วงเวลานั้นจงโฮยปฏิเสธที่จะรับแขกใด ๆ และคิดอย่างรอบคอบว่าตนจะพูดอะไรกับสุมาสู ในวันที่จงโฮยเข้าพบสุมาสู จงโฮยเข้ามาในจวนของสุมาสูแต่เช้าตรู่และออกมาในเวลาเที่ยงคืน หลังจงโฮยจากไป สุมาสูกล่าวว่า "เขามีความสามารถยอดเยี่ยมโดยแท้ที่จะสามารถช่วยเหลือผู้ปกครองได้"[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 1]

เผย์ ซงจือตั้งข้อสงสัยต่อเรื่องราวในชื่อ-ยฺหวี่ เห็นว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่งีสงจะต้องแนะนำจงโฮยให้กับสุมาสู เพราะสุมาสูคงต้องเคยได้ยินชื่อจงโฮยมาก่อนด้วยเหตุผลต่อไปนี้ ประการแรก จงโฮยมีพื้นเพมาจากตระกูลขุนนาง ประการที่ 2 จงโฮยมีชื่อเสียงอยู่แล้วตั้งแต่อยู่ในวัยเยาว์ ประการที่ 3 จงโฮยเริ่มรับราชการกับวุยก๊กทันทีที่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เผย์ ซงจือยังเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่ใครก็ตามที่เพียงแค่การอ่านงานเขียนชิ้นหนึ่งจะสามารถบอกได้ว่าบุคคลที่แก้ไขคำเพียงไม่กี่คำในงานเขียนนี้จะมีความสามารถที่จะรับความผิดชอบที่ใหญ่หลวงกว่านี้ได้[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 2]

บทบาทในการปราบกบฏที่ฉิวฉุน

[แก้]

การขึ้นสู่อำนาจของสุมาเจียว

[แก้]

ในปี ค.ศ. 255[1] ขุนพลวุยก๊กบู๊ขิวเขียมและบุนขิมเริ่มก่อกบฏในอำเภอฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) สุมาสูนำทัพหลวงวุยก๊กไปปราบกบฏ โดยจงโฮยติดตามสุมาสูไปในฐานะนายทหารผู้ช่วย สุมาเจียวน้องชายของสุมาสูนำอีกทัพหนึ่งตามมาสนับสนุน สุมาสูเสียชีวิตในฮูโต๋ (許昌 สฺวี่ชาง; ปัจจุบันคือนครสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนาน) หลังปราบกบฏสำเร็จ สุมาเจียวได้สืบทอดอำนาจของสุมาสูและได้บัญชาการกำลังทหารของสุมาสู เวลานั้นโจมอจักรพรรดิวุยก๊กมีรับสั่งให้สุมาเจียวยังคงอยู่ที่ฮูโต๋และให้เปาต้านนำทัพกลับมายังนครหลวงลกเอี๋ยง (洛陽 ลั่วหยาง) จงโฮยร่วมกับเปาต้านโน้มน้าวให้สุมาเจียวไม่ทำตามรับสั่งของจักรพรรดิและให้นำกำลังพลไปประจำการอยู่ทางใต้ของแม่น้ำลกซุย (雒水 ลั่วฉุ่ย) ใกล้กับนครลกเอี๋ยง สุมาเจียวขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนใหม่และยังคงกุมอำนาจราชสำนักวุยก๊กเหมือนอย่างที่พี่ชายทำ จงโฮยได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานสำนักประตูเหลือง (黃門侍郎 หฺวางเหมินชื่อหลาง) และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "ตงอู่ถิงโหว" (東武亭侯) มีศักดินา 300 ครัวเรือน[สามก๊กจี่ 6]

ช่วยเหลือในการปราบกบฏจูกัดเอี๋ยน

[แก้]

ในปี ค.ศ. 257 ราชสำนักวุยก๊กเรียกตัวขุนพลจูกัดเอี๋ยนที่ประจำการอยู่ที่อำเภอฉิวฉุนให้กลับมาลกเอี๋ยงเพื่อมารับตำแหน่งเป็นเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) เวลานั้นจงโฮยกำลังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์เพราะมารดาเพิ่งเสียชีวิต แต่จงโฮยก็หยุดไว้ทุกข์ทันทีและไปเตือนสุมาเจียวว่าตนคาดการณ์ว่าจูกัดเอี๋ยนจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง สุมาเจียวเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นการยุ่งยากเพราะได้ส่งไปแล้ว จึงไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ภายหลังจูกัดเอี๋ยนเริ่มก่อกบฏที่ฉิวฉุน จงโฮยติดตามสุมาเจียวที่นำทัพหลวงไปโจมตีกบฏ[สามก๊กจี่ 7]

เมื่อจูกัดเอี๋ยนก่อกบฏในฉิวฉุน ซุนหลิมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กสั่งให้ขุนพลจวนเต๊ก (全懌 เฉฺวียน อี้) และคนอื่น ๆ ให้นำทัพง่อก๊กไปสนับสนุนจูกัดเอี๋ยน ในช่วงเวลานั้น หลานอาของจวนเต๊กคือจวนฮุย (全禕 เฉฺวียน อี) และเฉฺวียน อี๋ (全儀) อยู่ที่นครหลวงเกี๋ยนเงียบ (建業 เจี้ยนเย่; ปัจจุบันคือนครหนานจิง มณฑลเจียงซู) เกิดทะเลาะกับสมาชิกในครอบครัว จวนฮุยและเฉฺวียน อี๋จึงพามารดาและผู้ติดตามแปรพักตร์เข้าด้วยวุยก๊ก จงโฮยทราบข่าวเรื่องการแปรพักตร์ของของทั้งสอง จึงแนะนำสุมาเจียวให้บอกจวนฮุยและเฉฺวียน อี๋ให้เรียนจดหมายลับไปถึงจวนเต๊กและลวงว่าาผู้คนในง่อก๊กไม่พอใจที่จวนเต๊กและคนอื่น ๆ ไม่สามารถเอาชนะทหารข้าศึกที่กำลังปิดล้อมฉิวฉุนได้ และคิดจะใช้เรื่องนี้ในการสังหารสมาชิกในครอบครัวของจวนเต๊กและคนอื่น ๆ แล้วจึงยอมจำนนต่อวุยก๊ก จวนเต๊กได้รับจดหมายก็รู้สึกกลัวจึงนำกำลังทหารของตนไปยอมตำนนต่อสุมาเจียว กลุ่มกบฏของจูกัดเอี๋ยนที่ขาดกำลังสนับสนุนจากง่อก๊กจึงถูกทัพสุมาเจียวตีแตกพ่ายและอำเภอฉิวฉุนก็ถูกยึดคืนกลับมาเป็นของวุยก๊ก จงโฮยได้รับการยกย่องจากสุมาเจียวมากขึ้นจากความสำเร็จของแผนการของจงโฮย ผู้คนในช่วงเวลานั้นเปรียบเทียบจงโฮยกับเตียงเหลียง (張良 จาง เหลียง) นักยุทธศาสตร์ผู้รับใช้จักรพรรดิฮั่นโกโจ (漢高祖 ฮั่นเกาจู่) ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น[สามก๊กจี่ 8]

หลังจงโฮยกลับมาลกเอี๋ยง ราชสำนักวุยก๊กเสนอตำแหน่งให้จงโฮยเป็นเสนาบดีกรมราชรถ (太僕 ไท่ผู) แต่จงโฮยปฏิเสธข้อเสนอและเลือกจะเป็นเสมียนในสำนักของสุมาเจียว จงโฮยเป็นหนึ่งในผู้ช่วยคนสนิทของสุมาเจียว ภายหลังราชสำนักต้องการแต่งตั้งให้จงโฮยมีบรรดาศักดิ์เป็น "เฉินโหว" (陳侯) เพื่อเป็นเกียรติแก่จงโฮยจากความดีความชอบในการปราบกบฏจูกัดเอี๋ยน แต่จงโฮยปฏิเสธการรับบรรดาศักดิ์ ราชสำนักเคารพการตัดสินใจของจงโฮยและแต่งตั้งให้เป็นนายกองพันผู้กำกับมณฑลราชธานี (司隷校尉 ซือลี่เซี่ยวเว่ย์) แทน จงโฮยยังคงมีส่วนร่วมอย่างมากในทางการเมืองในราชสำนักแม้ว่าตัวจงโฮยเองจะไม่ได้รับราชการในราชสำนักก็ตาม จงโฮยยังมีบทบาทสำคัญในการยุยงให้สุมาเจียวสั่งประหารชีวิตจี คาง (嵇康)[สามก๊กจี่ 9]

การพิชิตจ๊กก๊ก

[แก้]

การวางกลยุทธ์และการเปิดศึก

[แก้]

ระหว่างปี ค.ศ. 247 และ ค.ศ. 262 เกียงอุยขุนพลของจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กนำทัพบุกโจมตีชายแดนด้านตะวันตกของวุยก๊กหลายครั้ง แต่ไม่สามารถยึดครองดินแดนได้มากนัก สุมาเจียวเห็นว่าจ๊กก๊กอ่อนแอและขาดแคลนทรัพยากรหลังการทำศึกเหล่านี้ ดังนั้นสุมาเจียวจึงต้องการจะทำการบุกครั้งใหญ่เพื่อพิชิตจ๊กก๊ก ในบรรดาคนที่สุมาเจียวปรึกษา มีเพียงจงโฮยที่เห็นด้วยว่าจ๊กก๊กสามารถพิชิตได้ จงโฮยช่วยเหลือสุมาเจียวในการกำหนดกลยุทธ์ในการพิชิตจ๊กก๊ก[สามก๊กจี่ 10]

ในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 262–263 จงโฮยได้รบการแต่งตั้งเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตก (鎮西將軍 เจิ้นซีเจียงจฺวิน) และได้รับอาญาสิทธิ์ในการจัดการราชการทหารในภูมิภาคกวนต๋ง (關中 กวานจง) สุมาเจียวยังได้ระดมกำลังทหารจากหลายมณฑลในวุยก๊ก และสั่งให้ต๋องจูกำกับดูแลการสร้างเรือรบในการเตรียมความพร้อมเพื่อการบุกง่อก๊กที่เป็นอีกหนึ่งรัฐอริของวุยก๊ก[สามก๊กจี่ 11]

ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 263 ราชสำนักวุยก๊กออกพระราชโองการให้เตงงายและจูกัดสูนำกำลังพล 30,000 นายเข้าโจมตีจ๊กก๊กจากสองทิศทาง โดยทัพของเตงงายจะผ่านกานซง (甘松; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของ อำเภอเตี๋ยปู้ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และท่าจง (沓中; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอโจวชฺวี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และเข้าโจมตีกำลังทหารของเกียงอุย ทัพของจูกัดสูจะผ่านสะพานอู่เจีย (武街橋 อู่เจียเฉียว; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเหวิน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และสกัดทางถอยของเกียงอุย จงโฮยนำอีกทัพกำลังพล 100,000 นาย เข้าอาณาเขตของจ๊กก๊กผ่านหุบเขาเสียดก๊ก (斜谷 เสียกู่; ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเหมย์ มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และหุบเขาล่อก๊ก (駱谷 ลั่วกู่; ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอโจวจื้อ มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน)[สามก๊กจี่ 12]

จงโฮยสั่งให้เคาหงี (許儀 สฺวี อี๋) บุตรชายของเคาทูขุนพลผ่านศึกของวุยก๊ก ให้กำกับดูแลการก่อสร้างถนนที่นำไปสู่จ๊กก๊ก แต่เมื่อจงโฮยเห็นว่าถนนนั้นสร้างไม่ดี จงโฮยก็ไม่สนใจภูมิหลังของเคาหงีและสั่งให้ประหารชีวิตเคาหงีฐานที่ทำภารกิจล้มเหลว เหล่าทหารวุยก๊กต่างตกตะลึงที่จงโฮยกล้ากระทำเช่นนี้[สามก๊กจี่ 13]

ปะทะกับทัพจ๊กก๊ก

[แก้]

ราชสำนักจ๊กก๊กตอบสนองต่อการบุกของวุยก๊กโดยสั่งการให้ทัพต่าง ๆ งดการเข้าปะทะกับข้าศึกและล่าถอยไปยังฮั่นเสีย (漢城 ฮั่นเฉิง; ทางตะวันออกของอำเภอเหมี่ยน มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และก๊กเสีย (樂城 เล่อเฉิง; ทางตะวันออกของอำเภอเฉิงกู้ มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และรักษาที่มั่นไว้ หลิว ชิน (劉欽) เจ้าเมืองของเมืองเว่ย์ซิง (魏興郡 เว่ย์ซิงจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครอานคาง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) ในอาณาเขตของวุยก๊กนำกำลังทหารของตนผ่านหุบเข้าจูงอก๊ก (子午谷 จื๋ออู๋กู่; ทางตะวันออกของอำเภอหยาง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) ไปยังเมืองฮันต๋งในอาณาเขตของจ๊กก๊ก นายทหารของจ๊กก๊กได้แก่อองหำ (王含 หวาง หาน) และเจียวปิน (蔣斌 เจี่ยง ปิน) ป้องกันฮั่นเสียและก๊กเสียตามลำดับด้วยกำลังทหารคนละ 5,000 นาย จงโฮยสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคือซุนไค (荀愷 สฺวิน ข่าย) และลิจู (李輔 หลี ฝู่) นำกำลังทหารคนละ 10,000 นายเข้าโจมตีฮั่นเสียและก๊กเสีย ส่วนตัวจงโฮยนำทัพหลักมุ่งไปยังด่านเองเปงก๋วน (陽平關 หยางผิงกวาน) หรือหยางอานโข่ว (陽安口; อยู่ในอำเภอหนิงเฉียง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) ระหว่างทาง จงโฮยส่งคนเป็นตัวแทนตนไปคำนับหลุมศพของจูกัดเหลียง (ที่เชิงเขาของเขาเตงกุนสัน อยู่ในอำเภอเหมี่ยน มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) เมื่อจงโฮยมาถึงด่านเองเปงก๋วน ได้สั่งให้เฮาเหลก (胡烈 หู เลี่ย) นำทหารเข้าโจมตีด่าน เฮาเหลกยึดด่านและเสบียงที่ทัพจ๊กก๊กเก็บไว้ที่นั่นได้สำเร็จ [สามก๊กจี่ 14]

เกียงอุยล่าถอยจากท่าจงไปยังอิมเป๋ง (陰平 อินผิง; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเหวิน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ที่ซึ่งเกียงอุยรวบรวมกำลังพลและเตรียมการจะไปหนุนช่วยด่านเองเปงก๋วน แต่เกียงอุยล่าถอยไปยังป้อมปราการที่ไป่ฉุ่ย (白水; ในอำเภอชิงชฺวาน มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) หลังได้ยินว่าด่านเองเปงก๋วนถูกทัพวุยก๊กยึดได้แล้ว เกียงอุยนัดชุมนุมพลกับขุนพลจ๊กก๊กอันได้แก่เตียวเอ๊ก, เลียวฮัว และคนอื่น ๆ จากนั้นจึงเคลื่อนกำลังไปป้องกันจุดยุทธศาสตร์ที่ด่านเกียมโก๊ะ (劒閣 เจี้ยนเก๋อ; รู้จักในอีกชื่อว่าด่านเจี้ยนเหมิน อยู่ในอำเภอเจี้ยนเก๋อ มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) ซึ่งด่านภูเขามีป้อมปราการ จงโฮยเขียนจดหมายขนาดยาวถึงทัพจ๊กก๊ก เกลี้ยกล่อมให้ทัพจ๊กก๊กเลิกต่อต้านและยอมจำนนต่อวุยก๊ก[สามก๊กจี่ 15]

เตงงายไล่ตามเกียงอุยมาถึงอิมเป๋ง ที่อิมเป๋งเตงงายจัดกลุ่มทหารฝีมือดีจากในกำลังทหารของตนและใช้ทางลัดไปยังอิวกั๋ง (江由 เจียงโหยว; ทางเหนือของนครเจียงโหยว มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) ผ่านหมู่บ้านเต๊กหยง (德陽亭 เต๋อหยางถิง; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเจี้ยนเก๋อ มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) และเข้าใกล้กิมก๊ก (綿竹 เหมียนจู๋) ซึ่งอยู่ใกล้กับเซงโต๋ (成都 เฉิงตู) นครหลวงของจ๊กก๊ก เตงงายขอให้จูกัดสูเข้าร่วมกันตนในแผนการเดินทัพนี้ จูกัดสูได้รับคำสั่งให้สกัดการรุกคืบของเกียงอุยและไม่ได้รับอนุญาตให้ร่วมในภารกิจของเตงงาย เตงงายจึงนำทัพของตนไปยังอำเภอไป๋ฉุ่ยเพื่อนัดพบกับจงโฮย จงโฮยสั่งให้เถียน จาง (田章) และคนอื่น ๆ ให้นำทัพเลี่ยงไปทางตะวันตกของเกียมโก๊ะและเข้าใกล้อิวกั๋ง ระหว่างทางได้ปะทะเข้ากับกองซุ่มของจ๊กก๊ก 3 กอง จึงเข้ารบเอาชนะได้และทำลายค่ายของกองซุ่มเหล่านี้ด้วย เตงงายให้เถียน จางนำกองหน้าและแผ้วถางเส้นทาง[สามก๊กจี่ 16]

การล่มสลายของจ๊กก๊ก

[แก้]

เมื่อจงโฮยและจูกัดสูยกมาใกล้เกียมโก๊ะ จงโฮยต้องการยึดอำนาจบัญชาการกำลังทหารของจูกัดสู จึงลอบรายงานราชสำนักวุยก๊กว่าจูกัดสูแสดงความขี้ขลาดในการรบ เป็นผลทำให้จูกัดสูถูกปลดจากอำนาจบัญชาการทหารและถูกส่งกลับไปลกเอี๋ยงนครหลวงของวุยก๊ก ส่วนจงโฮยได้บัญชาการกำลังทหารของจูกัดสู จากนั้นจงโฮยจึงสั่งให้เข้าโจมตีเกียมโก๊ะแต่ยึดด่านเกียมโก๊ะไม่สำเร็จเพราะทัพจ๊กก๊กตั้งรับอย่างเข้มแข็ง จงโฮยจึงล่าถอย[สามก๊กจี่ 17]

ในช่วงเวลาเดียวกัน เตงงายนำทหารมาถึงกิมก๊กและเอาชนะกำลังทหารของจ๊กก๊กที่นำโดยจูกัดเจี๋ยม ตัวจูกัดเจี๋ยมก็ถูกสังหารในที่รบ เมื่อเกียงอุยทราบข่าวการเสียชีวิตของจูกัดเจี๋ยมจึงนำทัพไปทางตะวันออกมุ่งไปยังเมืองปากุ๋น (巴郡 ปาจฺวิ้น; ปัจจุบันคือนครฉงชิ่ง) จงโฮยนำกำลังทหารไปยังอำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน; ปัจจุบันคือนครเหมี่ยนหยาง มณฑลเสฉวน) และสั่งให้เฮาเหลก (胡烈 หู เลี่ย), เตนซก (田續 เถียน ซฺวี่), บังโฮย (龐會 ผาง ฮุ่ย) และคนอื่น ๆ ให้นำกำลังทหารไล่ตามตีเกียงอุย ในเวลาเดียวกันนั้น เตงงายนำทหารมาถึงด้านนอกของนครเซงโต๋ เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กทรงยอมจำนนต่อเตงงายโดยไม่ต่อสู้ แล้วทรงมีรับสั่งถึงเกียงอุยให้ยอมจำนนต่อจงโฮย เกียงอุยเดินทางไปยังอำเภอโปยเสีย แล้วสั่งให้ทหารวางอาวุธและยอมจำนนต่อจงโฮย[สามก๊กจี่ 18]

หลังพิชิตจ๊กก๊กสำเร็จ จงโฮยเขียนฎีกาถึงราชสำนักวุยก๊กเพื่อรายงานความดีความชอบและเรียกร้องให้ราชสำนักฟื้นฟูความสงบในจ๊กก๊กด้วยการปกครองอย่างมีเมตตากรุณา จงโฮยยังออกคำสั่งเคร่งครัดที่ห้ามไม่ให้ทหารของตนปล้นและลักขโมยในดินแดนของจ๊กก๊ก และปฏิบัติต่ออดีตข้าราชการของจ๊กก๊กอย่างให้เกียรติ จงโฮยเข้ากันได้ดีกับเกียงอุย[สามก๊กจี่ 19]

ในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 263-264 ราชสำนักวุยก๊กออกพระราชโองการยกย่องความดีความชอบของจงโฮยในการพิชิตจ๊กก๊ก จงโฮยได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู) ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากโหวระดับหมู่บ้าน (亭侯 ถิงโหว) เป็นโหวระดับอำเภอ (縣侯 เซี่ยนโหว) ได้รับศักดินาเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ครัวเรือน บุตรชายบุญธรรม 2 คนของจงโฮยต่างก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นโหวระดับหมู่บ้านและมีศักดินาคนละ 1,000 ครัวเรือน[สามก๊กจี่ 20]

ความล่มจมและการเสียชีวิต

[แก้]

จับกุมเตงงาย

[แก้]
ภาพตัวละครในนวนิยายสามก๊ก จากตำนานหนังสือสามก๊กพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จากซ้ายไปขวา: เตงงาย, สุมาเจียว, สุมาเอี๋ยน, สุมาอี้, สุมาสู, จงโฮย

จงโฮยมีเจตนาที่จะก่อกบฏต่อวุยก๊กมาช้านาน เมื่อเห็นว่าเตงงายมีพฤติกรรมเผด็จการแม้ว่าอำนาจบัญชาการทหารของเตงงายมาจากการให้อำนาจโดยราชสำนักวุยก๊ก จงโฮยจึงลอบรายงานไปยังราชสำนักว่าเตงงายวางแผนจะก่อกบฏ จงโฮยมีทักษะในการเลียนลายมือผู้อื่น หลังจงโฮยสกัดรายงานที่เตงงายเขียนถึงราชสำนักวุยก๊กได้ ก็แก้ไขรายงานให้มีสำนวนภาษาที่ดูเย่อหยิ่งและเรียกร้องมากเกินไป ในเวลาเดียวกัน จงโฮยยังทำลายจดหมายจากสุมาเจียวที่ส่งถึงเตงงาย[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 3] ราชสำนักวุยก๊กหลงตามอุบายของจงโฮยจึงมีคำสั่งให้จับกุมเตงงายและส่งตัวกลับนครหลวงลกเอี๋ยงโดยใช้รถนักโทษ สุมาเจียวกังวลว่าเตงงายจะไม่ยอมถูกจับกุมจึงสั่งให้จงโฮยและอุยก๋วนไปจับกุมเตงงาย โดยกำลังทหารของจงโฮยยกตามหลังอุยก๋วน อุยก๋วนไปถึงค่ายของเตงงายในเซงโต๋และใช้หนังสือมอบอำนาจของสุมาเจียวในการสั่งให้ทหารของเตงงายวางอาวุธ เตงงายถูกจับกุมและถูกนำตัวไปในรถนักโทษ[สามก๊กจี่ 21]

วางแผน

[แก้]

จงโฮยรู้สึกระแวงเตงงาย ดังนั้นหลังการจับกุมเตงงาย จงโฮยจึงเข้าบัญชาการทัพวุยก๊กในอาณาเขตของอดีตจ๊กก๊กในทันที จงโฮยเกิดเหลิงอำนาจหลังเห็นว่าตนกุมอำนาจในมือไว้มาก จึงตัดสินใจก่อกบฏต่อวุยก๊ก จงโฮยคิดกลยุทธ์ในการยึดลกเอี๋ยงนครหลวงวุยก๊ก ตามลำดับดังนี้:

  1. เกียงอุยจะนำทัพหน้าออกจากหุบเขาเสียดก๊ก (斜谷 เสียกู่) เพื่อโจมตีนครเตียงอั๋น (長安 ฉางอาน) จงโฮยจะนำทัพหลักตามมาสนับสนุน
  2. หลังยึดได้เตียงอั๋น จะแบ่งทัพออกเป็น 2 กองคือกองทหารราบและกองทหารม้า กองทหารราบจะล่องเรือไปตามแม่น้ำอุยโห (渭河 เว่ย์เหอ) และแม่น้ำฮองโห (黃河 หฺวางเหอ) ไปยังท่าข้ามเมิ่งจิน (孟津) ใกล้กับลกเอี๋ยง ส่วนกองทหารม้าจะยกมุ่งตรงไปทางลกเอี๋ยงทางบก จงโฮยประมาณการว่าการยกพลจะใช้เวลา 5 วัน
  3. กองทหารราบและกองทหารม้าจะสมทบกันนอกลกเอี๋ยงและเข้าโจมตีนครลกเอี๋ยงด้วยกัน[สามก๊กจี่ 22]

จงโฮยได้รับจดหมายจากสุมาเจียวความว่า "ข้าเกรงว่าเตงงายอาจไม่ยอมถูกจับกุม ข้าจึงสั่งให้กาอุ้นนำทหารราบและทหารม้า 10,000 นายเข้าหุบเขาเสียดก๊กและประจำการอยู่ที่ก๊กเสีย ข้าจะนำพล 100,000 นายไปประจำการอยู่ที่เตียงอั๋น เราจะได้พบกันในไม่ช้านี้" หลังจากอ่านจดหมาย จงโฮยก็ตกตะลึงและบอกผู้ช่วยคนสนิทว่า "เมื่อนายท่านนั้นสั่งให้ข้าจับกุมเตงงาย ก็ทราบดีว่าข้าสามารถจะทำภารกิจได้สำเร็จโดยลำพังตน แต่บัดนี้นายท่านนำกำลังพลมาที่นี่ก็คงกำลังสงสัยข้าเป็นแน่ เราควรกระทำการอย่างรวดเร็ว หากทำสำเร็จแล้วแผ่นดินก็จะเป็นของเรา แต่หากล้มเหลว เราสามารถถอยกลับไปที่จ๊กฮั่น และทำอย่างที่เล่าปี่เคยทำมาก่อน เป็นที่รู้กันดีว่าแผนการของข้าไม่เคยล้มเหลวเลยนับแต่ครั้งที่มีกบฏในฉิวฉุน ข้าจะพอใจกับเกียรติเพียงเท่านี้ได้อย่างไร"[สามก๊กจี่ 23]

การก่อการกำเริบ

[แก้]

จงโฮยมาถึงเซงโต๋ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 264 วันรุ่งขึ้น จงโฮยเรียกข้าราชการระดับสูงและอดีตข้าราชการของจ๊กก๊กทุกคนมาที่ราชสำนักจ๊กก๊กเดิม อ้างว่าเพื่อจัดพิธีรำลึกถึงกวยทายเฮาที่เพิ่งสิ้นพระชนม์ ในระหว่างพิธี จงโฮยแสดงพระราชเสาวนีย์ที่อ้างว่ากวยทายเฮาทรงออกก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ ในพระราชเสาวนีย์ระบุว่ากวยทายเฮาต้องการให้ผู้จงภักดีต่อวุยก๊กทุกคนลุกขึ้นต่อต้านสุมาเจียวและโค่นสุมาเจียวจากอำนาจ พระราชเสาวนีย์นั้นแท้จริงเป็นของปลอมที่จงโฮยเขียนขึ้นมา จงโฮยขอความคิดเห็นจากเหล่าข้าราชการ บอกให้ลงนามหากเห็นด้วยที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ก่อนสิ้นพระชนม์ของกวยทายเฮา จากนั้นจึงสั่งให้ผู้ช่วยคนสนิทเข้าบัญชาการหน่วยทหารต่าง ๆ แล้วจึงสั่งให้กักบริเวณข้าราชการทั้งหมดในสำนักต่าง ๆ และปิดประตูแต่ละสำนัก รวมถึงสั่งให้ปิดประตูเมืองและวางกำลังเวรยามอย่างแน่นหนา[สามก๊กจี่ 24]

คูเกี๋ยน (丘建 ชิว เจี้ยน) นายทหารใต้บังคับบัญชาของจงโฮยเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเฮาเหลก (胡烈 หู เลี่ย) เฮาเหลกแนะนำคูเกี๋ยนให้กับสุมาเจียว จงโฮยชื่นชมและนับถือคูเกี๋ยนอย่างสูงและขอให้ย้ายคูเกี๋ยนมาอยู่ในสังกัดของตน คูเกี๋ยนเห็นใจเฮาเหลกที่ถูกกักบริเวณเพียงลำพังในห้อง จึงไปหาจงโฮยและกล่าวว่าข้าราชการที่ถูกกักบริเวณแต่ละคนควรมีข้ารับใช้ไว้ดูแลอำนวยความสะดวก จงโฮยเห็นด้วย เฮาเหลกลวงข้ารับใช้ของตนและเขียนจดหมายไปถึงเหล่าบุตรชาย ในจดหมายกล่าวว่าตนได้ยินมาจากคูเกี๋ยนว่าจงโฮยกำลังวางแผนจะกวาดล้างข้าราชการที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดของตนโดยการลวงให้มาติดกับและสังหาร ข่าวลือแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเหมือนไฟป่าในหมู่ข้าราชการที่ถูกกักบริเวณ เมื่อคนของจงโฮยได้ข่าวเกี่ยวกับข่าวลือนี้ ก็เสนอให้จงโฮยประหารชีวิตข้าราชการทุกคนที่มียศตั้งแต่แม่ทัพทหารม้ารักษาค่ายใหญ่ (牙門騎督 หยาเหมินฉีตู) ขึ้นไป จงโฮยตัดสินใจไม่ได้ว่าควรทำอย่างไร[สามก๊กจี่ 25]

เวลาประมาณเที่ยงวันของวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 264 เหล่าบุตรชายของเฮาเหลกและผู้ใต้บังคับบัญชาเริ่มตีกลอง เหล่าทหารก็ทำตาม จากนั้นเหล่าทหารก็ยกไปยังประตูเมืองอย่างไม่เป็นระเบียบเพราะไม่มีคนนำ ในเวลานั้นเกียงอุยกำลังรวบรวมชุดเกราะและอาวุธจากจงโฮย ขณะนั้นพวกเขาก็ได้ยินเสียงโห่ร้องและได้รับข่าวว่าเกิดเพลิงไหม้ ต่อมาไม่นานก็มีรายงานว่าทหารจำนวนมากมารวมตัวที่หน้าประตูเมือง จงโฮยประหลาดใจจึงถามเกียงอุยว่า "คนพวกนั้นก่อปัญหาขึ้นแล้ว เราควรทำอย่างไรดี" เกียงอุยตอบว่า "ฆ่าพวกเขาเสีย" จงโฮยจึงสั่งให้ทหารสังหารข้าราชการที่ยังถูกกักบริเวณในแต่ละสำนัก ข้าราชการบางคนนำเครื่องเรือนมาขัดประตูไว้ ทหารของจงโฮยกระแทกประตูแต่ไม่สามารถเปิดได้ ไม่นานหลังนั้น มีรายงานว่ามีคนใช้บันได้ปีนข้ามประตูเมืองและมีคนจุดไฟเผาอาคารต่าง ๆ เกิดความโกลาหลและลูกเกาทัณฑ์ถูกยิงออกไปทุกทิศทาง ข้าราชการที่ถูกกักบริเวณหลบหนีจากการถูกจองจำได้แล้วรวมกลุ่มกับทหารของตนเข้าโจมตีจงโฮยและเกียงอุย จงโฮยและเกียงอุยต่อสู้กับทหารที่ก่อการกำเริบ สังหารได้ 5 หรือ 6 คน แต่ในที่สุดทั้งสองก็ถูกทหารรุมสังหาร จงโฮยเสียชีวิตขณะอายุ 40 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) มีคนเสียชีวิตหลายร้อยคนในการก่อการกำเริบครั้งนั้น[สามก๊กจี่ 26]

การคาดการณ์ของสุมาเจียว

[แก้]

ในตอนแรก เมื่อสุมาเจียวต้องการมอบหมายให้จงโฮยนำทัพวุยก๊กไปพิชิตจ๊กก๊ก เซียวค้า (邵悌 เช่า ที่) เตือนสุมาเจียวว่าจงโฮยอาจจะก่อกบฏต่อวุยก๊กเพราะจงโฮยบัญชาการทหารถึงหลายพันนาย อีกทั้งจงโฮยก็ยังไม่แต่งงานและไม่มีครอบครัวที่ต้องพะวง สุมาเจียวหัวเราะและกล่าวว่าตนเข้าใจความกังวลของเซียวค้าเป็นอย่างดี แต่เลือกที่จะตั้งให้จงโฮยเป็นผู้นำทัพวุยก๊กเพราะตนเชื่อในความสามารถของจงโฮยที่จะพิชิตจ๊กก๊ก สุมาเจียวยังคาดการณ์ว่าแม้ว่าจงโฮยจะก่อกบฏแต่จะไม่สำเร็จด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรก ผู้คนในจ๊กก๊กจะไม่สนับสนุนจงโฮยเพราะพวกเขาจะหวาดกลัวไปแล้วหลังเห็นการล่มสลายของจ๊กก๊ก ประการที่สอง ทัพวุยก๊กจะไม่สนับสนุนจงโฮยเพราะพวกเขาเหนื่อยล้าไปแล้วและคิดถึงบ้านหลังจากการทำศึก[สามก๊กจี่ 27]

ต่อมาหลังจากจงโฮยลอบกล่าวโทษเตงงายในข้อหาวางแผนจะก่อกบฏ สุมาเจียวต้องนำทัพไปประจำการที่เตียงอั๋น เซียวค้าบอกสุมาเจียวว่าสุมาเจียวไม่จำเป็นต้องไปเตียงอั๋นเพราะจงโฮยมีความสามารถที่จะจับกุมเตงงายด้วยตนเองได้เพราะจงโฮยมีกำลังพลมากกว่าเตงงายถึง 5-6 เท่า สุมาเจียวตอบว่า "ท่านลืมที่ข้าพูดไว้ก่อนหน้านี้แล้วหรือ เหตุใดท่านจึงบอกข้าไม่ให้ไป (เตียงอั๋น) เล่า โปรดเก็บเรื่องที่เราพูดกันนี้ไว้เป็นความลับเถิด ข้าปฏิบัติต่อผู้คนด้วยความไว้วางใจและความเคารพ ตราบใดที่พวกเขายังคงภักดีต่อข้า ข้าก็จะไม่สงสัยพวกเขา เมื่อเร็ว ๆ นี้กาอุ้นบอกข้าว่า 'ท่านสงสัยจงโฮยหรือไม่' ข้าตอบว่า 'หากข้าส่งท่านไปปฏิบัติภารกิจในวันนี้ ท่านจะคิดว่าข้ากำลังสงสัยท่านหรือไม่' เขาตอบข้าไม่ได้ ทุกอย่างจะเรียบร้อยเมื่อข้าไปถึงเตียงอั๋น" เมื่อสุมาเจียวมาถึงเตียงอั๋น จงโฮยก็ถูกสังหารระหว่างการก่อการกำเริบไปแล้ว ตรงตามที่สุมาเจียวคาดการณ์ไว้[สามก๊กจี่ 28]

ครอบครัวและญาติ

[แก้]

บิดาของจงโฮยคือจงฮิว เป็นขุนนางและนักอักษรวิจิตรที่มีชื่อเสียงและดำรงตำแหน่งเป็นราชครู (太傅 ไท่ฟู่) ในราชสำนักวุยก๊ก มารดาของจงโฮยคือจาง ชางผู (張昌蒲) เป็นอนุภรรยาคนหนึ่งของจงฮิว มีชื่อเสียงจากความประพฤติอันดีงาม สติปัญญา และบทบาทสำคัญในการศึกษาในช่วงต้นของบุตรชาย

พี่ชายต่างมารดาของจงโฮยคือจง ยฺวี่ (鍾毓) เสียชีวิตในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 263 จงโฮยไม่มีการตอบสนองใด ๆ ต่อการเสียชีวิตของพี่ชาย จง ยฺวี่มีบุตรชาย 4 คน ได้แก่ จง จฺวิ้น (鍾峻), จง ยง (鍾邕), จง อี้ (鍾毅) และจง ชาน (鍾辿) จง อี้ได้รับการเลี้ยงดูในฐานะบุตรชายบุญธรรมของจงโฮยเพราะจงโฮยเป็นโสดและไม่มีบุตรชาย จง ยงถูกสังหารพร้อมกับจงโฮยผู้อาระหว่างการก่อการกำเริบ และสมาชิกในครอบครัวของจง ยงก็ถูกประหารชีวิตไปด้วย หลังจงโฮยก่อกบฏแต่ล้มเหลว จง จฺวิ้น, จง อี้ และจง ชานก็พลอยติดร่างแห ถูกจับกุม และถูกตัดสินโทษประหารชีวิตเพราะเป็นญาติกับจงโฮย แต่สุมาเจียวพิจารณาว่าจงฮิวและจง ยฺวี่มีคุณความดีในการรับใช้วุยก๊ก จึงตัดสินใจปล่อยตัวเหล่าบุตรชายของจง ยฺวี่เพื่อรักษาเชื้อสายไว้ สุมาเจียวให้โจฮวนจักรพรรดิวุยก๊กออกพระราชโองการนิรโทษกรรมให้กับจง จฺวิ้นและจง ชาน รวมถึงคืนตำแหน่งและบรรดาศักดิ์เดิมให้ทั้งสอง ส่วนจง อี้ยังคงต้องโทษประหารชีวิต[สามก๊กจี่ 29] เพราะจง อี้เป็นบุตรชายบุญธรรมของจงโฮยจึงไม่ได้รับอภัยโทษ

เชื่อกันว่าที่สุมาเจียวไว้ชีวิตจง จฺวิ้นและจง ชานเพราะจง ยฺวี่เคยเตือนสุมาเจียวว่าจงโฮยเป็นคนเจ้าเล่ห์และไม่ควรตั้งให้อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจมาก[สามก๊กจี่ 30] สุมาเจียวหัวเราะและชมจง ยฺวี่ที่แนะนำอย่างซื่อตรง และให้คำมั่นว่าตนจะไว้ชีวิตครอบครัวของจง ยฺวี่หากจงโฮยก่อกบฏขึ้นจริง ๆ[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 4]

คำวิจารณ์

[แก้]

ตันซิ่ว

[แก้]

ตันซิ่ว (陳壽 เฉิน โช่ว) ผู้เขียนบทชีวประวัติจงโฮยในสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ) ยกย่องจงโฮยว่า "มีความรู้และทักษะในการคำนวณตัวเลข" กล่าวว่าจงโฮยเคยมีชื่อเสียงในวัยเยาว์เทียบกับกับนักปรัชญาหวาง ปี้ (王弼) จากนั้นตันซิ่วจึงวิจารณ์จงโฮยร่วมกันกับหวาง หลิง (王淩), บู๊ขิวเขียม และจูกัดเอี๋ยนว่า "พวกเขามีชื่อเสียงจากความสามารถหลากหลาย ซึ่งช่วยให้พวกเขาขึ้นมามีตำแหน่งสูง น่าเสียดายที่พวกเขาทะเยอทะยานมากเกินไป มีความคิดคดทางคุณธรรม และไม่สังเกตเห็นหลุมพรางที่ซ่อนอยู่รอบตนเอง เหล่านี้เป็นผลทำให้พวกเขาล่มจมและครอบครัวถูกกวาดล้าง จะมีเรื่องโง่เขลายิ่งกว่านี้อีกหรือ"[สามก๊กจี่ 31]

แฮหัวป๋า

[แก้]

ชื่อ-ยฺหวี่ (世語) บันทึกว่าเมื่อแฮหัวป๋าขุนพลวุยก๊กแปรพักตร์เข้าด้วยจ๊กก๊ก เหล่าข้าราชการของจ๊กก๊กถามแฮหัวป๋าว่า "สุมาอี้ทำสิ่งใดได้ดีที่สุด" แฮหัวป๋าตอบว่า "การทำให้สถานะของครอบครัวตนในวุยมั่นคง" เหล่าข้าราชการถามอีกว่า "ใครคือผู้มีความสามารถในนครหลวงของวุย" แฮหัวป๋าคอบว่า "มีผู้หนึ่งคือจง ชื่อจี้[b] ง่อและจ๊กควรกังวลหากเขามีหน้าที่รับผิดชอบในราชสำนักของวุยก๊ก"[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 5]

ในฮั่นจิ้นชุนชิว (漢晉春秋) เล่าว่าเกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กก็ถามแฮหัวป๋าว่า "บัดนี้สุมาอี้กุมอำนาจราชสำนักวุยแล้ว ยังวางแผนที่จะบุกจ๊กและง่อหรือไม่" แฮหัวป๋าตอบว่า "เขามุ่งเน้นที่การเสริมอำนาจของตระกูลในราชสำนักวุยและไม่มีเวลามากังวลเรื่องภายนอก แต่ยังมีคนผู้หนึ่งคือจง ชื่อจี้ เขาอาจยังเยาว์ แต่จะต้องกลายเป็นภัยคุกคามต่อง่อและจ๊กในอนาคตเป็นแน่ แม้กระนั้น แม้แต่คนที่พิเศษที่สุดก็ไม่อาจควบคุมเขาได้" คำพูดของแฮหัวป๋าได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องในอีก 15 ปีให้หลัง เพราะจงโฮยเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่มีบทบาทในการที่วุยก๊กพิชิตจ๊กก๊ก[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 6]

เผย์ ซงจือ (裴松之) เพิ่มบันทึกในชื่อ-ยฺหวี่เพื่อสนับสนุนความที่สี จั้วฉื่อ (習鑿齒) เขียนในฮั่นจิ้นชุนชิว[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 7]

ในวัฒนธรรมประชานิยม

[แก้]

จงโฮยปรากฏครั้งแรกในฐานะตัวละครที่เล่นได้ในภาคที่ 7ของซีรีส์วิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์ของโคเอ

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 บทชีวประวัติจงโฮยในสามก๊กจี่บันทึกว่าจงโฮยเสียชีวิตในวันที่ 18 เดือน 1 ของศักราชจิ่ง-ยฺเหวียน (景元) ปีที่ 5 ในรัชสมัยของโจฮวน[สามก๊กจี่ 1] วันที่นี้เทียบได้กับวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 264 ในปฏิทินกริกอเรียน บทชีวประวัติของจงโฮยยังบันทึกอีกว่าจงโฮยเสียชีวิตขณะมีอายุ 40 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[สามก๊กจี่ 2] เมื่อคำนวณแล้ว ปีเกิดของจงโฮยคือปี ค.ศ. 225
  2. ชื่อจี้ (士季) เป็นชื่อรองของจงโฮย

อ้างอิง

[แก้]
อ้างอิงจากสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ)
  1. ([景元五年正月]十八日日中, ... 姜維率會左右戰,手殺五六人,衆旣格斬維,爭赴殺會。會時年四十,將士死者數百人。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  2. (姜維率會左右戰,手殺五六人,衆旣格斬維,爭赴殺會。會時年四十,將士死者數百人。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 28.
  3. (鍾會字士季,潁川長社人,太傅繇小子也。少敏惠夙成。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  4. (中護軍蔣濟著論,謂「觀其眸子,足以知人。」會年五歲,繇遣見濟,濟甚異之,曰:「非常人也。」及壯,有才數技藝,而愽學精練名理,以夜續晝,由是獲聲譽。正始中,以為秘書郎,遷尚書中書侍郎。高貴鄉公即尊位,賜爵關內侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  5. (會常論易無玄體、才性同異。及會死後,於會家得書二十篇,名曰道論,而實刑名家也,其文似會。初,會弱冠與山陽王弼並知名。弼好論儒道,辭才逸辯,注易及老子,為尚書郎,年二十餘卒。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  6. (毌丘儉作亂,大將軍司馬景王東征,會從,典知密事,衞將軍司馬文王為大軍後繼。景王薨於許昌,文王緫統六軍,會謀謨帷幄。時中詔勑尚書傅嘏,以東南新定,權留衞將軍屯許昌為內外之援,令嘏率諸軍還。會與嘏謀,使嘏表上,輒與衞將軍俱發,還到雒水南屯住。於是朝廷拜文王為大將軍、輔政,會遷黃門侍郎,封東武亭侯,邑三百戶。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  7. (甘露二年,徵諸葛誕為司空,時會喪寧在家,策誕必不從命,馳白文王。文王以事已施行,不復追改。及誕反,車駕住項,文王至壽春,會復從行。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  8. (初,吳大將全琮,孫權之婚親重臣也,琮子懌、孫靜、從子端、翩、緝等,皆將兵來救誕。懌兄子輝、儀留建業,與其家內爭訟,携其母,將部曲數十家渡江,自歸文王。會建策,密為輝、儀作書,使輝、儀所親信齎入城告懌等,說吳中怒懌等不能拔壽春,欲盡誅諸將家,故逃來歸命。懌等恐懼,遂將所領開東城門出降,皆蒙封寵,城中由是乖離。壽春之破,會謀居多,親待日隆,時人謂之子房。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  9. (軍還,遷為太僕,固辭不就。以中郎在大將軍府管記室事,為腹心之任。以討諸葛誕功,進爵陳侯,屢讓不受。詔曰:「會典綜軍事,參同計策,料敵制勝,有謀謨之勳,而推寵固讓,辭指款實,前後累重,志不可奪。夫成功不處,古人所重,其聽會所執,以成其美。」遷司隷校尉。雖在外司,時政損益,當世與奪,無不綜與。嵇康等見誅,皆會謀也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  10. (文王以蜀大將姜維屢擾邊陲,料蜀國小民疲,資力單竭,欲大舉圖蜀。惟會亦以為蜀可取,豫共籌度地形,考論事勢。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  11. (景元三年冬,以會為鎮西將軍、假節都督關中諸軍事。文王勑青、徐、兖、豫、荊、揚諸州,並使作船,又令唐咨作浮海大船,外為將伐吳者。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  12. (四年秋,乃下詔使鄧艾、諸葛緒各統諸軍三萬餘人,艾趣甘松、沓中連綴維,緒趣武街、橋頭絕維歸路。會統十餘萬衆,分從斜谷、駱谷入。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  13. (先命牙門將許儀在前治道,會在後行,而橋穿,馬足陷,於是斬儀。儀者,許褚之子,有功王室,猶不原貸。諸軍聞之,莫不震竦。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  14. (蜀令諸圍皆不得戰,退還漢、樂二城守。魏興太守劉欽趣子午谷,諸軍數道平行,至漢中。蜀監軍王含守樂城,護軍蔣斌守漢城,兵各五千。會使護軍荀愷、前將軍李輔各統萬人,愷圍漢城,輔圍樂城。會徑過,西出陽安口,遣人祭諸葛亮之墓。使護軍胡烈等行前,攻破關城,得庫藏積糓。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  15. (姜維自沓中還,至陰平,合集士衆,欲赴關城。未到,聞其已破,退趣白水,與蜀將張翼、廖化等合守劒閣拒會。會移檄蜀將吏士民曰: ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  16. (鄧艾追姜維到陰平,簡選精銳,欲從漢德陽入江由、左儋道詣緜竹,趣成都,與諸葛緒共行。緒以本受節度邀姜維,西行非本詔,遂進軍前向白水,與會合。會遣將軍田章等從劒閣西,徑出江由。未至百里,章先破蜀伏兵三校,艾使章先登。遂長駈而前。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  17. (會與緒軍向劒閣,會欲專軍勢,密白緒畏懦不進,檻車徵還。軍悉屬會,進攻劒閣,不克,引退,蜀軍保險拒守。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  18. (艾遂至緜竹,大戰,斬諸葛瞻。維等聞瞻已破,率其衆東入于巴。會乃進軍至涪,遣胡烈、田續、龐會等追維。艾進軍向成都,劉禪詣艾降,遣使勑維等令降於會。維至廣漢郪縣,令兵悉放器仗,送節傳於胡烈,便從東道詣會降。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  19. (會上言曰:「賊姜維、張翼、廖化、董厥等逃死遁走, ... 百姓欣欣,人懷逸豫,后來其蘇,義無以過。」會於是禁檢士衆不得鈔略,虛己誘納,以接蜀之群司,與維情好歡甚。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  20. (十二月詔曰:「會所向摧弊,前無彊敵,緘制衆城,罔羅迸逸。蜀之豪帥,靣縛歸命,謀無遺策,舉無廢功。凡所降誅,動以萬計,全勝獨克,有征無戰。拓平西夏,方隅清晏。其以會為司徒,進封縣侯,增邑萬戶。封子二人亭侯,邑各千戶。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  21. (會內有異志,因鄧艾承制專事,密白艾有反狀,於是詔書檻車徵艾。司馬文王懼艾或不從命,勑會並進軍成都,監軍衞瓘在會前行,以文王手筆令宣喻艾軍,艾軍皆釋仗,遂收艾入檻車。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  22. (會所憚惟艾,艾旣禽而會尋至,獨統大衆,威震西土。自謂功名蓋世,不可復為人下,加猛將銳卒皆在己手,遂謀反。欲使姜維等皆將蜀兵出斜谷,會自將大衆隨其後。旣至長安,令騎士從陸道,步兵從水道順流浮渭入河,以為五日可到孟津,與騎會洛陽,一旦天下可定也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  23. (會得文王書云:「恐鄧艾或不就徵,今遣中護軍賈充將步騎萬人徑入斜谷,屯樂城,吾自將十萬屯長安,相見在近。」會得書,驚呼所親語之曰:「但取鄧艾,相國知我能獨辦之;今來大重,必覺我異矣,便當速發。事成,可得天下;不成,退保蜀漢,不失作劉備也。我自淮南以來,畫無遣策,四海所共知也。我欲持此安歸乎!」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  24. (會以五年正月十五日至,其明日,悉請護軍、郡守、牙門騎督以上及蜀之故官,為太后發喪於蜀朝堂。矯太后遺詔,使會起兵廢文王,皆班示坐上人,使下議訖,書版署置,更使所親信代領諸軍。所請群官,悉閉著益州諸曹屋中,城門宮門皆閉,嚴兵圍守。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  25. (會帳下督丘建本屬胡烈,烈薦之文王,會請以自隨,任愛之。建愍烈獨坐,啟會,使聽內一親兵出取飲食,諸牙門隨例各內一人。烈紿語親兵及疏與其子曰:「丘建密說消息,會已作大坑,白棓數千,欲悉呼外兵入,人賜白㡊,拜為散將,以次棓殺坑中。」諸牙門親兵亦咸說此語,一夜傳相告,皆徧。或謂會:「可盡殺牙門騎督以上。」會猶豫未決。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  26. (十八日日中,烈軍兵與烈兒雷鼓出門,諸軍兵不期皆鼓譟出,曾無督促之者,而爭先赴城。時方給與姜維鎧杖,白外有匈匈聲,似失火,有頃,白兵走向城。會驚,謂維曰:「兵來似欲作惡,當云何?」維曰:「但當擊之耳。」會遣兵悉殺所閉諸牙門郡守,內人共舉机以柱門,兵斫門,不能破。斯須,門外倚梯登城,或燒城屋,蟻附亂進,矢下如雨,牙門、郡守各緣屋出,與其卒兵相得。姜維率會左右戰,手殺五六人,衆旣格斬維,爭赴殺會。會時年四十,將士死者數百人。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  27. (初,文王欲遣會伐蜀,西曹屬邵悌求見曰:「今遣鍾會率十餘萬衆伐蜀,愚謂會單身無重任,不若使餘人行。」文王笑曰:「我寧當復不知此耶?蜀為天下作患,使民不得安息,我今伐之如指掌耳,而衆人皆言蜀不可伐。夫人心豫怯則智勇並竭,智勇並竭而彊使之,適為敵禽耳。惟鍾會與人意同,今遣會伐蜀,必可滅蜀。滅蜀之後,就如卿所慮,當何所能一辦耶?凡敗軍之將不可以語勇,亡國之大夫不可與圖存,心膽以破故也。若蜀以破,遺民震恐,不足與圖事;中國將士各自思歸,不肯與同也。若作惡,祗自滅族耳。卿不須憂此,慎莫使人聞也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  28. (及會白鄧艾不軌,文王將西,悌復曰:「鍾會所統,五六倍於鄧艾,但可勑會取艾,不足自行。」文王曰:「卿忘前時所言邪,而更云可不須行乎?雖爾,此言不可宣也。我要自當以信義待人,但人不當負我,我豈可先人生心哉!近日賈護軍問我,言:『頗疑鍾會不?』我荅言:『如今遣卿行,寧可復疑卿邪?』賈亦無以易我語也。我到長安,則自了矣。」軍至長安,會果已死,咸如所策。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  29. (會兄毓,以四年冬薨,會竟未知問。會兄子邕,隨會與俱死,會所養兄子毅及峻、辿。等下獄,當伏誅。司馬文王表天子下詔曰:「峻等祖父繇,三祖之世,極位台司,佐命立勳,饗食廟庭。父毓,歷職內外,幹事有績。昔楚思子文之治,不滅鬪氏之祀。晉錄成宣之忠,用存趙氏之後。以會、邕之罪,而絕繇、毓之類,吾有愍然!峻、辿兄弟特原,有官爵者如故。惟毅及邕息伏法。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  30. (或曰,毓曾密啟司馬文王,言會挾術難保,不可專任,故宥峻等云。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  31. (評曰: ... 鍾會精練策數,咸以顯名,致茲榮任,而皆心大志迂,不慮禍難,變如發機,宗族塗地,豈不謬惑邪!) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
อ้างอิงจากอรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้)
  1. (世語曰:司馬景王命中書令虞松作表,再呈輒不可意,命松更定。以經時,松思竭不能改,心苦之,形於顏色。會察其有憂,問松,松以實荅。會取視,為定五字。松恱服,以呈景王,王曰:「不當爾邪,誰所定也?」松曰:「鍾會。向亦欲啟之,會公見問,不敢饕其能。」王曰:「如此,可大用,可令來。」會問松王所能,松曰:「博學明識,無所不貫。」會乃絕賔客,精思十日,平旦入見,至鼓二乃出。出後,王獨拊手歎息曰:「此真王佐材也!」) อรรถาธิบายจากเว่ยชื่อชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  2. (臣松之以為鍾會名公之子,聲譽夙著,弱冠登朝,已歷顯仕,景王為相,何容不悉,而方於定虞松表然後乃蒙接引乎?設使先不相識,但見五字而便知可大用,雖聖人其猶病諸,而況景王哉?) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  3. (世語曰:會善效人書,於劒閣要艾章表白事,皆易其言,令辭指悖傲,多自矜伐。又毀文王報書,手作以疑之也。又毀文王報書,手作以疑之也。) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  4. (漢晉春秋曰:文王嘉其忠亮,笑荅毓曰:「若如卿言,必不以及宗矣。」) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  5. (世語曰:夏侯霸奔蜀,蜀朝問「司馬公如何德」?霸曰:「自當作家門。」「京師俊士」?曰:「有鍾士季,其人管朝政,吳、蜀之憂也。」) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  6. (漢晉春秋曰:初,夏侯霸降蜀,姜維問之曰:「司馬懿旣得彼政,當復有征伐之志不?」霸曰:「彼方營立家門,未遑外事。有鍾士季者,其人雖少,終為吳、蜀之憂,然非常之人亦不能用也。」後十五年而會果滅蜀。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  7. (按習鑿齒此言,非出他書,故採用世語而附益也。) อรรถาธิบายของเผย์ซงจือในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
อ้างอิงอื่น ๆ
  1. จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • "Zhong Hui". Internet Encyclopedia of Philosophy.