ข้ามไปเนื้อหา

ซินเหียนเอ๋ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซินเหียนเอ๋ง (ซิน เซี่ยนอิง)
辛憲英
เกิดต.ศ. 191[a][2]
เสียชีวิตค.ศ. 269 (78 ปี)[a][2]
คู่สมรสหยาง ตาน
บุตร
บิดามารดา
ญาติ

ซินเหียนเอ๋ง (ค.ศ. 191-269)[2] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซิน เซี่ยนอิง (จีน: 辛憲英; พินอิน: Xīn Xiànyīng) เป็นสตรีสูงศักดิ์ ชนชั้นสูง และที่ปรึกษาชาวจีนผู้มีชีวิตในยุคสามก๊กของจีน ซินเหียนเอ๋งเป็นบุตรสาวของซินผีขุนนางของรัฐวุยก๊ก แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่เพียงแหล่งเดียวที่บันทึกถึงชีวประวัติของซินเหียนเอ๋งเขียนขึ้นโดยเซี่ยโหว จาน (夏侯湛) หลานยายของซินเหียนเอ๋งผู้เป็นบัณฑิตและขุนนางที่มีชื่อเสียงในยุคราชวงศ์จิ้น[3] ซินเหียนเอ๋งมีชื่อเสียงจากการให้คำแนะนำให้สมาชิกในครอบครัวและเครือญาติระหว่างเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของวุยก๊ก เช่น อุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลง และกบฏจงโฮย

ภูมิหลังครอบครัว

[แก้]

บ้านเกิดของซินเหียนเอ๋งคือในอำเภอหยางจ๋าย (陽翟縣 หยางจ๋ายเซี่ยน) เมืองเองฉวน (潁川郡 อิ่งชฺวานจฺวิ้น) ซึ่งอยู่บริเวณนครยฺหวี่โจว มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน[4][5] บรรพบุรุษของซินเหียนเอ๋งแท้จริงแล้วมาจากเมืองหลงเส (隴西郡 หล่งซีจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครติ้งซี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) แต่ย้านถิ่นฐานมายังเมืองเองฉวนในช่วงศักราชเจี้ยนอู่ (建武; ค.ศ. 25–56) ในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นกองบู๊ช่วงต้นยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[6]

บิดาของซินเหียนเอ๋งคือซินผี ผู้รับราชการเป็นขุนนางของขุนศึกโจโฉผู้กุมอำนาจราชสำนักส่วนกลางและคุมองค์พระเจ้าเหี้ยนเต้จักรพรรดิหุ่นเชิดในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก หลังราชวงศ์ฮั่นตะวันออกล่มสลาย ซินผีได้รับราชการต่อมากับรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กและมีตำแหน่งสูงสุดเป็นเสนาบดีกรมรักษาราชวัง (衛尉 เว่ย์เว่ย์) ซินเหียนเอ๋งมีน้องชายชื่อซินเป (辛敞 ซิน ฉ่าง) ผู้รับราชการเป็นขุนนางของวุยก๊กเช่นกัน

ซินเหียนเอ๋งสมรสกับหยาง ตาน (羊耽) บุตรชายคนสุดท้องของหยาง ซฺวี่ (羊續) ขุนนางของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก หยาง ตานเป็นชาวเมืองไทสัน (泰山郡 ไท่ชานจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครไท่อาน มณฑลชานตงในปัจจุบัน) รับราชการเป็นเสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) ในราชสำนักวุยก๊ก[7] หลานอาของหยาง ตาน ได้แก่ เอียวเก๋า (羊祜 หยาง ฮู่) และหยาง ฮุย-ยฺหวี (羊徽瑜) (ทั้งสองเป็นบุตรชายและบุตรหญิงของหยาง เต้าพี่ชายของหยาง ตาน)

ปฏิกิริยาต่อความยินดีของโจผีที่ได้ขึ้นเป็นรัชทายาท

[แก้]

ในปี ค.ศ. 217[8] ภายหลังจากโจผีบุตรชายของโจโฉได้ชัยชนะในการต่อสู้ชิงอำนาจกับโจสิดผู้เป็นน้องชาย แล้วได้ขึ้นเป็นรัชทายาทประจำราชรัฐของโจโฉผู้บิดา โจผีรู้สึกยินดีมากจึงเข้ากอดซินผีและพูดว่า "ท่านซินไม่รู้หรอกหรือว่าข้ามีความสุขมากแค่ไหน"[9]

เมื่อซินผีเล่าเรื่องนี้ให้ซินเหียนเอ๋งบุตรสาวฟัง ซินเหียนเอ๋งก็ถอนหายใจและพูดว่า "รัชทายาทจะสืบทอดตำแหน่งของผู้ปกครองและสืบทอดแผ่นดินของผู้ปกครองในสักวันหนึ่ง เขาจะสืบทอดตำแหน่งจากบิดาโดยไม่รู้สึกเศร้าใจได้อย่างไร เขาจะปกครองแผ่นดินโดยไม่รู้สึกหวั่นใจได้อย่างไร หากเขาแสดงความยินดีแทนที่จะโศกเศร้าและหวาดหวั่น แผ่นดินจะคงอยู่ยืนยาวได้อย่างไร วุยจะรุ่งเรืองได้อย่างไร"[10][2]

ซินเหียนเอ๋งบอกเป็นนัยว่าโจผีควรจะแสดงความรู้สึกเศร้าใจเพราะบิดาจะต้องตายก่อนที่เขาจะสามารถขึ้นเป็นผู้ปกครองคนถัดไป และเขาควรรู้สึกหวั่นใจกับความจริงที่ว่าเขาจะต้องแบกรับความรับผิดชอบอันหนักหน่วงในการปกครองแผ่นดิน หากโจผียอมรับบทบาทด้วยท่าทีอันสงบกว่านี้ ก็มีสิทธิ์ที่โจผีจะกลายมาเป็นผู้ปกครองที่เอาจริงเอาจังและชาญฉลาด

แนะนำซินเประหว่างอุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลง

[แก้]

น้องชายของซินเหียนเอ๋งคือซินผีรับราชการเป็นเสนาธิการทัพของโจซองขุนพลวุยก๊กผู้มีฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของโจฮองจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของวุยก๊ก ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249[11] เมื่อโจซองติดตามโจฮองไปยังสุสานโกเบงเหลง (高平陵 เกาผิงหลิง) สุมาอี้ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการร่วมได้ฉวยโอกาสที่โจซองไม่อยู่นี้ก่อการรัฐประหารและยึดกำลังทหารทั้งหมดในนครหลวงลกเอี๋ยง สุมาเล่าจี๋ (魯芝 หลู่ จือ) นายกองพันในสังกัดของโจซองเตรียมการจะนำทหารของตนสู้ตีฝ่าออกจากลกเอี๋ยงไปสมทบกับโจซอง เมื่อสุมาเล่าจี๋ชวนให้ซินเปตามตนไปหาโจซองด้วยกัน[12] ซินเปรู้สึกกลัวจึงหันไปปรึกษากับซินเหียนเอ๋งผู้พี่สาวว่า "โอรสสวรรค์อยู่ด้านนอก ราชครู (สุมาอี้) สั่งปิดประตูเมือง ผู้คนพูดว่านี่ไม่เป็นเรื่องดีต่อแผ่นดินเลย ท่านคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น"[13]

ซินเหียนเอ๋งตอบว่า "เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ตามความเห็นของพี่ ราชครูไม่มีทางเลือกอื่นจึงจำต้องทำเรื่องนี้ ก่อนที่หมิงตี้ (โจยอย) จะสวรรคต พระองค์ทรงตั้งให้เขาเป็นราชครูและทรงมอบหมายราชการแผ่นดิน ขุนนางหลายคนในราชสำนักยังจำเรื่องนี้ได้ดี แม้ว่าโจซองจะได้รับมอบหมายความรับผิดชอบนี้ร่วมกับราชครูเช่นกัน แต่เขากลับผูกขาดอำนาจและกระทำเยี่ยงเผด็จการ เขาไม่ซื่อสัตย์ต่อองค์จักรพรรดิ คุณธรรมจึงไม่สูงส่ง ราชครูเพียงแค่ต้องการกำจัดเขาออกไปเท่านั้น"[14]

ซินเปถามซินเหียนเอ๋งว่าควรจะตามสุมาเล่าจี๋ออกไปหรือไม่ ซินเหียนเอ๋งตอบว่า "ไม่ไปได้อย่างไร การปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเป็นเรื่องที่ชอบธรรม เมื่อคนอื่นเดือดร้อน เราก็ควรจะช่วยเหลือพวกเขา หากเจ้าทำงานให้ใครและเจ้าไม่ทำในสิ่งที่ต้องทำก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย หากเจ้าเป็นคนสนิท (ของโจซอง) เจ้าก็ควรแสดงความภักดีต่อเขาและสละชีวิตของเจ้าเพื่อเขาหากจำเป็น แต่ในกรณีนี้ (เจ้าไม่ได้เป็นคนสนิทของโจซอง ดังนั้น) เจ้าเพียงแค่ตามออกไปตามหน้าที่ของคนส่วนมากก็เท่านั้น" ซินเปทำตามคำแนะนำของซินเหียนเอ๋งและตามสุมาเล่าจี๋ออกจากลกเอี๋ยงไปร่วมกับโจซอง[15]

ในที่สุดโจซองก็ยอมจำนนต่อสุมาอี้และสละอำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้กับสุมาอี้ ต่อมาโจซองถูกตั้งข้อหากบฏและถูกประหารชีวิตพร้อมกับครอบครัว รวมไปถึงคนสนิทของโจซองและครอบครัว ภายหลังจากโจซองเสียชีวิต เจียวเจ้พูดกับสุมาอี้ว่า "ซินเปและ[สุมา]เล่าจี๋กับพรรคพวกคนอื่น ๆ ได้สังหารทหารรักษาประตูไปเข้าด้วยพวกกบฏ เอียวจ๋ง (楊綜 หยาง จง) คัดค้านการยอมมอบตราประจำตำแหน่งของเสนาบดีผู้ล่วงลับ (โจซอง) พวกคนเหล่านี้สมควรถูกลงโทษ" แต่สุมาอี้ไม่ให้ดำเนินการใด ๆ กับคนเหล่านั้นโดยกล่าวว่า "พวกเขาเป็นคนชอบธรรมที่รับใช้นายอย่างซื่อสัตย์" และยืนยันให้พวกเขายังคงอยู่ในตำแหน่งตามเดิม ซินเปถอนหายใจกล่าวว่า "ถ้าเราไม่ปรึกษาพี่สาวเสียก่อน ก็คงทำสิ่งที่ไม่ชอบธรรมไปแล้ว"[16]

มีบทกวียกย่องซินเหียนเอ๋งว่า:

"เจ้าเรียกเขาเป็นนายและรับเบี้ยหวัด

จึงควรยืนหยัดข้างเขาเมื่อภัยกล้ำกลาย

ดังนั้นซินเหียนเอ๋งจึงพูดกับน้องชาย

และมีชื่อเสียงขจรขจายชั่วกาลนาน"

เนื่องด้วยทัศนคติที่เป็นคุณธรรมของซินเหียนเอ๋ง สุมาอี้จึงประทับใจในความซื่อสัตย์ของนาง ตระกูลซินจึงรอดพ้นจากการกวาดล้างและภายหลังได้กลายเป็นตระกูลขุนนางที่ภักดีที่สุดตระกูลหนึ่งของราชวงศ์จิ้น

คาดการณ์การล่มจมของจงโฮย

[แก้]

เมื่อจงโฮยขุนพลวุยก๊กได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตก (鎮西將軍 เจิ้นซีเจียงจฺวิน) ในปี ค.ศ. 263[17] ซินเหียนเอ๋งถามเอียวเก๋าหลานชายว่า "เหตุใดจง ชื่อจี้[b] จึงไปทางตะวันตก" เอียวเก๋าตอบว่า "เพื่อนำทัพทำศึกเพื่อพิชิตจ๊ก"[18] ซินเหียนเอ๋งจึงเตือนเอียวเก๋าว่า "จงโฮยเป็นคนดื้อดึงและกระทำตามใจตน เกรงว่าเขาจะไม่อยู่ใต้อำนาจผู้ใดนาน ๆ อาเห็นว่าเขาต้องก่อกบฏในกาลภายหน้าเป็นแน่"[19]

เมื่อจงโฮยกำลังจะยกทัพออกไปทำศึกกับจ๊กก๊ก ได้เขียนฎีกาถวายราชสำนักวุยก๊กเพื่อขอนำหยาง ซิ่ว (羊琇) บุตรชายของซินเหียนเอ๋งไปเป็นเสนาธิการทัพของตน ซินเหียนเอ๋งคร่ำครวญว่า "ในกาลก่อนข้าห่วงใยเพื่อรัฐ บัดนี้ปัญหามาเยือนตระกูลข้าเสียแล้ว" หยาง ซิ่วร้องขอต่อสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของวุยก๊กไม่ให้ตนติดตามจงโฮยไปทำศึก แต่สุมาเจียวปฏิเสธคำขอนี้[20] ก่อนที่หยาง ซิ่วจะออกไป ซินเหียนเอ๋งแนะนำหยาง ซิ่วว่า "จงคำนึงถึงการกระทำของตนอยู่เสมอ เหล่าวิญญูชน (君子 จฺวินจื่อ) ในยุคโบราณมีความกตัญญูต่อบิดามารดาที่บ้าน และมีความจงรักภักดีต่อรัฐของตนนอกบ้าน เมื่อเจ้าปฏิบัติหน้าที่ จงคิดอยู่เสมอว่าเจ้าทำหน้าที่อะไร เมื่อเจ้าเผชิญหน้ากับประเด็นทางจริยธรรม จงคิดอยู่เสมอว่าเจ้ายืนอยู่ที่ไหน อย่าให้ทำบิดามารดาเป็นห่วงเจ้า เมื่อเจ้าอยู่ในกองทัพ จงเมตตาต่อผู้อื่น จะช่วยเจ้าได้อย่างยาวนาน"[21]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 264[17] หลังจากวุยก๊กพิชิตจ๊กก๊กได้สำเร็จ จงโฮยก็เริ่มก่อกบฏต่อวุยก๊ก แต่การก่อกบฏล้มเหลวเพราะผู้ใต้บังคับบัญชาของจงโฮยบางส่วนหันกลับมาต่อต้านจงโฮยและสังหารจงโฮยลงได้ หยาง ซิ่วยังคงปลอดภัยตลอดช่วงเวลาที่เกิดการก่อกบฏ[22]

เสียชีวิต

[แก้]

ซินเหียนเอ๋งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 269 ในรัชสมัยของสุมาเอี๋ยนแห่งราชวงศ์จิ้น ซินเหียนเอ๋งเสียชีวิตขณะอายุ 79 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[a][2]

คำวิจารณ์

[แก้]

ซินเหียนเอ๋งผู้ใฝ่เรียนและชอบอ่านตำราตั้งแต่วัยเด็ก[23] ซึ่งเด็กผู้หญิงในสมัยนั้นปกติไม่ทำกัน ซินเหียนเอ๋งยังเป็นที่รู้จักในด้านสติปัญญาความสามารถด้วย[24]

ซินเหียนเอ๋งยังเป็นที่รู้จักในด้านการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและมัธยัสถ์ ครั้งหนึ่งเอียวเก๋าหลานชายของซินเหียนเอ๋งส่งผ้าห่มทำจากผ้าไหมเป็นของขวัญให้ซินเหียนเอ๋ง ซินเหียนเอ๋งเห็นว่าของขวัญนี้ราคาแพงเกินไปจึงส่งคืนกลับให้เอียวเก๋า[25]

ญาติและผู้สืบเชื้อสาย

[แก้]

ซินเหียนเอ๋งและหยาง ตาน (羊耽) มีบุตรชายอย่างน้อย 2 คนและบุตรสาวอย่างน้อย 1 คน บุตรชายคนแรกชื่อหยาง จิ่น (羊瑾) รับราชการเป็นรองราชเลขาธิการฝ่ายขวา (尚書右僕射 ช่างชูโย่วผูเช่อ) ในราชสำนักวุยก๊ก[26] บุตรชายของหยาง จิ่นชื่อหยาง เสฺวียนจือ (羊玄之) รับราชการเป็นรองราชเลขาธิการฝ่ายขวา (尚書右僕射 ช่างชูโย่วผูเช่อ) และขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) ในราชสำนักราชวงศ์จิ้น หยาง เสฺวียนจือเป็นบิดาของหยาง เซี่ยนหรง (羊獻容) ผู้สมรสกับจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้แห่งราชวงศ์จิ้น[27]

บุตรชายคนที่ 2 ของซินเหียนเอ๋งและหยาง ตานชื่อหยาง ซิ่ว (羊琇) รับราชการในราชสำนักของราชวงศ์จิ้นต่อไปหลังการสิ้นสุดรัฐวุยก๊ก และกลายเป็นนนางทหารม้ามหาดเล็ก (散騎常侍 ซ่านฉีฉางชื่อ) ของสุมาเอี๋ยน จักรพรรดิลำดับแรกของราชวงศ์จิ้น[28]

บุตรสาวของซินเหียนเอ๋งและหยาง ตานสมรสกับเซี่ยโหว จฺวาง (夏侯莊) บุตรชายของแฮหัวหุย (夏侯威 เซี่ยโหว เวย์) และหลานชายของแฮหัวเอี๋ยน (夏侯淵 เซี่ยโหว เยฺวียน) เซี่ยโหว จฺวางและบุตรสาวของซินเหียนเอ๋งมีบุตรชายหนึ่งคือชื่อเซี่ยโหว จ้าน (夏侯湛) ผู้กลายเป็นบัณฑิตและขุนนางที่มีชื่อเสียงของราชวงศ์จิ้น เซี่ยโหว จฺวางยังมีบุตรชานอีกคนหนึ่งชื่อเซี่ยโหว ฉุน (夏侯淳) ผู้รับราชการเป็นเจ้าเมืองในยุคราชวงศ์จิ้น[29] บุตรสาวของเซี่ยโหว จฺวางชื่อเซี่ยโหว กวางจี (夏侯光姬) เป็นพระราชมารดาของจักรพรรดิจิ้น-ยฺเหวียนตี้แห่งราชวงศ์จิ้น[30]

ญาติที่มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ ของซินเหียนเอ๋ง ได้แก่ เอียวเก๋า (羊祜 หยาง ฮู่) และหยาง ฮุย-ยฺหวี (羊徽瑜) เป็นหลานชายและหลานสาวของซินเหียนเอ๋งตามลำดับ ผ่านการที่ซินเหียนเอ๋งสมรสกับหยาง ตาน

ในวัฒนธรรมประชานิยม

[แก้]

ซินเหียนเอ๋งปรากฏครั้งแรกในฐานะตัวละครที่เล่นได้ซึ่งอยู่ฝ่ายราชวงศ์จิ้นในภาคที่ 9 ของซีรีส์วิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์ของโคเอเทคโม บุคลิกของซินเหียนเอ๋งถูกแสดงว่าเป็นหญิงสาวผู้ร่าเริงและชาญฉลาดและวิจารณญาณดีเยี่ยม ตัวละครได้รับการพากย์เสียงโดยชิโนะ ชิโมจิ

หมายเหตุ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ชีวประวัติของซินเหียนเอ๋งในจิ้นชูบันทึกว่าซินเหียนเอ๋งเสียชีวิตในศักราชไท่ฉื่อ (ค.ศ. 265–274) ปีที่ 5 ในรัชสมัยของสุมาเอี๋ยน ขณะอายุ 79 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[1] คำนวนปีเกิดได้เป็นปี ค.ศ. 191
  2. ชื่อจี้ (士季) เป็นชื่อรองของจงโฮย

อ้างอิง

[แก้]
  1. (泰始五年卒,年七十九。) จิ้นชู เล่มที่ 96.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 de Crespigny (2007), p. 897.
  3. (... 外孫夏侯湛為其傳曰: ...) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 25.
  4. (辛毗字佐治,潁川陽翟人也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 25.
  5. (羊耽妻辛氏,字憲英,隴西人,魏侍中毗之女也。) จิ้นชู เล่มที่ 96.
  6. (其先建武中,自隴西東遷。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 25.
  7. (世語曰: ... 毗女憲英,適太常泰山羊耽, ...) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 25.
  8. Sima (1084), vol. 68.
  9. (初,魏文帝得立為太子,抱毗項謂之曰:「辛君知我喜不?」) จิ้นชู เล่มที่ 96.
  10. (毗以告憲英,憲英歎曰:「太子,代君主宗廟社稷者也。代君不可以不戚,主國不可以不懼,宜戚而喜,何以能久!魏其不昌乎?」) จิ้นชู เล่มที่ 96.
  11. Sima (1084), vol. 75.
  12. (弟敞為大將軍曹爽參軍,宣帝將誅爽,因其從魏帝出而閉城門,爽司馬魯芝率府兵斬關赴爽,呼敞同去。) จิ้นชู เล่มที่ 96.
  13. (敞懼,問憲英曰:「天子在外,太傅閉城門,人云將不利國家,於事可得爾乎?」) จิ้นชู เล่มที่ 96.
  14. (憲英曰:「事有不可知,然以吾度之,太傅殆不得不爾。明皇帝臨崩,把太傅臂,屬以後事,此言猶在朝士之耳。且曹爽與太傅俱受寄託之任,而獨專權勢,於王室不忠,於人道不直,此舉不過以誅爽耳。」) จิ้นชู เล่มที่ 96.
  15. (敞曰:「然則敞無出乎?」憲英曰:「安可以不出!職守,人之大義也。凡人在難,猶或恤之;為人執鞭而棄其事,不祥也。且為人任,為人死,親昵之職也,汝從眾而已。」敞遂出。) จิ้นชู เล่มที่ 96.
  16. (宣帝果誅爽。事定後,敞歎曰:「吾不謀於姊,幾不獲於義!」) จิ้นชู เล่มที่ 96.
  17. 17.0 17.1 Sima (1084), vol. 78.
  18. (其後鐘會為鎮西將軍,憲英謂耽從子祜曰:「鐘士季何故西出?」祐曰:「將為滅蜀也。」) จิ้นชู เล่มที่ 96.
  19. (憲英曰:「會在事縱恣,非持久處下之道,吾畏其有他志也。」) จิ้นชู เล่มที่ 96.
  20. (及會將行,請其子琇為參軍,憲英憂曰:「他日吾為國憂,今日難至吾家矣。」琇固請於文帝,帝不聽。) จิ้นชู เล่มที่ 96.
  21. (憲英謂琇曰:「行矣,戒之!古之君子入則致孝於親,出則致節於國;在職思其所司,在義思其所立,不遺父母憂患而已。軍旅之間可以濟者,其惟仁恕乎!」) จิ้นชู เล่มที่ 96.
  22. (會至蜀果反,琇竟以全歸。) จิ้นชู เล่มที่ 96.
  23. Peterson (2000), p. 134.
  24. (聰朗有才鑒。) จิ้นชู เล่มที่ 96.
  25. (祜嘗送錦被,憲英嫌其華,反而覆之,其明鑒儉約如此。) จิ้นชู เล่มที่ 96.
  26. (兄瑾,尚書右僕射。) จิ้นชู เล่มที่ 93.
  27. (羊玄之,惠皇后父,尚書右僕射瑾之子也。 ... 遷尚書右僕射,加侍中,進爵為公。) จิ้นชู เล่มที่ 93.
  28. (羊琇,字稚舒,景獻皇后之從父弟也。父耽,官至太常。) จิ้นชู เล่มที่ 93.
  29. (夏侯湛,字孝若,譙國譙人也。祖威,魏兗州刺史。父莊,淮南太守。 ... 淳,字孝沖。亦有文藻,與湛俱知名。官至弋陽太守。) จิ้นชู เล่มที่ 55.
  30. (元夏侯太妃名光姬,沛國譙人也。祖威,兗州刺史。父莊,字仲容,淮南太守、清明亭侯。) จิ้นชู เล่มที่ 31.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
  • เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
  • ฝาน เสฺวียนหลิง (648). พงศาวดารราชวงศ์จิ้น (จิ้นชู).
  • ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
  • de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.
  • Peterson, Barbara Bennet (2000). Notable Women of China: Shang Dynasty to the Early Twentieth Century. M.E. Sharpe, Inc.