ข้ามไปเนื้อหา

โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา
ที่ตั้ง
แผนที่
19 ถนนราชดำเนิน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา 90000
ข้อมูล
ชื่ออื่นม.ว. (M.V.)
ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐ
โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
คติพจน์รกฺขาม อตฺตโน สาธุ
(พึงรักษาความดีของตนไว้)
สถาปนา27 ตุลาคม พ.ศ. 2439 (128 ปี)
ผู้ก่อตั้งเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
หน่วยงานกำกับสพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ
รหัส1003900101
ผู้อำนวยการนายวัฒนา ถนอมศักดิ์ (ป.ม.)
ระดับปีที่จัดการศึกษาม.1-ม.6
สี  น้ำเงิน -   ขาว
เพลงมาร์ชน้ำเงิน-ขาว
เว็บไซต์www.mvsk.ac.th

โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา[1] (อังกฤษ: Mahavajiravudh Changwat Songkhla School; อักษรย่อ: ม.ว., M.V.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ รหัสสถานศึกษา 03900101(เดิม), 1003900101 (ใหม่) มีเนื้อที่ 45 ไร่ 2 งาน 99.9 ตารางวา เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษา มีประวัติความเป็นมาและชื่อเสียงเกียรติยศที่สั่งสมมายาวนานจนถึงปัจจุบันกว่า 126 ปี เป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรกในภาคใต้ เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดสงขลา โดยมีกุลบุตร - กุลธิดา ในพื้นที่จังหวัดสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียง มาศึกษาเล่าเรียนกันเป็นจำนวนมาก

ผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนคือ มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ขณะท่านมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จการมณฑลนครศรีธรรมราช และเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยในเดือนมกราคม พุทธศักราช 2439 ในวาระโอกาสวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าพระยายมราชได้ขอพระราชทานพระนามของพระองค์ในขณะนั้นมาเป็นนามของโรงเรียน ว่าโรงเรียนมหาวชิราวุธ ปัจจุบันเป็นสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ และลูกมหาวชิราวุธทุกคนที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ ต่างมีความรักภาคภูมิใจในสถาบัน และภูมิใจในตราวชิราวุธ อันเป็นลัญจกรประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์อันเป็นมิ่งมงคลยิ่งของสถาบัน

ประวัติโรงเรียน

มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา

ผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้คือ มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล, อดีตอภิรัฐมนตรี, อดีตเสนาบดีกระทรวงนครบาล, อดีตเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ซึ่งท่านเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง ถนนและสะพานในกรุงเทพมหานครเกือบทั้งหมด

ในสมัยนั้น เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ยังดำรงตำแหน่งเป็น พระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จการมณฑลนครศรีธรรมราช ท่านเป็นผู้ที่รักและสนใจในเรื่องการศึกษามาก เนื่องจากเคยเป็นพระอาจารย์ถวายวิชาพระเจ้าลูกยาเธอฯ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลายพระองค์ เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชเป็นต้น โดยท่านเริ่มจัดตั้งโรงเรียนชั่วคราวขึ้นก่อนที่ ศาลาการเปรียญวัดดอนแย้ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2439 มีนักเรียนจำนวน 12 คน


ครั้นถึงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2439 พระยาสุขุมนัยวินิต และ พระยาวิเชียรศีรี (ชม ณ สงขลา) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ขณะนั้น ร่วมจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นการพิเศษ ในโอกาสนี้พระยาสุขุมนัยวินิตได้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ซึ่งได้รับพระราชทานมาแต่ประเทศอังกฤษ ประดิษฐานไว้บนแท่นบูชาเพื่อให้ข้าราชการพ่อค้าประชาชมชาวสงขลาได้เคารพสักการะและถวายพระพรชัย

อาศัยโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ พระยาสุขุมนัยวินิต ได้จัดให้มีการเรี่ยไรเงินเพื่อสร้างโรงเรียนที่เป็นหลักฐานขึ้น โดยมีโครงการจะสร้างที่บริเวณวัดนาถม (บริเวณโรงเรียนวิเชียรชมในปัจจุบัน) ซึ่งมี ชัยภูมิและมีบริเวณกว้างขวาง (19 ไร่ 45.7 ตารางวา) ได้เงินมา 3,940 บาท

เนื่องจากเจ้าพระยายมราชเล็งเห็นว่า สถานที่เรียนในวัดมัชฌิมาวาส ไม่กว้างขวางพอที่จะขยับขยายเป็นโรงเรียนหลวงขนาดใหญ่ในอนาคตได้ ควรจะมีอาคารเรียนและบริเวณที่กว้างขวางกว่า คือที่วัดนาถมตามที่วางโครงการไว้แต่เดิม ฉะนั้นในปี พ.ศ. 2447 จึงจัดการเรี่ยไรเงินสมทบทุนอีกครั้งหนึ่งสร้างอาคารที่วัดนาถม สำเร็จในปี 2448

แต่ในปลายปี 2447 สถานีตำรวจภูธรที่ริมคลองขวาง ซึ่งเรียกกันในครั้งนั้นว่า "โรงพักพลตระเวน" เกิดว่างลง เพราะโรงพักใหม่ที่แหลมทรายสร้างเสร็จ เจ้าพระยายมราชเห็นเป็นสถานที่เหมาะกว่าที่เดิมจึงย้ายโรงเรียนจากวัดมัชฌิมาวาสมาอยู่ที่โรงพักแห่งนี้ในปี 2448 ซึ่งบริเวณนี้มีเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน

ถึงปี 2464 ปริมาณนักเรียนมากขึ้นถึงประมาณ 100 คน ต้องไปสร้างอาคารเรียนขึ้นอีกหลังหนึ่งที่ปลายถนนสะเดา (ฟากซึ่งตั้งที่ว่าการอำเภอในปัจจุบัน) ทำการย้ายนักเรียน ม.4-6 ไปเรียนที่อาคารเรียนหลังใหม่นี้ เริ่มสอนตามหลักสูตรใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการในปีนั้น

ปี 2467 ได้ทดลองเปิดสอนชั้นมัธยมปีที่ 7 และ ปี 2469 เปิดสอนชั้นมัธยมปีที่ 8 เป็นครั้งแรก

ถึงปี 2472 โอนอาคารเรียนที่วัดนาถมทั้งหมดให้โรงเรียนประชาบาล (ปัจจุบันคือ โรงเรียนวิเชียรชม) ต้องรับนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1-3 ไปอยู่ด้วย จึงต้องสร้างอาคารเรียนที่ฝั่งตรงข้ามกับอาคารเรียนที่ปลายถนนสะเดาขึ้นอีก 2 หลัง

และในที่สุด "มหาวชิราวุธ" ก็มาปักหลักมั่นคงในสถานที่ปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อที่ 45 ไร่ 2 งาน 99.9 ตารางวา

พระพุทธรูปประจำโรงเรียน

ทางคณะสงฆ์วัดนาคปรก ตลาดพลู เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร กับคณะกรรมการกองทุนพระสุเมธาธิบดีซึ่งมี พระครูสังฆกิจวิสุทธิ์ พระครูสมุห์เศรษฐกิจ สมาหิโต และ พระครูศรีพัฒนคุณ ได้พิจารณาใคร่ครวญเห็นว่าสมควรที่จะหล่อพระพุทธรูปไว้ ประดิษฐานประจำสถานศึกษาซึ่งมีการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาดีเด่นอย่างจริงจังและจริงใจ อันเป็นมรรควิธีหนึ่งที่จะเป็นสื่อเข้าใจถึงหลักพุทธธรรม สำหรับการพัฒนา เยาวชนผู้กำลังเจริญวัย ให้เข้าใกล้พระพุทธองค์ ตั้งแต่อายุยังน้อยตาม คตินิยมที่ว่า "สามัคคีร่วมชาติ พุทธศาสน์รวมใจ" จึงได้ประกอบพิธีหล่อพระพุทธรูปขึ้น 9 องค์ เป็นพระพุทธรูปปางลีลา 25 พุทธศตวรรษ เพื่อมอบให้แก่สถานศึกษา 9 แห่งและได้ทำพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2533 เสร็จแล้วส่งไปยังสถานศึกษาต่าง ๆ 9 แห่งซึงรวมถึงโรงมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลาด้วย

พระพุทธรูปเดินทางมาถึงโรงเรียนมหาวชิราวุธจังหวัดสงขลา ในเดือนตุลาคม 2533 โรงเรียนจึงได้จัดเตรียมการหาฤกษ์ยามสำหรับทำพิธีเบิกเนตรและรับมอบอย่างใจจดใจจ่อ จนในที่สุดมหาฤกษ์ แห่งการทำพิธีกรรมก็มาถึงคือในวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2533 โรงเรียนจึงได้จัดงานพิธีการพิธีสงฆ์ มีการแสดงมหรสพอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ เป็นความภาคภูมิใจแห่งการฉลองสมโภชพระพุทธรูปประจำโรงเรียน คณะกรรมการบริหารโรงเรียน ได้ร่วมกันคิดพิจารณาในที่สุดจึงลงมติพร้อมใจกันถวายนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธาธิบดีศรีมหาวชิราวุธ ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา ปัจจุบันโรงเรียนได้ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ที่บริเวณสนามหน้าอาคารโสตทัศนศึกษา เพื่อให้เป็นศิริมงคล และเป็นที่เคารพสักการะแห่งชาวมหาวชิราวุธและทุก ๆ คนตลอดไป

เกียรติประวัติของโรงเรียน

โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นโรงเรียนหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ กล่าวคือ

  • วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร "มหาวชิราวุธ" ที่วัดนาถม ขณะที่ประทับแรม ณ พระตำหนักเขาน้อย ทรงทราบจากคำกราบบังคมทูลเรื่องการใช้พระนามาภิไธย เป็นนามโรงเรียน มีพระราชหัตถ์เลขาความว่า "โรงเรียนได้ตั้งมานานปี มีผู้สำเร็จการศึกษาออกไปทำประโยชน์แก่บ้านเมืองมากแล้ว จึงอนุมัติให้คงใช้ชื่อเดิมต่อไป" นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวมหาวชิราวุธทั้งมวล
  • พ.ศ. 2459 - 2468 มีฐานะเป็น "โรงเรียนตัวอย่างมณฑลนครศรีธรรมราชมหาวชิราวุธ"
  • พ.ศ. 2469 - 2476 เป็น "โรงเรียนประจำมณฑลนครศรีธรรมราช มหาวชิราวุธ"

อาคารหอสมุดติณสูลานนท์

ฯ พณ ฯ ท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มอบเงินส่วนตัวของท่าน จำนวน 500,000 บาท ในนามของสกุล "ติณสูลานนท์" ให้กับโรงเรียน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ทุนเริ่มต้น ในการจัดสร้างอาคารหอสมุดโรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลา จังหวัดสงขลา และได้มอบให้สมาคมนักเรียนเก่า รับผิดชอบเกี่ยวกับการประสานงานก่อสร้าง ตามที่ท่านได้ดำริเอาไว้ ซึ่งในการจัดสร้างหอสมุดครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงถึงความมีมุทิตาจิตและความกตัญญูของท่าน ในฐานะของนักเรียนเก่าที่มีต่อโรงเรียนแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ นับเป็นตัวอย่างที่ดีควรแก่การยกย่องสรรเสริญ

อาคารหอสมุดที่จัดสร้างในครั้งนี้ มีรูปแบบที่สง่างามยิ่ง เป็นอาคาร 3 ชั้น ขนาด 36 x 23 เมตร กำหนดสถานที่ก่อสร้างไว้ด้านหลัง ของพระบรมราชานุสาวรีย์ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เป็นอาคารอเนกประสงค์ โดยที่ ฯพณฯ ท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารหอสมุดหลังนี้ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่าน

เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2530 เสร็จสิ้นในเดือนเมษายนปีเดียวกัน มีผู้ร่วมสบทบทุนในการสร้างอาคารหลังนี้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 23,071,640 บาท โดยมีบริษัท ช.ช้าง จำกัด เป็นผู้รับเหมางานในครั้งนี้ ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการสร้างราคาถึง 13,783,132 บาท แต่บริษัทต้องการสมทบทุนในการสร้างด้วย จึงคิดเพียงแค่ 10,000,000 ล้านบาท แต่เมื่อรวมค่าวัสดุครุภัณฑ์ภายในแล้ว เป็นเงินที่ใช้ในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 17,000,000 บาท เพราะอาคารหลังนี้ใช้วัสดุก่อสร้างอย่างดี และเน้นเรื่องการประณีตสวยงาม อาคารหลังนี้เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก็เด่นตระการตา

ปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการรวมประมาณ 400-500 คน เนื่องจากทางหอสมุดได้เปิดทำการเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ที่ต้องการมาใช้สะดวกและสบายมากยิ่งขึ้น สมดังที่ ฯพณฯ ท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ตั้งปณิธานเอาไว้ ในปัจจุบันอาคารหลังนี้ก็ยังคงความวิจิตรตระการตา ประดุจดังวันวาน ไม่ว่าจะมองจากภายในหรือภายนอก อาคารหลังนี้ก็ยังคงเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตา และเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวมหาวชิราวุธสงขลาทั้งปวง ที่ร่วมจิตร่วมใจกันเป็นพลังมหาศาล เพื่อก่อให้เกิดอาคารอันโอ่อ่าสง่างามหลังนี้ขึ้น และที่สำคัญอาคารหลังนี้มิได้ใช้งบประมาณจัดสรรของแผ่นดินแต่ประการใด หากแต่เกิดจากจิตศรัทธาและความร่วมมือร่วมใจอันหล่อหลอมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

บุคคลที่มีชื่อเสียงที่เป็นศิษย์โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นักเรียนเก่ามหาวชิราวุธ เลขประจำตัว 167
  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ (พระเจ้าวรวงศ์เธอแห่งราชวงศ์จักรี) - ผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ไทย, ผู้ก่อตั้งบริษัทละโว้ภาพยนตร์
  • เปรม ติณสูลานนท์ (พลเอก, พลเรือเอก, พลอากาศเอก) - ผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 22, นายกรัฐมนตรีคนที่ 16, รัฐบุรุษ, อดีตประธานองคมนตรี
  • ไสว พัฒโน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา 8 สมัย
  • โสภณ รัตนากร (ศาสตราจารย์พิเศษ) - อดีตประธานศาลฎีกา, อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม, อดีตศาสตราจารย์พิเศษของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (ศาสตราจารย์กิตติคุณ, ดร.) - อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า (ปัจจุบัน)
  • เอื้อน ขุนแก้ว - (ศาสตราจารย์พิเศษ) - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา, อาจารย์ผู้บรรยายเนติบัณฑิตยสภาฯ (ปัจจุบัน)
  • บินหลา สันกาลาคีรี (วุฒิชาติ ชุ่มสนิท) - นักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประเทศไทย ประจำปี 2548
  • เอนก นาวิกมูล - นักวิชาการ นักเขียนสารคดี นักสะสมของเก่า ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ บ้านพิพิธภัณฑ์
  • ภิญโญ สุวรรณคีรี (รองศาสตราจารย์, ดร.) - ราชบัณฑิต, - ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พ.ศ. 2537, - บุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม พ.ศ. 2540
  • จำนงค์ โพธิสาโร - อดีตอธิบดีกรมป่าไม้, - อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์จังหวัดศรีสะเกษ 7 สมัย
  • นิพนธ์ บุญญามณี - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์จังหวัดสงขลา ระบบบัญชีรายชื่อ - อดีตรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์, - อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
  • ถาวร เสนเนียม - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์จังหวัดสงขลา ระบบบัญชีรายชื่อ - รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์, - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (ปัจจุบัน)
  • ศักดิ์เกษม หุตาคม (นามปากกา : อิงอร) - นักเขียนนวนิยายรัก โศกนาฏกรรม และนักแต่งเพลงชื่อดัง
  • มนตรี ศรียงค์ (นามปากกา : กวีหมี่เป็ด) - นักประพันธ์รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2550
  • วัชระ สัจจะสารสิน (วัชระ เพชรพรหมศร) - นักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2551
  • กั้น ทองหล่อ - ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปีพุทธศักราช 2529
  • อำนวย นิ่มมะโน (พลตำรวจตรี) - รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ปัจจุบัน)
  • ชนะพล สัตยา (อ๊อฟ ชนะพล) - ดัชชี่บอย ปี 2006, นักแสดง
  • กันตพัฒน์ บำรุงรักษ์ (เอ็กซ์ กันตพัฒน์) - นักแสดง
  • ธชย(สิทธิกร) ประทุมวรรณ (เก่ง) - นักร้อง
  • จิรธิติกานต์ เหมสุวรรณ์ (ชิ) - นักทรอมโบน (Trombone) ชื่อดังระดับเอเชีย, แชมป์ทรอมโบนแจ็สระดับโลก และแชมป์ประเทศไทย 3 สมัย, โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลง
  • ฌาฆฤณ ชุมมิ่ง (ดีเจบอย) - นักจัดรายการวิทยุคลื่น 95.5 Virgin Radio Thailand
  • สรวีย์ นัดที - Miss Tiffany 2009
  • ธวัช วิรัตติพงศ์ - Project Manager และ R&D Manager ของ NASA Deep Space Station
  • นายกมล รอดคล้าย - เลขาธิการสภาการศึกษา และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.)

อ้างอิง

  1. https://www.mvsk.ac.th/history ประวัติโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา

แหล่งข้อมูลอื่น