ข้ามไปเนื้อหา

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา

พิกัด: 13°47′32″N 100°36′21″E / 13.792292°N 100.605853°E / 13.792292; 100.605853
นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ
บดินทรเดชา
Nawaminthrachinuthit Bodindecha School
ที่ตั้ง
แผนที่
5/23 ซอยลาดพร้าว 69 ถนนลาดพร้าว แขวงสะพานสอง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10310
ข้อมูล
ชื่ออื่นนมร.บ.ด.
NMR.B.D.
ประเภทรัฐบาล
คติพจน์ลูกบดินทรเป็นผู้ประพฤติดี และมีความรู้
สถาปนา31 กรกฎาคม พ.ศ. 2535
ผู้ก่อตั้งคุณหญิงลักขณา แสงสนิท
หน่วยงานกำกับโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ประเภทสหวิทยาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานครเขต 2 กระทรวงศึกษาธิการ
รหัส00104502
ระดับปีที่จัดการศึกษาม.1 - ม.6
จำนวนนักเรียน2651 คน
สี    สีน้ำเงิน - สีฟ้า
เพลงมาร์ชนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา
เว็บไซต์www.bodin3.ac.th

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เป็นโรงเรียนในโครงการเฉลิมพระเกียรติ ในกลุ่มโรงเรียน 9 นวมินทราชินูทิศ และเป็นโรงเรียนในเครือบดินทรเดชา แห่งที่ 3 เมื่อวันที่ 12-13 ตุลาคม พ.ศ. 2534 กรมสามัญศึกษาได้พิจารณาดำเนินการรับที่ดินไว้จัดตั้งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในปี พ.ศ. 2535 กรมสามัญศึกษาได้มอบหมายให้โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นผู้ประสานงานจัดตั้งโรงเรียนในโครงการ 1 ใน 9 โรงเรียน โดยใช้ที่ดินบริจาคของคุณย่าพัฒน์ กังสานนท์ในซอยลาดพร้าว 69 จำนวน 5 ไร่ และใช้ชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๓"[1]

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ประกาศจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2535 โดยเป็นโรงเรียน 1 ใน 9 โรงเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลสมัยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงว่า "นวมินทราชินูทิศ" และโดยที่กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้อยู่ในความดูแลของโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในระยะเริ่มแรก กระทรวงศึกษาธิการจึงให้เติมต่อท้ายชื่อ ว่า "โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา" และได้รับมอบหมายให้คุณหญิงลักขณา แสงสนิท ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในขณะนั้นเป็นผู้ประสานการจัดตั้งและดูแล โดยมีนายอมรรัตน์ ปิ่นเงิน เป็นผู้บริหารคนแรก[2]

ปัจจุบัน โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 กระทรวงศึกษาธิการ มีผู้บริหารสถานศึกษามาแล้ว 5 คน เปิดทำการสอนช่วงชั้นที่ 3 - 4 (ม.1 - 6) จำนวน 68 ห้องเรียน แบ่งเป็นห้องเรียนธรรมดาจำนวน 60 ห้องเรียน และห้องเรียนโครงการ Extra – curricula English Program จำนวน 8 ห้องเรียน แผนการเรียน วิทย์-คณิต, ภาษา (ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส), เน้นคณิตศาสตร์ และไม่เน้นคณิตศาสตร์

ประวัติ

[แก้]

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชาสถาปนาขึ้นเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2535 ซึ่งกรมสามัญศึกษาพิจารณาที่ดินบริจาคของพัฒน์ กังสานนท์ เมื่อวันที่ 12-13 ตุลาคม พ.ศ. 2534 เพื่อจัดตั้งเป็นโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติในวโรสกาสดังกล่าว และได้มอบหมายการควบคุมการก่อสร้างโรงเรียนแก่คุณหญิงลักขณา แสงสนิท ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)ในขณะนั้น และใช้ชื่อโรงเรียนในระยะแรกว่า โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๓[1] ต่อมา เมื่อได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงว่า "นวมินทราชินูทิศ" แล้ว จึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา และมีประกาศจัดตั้งโรงเรียนโดยกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2535[3]

ในระยะแรกโรงเรียนได้ใช้สถานที่ทำการเรียนการสอน ณ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) โดยมีคณาจารย์ของโรงเรียนเองและโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในการสอน และเปิดรับนักเรียนครั้งแรกในปีการศึกษา 2535 ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2536 โรงเรียนได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นเงิน 95 ล้านบาท จัดสร้างอาคารเรียนแบบพิเศษ 9 ชั้น และอาคารอเนกประสงค์ 4 ชั้น ณ สถานที่ตั้งปัจจุบันของโรงเรียน[1] และได้ย้ายมาทำการเรียนการสอน ณ สถานทีตั้งปัจจุบันในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2537

ในปี พ.ศ. 2540 โรงเรียนได้จัดสร้างเรือนธรรมกาญจนาภิเษกซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธพรนวมินทรราชินีถวาย พระพุทธรูปประจำโรงเรียน และรูปเหมือนเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และใช้เป็นสถานที่จัดการอบรมกิจกรรมด้านจริยธรรมอย่างต่อเนื่อง และได้เปิด สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในปีเดียวกัน

ปัจจุบัน โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ[2][4] ทำการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตั้งแต่ปีที่ 1 - 6 พร้อมด้วยนักเรียนในหลักสูตรภาษาอังกฤษ นักเรียนในโครงการความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ และโรงเรียนได้บรรจุหลักสูตรท้องถิ้น "หลักสูตรกษัตริย์นักพัฒนาและเจ้าพระยาบดินทรเดชา ( สิงห์ สิงหเสนี )" แก่นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 รวมถึงมีการประกันคุณภาพเพื่อดำเนินการเป็นไปตามระบบสากล[5]

ความหมายของชื่อโรงเรียน

[แก้]
อักษรประดิษฐ์ นมร. ตราประจำโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียน "นวมินทราชินูทิศ"

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ พร้อมกันนี้ พระองค์ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อโรงเรียนมัธยมศึกษาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ว่า "โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ"[6] และเนื่องจากในระยะเริ่มต้นของการก่อตั้งโรงเรียนนั้น กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นผู้ประสานงานการจัดตั้งโรงเรียน ดังนั้น โรงเรียนนวมินทราชินูทิศแห่งนี้ จึงลงท้ายชื่อโรงเรียนว่า "บดินทรเดชา" โดยความหมายของชื่อโรงเรียนนั้น สามารถแยกออกเป็น 2 ส่วน[6] ได้แก่

  • นวมินทราชินูทิศ ซึ่งเกิดจากการสนธิของคำต่าง ๆ ดังนี้
นวม แปลว่า ลำดับที่เก้า
อินทร์ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่
ราชินี แปลว่า พระมเหสี
อุทิศ แปลว่า ทำเพื่อ หรือ สละให้อย่างเจาะจง

ดังนั้น นาม "นวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา" จึงมีความหมายว่า โรงเรียนสาขาบดินทรเดชา ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อถวายแด่พระราชินีแห่งพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9

สถานที่ภายในโรงเรียน

[แก้]

อาคาร

[แก้]
อาคาร 9 ชั้น ถ่ายจากสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
อาคารอเนกประสงค์ 4 ชั้น ถ่ายจากเสาธงของโรงเรียน

ปัจจุบัน โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา มีอาคารภายในโรงเรียนทั้งสิ้น 3 อาคาร ได้แก่

  1. อาคาร 9 ชั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 9 ชั้น ใช้เป็นอาคารเรียน ห้องพักคณาจารย์ ห้องสมุด ห้องโสตทัศนศึกษา ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่าง ๆ ของโรงเรียน เช่น สำนักงานผู้อำนวยการ สหกรณ์ร้านค้า นอกจากนี้ บริเวณดาดฟ้าของอาคารยังใช้เป็นสนามกีฬาในร่มและหอประชุมขนาดกลางด้วย
  2. อาคารอเนกประสงค์ 4 ชั้น เป็นที่ตั้งของโรงอาหาร ห้องเรียนที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนต่าง ๆ เช่น ห้องศิลปะ ห้องดนตรีไทย ห้องอุตสาหกรรม ห้องงานบ้าน และเป็นที่ตั้งของหอประชุม
  3. เรือนธรรมกาญจนาภิเษก เป็นอาคาร 2 ชั้น ใช้เป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธพรนวมินทรราชินีถวาย" รวมทั้ง รูปเหมือน "เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)" และ รูปเหมือนคุณย่าพัฒน์ กังสานนท์ ผู้บริจาคที่ดิน นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานกลุ่มบริหารงานบุคคล

ลานกิจกรรมและกีฬา

[แก้]
สนามกีฬาในร่มภายในโรงเรียน

ลานกิจกรรมกีฬาของโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  1. สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นสนามฟุตบอล และมีอัฒจรรย์ขนาดเล็ก
  2. สนามกีฬาในร่ม ประกอบด้วย สนามวอลเล่ย์บอลจำนวน 2 สนามและสนามบาสเก็ตบอลจำนวน 2 สนาม
  3. สนามกีฬาในร่มเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นลานกีฬาในร่มตั้งอยู่ที่ชั้นดาดฟ้าของอาคาร 9 ชั้น ประกอบด้วย สนามแบดมินตันจำนวน 4 สนามและโต๊ะปิงปอง
  4. สนามกีฬาฟุตซอล เป็นลานกีฬาในร่มตั้งอยู่ที่หน้าอาคาร 9 ชั้น ประกอบด้วย สนามฟุตซอลจำนวน 1 สนาม

การเดินทาง

[แก้]

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา มีประตูทางเข้าออก 3 เส้นทาง [7] การเดินทางมายังโรงเรียนสามารถเดินทางมาได้ ดังนี้

  1. ประตูลาดพร้าว 69 (ประตูหลักของโรงเรียน) รถโดยสารประจำทางที่ผ่านทางเข้าซอย ของ ขสมก. ได้แก่ สาย 8,27,44,73,96,126,137,145,178,191,502,514,545
  2. ประตูลาดพร้าว 63 (ประตูด้านหลังอาคาร 9 ชั้น) ใช้เส้นทางเดียวกันกับประตูลาดพร้าว 69
  3. ประตูจักกริช 3 (ทางออกสู่ถนนนาคนิวาส) รถโดยสารประจำทางที่ผ่านทางเข้าซอย ได้แก่ สาย 156 [8]

รายนามผู้บริหารโรงเรียน

[แก้]
รายนามผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. นายอมรรัตน์ ปิ่นเงิน 27 ตุลาคม พ.ศ. 2535 - 4 มกราคม พ.ศ. 2541
2. นายปลองยุทธ อินทพันธ์ 5 มกราคม พ.ศ. 2541 - 17 ธันวาคม พ.ศ. 2545
3. นางภรภัทร (วิลาวัณย์) สิทธิวงศ์ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2545 - 30 กันยายน พ.ศ. 2548
4. นายจำลอง เชยอักษร 24 มกราคม พ.ศ. 2549 - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
5. นายโชว์นันต์ มารุตวงศ์ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
6. นางสาลินี มีเจริญ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 - 30 กันยายนพ.ศ. 2555
7. นางพรพิมล พรชนะรักษ์ พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2558
8. นางสุชาดา พุทธนิมนต์ พ.ศ. 2558 - พ.ศ. 2561
9. นายมนัส ปิ่นนิกร พ.ศ. 2561 - 2563
10. นายสุรสิทธิ์ เจริญวัย พ.ศ. 2563 - 2564
11. นายมิตรชัย สมสำราญกุล พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน

มาตรฐานคุณภาพ

[แก้]

มาตรฐานคุณภาพภายนอก

[แก้]

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ได้รับการประเมินคุณภาพจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. รอบแรก เมื่อวันที่ 14-16 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านผู้เรียน ด้านผู้บริหาร และด้านครู โดยทางโรงเรียนได้รับการประเมินคุณภาพในระดับดีทั้ง 3 ด้าน[9]

ชีวิตในโรงเรียน

[แก้]

หลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ใกล้เคียงกับโรงเรียนอื่นๆ คือ ในช่วงชั้นที่ 3 แบ่งเป็น 3 ปี (ม.1 - 3) นักเรียนจะเลือกเรียนสาระเพิ่มเติมในแต่ะปี เมื่อรวมกับสาระพื้นฐานแล้วประมาณ 1,000 - 1,200 ชั่วโมงในแต่ละปีการศึกษา หรือ 3,000 - 3,600 ชั่วโมงใน 3 ปีการศึกษา และช่วงชั้นที่ 4 แบ่งเป็น 3 ปี (ม.4 - 6) มีชั่วโมงเรียนทั้งปีเท่ากับ 1,200 ชั่วโมงขึ้นไป หรือไม่น้อยกว่า 3,600 ชั่วโมงใน 3 ปีการศึกษา [9] ในด้านกิจกรรม โรงเรียนได้จัดกิจกรรมอื่นๆ ทั้งกิจกรรมกีฬา-ดนตรี, กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์, กิจกรรมส่งเสริมทางด้านศาสนา อาทิ กิจกรรมนำนักเรียนไปปฏิบัติธรรมที่วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก[10] อีกด้วย

กิจกรรมภายในโรงเรียน

[แก้]

ชมรม และชุมนุม

[แก้]

ชมรม และชุมนุม ในโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนภายในโรงเรียน สร้างความรู้จัก พบปะกันมากยิ่งขึ้น โดยสามารถเลือกชมรมได้ตามความสนใจของนักเรียน ไม่จำกัดชั้นปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียนจัดกิจกรรมชุมนุมการสอนดนตรี วิชาศิลปะ นาฏศิลป์ และกีฬา ในชั่วโมงชุมนุมหลังเลิกเรียนทุกวัน [11]

กีฬา

[แก้]

นอกจากการเรียนกีฬาภายในชั่วโมงเรียนแล้ว โรงเรียนยังฝึกให้นักเรียนมึความรับผิดชอบ โดยจัดกิจกรรมกีฬากัลปพฤกษ์เกมส์[10] เป็นกีฬาสีภายในโรงเรียน [12] ในกิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนมีส่วนร่วม ฝึกการทำงานเป็นหมู่คณะ สร้างความสามัคคีกลมเกลียวภายในโรงเรียน นอกจากนี้ ยังเป็นการคัดเลือกตัวแทนเพื่อแข่งขันใน มหกรรมกีฬา 6 บดินทรอีกด้วย

กิจกรรมด้านศาสนา

[แก้]

กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ของโรงเรียนได้จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรทุกวันศุกร์ ในวันสำคัญทางศาสนา และเทศกาลวันสำคัญต่างๆ โดยให้นักเรียนระดับชั้นต่างๆ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการตักบาตร และนี้ยังมีกิจกรรมถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์, กิจกรรมบ้านวัดโรงเรียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เพื่อฝึกนักเรียนปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา, จัดกิจกรรมนำนักเรียนไปบรรพชาสามเณรฤดูร้อนเพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม [10]

โครงการปลูกรากแก้วของแผ่นดิน โดยให้นักเรียนแต่ละห้องหมุนเวียนกันฟังธรรมจากพระอาจารย์วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก และเรียนรู้กิจกรรมทางศาสนา [9] ปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นสู่กิจกรรมรากแก้วมาตุภูมิ ซึ่งมีการฝึกการรู้จักอดออมเพื่อส่วนรวมอีกด้วย [13]

ธนาคารโรงเรียน

[แก้]

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา และธนาคารออมสิน จัดตั้งขึ้นธนาคารโรงเรียนขึ้นเพื่อฝึกให้นักเรียนรู้จักออมเงิน โดยนักเรียนเป็นผู้ดำเนินการรับฝาก-ถอนเอง โดยดำเนินการในช่วงพักกลางวัน ทำให้นักเรียนที่ทำหน้าที่คณะกรรมการ ได้รู้จักกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ [9] โดยเปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ปัจจุบัน (31 มกราคม 2549) มียอดบัญชีกว่า 1,376 บัญชี [14]

กิจกรรมส่งเสริมให้รู้คุณค่าทรัพยากร

[แก้]

โดยจัดโครงการห้องเรียนสีเขียว ซึ่งร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, โครงการพลังงานหารสอง เพื่อรณรงค์ให้นักเรียนใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด คุ้มค่า [15]

คนดีศรีบดินทร

[แก้]

ตามปรัชญาของโรงเรียน "ลูกบดินทรเป็นผู้ประพฤติดีและมีความรู้" จึงเน้นการให้โอกาส ให้ความดูแลใกล้ชิด และประกาศเกียรติคุณ โดยฝ่ายปกครองเริ่มจากกำหนดให้มี "ธนาคารความดี" เพื่อบันทึกของนักเรียนไว้ และเพื่อให้นักเรียนทำดียิ่งขึ้น จึงจัดโครงการ "คนดีศรีบดินทร" เพื่อการค้นหาคัดเลือกคนดี ดุจเพชรเจียรนัย ให้เป็นคนที่ทรงคุณค่าของสังคม และปรากาศเกียรติคุณในวันเกียรติยศแห่งคนดี (ทุกวันที่ 14 กุมภาพันธ์) [16] ต่อมาคณะกรรมการฝ่ายกิจการนักเรียนของโรงเรียนในเครือบดินทรเดชาร่วมจัดขึ้นในแต่ละโรงเรียน คนดีศรีบดินทร คือ การประกาศเกียรติคุณเชิดชูคุณความงามความดีของนักเรียนให้ปรากฏ [17] โดยส่งเสริมให้เป็นคนดีในประเภทต่างๆตามคุณลักษณะของนักเรียนแต่ละคน [15] พร้อมลำดับดังนี้

  1. คนดีศรีบดินทร
  2. คนดีที่สมควรยกย่อง
  3. คนดีที่สมควรเป็นแบบอย่าง
  4. คนดีที่มีความสามารถด้านต่างๆ [18]

การพิจารณา ผู้ที่ได้คัดเลือกคนดีศรีบดินทรได้มาจากการเสนอชื่อโดยนักเรียนเสนอเอง เพื่อนนักเรียน ครู-อาจารย์ ทุกคนในโรงเรียน ตลอดจนคนงาน แม่ค้าในโรงเรียนที่เห็นความดีงามส่งข้อมูลเสนออาจารย์ที่ปรึกษา และนักเรียนทั้งหมดจะได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการระดับชั้นนั้นๆ ระดับละ 5 คน แล้วจึงส่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกมาสัมภาษณ์ และดูผลงาน (Portfolio) โดยคณะกรรมการฝ่ายปกครองรอบสุดท้าย [19]

กิจกรรมสาธารณประโยชน์

[แก้]

จัดกิจกรรมนักเรียนไปบำเพ็ญปลูกป่าชายเลน ที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้นักเรียนฝึกการเรียนรู้และปฏิบัติธรรม [20] ,นำนักเรียนไปพัฒนาท้องถิ่นโดยการสำรวจสิ่งแวดล้อม ที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนโดยนักเรียนเป็นผู้ดำเนินการในปีการศึกษา 2548 [9], กิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านแม่น้ำน้อย จังหวัดกาญจนบุรี ตามโครงการโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2549 [21]

กิจกรรมระหว่างโรงเรียน

[แก้]

มหกรรมกีฬา 6 บดินทร

[แก้]

เป็นกิจกรรมกีฬาที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความสามัคคีระหว่างโรงเรียนในเครือบดินทรเดชา โดยหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬา 5 บดินทรครั้งที่ 3 ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ [22]

เดินเทิดพระเกียรติ

[แก้]

กลุ่มโรงเรียน 9 นวมินทราชินูทิศ จัดกิจกรรมเดินเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสมหามงคลทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ณ บริเวณพุทธมณฑล ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม โดยนายพีรพันธุ์ พาลสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น ให้เกียรติเป็นประธาน [23]

วันสำคัญที่เกี่ยวกับโรงเรียน

[แก้]
วันเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
ตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันอสัญกรรมของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)[24] สมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว [25]ในวันนี้ ตัวแทนนักเรียนจากระดับชั้นต่าง ๆ ตัวแทนคณะกรรมการนักเรียน ตัวแทนครู-ผู้ปกครอง จะวางพวงหรีดแสดงความกตัญญู และมีการเชิญรูปปั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จำลอง พร้อมขบวนธงโรงเรียน ขบวนธงคณะสีอีกด้วย ซึ่งจัดพิธีลานหน้าอาคารเรียนหลังกิจกรรมเคารพธงชาติ เพื่อแสดงถึงความกตัญญู และสดุดีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) [26]
วันกตัญญูคุณย่าพัฒน์ กังสานนท์
ตรงกับวันที่ 7 กรกฎาคม ของทุกปี[27] เป็นงานแสดงความกตัญญูของลูกนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ต่อคุณย่าพัฒน์ ผู้บริจาคที่ดิน 5 ไร่ในซอยทำเนียบ (ลาดพร้าว 69) ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ (ต่อมาคือโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา) [28] โดยในวันนี้ นักเรียนทั้งหมดจะเข้าร่วมพิธีลานหน้าอาคารเรียน เชิญรูปหล่อคุณย่าพัฒน์ กังสานนท์ ในพิธีนี้อีกด้วย พร้อมอ่านบทสดุดีคุณย่าพัฒน์ที่ประพันธ์ขึ้น[27] ตัวแทนนักเรียนวางพวงมาลาเพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ [29]
วันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียน
ตรงกับวันที่ 31 กรกฎาคม [30] ของทุกปี ในวันนี้มีกิจกรรมต่างๆมากมาย ซึ่งส่วนมากมาจากผลงานของนักเรียน อาทิ การแสดงดนตรีไทย ของนักเรียนชมรมดนตรีไทย การจัดนิทรรศการทางวิชาการ การแสดงดนตรีของนักเรียนวงสตริงของโรงเรียน[31] รวมถึงการเทศน์มหาชาติ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี และในวาระครบรอบ 15 ปีโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา โรงเรียนได้จัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ในงานที่มีชื่อว่า "นวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ปริทัสน์ บณรษวรรษ วรมงคล"[1] เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2550 รวมทั้งมีงานเทศน์มหาชาติเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์ราชัน และร่วมพิธีเททองหล่อรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา[32]

เกียรติประวัติ

[แก้]

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ได้รับคัดเลือกรับรางวัลโรงเรียนดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2539 ของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับเกียรติบัตร "ร้านอาหารสะอาดในสถาบันการศึกษา" จากกรมอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เมื่อ 8 ธันวาคม 2542 ได้รับยกย่องว่าเป็นโรงเรียนสีขาว จากกรมสามัญศึกษา,ได้รับการรับรองการบริหารงานระบบคุณภาพ ISO 9002 จากสำนักรับรองคุณภาพ (สรร.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้น[16] นอกจากนี้ โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ได้รับคัดเลือกจากท่านรัฐมนตรีสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ให้เป็นตัวแทนประเทศ ในการจัดแสดงโขนตอนยกรบ และระบำสี่ภาคมีดนตรีไทยร่วมบรรเลงเพลงประกอบ เพื่อแสดงที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 เนื่องในโอกาสการประชุมนานาชาติ เรื่องโรคเอดส์ครั้งที่ 15 [33]

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 หนังสือที่ระลึก 15 ปี "นวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ปริทัศน์ บัณรสวรรษ วรมงคล"
  2. 2.0 2.1 "ประวัติโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-18. สืบค้นเมื่อ 2007-08-27.
  3. "เว็บไซต์โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-07. สืบค้นเมื่อ 2007-06-11.
  4. ศูนย์ปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  5. ประวัติโรงเรียน เก็บถาวร 2013-09-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูล 16 มกราคม พ.ศ. 2556
  6. 6.0 6.1 "ที่มาของสถาบัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-19. สืบค้นเมื่อ 2007-08-27.
  7. คู่มือผู้ปกครองและนักเรียน ปีการศึกษา 2545 หน้า 80
  8. ขสมก. สายรถ 156[ลิงก์เสีย]
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 รายงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ปีการศึกษา 2551 เก็บถาวร 2020-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554
  10. 10.0 10.1 10.2 รายงานประจำปีการศึกษา 2546 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา หน้าที่ 19
  11. รายงานประจำปีการศึกษา 2546 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา หน้าที่ 24
  12. "ประวัติโรงเรียน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-19. สืบค้นเมื่อ 2007-08-27.
  13. สารนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เดือนธันวาคม 2549
  14. "ผลการดำเนินงานธนาคารโรงเรียน" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-10-04. สืบค้นเมื่อ 2008-01-05.
  15. 15.0 15.1 รายงานประจำปี 2546 หน้า 20
  16. 16.0 16.1 หนังสือที่ระลึก 10 ปี นวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา "เพชรแห่งทศวรรษ"
  17. หนังสือคนดีศรีบดินทร หน้า 45
  18. หนังสือที่ระลึก 10 ปีโรงเรียน "เพชรแห่งศตวรรษ"
  19. หนังสือที่ระลึก 10 ปีโรงเรียน "เพชรแห่งศตวรรษ"
  20. สารนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เดือนมีนาคม 2549
  21. สารนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549
  22. สารนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 หน้า 3
  23. สารนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 หน้า 6
  24. หนังสือคนดีศรีบดินทร หน้า 17
  25. สารทำเนียบทอง รายงานประจำปี 2545 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา หน้า 14
  26. สารทำเนียบทอง ปีที่ 4 ฉบับที่ 11 หน้าที่ 2
  27. 27.0 27.1 สารนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547 หน้า 6
  28. สารทำเนียบทอง รายงานประจำปี 2545 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา หน้า 15
  29. สารทำเนียบทอง ปีที่ 5 ฉบับที่ 14 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2545 หน้า 37
  30. คู่มือผู้ปกครองและนักเรียน ปีการศึกษา 2545
  31. สารทำเนียบทอง ปีที่ 5 ฉบับที่ 14 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2545 หน้า 23
  32. ข่าวประชาสัมพันธ์ เก็บถาวร 2007-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกวันที่ 4 มกราคม 2550
  33. สารนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547 หน้า 3

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°47′32″N 100°36′21″E / 13.792292°N 100.605853°E / 13.792292; 100.605853