โรงเรียนวัดทรงธรรม
โรงเรียนวัดทรงธรรม | |
---|---|
Wat Songtham School | |
พิกัด | 13°39′46″N 100°32′10″E / 13.66278°N 100.53611°E |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | ท.ธ. |
ประเภทโรงเรียน | โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ |
คติพจน์ | บาลี: ธมฺมจารี สุขํ เสติ อังกฤษ: The virtuous always meet happiness. (ผู้ประพฤติธรรม ย่อมเป็นสุข) |
สถาปนา | 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1895 |
ผู้ก่อตั้ง | เจ้าพระคุณอุดมวิจารณ์ (กลั่น นพคุณ) |
หน่วยงานกำกับ | สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน |
รหัส | 1011104001 |
ผู้อำนวยการ | นายประภาส กรุดพันธ์ |
ระดับชั้น | มัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 |
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอน | ไทย อังกฤษ จีน |
ห้องเรียน | 3 อาคาร 1 หอประชุม 78 ห้องเรียน |
พื้นที่ | 4 ไร่เศษ |
สี | สีเหลือง สีแดง |
เพลง | มาร์ชทรงธรรม |
เว็บไซต์ | โดเมนตามรหัสประเทศ: www โดเมนตามอักษรท้องถิ่น: โรงเรียนวัดทรงธรรม |
โรงเรียนวัดทรงธรรม เป็นโรงเรียนรัฐบาลประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 6 (ฉะเชิงเทรา-สมุทรปราการ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งตั้งอยู่ในพระอารามหลวงที่มีนามว่า "วัดทรงธรรมวรวิหาร" ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีพื้นที่ของโรงเรียนทั้งหมด ประมาณ 4 ไร่เศษ
เจ้าพระคุณอุดมวิจารณ์ (พระใบฎีกากลั่น สีละเตชะ หรือ กลั่น นพคุณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดทรงธรรมวรวิหาร ได้ทำหนังสือต่อท่านขุนประพจน์ เนติประวัตร นายเวรการโรงเรียน ขอนำความกราบบังคมทูลพระเจ้าลูกเธอฯ อธิบดีกรมการศึกษา ทรงทราบเป็นโรงเรียนเชลยศักดิ์ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2438 (ร.ศ. 114)[1] โดยพระอุดมวิจารณ์เป็นผู้เริ่มก่อตั้ง ซึ่งดำรงตำแหน่งครูใหญ่คนแรก และพระใบฎีกาลั่น เป็นครูสอน
ปัจจุบันโรงเรียนนี้เปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายแบบสหศึกษา
- พ.ศ. 2429 โรงเรียนวัดทรงธรรม เดิมใช้ชื่อว่า "โรงเรียนเมืองนครเขื่อนขันธ์" (จากเอกสารรายงานการโรงเรียนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คัดจากหนังสือพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 3 วันอาทิตย์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 6 อัฐศกจุลศักราช 1248 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2429)
- พ.ศ. 2438 เจ้าพระคุณอุดมวิจารณ์ (พระใบฎีกากลั่น สีละเตชะ หรือ กลั่น นพคุณ) ได้จัดการพัฒนาการศึกษาจากเดิมเรียนที่กุฏิล่าง ของท่านพระครูปิฎกธร (แทน จันทรังสี) เข้ามาสู่ระบบโรงเรียน โดยตั้งโรงเรียนรัฐบาลบริเวณที่ดินของวัดทรงธรรมวรวิหาร โดยท่านเจ้าพระคุณอุดมญาณ เจ้าอาวาสวัดทรงธรรมวรวิหารได้ทำหนังสือยื่นต่อท่านขุนประพจน์ เนติประวัตร นายเวรการโรงเรียน ขอนำความกราบบังคมทูลพระเจ้าลูกเธอฯ อธิบดีกรมศึกษาธิการ ทรงทราบเป็นโรงเรียนเชลยศักดิ์เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2438 (ร.ศ. 114) โดยมเจ้าพระคุณอุดมวิจารณ์ เป็นครูคนแรกของโรงเรียนเมืองนครเขื่อนขันธ์
- พ.ศ. 2439 โรงเรียนเมืองนครเขื่อนขันธ์ ใช้หลักสูตรพุทธศักราช 2438 และได้มีการสอบไล่ตามระเบียบของกรมการศึกษาในสมัยนั้นและได้ประกาศนียบัตร
- พ.ศ. 2463 โรงเรียนเมืองนครเขื่อนขันธ์ ได้เริ่มก่อสร้างเรือนนาคณรงค์สงเคราะห์ เรือนเรียนหลังแรกของโรงเรียนเมืองนครเขื่อนขันธ์ โดยมีพระยานาคราชกำแหงประแดงบุรีนายก (แจ้ง คชเสนี) และพระยาณรงค์ฤทธี เป็นแม่กองในการสร้างเรือนเรียนหลังนี้
- พ.ศ. 2464 ในวันที่ 10 กรกฎาคม เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการเดินทางมาเป็นพิธีเปิดเรือนนาคณรงค์สงเคราะห์ อาคารเรียนของโรงเรียนเมืองนครเขื่อนขันธ์[2]
- พ.ศ. 2475 โรงเรียนเมืองนครเขื่อนขันธ์ ได้เปิดการเรียนการสอนขยายถึงชั้นมัธยมศึกษา และได้มีฐานะเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดพระประแดง เปิดสอนนักเรียน ชาย-หญิง ต่อมาแยกชั้นประถมศึกษาออกไปเหลือเฉพาะชั้นมัธยมศึกษา มีชื่อว่า "โรงเรียนมัธยมวัดทรงธรรม"
- พ.ศ. 2478 โรงเรียนมัธยมวัดทรงธรรม ได้เปิดสอนแผนก พณิชยกรรม และยกเลิกเมื่อ พ.ศ. 2481
- พ.ศ. 2481 โรงเรียนมัธยมวัดทรงธรรม ได้แยกนักเรียนหญิงไปเรียนที่กองโรงเรียนทหารเรือที่ 3 ตั้งเป็น "โรงเรียนมัธยมวัดทรงธรรม แผนกสตรี" และปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนวิสุทธิกษัตรี เก็บถาวร 2018-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน"[3]
- พ.ศ. 2494 โรงเรียนมัธยมวัดทรงธรรม ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนวัดทรงธรรม" จนมาถึงปัจจุบัน
- พ.ศ. 2517 กรมสามัญศึกษา ได้ทดลองเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาที่วัดบางน้ำผึ้งใน โดยให้โรงเรียนวัดทรงธรรมเป็นแม่ข่ายให้ความช่วยเหลือโดยรับนักเรียนชาย-หญิง
- พ.ศ. 2520 โรงเรียนวัดทรงธรรม ได้รับอนุมัติให้เปิดทำการการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แบบสหศึกษา
- พ.ศ. 2521 ทางวัดบางน้ำผึ้งในไม่สามารถจัดหาที่ดินสำหรับสร้างโรงเรียนให้ครบตามหลักเกณฑ์ได้ จึงมีการยกเลิกการเรียนการสอนในวัดบางน้ำผึ้งใน และได้ย้ายนักเรียนทั้งหมดกลับมาเรียนที่โรงเรียนวัดทรงธรรม และเปิดรับนักเรียนหญิงอีกครั้งในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
- พ.ศ. 2553 โรงเรียนวัดทรงธรรม ได้รับให้เป็น "โรงเรียนมาตรฐานสากล"[4]
ความหมายของชื่อโรงเรียน
[แก้]คำว่า “ทรงธรรม” เป็นราชาศัพท์ แปลว่า ฟังเทศน์ หรือ ฟังธรรม แต่คำว่า “ธรรม” คนไทยโดยทั่ว ๆ ไป มักใช้ในความหมายว่า “ความดี” หรือ “คำสอนที่ดี” เช่น คำสอนของพระพุทธเจ้า โรงเรียนจึงได้ให้ความหมายของคำว่า “ทรงธรรม” ว่า “ทรงไว้ซึ่งความดี” เพื่อให้นักเรียนโรงเรียนวัดทรงธรรมทุกคนทรงไว้ซึ่งความดี 3 ประการ คือ
- มีความรู้ดี รู้จริง และใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ มีความเจริญทางสติปัญญา
- ทำงานดี ทำงานเป็น รักแรง แข็งชอบ ไม่รังเกียจงานสุจริต
- มีความประพฤติดีงาม ใฝ่ดี เกลียดชั่ว ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ซึ่งความดี 3 ประการข้างต้น จึงนำไปสู่ปรัชญาของโรงเรียนวัดทรงธรรมที่ว่า เรียนดี งานดี ประพฤติดี
ลำดับ | รายนาม | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | พระอุดมวิจารณ์ (กลั่น นพคุณ) | 10 กรกฎาคม 2438 – 30 พฤศจิกายน 2468 |
2 | นายคล้าย พงษ์เวช | 1 ธันวาคม 2468 – 30 พฤศจิกายน 2504 |
3 | นายบุญช่วย ลวลานนท์ | พ.ศ. 2504 – พ.ศ. 2507 |
4 | นายสุรพงษ์ พรหมบุตร | พ.ศ. 2507 – พ.ศ. 2512 |
5 | นายเชาว์ สันติจารี | พ.ศ. 2512 – พ.ศ. 2513 |
6 | นายนพชัย รู้ธรรม | พ.ศ. 2513 – พ.ศ. 2527 |
7 | นายวิรุฬห์ ทุนอินทร์ | พ.ศ. 2527 – พ.ศ. 2532 |
8 | นายประมวญ บุญญพาพงศ์ | พ.ศ. 2532 – พ.ศ. 2535 |
9 | นายสันติ คงทน | พ.ศ. 2535 – พ.ศ. 2536 |
10 | นายอุดม เทียนไพโรจน์ | พ.ศ. 2536 – พ.ศ. 2542 |
11 | นายสมบัติ คุ้มภู | พ.ศ. 2542 – พ.ศ. 2543 |
12 | นายวันชัย เทียมทัด | พ.ศ. 2543 – พ.ศ. 2544 |
13 | นางรัชนี ศุภเกษตร | พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2546 |
14 | นายเสกสัณห์ กิจวรรณ | พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2555 |
15 | นายยงศักดิ์ ศฤงคารนนท์ | 8 มกราคม 2555 – 1 พฤศจิกายน 2559 |
16 | นายสมเกียรติ ภู่เจริญ | 2 พฤศจิกายน 2559 – 6 พฤศจิกายน 2561 |
17 | นายสมชาย แสงถนอม | 7 พฤศจิกายน 2561 – 2564 |
18 | นายประภาส กรุดพันธ์ | 2564 - ปัจจุบัน |
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
[แก้]- พระราชธรรมนิเทศ (เพียร ไตติลานนท์) อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย 1 สมัย และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี 2 สมัย
- พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) บิดาแห่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนทางการเกษตรแห่งแรกของไทย และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ พ.ศ. 2492 - พ.ศ. 2494
- สุรัฐ พุกกะเวส นักประพันธ์คำร้องเพลงไทยที่มีชื่อเสียง
- ธนิต ผลประเสริฐ อดีตนักแต่งเพลงและนักดนตรีของวงสุนทราภรณ์ [6]
- สายหยุด จำปาทอง อดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครู
- ชาญชัย ลิขิตจิตถะ อดีตองคมนตรี อดีตประธานศาลฎีกา อดีตผู้พิพากษา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- ประทีป ชุ่มวัฒนะ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรีคนแรก อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติปี พ.ศ. 2520 อดีตสมาชิกวุฒิสภา
- พลเอก ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ อดีตรองเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก และอดีตที่ปรึกษาและรองประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม
- พลเรือโทสมศักดิ์ พยัคคง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ
- สัญไชญ์ เอื้อศิลป์ คณบดีคณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา
- กษิด์เดช เนื่องจำนงค์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาระบบและเทคโนโลยีการศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมอำเภอพระประแดง อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
- วงกะลา วงดนตรีสังกัดแกรมมี่ จากการเข้าประกวดวงดนตรีมัธยม ฮอตเวฟมิวสิกอวอร์ดส์ ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2541
- วโรดม เข็มมณฑา นักร้อง,นักแสดง,ดีเจ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-10. สืบค้นเมื่อ 2013-10-10.
- ↑ แจ้งความกระทรวงศึกษาธิการ แผนกกรมสามัญศึกษา เรื่อง สร้างโรงเรียนวัดทรงธรรม "นาคณรงค์สงเคราะห์" ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 38 ตอนที่ 0ง หน้าที่ 1659 ประกาศเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2464
- ↑ ประวัติโรงเรียนวิสุทธิกษัตรี เก็บถาวร 2018-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559
- ↑ รายชื่อโรงเรียนในโครงการยกระดับคุณภาพโรงเรียนสู่มาตรฐานสากล[ลิงก์เสีย] ระดับมัธยมศึกษา หน้าที่ 4 ลำดับที่ 126 สืบค้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559
- ↑ ทำเนียบผู้บริหาร สืบค้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559
- ↑ ประวัติของ ธนิต ผลประเสริฐ จากเว็บไซต์ของบ้านคนรักสุนทราภรณ์ สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2560