ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิกัด: 13°45′21″N 100°29′27″E / 13.755853°N 100.490878°E / 13.755853; 100.490878
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อังกฤษ: Thammasat University
ชื่อเดิมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ชื่อย่อ
  • มธ.
  • TU
คติพจน์"เป็นเลิศ เป็นธรรม ร่วมนำสังคม"
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
สถาปนา27 มิถุนายน พ.ศ. 2477; 90 ปีก่อน (2477-06-27)
ผู้สถาปนาปรีดี พนมยงค์
งบประมาณ4,593,650,800 บาท
(พ.ศ. 2568)[1]
นายกสภาฯศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์
อธิการบดีศาสตราจารย์ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์
อาจารย์2,082 คน (พ.ศ. 2567)[2]
บุคลากรทั้งหมด7,563 คน (พ.ศ. 2567)[2]
ผู้ศึกษา42,928 คน (ภาคการศึกษาที่ 1/2567)
ปริญญาตรี37,251 คน[3]
บัณฑิตศึกษา5,677 คน[4]
วิทยาเขต
สี
เครือข่าย
มาสคอต
ตึกโดม
เว็บไซต์เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.; อังกฤษ: Thammasat University; TU) เป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่สองของประเทศไทย ก่อตั้งในชื่อ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.; อังกฤษ: The University of Moral and Political Sciences; UMPS) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นตลาดวิชา เพื่อการศึกษาด้านกฎหมายและการเมือง สำหรับประชาชนทั่วไป โดยมีรากฐานเดิมมาจาก "โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม" ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2440 ต่อมาใน พ.ศ. 2495 รัฐบาลจึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบัน นับเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอายุเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย และมีประวัติศาสตร์ผูกพันกับพัฒนาการทางการเมือง และความเป็นไปของชาติ ตลอดจนเรื่องของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย[5] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์ 14 ตุลา และ เหตุการณ์ 6 ตุลา[6]

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสมาชิกของเครือข่าย LAOTSE[7] ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในเอเชียและยุโรป ตามกรอบความร่วมมืออาเซม รวมทั้งเป็นสมาชิกของเครือข่ายสถาบันการศึกษาและวิจัยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMSARN)[8] อีกด้วย

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดการศึกษาครอบคลุมทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบไปด้วย 19 คณะ 4 วิทยาลัย 1 สถาบัน 1 สำนักวิชา จำนวนหลักสูตรทุกระดับจำนวนทั้งสิ้น 297 หลักสูตร เป็นระดับปริญญาตรี 139 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 6 หลักสูตร ปริญญาตรีควบปริญญาโท 4 หลักสูตร ปริญญาโท 118 หลักสูตร และปริญญาเอก 34 หลักสูตร จัดการศึกษาทั้งภาคกลางวันและภาคค่ำ (ข้อมูล พ.ศ. 2557–2558[9]) นอกจากนี้ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติจากกระทรวงศึกษาธิการใน พ.ศ. 2552 อีกด้วย

ประวัติ

[แก้]
อนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ดร.ปรีดี พนมยงค์ผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่หน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

[แก้]

คณะราษฎรก่อการปฏิวัติสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475[5][10] ในคำประกาศของคณะราษฎร ระบุว่า การที่ราษฎรยังถูกดูหมิ่นว่ายังโง่อยู่ ไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยนั้น "เป็นเพราะขาดการศึกษา ที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่" เป็นผลให้ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ประการที่ 6 ระบุว่า "จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร"[11] สถาบันศึกษาแบบใหม่ ที่เปิดกว้างให้ประชาชนชาวสยาม ได้รับการศึกษาชั้นสูง โดยเฉพาะที่จะรองรับการปกครองบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีควบคู่ไปกับการปฏิวัติ

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 ขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ปีเดียวกัน[12] โดยมีใจความสำคัญว่า

มาตรา 4 ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมหาวิทยาลัยหนึ่ง เรียกว่า 'มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง' มีหน้าที่จัดการศึกษาวิชากฎหมาย วิชาการเมือง วิชาเศรษฐการ และบรรดาวิชาอื่น ๆ อันเกี่ยวกับธรรมศาสตร์และการเมือง มาตรา 5 ให้โอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนทรัพย์สินและงบประมาณของคณะเหล่านั้น มาขึ้นต่อมหาวิทยาลัยนี้ ก่อนวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2477

จากนั้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ณ ที่ตั้งเดิมของ "โรงเรียนกฎหมาย" ริมถนนราชดำเนิน เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา[5][13][14]

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์)มีบทบาทเป็นผู้ร่างโครงการ หาที่ตั้ง และวางหลักสูตรของมหาวิทยาลัย[15]: 126  และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2477–2490) โดยตั้งใจให้เป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชา อุปมามหาวิทยาลัยเป็นเสมือนบ่อน้ำที่บำบัดความกระหายให้แก่ราษฎร ให้ราษฎรมีความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษา[16] เงินทุนของมหาวิทยาลัยอาศัยเงินค่าสมัครเข้าเรียนของนักศึกษาและดอกผลของธนาคารแห่งเอเชียเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมซึ่งปรีดีเป็นผู้ก่อตั้ง โดยให้มหาวิทยาลัยถือหุ้นถึง 80%[17] นอกจากนี้ปรีดียังได้ยกกิจการโรงพิมพ์นิติสาส์นของตนให้มหาวิทยาลัยเพื่อพิมพ์ตำรา[18]

ในช่วงเวลา 2 ปีแรก (พ.ศ. 2477–2479) การเรียนการสอนของ ม.ธ.ก. ยังคงดำเนินอยู่ที่ตึกโรงเรียนกฎหมายเดิม ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าภิภพลีลา[5] ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2478 ม.ธ.ก.ขอซื้อที่ดินบริเวณท่าพระจันทร์ ซึ่งเดิมเป็นที่ของทหาร และปรับปรุงอาคารเดิม พร้อมทั้งสร้างตึกโดม และเมื่อ พ.ศ. 2481 ม.ธ.ก. ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมปริญญา มีหลักสูตร 2 ปี เพื่อรับผู้ประสงค์จะเข้าเรียนต่อที่ ม.ธ.ก.โดยตรง โรงเรียนเตรียมปริญญา มีหลักสูตรการสอน หนักไปทางภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และวิชาทางสังคม เช่น ปรัชญา วิชาเทคโนโลยี ดนตรี พิมพ์ดีด และชวเลข เป็นต้น แต่ยกเลิกไปใน พ.ศ. 2490

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[แก้]

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบโดยตรง[19] ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ รัฐบาลนำคำว่า "การเมือง" ออกจากชื่อมหาวิทยาลัย เหลือเพียง "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"[20] พร้อมทั้งยกเลิกตำแหน่งผู้ประศาสน์การ โดยใช้ชื่อตำแหน่งว่าอธิการบดีแทน[5] หลักสูตรการศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิต เปลี่ยนแปลงเป็นคณะนิติศาสตร์, พาณิชยศาสตร์และการบัญชี, รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ความเป็นตลาดวิชาหมดไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495[20] รัฐบาลได้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย เพื่อไม่ให้นักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งยังขายหุ้นทั้งหมดของมหาวิทยาลัย จนไม่มีความสามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้ กลายเป็นมหาวิทยาลัยปิดที่ต้องอาศัยงบประมาณจากรัฐบาล[21][22]

พ.ศ. 2518 ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีในขณะนั้น เห็นควรขยายการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ในระดับปริญญาบัณฑิตเพิ่มขึ้น พื้นที่เดิมบริเวณท่าพระจันทร์ ไม่เพียงพอต่อการขยายตัวทางวิชาการ และการพัฒนา มหาวิทยาลัยจึงเจรจาขอแลกเปลี่ยนที่ดิน กับบริเวณนิคมอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัย เรียกว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นอกจากนี้ ยังขยายไปที่ศูนย์ลำปาง และศูนย์พัทยาด้วย

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงดำเนินการเรียนการสอน และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยหลักสูตรปริญญาตรีภาคปกติทั้งหมด และหลักสูตรบัณฑิตศึกษากลุ่มวิทยาศาสตร์ จัดการเรียนการสอนที่ศูนย์รังสิต และหลักสูตรบัณฑิตศึกษากลุ่มสังคมศาสตร์ โครงการนานาชาติ และโครงการพิเศษ จัดการเรียนการสอนที่ท่าพระจันทร์[23]

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 มีประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2558 [24] ส่งผลทำให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

[แก้]
ธรรมจักร สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดอกของต้นหางนกยูงฝรั่ง
  • ธรรมจักร เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย[25] โดยตราธรรมจักรนี้มี 12 แฉก อันหมายถึง อริยสัจ 4 ซึ่งวนอยู่ในญาณ 3 คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ และมีพานรัฐธรรมนูญอยู่ตรงกลาง อันหมายถึงการยึดมั่นและรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย[26]
  • เพลงมาร์ช มธก. เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยที่มีความสำคัญ ซึ่งนำทำนองเพลงมาจากเพลง La Marseillaise ซึ่งเป็นเพลงชาติสาธารณรัฐฝรั่งเศส คำร้องโดย ทวีป วรดิลก ในช่วง พ.ศ. 2490 ให้ความหมายและความรู้สึกที่ฮึกเหิม สะท้อนถึงจิตวิญญาณการต่อสู้ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ดังคำกล่าวที่ว่า "ประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์คือประวัติศาสตร์การเมืองไทย" ในปัจจุบันเพลงมาร์ช มธก. ได้ถูกลดทอนบทบาทลงจนมีโอกาสน้อยครั้งที่จะได้รับฟังในกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย
  • เพลงประจำมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ทำนองมอญดูดาว) เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเพลงแรก ประพันธ์โดยขุนวิจิตรมาตรา เมื่อ พ.ศ. 2478[27] เมื่อไม่นานมานี้มีกระแสการพลิกฟื้นบทเพลงนี้กลับมาใช้โอกาสต่าง ๆ โดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • สีเหลืองแดง    เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย ดังปรากฏในเนื้อเพลง "เพลงประจำมหาวิทยาลัย" (มอญดูดาว) ที่ว่า "เหลืองของเราคือธรรมประจำจิต แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้" มีความหมายถึง ความสำนึกในความเป็นธรรมและความเสียสละเพื่อสังคม นับเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ปีแรกของการก่อตั้ง คือ พ.ศ. 2477[27]
  • เพลงพระราชนิพนธ์ธรรมศาสตร์ (ยูงทอง) เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน[28] โดยในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2504 ได้มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขณะเสด็จมาทรงดนตรี ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร ภายในพระราชวังดุสิต พระองค์รับสั่งว่าจะทรงพระราชนิพนธ์เพลงประจำมหาวิทยาลัยพระราชทานให้แก่นักศึกษาธรรมศาสตร์

จนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินพร้อมสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ มาทรงดนตรี ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทรงบรรเลงทำนองเพลงที่จะพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยด้วย[29] โดยเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ลำดับที่ 36 มีนายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตพันธุ์) เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้อง และยกร่างโดยหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช

  • หางนกยูงฝรั่ง เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงปลูกไว้บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่จำนวน 5 ต้น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 เวลา 14:30 นาฬิกา พร้อมกับพระราชทานให้เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[30] ดอกมีสีเหลือง–แดง สัมพันธ์กับสีประจำมหาวิทยาลัย

อนึ่ง ประชาคมธรรมศาสตร์มักเรียกเพลงพระราชนิพนธ์ธรรมศาสตร์ และต้นหางนกยูงฝรั่งว่า ยูงทอง[31][32] ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชกรณียกิจโดยตรง รวมทั้งพิธีพระราชทานปริญญาบัตรด้วย[33]

  • "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน" เป็นวลีอมตะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วาทะสำคัญนี้มีต้นเค้ามาจาก มองนักศึกษา มธก. ผ่านแว่นขาว บทความของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย[34] ซึ่งสะท้อนชัดหลักการของประชาคมธรรมศาสตร์ นับแต่มหาวิทยาลัยนี้กำเนิดขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2477 ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเสมอภาคทางการศึกษา[27] โดยปัจจุบันเปรียบเสมือนคำขวัญอย่างไม่เป็นทางการของมหาวิทยาลัย และประชาคมธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าวาทะดังกล่าวนี้อธิบายความหมายของจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ได้อย่างดีที่สุด[34]

สัญลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็คือ ตึกโดม คำว่า "ลูกแม่โดม" หมายถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[35]

การบริหารงาน

[แก้]

นายกสภามหาวิทยาลัย

[แก้]

นับแต่สถาปนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนายกสภามหาวิทยาลัยดังนี้

นายกสภามหาวิทยาลัย
ที่ ชื่อ การอยู่ในตำแหน่ง
เริ่ม สิ้นสุด
1 พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) พ.ศ. 2477 พ.ศ. 2480
2 หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) พ.ศ. 2480 พ.ศ. 2485
3 ประยูร ภมรมนตรี พ.ศ. 2485 พ.ศ. 2487
4 ทวี บุณยเกตุ พ.ศ. 2487 พ.ศ. 2488
5 พระตีรณสารวิศวกรรม (ตรี ตีรณสาร) พ.ศ. 2488 พ.ศ. 2489
6 เดือน บุนนาค พ.ศ. 2489 พ.ศ. 2490
7 พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช) พ.ศ. 2490 พ.ศ. 2491
8 หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 7 เมษายน พ.ศ. 2491
9 พลเอก มังกร พรหมโยธี พ.ศ. 2491 พ.ศ. 2492
พ.ศ. 2494 พ.ศ. 2500
10 สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ พ.ศ. 2492 พ.ศ. 2494
11 พลอากาศโท มุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฏ์ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2500 16 กันยายน พ.ศ. 2500
12 หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2512
13 ศาสตราจารย์ สุกิจ นิมมานเหมินท์ พ.ศ. 2512 พ.ศ. 2514
14 พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2516
15 ศาสตราจารย์ ประกอบ หุตะสิงห์ พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2525
16 ศาสตราจารย์ ประภาศน์ อวยชัย พ.ศ. 2525 พ.ศ. 2536
17 ศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี พ.ศ. 2536 พ.ศ. 2543
18 อนันต์ อนันตกูล 12 เมษายน พ.ศ. 2543 กันยายน พ.ศ. 2543
19 ศาสตราจารย์ พนัส สิมะเสถียร พ.ศ. 2543 พ.ศ. 2545
พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2548
20 สุเมธ ตันติเวชกุล พ.ศ. 2548 พ.ศ. 2554
21 ศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร พ.ศ. 2554 พ.ศ. 2565
22 ศาสตราจารย์ สุรพล นิติไกรพจน์ พ.ศ. 2565


ผู้ประศาสน์การและอธิการบดี

[แก้]

นับแต่สถาปนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีผู้ประศาสน์การและอธิการบดีดังนี้[36]

ที่ ชื่อ การอยู่ในตำแหน่ง
เริ่ม สิ้นสุด
ผู้ประศาสน์การ
1 ศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ 11 เมษายน พ.ศ. 2477 18 มีนาคม พ.ศ. 2489
2 ศาสตราจารย์ เดือน บุนนาค 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 12 สิงหาคม พ.ศ. 2493
3 พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ กันยายน พ.ศ. 2493 5 เมษายน พ.ศ. 2494
4 พลโท สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ 8 เมษายน พ.ศ. 2494 18 มีนาคม พ.ศ. 2495
อธิการบดี
5 จอมพล แปลก พิบูลสงคราม 19 มีนาคม พ.ศ. 2495 26 กันยายน พ.ศ. 2500
6 ศาสตราจารย์ ทวี แรงขำ 27 กันยายน พ.ศ. 2500 21 ตุลาคม พ.ศ. 2500
7 ศาสตราจารย์ หลวงจำรูญเนติศาสตร์ (จำรูญ โปษยานนท์) 22 ตุลาคม พ.ศ. 2500 23 ธันวาคม พ.ศ. 2500
24 ธันวาคม พ.ศ. 2500 22 ธันวาคม พ.ศ. 2502
23 ธันวาคม พ.ศ. 2502 7 มกราคม พ.ศ. 2503
8 พลเอก ถนอม กิตติขจร 8 มกราคม พ.ศ. 2503 18 ธันวาคม พ.ศ. 2506
9 ศาสตราจารย์ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2506 31 มีนาคม พ.ศ. 2514
10 ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2513 31 มีนาคม พ.ศ. 2514
1 เมษายน พ.ศ. 2514 16 ตุลาคม พ.ศ. 2516
11 ศาสตราจารย์ อดุล วิเชียรเจริญ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2516 28 กันยายน พ.ศ. 2517
12 ศาสตราจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 30 มกราคม พ.ศ. 2518 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
13 ศาสตราจารย์ คุณหญิง นงเยาว์ ชัยเสรี 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 20 ตุลาคม พ.ศ. 2519
10 มกราคม พ.ศ. 2525 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525
25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531
14 ศาสตราจารย์พิเศษ ปรีดี เกษมทรัพย์ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520
15 ศาสตราจารย์ วิจิตร ศรีสอ้าน 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 12 ธันวาคม พ.ศ. 2520
16 ศาสตราจารย์ ประภาศน์ อวยชัย 13 ธันวาคม พ.ศ. 2520 16 มกราคม พ.ศ. 2521
17 มกราคม พ.ศ. 2521 9 มกราคม พ.ศ. 2525
17 ศาสตราจารย์ เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม 1 มิถุนายน พ.ศ. 2531 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2534
18 ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร 1 มิถุนายน พ.ศ. 2534 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2537
19 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 19 สิงหาคม พ.ศ. 2541
19 ศาสตราจารย์พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 9 มีนาคม พ.ศ. 2538
20 ศาสตราจารย์ พนัส สิมะเสถียร 10 มีนาคม พ.ศ. 2538 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538
21 รองศาสตราจารย์ นริศ ชัยสูตร 20 สิงหาคม พ.ศ. 2541 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547
22 ศาสตราจารย์ สุรพล นิติไกรพจน์ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2547 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553
23 ศาสตราจารย์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557[37] 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560[38] 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560
24 รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ
1 มกราคม พ.ศ. 2561 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561[39] 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564[40] 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564[41] 29 เมษายน พ.ศ. 2567
25 ศาสตราจารย์ ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ 30 เมษายน พ.ศ. 2567[42][43]
หมายเหตุ:     = รักษาการแทนผู้ประศาสน์การหรืออธิการบดี

การศึกษา

[แก้]

แต่เดิมเมื่อเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น ในระดับปริญญาตรีมีเปิดสอนเพียงหลักสูตรเดียวคือ "ธรรมศาสตร์บัณฑิต" (ธ.บ.) ซึ่งเน้นวิชากฎหมาย รวมถึงกฎหมายที่เป็นเรื่องใหม่ในขณะนั้นคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ[5] และมีวิชารัฐศาสตร์และวิชาเศรษฐศาสตร์แทรกอยู่ด้วย[19][44] ส่วนในระดับปริญญาโทนั้นมีแยกสามแขนงคือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และต่อมาได้มีหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชีซึ่งเทียบเท่าปริญญาโท และในระดับระดับปริญญาเอกมีสี่แขนงคือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการทูต แต่ใน พ.ศ. 2492 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิตก็ได้ถูกยกเลิกไป และเปลี่ยนเป็นหลักสูตรปริญญาตรีเฉพาะทางในสาขาต่าง ๆ แทน ตาม "ข้อบังคับเพิ่มเติมว่าด้วยการแบ่งแยกการศึกษาเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ และกำหนดสมัยการศึกษาและการสอบไล่ พ.ศ. 2492"[19]

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดการศึกษาครอบคลุมทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบไปด้วย 19 คณะ 4 วิทยาลัย 1 สถาบัน 1 สำนักวิชา จำนวนหลักสูตรทุกระดับจำนวนทั้งสิ้น 256 หลักสูตร เป็นระดับปริญญาตรี 111 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 8 หลักสูตร ปริญญาตรีควบปริญญาโท 4 หลักสูตร ปริญญาโท 99 หลักสูตร และปริญญาเอก 34 หลักสูตร จัดการศึกษาทั้งภาคกลางวันและภาคค่ำ (ข้อมูล พ.ศ. 2550[9])

นอกจากนี้ยังมีหลายหน่วยงานที่จัดหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษา อาทิ สถาบันภาษา, กองกิจการนักศึกษา เป็นต้น

หลักสูตรนานาชาติ

[แก้]

นอกจาก วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นวิทยาลัยนานาชาติของมหาวิทยาลัยแล้ว[45][46] คณะต่าง ๆ ได้จัดหลักสูตรการเรียนการสอนนานาชาติสำหรับนักศึกษาทั้งชาวไทยและต่างประเทศหลายหลักสูตรด้วยกัน โดยคณะที่เปิดหลักสูตรในลักษณะดังกล่าว ได้แก่ คณะนิติศาสตร์, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, คณะรัฐศาสตร์, คณะเศรษฐศาสตร์, คณะศิลปศาสตร์, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะสถาปัตยกรรมและการผังเมือง, สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร, คณะสาธารณสุขศาสตร์, วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ และวิทยาลัยสหวิทยาการ

ส่วนที่จัดการสอนและงานวิจัย

[แก้]

งานวิจัย

[แก้]

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีหน่วยงานวิจัยในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่สนับสนุนหน่วยงานวิจัย ได้แก่

  • สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกโดยย่อว่า "สว.มธ." โดยมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "Thammasat University Research and Consultancy Institute" หรือ "TU–RAC" ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการด้านการบริหารงานวิจัยและทำวิจัยในนามมหาวิทยาลัย โดยมีการบริหารงานที่คล่องตัวนอกระบบราชการ ทั้งนี้ สถาบันถือเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเพียงหน่วยงานเดียวที่สามารถให้บริการการวิจัย ให้คำปรึกษา และฝึกอบรมสัมมนา เป็นต้น[47]
  • สำนักงานบริหารการวิจัย ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานอธิการบดี โดยจัดตั้งขึ้นตามมติสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เป็นหน่วยงานรองรับการดำเนินงานทางด้านบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การบังคับบัญชาของรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยที่ได้รับมอบหมายจากอธิการบดีให้เป็นผู้บริหารงานทางด้านการวิจัยผ่านคณะกรรมการบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ดำเนินการตามเป้าประสงค์ของมหาวิทยาลัยในการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย (Research University) โดยมีงานในสังกัดที่มีขอบเขตภาระงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 งานดังนี้คือ งานวางแผนและบริหารงานวิจัย และงานส่งเสริมและเผยแพร่งานวิจัย[48] โดยมีศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการให้บริการงานวิจัยทางวิชาการดังต่อไปนี้[49]

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2553 โดยโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติและส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล มีระยะเวลา 3 ปีงบประมาณ (พ.ศ. 2553–2555) อยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง พ.ศ. 2555 (โครงการ SP2) ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพด้านการทำวิจัยของมหาวิทยาลัยไทย ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และรองรับแผนพัฒนาประเทศเป็นศูนย์กลางการศึกษา (Education Hub) ของภูมิภาค ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาตินั้นมีปัจจัยสำคัญมาจากการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ มีต้นทุนทางบุคลากรสูง เพราะฉะนั้นจึงมุ่งใช้ศักยภาพของบุคลากรในเรื่องที่เป็นประโยชน์ เช่น ในเรื่องของการวิจัย โดยส่งเสริมให้สร้างผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ตอบสนองต่อสังคม และมีผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการทำวิจัยให้เป็นพื้นฐานให้แก่การเรียนการสอนระดับปริญญาตรี รวมถึงการผลิตทรัพยากรบุคคลในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการใช้นวัตกรรมที่เกิดจากความมีอิสระทางความคิด ตลอดจนมีอิสระในการบริหารจัดการภายใน และมีศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาที่จะสามารถวางทิศทางได้ จึงมีเอกลักษณ์ความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติได้อย่างชัดเจน[50]

อันดับและมาตรฐานของมหาวิทยาลัย

[แก้]
อันดับมหาวิทยาลัย
อันดับในประเทศ (อันดับนานาชาติ)
สถาบันที่จัด อันดับ
Nature Index (2016) 26 (–)
QS (Asia) (2016) 3 (101)
QS (World) (2018) 4 (601–650)
SIR (2016) 20 (634)
URAP (2015) 9 (1370)

การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย

[แก้]

ใน พ.ศ. 2549 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยใน "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย"[51]โดยในภาพรวมผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยกลุ่มดัชนีชี้วัดด้านการวิจัยและกลุ่มดัชนีชี้วัดตามด้านการเรียนการสอน ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 6 ในด้านการเรียนการสอนของประเทศไทย และเป็นอันดับ 8 ในด้านการวิจัยของประเทศไทย[52]

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษา ผลปรากฏว่าในการการประเมินครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2553) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการประเมินในระดับดีมากในภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล, ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีโยธา, ภาควิชาวิศวกรรมระบบการผลิต, และภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร และในการประเมินครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2554) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการประเมินในระดับดีมากในสาขาวิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีโยธา, สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลและระบบการผลิต, สาขาวิชาเทคโนโลยีการสื่อสาร, สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ และโครงการบัณฑิตศึกษา สาขาชีวเวชศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[53][54]

อันดับมหาวิทยาลัย

[แก้]

นอกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานในประเทศไทยแล้ว ยังมีหน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีเกณฑ์การจัดอันดับและการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ได้แก่

การจัดอันดับโดย Nature Index

[แก้]

Nature Index ซึ่งจัดโดยวารสารในเครือ Nature Publishing Group ซึ่งเป็นวารสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงชั้นนำของโลก โดยการนับจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ต่อปีในวารสารที่ในเครือ Nature Publishing Group สำหรับปี ค.ศ. 2016 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 26 ของประเทศไทย [55][56]

การจัดอันดับโดย Quacquarelli Symonds

[แก้]

แควกเควเรลลี ไซมอนด์ส หรือ QS จัดอันดับมหาวิทยาลัยในสองส่วน คือ การจัดอันดับเป็นระดับโลก (QS World University Rankings) และระดับทวีปเอเชีย (QS University Rankings: Asia) มีระเบียบวิธีจัดอันดับ ดังนี้

QS Asia

  1. ชื่อเสียงทางวิชาการ (30 เปอร์เซนต์) เป้าหมายของตัวชี้วัดนี้เพื่อจะบอกว่ามหาวิทยาลัยใดมีชื่อเสียงในในระดับนานาชาติ
  2. การสำรวจผู้จ้างงาน (20 เปอร์เซนต์)
  3. อัตราส่วนของคณะต่อนักศึกษา (15 เปอร์เซนต์) วัดจากอัตราส่วนของบุคลากรทางการศึกษาต่อจำนวนนักศึกษา และการติดต่อและให้การสนับสนุนของบุคลากรที่มีต่อนักศึกษา
  4. การอ้างอิงในรายงาน (10 เปอร์เซนต์) และผลงานของคณะ (10 เปอร์เซนต์) เป็นการรวมทั้งงานที่อ้างอิงใน scopusและ การตีพิมพ์ผลงานโดยคณะนั้น ๆ เอง
  5. บุคลากรระดับดุษฎีบัณฑิต (5 เปอร์เซนต์)
  6. สัดส่วนคณะที่เป็นหลักสูตรนานาชาติ (2.5 เปอร์เซนต์) และนักศึกษาต่างชาติ (2.5 เปอร์เซนต์)
  7. สัดส่วนของรับนักศึกษาและเปลี่ยนที่เข้ามาศึกษา (2.5 เปอร์เซนต์) และการส่งนักศึกษาออกไปแลกเปลี่ยน (2.5 เปอร์เซนต์)[57]

โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 101 ของเอเชีย[58]

QS World

  1. ชื่อเสียงทางวิชาการ จากการสำรวจมหาวิทยาลัยทั่วโลก ผลของการสำรวจคัดกรองจาก สาขาที่ได้รับการตอบรับว่ามีความเป็นเลิศโดยมหาวิทยาลัยสามารถส่งสาขาให้ได้รับการคัดเลือกตั้งแต่ 2 สาขาขึ้นไป โดยจะมีผู้เลือกตอบรับเพียงหนึ่งสาขาจากที่มหาวิทยาลัยเลือกมา
  2. การสำรวจผู้ว่าจ้าง เป็นการสำรวจในลักษณะคล้ายกับในด้านชื่อเสียงทางวิชาการแต่จะไม่แบ่งเป็นคณะหรือสาขาวิชา โดยนายจ้างจะได้รับการถามให้ระบุ 10 สถาบันภายในประเทศ และ 30 สถาบันต่างประเทศที่จะเลือกรับลูกจ้างที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันนั้น ๆ รวมถึงคุณสมบัติสำคัญที่ต้องการ 2 ข้อ
  3. งานวิจัยที่อ้างต่อ 1 ชิ้นรายงาน โดยข้อมูลที่อ้างอิงจะนำมาจาก Scopus ในระยะ 5 ปี
  4. H-index ซึ่งคือการชี้วัดจากทั้งผลผลิต และ อิทธิพลจากการตีพิมพ์ผลงานทั้งจากนักวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ

โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 4 ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 601–650 ของโลก[59]

น้ำหนักการชี้วัด การแบ่งคะแนนจะต่างกันในแต่ละสาขาวิชา เช่น ทางด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นสาขาที่มีอัตราการเผยแพร่งานวิจัยสูง การวัดการอ้างอิงและ h–index ก็จะคิดเป็น 25 เปอร์เซนต์ สำหรับแต่ละมหาวิทยาลัย ในทางกลับกันสาขาที่มีการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการที่น้อยกว่า เช่น สาขาประวัติศาสตร์ จะคิดเป็นร้อยละที่ต่ำกว่าคือ 15 เปอร์เซนต์ จากคะแนนทั้งหมด ในขณะเดียวกันสาขาศิลปะและการออกแบบ ซึ่งมีผลงานตีพิมพ์น้อยก็จะใช้วิธีการวัดจากผู้ว่าจ้างและการสำรวจด้านวิชาการ[60]

การจัดอันดับโดย SCImago Institutions Ranking

[แก้]

อันดับมหาวิทยาลัยโดย SCImago Institutions Ranking หรือ SIR ซึ่งเป็นการจัดอันดับสถาบันที่มีผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ ซึ่งจะไม่ใด้นับเฉพาะมหาวิทยาลัย แต่จะนับสถาบันเฉพาะทางด้วย เช่น สถาบันเทคโนโลยี วิทยาลัย โรงพยาบาล ในปี พ.ศ. 2559 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 634 ของโลก และเป็นอันดับ 20 ของประเทศไทย [61]

การจัดอันดับโดย University Ranking by Academic Performance

[แก้]

อันดับที่จัดโดย University Ranking by Academic Performance หรือ URAP ปี พ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 9 ของประเทศไทย และอันดับ 1370 ของโลก[62] โดยมีพื้นฐานทางด้านวิชาการตรงตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คุณภาพและปริมาณของบทความตีพิมพ์ทางวิชาการ บทความวิจัย การเผยแพร่ และการอ้างอิง

อันดับของมหาวิทยาลัยในด้านอื่น ๆ

[แก้]
อันดับมหาวิทยาลัย
อันดับในประเทศ (อันดับนานาชาติ)
สถาบันที่จัด อันดับ
QS GER (2018) 2 (301–500)
UI Green (Overall) (2015) 6 (73)
Webometrics (2016) 8 (899)
4 International Colleges & Universities (2017) 10 (1166)

การจัดอันดับโดย QS Graduate Employability Rankings 2018

[แก้]

เป็นการจัดอันดับคุณภาพการจ้างงานของบัณฑิต โดยพิจารณาจาก ชื่อเสียงและความเชื่อมั่นของผู้จ้างงาน ผลผลิตของบัณฑิต อัตราการจ้างงานบัณฑิต เป็นต้น มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 2 ในประเทศไทยและอยู่ในช่วงอันดับ 301–500 ของโลก[63]

การจัดอันดับโดย UI Green Metric World University Ranking

[แก้]

เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวที่จัดโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 8 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 73 ของโลก[64]

การจัดอันดับโดย Webometrics

[แก้]

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยของเว็บโอเมตริกซ์ ประจำปี พ.ศ. 2559 จัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก อันดับ Webometrics จะบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ในเว็บไซต์ของสถาบัน โดยพิจารณาจากจำนวน Link ที่เชื่อมโยงเข้าสู่เว็บนั้น ๆ จากเว็บภายนอกโดยวัดจากการสืบค้นด้วยSearch Engine และนับจำนวนเอกสารตีพิมพ์ออนไลน์ในกลุ่มของไฟล์ .pdf .ps .ppt และ .doc และจำนวนเอกสารที่มีการอ้างอิง (Citation) แบบออนไลน์ผ่านกูเกิลสกอลาร์ (Google Scholar) โดยจะจัดอันดับปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ เดือนมกราคม และ เดือนกรกฎาคม โดยล่าสุดการจัดอันดับรอบที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2559 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 8 ของประเทศไทย และอยู่ในอันดับที่ 899 ของโลก[65]

การจัดอันดับโดย 4 International Colleges & Universities

[แก้]

การจัดอันดับของ 4 International Colleges & Universities หรือ 4ICU เป็นการจัดอันดับความนิยมของเว็บไซต์มหาวิทยาลัย ในปี ค.ศ. 2016 ได้รับการจัดอันดับความนิยมเว็บไซต์เป็นอันดับที่ 11 ของประเทศไทย และอยู่ในอันดับที่ 1166 ของโลก[66]

พื้นที่มหาวิทยาลัย

[แก้]

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีศูนย์กลางบริหารอยู่ที่ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร และมีศูนย์ในภูมิภาคอีก 3 ศูนย์

ท่าพระจันทร์

[แก้]
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุมมองจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2551

ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าพระจันทร์ ในเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร ในเริ่มแรกแห่งการสถาปนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดการเรียนการสอนที่ตึกโรงเรียนกฎหมายเดิม (เพราะบุคลากรตลอดจนทรัพย์สินของโรงเรียนกฎหมายไม่ได้เปลี่ยนแปลง หลังจากรอการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัย จึงโอนมาเป็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งหมด) เป็นเวลา 2 ปี แล้วจึงซื้อที่ดินจากกรมทหารซึ่งเป็นคลังแสงเดิม แล้วจึงย้ายมาอยู่บริเวณท่าพระจันทร์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและสนามหลวง มีเนื้อที่ 49 ไร่ เป็นศูนย์แรกของมหาวิทยาลัยตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เดิมบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของวังหน้า (พระราชวังบวรสถานมงคล)

ท่าพระจันทร์แห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2519 เป็นสถานที่ที่นักศึกษาและประชาชนได้มาชุมนุมประท้วงกัน กรณีจอมพล ประภาส จารุเสถียร และจอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางกลับมาประเทศไทย (หลังลี้ภัยออกนอกประเทศไปเมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516) และนำไปสู่เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 300 คน[67]

สถาปัตยกรรมและสถานที่สำคัญ

[แก้]
ตึกโดมท่าพระจันทร์
  • ลานโพ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นสถานที่ซึ่งขบวนการนิสิตนักศึกษาประชาชนร่วมกันต่อสู้เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย[69]

เช้าตรู่วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ลานโพเป็นสถานที่เริ่มต้นของการชุมนุมเคลื่อนไหวของนักศึกษา เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวกลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ 13 คน ซึ่งถูกรัฐบาลจับกุม ต่อมามีผู้เข้าร่วมสนับสนุนการชุมนุมเพิ่มมากขึ้น จนต้องย้ายไปชุมนุมที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ จำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนหลายแสนคน ก่อนเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลาเที่ยงตรงของวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516[70] และกลายเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม

ลานโพ ยังมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เมื่อ พ.ศ. 2519[71] คือ เป็นสถานที่แสดงละครล้อการเมืองของนักศึกษาในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่หนังสือพิมพ์ดาวสยามประโคมข่าวว่านักศึกษาแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จนกระทั่งมีการชุมนุมของลูกเสือชาวบ้านและกลุ่มพลังต่าง ๆ จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ล้อมปราบสังหารนักศึกษา และประชาชน[71]

  • ลานปรีดี

ลานปรีดี และอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ เป็นอนุสรณ์แห่งแรกที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงปรีดี พนมยงค์[72] รัฐบุรุษอาวุโส ผู้นำขนวนการเสรีไทย และผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

  • กำแพงวังหน้า

ตำแหน่งพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หากจะกล่าวเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว วังหน้าเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช[73] เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อมีการสร้างพระราชวังหลวง ใน พ.ศ. 2325 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้ทรงสร้างวังหน้าขึ้นพร้อมกันทางด้านทิศเหนือของพระราชวังหลวง และอยู่ชิดกับฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สร้างอาคารอเนกประสงค์ 2 ขึ้น จึงมีการขุดพื้นดินต่าง ๆ และจัดแสดงรูปร่างของกำแพงวังหน้าให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้ชื่นชมว่ากาลครั้งหนึ่งพื้นที่บริเวณนี้เป็นสถานที่ตั้งของวังหน้า

อนึ่ง นักศึกษาและศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่งมีความเชื่อว่าการที่สถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัย คือ วังหน้า มีความหมายว่า สถานที่แห่งนี้มีจิตวิญญาณของการช่วยเหลือสถาบันทางอำนาจและในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้นำสูงสุดตลอดมา[73]

  • สนามฟุตบอล เป็นสถานที่ที่เป็นเวทีและเป็นศูนย์กลางการจัดชุมนุมใหญ่ของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน ในระหว่างวันที่ 10–14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากระบอบเผด็จการทหาร ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย และเป็นจุดเริ่มต้นของการตระหนักในสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยการเคลื่อนไหวในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 มีผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 77 คน และบาดเจ็บ 857 คน[74]
  • กำแพงเก่า ปืนใหญ่ และประตูสนามหลวง

กำแพงเก่า คือ กำแพงด้านถนนพระจันทร์ ซึ่งเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนที่ชาวธรรมศาสตร์เรียกกันว่า "กำแพงชรา" คือ กำแพงของพระราชวังบวรสถานมงคล ที่เหลืออยู่ แต่เดิมกำแพงชราจะมีทั้งด้านถนนพระจันทร์และด้านถนนพระธาตุ–สนามหลวง โดยมีประตูป้อมตรงหัวมุมถนนท่าพระจันทร์–หน้าพระธาตุ เชื่อมกำแพงทั้งสองด้านและเป็นประตูสำหรับการเข้าออก ต่อมาในสมัยที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นอธิการบดี กำแพงและประตูป้อมด้านถนนพระธาตุ–สนามหลวงได้ถูกรื้อลงเพื่อก่อสร้างหอประชุมใหญ่

ใน พ.ศ. 2527 ได้มีการจัดสร้างประตูป้อมขึ้นมาใหม่อีกครั้งเพื่อเฉลิมฉลองการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอายุครบรอบ 50 ปี ในการก่อสร้างประตูป้อมในครั้งนั้น ได้มีการขุดค้นพบปืนใหญ่ของวังหน้าจำนวน 9 กระบอก ที่ฝังอยู่ใต้ดิน โดยเป็นปืนใหญ่รุ่นโบราณผลิตจากประเทศอังกฤษ ที่ต้องใส่ดินปืน และลูกปืนจากทางด้านหน้าทาง โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้นำขึ้นมาบูรณะแล้วจัดตั้งแสดงไว้ที่ริมรั้วหน้าหอประชุมใหญ่ด้านสนามหลวง

หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประติมากรรม 6 ตุลาคม 2519 ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
  • หอประชุมใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2497 ในวาระครบรอบ 20 ปี ของการสถาปนามหาวิทยาลัย โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย มีการวางศิลาฤกษ์ในวันสถาปนามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2497 และสร้างแล้วเสร็จในสมัยที่พลเอก ถนอม กิตติขจร เป็นอธิการบดี ในราว พ.ศ. 2506 โดยหอประชุมนี้ก่อสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นหอประชุมที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยนั้น[75] ทั้งในเรื่องของระบบเสียง ความเย็น และที่นั่ง ซึ่งมีทั้งสิ้น 2,500 ที่นั่ง โดยแยกออกเป็น ที่นั่งชั้นล่าง 1,800 ที่นั่ง และชั้นบน 700 ที่นั่ง ส่วนทางด้านทิศใต้ของหอประชุมนี้จัดทำเป็น หอประชุมเล็ก อีกส่วนหนึ่ง โดยบรรจุคนได้ราว 500 คน ปัจจุบันหอประชุมเล็กเรียกชื่อว่า หอประชุมศรีบูรพา ตามนามปากกาของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย

หอประชุมใหญ่ใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของทางมหาวิทยาลัยและนักศึกษาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับพิธีไหว้ครู พิธีพระราชทานปริญญาบัตร และที่สำคัญได้แก่การจัดกิจกรรมทางการเมืองโดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หอประชุมใหญ่กลายเป็นสถานที่ที่มีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ สภาพการเมืองและสังคม ผ่านการอภิปรายและการจัดนิทรรศการต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นเสมือนด่านหน้าในการป้องกันการโจมตี จากกลุ่มอันธพาลการเมือง และการล้อมปราบนิสิตนักศึกษา และประชาชน ในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519[75]

  • สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อยู่ลานกว้างด้านหน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วยชิ้นงานประติมากรรมที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองและประชาธิปไตยที่ผ่านมา[76] โดยสวนประติมากรรมแห่งนี้เป็นสวนประติมากรรมกลางแจ้ง มีประติมากรรม 8 ชิ้น ใน 11 เหตุการณ์สำคัญ เพื่อความเข้าใจที่กระชับลงตัว โดยให้ผลงานประติมากรรมชิ้นหนึ่งรวม 3 เหตุการณ์ไว้ด้วยกัน มีประติมากรรม ได้แก่ การอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475, การก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, ธรรมศาสตร์กับขบวนการเสรีไทย, ขบวนการนักศึกษา พ.ศ. 2494–2500, ยุคสายลมแสงแดดและยุคแสวงหา, ธรรมศาสตร์กับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516, ธรรมศาสตร์กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519, ธรรมศาสตร์กับเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ ประติมากรรมเป็นฝีมือของสุรพล ปัญญาวชิระ

การขยายไปศูนย์รังสิต

[แก้]

แต่เดิมท่าพระจันทร์นี้ เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนสำหรับกลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในระดับปริญญาตรีด้วย แต่ในปัจจุบันหลักสูตรทั้งหมดดังกล่าวได้ขยายไปอยู่ที่ศูนย์รังสิตแล้วตามนโยบายมหาวิทยาลัย เหลือเพียงหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรควบปริญญาตรี–โท และปริญญาตรีโครงการพิเศษ

ในช่วงของการพิจารณาขยายการเรียนการสอนไปยังศูนย์รังสิตดังกล่าวนั้น ได้มีการต่อต้านอย่างหนักจากประชาคมธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษา ศิษย์เก่า อาจารย์ และชุมชนท่าพระจันทร์[77][78] (ดูจิตวิญญาณธรรมศาสตร์)

ศูนย์รังสิต

[แก้]

ศูนย์รังสิตเป็นศูนย์ที่ใหญ่ที่สุด มีเนื้อที่ 1,757 ไร่ ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 99 หมู่ 18 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางเหนือประมาณ 42 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า "กลุ่มวิสาหกิจเทคโนโลยีกรุงเทพตอนบน"[79] โดยมีสถาบันที่อยู่ใกล้เคียงได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียและอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีสวนอุตสาหกรรมจำนวนมากในพื้นที่ใกล้เคียง

ตึกโดมบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2512 ศาสตราจารย์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดีในขณะนั้นได้รับโอนกรรมสิทธิ์การครอบครองที่ดินทุ่งรังสิตจากกระทรวงอุตสาหกรรม และศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีใน พ.ศ. 2518 ที่เห็นว่าในการพัฒนาประเทศนั้น จะขาดบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้ มหาวิทยาลัยจึงวางแผนการขยายวิทยาเขตไปที่ชานเมือง

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมาวางศิลาฤกษ์อาคารโดมบริหาร และวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร) มาทรงประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และปลูกต้นยูงทอง ณ บริเวณอาคารโดมบริหาร พร้อมทั้งทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในคราวเดียวกันด้วย และต่อมาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2531 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาเปิดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

อาคารปิยชาติ

จากมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 3/2528 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2528 จึงเป็นคณะแรกที่เปิดสอนที่ศูนย์รังสิต ในปีการศึกษา 2529

17 มิถุนายน พ.ศ. 2528 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณค่าก่อสร้างจากรัฐบาลญี่ปุ่น และในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2529 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงประกอบพิธีเปิดอาคารสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร[80]

สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ รังสิต

ต่อมาใน พ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัยเห็นควรสร้างอาคารหอพระและเอนกประสงค์ศาลาในบริเวณเดียวกับองค์พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเททองหล่อพระ จำนวน 4 องค์ เพื่อประดิษฐาน ณ ท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์พัทยา และสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งพระราชทานนามพระพุทธรูปดังกล่าวว่า "พระพุทธธรรมทิฐิศาสดา" เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2527 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารหอพระเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542[81] และต่อมาได้อัญเชิญพระพุทธธรรมทิฐิศาสดามาประดิษฐาน ณ หอพระดังกล่าว ภายในศูนย์ประกอบด้วยกลุ่มอาคารเรียนต่าง ๆ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อาคารอำนวยการ อาคารบริการวิชาการ เช่น ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา โรงพิมพ์ สิ่งอำนวยความสะดวกเช่น ร้านอาหาร ร้านค้าและธนาคาร กลุ่มหอพักนักศึกษาและบุคลากร โรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ โรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาคารระบบสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้าย่อย และโรงบำบัดน้ำเสีย ศูนย์นี้ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[82] ซึ่งเป็นศูนย์กีฬากลางแจ้งและในร่มขนาดใหญ่ ที่เคยเป็นสนามกีฬารองรับการแข่งขันระดับนานาชาติ เช่น เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2541 และ กีฬามหาวิทยาลัยโลก พ.ศ. 2550

ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 6/2548 วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ศูนย์นี้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน สำหรับหลักสูตรภาคปกติทุกกลุ่มวิชา โดยเริ่มต้นสำหรับนักศึกษาที่รับเข้าในปีการศึกษา 2549 และหลักสูตรบัณฑิตศึกษากลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ

และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้เปิด อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หลังจากเริ่มการสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 โดยหัวเรือใหญ่อย่าง อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเปิดให้ทั้งนักศึกษาและคนทั่วไปเข้าใช้งานบนพื้นที่กว่า 100 ไร่ ภายใต้การทำงานร่วมกันกับทีมออกแบบผังแม่บท CIDAR (Center of Innovative Design and Research) แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทีมสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์ นำโดยอาจารย์ธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) และอาจารย์กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกแห่ง LANDPROCESS เพื่อสร้างพื้นที่ใช้สอย ที่ยังคงไว้เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม [83]

ศูนย์ลำปาง

[แก้]
อาคารสิรินธรารัตน์ (ตึกโดมแก้ว) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มต้นพิจารณาการขยายการศึกษาไปสู่ภูมิภาคอย่างจริงจัง เมื่อปีการศึกษา 2535 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในจังหวัดลำปาง ได้ขยายการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการเมืองการปกครอง มายังจังหวัดลำปางเป็นครั้งแรก และได้เล็งเห็นถึงความพร้อมและความเหมาะสมของจังหวัดลำปางในฐานะที่จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการศึกษาในเขตภาคเหนือ ในปี พ.ศ. 2539 เมื่อทบวงมหาวิทยาลัยมีนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพไปสู่ภูมิภาคในรูปของโครงการขยายวิทยาเขต พร้อมทั้งพัฒนาโครงการ เครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีมติให้ดำเนินโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ขึ้น เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ในระยะแรกมหาวิทยาลัยได้รับอนุญาตให้ใช้ศาลากลางจังหวัดลำปาง (หลังเดิม) ปรับปรุงเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน โดยนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2541 ต้องมาเรียนที่ศูนย์รังสิตก่อน และในปีการศึกษา 2542 เมื่อปรับปรุงอาคารศาลากลางหลังเดิมแล้วเสร็จ ศูนย์ลำปางจึงได้รับนักศึกษา สาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์รุ่นแรกกลับมาเรียนที่ลำปาง และได้เปิดสาขาวิชาใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 สาขาวิชาคือ สาขาสหวิทยาการสังคมศาสตร์ (วิทยาลัยสหวิทยาการปัจจุบัน)

ต่อมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดหาพื้นที่ก่อสร้างอาคารเรียนเป็นการถาวรเพื่อรองรับ การเรียนการสอน และส่งเสริมทักษะ ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษาที่เพิ่มขึ้น นายบุญชู ตรีทอง รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้น จึงได้ให้ความอนุเคราะห์แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยมอบที่ดินบริเวณหมู่ที่ 2 ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง จำนวน 364 ไร่ 3 งาน 79 ตารางวา รวมทั้งบริจาคทุนทรัพย์จำนวน 62,472,650 บาท ในการก่อสร้างอาคารเรียนรวมหลังแรก เพื่อการบริหารจัดการ และการเรียนการสอนซึ่ง เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2543 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2546 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงทูลขอพระราชทานนามอาคาร และได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้นาม "สิรินธรารัตน์" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จึงได้ย้ายการเรียนการสอนมา ณ สถานที่ตั้งปัจจุบัน ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2546

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคารและปรับปรุงภูมิทัศน์ที่ศูนย์ลำปางอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขายการเรียนการสอนและจำนวนนักศึกษาและบุคลากรที่เพิ่มขึ้น กล่าวคือ ได้รับงบประมาณแผ่นดิน ประจำปี พ.ศ. 2549 จำนวนเงิน 30,000,000 บาท และงบพิเศษ มธ. ประมาณ 7,900,000 บาท ก่อสร้างอาคารเรียนรวมหลังที่ 2 "อาคารเรียนรวม 4 ชั้น" แล้วเสร็จเพื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 ได้รับงบประมาณแผ่นดิน ประจำปี พ.ศ. 2549–2552 จำนวนเงิน 79,000,000 บาท ก่อสร้าง "อาคารเอนกประสงค์และสนามกีฬาในร่ม" แล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 และ ก่อสร้างหอพักนักศึษาหลังที่ 1 "โดม ๑" แล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 รองรับนักศึกษาได้ 350 คน และก่อสร้างหอพักนักศึกษาหลังที่ 2 "โดม ๒" แล้วเสร็จในปีการศึกษา 2554

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ยังได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ในอีกหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรมีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี ควบคู่ไปพร้อมกับด้านวิชาการที่มีมาตรฐานการจัดการเรียนการสอน[84]

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เปิดการเรียนการสอนทั้งสิ้นจำนวน 5 คณะ 1 วิทยาลัย คือ คณะนิติศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะสาธารณสุขศาสตร์ และวิทยาลัยสหวิทยาการ

ศูนย์พัทยา

[แก้]

พิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัย

[แก้]

ภายในเขตพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น นอกจากเป็นที่ตั้งของคณะต่าง ๆ แล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ทั้งในเชิงวิชาการและการอนุรักษ์ ดังนี้

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
เป็นพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ที่อาศัยในแผ่นดินไทยปัจจุบัน ตั้งอยู่ ณ ศูนย์รังสิต ในความดูแลของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา[86] สืบเนื่องจากการที่คณะฯ ได้รับโบราณวัตถุจากการขุดค้นภาคสนามในโครงการขุดค้นวัฒนธรรมบ้านเชียง ที่บ้านอ้อมแก้วและบ้านธาตุ จังหวัดอุดรธานี และมีโบราณวัตถุเพิ่มเติมขึ้นจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ ในช่วงระยะเวลาต่อมา
อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์
อยู่ในพื้นที่จัดแสดงทั้งหมดราว 400 ตารางเมตร บนชั้น 2 ของตึกโดม ณ ท่าพระจันทร์ บอกเล่าถึงชีวิตนายปรีดี พนมยงค์ และสะท้อนวิวัฒนาการทางการเมืองของไทย ทั้งยังแฝงบางแง่มุมของอุดมการณ์ที่ควรค่าแก่การเอาเยี่ยงอย่าง[87]
หอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อยู่ในพื้นที่จัดแสดง บนชั้น 3 ของตึกโดม ณ ท่าพระจันทร์ บอกเล่าเรื่องราวและความเป็นมาของมหาวิทยาลัย แสดงถึงตัวตนและจิตวิญญาณมหาวิทยาลัยซึ่งมีส่วนสร้างสรรค์จิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทเคียงข้างสังคมไทยสมัยใหม่ และยังเป็นแหล่งสืบค้น และศูนย์รวมข้อมูลของประชาคมธรรมศาสตร์[88]

ชีวิตนักศึกษา

[แก้]

การเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทั่วไปจะใช้เวลา 4 ปีการศึกษา แต่สำหรับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และโครงการบูรณาการของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ใช้เวลา 5 ปีการศึกษา ในขณะที่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ จะใช้เวลา 6 ปีการศึกษา

ตลอดระยะเวลาการเรียนนอกจากการเรียนวิชาพื้นฐานมหาวิทยาลัยและวิชาบังคับเลือกของสาขาวิชาแล้ว ยังสามารถลงทะเบียนวิชาเลือกเสรีหรือวิชาโทข้ามคณะและสาขาวิชาได้อย่างเสรี ยกเว้นหลักสูตรที่ด้วยสภาพการณ์แล้วไม่สามารถทำได้ เช่น แพทยศาสตรบัณฑิต ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต เป็นต้น นอกจากการพบปะกันในคณะหรือสาขาวิชาแล้ว ยังมีการร่วมกิจกรรมในมหาวิทยาลัยหลายอย่าง ไม่ว่าการเข้าชุมนุมชมรมของมหาวิทยาลัย การเข้ากลุ่มของคณะ การเล่นกีฬา และสำหรับคณะหรือสถาบันที่มีระบบโต๊ะกลุ่มหรือระบบบ้าน เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ยังมีโอกาสที่จะได้พบปะหรือร่วมกิจกรรมกับเพื่อนหรือรุ่นพี่ที่โต๊ะกลุ่มหรือบ้านได้อีกด้วย

องค์กรกิจกรรมนักศึกษา ชุมนุม ชมรม กลุ่มกิจกรรม กลุ่มอิสระในมหาวิทยาลัย

[แก้]
เสลี่ยงเชิญตราธรรมจักรในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 66 โดยองค์การนักศึกษาร่วมกับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านกิจกรรมนักศึกษาเป็นอย่างมาก แต่ไม่มีการบังคับนักศึกษาให้ทำกิจกรรมแต่อย่างใดเนื่องจากมหาวิทยาลัยเคารพในเสรีภาพในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำกิจกรรมของนักศึกษา โดยกิจกรรมนักศึกษาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2563 เป็นธรรมนูญในการจัดโครงสร้างและความสัมพันธ์ขององค์กรกิจกรรมนักศึกษา

  1. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) เป็นตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากนักศึกษา โดยคณะกรรมการบริหารประกอบไปด้วยนายกองค์การนักศึกษา และอุปนายกองค์การนักศึกษา ระดับศูนย์ 3 ศูนย์การศึกษา ได้แก่ ท่าพระจันทร์ รังสิต และลำปาง (พัทยายังไม่มีการจัดตั้งองค์การนักศึกษา ระดับศูนย์ เนื่องจากมีจำนวนนักศึกษาน้อย) เลขาธิการองค์การนักศึกษา และกรรมการองค์การนักศึกษาฝ่ายอื่น ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลชุมนุมชมรมในฝ่ายที่ตนรับผิดชอบ องค์การนักศึกษามีหน้าที่จัดกิจกรรมภายในของนักศึกษา พิทักษ์สิทธิและสวัสดิการของนักศึกษา อีกทั้งยังทำหน้าที่ผ่านงบประมาณของชุมนุม ชมรม และกลุ่มอิสระในขั้นตนเพื่อเสนอต่อสภานักศึกษา โดยทำงานประสานกับ งานกิจกรรมนักศึกษา กองกิจการนักศึกษา และสภานักศึกษา มีวาระการทำงาน 1 ปี โดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยกำหนดให้ในกรณีที่นายกองค์การนักศึกษาพ้นจากตำแหน่ง จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งนายกองค์การนักศึกษาคนใหม่โดยเร็ว เนื่องจากไม่มีการกำหนดกลไกการรักษาการในตำแหน่งไว้แต่อย่างใด
  2. สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สนธ.) เป็นตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากนักศึกษาในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคนักศึกษาที่ลงสมัครับเลือกตั้ง (Party List) ประกอบด้วย 3 ศูนย์รังสิต คือ รังสิต ท่าพระจันทร์ และ ลำปาง โดยประธานสภานักศึกษามีที่มาจากการเลือกกันเองโดยที่ประชุมสภานักศึกษาร่วมกันทุกศูนย์การศึกษา ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกจะเป็นประธานสภานักศึกษา ระดับศูนย์ที่ตนสังกัดโดยตำแหน่ง และมีรองประธานสภานักศึกษามาจากผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภานักศึกษา ระดับศูนย์อื่น อีก 2 ตำแหน่ง สภานักศึกษาทำหน้าที่พิจารณาโครงการ งบประมาณ การจัดตั้ง–ยุบชุมนุมชมรม รวมไปถึงการพิจารณากฎ ระเบียบต่าง ๆ ของแต่ละศูนย์ หากมีเรื่องเร่งด่วนจะมีการประชุมสภาทั้งหมด โดยทำงานประสานกับ งานกิจกรรมนักศึกษา กองกิจการนักศึกษา และอมธ. มีวาระการทำงาน 1 ปี
  3. คณะกรรมการหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กพน.) กำกับดูแลหอพักนักศึกษา โดยทำงานประสานกับกลุ่มงานผู้ช่วยอาจารย์หอพัก สำนักงานจัดการทรัพย์สิน
  4. คณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะ (กน.) คณะกรรมการนักศึกษาของแต่ละคณะมีทำหน้าที่ดำเนินกิจกรรมและเป็นตัวแทนของนักศึกษาในคณะ อยู่ในความดูแลของรองคณบดีหรือผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการนักศึกษาของคณะนั้น ๆ
  5. คณะกรรมการการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กตธ.) องค์กรที่ดูแลการเลือกตั้งเฉพาะการเลือกตั้งระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนเมษายน โดยกกต. แต่ละชุด มีวาระ 1 ปี และจะทำการเลือกกกต. ชุดใหม่ด้วยการประกาศรับสมัครนักศึกษาเข้ารับการสรรหา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังประกอบด้วยชุมนุมชมรมต่าง ๆ แบ่งได้เป็น 4 ฝ่าย[89] ดังต่อไปนี้

  • ฝ่ายศาสนาและจริยธรรม ได้แก่ ชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณี ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กลุ่มพุทธธรรมกรรมฐาน ชมรมมุสลิม ชมรมคาทอลิก และชมรมคริสเตียน
  • ฝ่ายกีฬา ได้แก่ ชุมนุมกรีฑา ชุมนุมกีฬาในร่ม ชุมนุมคาเต้-โด ชมรมเทควันโด ชุมนุมยูโด ชุมนุมแบดมินตัน ชุมนุมเทเบิลเทนนิส ชุมนุมลอนเทนนิส ชุมนุมฟุตบอล ชุมนุมรักบี้ฟุตบอล ชุมนุมบาสเกตบอล ชุมนุมวอลเลย์บอล ชุมนุมซอฟท์บอลและเบสบอล ชุมนุมตะกร้อ ชุมนุมเปตอง ชุมนุมกีฬาทางน้ำ ชุมนุมฟันดาบสากล ชุมนุมยิงปืน ชุมนุมยิงธนู ชุมนุมกีฬาลีลาศ ชุมนุมเพาะกาย ชมรมมวย ชุมนุมกอล์ฟ ชมรมมวยไทย ชมรมฟุตบอล ชมรมรักบี้ฟุตบอล ชมรมยิงปืน ชมรมตระกร้อ ชมรมยิงธนู ชมรมว่ายน้ำ ชมรมฟันดาบ ชมรมโปโลน้ำ ชมรมบาสเก็ตบอล ชมรมวอลเล่ย์บอล ชมรมเทควันโด และชมรมคาราเต้
  • กลุ่มอิสระ ได้แก่ กลุ่มอิสระล้อการเมือง กลุ่มอิสระลานสรรค์ กลุ่มอิสระไม้ขีดไฟ กลุ่มอิสระเพาะรัก กลุ่มอิสระสังคมนิยมประชาธิปไตย และกลุ่มลีดตลก ประจำงานฟุตบอลประเพณีฯ
  • พรรคนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเจตนารมณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย โดยส่วนมากพรรคการเมืองถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี การจัดตั้งต้องทำก่อนการเลือกตั้งและจัดตั้งผ่านนายทะเบียนพรรคนักศึกษา ซึ่งพรรคการเมืองหนึ่งพรรคสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทุกตำแหน่งพร้อมกัน ทั้งนายกองค์การนักศึกษา อุปนายกองค์การนักศึกษา ระดับศูนย์ สมาชิกสภานักศึกษา ประธานกรรมการนักศึกษาประจำคณะ รวมถึงประธานกรรมการหอพักนักศึกษาได้
  • ชมรมชุมนุมในหอพัก ได้แก่ สโมสรนักศึกษาสภากาแฟ กลุ่มกิจกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ITTAG) กลุ่มพัฒนาศักยภาพ (R&DTC) และกลุ่มส่งเสริมคุณภาพชีวิต

องค์การนักศึกษา สภานักศึกษา ชมรมชุมนุม และกลุ่มอิสระต่าง ๆ นั้น ส่วนใหญ่มีที่ทำการอยู่ ณ อาคารกิจกรรมนักศึกษา กองกิจการนักศึกษา ยกเว้นชุมนุมสายกีฬาที่มีที่ทำการอยู่ ณ ศูนย์บริการการกีฬา อาคารยิมเนเซียม 7 และคณะกรรมการหอพักนักศึกษา ชมรมชุมนุมในส่วนของหอพักอยู่ภายในศูนย์ต่าง ๆ ที่หมู่บ้านเอเชี่ยนเกมส์ ศูนย์เหล่านี้เรียกว่า "น็อก" (NOC) เพราะเดิมเป็นที่พักคณะกรรมการโอลิมปิกส์แห่งชาติ (National Olympic Committee)

กีฬาและนันทนาการ

[แก้]
บรรยากาศพิธีเปิดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 71
  • งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ หรือ งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ เป็นการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2477 จนถึงปัจจุบัน โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพฝ่ายละหนึ่งปี ปกติจัดขึ้น ณ สนามศุภชลาศัย
  • งานรักบี้ประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ หรือ งานรักบี้ประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ เป็นการแข่งขันรักบี้ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2480 แต่ได้ยุติไประยะหนึ่ง และได้มีการฟื้นฟูการแข่งขันอีกครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป
  • ทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือกลุ่มตัวแทนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการบำเพ็ญประโยชน์ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์–จุฬาฯยังได้รับหน้าที่เป็น ผู้นำของขบวนพาเหรดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็นผู้นำขบวนอัญเชิญธรรมจักร ผู้อัญเชิญป้ายนามมหาวิทยาลัย ถ้วยพระราชทาน และที่สำคัญยังเป็นดรัมเมเยอร์อีกด้วย
  • เชียร์ลีดเดอร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือผู้นำเชียร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสำหรับทำหน้าที่นำกองเชียร์ส่งเสียงเชียร์นักกีฬา โดยเฉพาะในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์–จุฬา
  • ธิดาโดม คือนางงามที่ชนะเลิศในการประกวดของสมาคมธรรมศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนียตอนใต้ การประกวดธิดาโดมเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2516 โดยการเชิญสาวงามที่ไปเที่ยวงานในคืนนั้นขึ้นมาประกวด
  • สโมสรฟุตบอลโดม หรือ โดม เอฟซี เป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 ตามแนวนโยบายของอธิการบดี โดยแข่งขันอยู่ลีกอาชีพดิวิชั่น 2 โซนภาคกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งมีนโยบายเน้นใช้นักฟุตบอลของมหาวิทยาลัยรวมถึงศิษย์เก่า และนักกีฬาอื่น ๆ โดยมีสนามเหย้าอยู่ ณ สนามธรรมศาสตร์สเตเดียม ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
  • ชุมนุมเชียร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นชุมนุมภายใต้การดูแลของสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งขึ้นตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยที่ว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษา พ.ศ. 2522 เป็นองค์กรกิจกรรมนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบงานเชียร์ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ – จุฬาฯ หรืองานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ เป็นชุมนุมที่ใหญ่ที่สุด และมีสมาชิกมากที่สุดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีตัวแทนนักศึกษาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาทำงานตามวาระทำงานโดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์ ด้วยความรักและความภาคภูมิใจที่มีต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    ภาพการแปรอักษรประจำงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 68

ศิลปวัฒนธรรม

[แก้]

งานบำเพ็ญประโยชน์และอาสาสมัคร

[แก้]
  • ทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat University Ambassador) เป็นผู้แทนนักศึกษาในการนำขบวนอัญเชิญธรรมจักรหรือถ้วยพระราชทาน และเป็นดรัมเมเยอร์ในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์–จุฬาฯ นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่จัดกิจกรรมและร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยในโอกาสต่าง ๆ เป็นผู้นำเสนอสินค้า วิทยากร พิธีกร เดินแบบ ให้แก่สถาบันและหน่วยงานสาธารณกุศล ทั้งยังเป็นผู้แทนนักศึกษาในการ ต้อนรับบุคคลสำคัญในงานของมหาวิทยาลัย ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยและกิจกรรมของนักศึกษาให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ตลอดจนการเชิญชวนให้นักศึกษามาร่วมกันทำกิจกรรมกันมากขึ้น[ต้องการอ้างอิง]
  • ธรรมศาสตร์แชริงเฟสติวัล (Thammasat Sharing Festival) หรือทียูแชริง (TU Sharing) เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันทำความดีในรูปแบบต่าง ๆ และสร้างกระแสให้นักศึกษาทุกคนรู้สึกว่า การทำความดีไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป โดยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ Share Idea with Idol, T-Shirt sharing, กิจกรรมปล่อยนก, บริจาคเงินเพื่อเด็กกำพร้า, คนพิการ, คนชรา, อ่านหนังสือให้ผู้พิการทางสายตา, Best sharing award, ธรรมศาสตร์ตักบาตรเพื่อพ่อ และกิจกรรมนั่งสมาธิ โดยเริ่มจัดครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2552 โดยชมรมพัฒนาศักยภาพ R&DTC มีผู้ร่วมทำกิจกรรมทั้งหมดกว่า 3,000 คน
  • บัณฑิตอาสาสมัคร เป็นโครงการระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ให้บัณฑิตออกไปสู่ชุมชนและชนบท เพื่อเรียนรู้ เข้าใจ และทำงานประสานร่วมกับชาวบ้านและหน่วยงานพัฒนาต่าง ๆ [93] โครงการนี้ดูแลโดย สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร
  • ศูนย์อาสาสมัคร เป็นหน่วยงานของกองกิจการนักศึกษา[94] มีจุดประสงค์เพื่อรณรงค์ส่งเสริมงานอาสาสมัคร และเป็นตัวกลางของงานอาสาสมัคร โดยจะเป็นตัวกลางระหว่างหน่วยงานที่ต้องการอาสาสมัครและนักศึกษาที่ต้องการทำงานอาสาสมัคร[95] และยังมีการสนับสนุนให้การจัดการเรียนการสอนวิชาศึกษาทั่วไปของชั้นปีที่ 1 มีการปรับปรุงหลักสูตรจากการเรียนการสอนแบบฟังบรรยาย มาเป็นกระบวนการกลุ่มรวมทั้งการการเป็นอาสาสมัครก่อนจบการศึกษา[96]
  • ธรรมศาสตร์ทำนา เป็นโครงการในความรับผิดชอบของฝ่ายการนักศึกษา[97] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สัมผัสกับปัญหาและความทุกข์ยากของผู้อื่น ตลอดจนกระตุ้นให้นักศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนา และที่มาของข้าว ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงบนแปลงนาพื้นที่ประมาณ 9 ไร่ ภายในศูนย์รังสิต โครงการนี้มีต้นแบบมาจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่กิจกรรมการทำนานี้จะเปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมใน 3 ขั้นตอน คือ การถอนกล้า ดำนา และเกี่ยวข้าว[98] ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้นั้นจะนำไปหุงเป็นอาหารมื้อแรกให้นักศึกษาใหม่ได้รับประทานในกิจกรรมการแสดงแสง สี เสียง ประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ "ณ ดินแดนแห่งนี้มีตำนาน ขอเธอสืบสานจิตวิญญาณธรรม"[99] ซึ่งเป็นวันปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ด้วย และข้าวสารส่วนหนึ่งจะนำมาแบ่งบรรจุเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายในศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[100]

การพักอาศัยของนักศึกษา

[แก้]

การพักอาศัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งท่าพระจันทร์ และศูนย์รังสิตมีลักษณะคล้ายกับนิสิตนักศึกษาอื่นในกรุงเทพฯ โดยคนที่มีภูมิลำเนาหรือมีญาติพี่น้องอยู่ในกรุงเทพหรือเขตปริมณฑล ก็จะพักอาศัยกับครอบครัวหรือบ้านคนรู้จัก สำหรับนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดจะพักอาศัยในหอพักมหาวิทยาลัย หรือหอพักเอกชนบริเวณรอบ ๆ มหาวิทยาลัย

ท่าพระจันทร์

[แก้]

มหาวิทยาลัยมีบริการหอพักสำหรับนักศึกษา คือ หอพักรัชดาภิเษก เขตตลิ่งชัน เดิมตั้งอยู่ ณ บริเวณพระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งเป็นบริเวณเขตพระราชฐาน เพื่อให้เป็นสวัสดิการแก่นักศึกษาที่ยากจนและขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงไม่มีที่พักในกรุงเทพฯ ให้อยู่อาศัยในราคาย่อมเยาเพื่อเป็นการช่วยเหลือนักศึกษา[101] ต่อมาจึงได้ย้ายมายังที่ตั้งปัจจุบัน ทั้งนี้ พ.ศ. 2552 สำนักงานจัดการทรัพย์สิน ซึ่งดูแลหอพักได้ปรับปรุงหอพักขึ้นใหม่ และจัดเก็บอัตราค่าใช้บริการค่อนข้างสูง ในปัจจุบันจึงมักจะเป็นที่พักอาศัยของบุคลากร และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นที่ต้องการที่พักในการเดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[102]

ศูนย์รังสิต

[แก้]
กลุ่มอาคารหอพักเอเชี่ยนเกม โซนบี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

สำหรับศูนย์รังสิต สำนักงานจัดการทรัพย์สิน (ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจดูแลระบบการจัดสรรที่พักอาศัยของทั้งบุคลากรและนักศึกษา ได้ออกระเบียบให้นักศึกษาต้องแจ้งย้ายเข้าทะเบียนราษฎร์ของตนเองเข้ามาในทะเบียนบ้านกลางของมหาวิทยาลัย[103] โดยนักศึกษาแต่ละคณะจะมีบ้านเลขที่ประจำคณะตนเอง (ปัจจุบันให้ย้ายเข้า เลขที่ 99 เท่านั้น ไม่แยกตามคณะ) ภายใต้ท้องถิ่นตำบลคลองหนึ่ง เทศบาลเมืองท่าโขลง จังหวัดปทุมธานี เช่น เลขที่ 99/3 หมู่ 18 สำหรับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ และ 99/8 หมู่ 18 สำหรับคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น โดยมหาวิทยาลัยได้มีสวัสดิการที่พักสำหรับนักศึกษา หลายกลุ่ม และราคา ดังนี้

  • กลุ่มอาคารหอพักเอเชี่ยนเกมส์ ประกอบไปด้วย อาคารหอพักแบบห้องเดี่ยว คือ พัก 2 คน ได้แก่ โซนเอ 3 อาคาร (พักเฉพาะบุคลากร ) โซนซี 11 อาคาร โซนอี 2 อาคาร และอาคารหอพักแบบชุด คือ พัก 4 คน ได้แก่ โซนบี 8 อาคาร (แบ่งเป็น บุคลากร 2 อาคาร นักศึกษา 6 อาคาร) โดยทั้งสอบแบบมีอุปกรณ์ครุภัณฑ์ภายในห้องพัก ได้แก่ เตียงนอน โต๊ะหัวเตียง ตู้เสื้อผ้า โต๊ะเขียนหนังสือ เก้าอี้ อินเทอร์เน็ตไฟเบอร์+กล่อง AIS play box + TV + ตู้เย็นในห้อง ) โทรทัศน์สัญญาณจานดาวเทียม เครื่องปรับอากาศ เครื่องตรวจจับควันไฟ ลานซักล้าง ห้องน้ำในตัวพร้อมเครื่องทำน้ำอุ่น สิ่งอำนวยความสะดวกภายนอก ระบบโทรทัศน์วงจรปิด ลิฟท์โดยสาร ตู้เย็น เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องกรองน้ำ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตู้กดบริการเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ และบริการซักรีด สำหรับอาคารหอพักแบบชุด คือ โซนบี มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพิ่มเติมคือ แยกห้องน้ำห้องส้วม โต๊ะรับประทานอาหาร และชุดรับแขก (ปัจจุบันติดตั้งเครื่องปรับอากาศในห้องรับแขก)

อนึ่ง อาคารหอพักเอเชี่ยนเกมส์ มักมีปัญหาเรื่องการร้องเรียนค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง หรือการบริหารงานแบบธุรกิจเอกชนโดยไม่ให้นักศึกษามีส่วนร่วม[104] แต่กระนั้นนักศึกษาก็แจ้งความประสงค์เข้าพักอาศัยเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าจากแบบจานหมุน เป็นแบบดิจิตอล ที่สามารถดูอัตราการใช้ไฟฟ้าทุกครึ่งชั่วโมงได้

ปัจจุบันมีสิ่งอำนวจความสะดวกให้ คือครัวกลางสำหรับประกอบอาหาร /ห้องอุ่นอาหาร / ห้องปรับอากาศอ่านหนังสือ / ห้องฟิตเนส/เครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง /โคเวอร์เวย์ทางเดินในหอพัก/ระบบกล้องวงจรปิด-ประตูอัตโนมัติ ผ่านเข้า ออก พื้นที่หอพัก

  • กลุ่มอาคารหอพักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หรือ หอพักใน แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ อาคารหอพักคู่โดม สำหรับนักศึกษาหญิง (F3-4-5-6-7) (F1-2 เปลี่ยนเป็นตึกกิจกรรมนักศึกษา) และอาคารหอพักเคียงโดม สำหรับนักศึกษาชาย (M1-2) ประกอบไปด้วยเตียงนอน โต๊ะหัวเตียง ตู้เสื้อผ้า โต๊ะเขียนหนังสือ เก้าอี้ เครื่องตรวจจับควันไฟ ห้องน้ำรวม ระบบโทรทัศน์วงจรปิด เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องกรองน้ำ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตู้กดบริการเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ ร้านตัดผม ห้องอ่านหนังสือรวม และบริการซักรีด ปัจจุบันมีสิ่งอำนวจความสะดวกให้ คือครัวกลางสำหรับประกอบอาหาร / ห้องปรับอากาศอ่านหนังสือ สามารถขอติดตั้ง อินเทอร์เน็ตไฟเบอร์+กล่อง AIS play box ได้ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • อาคารหอพักโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เป็นหอพักสำหรับนักศึกษาในคณะกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตั้งแต่ฐานะชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป แบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งเอ สำหรับนักศึกษาหญิง และฝั่งบี สำหรับนักศึกษาชาย ประกอบไปด้วย ตู้เย็น ไมโครเวฟ โทรทัศน์สัญญาณจานดาวเทียม เครื่องทำน้ำร้อน–น้ำเย็น เครื่องกรองน้ำ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตู้กดบริการเครื่องดื่ม โทรศัพท์สายตรงภายในหอ ฟรีอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย ห้องฟิตเนส อุปกรณ์กีฬา และห้องน้ำในตัว สามารถขอติดตั้ง อินเทอร์เน็ตไฟเบอร์+กล่อง AIS play box ได้ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • กลุ่มอาคารทียูโดม-โดมเพลส เป็นกลุ่มอาคารหอพักกลุ่มใหม่ของมหาวิทยาลัย โดยตัวกลุ่มอาคารอยู่ภายนอกมหาวิทยาลัย ฝั่งตรงข้ามประตูเชียงราก เครื่องใช้มาตรฐานในห้องพักเหมือนกับกลุ่มอาคารหอพักเอเชี่ยนเกมส์ แต่เพิ่มเติม โต๊ะเอนกประสงค์ โคมไฟ และมีสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ บริการหนังสือพิมพ์

โครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารทียูโดมยังไม่แล้วเสร็จ แม้จะเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 แต่ก็ได้เปิดให้นักศึกษาเข้าพักอาศัยแล้ว และเป็นอาคารหอพักที่ประสบปัญหาและข้อร้องเรียนเป็นอย่างมาก[105][106] ล่าสุดบริษัทผู้รับสัมปทานมีโครงการเร่งการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554[107]

อนึ่ง กลุ่มหอพักทั้งสี่กลุ่ม เป็นอาคารหอพักแบบแยกอาคารที่พักหญิง และอาคารที่พักชาย นักศึกษาไม่สามารถเข้าออกในอาคารที่พักของนักศึกษาต่างเพศได้ มีบริการรับทำความสะอาดภายในห้องพัก ทั้งนี้ กลุ่มอาคารหอพักเอเชี่ยนเกมส์ และกลุ่มอาคารหอพักใน มีเวลาเปิดปิดอาคารไม่ให้เข้าออกอาคาร คือ 05:00–24:00 นาฬิกา

ปัจจุบัน นักศึกษาหอพักสามารถเข้าออก พื้นที่/อาคาร หอพักได้ 24 ชั่วโมง บุคคลที่ไม่ได้เช่าหอพัก ไม่สามารถเข้าพื้นที่หลัง 22:00 น.

สำหรับหอพักโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และกลุ่มอาคารหอพักทียูโดมเปิดให้เข้าออกได้ตลอดเวลา

การจัดสรรที่พักสำหรับนักศึกษา ณ ศูนย์รังสิต โดยปกติใช้วิธีการจับสลาก ไม่ได้ใช้การพิจารณาจากลำดับก่อนหลัง หรือความใกล้ไกลของภูมิลำเนา

(ปัจจุบัน ระบบการคัดเลือกนักศึกษาเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดความต้องการสมัครหอพักเร็ว ขึ้น จึงมีการพิจารณาเข้าพักใหม่เป็น สมัครก่อน ได้รับการพิจารณาก่อน) [108]

ศูนย์ลำปาง

[แก้]

การพักอาศัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มีลักษณะคล้ายกับท่าพระจันทร์ และศูนย์รังสิต โดยคนที่มีภูมิลำเนาหรือมีญาติพี่น้องอยู่ในอำเภอเมืองห้างฉัตร หรือใกล้เคียง ก็จะพักอาศัยกับครอบครัวหรือบ้านคนรู้จัก สำหรับนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดจะพักอาศัยในหอพักมหาวิทยาลัย หรือหอพักเอกชนในตัวเมืองจังหวัดลำปาง ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้มีหอพักสวัสดิการสำหรับนักศึกษา ณ ศูนย์ลำปาง[109] โดยมีรูปแบบคล้ายคลึงกับกลุ่มอาคารหอพักใน ณ ศูนย์รังสิต

การเดินทาง

[แก้]

นักศึกษา บุคลากร และบุคคลทั่วไปสามารถเดินทางมายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดังนี้

ท่าพระจันทร์

[แก้]
  • รถเมล์ สาย 1, 3 (2-37), 15, 25, 32, 43, 44, 47 (3-41), 53, 59 (1-8), 60 (1-38), 64, 65, 70, 80, 81, 82, 91, 91ก, 123, 124, 189, 203, 503, 508, 1–9E หรืออาจนั่งรถที่เส้นทางผ่านมายังพระบรมมหาราชวัง หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร[110]
  • รถตู้สาธารณะ ทุกสายที่ผ่านสนามหลวง โดยลงรถบริเวณสนามหลวง หรือสำนักงานศาลยุติธรรม
  • ทางน้ำ โดยสารเรือสองแถวมาขึ้น ณ ท่าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ หรือโดยเรือด่วนเจ้าพระยาธงทุกสีมาขึ้น ณ ท่าพรานนก (วังหลัง) แล้วลงเรือข้ามฟากมาขึ้น ณ ท่าพระจันทร์
  • รถส่วนตัว นอกจากบุคลากรแล้ว ในเวลาปกติมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้รถยนต์ส่วนตัวของนักศึกษา หรือบุคคลภายนอกเข้าจอดภายในมหาวิทยาลัย ผู้ประสงค์นำรถยนต์ส่วนตัวมาอาจนำมาจอด ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร แล้วเดินเข้าทางประตูท่าพระจันทร์ ทั้งนี้ หากมหาวิทยาลัยอนุญาตให้นำรถเข้าจอดได้ นักศึกษาและบุคคลทั่วไปสามารถนำรถเข้าจอดได้ ณ บริเวณรอบ ๆ สนามฟุตบอล หรืออาคารจอดรถใต้ดินฝั่งประตูท่าพระจันทร์

ศูนย์รังสิต

[แก้]
สถานีรถไฟมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อที่ใกล้ที่สุด
รถมินิบัสประจำทางสาย 372 วิ่งระหว่างรังสิต ถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์
รถโดยสารประจำทางสาย 510 วิ่งระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
รถโดยสารประจำทางสาย 39 (1-4) วิ่งระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถึงบางเขน
รถโดยสารประจำทางสาย 1-9E วิ่งระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รถเอ็นจีวี

สามารถเดินทางมาศูนย์รังสิต ได้หลายเส้นทางทั้งทางรถยนต์โดยผ่านถนนพหลโยธิน หรือ ทางพิเศษอุดรรัถยา และ ถนนกาญจนาภิเษก (ด้านตะวันออก) โดยผ่านถนนเชียงราก/ถนนคลองหลวง รถเมล์ สาย 39 510 520 และ สาย 1–9E รถตู้โดยสารร่วม ขสมก. สาย ต.85 จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และ สาย ต.118 จากรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีหมอชิต/รถไฟฟ้ามหานคร สถานีสวนจตุจักร รถตู้โดยสารปรับอากาศท่าพระจันทร์–ศูนย์รังสิต รถตู้โดยสารปรับอากาศชานเมือง สาย 1008 จากฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และรถมินิบัสปรับอากาศชานเมือง สาย 372 จากรังสิต รวมทั้งสามารถเดินทางโดยรถไฟ มาลงที่สถานีรถไฟมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อีกทางหนึ่ง สำหรับสถานีรถไฟมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 โดยตั้งอยู่หลังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปัจจุบันมีขบวนรถชานเมืองและธรรมดา หยุดรับส่งผู้โดยสาร 11 ขบวนต่อวัน

สำหรับการเดินทางในมหาวิทยาลัย มีรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า บริการรับ–ส่งนักศึกษาและบุคลากรโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และรถโดยสารขนาดเล็ก (สองแถว) ให้บริการในราคาประหยัด รถทั้ง 2 ประเภทให้บริการ 6 เส้นทางดังนี้

สายที่ 1 (สองแถว) สถานีขนส่ง – หอพักเอเชียนเกมส์
บริการ 05:30–23:00 น. ทุกวัน
สายที่ 1A (วนซ้าย) หอประชุมธรรมศาสตร์ – หอพักเอเชียนเกมส์
บริการ 07:00–20:50 น. ทุกวัน
สายที่ 1B (วนขวา) หอประชุมธรรมศาสตร์ – หอพักเอเชียนเกมส์
บริการ 06:50–20:40 น. ทุกวัน
สายที่ 2 หอพักเอเชียนเกมส์ – โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
บริการ 06:40–20:45 น. ทุกวัน (สำหรับรถสองแถว ให้บริการ 05:30-23:00 น.)
สายที่ 3 หอพักเอเชียนเกมส์ – ทียูโดม
บริการ 07:00–20:45 น. ทุกวัน (สำหรับรถสองแถว ให้บริการ 05:30-23:00 น.)
สายที่ 5 สถานีขนส่ง – โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
บริการ 07:00–18:00 น. เฉพาะวันธรรมดา งดให้บริการวันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้จัดให้มีบริการรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับทางมหาวิทยาลัยไว้บริการในราคาประหยัดอีกด้วย

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

[แก้]
หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในระดับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตด้วยพระองค์เอง โดยพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่วนมากจะจัดขึ้นในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน หมายกำหนดการจะเป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัยในแต่ละปีการศึกษา โดยแต่เดิมใช้หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร แต่ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2566 ได้ย้ายไปจัดที่อาคารกิติยาคาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี แทน

วันสำคัญ

[แก้]

บุคคลสำคัญ

[แก้]
ดูเพิ่มที่ รายนามบุคคลจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

[แก้]

ใน พ.ศ. 2541 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย[111] ซึ่งมีเงื่อนไขส่วนหนึ่งว่าด้วยการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ต่อมา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้เปลี่ยนสภาพมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยของตน มีหลักการสำคัญที่กำหนดให้มหาวิทยาลัยไม่เป็นส่วนราชการ แต่อยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและคล่องตัวอันจะช่วยให้จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว[112] โดยแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกำกับของรัฐเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย คณะกรรมการได้พิจารณาเกี่ยวกับแนวคิด หลักการ ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวข้อง และได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ... ขึ้นมาฉบับหนึ่ง ใน พ.ศ. 2543 แล้วนำร่างพระราชบัญญัติฉบับนั้นเผยแพร่ให้ประชาคมธรรมศาสตร์แสดงความคิดเห็น

หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2546 กำหนดหลักการกลาง 10 ประการที่ต้องมีในร่างพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐทุกฉบับ[113] สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจึงส่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ... ส่งคืนมาให้มหาวิทยาลัยแก้ไข แต่มหาวิทยาลัยเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติสอดคล้องกับหลักการกลางที่คณะรัฐมนตรีกำหนดแล้ว จึงไม่แก้ไขอีก และส่งร่างพระราชบัญญัติคืนให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ต่อมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการของร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ... และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

การเปลี่ยนสภาพมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐก่อให้เกิดการคัดค้านและการตั้งคำถามต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัย[114] เช่น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจะสนใจเพียงค่าหน่วยกิตและค่าธรรมเนียมการศึกษาซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งกิจกรรมกลายเป็นธุรกิจมากขึ้น จนใส่ใจต่อสังคมน้อยลง หรือผู้บริหารจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการพิจารณาสัญญาจ้างและในการประเมินพนักงาน จนนำไปสู่ระบบเผด็จการของผู้บริหารหรือไม่[115]

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ... และส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป[116]

เตรียมธรรมศาสตร์

[แก้]

โรงเรียนเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ เตรียมธรรมศาสตร์ (ต.มธก.) ตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2481 มีหลักสูตร 2 ปี เพื่อรับผู้ประสงค์จะเข้าเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองโดยตรง โรงเรียนเตรียมปริญญามีหลักสูตรการสอนหนักไปทางด้านภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และวิชาด้านสังคม เช่น ปรัชญา วิชาเทคโนโลยี ดนตรี พิมพ์ดีด และชวเลข เป็นต้น โรงเรียนเตรียมปริญญามีทั้งหมดรวม 8 รุ่น จนถึง พ.ศ. 2490 จึงถูกยกเลิกไป[117]

ปัจจุบันได้มีค่าย "เตรียมธรรมศาสตร์" ซึ่งจัดโดย องค์การนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดตั้งเพื่อให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้เข้ามาสัมผัสชีวิต การเป็นอยู่ การเรียนในมหาวิทยาลัยในรูปแบบธรรมศาสตร์ และบรรยากาศแบบดั่งเดิมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองของพระนคร 3 วัน 2 คืน จัดในช่วงต้นปีของทุก ๆ ปี

เชิงอรรถ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๓๖, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  2. 2.0 2.1 "จำนวนบุคลากร และจำนวนคณาจารย์". มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 27 March 2024.
  3. จำนวนนักศึกษามีสภาพจำแนกตาม คณะ สถานที่ศึกษา และเพศ ระดับปริญญาตรี ประจำภาคการศึกษาที่ 1/2567. [1]. ข้อมูลล่าสุด พ.ศ. 2567
  4. จำนวนนักศึกษามีสภาพจำแนกตาม คณะ สถานที่ศึกษา และเพศ ระดับบัณฑิตศึกษา ประจำภาคการศึกษาที่ 1/2567. [2]. ข้อมูลล่าสุด พ.ศ. 2567
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ปรีดีกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, สถาบันปรีดี พนมยงค์
  6. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” จงไปสู่สุขคติ
  7. World wide News from Education, Science and Research. (มปป.). Links to Asia by Organizing Traineeship and Student Exchange (LAOTSE) . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3]. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  8. International Network for Sustainability Science (INSS). (มปป.). Greater Mekong Subregion Academic and Research Network . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [4][ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  9. 9.0 9.1 สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, http://web.reg.tu.ac.th/registrar/_link/_5_student/BOOK/58BA/BA58_A_02.doc เก็บถาวร 2016-09-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "TU-grad-handbook" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  10. นิธิ เอียวศรีวงศ์, ด้วยจิตวิญญาณธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, พ.ศ. 2544. ปรับปรุงจากบทความ ฟื้นอุดมศึกษาไทย ด้วยจิตวิญญาณธรรมศาสตร์, ปาฐกถางาน “เดินประชาธิปไตย” เนื่องในวาระ 69 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475, 24 มิถุนายน 2544 ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
  11. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ 6pillars
  12. "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476". (2476, 20 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่ม 50). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2476/A/1007.PDF. (เข้าถึงเมื่อ: 17 สิงหาคม 2551).
  13. ประวัติคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เก็บถาวร 2007-09-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  14. ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เก็บถาวร 2007-09-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  15. ด่านตระกูล, สุพจน์ (2514). ชีวิตและงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์. พระนคร: ประจักษ์การพิมพ์.
  16. ปรีดี พนมยงค์ : ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์ เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2529, หน้า 31, 59-60
  17. สุพจน์ ด่านตระกูล, จากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพิมพ์สันติธรรม, 2531, หน้า 126
  18. เดือน บุนนาค ข้าพเจ้ารู้จักกับเขาปรีดี พนมยงค์ เก็บถาวร 2011-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ปรีดีปริทัศน์, 2542, หน้า 22
  19. 19.0 19.1 19.2 ประวัติคณะรัฐศาสตร์ เก็บถาวร 2008-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  20. 20.0 20.1 ราชกิจจานุเบกษา. (18 มีนาคม 2495). พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก 2495.pdf เก็บถาวร 2019-06-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 3 กันยายน 2553).
  21. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ปรีดี-พูนศุข, เรียกข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. 2552
  22. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เก็บถาวร 2007-09-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, www.tu.ac.th
  23. สำนักทะเบียนและประมวลผล. (2553). หลักสูตรที่เปิดสอน . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [5] เก็บถาวร 2010-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  24. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘, ราชกิจจานุเบกษา, วันที่สืบค้น 17 กรกฎาคม 2558
  25. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 (ฉบับที่ 50) (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี) เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ราชกิจจานุเบกษา
  26. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. วันธรรมศาสตร์ 10 ธันวาคม 2546. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2546).
  27. 27.0 27.1 27.2 สถานที่สำคัญหรือจุดประวัติศาสตร์ เก็บถาวร 2007-09-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  28. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (มปป.). สัญลักษณ์มหาวิทยาลัย | THAMMASAT UNIVERSITY. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [6] เก็บถาวร 2010-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  29. The Asian Pacific News. (2549 ). พระอัฉริยภาพของในหลวง: “สำหรับข้าพเจ้าดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [7] เก็บถาวร 2010-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  30. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (มปป.). สัญลักษณ์มหาวิทยาลัย | THAMMASAT UNIVERSITY-ต้นหางนกยูง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [8] เก็บถาวร 2010-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  31. Media Thai Communications. (2553). เพลงพระราชนิพนธ์"ยูงทอง"ในงานฟุตบอลประเพณีครั้งนี้ [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [9] เก็บถาวร 2016-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  32. ข่าวออนไลน์ RYT9. (2543). ม.ธรรมศาสตร์ ขอเชิญชมการบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ ยูงทอง โดยวงบางกอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [10]. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  33. สำนักงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2551). ภาพบรรยากาศงานวันพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2551 [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [11][ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  34. 34.0 34.1 หอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (มปป.). ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [12] เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 2 กันยายน 2553).
  35. MCOT.net. (2553). ดาราลูกแม่โดมรับพระราชทานปริญญาบัตร [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [13] เก็บถาวร 2010-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  36. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. หนังสือคู่มือนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2550. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (2550).
  37. ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(นายสมคิด เลิศไพฑูรย์)
  38. ‘สมคิด’ หมดวาระอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ เริ่มนั่งรักษาการวันแรก 24 พ.ย.
  39. ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(นางเกศินี วิฑูรชาติ)
  40. คำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 181/2564 เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาการแทนอธิการบดี
  41. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(นางเกศินี วิฑูรชาติ),เล่มที่ ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑๑๕ ง หน้า ๙,๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
  42. ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ ผงาดนั่งอธิการบดีธรรมศาสตร์ คนใหม่
  43. เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 มีมติแต่งตั้ง ‘ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ ‘ เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดี จนกว่าจะได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่
  44. ประวัติคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เก็บถาวร 2010-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, โครงการปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  45. มติชน, 'สุรพล'ชนะคะแนนโหวต สภามธ. 25-6 ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมธ.สมัยที่ 2, มติชน, 24 กันยายน พ.ศ. 2550
  46. งานประชาสัมพันธ์, ข่าวประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เก็บถาวร 2020-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 25 กันยายน พ.ศ. 2550
  47. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2557). สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก[14] เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 22 มกราคม 2557).
  48. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2557). สำนักงานบริหารการวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก[15] เก็บถาวร 2014-06-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 22 มกราคม 2557).
  49. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-10. สืบค้นเมื่อ 2018-12-01.
  50. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2552). ธรรมศาสตร์ 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ในปี 2553 พร้อมเดินหน้าพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก[16] เก็บถาวร 2013-10-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 30 มกราคม 2557).
  51. สถาบันจัดอันดับแห่งประเทศไทย ฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย เก็บถาวร 2007-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
  52. "เปิด 50 อันดับมหาวิทยาลัยไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-18. สืบค้นเมื่อ 2021-08-20.
  53. "สกว.ประเมินครั้งที่ 2 พ.ศ. 2553". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-14. สืบค้นเมื่อ 2014-01-29.
  54. "สกว.ประเมินครั้งที่ 3 พ.ศ. 2554". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-28. สืบค้นเมื่อ 2014-01-29.
  55. http://www.natureindex.com/annual-tables/2016/institution/all/all/countries-Thailand
  56. http://www.natureindex.com/institution-outputs/thailand/chulalongkorn-university-cu/513906bb34d6b65e6a000175
  57. QS. QS University Rankings: Asia methodology. 13 June 2016. http://www.topuniversities.com/asia-rankings/methodology (accessed 29 June 2016).
  58. http://www.topuniversities.com/university-rankings/asian-university-rankings/2016#sorting=rank+region=+country=+faculty=+stars=false+search=
  59. https://www.topuniversities.com/university-rankings/world-university-rankings/2018
  60. QS. QS World University Rankings: Methodology. September 11, 2015. http://www.topuniversities.com/university-rankings-articles/world-university-rankings/qs-world-university-rankings-methodology (accessed june 29, 2016).
  61. [17]
  62. >[18] เก็บถาวร 2016-08-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  63. https://www.topuniversities.com/university-rankings/employability-rankings/2018
  64. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-27. สืบค้นเมื่อ 2016-09-25.
  65. http://www.webometrics.info/en/Asia/thailand
  66. http://www.4icu.org/th/
  67. เปิดรายชื่อผู้เสียชีวิต 6 ตุลาคม 2519 เก็บถาวร 2008-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก oknation.net
  68. ข่าวจุลสารธรรมศาสตร์ . (2550). อาคารโดมธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [19] เก็บถาวร 2020-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 27 สิงหาคม 2553).
  69. Sarakadee สารคดี. (มปป.). หยดน้ำในกระแสธาร : คนเล็ก ๆ ในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ (1). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [20] เก็บถาวร 2007-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 27 สิงหาคม 2553).
  70. 14 ตุลาคม วันมหาวิปโยค วีรชนคนรุ่นหลังที่ควรจดจำ จาก sanook.com
  71. 71.0 71.1 2519.net. (มปป.). ลำดับเหตุการณ์กรณี 6 ตุลาคม 2519. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [21]. (เข้าถึงเมื่อ: 27 สิงหาคม 2553).
  72. ลานปรีดี พนมยงค์ จาก es.foursquare.com
  73. 73.0 73.1 กำแพงวังหน้า เก็บถาวร 2014-08-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก tu.ac.th
  74. 2519.net. (มปป.). ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [22]. (เข้าถึงเมื่อ: 27 สิงหาคม 2553).
  75. 75.0 75.1 หอประชุมใหญ่ เก็บถาวร 2014-08-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก tu.ac.th
  76. ARTgazine Articles. (2550.). เปิดสวนประติมากรรม ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้ . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [23]. (เข้าถึงเมื่อ: 27 สิงหาคม 2553).
  77. 2519.net. (มปป.). 6 ตุลาคม กับการย้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [24]. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  78. นิตยสารสารคดี. (2548). ย้าย หรือ ไม่ย้าย : กรณีธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์-ศูนย์รังสิต. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [25]. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  79. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล, NECTEC Technology Roadmap in Software Technology
  80. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2553). ประวัติความเป็นมาของ มธ. ศูนย์รังสิต. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [26] เก็บถาวร 2010-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 30 สิงหาคม 2553).
  81. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2544.). จุลสารธรรมศาสตร์ ฉบับแนะนำหอพักและอเนกประสงค์ศาลา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [27] เก็บถาวร 2010-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 30 สิงหาคม 2553).
  82. สโมสรฟุตบอลอินทรีเพื่อนตำรวจ. (2552.). สนาม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [28] เก็บถาวร 2010-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  83. อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี สวนแห่งใหม่ของธรรมศาสตร์ที่เป็น Green roof. (2562.). The Cloud. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [29]. (เข้าถึงเมื่อ: 7 ธันวาคม 2562).
  84. http://www.lampang.tu.ac.th/index.php/history[ลิงก์เสีย]
  85. http:// socadmin.tu.ac.th/about/about.htm
  86. พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. (มปป.). พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก : [30] เก็บถาวร 2010-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2553).
  87. Wannapong Journal. (มปป.). Review อนุสรณ์สถาน ปรีดี พนมยงค์ แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก : [31] เก็บถาวร 2009-11-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2553).
  88. สถาบันประมวลข้อมูลเพื่อการศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (มปป.). วัตถุประสงค์หอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก : [32] เก็บถาวร 2010-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม 2553).
  89. สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (มปป.). ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2552 และ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2552 (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก [33][ลิงก์เสีย] เข้าถึงเมื่อ: 27 สิงหาคม 2553.
  90. อนันต์ ลือประดิษฐ์, จับกระแส : อาวุธเพื่อการขับไล่ทรราช เก็บถาวร 2007-06-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, กรุงเทพธุรกิจ, 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
  91. กองบรรณาธิการ, งิ้วกู้ชาติ[ลิงก์เสีย], ไทยโพสต์, 4 มีนาคม พ.ศ. 2549
  92. พิชามญชุ์, “โขนธรรมศาสตร์เฉลมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา” สู่เวลาผลัดใบของโขนธรรมศาสตร์รุ่นใหม่ เก็บถาวร 2009-01-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2381 ปีที่ 46 ประจำวันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2543
  93. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, [34] เก็บถาวร 2011-03-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต บัณฑิตอาสาสมัคร, 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553
  94. ศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, [35] เก็บถาวร 2010-08-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เกี่ยวกับเรา, 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553
  95. มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน). (มปป.).โครงการจัดตั้งศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ออนไลน์), เข้าถึงได้จาก : [36] เก็บถาวร 2010-08-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553
  96. กลุ่มแรงคิด ต้นกล้าประชาธิปไตย. (มปป.).รายละเอียดค่ายอาสา (ออนไลน์), เข้าถึงได้จาก : [37]. เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553
  97. มูลนิธิโลกสีเขียว. (2552).“ทำนา”…วิชาใหม่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ออนไลน์), เข้าถึงได้จาก : [38] เก็บถาวร 2010-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553
  98. news.sanook.com. (2549).ธรรมศาสตร์ให้นศ.ทำนา สอนติดดิน (ออนไลน์), เข้าถึงได้จาก : [39]. เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553
  99. ข่าวงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2553).งานปฐมนิเทศนักศึกษาและต้อนรับเพื่อนใหม่ ประจำปี 2553 (ออนไลน์), เข้าถึงได้จาก : [40] เก็บถาวร 2010-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553
  100. งานวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2551).โครงการธรรมศาสตร์ทำนา....เศรษฐกิจพอเพียง ปีที่ 3 (ออนไลน์), เข้าถึงได้จาก : [41] เก็บถาวร 2010-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553
  101. Pantip-Cafe. (2552.). หอพักรัชดาภิเษก แบบนี้ดีแล้วหรือ? . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [42]. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  102. สำนักงานจัดการทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2553.). เปิดบริการห้องพักอบรมสัมมนา คืนละ 500 บาท. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [43] เก็บถาวร 2010-09-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  103. สำนักงานจัดการทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (มปป.). ทำไมถึงต้องย้ายทะเบียนบ้านด้วยค่ะ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [44] เก็บถาวร 2010-09-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  104. ไทยเอฟอาร์. (2553.). อีกแล้ว... กับเรื่องหอของธรรมศาสตร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [45] เก็บถาวร 2011-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  105. กรุงเทพธุรกิจ. (2010). 'มาริษ'ทิ้งไอเอ็นจี วิบากกรรมทียูโดม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [46] เก็บถาวร 2011-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  106. กระดานข่าวคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2551). รวมพลังนักศึกษา เรียกร้องสิทธิ กรณีทียูโดม และอื่น ๆ อันเกิดจากการกระทำของสำนักทรัพย์ฯ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [47][ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  107. โพสต์ทูเดย์ดอตคอม. (2553.). INGเร่งสร้างทียูโดมจบพ.ค.54. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [48][ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  108. เคมี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2552.). เพิ่มเติมเรื่องการจองหอนะครับ ในวันที่ 29 พ.ค. 52. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [49][ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  109. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2553). ประกาศ รายชื่อผู้มีสิทธิเข้าพักในหอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ภาคการศึกษา 1/2553 เพิ่มเติม (ครั้งที่ 4) และการจัดห้องพัก . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [50][ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  110. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ. (มปป.). สายรถเมล์–ขสมก. (BMTA) :มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [51] เก็บถาวร 2010-08-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  111. นัทธี ฤทธิ์ดี. (2551). ทางเดินของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (นับแต่พ.ศ. 2541 ถึงปัจจุบัน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [52] เก็บถาวร 2020-09-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  112. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา. (2551). ความเป็นของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ : อดีตถึงปัจจุบัน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [53][ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  113. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2551). อธิการบดีตอบคำถามเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในกำกับเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2551 ในการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ... ณ ห้องกิจกรรม หอสมุดป๋วย อึ๊งภาภรณ์ มธ.ศูนย์รังสิต. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [54] เก็บถาวร 2009-09-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  114. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2551). บทสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวกับนโยบายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับเส้นทางสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [55] เก็บถาวร 2020-09-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  115. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2551). อธิการบดีตอบคำถามเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในกำกับเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2551 ในการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ... ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร LT.1 คณะนิติศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก[56][ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 26 สิงหาคม 2553).
  116. ครม.เห็นชอบร่างพรบ.ม.ธรรมศาสตร์ ออกนอกระบบ[ลิงก์เสีย]
  117. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2551). ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก[57] เก็บถาวร 2007-09-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 20 มกราคม 2557).

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°45′21″N 100°29′27″E / 13.755853°N 100.490878°E / 13.755853; 100.490878