ข้ามไปเนื้อหา

อาณาจักรอยุธยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กรุงศรีอยุธยา)
อาณาจักรอยุธยา

กรุงไทย[1], เมืองไท[2][3]
แผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณปี พ.ศ. 2083: สีม่วงน้ำเงิน: อยุธยา สีชมพู: ล้านช้าง สีน้ำเงิน: ล้านนา สีเขียวอ่อน: กัมพูชา สีม่วง:ไดเวียต สีชมพู:จามปา
แผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณปี พ.ศ. 2083:
สีม่วงน้ำเงิน: อยุธยา
สีชมพู: ล้านช้าง
สีน้ำเงิน: ล้านนา
สีเขียวอ่อน: กัมพูชา
สีม่วง:ไดเวียต
สีชมพู:จามปา
อาณาจักรอยุธยาในปี พ.ศ. 2142 ในรัชสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
อาณาจักรอยุธยาในปี พ.ศ. 2142 ในรัชสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สถานะราชอาณาจักร
เมืองหลวงอยุธยา (1893–2006, 2031–2209, 2231–2310)
พิษณุโลก (2006–2031)[4]
ลพบุรี (2209–2231)
ภาษาทั่วไปไทย
การปกครองราชาธิปไตยแบบศักดินา
พระมหากษัตริย์ 
• 1893–1913
1931–1952
ราชวงศ์อู่ทอง
• 1913–1931
1952–2112
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
• 2112–2173
ราชวงศ์สุโขทัย
• 2173–2231
ราชวงศ์ปราสาททอง
• 2231–2310
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ยุคประวัติศาสตร์สมัยกลางและสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา
• สถาปนา
4 มีนาคม พ.ศ. 1893 (นับแบบปฏิทินไทยสากล 12 มีนาคม พ.ศ. 1894)
• รัฐร่วมประมุขกับอาณาจักรสุโขทัย
พ.ศ. 2011
• เริ่มติดต่อกับโปรตุเกส
พ.ศ. 2054
พ.ศ. 2112
• สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพ
พ.ศ. 2127
พ.ศ. 2231
7 เมษายน พ.ศ. 2310
ก่อนหน้า
ถัดไป
อาณาจักรละโว้
แคว้นสุพรรณภูมิ
อาณาจักรสุโขทัย
อาณาจักรนครศรีธรรมราช
อาณาจักรธนบุรี
ราชวงศ์โก้นบอง
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ ไทย
 กัมพูชา
 มาเลเซีย
 พม่า
 ลาว
 เวียดนาม
 จีน

กรุงศรีอยุธยา หรือ อาณาจักรอยุธยา เป็นอาณาจักรของชนชาติไทยสยาม (ไทยภาคกลาง) ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วง พ.ศ. 1893 ถึง พ.ศ. 2310 มีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจหรือราชธานี ทั้งยังมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับหลายชาติ จนถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าในระดับนานาชาติ[5] เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ญี่ปุ่น เปอร์เซีย รวมทั้งชาติตะวันตก เช่น โปรตุเกส สเปน เนเธอร์แลนด์ (ฮอลันดา) อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งเคยสามารถขยายอาณาเขตประเทศราชถึงรัฐชานของพม่า อาณาจักรล้านนา มณฑลยูนนาน อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรขอม และคาบสมุทรมลายูในปัจจุบัน[6]

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]

ชื่อของอาณาจักรอยุธยามาจากคำว่า อโยธยา หรือ สุริอโยทยา (จารึกลานทองวัดส่องคบ ๑ จังหวัดชัยนาท พ.ศ. 1951) อโยชฌ หรือ อโยชฌปุระ (จารึกวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี ลานที่ ๑) อายุทธิยา หรือ โยธิยา (ตำนานพระธาตุดอยสุเทพ) ศรีโยทญา (สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา) สรียุทธยา (จารึกพระราชมุนี หลักที่ 314) หมายถึง เมืองที่ศัตรูไม่อาจรบชนะได้ เป็นชื่อมาจากชื่อเมืองของพระรามในนิทานอินเดียเรื่อง รามายณะ ต่อมา ประเสริฐ ณ นคร ได้เสนอแก้เป็น อยุธยา จึงใช้คำว่า อยุธยา มาโดยตลอด[7]: 13  ส่วนนักประวัติศาสตร์รุ่นต่อมาสันนิษฐานว่า อโยธยา มาจากจารึกเขากบ จังหวัดนครสวรรค์ คำจารึกปรากฏชื่อว่า อโยธยาศรีรามเทพนคร[8]: 125  ส่วนชื่ออาณาจักรอยุธยาในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และพระราชพงศาวดารพม่าในการรับรู้ของชาวพม่าปรากฏชื่อ โยเดีย โยธยา (พม่า: ယိုးဒယား, อักษรโรมัน: Yodayá, Yòdəyá, แปลตรงตัว'ชาวสยาม (Siamese), ชาวไทย ประเทศไทย (Thai, Thailand)')[9] อโยชะ (Ayoja)[10] คฺยวน (Gywan)[10] กร่อนมาจากคำว่า อโยธยา หมายถึง ชาวไทยจากภาคกลาง และภาคใต้ของไทย (ไม่รวมไทใหญ่ และล้านนา) และยังหมายถึง ราชธานีและอาณาจักรทวารวดีศรีอยุธยาซึ่งสถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 1893[11]: 122  คำว่า คฺยวน (Gywan)[10] ยังหมายรวมถึงลูกหลานของชาวไทยวน ที่ติดตามพระเจ้าพรหมมหาราชกษัตริย์โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น ทำสงครามจนมีชัยเหนือพวกขอมลงมาทางใต้ถึงกำแพงแสน

ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ กล่าวว่า Arawsa หรือ Ayoja ใน มหาราชวงศ์ ฉบับหอแก้ว หมายถึง อยุธยา (Ayudhya) = สยาม[12]

ชื่ออาณาจักรอยุธยาในบันทึกต่างชาติฝั่งเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ พบในบันทึกของราชทูตเปอร์เซียชื่อ The Ship of Sulaiman ที่เข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า ชะฮฺริ เนาว์[13]: 118 [14]: 118  (เปอร์เซีย: شهر نو[15]: 168 ; อังกฤษ: Shahr-i Nau[15]: 168 , shahr i nâv[16]: 132 [17], Shahr-i-Nao[8]: 125 ) ชะฮฺริ หรือ ชะฮฺร์ หมายถึง เมือง เนาว์ หมายถึง เมืองใหม่ หรือ เรือ[13]: 118:เชิงอรรถ ๑  เมื่อรวมกันจึงหมายถึง เมืองใหม่อันเป็นเมืองแห่งนาวา มีเรือ และแม่น้ำลำคลองมากมาย [13]: 146  นักประวัติศาสตร์ศิลป์และนักโบราณคดีของไทยมีความเห็นว่า บริเวณฝั่งตะวันออกของเกาะอยุธยาอาจเคยเป็นที่ตั้งของเมืองเก่ามาก่อนที่จะสถาปนาอาณาจักรอยุธยาขึ้นราว ค.ศ. 1350[8]: 74:เชิงอรรถ ๒ 

ชื่อของอาณาจักรอยุธยาในบันทึกของชาวตะวันตกอื่นๆ เพี้ยนมาจาก ชะฮฺริ เนาว์ ในภาษาเปอร์เซีย เช่น แชร์นอเนิม (Cernonem)[18] พบใน บันทึกการเดินทางของนิกโกโล เด คงติ (Niccolò de’ Giovanni Conti) ที่เดินมาเข้ามายังอุษาคเนย์ราว ค.ศ. 1425-1430 ชิแอร์โน (Scierno)[18] ในภาษาอิตาลีพบในแผนที่โลก Il Mappamondo di Fra Mauro เขียนโดย ฟรา เมาโร เมื่อ ค.ศ. 1450 ส่วนเอกสารโปรตุเกสชื่อ ซาร์เนาซ์ (Xarnauz)[18] เพี้ยนมาจากภาษาเปอร์เซียเช่นกัน พบใน จดหมายเหตุการเดินทางสู่อินเดียครั้งที่ 1 ของวาสโก ดา กามา ค.ศ. 1497-1499 (Roteiro da primeira viagem de Vasco da Gama à Índia, 1497-1499) เข้าใจว่าจดหมายเหตุนี้เขียนโดย เวลญู (Álvaro Velho) เป็นต้น ชื่ออื่นๆ ในเอกสารสเปนยังปรากฏว่า โอเดีย (Odia, Iudua, Iudiad, Iudia) หรือ ยูเดีย (Judia, Juthia, Yuthia)[8]: 125  หรือ พระมหานครโยเดีย[19] บันทึกของนีกอลา แฌร์แวซ ซึ่งเดินทางเข้ามาเมื่อปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีชื่อว่า Meüang Sijouthia (Ayut'ia)[20]: 15  ส่วนชาวญี่ปุ่นเรียกอยุธยาว่า ชามโร (Shamro)[21]: 153 

นามอาณาจักร

[แก้]

พระราชสาส์นถึงพระเจ้าดอนฟิลิปแห่งโปรตุเกส พ.ศ. 2161 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ต้นฉบับอักษรไทย ภาษาไทยสมัยอยุธยา ระบุนามว่า:–

  • กรุงพระมหาณคอรทวารวดี ศรีอยุธยามหาดิลก ภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมสวามีศรีสุพรรณคฤหรัตน[22] (คำปริวรรตโดย ประเสริฐ ณ นคร และวินัย พงศ์ศรีเพียร)
  • เ - - - - - - - - - - ดี ศรีอยุธยามหาดิลก ภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมสวามีศรีสุพรรณคฤหรัตน[23][24] (คำปริวรรตโดย ประสาร บุญประครอง)
  • กรุงพระมหานครทวารวดีศรีอยุธยา[23] (คำปริวรรตโดย ประสาร บุญประครอง)

ที่ตั้ง

[แก้]

กรุงศรีอยุธยาเป็นเกาะซึ่งมีแม่น้ำสามสายล้อมรอบอยู่ ได้แก่ แม่น้ำป่าสักทางทิศตะวันออก, แม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกและทิศใต้ และแม่น้ำลพบุรีทางทิศเหนือ เดิมทีบริเวณนี้ไม่ได้มีสภาพเป็นเกาะ แต่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงดำริให้ขุดคูเชื่อมแม่น้ำทั้งสามสาย เพื่อให้เป็นปราการธรรมชาติป้องกันข้าศึก ที่ตั้งกรุงศรีอยุธยายังอยู่ห่างจากอ่าวไทยไม่มากนัก ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศ และอาจถือว่าเป็น "เมืองท่าตอนใน" เนื่องจากเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค มีสินค้ากว่า 40 ชนิดจากสงครามและรัฐบรรณาการ แม้ว่าตัวเมืองจะไม่ติดทะเลก็ตาม

มีการประเมินว่า ราว พ.ศ. 2143 กรุงศรีอยุธยามีประชากรประมาณ 300,000 คน และอาจสูงถึง 1,000,000 คน ราว พ.ศ. 2243 [25] บางครั้งมีผู้เรียกกรุงศรีอยุธยาว่า "เวนิสแห่งตะวันออก"[26][27]

ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นที่ที่เคยเป็นเมืองหลวงของไทยนั้น คือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา[28]ตัวนครปัจจุบันถูกตั้งขึ้นใหม่ห่างจากกรุงเก่าไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร

ประวัติ

[แก้]

การกำเนิด

[แก้]

ความเป็นมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของอาณาจักรอยุธยานั้นมีปรากฏว่าดินแดนแถบนี้เป็นที่ตั้งเมืองมาแต่โบราณมีมาอยู่ก่อน หรือมีอยู่ร่วมสมัยกับอาณาจักรสุโขทัย เพราะปรากฏว่ามีแหล่งชุมชนคับคั่งในดินแดนดังกล่าว[29] ปรากฏในจารึกวัดเขากบ (นว.2) หลักที่ 11 อายุพุทธศตวรรษที่ 20 ว่า อโยธยาศรีรามเทพนคร[30] ใน มหาราชวงศ์ ฉบับหอแก้ว (The Hmannan Yazawin) ฉบับแปลโดยหม่องทินและลูซ มีบันทึกเหตุการณ์ในรัชสมัยพระเจ้าอลองสิธู พ.ศ. 1632 กล่าวถึงดินแดนทิศตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นดินแดนของ คฺยวน (Gywans) ที่เคยยกทัพไปตีกรุงสะเทิม อาณาจักรสุธรรมวดีเมื่อ พ.ศ. 1599 จากบันทึกในศิลาจารึกพม่า ณ สักกาลัมปะเจดีย์[31] คือ ขอมจากแคว้นอโยธยา[32] มีชื่อว่า อโยชะ (Ayoja)[33] หรือ อะรอซา (Arawsa)[29] หมายถึง อโยชชะ ในรูปคำบาลีของชื่อ อโยธยา หรืออยุธยา และ คฺยวน เป็นลูกหลานของชาวไทยวน[34] ที่ติดตามพระเจ้าพรหมมหาราช กษัตริย์โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นทำสงครามจนมีชัยเหนือพวกขอมลงมาทางใต้ถึงกำแพงแสน ต่อมา จิตร ภูมิศักดิ์ตรวจสอบหลักฐานพบว่าเมืองอโยธยามีอายุเก่าแก่กว่ากรุงสุโขทัย[32] เรื่องราวของกองทัพคฺยวน (Gywans) ยกทัพไปตีเมืองมอญมีมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 295 ปี

กฎหมายเก่าชื่อ พระอัยการเบ็ดเสร็จ (อายการเบดเสรจ) มหาศักราช ๑๑๔๖ ปีมะแม (พ.ศ. 1768) ระบุพระนามกษัตริย์เมืองอโยธยาเดิมว่า "พระบาทสมเดจ์พระรามาธิบดีศรีวิสุทธิบุรุโสดมบรมจักรพรรดิธรรมิกกราชเดโชไชเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศ บรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว"[35]

ปรากฏใน กฎหมายตราสามดวง ฉบับตัวเขียนจากหอสมุดแห่งชาติ ชำระในสมัยรัชกาลที่ 1 ว่า:-

ศุภมัสดุ ๑๑๔๖ ศกมแมนักสัตวเจตมาศปัญจมีดิถีรวิวาร พระบาทสมเดจ์พระรามาธิบดีศรีสิทธิวิสุทธิบุรโสดมบรมจักรพรรดิธรรมิกกราช เดโชไชยาเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศบรมบพิตร พระพุทธิเจ้าอยู่หัว เสด็จ ณ พระที่นั่งมังคลาพิเศกโดยบุรรพาภิมุขเบื้องไพชมะหาปราสาท มีพระราชโองการมานพระบันทูลสุรสิงหนาทพระราชประยัษคำนับไว้แก่ผู้รั้ง กรมการ ผู้พิจารณาความฉมบ จะกละ กระสือกระหาง ถ้าเป็นสัจแล้วอย่าให้เจ้าเมือง กรมการ เอา ฉะมบ จะกละ กระสือ กระหางไปฆ่าเสีย ให้บอกส่งเข้าไปยังกรุง ให้ไว้แต่นอกขนอน จะให้พิจารณาก่อนถ้าเจ้าเมือง กรมการ มิบอกส่งเข้าไปแลฆ่าเสียแล้ว จึ่งบอกเข้าไปยังกรุงต่อพายหลังให้มีโทษสิ้นชีวิตร[36]

จิตร ภูมิศักดิ์ และศาสตราภิชานล้อม เพ็งแก้ว ตรวจสอบคำนวณวันที่ตรากฎหมาย พระอัยการเบ็ดเสร็จ (อายการเบดเสรจ) มหาศักราช ๑๑๔๖ พบว่าตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำเดือนห้า ตรงกับสุริยคติวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 1768 ตราขึ้นก่อนการสถาปนาอาณาจักรอยุธยา 125 ปี[37]

และใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ มีความบันทึกกล่าวถึงการสร้างวัดพนัญเชิงวรวิหารว่า:-

จุลศักราช ๖๘๖ ชวดศก (พ.ศ. ๑๘๖๗) แรกสถาปนาพระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง[38]

ความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าข้างต้นหมายความว่า วัดพนัญเชิงวรวิหารสร้างเมื่อ พ.ศ. 1868 ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีถึง 26 ปี[39]

ส่วนเอกสารของทั้งฝ่ายไทยและต่างประเทศ อาทิ พงศาวดารเหนือในส่วนที่เกี่ยวกับพระเจ้าสายน้ำผึ้ง พงศาวดารล้านช้างที่ว่าขุนบรมได้ให้กำเนิดบุตรเจ็ดคนไปครองเมืองต่าง ๆ โดยคนที่ห้าคือ "งัวอิน" ได้ครองเมืองอโยธยา[40] และพงศาวดารราชวงศ์หยวนที่แม้ไม่ปรากฏชื่อ "อโยธยา" แต่ปรากฏชื่อแคว้น "เซียม" และ "หลอโว้ก" ที่อาจหมายถึงแคว้นสุพรรณบุรีและละโว้[41]

การกำเนิดอาณาจักรอยุธยาที่ได้รับการยอมรับกว้างขวางที่สุด คือ เป็นรัฐที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเป็นการรวมอำนาจกันระหว่างอาณาจักรละโว้และอาณาจักรสุพรรณภูมิ โดยช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 อาจจะเพราะภัยโรคระบาดคุกคาม สมเด็จพระเจ้าอู่ทองจึงทรงย้ายราชสำนักมายังที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงอันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหนองโสนบนเกาะที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำซึ่งในอดีตเคยเป็นนครท่าเรือเดินทะเล ชื่อ อโยธยา นครใหม่นี้ได้รับการขนานนามว่า กรุงพระนครศรีอยุธยา[42] หรือ กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา มหาดิลกภพนพรัตน ราชธานีบุรีรมย์[43] หรือ อโยธยาศรีรามเทพนคร[44] ซึ่งภายหลังมักเรียกว่า กรุงศรีอยุธยา แปลความหมายว่า นครที่ไม่อาจทำลายได้[45]

พระบริหารเทพธานี อธิบายว่า ชาวไทยเริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณตอนกลาง และตอนล่างของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 แล้ว ทั้งยังเคยเป็นที่ตั้งของเมืองสังขบุรี อโยธยา เสนาราชนคร และกัมโพชนคร[46] ต่อมา ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรขอมและสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง พระเจ้าอู่ทองทรงดำริจะย้ายเมืองและก่อสร้างเมืองขึ้นมาใหม่โดยส่งคณะช่างก่อสร้างไปยังอินเดียและได้ลอกเลียนแบบผังเมืองอโยธยามาสร้างและสถาปนาให้มีชื่อว่า กรุงศรีอยุธยา[47]

ในส่วนวันสถาปนากรุงศรีอยุธยา ที่ผ่านมาได้มีการคำนวณปรับเทียบวันเดือนปีทางจันทรคติที่มีระบุในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ความว่า "ศักราช 712 ขาลศก วันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือนห้า....." ว่าตรงกับวันศุกร์ที่ "4 มีนาคม จ.ศ. 712" จากนั้นบวก 1181 เข้าไปเพื่อแปลงจุลศักราชให้เป็นพุทธศักราช จึงได้ว่า ตรงกับวันศุกร์ที่ "4 มีนาคม พ.ศ. 1893" และเผยแพร่กันโดยทั่วไปนั้น หากพิจารณาและปรับแก้ให้สอดคล้องกับปฏิทินไทยสากลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันซึ่งขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม วันสถาปนาจะตรงกับ วันศุกร์ที่ "12 มีนาคม พ.ศ. 1894 (ค.ศ. 1351)" [48][49]

SIAN (กรุงศรีอยุธยา) ในแผนที่อับราฮัม ออร์ทีเลียส วาดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2107–2111 รัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 1569 (ตรงกับ พ.ศ. 2112 รัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราช)[50]

การขยายอาณาเขต

[แก้]
กรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2209) วาดโดยบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์
แผนที่กรุงศรีอยุธยา ฉบับพิมพ์ปี ค.ศ. 1696 (พ.ศ. 2239) กรุงเวนิส วาดโดย วินเช็งโซ มารีอา โคโลเนลลี นักภูมิศาสตร์ ช่างวาดแผนที่ และช่างทำลูกโลกชาวอิตาลีที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 (SIAM, ó IUDIA, Dedicata Dal P. Cosmografo Coronelli, All'Illustriſsimo Sig: Giovanni Emo, Figliuolo dell'Eccellentissimo S. Pietro.)

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 อาณาจักรอยุธยาได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจที่สุดแห่งหนึ่งในอุษาคเนย์แผ่นดินใหญ่ และได้เริ่มครองความเป็นใหญ่โดยเริ่มจากการพิชิตราชอาณาจักรและนครรัฐทางเหนือ อาทิ สุโขทัย กำแพงเพชรและพิษณุโลก มีการโจมตีเมืองพระนครแห่งอาณาจักรขอมซึ่งเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคในขณะนั้น จนอิทธิพลของอาณาจักรขอมค่อย ๆ จางหายไปจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และอยุธยากลายมาเป็นมหาอำนาจใหม่แทน

อย่างไรก็ดี อาณาจักรอยุธยามิได้เป็นรัฐที่รวมเป็นหน่วยเดียวกัน หากเป็นการปะติดปะต่อกันของอาณาเขต (principality) ที่ปกครองตนเอง และประเทศราชที่สวามิภักดิ์ต่อพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาภายใต้ปริมณฑลแห่งอำนาจ (Circle of Power) หรือระบบมณฑล (mandala) ดังที่นักวิชาการบางฝ่ายเสนอ[51] อาณาเขตเหล่านี้อาจปกครองโดยพระบรมวงศานุวงศ์กรุงศรีอยุธยา หรือผู้ปกครองท้องถิ่นที่มีกองทัพอิสระของตนเอง ที่มีหน้าที่ให้การสนับสนุนแก่เมืองหลวงยามสงครามก็ได้ อย่างไรก็ดีมีหลักฐานว่า บางครั้งที่เกิดการกบฏท้องถิ่นที่นำโดยเจ้าหรือพระมหากษัตริย์ท้องถิ่นขึ้นเพื่อตั้งตนเป็นเอกราช อยุธยาก็จำต้องปราบปราม

ด้วยไร้ซึ่งกฎการสืบราชสันติวงศ์และมโนทัศน์คุณธรรมนิยม (ในบางสมัย) (meritocracy) อันรุนแรง ทำให้เมื่อใดก็ตามที่การสืบราชสันติวงศ์เป็นที่พิพาท เจ้าปกครองหัวเมืองหรือผู้สูงศักดิ์ (dignitary) ที่ทรงอำนาจจะอ้างคุณความดีของตนรวบรวมไพร่พลและยกทัพมายังเมืองหลวงเพื่อกดดันตามข้อเรียกร้อง จนลงเอยด้วยรัฐประหารอันนองเลือดหลายครั้ง[52]

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 อยุธยาแสดงความสนใจในคาบสมุทรมลายู ที่ซึ่งมะละกาเมืองท่าสำคัญ อยุธยาพยายามยกทัพไปตีมะละกาหลายครั้งแต่ไร้ผล มะละกามีความเข้มแข็งทั้งทางการทูตและทางเศรษฐกิจ ด้วยได้รับการสนับสนุนทางทหารจากราชวงศ์หมิงของจีน หนึ่งในนั้นคือการที่แม่ทัพเรือเจิ้งเหอแห่งราชวงศ์หมิงได้สถาปนาฐานปฏิบัติการแห่งหนึ่งขึ้นที่มะละกา เป็นเหตุให้จีนไม่อาจยอมสูญเสียตำแหน่งยุทธศาสตร์นี้แก่รัฐอื่น ๆ ภายใต้การคุ้มครองนี้ มะละกาจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นหนึ่งในคู่แข่งทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ของอยุธยา กระทั่งถูกโปรตุเกสพิชิตเมื่อ พ.ศ. 2054[53]

เริ่มตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 21 อาณาจักรอยุธยาถูกราชวงศ์ตองอูโจมตีหลายครั้ง สงครามครั้งแรกคือ สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ เมื่อ พ.ศ. 2091-92 แต่ล้มเหลว การรุกรานครั้งที่สองของราชวงศ์ตองอู หรือเรียกว่า "สงครามช้างเผือก"สมัยพระมหาจักรพรรดิ เมื่อ พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองทรงให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยอมจำนน พระบรมวงศานุวงศ์บางส่วนถูกพาไปยังกรุงหงสาวดี และสมเด็จพระมหินทราธิราช พระราชโอรสองค์โต ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าประเทศราช[54][55] เมื่อ พ.ศ. 2112 ราชวงศ์ตองอูรุกรานอีกเป็นครั้งที่สาม และสามารถยึดกรุงศรีอยุธยาได้ในปีต่อมา หนนี้พระเจ้าบุเรงนองทรงแต่งตั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเป็นเจ้าประเทศราช[55]

การฟื้นตัว

[แก้]

ภายหลังที่พระเจ้าบุเรงนองสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2124 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศเอกราชแก่กรุงศรีอยุธยาอีกสามปีให้หลัง อยุธยาต่อสู้ป้องกันการรุกรานของรัฐหงสาวดีหลายครั้ง จนในครั้งสุดท้าย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปลงพระชนม์เมงจีสวา (Mingyi Swa) อุปราชาของราชวงศ์ตองอูได้ในสงครามยุทธหัตถีเมื่อ พ.ศ. 2135 จากนั้นอยุธยากลับเป็นฝ่ายบุกโดยยึดชายฝั่งตะนาวศรีทั้งหมดขึ้นไปจนถึงเมาะตะมะใน พ.ศ. 2138 และล้านนาใน พ.ศ. 2145 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพเข้าไปในพม่าลึกถึงตองอูใน พ.ศ. 2143 แต่ทรงถูกขับกลับมา หลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2148 ตะนาวศรีตอนเหนือและล้านนาก็ตกเป็นของอาณาจักรตองอูอีกครั้งใน พ.ศ. 2157[56] อยุธยาพยายามยึครองล้านนาและตะนาวศรีตอนเหนือกลับคืนระหว่าง พ.ศ. 2205-07 แต่ล้มเหลว[57]

การค้าขายกับต่างชาติไม่เพียงแต่ให้อยุธยามีสินค้าฟุ่มเฟือยเท่านั้น แต่ยังได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ ด้วย โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองมาก[58] แต่กลับสูญเสียการควบคุมเหนือหัวเมืองรอบนอก ผู้ปกครองท้องถิ่นใช้อำนาจของตนอย่างอิสระ และเริ่มกบฏต่อเมืองหลวงมากขึ้น

การล่มสลาย

[แก้]

หลังจากยุคสมัยอันนองเลือดแห่งการต่อสู้ของราชวงศ์ กรุงศรีอยุธยาเข้าสู่ "ยุคทอง" เมื่อศิลปะ วรรณกรรมและการเรียนรู้เฟื่องฟู ยังมีสงครามกับต่างชาติ กรุงศรีอยุธยาสู้รบกับเจ้าเหงียน (Nguyễn Lords) ซึ่งเป็นผู้ปกครองเวียดนามใต้ เพื่อการควบคุมกัมพูชา เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2258 แต่ภัยคุกคามที่ใหญ่กว่ามาจากราชวงศ์อลองพญาซึ่งได้ผนวกรัฐชานเข้ามาอยู่ในอำนาจ

ช่วง 50 ปีสุดท้ายของราชอาณาจักรมีการสู้รบอันนองเลือดระหว่างเจ้านาย โดยมีพระราชบัลลังก์เป็นเป้าหมายหลัก เกิดการกวาดล้างข้าราชสำนักและแม่ทัพนายกองที่มีความสามารถตามมา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้าย บังคับให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พระอนุชาธิราช ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ขณะนั้นสละราชสมบัติและขึ้นครองราชย์แทน

พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญาทรงยกทัพรุกรานอาณาจักรอยุธยา หลังจากอยุธยาว่างเว้นศึกภายนอกมานานกว่า 150 ปี จะมีก็เพียงการนำไพร่พลเข้าต่อตีกันเองเพื่อแย่งชิงอำนาจเท่านั้น[59] ซึ่งในขณะนั้น อยุธยาเกิดการแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างเจ้าฟ้าเอกทัศกับเจ้าฟ้าอุทุมพร อย่างไรก็ดี พระเจ้าอลองพญาไม่อาจหักเอากรุงศรีอยุธยาได้ในการทัพครั้งนั้น

แต่ใน พ.ศ. 2308 พระเจ้ามังระ พระราชโอรสแห่งพระเจ้าอลองพญา ทรงแบ่งกำลังออกเป็นสองส่วน และเตรียมการกว่าสามปี มุ่งเข้าตีอาณาจักรอยุธยาพร้อมกันทั้งสองด้าน ฝ่ายอยุธยาต้านทานการล้อมของทัพพม่าไว้ได้ 14 เดือน แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งการกองทัพรัฐอังวะได้ เนื่องจากมีกำลังมาก และต้องการทำลายศูนย์อำนาจอย่างอยุธยาลงเพื่อป้องกันการกลับมามีอำนาจ อีกทั้งกองทัพอังวะยังติดศึกกับจีนราชวงศ์ชิงอยู่เนือง ๆ หากปล่อยให้เกิดการสู้รบยืดเยื้อต่อไปอีก ก็จะเป็นภัยแก่อังวะ และมีสงครามไม่จบสิ้น ในที่สุดกองทัพอังวะสามารถเข้าพระนครได้ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310[60]

ในช่วงปี พ.ศ. 2303-2310 มีเหตุการณ์เผาทำลายเมืองและปล้นเมืองไปส่วนใหญ่ โดยในปี พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาทำลายกรุงศรีอยุธยาตามพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทุมาศ (เจิม) ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน หลักฐานอื่น ๆ เช่น คำให้การขุนหลวงหาวัด หนังสือสังคีติยวงศ์ และบันทึกของชาวต่างชาติเช่น โรแบรต์ โกสเต (Robert Goste), ฟร็องซัว-อ็องรี ตูร์แป็ง, และ คุณพ่อกอร์ ที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรและได้บันทึกเหตุการณ์เอาไว้[61] โดยตูร์แป็งได้บันทึกไว้ว่า[61]: 149 

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2310 บ้านเมืองถูกข้าศึกบุกเข้าโจมตีทรัพย์สมบัติในพระราชวังและวัดวาอารามต่าง ๆ แทบไม่เหลือสิ่งใดนอกจากซากปรักหักพังและเถ้าถ่าน พระพุทธรูปถูกข้าศึกเผาจนหลอมละลาย เปลวเพลิงที่ลุกลามทำให้ผู้ชนะที่ป่าเถื่อนต้องสูญเสียสิ่งของที่ปล้นชิงมา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้กระตุ้นให้พวกเขาเกิดความละโมบ พวกพม่ายังได้ระบายความโกรธแค้นของพวกเขาจากการสูญเสียในครั้งนี้ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ

รายพระนามพระมหากษัตริย์

[แก้]

กรุงอโยธยา (ไม่ปรากฏ – พ.ศ. 1893)

[แก้]

พระมหากษัตริย์แห่งกรุงอโยธยามีทั้งสิ้น 10 พระองค์ โดยมีรายพระนามดังต่อไปนี้[62]

พระมหากษัตริย์ ครองราชย์
รัชกาล พระรูป พระนาม ระหว่าง หมายเหตุ
กรุงอโยธยา
(ไม่ปรากฏ – พ.ศ. 1893)
1 พระนารายณ์ พ.ศ. 1625 – 1630
(5 ปี)
2 พระเจ้าหลวง พ.ศ. 1632 – 1654
(22 ปี)
3 พระเจ้าสายน้ำผึ้ง พ.ศ. 1654 – 1708
(54 ปี)
4 พระเจ้าธรรมิกราชา พ.ศ. 1708 – 1748
(40 ปี)
5 พระเจ้าอู่ทอง พ.ศ. 1748 – 1796
(48 ปี)
หรือพระนาม พระบาทสมเดจ์พระรามาธิบดีศรีวิสุทธิบุรุโสดมบรมจักรพรรดิธรรมิกกราชเดโชไชเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศ บรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว ตามกฏหมาย พระอัยการเบ็ดเสร็จ (อายการเบดเสรจ) มหาศักราช ๑๑๔๖ ปีมะแม (พ.ศ. 1768)[63]
6 พระเจ้าชัยเสน พ.ศ. 1796 – 1823
(36 ปี)
7 สมเด็จพระเจ้าสุวรรณราชา พ.ศ. 1823 – 1844
(21 ปี)
8 สมเด็จพระเจ้าธรรมราชา พ.ศ. 1844 – 1853
(9 ปี)
9 สมเด็จพระเจ้าบรมราชา พ.ศ. 1853 – 1887
(34 ปี)
หรือพระนาม พระบาทสมเดจ์พระเจ้ารามาธิบดีศรีวิสุทธิสุริยวงษองคบุริโสดมบรมจักรพรรดิ ราชาธิราชตรีภูวะนาธิเบศบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว[64] ใน พระอายการเบดเสรจ มหาศักราช ๑๒๖๓ ปีมะแม (พ.ศ. 1886)
10
(1)
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
(3 เมษายน พ.ศ. 1857 – พ.ศ. 1912; 55 พรรษา)
พ.ศ. 1887 – พ.ศ. 1893
(6 ปี)
หรือพระนาม พระเจ้าอู่ทอง หรือ สมเดจพระบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว[65] ใน พระไอยการทาษ มหาศักราช ๑๒๖๗ ปีกุน (พ.ศ. 1888)
ครองราชย์ครั้งที่ 1
กัมพูชาในช่วงการปฏิวัติขอม (พ.ศ. 1879)
สถาปนาอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893)

หลังสถาปนาอาณาจักรอยุธยา (พ.ศ. 1893 – 2310)

[แก้]

พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา มีทั้งสิ้น 33 พระองค์ โดยมีรายพระนามดังต่อไปนี้

พระมหากษัตริย์ ครองราชย์
รัชกาล พระรูป พระนาม ระหว่าง หมายเหตุ
กัมพูชาในช่วงการปฏิวัติขอม (พ.ศ. 1879)
อาณาจักรอยุธยา
(พ.ศ. 1894 – 2310)
ราชวงศ์อู่ทอง ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 1894 – 1913)
11
(2)
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
(3 เมษายน พ.ศ. 1857 – พ.ศ. 1912; 55 พรรษา)
12 มีนาคม พ.ศ. 1893[66] – พ.ศ. 1912
(20 ปี)
หรือพระนาม พระเจ้าอู่ทอง เป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา[67] และเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อู่ทอง
ครองราชย์ครั้งที่ 2
12
(1)
สมเด็จพระราเมศวร
(พ.ศ. 1882 – 1938; 56 พรรษา)
พ.ศ. 1912 – 1913
(1 ปี)
ครองราชย์ครั้งที่ 1
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 1913 – 1931)
13 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1
(พ.ศ. 1853 – 1931; 78 พรรษา)
พ.ศ. 1913 – 1931
(18 ปี)
หรือพระนาม ขุนหลวงพะงั่ว เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ
14 สมเด็จพระเจ้าทองลัน
(พ.ศ. 1917 – 1931; 14 พรรษา)
พ.ศ. 1931
(7 วัน)
หรือพระนาม เจ้าทองจันทร์ หรือ เจ้าทองลั่น หรือ เจ้าทองจัน หรือ เจ้าทองลันทร์
ราชวงศ์อู่ทอง ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 1931 – 1952)
12
(2)
สมเด็จพระราเมศวร
(พ.ศ. 1882 – 1938; 56 พรรษา)
พ.ศ. 1931 – 1938
(7 ปี)
ครองราชย์ ครั้งที่ 2
15 สมเด็จพระเจ้ารามราชา
(พ.ศ. 1899 – 1952; 53 พรรษา)
พ.ศ. 1938 – 1952
(14 ปี)
หรือพระนาม สมเด็จพญารามเจ้า หรือ สมเด็จพระเจ้ารามราชาธิราช
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 1952 – 2112)
16 สมเด็จพระอินทราชา
(พ.ศ. 1902 – 1967; 65 พรรษา)
พ.ศ. 1952 – 1967
(15 ปี)
หรือพระนาม เจ้านครอินทร์ หรือ สมเด็จพระนครินทราธิราช
17 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2
(พ.ศ. 1929 – 1991; 62 พรรษา)
พ.ศ. 1967 – 1991
(24 ปี)
หรือพระนาม เจ้าสามพระยา
18 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
(พ.ศ. 1974 – 2031; 57 พรรษา)
พ.ศ. 1991 – 2031
(40 ปี)
หรือกฎมนเทียรบาล ออกพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีบรมไตรโลกนาถ มหามงกุฎเทพยมนุษย์ บริสุทธิสุริยวงศ์ องค์พุทธางกูรบรมบพิตร
ปฏิรูปการปกครองจตุสดมภ์ (พ.ศ. 2006)
19 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3
(พ.ศ. 2005 – 2034; 29 พรรษา)
พ.ศ. 2031 – 2034
(3 ปี)
หรือพระนาม พระบรมราชา
20 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
(พ.ศ. 2015 – 10 ตุลาคม

พ.ศ. 2072; 57 พรรษา)

พ.ศ. 2034 – 10 ตุลาคม

พ.ศ. 2072
(38 ปี)

หรือพระนาม พระเชษฐา หรือครั้งทรงดำรงพระยศเป็นอุปราชทรงพระนามว่า พระเอกสัตราช[68]
21 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4
(พ.ศ. 2031 –2076; 45 พรรษา)
พ.ศ. 2072 – 2076
(4 ปี)
หรือพระนาม หน่อพุทธางกูร
22 สมเด็จพระรัษฎาธิราช
(พ.ศ. 2072 – 2077; 5 พรรษา)
พ.ศ. 2077
(5 เดือน)
23 สมเด็จพระไชยราชาธิราช
(พ.ศ. 2042 – 2089; 47 พรรษา)
พ.ศ. 2077 – 2089
(13 ปี)
24 สมเด็จพระยอดฟ้า
(พ.ศ. 2078 – 10 มิถุนายน

พ.ศ. 2091; 13 พรรษา)

พ.ศ. 2089 – 10 มิถุนายน

พ.ศ. 2091
(2 ปี)

หรือพระนาม พระแก้วฟ้า
ขุนวรวงศาธิราช
(พ.ศ. 2046 – 2091; 45 พรรษา)
พ.ศ. 2091
(42 วัน)
นักประวัติศาสตร์ไทยบางท่านไม่นับว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์เพราะถือว่าเป็นกบฏสมคบกับนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์แย่งชิงราชบัลลังก์จากสมเด็จพระยอดฟ้า อย่างไรก็ตาม ในพงศาวดารได้ระบุว่าพระองค์ได้ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว
25 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
(พ.ศ. 2048 – 2111; 63 พรรษา)
29 กรกฎาคม พ.ศ. 2091 – 2111
(20 ปี)
หรือพระนาม พระเจ้าช้างเผือก
26 สมเด็จพระมหินทราธิราช
(พ.ศ. 2082 – 2112; 30 พรรษา)
พ.ศ. 2111 – 7 สิงหาคม พ.ศ. 2112
(1 ปี)
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ. 2112)
ราชวงศ์สุโขทัย (พ.ศ. 2112 – 2172)
27 สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
(พ.ศ. 2057 – 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133; 76 พรรษา)
7 สิงหาคม พ.ศ. 2112 – 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133
(21 ปี)
หรือพระนาม สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 1
กอบกู้เอกราชหลุดพ้นจากการปกครองของอาณาจักรตองอู (พ.ศ. 2135)
28 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
(พ.ศ. 2098 – 25 เมษายน พ.ศ. 2148; 50 พรรษา)
พ.ศ. 2133 – พ.ศ. 2148
(15 ปี)
หรือพระนาม สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 หรือ พระองค์ดำ
29 สมเด็จพระเอกาทศรถ
(พ.ศ. 2103 – 2153; 50 พรรษา)
25 เมษายน พ.ศ. 2148 – 2153
(5 ปี)
หรือพระนาม สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 3 หรือ พระองค์ขาว
30 สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์
(พ.ศ. 2128 – 2154; 26 พรรษา)
พ.ศ. 2153
(1 ปี 2 เดือน)
หรือพระนาม สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 4
31 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
(พ.ศ. 2135 – 12 ธันวาคม พ.ศ. 2171; 36 พรรษา)
พ.ศ. 2153-พ.ศ. 2171
(17 ปี)
หรือพระนาม สมเด็จพระบรมราชาที่ 1
32 สมเด็จพระเชษฐาธิราช
(พ.ศ. 2155 – 2173; 18 พรรษา)
พ.ศ. 2171 – 2172
(1 ปี 7 เดือน)
หรือพระนาม สมเด็จพระบรมราชาที่ 2
33 สมเด็จพระอาทิตยวงศ์
(พ.ศ. 2161 – 2178; 17 พรรษา)
พ.ศ. 2172
(36 วัน)
ราชวงศ์ปราสาททอง (พ.ศ. 2172 – 2231)
34 สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
(พ.ศ. 2143 – 2199; 56 พรรษา)
พ.ศ. 2172– 2199
(27ปี)
หรือพระนาม สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5
35 สมเด็จเจ้าฟ้าไชย
(พ.ศ. 2173 – 2199; 26 พรรษา)
พ.ศ. 2199
(9 เดือน)
หรือพระนาม สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 6
36 สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา
(พ.ศ. 2143 – 26 ตุลาคม พ.ศ. 2199; 56 พรรษา)
พ.ศ. 2199 – 26 ตุลาคม พ.ศ. 2199
(2 เดือน 20 วัน)
หรือพระนาม สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 7
37 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
(16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2175 – 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231; 56 พรรษา)
26 ตุลาคม พ.ศ. 2199 – 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231
(32 ปี)
หรือพระนาม สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3
การปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2231)
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง (พ.ศ. 2231 – 2310)
38 สมเด็จพระเพทราชา
(พ.ศ. 2175 – 6 กุมภาพันธ์

พ.ศ. 2246; 71 พรรษา)

11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 – 6 กุมภาพันธ์

พ.ศ. 2246
(15 ปี)

หรือพระนาม สมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดม
39 สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี
(พ.ศ. 2204 – 9 กุมภาพันธ์

พ.ศ. 2251; 47 พรรษา)

6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2246 – 9 กุมภาพันธ์

พ.ศ. 2251
(5 ปี)

หรือพระนาม สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ พระเจ้าเสือ
40 สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ
(พ.ศ. 2221 – 2275; 54 พรรษา)
9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2251 – พ.ศ. 2275
(24 ปี)
หรือพระนาม สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือ พระเจ้าท้ายสระ
41 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
(พ.ศ. 2223 – 26 เมษายน

พ.ศ. 2301; 78 พรรษา)

พ.ศ. 2275 – 26 เมษายน

พ.ศ. 2301
(26 ปี)

หรือพระนาม สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2
42 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
(พ.ศ. 2265 – 2339; 74 พรรษา)
พ.ศ. 2301
(2 เดือน)
หรือพระนาม สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 3 หรือ ขุนหลวงหาวัด
43 สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
(พ.ศ. 2252 – 2310; 58 พรรษา)
พ.ศ. 2301 – 7 เมษายน พ.ศ. 2310
(9 ปี)
หรือพระนาม สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 หรือ พระเจ้าเอกทัศ หรือ ขุนหลวงขี้เรื้อน
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง (พ.ศ. 2310)

การปกครอง

[แก้]

ช่วงแรกมีการปกครองคล้ายคลึงกับในสมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์มีสิทธิ์ปกครองโดยตรงในราชธานี หากทรงใช้อำนาจผ่านข้าราชการและขุนนางเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีระบบการปกครองภายในราชธานีที่เรียกว่า จตุสดมภ์ ตามการเรียกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ[69] อันได้แก่ กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง และกรมนา

การปกครองนอกราชธานี ประกอบด้วย เมืองหน้าด่าน เมืองชั้นใน เมืองพระยามหานคร และเมืองประเทศราช โดยมีรูปแบบกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางค่อนข้างมาก[70] เมืองหน้าด่าน ได้แก่ ลพบุรี นครนายก พระประแดง และสุพรรณบุรี ตั้งอยู่รอบราชธานีทั้งสี่ทิศ ระยะเดินทางจากราชธานีสองวัน พระมหากษัตริย์ทรงส่งเชื้อพระวงศ์ที่ไว้วางพระทัยไปปกครอง แต่รูปแบบนี้นำมาซึ่งปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติอยู่บ่อยครั้ง เมืองชั้นในทรงปกครองโดยผู้รั้ง ถัดออกไปเป็นเมืองพระยามหานครหรือหัวเมืองชั้นนอก ปกครองโดยเจ้าเมืองที่สืบเชื้อสายมาแต่เดิม มีหน้าที่จ่ายภาษีและเกณฑ์ผู้คนในราชการสงคราม[70] และสุดท้ายคือเมืองประเทศราช พระมหากษัตริย์ปล่อยให้ปกครองกันเอง เพียงแต่ต้องส่งเครื่องบรรณาการมาให้ราชธานีทุกปี

ต่อมา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ. 1991–2031) ทรงยกเลิกระบบเมืองหน้าด่านเพื่อขจัดปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติ และขยายอำนาจของราชธานีโดยการกลืนเมืองรอบข้างเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชธานี[71] สำหรับระบบจตุสดมภ์ ทรงแยกกิจการพลเรือนออกจากกิจการทหารอย่างชัดเจน ให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสมุหนายกและสมุหกลาโหมตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนชื่อกรมและชื่อตำแหน่งเสนาบดี แต่ยังคงไว้ซึ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเดิม

ส่วนการปกครองส่วนภูมิภาคมีลักษณะเปลี่ยนไปในทางการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางให้มากที่สุด โดยให้เมืองชั้นนอกเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของราชธานี มีระบบการปกครองที่ลอกมาจากราชธานี[72] มีการลำดับความสำคัญของหัวเมืองออกเป็นชั้นเอก โท ตรี สำหรับหัวเมืองประเทศราชนั้นส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมากนัก หากแต่พระมหากษัตริย์จะมีวิธีการควบคุมความจงรักภักดีต่อราชธานีหลายวิธี เช่น การเรียกเจ้าเมืองประเทศราชมาปรึกษาราชการ หรือมาร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือถวายพระเพลิงพระบรมศพในราชธานี การอภิเษกสมรสโดยการให้ส่งราชธิดามาเป็นสนม และการส่งข้าราชการไปปกครองเมืองใกล้เคียงกับเมืองประเทศราชเพื่อคอยส่งข่าว ซึ่งเมืองที่มีหน้าที่ดังกล่าว เช่น พิษณุโลกและนครศรีธรรมราช[73]

ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา (ครองราชย์ พ.ศ. 2231–2246) ทรงกระจายอำนาจทางทหารซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับสมุหกลาโหมแต่ผู้เดียวออกเป็นสามส่วน โดยให้สมุหกลาโหมเปลี่ยนไปควบคุมกิจการทหารในราชธานี กิจการทหารและพลเรือนของหัวเมืองทางใต้ ให้สมุหนายกควบคุมกิจการพลเรือนในราชธานี กิจการทหารและพลเรือนของหัวเมืองทางเหนือ และพระโกษาธิบดี ให้ดูแลกิจการทหารและพลเรือนของหัวเมืองตะวันออก ต่อมา สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (2275-2301) ทรงลดอำนาจของสมุหกลาโหมเหลือเพียงที่ปรึกษาราชการ และให้หัวเมืองทางใต้ไปขึ้นกับพระโกษาธิบดีด้วย[74]

นอกจากนี้ ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2112–2133) ยังได้จัดกำลังป้องกันราชธานีออกเป็นสามวัง ได้แก่ วังหลวง มีหน้าที่ป้องกันพระนครทางเหนือ วังหน้า มีหน้าที่ป้องกันพระนครทางตะวันออก และวังหลัง มีหน้าที่ป้องกันพระนครทางตะวันตก ระบบดังกล่าวใช้มาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[74]

พัฒนาการ

[แก้]

คนไทยไม่เคยขาดแคลนเสบียงอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ชาวนาปลูกข้าวเพื่อการบริโภคของตนเองและเพื่อจ่ายภาษี ผลผลิตส่วนที่เหลืออยู่ใช้สนับสนุนสถาบันศาสนา อย่างไรก็ดี ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 ถึง 15 มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสังเกตในการปลูกข้าวของไทย บนที่สูง ซึ่งปริมาณฝนไม่เพียงพอ ต้องได้รับน้ำเพิ่มจากระบบชลประทานที่ควบคุมระดับน้ำในที่นาน้ำท่วม คนไทยหว่านเมล็ดข้าวเหนียวที่ยังเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หลักในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือปัจจุบัน แต่ในที่ราบน้ำท่วมถึงเจ้าพระยา ชาวนาหันมาปลูกข้าวหลายชนิด ที่เรียกว่า ข้าวขึ้นน้ำหรือข้าวนาเมือง (floating rice) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ยาวเรียว ไม่เหนียวที่รับมาจากเบงกอล ซึ่งจะเติบโตอย่างรวดเร็วทันพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในที่ลุ่ม[75]

สายพันธุ์ใหม่นี้เติบโตอย่างง่ายดายและอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีผลผลิตส่วนเกินที่สามารถขายต่างประเทศได้ในราคาถูก ฉะนั้น กรุงศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ใต้สุดของที่ราบน้ำท่วมถึง จึงกลายเป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ แรงงานกอร์เวขุดคลองซึ่งจะมีการนำข้าวจากนาไปยังเรือของหลวงเพื่อส่งออกไปยังจีน ในขบวนการนี้ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา หาดโคลนระหว่างทะเลและดินแน่นซึ่งถูกมองว่าไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย ถูกถมและเตรียมดินสำหรับเพาะปลูก ตามประเพณี พระมหากษัตริย์มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อประสาทพรการปลูกข้าว[75]

แม้ข้าวจะอุดมสมบูรณ์ในกรุงศรีอยุธยา แต่การส่งออกข้าวก็ถูกห้ามเป็นบางครั้งเมื่อเกิดทุพภิกขภัย เพราะภัยพิบัติธรรมชาติหรือสงคราม โดยปกติขาวถูกแลกเปลี่ยนกับสินค้าฟุ่มเฟือยและอาวุธยุทธภัณฑ์จากชาวตะวันตก แต่การปลูกข้าวนั้นมีเพื่อตลาดภายในประเทศเป็นหลัก และการส่งออกข้าวนั้นเชื่อถือไม่ได้อย่างชัดเจน การค้ากับชาวยุโรปคึกคักในคริสต์ศตวรรษที่ 17 อันที่จริง พ่อค้ายุโรปขายสินค้าของตน ซึ่งเป็นอาวุธสมัยใหม่ เช่น ไรเฟิลและปืนใหญ่ เป็นหลัก กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากป่าในแผ่นดิน เช่น ไม้สะพาน หนังกวางและข้าว โทเม ปิเรส นักเดินเรือชาวโปรตุเกส กล่าวถึงในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ว่า กรุงศรีอยุธยานั้น "อุดมไปด้วยสินค้าดี ๆ" พ่อค้าต่างชาติส่วนมากที่มายังกรุงศรีอยุธยาเป็นชาวยุโรปและชาวจีน และถูกทางการเก็บภาษี ราชอาณาจักรมีข้าว เกลือ ปลาแห้ง เหล้าโรง (arrack) และพืชผักอยู่ดาษดื่น[76]

การค้ากับชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นชาวฮอลันดาเป็นหลัก ถึงระดับสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 17 กรุงศรีอยุธยากลายมาเป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับพ่อค้าจากจีนและญี่ปุ่น ชัดเจนว่า ชาวต่างชาติเริ่มเข้ามามีส่วนในการเมืองของราชอาณาจักร พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาวางกำลังทหารรับจ้างต่างด้าวซึ่งบางครั้งก็เข้าร่วมรบกับอริราชศัตรูในศึกสงคราม อย่างไรก็ดี หลังจากการกวาดล้างชาวฝรั่งเศสในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้ค้าหลักของกรุงศรีอยุธยาเป็นชาวจีน ฮอลันดาจากบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ยังมีการค้าขายอยู่ เศรษฐกิจของอาณาจักรเสื่อมลงอย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ 18[75]

พัฒนาการทางสังคมและการเมือง

[แก้]
ขุนนางสมัยอยุธยาสวมลอมพอก

นับแต่การปฏิรูปของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์อยุธยาทรงอยู่ ณ ศูนย์กลางแห่งลำดับชั้นทางสังคมและการเมืองที่จัดช่วงชั้นอย่างสูง ซึ่งแผ่ไปทั่วราชอาณาจักร ด้วยขาดหลักฐาน จึงเชื่อกันว่า หน่วยพื้นฐานของการจัดระเบียบสังคมในราชอาณาจักรอยุธยา คือ ชุมชนหมู่บ้าน ที่ประกอบด้วยครัวเรือนครอบครัวขยาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่กับผู้นำ ที่ถือไว้ในนามของชุมชน แม้ชาวนาเจ้าของทรัพย์สินจะพอใจการใช้ที่ดินเฉพาะเท่าที่ใช้เพาะปลูกเท่านั้น[77] ขุนนางค่อย ๆ กลายไปเป็นข้าราชสำนัก (หรืออำมาตย์) และผู้ปกครองบรรณาการ (tributary ruler) ในนครที่สำคัญรองลงมา ท้ายที่สุด พระมหากษัตริย์ทรงได้รับการยอมรับว่าเป็นพระศิวะ (หรือพระวิษณุ) ลงมาจุติบนโลก และทรงกลายมาเป็นสิ่งมงคลแก่พิธีปฏิบัติในทางการเมือง-ศาสนา ที่มีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี ซึ่งเป็นข้าราชบริพารในราชสำนัก ในบริบทศาสนาพุทธ เทวราชาเป็นพระโพธิสัตว์ ความเชื่อในเทวราชย์ (divine kingship) คงอยู่ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 แม้ถึงขณะนั้น นัยทางศาสนาของมันจะมีผลกระทบจำกัดก็ตาม

เมื่อมีที่ดินสำรองเพียงพอสำหรับการกสิกรรม ราชอาณาจักรจึงอาศัยการได้มาและการควบคุมกำลังคนอย่างพอเพียงเพื่อเป็นผู้ใช้แรงงานในไร่นาและการป้องกันประเทศ การเติบโตอย่างรวดเร็วของอยุธยานำมาซึ่งการสงครามอย่างต่อเนื่อง และเนื่องจากไม่มีแว่นแคว้นใดในภูมิภาคมีความได้เปรียบทางเทคโนโลยี ผลแห่งยุทธการจึงมักตัดสินด้วยขนาดของกองทัพ หลังจากการทัพที่ได้รับชัยชนะในแต่ละครั้ง อยุธยาได้กวาดต้อนผู้คนที่ถูกพิชิตกลับมายังราชอาณาจักรจำนวนหนึ่ง ที่ซึ่งพวกเขาจะถูกกลืนและเพิ่มเข้าไปในกำลังแรงงาน สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสถาปนาระบบกอร์เว (Corvée) แบบไทยขึ้น ซึ่งเสรีชนทุกคนจำต้องขึ้นทะเบียนเป็นข้า (หรือไพร่) กับเจ้านายท้องถิ่น เป็นการใช้แรงงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ ไพร่ชายต้องถูกเกณฑ์ในยามเกิดศึกสงคราม เหนือกว่าไพร่คือนาย ผู้รับผิดชอบต่อราชการทหาร แรงงานกอร์เวในการโยธาสาธารณะ และบนที่ดินของข้าราชการที่เขาสังกัด ไพร่ส่วยจ่ายภาษีแทนการใช้แรงงาน หากเขาเกลียดการใช้แรงงานแบบบังคับภายใต้นาย เขาสามารถขายตัวเป็นทาสแก่นายหรือเจ้าที่น่าดึงดูดกว่า ผู้จะจ่ายค่าตอบแทนแก่การสูญเสียแรงงานกอร์เว จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 กำลังคนกว่าหนึ่งในสามเป็นไพร่[77]

ระบบไพร่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมากเมื่อเทียบกับสมัยสุโขทัย[78] โดยกำหนดให้ชายทุกคนที่สูงตั้งแต่ 1.25 เมตรขึ้นไปต้องลงทะเบียนไพร่[78] ระบบไพร่มีความสำคัญต่อการรักษาอำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ เพราะหากเจ้านายหรือขุนนางเบียดบังไพร่ไว้เป็นจำนวนมากแล้ว ย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพของราชบัลลังก์ ตลอดจนส่งผลให้กำลังในการป้องกันอาณาจักรอ่อนแอ ไม่เป็นปึกแผ่น นอกจากนี้ ระบบไพร่ยังเป็นการเกณฑ์แรงงานเพื่อใช้ประโยชน์ในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานชีวิตและความมั่นคงของอาณาจักร[79]

ความมั่งคั่ง สถานภาพ และอิทธิพลทางการเมืองสัมพันธ์ร่วมกัน พระมหากษัตริย์ทรงแบ่งสรรนาข้าวให้แก่ข้าราชสำนัก ผู้ว่าราชการท้องถิ่น ผู้บัญชาการทหาร เป็นการตอบแทนความดีความชอบที่มีต่อพระองค์ ตามระบบศักดินา ขนาดของการแบ่งสรรแก่ข้าราชการแต่ละคนนั้นตัดสินจากจำนวนไพร่หรือสามัญชนที่เขาสามารถบัญชาให้ทำงานได้ จำนวนกำลังคนที่ผู้นำหรือข้าราชการสามารถบัญชาได้นั้น ขึ้นอยู่กับสถานภาพของผู้นั้นเทียบกับผู้อื่นในลำดับขั้นและความมั่งคั่งของเขา ที่ยอดของลำดับขั้น พระมหากษัตริย์เป็นเสมือนผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ที่สุดในราชอาณาจักร ตามทฤษฎีแล้วทรงบัญชาไพร่จำนวนมากที่สุด เรียกว่า ไพร่หลวง ที่มีหน้าที่จ่ายภาษี รับราชการในกองทัพ และทำงานบนที่ดินของพระมหากษัตริย์[77]

อย่างไรก็ดี การเกณฑ์กองทัพขึ้นอยู่กับมูลนาย ที่บังคับบัญชาไพร่สมของตนเอง มูลนายเหล่านี้จำต้องส่งไพร่สมให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพระมหากษัตริย์ในยามศึกสงคราม ฉะนั้น มูลนายจึงเป็นบุคคลสำคัญในการเมืองของอยุธยา มีมูลนายอย่างน้อยสองคนก่อรัฐประหารยึดราชบัลลังก์มาเป็นของตน ขณะที่การสู้รบนองเลือดระหว่างพระมหากษัตริย์กับมูลนายหลังจากการกวาดล้างข้าราชสำนัก พบเห็นได้บ่อยครั้ง[77]

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงกำหนดการแบ่งสรรที่ดินและไพร่ที่แน่นอนให้แก่ข้าราชการแต่ละขั้นในลำดับชั้นบังคับบัญชา ซึ่งกำหนดโครงสร้างสังคมของประเทศกระทั่งมีการนำระบบเงินเดือนมาใช้แก่ข้าราชการในสมัยรัตนโกสินทร์[77]

พระสงฆ์อยู่นอกระบบนี้ ซึ่งชายไทยทุกชนชั้นสามารถเข้าสู่ชนชั้นนี้ได้ รวมถึงชาวจีนด้วย วัดกลายมาเป็นศูนย์กลางการศึกษาและวัฒนธรรม ระหว่างช่วงนี้ ชาวจีนเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอยุธยา และไม่นานก็เริ่มควบคุมชีวิตเศรษฐกิจของประเทศ อันเป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นช้านานอีกประการหนึ่ง[77]

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเป็นผู้รวบรวมธรรมศาสตร์ (Dharmashastra) ประมวลกฎหมายที่อิงที่มาในภาษาฮินดูและธรรมเนียมไทยแต่โบราณ ธรรมศาสตรายังเป็นเครื่องมือสำหรับกฎหมายไทยกระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการนำระบบข้าราชการประจำที่อิงลำดับชั้นบังคับบัญชาของข้าราชการที่มีชั้นยศและบรรดาศักดิ์มาใช้ และมีการจัดระเบียบสังคมในแบบที่สอดคล้องกัน แต่ไม่มีการนำระบบวรรณะในศาสนาฮินดูมาใช้[80]

หลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพจากราชวงศ์ตองอู พระองค์ทรงจัดการรวมการปกครองประเทศอยู่ใต้ราชสำนักที่กรุงศรีอยุธยาโดยตรง เพื่อป้องกันมิให้ซ้ำรอยพระราชบิดาที่แปรพักตร์เข้ากับฝ่ายราชวงศ์ตองอูเมื่อครั้งการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง พระองค์ทรงยุติการเสนอชื่อเจ้านายไปปกครองหัวเมืองของราชอาณาจักร แต่แต่งตั้งข้าราชสำนักที่คาดว่าจะดำเนินนโยบายที่พระมหากษัตริย์ส่งไป ฉะนั้น เจ้านายทั้งหลายจึงถูกจำกัดอยู่ในพระนคร การช่วงชิงอำนาจยังคงมีต่อไป แต่อยู่ใต้สายพระเนตรที่คอยระวังของพระมหากษัตริย์[81]

เพื่อประกันการควบคุมของพระองค์เหนือชนชั้นผู้ว่าราชการใหม่นี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีกฤษฎีกาให้เสรีชนทุกคนที่อยู่ในระบบไพร่มาเป็นไพร่หลวง ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง ซึ่งจะเป็นผู้แจกจ่ายการใช้งานแก่ข้าราชการ วิธีการนี้ให้พระมหากษัตริย์ผู้ขาดแรงงานทั้งหมดในทางทฤษฎี และเนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของกำลังของทุกคน พระองค์ก็ทรงครอบครองที่ดินทั้งหมดด้วย ตำแหน่งรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการ และศักดินาที่อยู่กับพวกเขา โดยปกติเป็นตำแหน่งที่ตกทอดถึงทายาทในไม่กี่ตระกูลที่มักมีความสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์โดยการแต่งงาน อันที่จริง พระมหากษัตริย์ไทยใช้การแต่งงานบ่อยครั้งเพื่อเชื่อมพันธมิตรระหว่างพระองค์กับตระกูลที่ทรงอำนาจ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ผลของนโยบายนี้ทำให้พระมเหสีในพระมหากษัตริย์มักมีหลายสิบพระองค์[81]

หากแม้จะมีการปฏิรูปโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ตาม ประสิทธิภาพของรัฐบาลอีก 150 ปีถัดมาก็ยังไม่มั่นคง พระราชอำนาจนอกที่ดินของพระมหากษัตริย์ แม้จะเด็ดขาดในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติถูกจำกัดโดยความหละหลวมของการปกครองพลเรือน อิทธิพลของรัฐบาลกลางและพระมหากษัตริย์อยู่ไม่เกินพระนคร เมื่อเกิดสงครามกับพม่า หัวเมืองต่าง ๆ ทิ้งพระนครอย่างง่ายดาย เนื่องจากกำลังที่บังคับใช้ไม่สามารถเกณฑ์มาป้องกันพระนครได้โดยง่าย กรุงศรีอยุธยาจึงไม่อาจต้านทานผู้รุกรานได้[81]

ศิลปะและวัฒนธรรม

[แก้]

การแสดงโขน และศิลปะนาฏศิลป์สยามประเภทต่างๆนั้นมีหลักฐานอย่างชัดเจนว่า มีการให้จัดแสดงขึ้นในพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยาในลักษณะที่กล่าวได้ว่าเกือบจะเหมือนกับรูปแบบของนาฏศิลป์ไทยที่ปรากฏอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน และที่แพร่หลายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้สันนิษฐานได้ว่าศิลปะการละครของไทยน่าจะต้องถูกพัฒนาขึ้นจนสมบูรณ์ มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ตามสมัยคริสตกาลเป็นอย่างน้อย โดยในระหว่างที่ราชอาณาจักรอยุธยายังมีสัมพันธ์ทางการทูตโดยตรงกับฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สุริยะกษัตริย์ (Sun King) แห่งราชอาณาจักรฝรั่งเศส ได้ส่งราชทูต ชื่อ ซีมง เดอ ลาลูแบร์ มายังประเทศสยาม ในปี ค.ศ. 1687 และพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้จดบันทึกทุกอย่างเกี่ยวกับประเทศสยาม ตั้งแต่การปกครอง ภาษา ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณี โดย ลา ลูแบร์ ได้มีโอกาสได้สังเกตการแสดงนาฏศิลป์ประเภทต่างๆในราชสำนักไทย และจดบันทึกไว้โดยละเอียดดังนี้:

"ชาวสยามมีศิลปะการเวทีอยู่สามประเภท: ประเภทที่เรียกว่า "โขน" นั้น เป็นการร่ายรำเข้า ๆ ออก ๆ หลายคำรบ ตามจังหวะซอและเครื่องดนตรีอย่างอื่นอีก ผู้แสดงนั้นสวมหน้ากาก และถืออาวุธ แสดงบทหนักไปในทางสู้รบกันมากกว่าจะเป็นการร่ายรำ และมาตรว่าการแสดงส่วนใหญ่จะหนักไปในทางโลดเต้นเผ่นโผนโจนทะยาน และวางท่าอย่างเกินสมควร แต่ก็มีการหยุดเจรจาออกมาสักคำสองคำอยู่ไม่ได้ขาด หน้ากาก (หัวโขน) ส่วนใหญ่นั้นน่าเกลียด เป็นหน้าสัตว์ที่มีรูปพรรณวิตถาร หรือไม่เป็นหน้าอสูรปีศาจ " ส่วนการแสดงประเภทที่เรียกว่า "ละคร" นั้นเป็นบทกวีที่ผสมผสานกัน ระหว่างมหากาพย์ และบทละครพูด ซึ่งแสดงกันยืดยาวไปสามวันเต็มๆ ตั้งแต่ ๘ โมงเช้า จนถึง ๑ ทุ่ม ละครเหล่านี้เป็น ประวัติศาสตร์ที่ร้อยเรียงเป็นบทกลอนที่เคร่งครึม และขับร้องโดยผู้แสดงหลายคนที่อยู่ในฉากพร้อมๆกัน และเพียงแต่ร้องโต้ตอบกันเท่านั้น โดยมีคนหนึ่งขับร้องในส่วนเนื้อเรื่อง ส่วนที่เหลือจะกล่าวบทพูด แต่ทั้งหมดที่ขับร้องล้วนเป็นผู้ชาย ไม่มีผู้หญิงเลย ... ส่วน "ระบำ" นั้นเป็นการรำคู่ของหญิงชาย ซึ่งแสดงออกอย่างอาจหาญ ... นักเต้นทั้งหญิงและชายจะสวมเล็บปลอมซึ่งยาวมาก และทำจากทองแดง นักแสดงจะขับร้องไปด้วยรำไปด้วย พวกเขาสามารถรำได้โดยไม่เข้าพัวพันกัน เพราะลักษณะการเต้นเป็นการเดินไปรอบๆ อย่างช้าๆ โดยไม่มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว แต่เต็มไปด้วยการบิดและดัดลำตัว และท่อนแขน"

— ซีมง เดอ ลาลูแบร์, จดหมายเหตุว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม (ค.ศ. 1693), หน้า 49[82]
ภาพชนชั้นสูงชาวสยาม จากสมุดภาพ Portraits of Periodical Offering สมัยราชวงศ์ชิง แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2294

ในส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งกายของนักแสดงโขน ลา ลูแบร์ ได้บันทึกไว้ว่า: "นักเต้นใน "ระบำ" และ "โขน" จะสวมชฎาปลายแหลมทำด้วยกระดาษมีลวดลายสีทอง ซึ่งดูคล้ายๆหมวกของพวกข้าราชการสยามที่ใส่ในงานพิธี แต่จะหุ้มตลอดศีรษะด้านข้างไปจนถึงใต้หู และตกแต่งด้วยหินอัญมณีเลียนแบบ โดยมีห้อยพู่สองข้างเป็นไม้ฉาบสีทอง"[83]

เนื่องจากในสมัยอยุธยามีการสร้างสรรค์วรรณคดีไว้มาก วัตถุดิบวรรณคดีเหล่านั้นส่งผลให้การนาฏศิลป์ และการละครของสยาม ได้รับพัฒนาขึ้นจนมีความสมบูรณ์แบบทั้งในการแต่งกาย และการแสดงออกในระดับสูง และมีอิทธิพลต่ออาณาจักรข้างเคียงมาก ดังที่ กัปตันเจมส์ โลว์ นักวิชาการอังกฤษผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้บันทึกไว้ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์:

"พวกชาวสยามได้พัฒนาศิลปะการแสดงละครของตนจนเข้าถึงความสมบูรณ์แบบในระดับสูง -- และในแง่นี้ศิลปะของสยามจึงเผยแพร่ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในพม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งล้วนแต่เสาะหานักรำละครของสยามทั้งสิ้น"[84]

ประชากรศาสตร์

[แก้]

กลุ่มชาติพันธุ์

[แก้]
ภาพชาวสยามจากจดหมายเหตุลาลูแบร์ พ.ศ. 2236

ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 อาณาจักรอยุธยามีประชากรประมาณ 1,900,000 คน ซึ่งนับชายหญิงและเด็กอย่างครบถ้วน[85] แต่ลาลูแบร์กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวน่าจะไม่ถูกต้องเนื่องจากมีผู้หนีการเสียภาษีอากรไปอยู่ตามป่าตามดงอีกมาก[86] แอนโธนี เรด นักวิชาการด้านอุษาคเนย์เทียบหลักฐานจากคำบอกเล่าต่างๆ แล้วประมาณว่า กรุงศรีอยุธยามีประชากร ในช่วงคริสต์ศตวรรษ ที่ 17 ราว 200,000 ถึง 240,000 คน[87] มีกลุ่มชาติพันธุ์หลักคือไทยสยามซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่ใช้ภาษาตระกูลขร้า-ไท ซึ่งบรรพบุรุษของไทยสยามปรากฏหลักแหล่งของกลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลขร้า-ไทเก่าแก่ที่สุดอายุกว่า 3,000 ปี ซึ่งมีหลักแหล่งแถบกว่างซี คาบเกี่ยวไปถึงกวางตุ้งและแถบลุ่มแม่น้ำดำ-แดงในเวียดนามตอนบน ซึ่งกลุ่มชนนี้มีความเคลื่อนไหวไปมากับดินแดนไทยในปัจจุบันทั้งทางบกและทางทะเลและมีการเคลื่อนไหวไปมาอย่างไม่ขาดสาย[88] ในยุคอาณาจักรทวารวดีในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงหลังปี พ.ศ. 1100 ก็มีประชากรตระกูลไทย-ลาว เป็นประชากรพื้นฐานรวมอยู่ด้วย[88] ซึ่งเป็นกลุ่มชนอพยพลงมาจากบริเวณสองฝั่งโขงลงทางลุ่มน้ำน่านแล้วลงสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตกแถบสุพรรณบุรี ราชบุรี ถึงเพชรบุรีและเกี่ยวข้องไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช[89] ซึ่งในส่วนนี้ลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ให้ความเห็นส่วนตัวว่า ชาวลาวกับชาวสยามเกือบจะเป็นชาติเดียวกัน[90] นอกจากนี้ลาลูแบร์ยังอธิบายเพิ่มว่าตามธรรมเนียมแต่โบราณแล้ว ทั้งสองฝ่ายอ้างว่าตนรับกฎหมายของตนมาจากอีกฝ่าย กล่าวคือฝ่ายสยามเชื่อว่ากฎหมาย และเชื้อสายกษัตริย์ของตนมาจากลาว และฝ่ายลาวก็เชื่อว่ากฎหมาย และกษัตริย์ของตนมาจากสยาม[91] นอกจากนี้ลาลูแบร์สังเกตเห็นว่าสังคมอยุธยานั้นมีคนปะปนกันหลายชนชาติ และ "เป็นที่แน่ว่าสายเลือดสยามนั้นผสมกับของชาติอื่น"[92] เนื่องจากมีคนต่างชาติต่างภาษาจำนวนมากอพยบเข้ามาอยู่ในอยุธยาเพราะทราบถึงชื่อเสียงเรื่องเสรีภาพทางการค้า[93]

เอกสารจีนที่บันทึกโดยหม่าฮวนได้กล่าวไว้ว่า ชาวเมืองพระนครศรีอยุธยาพูดจาด้วยภาษาอย่างเดียวกับกลุ่มชนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน[88] คือพวกที่อยู่ในมณฑลกวางตุ้งกับกว่างซี และด้วยความที่ดินแดนแถบอุษาคเนย์เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์จึงมีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายตั้งหลักแหล่งอยู่ปะปนกันจึงเกิดการประสมประสานทางเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม และภาษาจนไม่อาจแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน[94] และด้วยการผลักดันของรัฐละโว้ ทำให้เกิดรัฐอโยธยาศรีรามเทพนคร ภายหลังปี พ.ศ. 1700 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมหลายอย่าง[94]

ด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรือง กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่น ๆ ได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เชลยที่ถูกกวาดต้อน ตลอดจนถึงชาวเอเชียและชาวตะวันตกที่เข้ามาเพื่อการค้าขาย ในกฎมนเทียรบาลยุคต้นกรุงศรีอยุธยาได้เรียกชื่อชนพื้นเมืองต่าง ๆ ได้แก่ "แขกขอมลาวพม่าเมงมอญมสุมแสงจีนจามชวา..."[95] ซึ่งมีการเรียกชนพื้นเมืองที่อาศัยปะปนกันโดยไม่จำแนกว่า ชาวสยาม[95] ในจำนวนนี้มีชาวมอญอพยพเข้ามาในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง, สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เนื่องจากชาวมอญไม่สามารถทนการบีบคั้นจากการปกครองของพม่าในช่วงราชวงศ์ตองอู จนในปี พ.ศ. 2295 พม่าได้ปราบชาวมอญอย่างรุนแรง จึงมีการลี้ภัยเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก[96] โดยชาวมอญในกรุงศรีอยุธยาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำ เช่น บ้านขมิ้นริมวัดขุนแสน ตำบลบ้านหลังวัดนก ตำบลสามโคก และวัดท่าหอย[97] ชาวเขมรอยู่วัดค้างคาว[98] ชาวพม่าอยู่ข้างวัดมณเฑียร[99] ส่วนชาวตังเกี๋ยและชาวโคชินไชน่า (ญวน) ก็มีหมู่บ้านเช่นกัน[100] เรียกว่าหมู่บ้านโคชินไชน่า[101] นอกจากนี้ชาวลาวและชาวไทยวนก็มีจำนวนมากเช่นกัน โดยในรัชสมัยของสมเด็จพระราเมศวรครองราชย์ครั้งที่สอง ได้กวาดต้อนครัวไทยวนจากเชียงใหม่ส่งไปไว้ยังจังหวัดพัทลุง, สงขลา, นครศรีธรรมราช และจันทบุรี[102] และในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ทรงยกทัพไปตีล้านนาในปี พ.ศ. 2204 ได้เมืองลำปาง, ลำพูน, เชียงใหม่, เชียงแสน และได้กวาดต้อนมาจำนวนหนึ่ง[103]เป็นต้น โดยเหตุผลที่กวาดต้อนเข้ามา ก็เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร[104] และนอกจากกลุ่มประชาชนแล้วกลุ่มเชื้อพระวงศ์ที่เป็นเชลยสงครามและผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร มีทั้งเชื้อพระวงศ์ลาว, เชื้อพระวงศ์เชียงใหม่ (Chiamay), เชื้อพระวงศ์พะโค (Banca), และเชื้อพระวงศ์กัมพูชา[105]

นอกจากชุมชนชาวเอเชียที่ถูกกวาดต้อนมาแล้วก็ยังมีชุมชนของกลุ่มผู้ค้าขายและผู้เผยแผ่ศาสนาทั้งชาวเอเชียจากส่วนอื่นและชาวตะวันตก เช่น ชุมชนชาวฝรั่งเศสที่บ้านปลาเห็ด[106] ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้นอกเกาะอยุธยาใกล้กับวัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งภายหลังบ้านปลาเห็ตได้เปลี่ยนชื่อเป็นบ้านเซนต์โยเซฟ[107] หมู่บ้านญี่ปุ่นอยู่ริมแม่น้ำระหว่างหมู่บ้านชาวมอญและโรงกลั่นสุราของชาวจีน ถัดไปเป็นชุมชนชาวฮอลันดา[108] ทางใต้ของชุมชนฮอลันดาเป็นถิ่นพำนักของชาวอังกฤษ, มลายู และมอญจากพะโค[109] นอกจากนี้ก็ยังมีชุมชนของชาวอาหรับ เปอร์เซีย และกลิงก์ (คนจากแคว้นกลิงคราษฎร์จากอินเดีย)[110] ส่วนชุมชนชาวโปรตุเกสตั้งอยู่ตรงข้ามชุมชนญี่ปุ่น ชาวโปรตุเกสส่วนใหญ่มักสมรสข้ามชาติพันธุ์กับชาวสยาม จีน และมอญ[111] ส่วนชุมชนชาวจาม มีหลักแหล่งแถบคลองตะเคียนทางใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาเรียกว่า ปทาคูจาม มีบทบาทสำคัญด้านการค้าทางทะเล และตำแหน่งในกองทัพเรือ เรียกว่า อาษาจาม และเรียกตำแหน่งหัวหน้าว่า พระราชวังสัน[112]

นักวิชาการด้านอุษาเคนย์ ให้ข้อสังเกตว่า ในขณะที่อยุธยามีความหลายหลายทางเชื้อชาติสูงด้วยเหตุผลทางการค้าขาย และการเทครัวประชากรจากภูมิภาคอื่น แต่ประชากรทั้งในและรอบนอกอยุธยาก็แสดงออกว่ามีใจฝักใฝ่ และสวามิภักดิ์ต่ออยุธยาสูง[113] อยุธยาจึงมิได้มีปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์เหมือนอย่างในแถบลุ่มแม่น้ำอิรวดี เอกสารจากฝั่งพม่าในคริสต์ ศ.ที่ 16 อ้างถึงผู้คนทางตอนใต้ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยารวม ๆ ว่า "ชาวอยุธยา" หรือ "ทหารอยุธยา"[114] นอกจากนี้สำนึกในความเป็นชาติ หรือความเป็นสยาม ก็ได้เริ่มปรากฏรูปร่างแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ในบันทึกของ วันวลิต (ฟาน วลีต) พ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์ ที่เข้ามาค้าขายในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองระบุว่า ชาวสยามมีความโดดเด่นในเรื่องความภาคภูมิใจในชาติของตน โดยชาวสยาม "เชื่อว่าไม่มีชาติอื่นที่จะเทียบกับตนได้ และเห็นว่ากฎหมาย ขนบธรรมเนียม และความรู้ของตนนั้นดีกว่าที่ไหนทุกแห่งในโลก"[115] วิกเตอร์ ลีเบอร์แมน เชื่อว่าสาเหตุที่ราชอาณาจักรอยุธยา มีความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ค่อนข้างน้อยนั้น ก็เนื่องมาจากมูลเหตุ 4 ประการ[116] ได้แก่

  1. สัดส่วนของจำนวนประชากรชาวสยาม ต่อประชากรชาติพันธุ์อื่นนั้นค่อนข้างต่ำ
  2. ชาวสยามมีชนชาติอื่นที่อพยพเข้ามาเพราะสงครามในพม่า เช่น ชาวมอญ และชาวไทยวนซึ่งมีใจฝักใฝ่สยามมากกว่าพม่า
  3. ความเป็นนานาชาติพันธุ์ของบรรยากาศการค้าขายในอยุธยา ทำให้การเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์มีความเบาบางลง นอกจากนี้ยังมีคนต่างชาติรับราชการในกรุงศรีอยุธยาอยู่เป็นจำนวนมาก
  4. สงครามระหว่างสยามกับชาติเพื่อนบ้าน ไม่ยืดเยื้อยาวนานเท่าฝั่งพม่า ทำให้แนวคิดขัดแย้งทางชาติพันธุ์ไม่ฝังรากลึก ในสมัยพระเจ้าอลองพญาแม้จะตีเอาเมืองท่าสำคัญของมอญ เช่น นครย่างกุ้ง ได้ แต่ก็ปกครองเมืองท่าเหล่านี้อยู่ห่างๆ ไม่ย้ายเมืองหลวงลงมา เนื่องจากอาจเป็นจุดล่อแหลมต่อการถูกโจมตีจากทางทะเล[117]

ภาษา

[แก้]

สำเนียงดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยามีความเชื่อมโยงกับชนพื้นเมืองตั้งแต่ลุ่มน้ำยมที่เมืองสุโขทัยลงมาทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกในแถบสุพรรณบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี ซึ่งสำเนียงดังกล่าวมีความใกล้ชิดกับสำเนียงหลวงพระบาง โดยเฉพาะสำเนียงเหน่อของสุพรรณบุรีมีความใกล้เคียงกับสำเนียงหลวงพระบาง[118] ซึ่งสำเนียงเหน่อดังกล่าวเป็นสำเนียงหลวงของกรุงศรีอยุธยา ประชาชนชาวกรุงศรีอยุธยาทั้งพระเจ้าแผ่นดินจนถึงไพร่ฟ้าราษฏรก็ล้วนตรัสและพูดจาในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัจจุบันเป็นขนบอยู่ในการละเล่นโขนที่ต้องใช้สำเนียงเหน่อ โดยหากเปรียบเทียบกับสำเนียงกรุงเทพฯ ในปัจจุบันนี้ ที่ในสมัยนั้นถือว่าเป็นสำเนียงบ้านนอกถิ่นเล็ก ๆ ของราชธานีที่แปร่งและเยื้องจากสำเนียงมาตรฐานของกรุงศรีอยุธยา[119] และถือว่าผิดขนบ[118]

ภาษาดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยาปรากฏอยู่ในโองการแช่งน้ำ ซึ่งเป็นร้อยกรองที่เต็มไปด้วยฉันทลักษณ์ที่แพร่หลายแถบแว่นแคว้นสองฝั่งลุ่มแม่น้ำโขงมาแต่ดึกดำบรรพ์[120] และภายหลังได้พากันเรียกว่า โคลงมณฑกคติ เนื่องจากเข้าใจว่าได้รับแบบแผนมาจากอินเดีย[120] ซึ่งแท้จริงคือโคลงลาว หรือ โคลงห้า ที่เป็นต้นแบบของโคลงดั้นและโคลงสี่สุภาพ[118] โดยในโองการแช่งน้ำเต็มไปด้วยศัพท์แสงพื้นเมืองของไทย-ลาว ส่วนคำที่มาจากบาลี-สันสกฤต และเขมรอยู่น้อย[118] โดยหากอ่านเปรียบเทียบก็จะพบว่าสำนวนภาษาใกล้เคียงกับข้อความในจารึกสมัยสุโขทัย และพงศาวดารล้านช้าง[118]

ด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ใกล้ทะเลและเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติทำให้สังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ต่างกับบ้านเมืองแถบสองฝั่งโขงที่ห่างทะเล อันเป็นเหตุที่ทำให้มีลักษณะที่ล้าหลังกว่าจึงสืบทอดสำเนียงและระบบความเชื่อแบบดั้งเดิมไว้ได้เกือบทั้งหมด[119] ส่วนภาษาในกรุงศรีอยุธยาก็ได้รับอิทธิพลของภาษาจากต่างประเทศจึงรับคำในภาษาต่าง ๆ มาใช้ เช่นคำว่า กุหลาบ ที่ยืมมาจากคำว่า กุล้อบ ในภาษาเปอร์เซีย ที่มีความหมายเดิมว่า น้ำดอกไม้[121] และยืมคำว่า ปาดรื (Padre) จากภาษาโปรตุเกส แล้วออกเสียงเรียกเป็น บาทหลวง[122] เป็นต้น

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

[แก้]
ราชทูตไทยที่ถูกส่งไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อ พ.ศ. 2229
ออกขุนชำนาญใจจง นักการทูตสยามที่เดินทางเยือนฝรั่งเศสและโรมในปี ค.ศ. 1688 วาดโดย คาร์โล มารัตตา

อาณาจักรอยุธยามักส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนเป็นประจำทุกสามปี เครื่องบรรณาการนี้เรียกว่า "จิ้มก้อง" นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการส่งเครื่องราชบรรณาการดังกล่าวแฝงจุดประสงค์ทางธุรกิจไว้ด้วย คือ เมื่ออาณาจักรอยุธยาได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายแล้วก็จะได้เครื่องราชบรรณาการกลับมาเป็นมูลค่าสองเท่า[123] ทั้งยังเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง จึงมักจะมีขุนนางและพ่อค้าเดินทางไปพร้อมกับการนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายด้วย

พ.ศ. 2054 ทันทีหลังจากที่ยึดครองมะละกา โปรตุเกสได้ส่งผู้แทนทางการทูต นำโดย ดูอาร์เต เฟอร์นันเดส (Duarte Fernandes) มายังราชสำนักสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 หลังได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างราชอาณาจักรโปรตุเกสและราชอาณาจักรอยุธยาแล้ว ผู้แทนทางการทูตโปรตุเกสก็ได้กลับประเทศแม่ไปพร้อมกับผู้แทนทางทูตของอยุธยา ซึ่งมีของกำนัลและพระราชสาส์นถึงพระเจ้าโปรตุเกสด้วย[124] ผู้แทนทางการทูตโปรตุเกสชุดนี้อาจเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยก็เป็นได้ ห้าปีให้หลังการติดต่อครั้งแรก ทั้งสองได้บรรลุสนธิสัญญาซึ่งอนุญาตให้โปรตุเกสเข้ามาค้าขายในราชอาณาจักรอยุธยา สนธิสัญญาที่คล้ายกันใน พ.ศ. 2135 ได้ให้พวกดัตช์มีฐานะเอกสิทธิ์ในการค้าข้าว

ในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ บันทึกของฮอลันดาระบุว่ามีการส่งคณะทูตานุทูตไปยังฮอลันดาจำนวน 20 คน ไปในเรือลำเดียวกันกับพ่อค้าชาวฮอลันดา ในแบบอย่างเต็มยศ คือมีพระราชสาส์น ตลอดจนเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ ที่มีค่าตามแบบแผนประเพณีของการเจริญพระราชไมตรีสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยได้เดินทางไปถึงกรุงเฮก เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2151 ซึ่งคณะทูตานุทูตคณะนี้ถือเป็นการส่งคณะทูตครั้งแรกไปเจริญทางสัมพันธไมตรีกับประเทศในยุโรป อย่างไรก็ตามในบันทึกไม่ได้ระบุชื่อราชทูตหรือบุคคลใดๆ ในคณะทูต ทราบเพียงแต่จำนวนว่ามีหัวหน้าสองท่าน (ราชทูตและอุปทูต) พนักงานรักษาเครื่องราชบรรณาการ เจ้าพนักงานพระราชสาส์น และอื่นๆ ซึ่งได้เข้าเฝ้าเจ้าชายมอร์ริส เจ้าชายแห่งออเรนจ์ในวันถัดจากที่เดินทางมาถึง[125]

ชาวต่างชาติได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้ทรงมีทัศนะสากลนิยม (cosmopolitan) และทรงตระหนักถึงอิทธิพลจากภายนอก ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ที่สำคัญกับญี่ปุ่น บริษัทการค้าของเนเธอร์แลนด์และอังกฤษได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงงาน และมีการส่งคณะผู้แทนทางการทูตของอยุธยาไปยังกรุงปารีสและกรุงเฮก ด้วยการธำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้ ราชสำนักอยุธยาได้ใช้เนเธอร์แลนด์คานอำนาจกับอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างชำนาญ ทำให้สามารถเลี่ยงมิให้ชาติใดชาติหนึ่งเข้ามามีอิทธิพลมากเกินไป[126]

ในปี พ.ศ. 2207 เนเธอร์แลนด์ใช้กำลังบังคับเพื่อให้ได้สนธิสัญญาที่ให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต เช่นเดียวกับการเข้าถึงการค้าอย่างเสรี คอนสแตนติน ฟอลคอน นักผจญภัยชาวกรีกผู้เข้ามาเป็นเสนาบดีต่างประเทศในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กราบทูลให้พระองค์หันไปพึ่งความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส วิศวกรฝรั่งเศสก่อสร้างป้อมค่ายแก่คนไทย และสร้างพระราชวังแห่งใหม่ที่ลพบุรี นอกเหนือจากนี้ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทในการศึกษาและการแพทย์ ตลอดจนนำแท่นพิมพ์เครื่องแรกเข้ามาในราชอาณาจักรด้วย พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงสนพระราชหฤทัยในรายงานจากมิชชันนารีที่เสนอว่า สมเด็จพระนารายณ์อาจเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ได้[127]

อาณาจักรอยุธยามีความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกในด้านการค้าขายและการเผยแผ่ศาสนา โดยชาวตะวันตกได้นำเอาวิทยาการใหม่ ๆ เข้ามาด้วย ต่อมา คอนสแตนติน ฟอลคอนได้เข้ามามีอิทธิพลและยัง บรรดาขุนนางจึงประหารฟอลคอนเสีย และลดระดับความสำคัญกับชาติตะวันตกตลอดช่วงเวลาที่เหลือของอาณาจักรอยุธยา

อย่างไรก็ดี การเข้ามาของฝรั่งเศสกระตุ้นให้เกิดความแค้นและความหวาดระแวงแก่หมู่ชนชั้นสูงของไทยและนักบวชในศาสนาพุทธ ทั้งมีหลักฐานว่าคบคิดกับฝรั่งเศสจะยึดกรุงศรีอยุธยา[123] เมื่อข่าวสมเด็จพระนารายณ์กำลังจะเสด็จสวรรคตแพร่ออกไป พระเพทราชา ผู้สำเร็จราชการ ก็ได้สังหารรัชทายาทที่ทรงได้รับแต่งตั้ง คริสเตียนคนหนึ่ง และสั่งประหารชีวิตฟอลคอน และมิชชันนารีอีกจำนวนหนึ่ง การมาถึงของเรือรบอังกฤษยิ่งยั่วยุให้เกิดการสังหารหมู่ชาวยุโรปมากขึ้นไปอีก พระเพทราชาเมื่อปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ทรงขับชาวต่างชาติออกจากราชอาณาจักร รายงานการศึกษาบางส่วนระบุว่า อยุธยาเริ่มต้นสมัยแห่งการตีตัวออกห่างพ่อค้ายุโรป ขณะที่ต้อนรับวาณิชจีนมากขึ้น แต่ในการศึกษาปัจจุบันอื่น ๆ เสนอว่า สงครามและความขัดแย้งในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นเหตุให้พ่อค้ายุโรปลดกิจกรรมในทางตะวันออก อย่างไรก็ดี เป็นที่ประจักษ์ว่า บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ยังทำธุรกิจกับอยุธยาอยู่ แม้จะประสบกับความยากลำบากทางการเมือง[127]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. หนังสือเจ้าพระยาศรีธรรมราชถึงเมอร์สิเออร์ ปองชาตแรง พุทธศักราช 2236. (คำปริวรรตโดย ภูธร ภูมะธน). ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2563. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2567.
    • เพิ่งอ้าง, หน้า 2 บรรทัดที่ 18-20:- "๑๘. ประการหนึ่ง ทหารฝรั่งเศสซึ่งเข้าไปอยู่ ณ กรุงไทยนั้นเป็นคน ๑๙. ใหม่ มิรู้ขนบ ณ กรุงไทย จึงเกิดวิวาทผิดหมองกันกับ ๒๐. ชาวไทย".
    • เพิ่งอ้าง, หน้า 3 บรรทัดที่ 33:- "กระษัตรเจ้ากรุงฝรั่งเศสให้ปาตรีทสรร เข้าไป ณ กรุงไทย", บรรทัด 35-36:- "แลสมเด็จพระมหากระษัตราธิ ๓๖. ราชเจ้ากรุงไทย".
  2. Description du Royaume Thai ou Siam" (1854)
  3. สุจิตต์ วงษ์เทศ (25 กุมภาพันธ์ 2018). "คนไทยเป็นชาวสยาม ของชาวยุโรปยุคอยุธยา". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2023.
  4. ดนัย ไชยโยธา. (2543). พัฒนาการของมนุษย์กับอารยธรรมในราชอาณาจักรไทย เล่ม ๑. โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์. หน้า 305.
  5. ชนิดา ศักดิ์ศิริสัมพันธ์. (2542). ท่องเที่ยวไทย. สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง. หน้า 40. ISBN 974-86261-9-9.
  6. Hooker, Virginia Matheson (2003). A Short History of Malaysia: Linking East and West. St Leonards, New South Wales, Australia: Allen and Unwin. p. 72. ISBN 1864489553.
  7. คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2563). ประวัติศาสตร์อยุธยา: ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่. กรุงเทพฯ: มติชน. 463 หน้า. ISBN 978-974-0-21721-3
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 ปรีดี พิศภูมิวิถี. (2553). กระดานทองสองแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: มติชน. 231 หน้า. ISBN 978-974-0-20626-2
  9. Burma Department of Information and Broadcasting. (1971). Forward Volume 10. Yangoon: Dept. of Information and Broadcasting. p. 23. :– "Shin Maharatta Thara the eminent monk-scholar of Ava Period also mentions "ယိုးဒယား" i.e. Yun Thais in his "Tada-U Mingala-zedi Mawgun," a famous verse. For centuries the prefix "yun" was used with the word "Yodaya" (Thailand) which literally means the "Yun Thais.""
    • BARNETT, L.D., British Museum. Department of Oriental Printed Books and Manuscripts. (1913). A Catalogue of the Burmese Books in the British Museum. London: William Clowes and Sons. p. 133. :– "[Pôn taẉ Rāma kakkhaņa yo:-dayá: zāt taẉ kyÏ:. A Dramatised version of the Rāmayana.]"
    • San San Hnin Tun and McCormick, P. (2014). "ယ", Colloquial Burmese: The Complete Course for Beginners. New York: Taylor & Francis Group
  10. 10.0 10.1 10.2 The Text Publication Fund of the Burma Research Society. (1923). The Glass Palace Chronicle of the Kings of Burma. (Translated by Pe Maung Tin and G.H. Luce). LONDON: Oxford University Press. pp. 92, 106.
  11. ศานติ ภักดีคำ. (2561). "เชลยชาวโยเดีย", ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์. กรุงเทพฯ: มติชน. 166 หน้า. ISBN 978-974-0-21612-4
  12. Cœdès, George. "Documents sur l'Histoire Politique et Religieuse du Laos Occidental," Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient 25(1925): 24. doi:10.3406/befeo.1925.3044 ISSN 1760-737X. "Le Hmannan Yazawin (trad. Maung Tin et Luce, pp. 99 et 106) place les Gywam au Sud-Est des Birmans et dit que leur contrée est aussie appelée Arawsa ou Ayoja,c'est-à-dire Ayudhya = le Siam."
  13. 13.0 13.1 13.2 ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์. (2517). ความสัมพันธ์ของมุสลิมทางประวัติศาสตร์ และวรรณคดีไทย และสำเภากษัตริย์สุลัยมาน (ฉบับย่อ). กรุงเทพฯ: สมาคมภาษา และหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. 201 หน้า.
  14. ศูนย์วัฒนธรรม สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน. (2538). การสัมมนาเรื่อง เจ้าพระยาบวรราชนายก (เชค อหมัด คูมี) กับประวัติศาสตร์สยาม (Sheikh Ahmad Qomi and the history of Siam) วันที่ 15 พฤษภาคม 2537 ห้องประชุมศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา: รวมคําบรรยายและบทความทางวิชาการ. แปลโดย กิติมา อมรทัต. กรุงเทพฯ: ศูนย์วัฒนธรรม สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน. 288 หน้า. ISBN 978-974-8-92697-1
  15. 15.0 15.1 Oliver Codrington. (1904). A MANUAL OF MUSALMAN NUMISMATICS, The Royal Asiatic Society Monographs Vol. VII. LONDONS: Stephen Austin and Sons. 239 pp.
  16. Kertas Kerja. (1997). Cultures in Contact: Kertas kerja Simposium antarabangsa mengenai hubungan antara kebudayaan, Kuala Lumpur, 2-3 April 1996. Kem. Kebudayaan, Kesenian & Pelancongan ; Ecole française d'Extrême-Orient (EFEO), Kuala Lumpur, Paris. 240 pp. ISBN 978-967-9-03018-1
  17. Academic and Cultural Publications Charitable Trust (Hyderabad, India), Islamic Culture Board, Marmaduke William Pickthall, Muhammad Asad. Islamic Culture, 77(1-2), (2003): p. 62, p.69.
  18. 18.0 18.1 18.2 ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช. (2566, 5 มีนาคม). "จาก “แชร์นอเนิม” มาเป็น “ซาร์เนา” ชื่อเก่า อยุธยา ก่อนการเข้ามาของโปรตุเกส". ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. (14 กันยายน 2562). สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2566.
  19. จันทร์ฉาย ภัคอธิคม. (2543). "ชะตากรรมพระยาละแวกถูกปฐมกรรมจริงหรือ?", ศิลปวัฒนธรรม 21(10-11), (กันยายน 2543): 31.
  20. Nicolas Gervaise and Herbert Stanley O'Neill. (1928). The Natural and Political History of the Kingdom of Siam A.D. 1688. Translated by Herbert Stanley O'Neill. Bangkok: Siam Observer Press. 150 pp.
  21. อาทร จันทรวิมล. (2546). ประวัติของแผ่นดินไทย. กรุงเทพฯ: อักษรไทย. 445 หน้า
  22. วินัย พงศ์ศรีเพียร และประเสริฐ ณ นคร. (2552). อาจารยบูชา: สรรพสาระ ประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรมไทย (โครงการวิจัย ๑๐๐ เอกสารสําคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย). กรุงเทพฯ: ศักดิ์โสภาการพิมพ์. หน้า 137. ISBN 978-974-6-42582-7
  23. 23.0 23.1 ประสาน บุญประครอง. "พระราชสาส์น อักษรไทย ภาษาไทย สมัยอยุธยา," ศิลปากร, 4(3)(กันยายน 2503): 45–54.
  24. พระราชสาส์นถึงพระเจ้าดอนฟิลิปแห่งโปรตุเกส. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2567.
  25. George Modelski, World Cities: –3000 to 2000, Washington DC: FAROS 2000, 2003. ISBN 978-0-9676230-1-6. See also "Evolutionary World Politics Homepage". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 ธันวาคม 2008.
  26. "Ayutthaya, Thailand's historic city". The Times Of India. 31 กรกฎาคม 2008.
  27. Derick Garnier (2004). Ayutthaya: Venice of the East. River books. ISBN 974-8225-60-7.
  28. "Ayutthaya Historical Park". Asia's World Publishing Limited. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 ตุลาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2011.
  29. 29.0 29.1 ธนิต อยู่โพธิ์, กรมศิลปากร. (2503). "แคว้นอโยธยา," เรื่องเมืองไตรตรึงส์ อู่ทอง และอโยธยา และเมืองอู่ทอง. ที่ระลึกในการฌาปนกิจศพ นางรัตนา มานิตยกุล ณ เมรุวัดธาตุทอง อำเภอพระโขนง พระนคร วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๐๓. พระนคร: รุ่งเรืองธรรม. หน้า 37–50.
  30. จารึกวัดเขากบ ด้านที่ 2. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2567.
  31. วินัย ผู้นำพล. (2552). วัฒนธรรมผสมในศิลปกรรมสยาม. นครปฐม: คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 458. ISBN 978-974-6-41261-2
    • Archaeological Survey of Burma (ed.). (1897). Inscriptions copied from the stones collected by King Bodawpaya and placed near the Arakan Pagoda, Mandalay, Vol. II. Rangoon: SGP. p. 627.
  32. 32.0 32.1 "จิตร ภูมิศักดิ์ ตรวจสอบหลักฐาน พบเมืองอโยธยา เก่ากว่าสุโขทัย". มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19-25 พฤษภาคม 2566. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2567.
  33. The Text Publication Fund of the Burma Research Society. (1923). The Glass Palace Chronicle of the Kings of Burma. (Translated by Pe Maung Tin and G.H. Luce). LONDON: Oxford University Press. p 106.
  34. Giles, Francis H. "Analysis of Van Vliet's Account of Siam, Part Eight: Concerning Titles in Siam," The Journal of the Siam Society 30(3)(1938): 332. "Arawsa is undoubtedly Ayocha (Ayudhya) and the Gyawns are descendants of the Thai Yuan who accompanied Prince Phromkuman of Yonoknakhon in his victorious war against the Khom when he came as far South as Khamphaengsaen."
  35. ธนโชติ เกียรติณภัทร. "อโยธยา ก่อน พ.ศ. ๑๘๙๓ ความทรงจำจากเอกสารและตำนาน (กฎหมาย ๔ ฉบับ และปีที่สร้างพระเจ้าแพนงเชิง)," ศิลปวัฒนธรรม 44(10)(สิงหาคม 2566):20. อ้างใน กฏหมายตราสามดวง เล่ม ๓. หน้า 173.
  36. กรมศิลปากร. (2521). เรื่องกฎหมายตราสามดวง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 414.
  37. สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2548). อักษรไทยมาจากไหน. กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 117. ISBN 974-323-547-7
  38. กรมศิลปากร. (2498). พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. จอมพลผิน ชุณหะวัณ และนางเพทาย พยุงเวชชศาสตร์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงพยุงเวชชศาสตร์ (พยุง พยุงเวช) และแพทย์หญิงสุภาณี พยุงเวช วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘. พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย. หน้า 129.
  39. อาทร จันทวิมล. (2546). ประวัติของแผ่นดินไทย. กรุงเทพฯ: อักษรไทย. หน้า 226.
  40. สุจิตต์ วงษ์เทศ. "พลังลาว" ชาวอีสาน มาจากไหน?. กรุงเทพฯ : มติชน. 2549, หน้า 95
  41. การปรับแก้เทียบศักราช และ อธิบายความ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ, หน้า 13-14
  42. การปรับแก้เทียบศักราช และ อธิบายความ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ, หน้า 14
  43. พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา (2455)/ภาค 1/แผ่นดินที่ 1 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
  44. "อโยธยาศรีรามเทพนคร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กรกฎาคม 2021.
  45. "The Tai Kingdom of Ayutthaya". The Nation: Thailand's World. 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กรกฎาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2009.
  46. พระบริหารเทพธานี. (2541). ประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๒. โสภณการพิมพ์. หน้า 67.
  47. อาณาจักรอยุธยา ตอนที่ 1 First Revision: July 18, 2015 Last Change: Jan.13, 2020 สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
  48. การปรับแก้เทียบศักราช และ อธิบายความ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ, หน้า 2
  49. ทั้งนี้ เมื่อปรับแก้ให้เป็นวันที่ตามระบบปฏิทินสุริยคติแบบจูเลียนแล้ว ตรงกับวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1894 (ค.ศ. 1351) และเมื่อปรับแก้เป็นปฏิทินสุริยคติแบบกริกอเรียนซึ่งเป็นปฏิทินสากลที่ใช้กันอยู่ปัจจุบัน ตรงกับวันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 1894 (ค.ศ. 1351) ; วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893 เป็นวันสถาปนากรุงศรีอยุธยาจริงหรือ?
  50. Suárez, Thomas. (1999). Early Mapping of Southeast Asia. Singapore: Periplus Editions (HK) Ltd. p. 165. ISBN 962-593-470-7
  51. Higham 1989, p. 355
  52. "The Aytthaya Era, 1350–1767". U. S. Library of Congress. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2009.
  53. Jin, Shaoqing (2005). Office of the People's Goverernment of Fujian Province (บ.ก.). Zheng He's voyages down the western seas. Fujian, China: China Intercontinental Press. p. 58. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2009.
  54. Lt. Gen. Sir Arthur P. Phayre (1883). History of Burma (1967 ed.). London: Susil Gupta. p. 111.
  55. 55.0 55.1 GE Harvey (1925). History of Burma. London: Frank Cass & Co. Ltd. pp. 167–170.
  56. Phayre, pp. 127–130
  57. Phayre, p. 139
  58. Wyatt 2003, pp. 90–121
  59. Christopher John Baker; Pasuk Phongpaichit (14 เมษายน 2009). A history of Thailand. Cambridge University Press. p. 22. ISBN 978-0-521-76768-2. สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2023.
  60. ประเสริฐ ณ นคร. วารสารราชบัณฑิตยสถาน[ลิงก์เสีย]. สืบค้นเมื่อ 14 ธันวาคม 2552.
  61. 61.0 61.1 "แถลงงานคณะกรรมการชำาระประวัติศาสตร์ไทย พุทธศักราช ๒๕๖๔" (PDF). กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. 2022. p. 145-150. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2023.
  62. คณะกรมการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. (2513). เฉลิมพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว (อนุสรณ์สมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีศรีสินทรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว). คณะกรมการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในอภิลักขิตมงคลสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีที่ ๑ และอยุธยามหาปราสาท วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๓ ประมวญไว้ซึ่งประวัติศาสตร์อันเนื่องด้วยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระบรมราชประวัติ การประดิษฐานพระราชวงศ์อู่ทองหรือเชียงรายสถาปนากรุงเทพทวาราวศรีอยุธยาหรือกรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร พระมหากษัตริย์ราชวงศ์อู่ทองมาจากไหน สัมพันธ์กับวงศ์สุพรรณอย่างไร ปูชนียโบราณวัตถุสถาน ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ศิลปกรรมสมัยหลงเหลืออยู่ที่ไหนบ้าง ทำไมจึงเรียกว่าพระเจ้าอู่ท่องว่าเชษฐบิดร ค้นคว้ามาเขียนโดยนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักปกครอง นักโหราศาสตร์ นักวรรณคดี นายแพทย์ปริญญา ผู้ทรงคุณวุฒิทางประติมากรรม สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม. พระนคร: ศิริมิตรการพิมพ์. หน้า 121.
  63. กรมศิลปากร. (2521). เรื่องกฎหมายตราสามดวง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 414.
  64. ธนโชติ เกียรติณภัทร."อโยธยาก่อน พ.ศ. ๑๘๙๓ ความทรงจำจากเอกสารและตำนาน," ศิลปวัฒนธรรม, 44(10)(สิงหาคม, 2566): 21. อ้างใน กฏหมายตราสามดวง.
  65. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. (2560). พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก. กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 133. ISBN 978-974-02-1543-1
  66. ตรงใจ หุตางกูร.(2561) ปรับแก้เทียบศักราช และ การอธิบายความ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มนุษย์วิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
  67. Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
  68. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (25 มีนาคม 2560). "อย่าลืม! ราชสำนักเมืองเหนือ ที่พิษณุโลก". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  69. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 5.
  70. 70.0 70.1 โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 6.
  71. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 7.
  72. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 9.
  73. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 10.
  74. 74.0 74.1 โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 11.
  75. 75.0 75.1 75.2 "The Economy and Economic Changes". The Ayutthaya Administration. Department of Provincial Administration. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2010. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2010.
  76. Tome Pires. The Suma Oriental of Tome Pires. London, The Hakluyt Society,1944, p.107
  77. 77.0 77.1 77.2 77.3 77.4 77.5 "Ayutthaya". Mahidol University. 1 พฤศจิกายน 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2010. สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2009.
  78. 78.0 78.1 โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 12.
  79. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 13.
  80. "Background Note: Thailand". U.S. Department of State. กรกฎาคม 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2009. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2009.
  81. 81.0 81.1 81.2 Sharon La Boda (1994). Trudy Ring; Robert M. Salkin (บ.ก.). International Dictionary of Historic Places: Asia and Oceania. Vol. 5. Taylor & Francis. p. 56. ISBN 1-884964-04-4. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2009.
  82. Simon de La Loubère, "The Kingdom of Siam" (Oxford Univ Press, 1986) (1693), p. 49
  83. La Loubère (1693), at 49
  84. James Low (1839). "On Siamese Literature" (PDF). p. 177. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2022.
  85. มร.เดอะ ลาลูแบรฺ. จดหมายเหตุลาลูแบรฺฉบับสมบูรณ์, เล่มที่ 1, แปล สันต์ ท. โกมลบุตร. พระนคร:ก้าวหน้า. 2510, หน้า 46
  86. มร.เดอะ ลาลูแบรฺ. จดหมายเหตุลาลูแบรฺฉบับสมบูรณ์, หน้า 47
  87. Anthony Reid, South East Asia in the Age of Commerce: Expansion and Crisis (1988), p.71–73
  88. 88.0 88.1 88.2 สุจิตต์ วงษ์เทศ. อักษรไทยมาจากไหน?. หน้า 128
  89. สุจิตต์ วงษ์เทศ. อักษรไทยมาจากไหน?. หน้า 130
  90. มร.เดอะ ลาลูแบรฺ. จดหมายเหตุลาลูแบรฺฉบับสมบูรณ์, หน้า 45
  91. Simon de La Loubère, The Kingdom of Siam (Oxford Univ. Press 1986) (1693), at 9
  92. La Loubère (1693), p.10
  93. La Loubère (1693), p.10
  94. 94.0 94.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ. อักษรไทยมาจากไหน?. หน้า 129
  95. 95.0 95.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน?. หน้า 188
  96. สุภรณ์ โอเจริญ. ชาวมอญในประเทศไทย:วิเคราะห์ฐานะและบทบาทในสังคมไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2519), หน้า 48–68
  97. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันทานุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) . พระนคร:คลังวิทยา, 2507, หน้า 145 และ 403
  98. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันทานุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) , หน้า 446
  99. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันทานุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) , หน้า 463
  100. นิโกลาส์ แชรแวส. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) . แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พระนคร:ก้าวหน้า, 2506, หน้า 62
  101. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 36 ฉบับหอสมุดแห่งชาติ, เล่ม 9. พระนคร:ก้าวหน้า, 2507, หน้า 150
  102. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันทานุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด), หน้า 507-508
  103. สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ไทยรบพม่า. พระนคร:คลังวิทยา, 2514. หน้า 235–237
  104. บังอร ปิยะพันธุ์, หน้า 11
  105. บาทหลวงตาชารด์, แปล สันต์ ท. โกมลบุตร. จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยามของบาทหลวงตาชาร์ด. กรุงเทพฯ:กรมศิลปากร, 2517, หน้า 46
  106. เซอร์จอห์น เบาริง แปล นันทนา ตันติเวสส์. หน้า 73
  107. พลับพลึง มูลศิลป์. ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสสมัยกรุงศรีอยุธยา, กรุงเทพฯ:บรรณกิจ, 2523. หน้า 72
  108. เซอร์จอห์น เบาริง แปล นันทนา ตันติเวสส์. หน้า 95–115
  109. สุภัตรา ภูมิประภาส. นางออสุต: เมียลับผู้ทรงอิทธิพลแห่งการค้าเมืองสยาม. ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 30 ฉบับที่ 11 กันยายน 2552 กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มติชน, 2552. หน้า 93.
  110. ภาสกร วงศ์ตาวัน. ไพร่ ขุนนาง เจ้า แย่งชิงบัลลังก์สมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ: ยิปซี. หน้า 80.
  111. ไกรฤกษ์ นานา. 500 ปี สายสัมพันธ์สองแผ่นดินไทย-โปรตุเกส. กรุงเทพฯ: มติชน, 2553. หน้า 126.
  112. สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน?. หน้า 190.
  113. Liberman (2003), "Strange Parallel Southeast Asia in Global Context c. 800 - 1830, Vol. 1", at 313–314
  114. Liberman (2003), Strange Parallel Southeast Asia in Global Context, at 324
  115. Van Vliet (1692), "Description of the Kingdom of Siam" (L.F. Van Ravenswaay trans.), at 82
  116. Liberman (2003), "Strange Parallel Southeast Asia in Global Context", at 329–330
  117. "สุเนตร ชุตินธรานนท์: ไขคติ "เบิกยุค" ของพม่า เหตุย้ายเมืองหลวงไป "เนปิดอว์"". ประชาไท.
  118. 118.0 118.1 118.2 118.3 118.4 สุจิตต์ วงษ์เทศ. อักษรไทยมาจากไหน?. หน้า 132
  119. 119.0 119.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ. อักษรไทยมาจากไหน?. หน้า 133
  120. 120.0 120.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ. อักษรไทยมาจากไหน?. หน้า 130
  121. สุดารา สุจฉายา. ประวัติศาสตร์เก็บตกที่อิหร่านย้อนรอยสายสัมพันธ์ไทย-อิหร่าน. กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เซียในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550. หน้า 144
  122. อาทิตย์ ทรงกลด. เรื่องลับเขมรที่คนไทยควรรู้. กรุงเทพฯ:สยามบันทึก, 2552. หน้า 106
  123. 123.0 123.1 โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. หน้า 14.
  124. Donald Frederick Lach, Edwin J. Van Kley, "Asia in the making of Europe", pp. 520–521, University of Chicago Press, 1994, ISBN 978-0-226-46731-3.
  125. "ประวัติสัมพันธไมตรีสยาม-เนเธอร์แลนด์ รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ (1)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กรกฎาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2018.
  126. "The Beginning of Relations with Buropean Nations and Japan (sic)". Thai Ministry of Foreign Affairs. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 มิถุนายน 2009. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2010.
  127. 127.0 127.1 Smithies, Michael (2002). Three military accounts of the 1688 "Revolution" in Siam. Bangkok: Orchid Press. pp. 12, 100, 183. ISBN 974-524-005-2.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Van Vliet, Jeremias, "Description of the Kingdom of Siam" (L.F. Van Ravenswaay trans.) (1692).
  • Higham, Charles (1989). The Archaeology of Mainland Southeast Asia. Cambridge, England: Cambridge University Press. ISBN 0-521-27525-3. สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2009.
  • Liberman, Victor, "Strange Parallel Southeast Asia in Global Context c. 800 - 1830, Vol. 1: Integration on the Mainland" (Cambridge Univ. Press, 2003).
  • Wyatt, David K. (2003). Thailand: A Short History. New Haven, Connecticut: Yale University Press. ISBN 0-300-08475-7.
  • โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ.
  • นิโกลาส์ แชรแวส. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) , แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พระนคร:ก้าวหน้า, 2506
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันทานุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด).พระนคร: คลังวิทยา, 2507
  • บาทหลวงตาชารด์, แปล สันต์ ท. โกมลบุตร. จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยามของบาทหลวงตาชาร์ด. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2517
  • ตรงใจ หุตางกูร. การปรับแก้เทียบศักราช และ อธิบายความ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2561. ISBN 978-616-7154-73-2
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ. อักษรไทยมาจากไหน?. กรุงเทพฯ: มติชน, 2548. ISBN 974-323-547-7
  • เซอร์จอห์น เบาริง, แปล นันทนา ตันติเวสส์. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสยามกับต่างประเทศสมัยกรุงศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2527
  • บังอร ปิยะพันธุ์. ลาวในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541. ISBN 974-86304-7-1
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน?. กรุงเทพฯ: มติชน, 2548. ISBN 974-323-436-5
  • Suthachai Yimprasert, "Portuguese Lancados in Asia in the Sixteenth and Seventeenth Centuries, " Ph.D. Dissertation, University of Bristol, 1998.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]