มหาวิทยาลัยทักษิณ
Thaksin University | |
ตราตำราการศึกษา 3 เล่ม สีเทา สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย | |
ชื่อเดิม | มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา |
---|---|
ชื่อย่อ | มทษ.[1] / TSU |
คติพจน์ | ปัญญา จริยธรรม นำการพัฒนา |
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ |
สถาปนา | 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 |
สังกัดการศึกษา | กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
สังกัดวิชาการ |
|
งบประมาณ | 1,179,328,900 บาท (พ.ศ. 2568)[2] |
นายกสภาฯ | ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วีระศักดิ์ จึงสู่วิวัฒน์วงศ์ (รักษาการ) |
อธิการบดี | รองศาสตราจารย์ ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ |
อาจารย์ | 783 คน (พ.ศ. 2567) |
บุคลากรทั้งหมด | 1,139 คน (พ.ศ. 2567) |
ผู้ศึกษา | 13,747 คน (พ.ศ. 2563)[3] |
ที่ตั้ง |
|
วิทยาเขต | วิทยาเขต |
เพลงประจำมหาวิทยาลัย | มาร์ชมหาวิทยาลัยทักษิณ |
สี | |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย |
มหาวิทยาลัยทักษิณ (อังกฤษ: Thaksin University; อักษรย่อ: มทษ. – TSU) เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ มีพื้นที่ตั้ง 2 วิทยาเขตในจังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง ถือกำเนิดมาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษาที่ก่อตั้งเมือปี พ.ศ. 2511 และพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลาเมื่อปี 2517 และแยกตัวเป็นเอกเทศเมื่อปี พ.ศ. 2539 มาเป็น "มหาวิทยาลัยทักษิณ" โดยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทักษิณได้ผ่านกระบวนการตามกฎหมายครบทุกขั้นตอน และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2539 มีผลบังคับใช้ในวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยทักษิณ โดยชื่อ มหาวิทยาลัยทักษิณ สื่อถึง "มหาวิทยาลัยแห่งภาคใต้" (ทักษิณ แปลว่า ทิศใต้)
มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดอยู่ในกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นการผลิตบัณฑิต พร้อมพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม ได้รับการประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับดี โดยเฉพาะในด้านการบริการแก่สังคม ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และด้านการประกันคุณภาพภายในที่ได้รับการประเมินในระดับดีมาก ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยทักษิณประกอบด้วย 2 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตสงขลา และวิทยาเขตพัทลุง รวมทั้งมีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร 1 แห่ง จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ครอบคลุมสาขาวิชาการทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ใน 11 คณะ 3 วิทยาลัย 1 บัณฑิตวิทยาลัย
ประวัติมหาวิทยาลัย
[แก้]มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกๆ ในพื้นที่ภาคใต้ ถือกำเนิดขึ้นภายหลังจากการสถาปนาวิทยาลัยวิชาการศึกษา (College of Education) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นแทนโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ณ ถนนประสานมิตร อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ในปีพุทธศักราช 2497 เพื่อพัฒนาปรัชญาและแนวคิดทางด้านการศึกษาสมัยใหม่ให้สอดคล้องผสานสัมพันธ์กับสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาศาสตร์ให้เป็นวิชาชีพที่มีระบบแบบแผน และมีความลุ่มลึกในสังคมไทย พร้อมกับการประสาทปริญญาทางด้านศึกษาศาสตร์ วิทยาลัยวิชาการศึกษาได้พัฒนาและเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ พร้อมกับการขยายการจัดการศึกษาไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ และมีการบริหารงานแบบหลายวิทยาเขต ประกอบด้วย วิทยาเขตปทุมวัน (ปีพุทธศักราช 2498) วิทยาเขตบางแสน จังหวัดชลบุรี (ปีพุทธศักราช 2498) วิทยาเขตพิษณุโลก (ปีพุทธศักราช 2510) วิทยาเขตมหาสารคาม (ปีพุทธศักราช 2511) วิทยาเขตสงขลา (ปีพุทธศักราช 2511) วิทยาเขตพระนคร (ปีพุทธศักราช 2512) และวิทยาเขตพลศึกษา (ปีพุทธศักราช 2513) โดยมีวิทยาเขตประสานมิตรเป็นศูนย์กลางการบริหาร
วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา
[แก้]วิทยาลัยวิชาการศึกษา วิทยาเขตสงขลา ได้รับการสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ณ ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา (ที่ตั้งปัจจุบันของมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา) ตามมติสภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา ในการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปยังพื้นที่ภาคใต้ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2511 จึงถือเป็นวันสถาปนาวิทยาลัยวิชาการศึกษา วิทยาเขตสงขลา ได้เปิดการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2512 หลักสูตรปริญญาการศึกษาบัณฑิต เฉพาะหลักสูตร 2 ปี และในปีการศึกษา 2517 จึงเริ่มรับนิสิตเข้าเรียนในหลักสูตรปริญญาการศึกษาบัณฑิต หลักสูตร 4 ปี ได้ดำเนินการจัดการศึกษาและผลิตบัณฑิตให้มีความเจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้รับการยกวิทยฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ในปีพุทธศักราช 2517 วิทยาลัยวิชาการศึกษา วิทยาเขตสงขลา จึงเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้ชื่อ “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา”
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา
[แก้]ในระหว่างปีพุทธศักราช 2532 – 2533 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา ได้เริ่มวางแผนขยายงานไปยังพื้นที่จังหวัดพัทลุง เนื่องด้วยพื้นที่เดิม ณ ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดไม่เพียงพอต่อการรองรับการจัดตั้งคณะใหม่ ๆ และการขยายงานในอนาคต โดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้มหาวิทยาลัยขยายงานไปยังพื้นที่จังหวัดพัทลุง และให้บรรจุโครงการดังกล่าวไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 - 2539) ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2535 สภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงได้มีมติกำหนดชื่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลาใหม่เป็น “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้” ทั้งนี้โดยคำนึงถึงภารกิจของมหาวิทยาลัยอันเกี่ยวเนื่องกับภาคใต้โดยรวม ไม่จำเพาะแต่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง
มหาวิทยาลัยทักษิณ
[แก้]และเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ ได้รับการยกวิทยฐานะเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นกรม ในทบวงมหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทักษิณ พ.ศ. 2539 มหาวิทยาลัยทักษิณได้พัฒนาเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ ในปีการศึกษา 2547 เริ่มเปิดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ที่ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 สภามหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มีมติให้มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา และวิทยาเขตพัทลุง มีการบริหารงานแบบ 2 วิทยาเขต ประกอบด้วย วิทยาเขตสงขลา (วิทยาเขต 1) บ้านอ่าวทราย ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา (เป็นส่วนของสถาบันคดีศึกษา) (วิทยาเขต 2) ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา วิทยาเขตพัทลุง (วิทยาเขต 1) ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง (วิทยาเขต 2) ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง
ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 - ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยทักษิณได้พัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐด้วยการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัวสามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทักษิณ พ.ศ. 2551 และภายใต้ปรัชญาของมหาวิทยาลัย “ปัญญา จริยธรรม นำการพัฒนา”
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
[แก้]ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิณมีตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเป็นรูปตำราการศึกษา 3 เล่ม สีเทา (สีประจำมหาวิทยาลัย) สะท้อนปรัชญาของมหาวิทยาลัย “ปัญญา จริยธรรม และการพัฒนา” ล้อมรอบด้วยอักษรสีฟ้า (สีประจำมหาวิทยาลัย) เป็นภาษาไทย “มหาวิทยาลัยทักษิณ” และภาษาอังกฤษ “THAKSIN UNIVERSITY” ซึ่งหมายถึงมหาวิทยาลัยแห่งภาคใต้ ด้านบนเหนือรูปตำราการศึกษาเป็นมงกุฎเปล่งรัศมีสีฟ้า ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นเลิศและเกียรติยศ ด้วยในปีพุทธศักราช 2539 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ตรงกับวโรกาสอันเป็นมหามงคลสมัยปีกาญจนาภิเษก ในศุภวาระที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี
ต้นไม้และดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิณมีต้นไม้และดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยคือ ต้นปาริชาต หรือทองหลาง (ชื่อสามัญ: Tiger’s Claw หรือ Indian Coral Tree ชื่อวิทยาศาสตร์:Erythrina variegata L.) เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ อยู่ในวงศ์ถั่ว (LEGUMINOSAE หรือ FABACEAE) ดอกมีลักษณะเป็นช่อสีแดงเข้ม เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพระไตรปิฎก คนไทยโบราณเชื่อว่าเป็นไม้มงคล หรือต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ปลูกบนสวรรค์ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ต้นประวาลพฤกษ์ ซึ่งประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มออกช่อดอกแล้วบานสะพรั่งเมื่อถึงปลายเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่นิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณสำเร็จการศึกษา
สีประจำมหาวิทยาลัย สีประจำมหาวิทยาลัยทักษิณ สืบเนื่องมาจากสีประจำวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา คือสีเทา-ฟ้า
- สีเทา เป็นสีของสมอง หมายถึง ความคิดหรือปัญญา (นอกจากนี้ สีเทา ยังเป็นสีร่วมกันของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและอดีตวิทยาเขตทั้ง 4 แห่งด้วย)
- สีฟ้า เป็นสีของทะเล และท้องฟ้า หมายถึง ความกว้างไกล
สีเทา - ฟ้า จึงหมายถึง ความคิดที่กว้างไกล หรือคิดอย่างมีวิสัยทัศน์
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำมหาวิทยาลัย พระพุทธศรีศากยมุนินทร์ศรีนครินทรวิโรฒมงคล สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธศรีศากยมุนินทร์ ศรีนครินทรวิโรฒมงคล” ซึ่งมีความหมายว่า “องค์พระพุทธเจ้า ที่เป็นมิ่งมหามงคล แห่งมหาวิทยาลัย” และมหาวิทยาลัยได้กระทำพิธัอัญเชิญพระพุทธศรีศากยมุนินทร์ศรีนครินทรวิโรฒมงคลมาประดิษฐาน ณ มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
เพลงประจำมหาวิทยาลัย
[แก้]- เพลงมาร์ชมหาวิทยาลัยทักษิณ
- เพลงร่มปาริชาต (1 ใน 2 เพลงประจำมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา)
- เพลงขวัญตาฟ้าเทา
- เพลงตะลุงรับขวัญ
- เพลงทักษิณ ถิ่นรัก
- เพลงอยากรำด้วย
- เพลงอาลัยปาริชาต (1 ใน 2 เพลงประจำมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา)
- เพลงลาเพื่อน
- เพลงทักษิณถวายชัยจอมราชัน
การศึกษา
[แก้]มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ การบริหารการศึกษาดำเนินการโดย 11 คณะ 3 วิทยาลัย 1 บัณฑิตวิทยาลัย และ 1 สถาบันวิจัย ประกอบไปด้วย
กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[แก้]
|
กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์[แก้]
|
กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ[แก้]
|
ส่วนที่จัดการสอนและงานวิจัยเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษา[แก้]
|
โครงการจัดตั้งคณะ[แก้]
|
สำนัก/สถาบัน/ศูนย์
[แก้]- สำนักคอมพิวเตอร์ (Computer Center)
- สำนักหอสมุด (University’s Library)
- สำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน (Business Incubation Center)
- ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Creative Lab Center)
- ศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยทักษิณ
- ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยทักษิณ
- สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยทักษิณ
โรงเรียน
[แก้]- โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยทักษิณ
- โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (วมว.) โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนป่าพะยอมพิทยาคม โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยทักษิณ (วมว.-ม.ทักษิณ) ภายใต้คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ
พื้นที่มหาวิทยาลัย
[แก้]วิทยาเขตสงขลา
[แก้]มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา เป็นวิทยาเขตแรกก่อตั้งของมหาวิทยาลัยทักษิณ มีพันธกิจหลักในการผลิตบัณฑิตที่เน้นทางด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการการเรียนการสอน ณ บริเวณตำบลเขารูปช้าง และพื้นที่ของสถาบันทักษิณคดีศึกษา ณ บริเวณตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา และยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่
คณะ/วิทยาลัย
[แก้]- คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
- คณะศึกษาศาสตร์
- คณะศิลปกรรมศาสตร์
- คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ
- คณะนิติศาสตร์
- คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล
- บัณฑิตวิทยาลัย
- วิทยาลัยนานาชาติ
- วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา
โรงเรียน
[แก้]- โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยทักษิณ (ฝ่ายประถม)
สำนัก/สถาบัน/ศูนย์
[แก้]- สำนักคอมพิวเตอร์
- สำนักหอสมุด
- สถาบันทักษิณคดีศึกษา
- สถาบันวิจัยและพัฒนา
- สถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ(ICOFIS)
- ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยทักษิณ
- หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยทักษิณ
วิทยาเขตพัทลุง
[แก้]มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เป็นวิทยาเขตแห่งที่สองของมหาวิทยาลัยทักษิณ ภายหลังจากการจัดตั้งวิทยาเขตสงขลา มีพันธกิจหลักในการผลิตบัณฑิตที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และการเกษตร โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการการเรียนการสอน ณ บริเวณตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม และพื้นที่ของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ณ บริเวณตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่
คณะ/วิทยาลัย
[แก้]- คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล
- คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา
- คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน
- คณะนิติศาสตร์
- คณะวิศวกรรมศาสตร์
- คณะพยาบาลศาสตร์
- คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ
- คณะศึกษาศาสตร์
- คณะสหวิทยาการและการประกอบการ
- วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา
- วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน
โรงเรียน
[แก้]- โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (วมว.) โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนป่าพะยอมพิทยาคม โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยทักษิณ (วมว.-ม.ทักษิณ) ภายใต้คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ
- โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยทักษิณ (ฝ่ายมัธยม)
สำนัก/สถาบัน/ศูนย์
[แก้]กิจกรรมสำคัญ
[แก้]พิธีพระราชทานปริญญาบัตร
[แก้]ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ในกิจการของมหาวิทยาลัยทักษิณ และพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยทักษิณเป็นประจำทุกปีนับแต่แรกเริ่มก่อตั้งจวบจนกาลปัจจุบัน โดยพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน โดยในอดีตได้ประกอบพิธี ณ หอประชุมปาริชาติ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ปัจจุบันพิธีพระราชทานปริญญาบัตรได้ย้ายมาจัด ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2559 เป็นต้นมา
งานเทางามสัมพันธ์
[แก้]กิจกรรมเทางามสัมพันธ์ เกิดขึ้นหลังจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขตต่าง ๆ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยทักษิณ แม้ว่าวิทยาเขตต่าง ๆ จะได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ แต่ด้วยความตระหนักถึงความผูกพันทั้ง 5 มหาวิทยาลัย จึงมีปณิธานที่จะร่วมมือกันในภารกิจอันควรแก่มหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกันจัดงานเทา-งามสัมพันธ์ ขึ้น โดยใช้สี "เทา" ซึ่งเป็นสีประจำโดยรวมของทุกวิทยาเขตเป็นพื้นฐาน และเพิ่มคำว่า "งาม" ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายและมีคุณค่ายิ่ง มีความหมายรวมเป็น "เทา-งามสัมพันธ์" ในปี พ.ศ. 2538 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา หรือมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นเจ้าภาพโดยมีรูปแบบกิจกรรมที่เน้นด้านกีฬาและด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นหลัก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย โดยอธิการบดีร่วมเล็งเห็นความสำคัญต่อภารกิจของมหาวิทยาลัยและประเทศชาติ จึงได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งามสัมพันธ์ เป็นต้นมา ซึ่งมีข้อตกลงชัดเจนใน 4 ด้าน คือ ด้านการวิจัย ด้านการบริหารวิชาการแก่สังคม ด้านการสร้างความสามัคคีระหว่างมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งาม ตลอดจนถึงการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการกีฬา และด้านการพัฒนาองค์กรบริหาร การจัดการและวิชาการ
ในปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือเทางามอย่างเป็นทางการ เป็นมหาวิทยาลัยที่ 6 ของกลุ่ม และปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยในเครือทั้งสิ้น 6 แห่งด้วยกัน คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยพะเยา (อนึ่ง มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ไม่ได้ใช้สีเทาเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย และเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในการเป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒโดยตรงเหมือนอีก 4 แห่ง แต่แยกตัวมาจากวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยนเรศวร)
สถานที่สำคัญ
[แก้]หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย
[แก้]เป็นแหล่งรวบรวม ประเมิน คุณค่า จัดเก็บและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการสืบค้นและให้บริการ แก่ผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้า รวมทั้งได้ทราบถึงพัฒนาการของ มหาวิทยาลัยทักษิณ
สำนักคอมพิวเตอร์
[แก้]เป็นหน่วยงานบริการทางวิชาการมีฐานะเทียบเท่าคณะ ก่อตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 เริ่มต้นจากการเป็น “ศูนย์บริการการศึกษาและประมวลผลไมโครคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา” โดยคณะกรรมการบริหารวิทยาเขต ได้อนุมัติให้ใช้เงินสำรองของมหาวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นเป็นโครงการเงินทุนหมุนเวียน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์คอมพิวเตอร์มศว สงขลา” และ “ศูนย์คอมพิวเตอร์ มศว ภาคใต้” ตามลำดับการดำเนินงานใช้รูปแบบคณะกรรมการดำเนินการประจำศูนย์คอมพิวเตอร์และดำเนินงานด้วยค่าใช้จ่ายจาก เงินงบประมาณรายได้ของมหาวิทยาลัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 มหาวิทยาลัยได้อนุมัติงบประมาณเงินรายได้ จำนวน 736,000 บาท ให้ก่อสร้างอาคารที่ทำการหลังแรก ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวมีพื้นที่ปฏิบัติการ 220 ตารางเมตร การก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2530
ในปี พ.ศ. 2532 เริ่มได้รับอนุมัติให้บรรจุข้าราชการ และในปี พ.ศ. 2536 ได้รับงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 24,668,000 บาท เป็นงบประมาณผูกพันระยะเวลา 3 ปี เพื่อทำการก่อสร้างอาคารที่ทำการหลังใหม่ (อาคารปัจจุบัน) เป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ 2,793 ตารางเมตร การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2538 และ เปิดให้ใช้การได้ในปีเดียวกัน
พ.ศ. 2539 เมื่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ ได้รับการยกวิทยฐานะเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง ส่วนราชการ ในมหาวิทยาลัยทักษิณ ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2541 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 115 ตอนที่ 89ก ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2541 หน้า 4-5 กำหนดให้สำนักคอมพิวเตอร์เป็นส่วนราชการหนึ่งในมหาวิทยาลัยทักษิณ
สำนักหอสมุด
[แก้]เดิมเป็นอาคาร 2 ชั้นเริ่มเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2512 ต่อมาเนื่องจากอาคารเสื่อมสภาพ ประกอบกับวัสดุห้องสมุดและผู้ใช้บริการเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงได้สร้างอาคารใหม่ขึ้นเป็นอาคาร 5 ชั้น มีเนื้อที่ 9,660 ตารางเมตร ที่นั่งอ่านประมาณ 1,200 ที่นั่ง เปิดให้บริการ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2538 เป็นหน่วยงานบริการทางวิชาการ ของมหาวิทยาลัย ดำเนินงานโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความสนับสนุนความเป็นเลิศ ของมหาวิทยาลัย ทั้งในด้าน การสอน การวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มีภารกิจ ที่สำคัญคือ ทำหน้าที่เป็นศูนย์วิชาการที่รวบรวม วัสดุสารสนเทศ สำหรับให้บริการด้าน การเรียน การสอน และ การศึกษาค้นคว้าวิจัยแก่นิสิต อาจารย์ ข้าราชการ และบุคลากรอื่น ๆ ของ มหาวิทยาลัย ตลอดจนบุคคลภายนอก
สถาบันวิจัยและพัฒนา
[แก้]ในปี 2548 ภารกิจส่งเสริมการวิจัย ภายใต้กลุ่มงานบริการการศึกษา ซึ่งมีบุคลากรในการดำเนินงานเพียง 2 คน โดยมี ศ.ดร.เกษม จันทร์แก้ว เป็นประธานกรรมการพัฒนาชุดโครงการวิจัย โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2549 เป็นเงิน 13,687,800 บาท เป็นโครงการต่อเนื่องผูกพันงบประมาณ เป็นเวลา 3 ปี (2549-2551) รวมงบประมาณทั้งสิ้นเป็นวงเงินประมาณ 26 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2548 สภามหาวิทยาลัยทักษิณได้ประกาศจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนา ขึ้น
ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัย
[แก้]นับแต่ปี พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา,มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา,มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้,มหาวิทยาลัยทักษิณ มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารมาแล้ว ดังนี้
วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา | ||
---|---|---|
รายนามรองอธิการประจำวิทยาเขต | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
1.ศาสตราจารย์ ดร.สมพร บัวทอง | (พ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2517) | |
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา | ||
รายนามรองอธิการบดีประจำวิทยาเขต | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
1. ศาสตราจารย์ ดร.สมพร บัวทอง | (พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2518) | |
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปรีชา สิงขโรทัย | (พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2520) | |
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประหยัด หาสิตะพันธ์ | (พ.ศ. 2520 - พ.ศ. 2521) | |
4. ศาสตราจารย์ ดร.เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ | (พ.ศ. 2521 - พ.ศ. 2526) | |
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บันลือ ถิ่นพังงา | (พ.ศ. 2526 - พ.ศ. 2535) | |
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้ | ||
รายนามรองอธิการบดีประจำวิทยาเขต | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บันลือ ถิ่นพังงา | (พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2538) | |
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ไพโรจน์ อินทรศิริสวัสดิ์ | (พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2539) | |
มหาวิทยาลัยทักษิณ | ||
รายนามอธิการบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพโรจน์ อินทรศิริสวัสดิ์ | (พ.ศ. 2539 - พ.ศ. 2544) | |
7. รองศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ ชิตพงศ์ | (พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2548) | |
8. รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ สายธนู | (พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2556) | |
9. รองศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ชำนิ | (พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2565) | |
10. รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ | (พ.ศ. 2565[4] - ปัจจุบัน) |
หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น
นิสิตเก่าและบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัย
[แก้]- ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม (อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์) อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยทักษิณ และศาสตราภิชานคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อุไรวรรณ ศิวะกุล (อ.อุ๊) เจ้าของสถาบันกวดวิชาเคมี อ.อุ๊ ชื่อดัง
- วิบูลย์ ลีรัตนขจร (นิสิตเก่าคณะศึกษาศาสตร์) ผู้อำนวยการ บริษัท เซิร์ซ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด,ดารานักแสดง และพิธีกร รายการ 168 ชั่วโมง ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
- ชินวรณ์ บุณยเกียรติ (นิสิตเก่าคณะศึกษาศาสตร์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล อดีตประธานวิปรัฐบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- วันมูหะมัดนอร์ มะทา (อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์) อดีตประธานรัฐสภา, อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร, อดีตรองนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันเป็นแกนนำกลุ่มวาดะห์
- มุขตาร์ มะทา (นิสิตเก่าคณะสังคมศาสตร์ ปัจจุบันคือคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดยะลา ผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงานผู้แทนฮัจย์ -ทางการไทย (อมีรุ้ลฮัจย์) และปัจจุบันนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา(อบจ.)
- ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ (ที่ปรึกษาคณะนิติศาสตร์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์) ผู้ก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณและคณบดีคนแรกของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
- ศาสตราจารย์(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล (อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์) อดีตผู้พิพากษา,อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข (นิสิตเก่าคณะศึกษาศาสตร์) ผู้ก่อตั้ง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการ คณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คนแรกและ ผู้ก่อตั้งวงดนตรีคลาสสิกเยาวชน ดร.แซ็ก เชมเบอร์ ออร์เคสตรา
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพฑูรย์ ธัญญา (นิสิตเก่าคณะศึกษาศาสตร์) รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ศิลปินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (รางวัลซีไรต์)
- ประยงค์ รณรงค์ (นิสิตเก่าคณะสังคมศาสตร์ ปัจจุบันคือคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขา ผู้นำเศรษฐกิจชุมชน
- ศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมวรรณ วีระธรรมโม[ลิงก์เสีย] ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา (นิสิตเก่าคณะศึกษาศาสตร์ อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)
การจัดอันดับมหาวิทยาลัย
[แก้]การจัดอันดับโดย เว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บไซต์ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยบ่งบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน เพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบัน ซึ่งทางเว็บโอเมตริกซ์ได้จัดอันดับปีละ 2 ครั้งในเดือนมกราคม และกรกฎาคม ล่าสุดเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 มหาวิทยาลัยทักษิณ อยู่ในอันดับที่ 2,772 ของโลก อันดับที่ 99 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับที่ 35 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย[5]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ การกำหนดรหัสตัวพยัญชนะประจำกระทรวงและเลขที่หนังสือออกของ กระทรวงการอดุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2564
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๓๕, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
- ↑ จำนวนนิสิตปีการศึกษา 2563. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2563.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ (นายณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์)
- ↑ Ranking Web of World Universities เก็บถาวร 5 กรกฎาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Top South East Asia