ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิทยาลัยศิลปากร

พิกัด: 13°45′10.93″N 100°29′27.98″E / 13.7530361°N 100.4911056°E / 13.7530361; 100.4911056
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Silpakorn University
ตราพระคเณศ
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมโรงเรียนประณีตศิลปกรรม
ชื่อย่อมศก. / SU[1]
คติพจน์Ars longa vita brevis
ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
สถาปนา12 ตุลาคม พ.ศ. 2486; 81 ปีก่อน (2486-10-12)[2]
ผู้สถาปนาศิลป พีระศรี
สังกัดการศึกษากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สังกัดวิชาการ
งบประมาณ1,592,307,100 บาท
(พ.ศ. 2568)[3]
นายกสภาฯศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ
อธิการบดีศาสตราจารย์ เภสัชกร ธนะเศรษฐ์ ง้าวหิรัญพัฒน์
อาจารย์1,289 คน (พ.ศ. 2565)
บุคลากรทั้งหมด2,904 คน (พ.ศ. 2565)
ผู้ศึกษา28,456 คน (พ.ศ. 2560)[4]
ที่ตั้ง
วิทยาเขตพื้นที่และวิทยาเขต
4
  • พื้นที่ท่าพระ
  • วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
  • วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี
  • พื้นที่เมืองทองธานี
เพลงซานตาลูชีอา (Santa Lucia)
ศิลปากรนิยม
กลิ่นจัน
สี  สีเขียวตั้งแช (สีเขียวเวอร์ริเดียน)[5]
เว็บไซต์เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยศิลปากร (อังกฤษ: Silpakorn University; อักษรย่อ: มศก. – SU)[1] เป็นมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ห้าของประเทศไทย แต่เดิมมีชื่อเสียงทางด้านศิลปะ การออกแบบ สถาปัตยกรรม และดนตรี แต่ปัจจุบันเปิดสอนครอบคลุมทุกสาขาวิชา

มหาวิทยาลัยศิลปากร ถือกำเนิดจาก "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัด กรมศิลปากร" ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนเป็น "โรงเรียนศิลปากร" และเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น ได้พัฒนาหลักสูตรจนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยศิลปากร"[6] ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนมาบริหารจัดการแบบมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

ประวัติมหาวิทยาลัยศิลปากร

[แก้]
ต้นกร่าง หรือ ปู่กร่างแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับการบันทึกให้เป็นต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานครจากการสำรวจของกรุงเทพมหานคร มีความสูงมากกว่า 25 เมตร[7]

มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ในสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม[8] เดิมคือ "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัด กรมศิลปากร" ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2476 โดยหลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น และ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) มี ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี หรือชื่อเดิม กอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ชาวอิตาลีซึ่งเดินทางมารับราชการในประเทศไทยในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอาจารย์ผู้สอนหลัก โดยใช้พื้นที่วังกลางและวังตะวันออกของ วังท่าพระ ซึ่งในตอนนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จไปประทับตำหนักปลายเนินแล้ว รัฐบาลจึงรับซื้อมาจากทายาทของพระองค์ และทำการเปิดสอนให้แก่ข้าราชการและนักเรียนในสมัยนั้นโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ต่อมา พ.ศ. 2478 ได้รวมเอาโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ที่ตั้งอยู่วังหน้าไว้ด้วย พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "โรงเรียนศิลปากร"

วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) อธิบดีกรมศิลปากร ได้พัฒนาหลักสูตรจนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยศิลปากร"[6] เพื่อเป็นสถาบันอุดมศึกษาขั้นสูงทางศิลปะของชาติ โดยมีปณิธานที่จะสร้างสรรค์ศิลปะวิทยาการและภูมิปัญญาเพื่อสังคม พร้อมทั้งจัดตั้งคณะจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้นเป็นคณะวิชาแรก (ปัจจุบันคือ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์) โดย ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นคณบดีคนแรก และใน พ.ศ. 2498 ได้จัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งมีศาสตราจารย์ พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) เป็นผู้ก่อตั้ง (ซึ่งต่อมาได้ปรับหลักสูตรและเปลี่ยนชื่อเป็น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) และ คณะโบราณคดี จากการวางรากฐานโดย ศาสตราจารย์ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) และหลังจากนั้นได้จัดตั้ง คณะมัณฑนศิลป์ ซึ่งได้แยกตัวจากคณะจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้นในปีต่อมา และ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นคณบดีคนแรก

ต่อมาเมื่อผู้แทนของ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ให้คำแนะนำในการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยให้มีลักษณะสอดคล้องกับหลักการสากล คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาโครงการปรับปรุงมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อขยายการศึกษาวิชาต่าง ๆ โดยไม่จำกัดเฉพาะศิลปะและโบราณคดีเท่านั้น ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้ดำเนินการจัดตั้ง คณะอักษรศาสตร์ ขึ้นเป็นคณะวิชาลำดับที่ 5 และเป็นคณะวิชาแรกของวิทยาเขตแห่งใหม่ คือ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม โดยเริ่มเปิดสอนนักศึกษารุ่นแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 และคณะอักษรศาสตร์ได้ถือวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาคณะอักษรศาสตร์ตลอดมา และได้ทำการจัดตั้ง คณะศึกษาศาสตร์ ขึ้นใน พ.ศ. 2513 คณะวิทยาศาสตร์ ใน พ.ศ. 2515 คณะเภสัชศาสตร์ ใน พ.ศ. 2529 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมใน พ.ศ. 2535 (ปัจจุบันคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม)

เนื่องในวโรกาสที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 36 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2534 และเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสมบูรณ์ทางด้านศิลปะมากยิ่งขึ้น จึงเริ่มจัดตั้ง คณะดุริยางคศาสตร์ ใน พ.ศ. 2541 ภายใต้ชื่อโครงการจัดตั้งคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยดำริของ ศาสตราจารย์ ดร. ตรึงใจ บูรณสมภพ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความร่วมมือจากบุคคลในวงการดนตรีหลายท่าน นับเป็นคณะวิชาลำดับที่ 10 ของมหาวิทยาลัยศิลปากร มีผู้อำนวยการคนแรก คือ เรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ และทำการจัดการเรียนการสอนตลอดหลักสูตรที่สำนักงานอธิการบดีตลิ่งชัน

ใน พ.ศ. 2542 ศาสตราจารย์ ดร.ตรึงใจ บูรณสมภพ อธิการบดีในขณะนั้น จึงขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในการย้ายวิทยาเขตใหม่ไปที่ หมู่ที่ 1 หมู่บ้านไร่ใหม่พัฒนา ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และมีแผนในการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตรขึ้นเป็นคณะแรก เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าพื้นที่โดยรอบมีประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มหาวิทยาลัยจะได้ให้บริการได้โดยตรง จากการประชุมสภามหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 1/2544 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2544 ได้อนุมัติโครงการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร พร้อมทั้งให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้ง อาจารย์ ดร. สุภสร ชโยวรรณ เป็นผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร

ต่อมาสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 2/2544 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2544 จึงได้เปลี่ยนชื่อจากโครงการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นโครงการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร และอนุมัติหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ในปัจจุบัน) และใน พ.ศ. 2545 ได้มีการจัดตั้ง คณะวิทยาการจัดการ เป็นคณะวิชาลำดับที่ 12 ของมหาวิทยาลัยศิลปากร จากนั้นคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรจึงได้ย้ายมาเปิดการเรียนการสอนเต็มรูปแบบที่วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ตามด้วยการจัดตั้ง คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อม วิทยาลัยนานาชาติ ใน พ.ศ. 2546 เป็นสองคณะวิชาล่าสุด

วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศใช้ "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2559" โดยได้ยกเลิก "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2530[9] และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2541[10]" และกำหนดให้มหาวิทยาลัยมีสถานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559[11]

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ครอบคลุมทั้งกลุ่มสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมีหน่วยงานจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 14 คณะวิชา และ บัณฑิตวิทยาลัย ใน 3 วิทยาเขต ได้แก่ วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยศิลปากร

[แก้]

ชื่อและความหมาย

[แก้]

มหาวิทยาลัยศิลปากร ใช้คำว่า "ศิลปากร" (อ่านว่า สิน–ละ–ปา–กอน) เป็นชื่อภาษาไทยของมหาวิทยาลัย และใช้อักษรโรมันว่า "Silpakorn"

"ศิลปากร" เป็นคำสนธิระหว่าง "ศิลป" หมายถึง ฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การทำให้วิจิตรพิสดาร และ "อากร" หมายถึง บ่อเกิด, ที่เกิด ดังนั้น "ศิลปากร" จึงมีความหมายว่า "บ่อเกิดแห่งศิลปะ"

อีกทั้งชื่อของมหาวิทยาลัยศิลปากร ยังพ้องกับชื่อของ กรมศิลปากร เนื่องจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ถือกำเนิดจาก "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร" และต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนเป็น "โรงเรียนศิลปากร" จนกระทั่งได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยศิลปากร" ในปัจจุบัน ซึ่งชื่อ "ศิลปากร" นั้นมาจาก

...แยกการช่างที่เป็นประณีตศิลปไว้ส่วนหนึ่ง แลให้ยกกรมพิพิธภัณฑ์จากกระทรวงธรรมการ มารวมกันตั้งขึ้นเป็น "กรมศิลปากร" มีผู้บัญชาการกรมขึ้นตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน...

— พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชโองการ ณ วันที่ 27 มีนาคม ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454)[12], left

ดังนั้น การใช้ชื่อ "ศิลปากร" จึงดูเหมาะสมและถูกต้อง เพราะมหาวิทยาลัยศิลปากรมีความเกี่ยวข้องกับกรมศิลปากรในอดีต ต่อมาในสมัยที่ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอธิการบดีมหาวิทยาลัย ได้แยกมหาวิทยาลัยศิลปากรกับกรมศิลปากรออกจากกัน ในปัจจุบันทั้งสองส่วนราชการจึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแล้ว

สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยศิลปากร

[แก้]

พระคเณศ เป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ทั้งยังเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการและการประพันธ์ พระหัตถ์ขวาบนทรงตรีศูล พระหัตถ์ขวาล่างทรงงาช้าง พระหัตถ์ซ้ายบนทรงปาศะ (เชือก) พระหัตถ์ซ้ายล่างทรงครอบน้ำ ประทับบนบัลลังก์เมฆที่เขียนด้วยลายกนก ภายใต้มีอักษรว่า "มหาวิทยาลัยศิลปากร" โดยประกาศใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2494[13] ซึ่งคล้ายคลึงกับกรมศิลปากร

และเมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยได้มีประกาศใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่แทนตราสัญลักษณ์ครุฑเพื่อใช้ในหนังสือราชการ หนังสือประทับตรา บันทึกข้อความ คำสั่ง และประกาศต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559[14]

การศึกษา

[แก้]

มหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ครอบคลุมทั้งกลุ่มสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมีหน่วยงานจัดการเรียนการสอนทั้งหมด ดังต่อไปนี้[15]