อาวุธ เงินชูกลิ่น
อาวุธ เงินชูกลิ่น | |
---|---|
![]() | |
เกิด | 22 มีนาคม พ.ศ. 2485 |
เสียชีวิต | 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 (70 ปี) |
สัญชาติ | ไทย |
ศิษย์เก่า | สถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร โรงเรียนช่างศิลป โรงเรียนวัดราชโอรส โรงเรียนวัจนะศึกษา |
รางวัล | ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย) |
ผลงานสำคัญ |
|
ศาสตราภิชาน พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น (22 มีนาคม 2485 — 17 กุมภาพันธ์ 2556) ทหารอากาศและสถาปนิกชาวไทย อดีตอธิบดีกรมศิลปากร อาจารย์พิเศษในหลายมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสถาปัตยกรรมไทย หัวหน้าผู้ออกแบบพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพถึง 3 ครั้ง ได้แก่ พระเมรุ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ ท้องสนามหลวง[1]
พลอากาศตรี อาวุธ ยังได้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในงานออกแบบถึง 2 งานหลัก ๆ ได้แก่ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร[2] นอกจากนี้ยังเป็นผู้รับผิดชอบในการบูรณะปฏิสังขรณ์ โบราณสถานแห่งชาติที่สำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นงานงานบูรณะมณฑป โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร ในปี พ.ศ 2539 ให้เป็นมณฑปสีดำ หรือหุ้มด้วยทองแดง[3] ยอดพระมหามณฑป วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร[4] จนต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์) สาขาย่อย สถาปัตยกรรม ประจำปี พ.ศ. 2539
ประวัติ
[แก้]ศาสตราภิชาน พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2485 ที่บ้านเลขที่ 199 ถนนริมคลองด่าน แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร (เดิมคือ บ้านเลขที่ 762 ริมคลองด่าน ตำบลบางค้อ อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี โดยบ้านเป็นเรือนไทยโบราณ) ท่านเป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้องสามคนของนายทองเปลว และนางละเมี้ยน เงินชูกลิ่น ท่านมีพี่สาวต่างมารดา 1 คน คือ นางบังอร เงินชูกลิ่น (พี่สาวเกิดไม่นาน คุณแม่ก็เสียชีวิต) มีน้องชาย 1 คน คือ นายสุทธินาถ เงินชูกลิ่น และน้องสาว 1 คน คือ นางอุษณีย์ ลีละเศรษฐกุล
พลอากาศตรี อาวุธ สมรสกับนางชาริณี เงินชูกลิ่น (สกุลเดิม บุราวาศ) เมื่อปี พ.ศ. 2519 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือนายชวิน เงินชูกลิ่น (เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2520) และนายวทนะ เงินชูกลิ่น (เกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2528)
ชีวิตวัยเยาว์
[แก้]![]() | บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |

คุณพ่อของพลอากาศตรี อาวุธ รับราชการที่กระทรวงการคลัง ตำแหน่งก่อนเกษียณอายุราชการ คือ เลขานุการกรมธนารักษ์ ส่วนคุณแม่ทำการค้าขายงอบ คุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่มีระเบียบมากและเป็นคนประหยัด และจะทำบุญอยู่เสมอ

เมื่ออายุถึงวัยเข้าเรียน คุณพ่อได้พาท่านไปเข้าเรียนที่โรงเรียนวัจนะศึกษา (ปัจจุบันเลิกกิจการแล้ว) ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เข้าเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1 - 4 เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 คุณพ่อได้พาท่านไปเข้าโรงเรียนวัดราชโอรสซึ่งอยู่ไม่ไกลบ้านมากนัก
พลอากาศตรี อาวุธ เป็นพี่ชายที่ดีของน้อง ๆ มาตลอด โอบอ้อมอารีกับน้อง ๆ และผู้อื่น นิสัยเงียบขรึม ใจเย็น ใจกว้าง เสียสละ และให้อภัย ปฏิบัติตามที่คุณพ่อคุณแม่สั่งสอน สมัยเมื่อท่านยังเป็นเด็กยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้ตะเกียงเจ้าพายุใส่น้ำมัน คุณพ่อคุณแม่จะให้ลูก ๆ ทบทวนการเรียนทุกวัน ท่านและน้อง ๆ ก็จะมานั่งกับพื้น และวางหนังสือบนโต๊ะไม้สัก เมื่อทุกคนเสร็จก็จะมาช่วยกันทำงานบ้านและงานอื่น ๆ ที่จะช่วยคุณพ่อคุณแม่ได้

หลังจากทบทวนการเรียนแล้ว ท่านและน้อง ๆ จะช่วยงานทำงอบซึ่งเป็นอาชีพของครอบครัว ท่านจะประดิษฐ์กระหม่อมงอบ (ด้านบนสุดของตัวงอบ) ให้มีลวดลายสวยงามด้วยกระดาษอังกฤษ ซึ่งมีลักษณะเป็นสีต่าง ๆ เงางาม เพื่อเพิ่มคุณค่าและเพิ่มราคาขึ้น โดยนำใบลานมาฉลุเป็นลวดลาย แล้วสอดกระดาษสีต่าง ๆ ไว้ข้างใต้ นำใบลานอีกชิ้นมาประกบด้านล่าง ก็จะได้ลวดลายและสีงดงาม ลักษณะเช่นเดียวกับการสลักหยวกกล้วย แล้วนำกระดาษสีสอดใต้ลายฉลุ
เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่รักการทำบุญ เมื่อมีงานประจำปีของวัดราชโอรส วัดนางนอง และวัดหนัง ก็จะพาท่านและน้อง ๆ ไปกราบพระ หลังจากนั้นจะพาไปชมร้านค้า ร้านที่ท่านและน้อง ๆ ชอบที่สุด และจะหยุดดูทุกครั้งที่มางานวัด คือร้านหัวโขน หัวลิง ทำจากกระดาษ ชฎาทำจากใบลาน มีดพระขรรค์ และตุ๊กตาคนแก่หัวเป็นสปริง หัวสั่นได้ คุณแม่ไม่ได้ซื้อของเล่นให้เพราะต้องประหยัด จะซื้อชฎาใบลานให้น้องสาวเพียงคนเดียว คุณพ่อซึ่งมีความสามารถทางช่าง ท่านวาดภาพสีน้ำมัน ภาพสีน้ำ ทำงานปั้นและงานไม้ ที่บ้านมีเครื่องมือช่างไม้และงานอื่น ๆ ไว้ใช้ ต่อโต๊ะ ต่อเก้าอี้ เมื่อคุณแม่ไม่ได้ซื้อของเล่นให้พี่ ๆ กลับมาบ้านคุณพ่อก็สอนพี่ ๆ ประดิษฐ์ของเล่นโดยนำดินเหนียวมาปั้น และใช้ลวดสปริงทำคอเป็นคนแก่หัวสั่นได้ แต่ไม่ได้ระบายสี พลอากาศตรีอาวุธ จะเรียนรู้งานปั้นโดยไม่รู้ตัว ส่วนหัวโขนหัวกระดาษ คุณพ่อก็สอนให้หัดทำ

ทุกปีมีงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนซึ่งจัดงานบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยกับโรงเรียนเพาะช่าง จะมีการนำผลงานต่าง ๆ ของนักเรียนทั่วประเทศมาแสดง คุณพ่อคุณแม่จะพาลูก ๆ ไปชมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของลูก ๆ ทุกปี
คุณพ่อเห็นท่านมีนิสัยรักงานศิลปะ จึงซื้อเครื่องพิมพ์เขียว (แบบโบราณ) มาให้เล่น ลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยม เวลาพิมพ์จะใส่น้ำยาลงไป หลังจากนั้นจะนำไปตากแดดให้แห้ง คุณพ่อเป็นผู้มีฝีมือทางเขียนอักษรไทยและลายไทย จะซื้อหนังสือมาให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง และสอนการหัดเขียน วันหนึ่งท่านซื้อหนังสือชุดรามเกียรติ์มาให้ ทุกคนดีใจมาก แต่ผู้ที่อ่านจบทั้งชุดก็คือ พลอากาศตรี อาวุธ นั่นเอง
หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนวัดราชโอรส เมื่อ พ.ศ. 2499 ต่อมาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนช่างศิลป โดยมีคุณพ่อเป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้งานศิลปะของท่าน เพราะท่านเป็นลูกชายคนโต ต้องช่วยคุณพ่อทำงานช่างต่าง ๆ ทุกครั้ง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านสอบเข้าเรียนในโรงเรียนช่างศิลป์ เมื่อเรียนจบจากช่างศิลป์ ก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรได้ เริ่มต้นมีความคิดที่จะเข้าเรียนคณะมัณฑนศิลป์ ก็ไปปรึกษาคุณพ่อ ท่านแนะนำว่าถ้าคณะมัณฑนศิลป์จะต้องรอให้ผู้อื่นออกแบบก่อน เราถึงจะทำต่อได้ (ความเข้าใจในสมัยนั้น) แต่ถ้าเป็นสถาปัตยกรรม เราจะได้ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง แต่คุณพ่อของท่านก็ไม่ได้บังคับท่าน เพียงแต่แสดงความเห็นให้ทันตัดสินใจด้วยตนเองเท่านั้น ท่านจึงได้ศึกษาสถาปัตยกรรมไทยจนได้รับปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมไทย จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2507 ซึ่งในสมัยนั้นยังมิได้สถาปนาเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดังเช่นปัจจุบัน
การทำงาน
[แก้]
ศาสตราภิชาน พลอากาศตรี อาวุธ เมื่อจบการศึกษาไดทำงานเป็นผู้ออกแบบเล็กๆน้อยๆ กับพันเอก จิระ ศิลปะกนก สถาปนิกรุ่นพี่มาระยะหนึ่ง เห็นว่าไม่ค่อยมั่นคงจึงสมัครเข้ารับรับราชการเป็นสถาปนิกประจำกองทัพอากาศอยู่นาน 9 ปี จนติดยศเรืออากาศเอก โดยพลอากาศตรี อาวุธ ได้เคยเล่าเกร็ดชีวิตทหารให้ฟังในวันงานเลี้ยงเชิดชูเกียรติ โดยสภาสถาปนิกครั้งหนึ่งว่า เป็นโชคร้ายหรือโชคดีก็ไม่ทราบ ที่ในเช้าวันหนึ่งเกิดมองไม่เห็นทหารชั้นนายพลผู้บังคับบัญชาที่เดินสวนมา จึงไม่ได้ยืนตรงทำความเคารพ เลยถูกสั่งขังเสียหลายวัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ได้โอนมาเป็นนายช่างศิลป์ สังกัดกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2518 เมื่อถึงปี พ.ศ. 2521 ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบูรณปฏิสังขรณ์ ในกองสถาปัตยกรรมไทย ในกรมศิลปากรนั้นเอง และได้เจริญเติบโตเรื่อยมา จากที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณปฏิสังขรณ์ ระดับ 9 จนเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2544 และมาดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสถาปัตยกรรมไทย และบูรณปฏิสังขรณ์สถาปนิกระดับ 10 เมื่อ พ.ศ. 2545 และเกษียณอายุราชการในปีนั้น

พลอากาศตรี อาวุธ มีผลงานมากมาย โดยเฉพาะผลงานสำคัญ ด้านการอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ และออกแบบงานด้านสถาปัตยกรรมไทย เช่น งานบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์, งานบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง, งานออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระเมรุมาศ และอาคารรายรอบที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี พ.ศ. 2538 ดังกล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง พระที่นั่งสันติชัยปราการ ในสวนสันติชัยปราการ, พระอุโบสถ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นต้น ท่านได้เป็นหัวหน้าคณะทำงานออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และงานอื่นๆ ที่ได้มีส่วนร่วมอยู่หลายงาน เช่น พระอุโบสถ วัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นต้น
ในด้านการเผยแพร่วิชาความรู้ ด้านสถาปัตยกรรมไทย และการอนุรักษ์ พลอากาศตรี อาวุธ ได้เป็นอาจารย์พิเศษ ที่เป็นกำลังสำคัญ ที่ภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย ให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่จบการศึกษามา นอกจากนี้ ยังได้เป็นผู้บรรยาย และเป็นวิทยากรในกิจกรรมทางวิชาการมากมาย
หน้าที่และตำแหน่งทางราชการ
[แก้]- พ.ศ. 2509 - 2518 เข้ารับราชการในกองทัพอากาศ ในตำแหน่ง สถาปนิก ได้รับพระราชทานยศเป็นลำดับมาจนถึง "เรืออากาศเอก"
- พ.ศ. 2518 โอนมารับราชการ ที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ในตำแหน่ง นายช่างศิลปกรรม
- พ.ศ. 2521 ย้ายมาดำรงตำแหน่งสถาปนิก ในกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร มีหน้าที่ออกแบบสถาปัตยกรรมไทย และบูรณปฏิสังขรณ์
- พ.ศ. 2539 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น สถาปนิก 10 วช. (ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยและบูรณปฏิสังขรณ์)
- พ.ศ. 2543 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น อธิบดีกรมศิลปากร
- พ.ศ. 2545 เกษียณอายุราชการ และได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณปฏิสังขรณ์ และสถาปัตยกรรมไทย ของกรมศิลปากร
ผลงานทางวิชาการ
[แก้]- เป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชามรดกไทย (สถาปัตยกรรมไทย) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- เป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- เป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาวัฒนธรรมไทย (สถาปัตยกรรมไทย) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทยของกรมศิลปากร แก่ครูบาอาจารย์ นิสิต นักศึกษา พระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป
เกียรติคุณ
[แก้]- พ.ศ. 2539
- - ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ พุทธศักราช 2539 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- - ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สถาปัตยกรรมไทย) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
- พ.ศ. 2540 ได้รับประกาศเกียรติคุณผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมไทย ประเภทบุคคล จากคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย
- พ.ศ. 2541 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย) พุทธศักราช 2541 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- พ.ศ. 2551 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- พ.ศ. 2552
- - ได้รับปริญญาดุษ์ฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาสถาปัตยกรรมไทย) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- - ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราภิชาน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศาสตราภิชานเงินทุนเพื่อการบริหารวิชาการ และการศึกษา กองทุนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ถึง 30 กันยายน 2553
- พ.ศ. 2553 ได้รับการคัดเลือกและยกย่อง เป็นบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย (ด้านสถาปัตยกรรมไทย) พุทธศักราช 2553 จากคณะอนุกรรมการคัดเลือกและเผยแพร่ผลงานดีเด่นของชาติ ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
ยศทางทหาร
[แก้]- 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 - นาวาอากาศเอก (เป็นกรณีพิเศษ) [5]
- 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 - พลอากาศตรี (เป็นกรณีพิเศษ) [6]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2551 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[7]
- พ.ศ. 2541 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[8]
- พ.ศ. 2550 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.)[9]
- พ.ศ. 2542 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[10]
- พ.ศ. 2534 –
เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[11]
มรณกรรม
[แก้]พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น เริ่มป่วยด้วยโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นช่วงเตรียมการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยได้เข้ารับการรักษาอาการป่วยอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลศิริราช และถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เวลา 05.40 น.
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยม พร้อมฉัตรเบญจาตั้งประกอบเกียรติยศ และรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พร้อมทั้งพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ มีกำหนด 7 วัน ระหว่างวันที่ 17 ถึง 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ณ ศาลากวีนฤมิต (ศาลากลางน้ำ) วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เวลา 18.00 น.
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 17.00 น.
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สิ้น พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ 3 พระเมรุ[ลิงก์เสีย], manageronline .วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556
- ↑ 9 สถาปัตย์ศิลป์ที่ "ในหลวง" ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในการออกแบบ[ลิงก์เสีย], thaisday .วันที่ 4 มกราคม 2555
- ↑ อ.แพน - เผ่าทอง ชวนชม "โลหะปราสาท" ผ่านเทคนิคพิเศษ [ลิงก์เสีย], manageronline .วันที่ 24 กันยายน 2553
- ↑ "พระมหามณฑป" วัดไตรมิตร สง่างาม สร้างเพื่อถวายในหลวง, คมชัดลึก .วันที่ 10 พ.ย. 2552
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหารเป็นกรณีพิเศษ, เล่ม 114, ตอนที่ 31 ข, 26 ธันวาคม 2540, หน้า 6
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหารเป็นกรณีพิเศษ, เล่ม 126, ตอนที่ 9 ข, 9 มีนาคม 2540, หน้า 128
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2009-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๓, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๑๑, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2008-12-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๖ ข หน้า ๒, ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๒๓, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๗๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๖๑, ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๕
- สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรม ประวัติและคำประกาศเกียรติคุณศิลปินแห่งชาติ [1] เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- นิติกร กรัยวิเชียร นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย) พุทธศักราช ๒๕๔๑ บทความ-สารคดี วารสารสกุลไทย ฉบับ 2428 ปีที่ 47 ประจำวันอังคารที่ 1 พฤษภาคม 2544 [2] เก็บถาวร 2008-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ดุษฎี สนเทศ อาวุธ เงินชูกลิ่น มือออกแบบพระเมรุพระพี่นางฯ คอลัมน์ คนตามข่าว มติชนรายวัน ปีที่ 30 ฉบับที่ 10895 ประจำวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2551
- สิ้น พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ 3 พระเมรุ[ลิงก์เสีย]
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2485
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2556
- ศาสตราภิชาน
- ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์
- สถาปนิกชาวไทย
- ทหารอากาศชาวไทย
- ข้าราชการพลเรือนชาวไทย
- อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
- บุคคลจากโรงเรียนวัดราชโอรส
- บุคคลจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
- บุคคลจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- บุคคลจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- บุคคลผู้ได้รับรางวัลครุฑทองคำ
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต.จ.ว.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จ.ภ.
- ผู้ได้รับเหรียญจักรพรรดิมาลา
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- บุคคลจากเขตจอมทอง