ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา)

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ดำรงพระยศ25 มีนาคม พ.ศ. 2478 – 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498
สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า
ดำรงพระยศพ.ศ. 2454 – 25 มีนาคม พ.ศ. 2478
พระอัครมเหสี
ดำรงพระยศ17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2424 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453
ก่อนหน้าสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
ถัดไปสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
พระราชสมภพ10 กันยายน พ.ศ. 2405
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพพระมหานคร
สวรรคต17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 (93 ปี)
วังสระปทุม จังหวัดพระนคร
ถวายพระเพลิง22 เมษายน พ.ศ. 2499
พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
พระราชสวามีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชบุตร8 พระองค์
ราชวงศ์จักรี
พระราชบิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชมารดาสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
ศาสนาพุทธ
ลายพระอภิไธย

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (10 กันยายน พ.ศ. 2405 — 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498) เป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม)

พระองค์ทรงเป็นพระราชชนนี (แม่) ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย รวมทั้งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ต้นราชสกุลมหิดลที่สืบราชสันตติวงศ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า (ป้า) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสมเด็จพระอัยยิกาเจ้า (ย่า) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นสมเด็จพระปัยยิกาเจ้า (ทวด) ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภาชนนีสภาอุณาโลมแดง อันเป็นชื่อแรกของสภากาชาดไทยเมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งในต้นรัชกาลที่ 5 เป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียว และองค์สภานายิกา สภากาชาดไทย พระองค์ที่ 2 และทรงสร้างสถานพยาบาลขึ้น ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสภากาชาดไทย

ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ที่ประชุมใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ เป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 150 ปีวันคล้ายวันพระราชสมภพ ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555 ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพและการอนุรักษ์พัฒนาด้านวัฒนธรรม พร้อมกับบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกอีก 97 รายการ[1]

พระราชประวัติ

พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4

(จากซ้าย) พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ และพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 60 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นลำดับที่ 4 ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ทรงพระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันพุธ แรม 2 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ จัตวาศก จ.ศ. 1224 ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2405 โดยได้รับพระราชทานพระราชหัตถเลขาตั้งพระนามจากสมเด็จพระบรมชนกนาถเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2405 ซึ่งเป็นวันทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนว่า "พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา"[2] พระราชหัตถเลขามีดังนี้

"ศุภมัสดุ สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามผู้บิดา ขอตั้งนามกรแก่บุตรี ที่ประสูติแต่เปี่ยมผู้มารดา ในวันพุธ เดือน 10 แรม 2 ค่ำ ปีจอจัตวาศก ศักราช 1224 นั้นว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา วัคมูลคู่ธาตุเป็นอาทิอักษร วัคอายุเป็นอันตอักษร ขอให้จงเจริญพระชนมายุพรรณ สุข พล ปฏิภาณ ศุภสารสมบัติ ศรีสวัสดิพิพัฒนมงคล พิบูลพูนผลทุกประการเทอญ"[3]

สำหรับพระพรที่ทรงผูกเป็นภาษามคธกำกับลายพระราชหัตถเลขาตั้งพระนามว่า "สฺวางฺควฑฺฒนา" สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงพระนิพนธ์แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า[4]

"เราได้ตั้งนามของบุตรีในราชสกุลนี้ว่า "สว่างวัฒนา" ดังนี้ ขอบุตรีนั้นจงเป็นผู้มีสุข เลี้ยงง่าย ไม่มีโรค ไม่มีอุปัทวันตราย มั่งคั่งสมบูรณ์ มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก ดำรงอิศริยยศตั้งอยู่ในพระบรมราชวงศ์ที่ประเสริฐสูงสุดของพระบิดายั่งยืนกาลนานเทอญ"

พระองค์มีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ

พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนาทรงได้รับการศึกษาตามแบบกุลสตรีในวังหลวง ทรงได้เล่าเรียนภาษาอังกฤษถึงขั้นอ่านออกและฟังเข้าพระทัย[5] มีพระพี่นางพระน้องนางที่สนิทสนมเป็นเพื่อนสนิทกลุ่มเดียวกัน คือ พระองค์เจ้าแขไขดวง พระองค์เจ้านภาพรประภา พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 6 พรรษา พระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นรัชกาลที่ 5 ในราชวงศ์จักรี พระฐานันดรศักดิ์ของพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา จึงเปลี่ยนเป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา[6]

สมเด็จพระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ 5

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระองค์ก็มีพระสิริโฉมงดงาม จนมีคำกล่าวว่า "หน้าตาคมสันองค์สว่าง พูดจากระจัดกระจ่างองค์สุนันทา"[7] นอกจากนี้ยังปรากฏในโคลงพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ความว่า[8]

งามโฉมโฉมนิ่มน้อง นงลักษณ์
งามเกษกรรณรับภักตร์ ผ่องแผ้ว
ขนงเนตรนุชน่ารัก งามรับ กันนา
งามโอษฐเอื้อมอัตถ์แผ้ว เพริศพริ้มรายกนต์

พระองค์ทรงเข้ารับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ขณะที่มีพระชนม์ 16 พรรษา[2] โดยมีพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 ที่รับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับพระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี[9] แต่พระองค์เจ้าทักษิณชามีพระสติวิปลาสไปมิอาจรับราชการสนองพระเดชพระคุณต่อไป[10] พระภรรยาเจ้าสี่พระองค์หลังมีพระเกียรติยศเสมอกันทุกพระองค์ พระเกียรติยศที่จะเพิ่มพูนนั้นขึ้นอยู่กับการมีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเป็นสำคัญ[9] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเดิมมีพระราชดำริที่จะสถาปนาพระองค์เจ้าสว่างวัฒนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าด้วยเป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 5[4] แต่ในปี พ.ศ. 2423 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เสด็จสวรรคตพร้อมพระราชธิดาและพระราชโอรสในพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ที่สวรรคตไปแล้ว ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีเสมอกัน ซึ่งสมภพ จันทรประภา สรุปคำบอกเล่าของนางข้าหลวงว่า สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาไม่เต็มพระทัยมีพระอิสริยยศสูงกว่าเพราะเป็นน้อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงสถาปนาพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เป็นพระบรมราชเทวีด้วย[11]

หลังจากพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้สร้างพระตำหนักขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระอัครมเหสี พระตำหนักใหม่นี้เป็นพระตำหนักขนาดใหญ่ ถือเป็นพระตำหนักประธานในเขตพระราชฐานชั้นในเลยทีเดียว โดยเมื่อขึ้นพระตำหนักใหม่แล้ว ชาววังก็ออกพระนามสมเด็จพระอัครมเหสีโดยลำลองว่า สมเด็จพระตำหนัก ตั้งแต่นั้นมา ในช่วงเวลานี้พระองค์ได้ประกอบพระราชกรณียกิจออกรับแขกเมืองในฐานะพระราชินีแห่งสยาม ดังในปี พ.ศ. 2428 ขณะมีพระชนมายุ 22 พรรษา ได้เสด็จออกเพื่อต้อนรับเจ้าชายออสการ์ ดยุกแห่งกอตลันด์ ดังปรากฏว่า[12][13]

ในพระราชสำนักฝ่ายใน

"...เข้าไปถึงห้องรับแขกของพระราชินีไทย ฉันแปลกใจเมื่อเข้ามาเผชิญหน้ากับผู้ที่มีรูปร่างอ้อนแอ้นแบบบาง ๆ อายุราว ๆ 19 ปี คล้ายมหาดเล็ก แต่มีความคิดดีในการแต่งกาย ทำให้ดูหยดย้อย แสนจะหรูหรา พระเจ้าแผ่นดินทรงแนะนำว่าเป็นพระมเหสีของพระองค์ เครื่องทรงของพระราชินีซึ่งเข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างวิเศษสุดนั้น ประกอบด้วยฉลองพระองค์โบรเคตสีทอง ๆ เงิน ๆ พอดีพระองค์ แขนเป็นจีบ ๆ ทำด้วยไหมทองจุดขาว มีแพรสีเขียวพันรอบพระองค์ ชายข้างหนึ่งพาดบนพระอังสาซ้ายอย่างหลวม ๆ ทรงสนับเพลาหรือผ้าทรงแบบเดียวกับที่ผู้ชายนุ่ง เป็นสีน้ำเงินแก่กับทอง ทำให้ดูเครื่องแต่งพระองค์ที่ประหลาดแต่สวยงามนี้ครบชุด โดยมีดุมเพชรเม็ดใหญ่และเข็มกลัดเพชรกลัดตรึงไว้รอบพระศอ ทรงสังวาลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประดับเพชรวูบวาบ ติดทับอยู่บนฉลองพระองค์ ท่านงามสะดุดตาอยู่แล้ว ซ้ำยังเคลื่อนไหวพระอิริยาบถด้วยท่าทีที่เชื่อมั่นในพระองค์เอง กับมีพระรูปโฉมสมเป็นนางเอกในภาพที่งามวิจิตร [...] ก็เช่นเดียวกับตัวฉัน คืองงงัน ซาบซึ้ง และปีติในสิ่งที่ได้พบเห็น โดยเฉพาะในพระราชินีที่งามเลิศ..."

นอกจากนี้ยังเคยตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จประพาสแหลมมลายูไปเมืองสิงคโปร์ พ.ศ.2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนัดกับเซอร์เฟรเดอริก เวลด์ (Frederick Weld) เจ้าเมืองสิงคโปร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์ไว้ ความว่า[14]

"...เขาขอให้แม่กลางไปด้วย เห็นว่าไม่เป็นการเสียอันใด จึงได้พาแม่กลางลงไปด้วยคนเดียว มีคนทั้งผู้หญิงผู้ชายอยู่ในที่นั้นประมาณ 20 คน นำให้รู้จักคนเหล่านั้น ผัวมานั่งพูดกับเรา เมียพูดกับแม่กลาง ครู่หนึ่งเปลี่ยนเมียมาพูดกับเรา ผัวไปพูดกับแม่กลาง ในเวลานี้เลี้ยงน้ำชาไปพลางแล้วเปลี่ยนกันอีกครั้งหนึ่ง..."

ทรงตก

ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี พระราชโอรสที่ประสูติแต่พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ต่อไป โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า "ลูกแม่กลางกับลูกแม่เล็ก ให้นึกว่าเหมือนแม่เดียวกัน เรียกพี่เรียกน้องในการสืบสันตติวงศ์"[15] พร้อมทั้งสถาปนาพระอิสริยยศของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ในฐานะเป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระองค์ใหม่ ซึ่งเป็นพระยศพระอัครมเหสีเช่นเดียวกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระองค์จึงไม่ยอมเสด็จไปก่อนสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีโดยพระราชทานเหตุผลว่า สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีเป็นพระราชชนนีของมกุฏราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตัดสินว่า "แม่กลางกับแม่เล็กไม่ใช่คนอื่นพี่น้องกันแท้ ๆ แม่กลางเป็นพี่ไปหน้าตามอายุแล้วกัน"[15]

แต่ในกาลต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปอย่างเป็นทางการ พระองค์ได้สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของพระภรรยาเจ้า มีพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการปกครองสยามเป็นระยะเวลาถึง 9 เดือน[16] ทำให้ฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีลดลงมาเป็นอันดับสองของพระราชวงศ์ฝ่ายในโดยปริยาย ซึ่งสภาวการณ์ "ตก" ดังกล่าว พระองค์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ความว่า "...ฉันน่ะไม่เคยขี้เหนียวหรอก แต่เห็นเสียแล้ว เมื่อเวลาฉันมีบุญน่ะ ล้วนแต่มาห้อมล้อมฉันทั้งนั้นแหละ เวลามีงานมีการอะไร ฉันก็ช่วยเต็มที่ไม่ขัด แต่พอฉันตกก็หันหนีหมด ไปเข้าตามผู้มีบุญต่อไป ฉะนั้นฉันจึงตัดสินใจไม่ทำบุญกับคนรู้จัก แต่จะทำการกุศลทั่วไปโดยไม่เลือก"[17]

สามปีหลังจากนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี พระราชธิดาในพระองค์ สิ้นพระชนม์ลงด้วยโรคตับเคลื่อน สิ้นพระชนม์ช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้น หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา ระบุไว้ว่า "...ภายหลังทราบว่าสมเด็จพระชนนีกันแสงไม่ได้พระสติ และต่อจากนั้นมาก็ทรงระทมพระทัยทรุดโทรมมาก"[18] หลังจากนั้นหนึ่งปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ พระราชโอรสอีกพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคบิดไปอีกพระองค์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่ทรงพระประชวรอยู่แล้วตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณก็ยิ่งทรุดหนักลงไปอีก[19] หม่อมศรีพรหมากล่าวอีกว่า "...เป็นแต่นึกสงสารสมเด็จพระราชชนนีที่สูญเสียพระราชบุตรไปใกล้ ๆ กันถึงสองพระองค์ ทราบว่ากว่าจะสิ้นความเศร้าก็เป็นเวลานาน จนผู้เขียนไปต่างประเทศแล้ว..."[18] ในช่วงพระราชพิธีพระถวายพระเพลิงพระศพของพระราชบุตรทั้งสามพระองค์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จไปประทับที่ศรีราชาเป็นระยะเวลาถึงสี่ปี เพื่อรักษาพระอาการประชวร หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ได้อธิบายถึงเรื่องราวนี้ไว้ว่า "...ขาดแต่สมเด็จพระพันวัสสา เพราะได้เสด็จไปประทับที่ศรีราชาเมื่อ ร.ศ. 118 เพราะทรงได้รับความวิปโยคอย่างใหญ่หลวง นับแต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสวรรคต เมื่อ พ.ศ. 2437 พระชนมายุเพียง 16 พรรษา แลต่อมาอีก 4 ปี คือในปี พ.ศ. 2441 พระราชโอรสแลพระราชธิดาก็สิ้นพระชนม์ลงอีกถึง 2 พระองค์ในเวลาใกล้ ๆ กัน เหตุนี้จึงต้องเสด็จไปประทับที่ศรีราชา ทรงพักรักษาพระองค์เนื่องจากทรงพระประชวรอยู่ราว 4 ปี จึงได้เสด็จกลับ ส่วนการพระเมรุนั้น สมเด็จพระพันปีหลวงจึงต้องทรงเป็นเจ้าภาพแทน ตลอดทุกพระเมรุ"[20]

ในปี พ.ศ. 2453 ทันทีที่ทรงสูญเสียพระบรมราชสวามี พระองค์ก็ทรงประชวรพระวาโย บรรทมบนพระเก้าอี้ปลายพระแท่นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเอง เหล่ามหาดเล็กอยู่งานจึงใช้พระเก้าอี้หามเชิญเสด็จกลับพระตำหนักสวนหงส์ เช่นเดียวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ประชวรพระวาโยและเชิญเสด็จขึ้นพระเก้าอี้หามกลับไปพระตำหนักสวนสี่ฤดูเช่นกัน[21] หลังจากนั้นท่านผู้ใหญ่ฝ่ายในเล่าว่าแต่นั้นมา ทรงวางพระองค์อย่างเรียบง่าย ไม่ทรงแย้มพระสรวล จนถึงกับมีผู้กล่าวว่าถ้าเห็นทรงพระสรวลก็เป็นบุญ[3] หลังสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระองค์จึงเสด็จไปประทับอยู่ร่วมกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่วังพญาไทเป็นเวลาแรมเดือน ภายหลังได้เสด็จกลับพระตำหนักสวนหงส์[15]

สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าในรัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระพันวัสสาในรัชกาลที่ 7

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี[2] (สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า แปลว่า สมเด็จป้า-พี่สาวของแม่) โดยข้าราชสำนักในสมัยนั้นออกพระนามว่า สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าฯ เป็นคู่กันกับสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ช่วงเวลาดังกล่าวสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระประชวรกระเสาะกระแสะ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตได้เข้ามากราบพระบาทของสมเด็จพระมาตุจฉา และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี เป็นนัยว่าขออภัยที่เคยล่วงเกินกันในอดีต ดังปรากฏในคำตรัสเล่าของหม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล ความว่า[22]

"...ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งประชวรกระเสาะกระแสะมาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต ประชวรมากขึ้น และเสด็จไปประทับอยู่ ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ครั้งหนึ่งสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ซึ่งล้วนแต่เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกัน และเป็นพระมเหสีเทวีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วย เสด็จขึ้นไปทรงเยี่ยมพระอาการประชวรในท้องพระโรงพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ทรงสนทนากันสามพระองค์พี่น้องถึงความหลังครั้งเก่า แล้วสมเด็จพระพันปีหลวงก็ทรงกราบลงที่พระบาทสมเด็จฯ ก็ที่ใคร ๆ จะรู้สึกพระองค์ เป็นนัยว่าทรงขอพระราชทานอภัยในความหลังดั้งเดิมทั้งหมด ฝ่ายพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี เมื่อทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงเบี่ยงพระองค์ชักพระบาทหลบ เห็นด้วยเกรงว่าสมเด็จพระพันปีจะกราบมาถึงท่านอีกพระองค์ เสร็จจากทรงกราบที่พระบาทสมเด็จฯ แล้ว สมเด็จพระพันปีก็ทรงคลานอ้อมมานิดหนึ่ง แล้วก็ทรงกราบลงที่พระบาทพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีได้ แล้วก็ทรงกราบลงพร้อม ๆ กับที่พระกันแสงกันทั้งสามพระองค์ ทำให้ข้าหลวงแถว ๆ นั้นอดกลั้นน้ำตามิได้ไปตาม ๆ กัน..."

สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าทรงพระกรุณาเป็นพระธุระให้พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระมเหสีในรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ทรงพระครรภ์จนถึงมีประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีทรงเล่าถึงสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าฯว่า "ถ้าไม่ได้ท่าน เจ้าฟ้าก็ไม่ได้เป็นพระองค์"[23] สมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีพระประสูติการก่อนสมเด็จพระราชบิดาเสด็จสวรรคตเพียงหนึ่งวัน โดยก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตนั้น ได้มีพระราชดำรัสทรงฝากฝังพระราชธิดาไว้กับ "สมเด็จป้า" ด้วย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำริว่าทรงนับถือสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าดังเช่นสมเด็จพระบรมราชชนนี สมควรเฉลิมพระเกียรติยศให้ใหญ่ยิ่ง เพื่อเป็นที่ทรงปฏิบัติบูชาต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระพันวัสสา" มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า[24] ข้าราชสำนักจึงออกพระนามกันทั่วไปว่า สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า สืบต่อมา[2]

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในรัชกาลที่ 8 และ 9

เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระราชนัดดา เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า[2][25] ตามพระราชสัมพันธ์ของพระองค์กับรัชกาลที่ 8 คือพระอัยยิกา (ย่า) และดำรงพระอิสริยยศนี้จนตลอดพระชนมายุ ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระองค์เคยปรารภว่า "ดูใคร ๆ ก็ตายกันไปหมด ได้มีชีวิตยืนอยู่นี่ก็ไม่เห็นมีอะไรจะดี เปลี่ยนชื่อไป เปลี่ยนชื่อไป จนจะจำชื่อตัวเองไม่ได้"[26]

แต่เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2489 ไม่มีผู้ใดกล้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าให้ทรงทราบ ในวันเชิญพระบรมศพลงพระโกศนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จพระราชดำเนินออกมาทางระเบียงและตรัสขึ้นมาว่า "วันนี้เป็นอะไร ฟ้าเศร้าจริง นกสักตัวกาสักตัวก็ไม่มาร้อง เศร้าเหลือเกิน นี่ทำไมมันเงียบเชียบไปหมดอย่างนี้ล่ะ" ข้าราชบริพารเมื่อได้ยินดังนั้นต่างก็รู้สึกสะเทือนใจ ผู้ใดที่ทนไม่ได้ต่างก็หลบออกมาด้วยกลัวที่พระองค์ท่านจะทรงรู้ได้ว่าเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น[27] พระองค์จึงทรงรำลึกอยู่เสมอว่า "มีหลานชาย 2 คน"[28]

อนึ่ง ทางรัฐสภาเคยกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แต่ได้ทรงปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าพระองค์ทรงพระชราภาพมากแล้ว ก่อนจะได้ข้อสรุปว่าให้มีพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นคณะบุคคลนั่นเอง

ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระองค์กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 เมื่อพระองค์ทรงเจิมหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์แล้ว มีรับสั่งว่า "หันออกไปยิ้มกับผู้คนที่เข้ามาซิ เขาอุตส่าห์มากันเต็ม ๆ ออกไปให้เขาเห็นหน่อย"[29] ซึ่งสร้างความประหลาดใจแก่ผู้เข้าเฝ้า ณ ที่นั้นเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระองค์ทรงเลือนพระสัญญาด้วยทรงเจริญพระชนมพรรษาเกือบ 90 พรรษาแล้วในขณะนั้น และมักจะไม่มีพระราชเสาวนีย์แก่ผู้มาเฝ้าเท่าใดนัก

สวรรคต

พระเมรุมาศ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ภายหลังจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระชนม์ชีพยาวนานถึง 6 รัชกาล ก็ทรงพระประชวรเนื่องจากตกจากพระที่นั่งสูง 6 ฟุตกระแทกกับพื้นห้อง ทำให้พระอัฐิที่คอต้นพระเพลาหัก และต้องรักษานานถึง 3 เดือน ต่อมาอีก 5 ปี ก็ประชวรด้วยพระอาการอักเสบที่พระปับผาสะ[30]

วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี (พระนามในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินมายังวังสระปทุมเมื่อเวลาประมาณ 2 ยาม เนื่องจากคณะแพทย์ที่ถวายการรักษาสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ากราบบังคมทูลว่าพระอาการหนักสุดที่จะแก้ไขแล้ว พระชนมชีพคงจะถึงที่สุดในไม่ช้า ภายในห้องพระบรรทมของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงยืนอยู่ปลายพระบาท พร้อมด้วยคณะแพทย์และพยาบาลที่เฝ้าพระอาการ ส่วนหน้าห้องพระบรรทมนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ประทับอยู่ นอกจากนั้น ก็มีเสด็จพระองค์วาปีฯ หม่อมเจ้าหลาน ๆ และข้าหลวงหมอบเฝ้าเต็มไปหมด เนื่องจากเป็นที่ทราบกันแล้วว่าพระอาการน่าเป็นห่วงตั้งแต่ 5 ทุ่ม จึงมาคอยส่งเสด็จกันพร้อมหน้าในวาระสุดท้าย หลังจากตีสองชาววังที่เฝ้าอยู่ในที่นั้นทั้งปวงต่างก็ได้ยินเสียงสวดมนต์เบา ๆ ติดต่อกันโดยหาตัวผู้สวดไม่ได้ พอผ่านไปได้ 16 นาที สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าก็เสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายในพระอาการสงบ เมื่อเวลา 2.16 น.[31] โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงถวายบังคม "สมเด็จย่า" อยู่ที่เบื้องปลายพระบาทนั่นเอง สิริพระชนมายุได้ 93 พรรษา 3 เดือน 7 วัน[32]

หลังจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐานบนพระแท่นสุวรรณเบญจดล ประกอบพระลองทองใหญ่ภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร (พระเศวตฉัตร 7 ชั้น) ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง จนถึงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมศพลงจากพระที่นั่ง และเคลื่อนออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปทางวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทอดผ้าไตรที่โกศพระบรมศพ หลังจากนั้น พระบรมศพเคลื่อนขบวนไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง แล้วจึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ และในวันที่ 23 เมษายน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทรงเก็บพระบรมอัฐิ และเชิญพระบรมอัฐิเข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวังเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระราชสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ไว้ภายใต้ฐานชุกชี พระสัมพุทธวัฒโนภาส วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร[33]

พระราชโอรส-ธิดา

พระฉายาลักษณ์ทรงฉายพร้อมด้วย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 10 พระองค์ เป็นพระราชโอรส 4 พระองค์ เป็นพระราชธิดา 4 พระองค์ ตกเสียก่อนเป็นพระองค์ 2[3] ดังต่อไปนี้

ลำดับ พระรูปและพระนาม เพศ ประสูติ สิ้นพระชนม์ คู่อภิเษกสมรส พระบุตร
1
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
ช. 27 มิถุนายน พ.ศ. 2421 4 มกราคม พ.ศ. 2438 - -
2
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
ช. 4 กันยายน พ.ศ. 2422 25 กันยายน พ.ศ. 2422 - -
3
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี
ญ. 21 เมษายน พ.ศ. 2424 15 สิงหาคม พ.ศ. 2424 - -
4
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์
ช. 9 มิถุนายน พ.ศ. 2425 17 มิถุนายน พ.ศ. 2442 - -
5
สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
ญ. 16 เมษายน พ.ศ. 2427[34] 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 - -
6
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี
ญ. 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2431 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 - -
7
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า
ตกเมื่อ 30 มีนาคม พ.ศ. 2432 - -
8
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า
ตกเมื่อ พ.ศ. 2433 - -
9
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
ช. 1 มกราคม พ.ศ. 2435[34] 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
10
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า
ญ. 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 - -

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กำพร้าพระมารดาอีก 4 พระองค์ คือ

  1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท (28 สิงหาคม พ.ศ. 2427 – 13 มิถุนายน พ.ศ. 2477) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง
  2. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย (13 สิงหาคม พ.ศ. 2428 – 8 กันยายน พ.ศ. 2491) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพร้อม
  3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 – 7 มีนาคม พ.ศ. 2494) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง
  4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร (25 มิถุนายน พ.ศ. 2434 – 15 ธันวาคม พ.ศ. 2525) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพร้อม

ชีวิตส่วนพระองค์

พระจริยวัตร

ทรงฉายพร้อมกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

เมื่อเว้นว่างจากพระราชกรณียกิจ พระองค์ทรงใช้ชีวิตอย่างสามัญโดยเฉพาะในการเลี้ยงดูพระราชโอรส-ธิดา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารทรงบันทึกว่าทรงเล่นกับพระราชชนกและพระราชชนนีขณะพระชันษา 8 ปี ไว้ว่า "...แล้วเราเล่นงูกินหางกับทูลกระหม่อม (ทรงเป็นแม่งู) สมเด็จแม่เป็นพ่องู เราออกสนุกมาก..."[14] และเคยบันทึกเกี่ยวกับการลงโทษของพระราชชนนีว่า "...น้องชายโต [พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว] แย่งดอกไม้ เราร้องไห้ แล้วเรากลับออกไปอีก พี่อัจ [พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีรัชกัญญา] ทำน้ำข้าวตังหกรดผ้าเราเปียก เราร้องไห้ กลับมาข้างใน สมเด็จแม่ทรงหักมือเรา ว่าเราร้องไห้บ่อย ๆ"[35] สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงมีความคล่องแคล่วและแข็งแรง ดังปรากฏในเหตุการณ์ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระชันษา 10 ปี ทรงพายเรือเล่นที่บางปะอินแล้วทรงพลัดตกน้ำ พระองค์ที่ขณะนั้นทรงพระครรภ์เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ 5 เดือน ได้กระโจนลงน้ำแล้วคว้าพระราชโอรสขึ้นมาบนเรือได้อย่างปลอดภัย[14] ซึ่งลักษณะส่วนพระองค์ที่ค่อนข้างคล่องแคล่วว่องไวดังกล่าว ได้กลายเป็นลักษณะพิเศษของนางข้าหลวงในพระตำหนักของพระองค์ ที่มักมีอุปนิสัยเคร่งครัด เจ้าระเบียบ แต่งกายเรียบร้อยไม่ฉูดฉาด มารยาทกะทัดรัด หนักแน่น มีความรู้ด้านการงานและธุรกิจ กระเหม็ดกระเหม่ไม่ฟุ้งเฟ้อ[36] นอกจากนี้ยังดำรงพระองค์เป็นเจ้านายฝ่ายในอย่างโบราณ คือไม่โปรดที่จะปรากฏพระองค์อย่างออกหน้า[14]

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงรู้ภาษาอังกฤษในระดับหนึ่ง ทรงอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษประจำ ฟังเข้าพระทัยแต่ตรัสได้ไม่มากนัก หากเสด็จออกรับแขกเมืองจึงทรงใช้ล่าม แต่หากทรงคุ้นจะไม่ต้องใช้[37]

ถึงแม้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจะทรงยิ่งด้วยพระราชอิสริยยศ พระราชอิสริยศักดิ์ และเพียบพร้อมในทุก ๆ ด้าน อีกทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่จะได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาทพระองค์แรกก็ตาม แต่พระองค์ก็ทรงได้รับความทุกข์จากการที่พระราชโอรสและพระราชธิดาสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยในปี พ.ศ. 2422 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ฯ พระราชโอรสลำดับที่ 2 ทรงสิ้นพระชนม์ลงอย่างกะทันหัน ขณะที่มีพระชันษาเพียง 21 วันเท่านั้น และในปี พ.ศ. 2424 ก็ทรงสูญเสียสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระองค์ไปเมื่อมีพระชันษาเพียง 4 เดือน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2436 พระราชธิดาองค์เล็กของพระองค์ พระราชธิดาพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งยังไม่ได้รับการพระราชทานพระนามสิ้นพระชนม์ลงขณะที่มีพระชันษาเพียง 3 วัน หลังจากนั้นเพียง 1 ปี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารก็เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้พระองค์ทรงวิปโยคยิ่งนัก อีกทั้งการที่ทรงพระกันแสงอย่างหนักทำให้พระพลานามัยทรุดโทรมลงจนกระทั่งทรงพระประชวรในที่สุด

พระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉายประมาณ พ.ศ. 2481

พระองค์จึงได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อทรงพักฟื้น จนพระพลานามัยดีขึ้น แต่เมื่อ พ.ศ. 2441 พระองค์ก็ทรงได้รับความทุกข์จนทรงพระประชวรลงอีกครั้ง โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี พระราชธิดาอีกพระองค์ประชวรพระโรคนิวมอเนีย (ปอดบวม) สิ้นพระชนม์ลง เมื่อมีพระชันษาเพียง 10 ปีเท่านั้น คณะแพทย์กราบบังคมทูลให้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่เมืองชายทะเลเพื่อรักษาพระองค์ แต่ยังมิได้เสด็จไป สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ก็สิ้นพระชนม์ลงด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เมื่อพระชันษา 18 ปี ซึ่งการสูญเสียพระราชโอรสและพระราชธิดาอย่างต่อเนื่องทำให้พระองค์ทรงพระประชวรถึงกับทรงพระดำเนินไม่ได้ จนไม่อาจเสด็จฯ ไปในพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าศิราภรณโสภณ พิมลรัตนวดี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศวโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นพระราชพิธีเดียวกันได้

ส่วนสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระยศขณะนั้น) สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2472 และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิท พระราชธิดาบุญธรรมที่มีความใกล้ชิดกับพระองค์มากที่สุด ซึ่งพระองค์ทรงหวังพระราชหฤทัยว่าจะฝากการพระบรมศพของพระองค์เองไว้ด้วยนั้น ก็ประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2477

ในปี พ.ศ. 2481 กรมขุนชัยนาทนเรนทร (พระยศขณะนั้น) พระราชโอรสบุญธรรมถูกจับกุมตัวด้วยเหตุผลทางการเมือง เมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวก็ตกพระทัยและได้ทรงต่อรองกับรัฐบาล โดยรับประกันด้วยพระราชทรัพย์ทั้งหมดที่ทรงมีเพื่อแลกกับการปล่อยตัวสมเด็จฯ กรมขุนชัยนาทนเรนทร แต่ไม่สำเร็จ พระองค์ถึงกับรับสั่งว่า[38] "ลูกตายไม่น้อยใจช้ำใจเลย เพราะมีเรื่องหักห้ามได้ว่าเป็นธรรมดาของโลก ครั้งนี้ทุกข์สุดที่จะทุกข์แล้ว" โดยสมเด็จฯ กรมขุนชัยนาทนเรนทรถูกถอดฐานันดรศักดิ์เป็น "นักโทษชายรังสิต" และต้องคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต[39] ในระหว่างนั้นเองสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาพระองค์เดียวของสมเด็จฯที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ฉลองพระคุณพระราชชนนีในขณะนั้น ก็ประชวรและสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2481 หลังจากนั้น นักโทษชายรังสิตก็ได้รับการปล่อยตัวและได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์คืนดังเดิม[40] แต่สมเด็จฯ กรมพระชัยนาทนเรนทร (พระยศขณะนั้น) ก็สิ้นพระชนม์ลงเมื่อ พ.ศ. 2494 เหลือเพียงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร พระราชธิดาบุญธรรมพระองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงพระชนม์อยู่จนได้ทรงเป็นองค์จัดการพระบรมศพสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยง ผู้ทรงอภิบาลดูแลพระองค์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นการสนองพระคุณสมเด็จฯ ในวาระที่สุดนี้

ที่ประทับ

พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าภายในพระราชวังบางปะอิน

พระบรมมหาราชวัง

เมื่อทรงพระเยาว์ในฐานะพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงประทับอยู่ภายในพระบรมมหาราชวังด้วยพระชนนีและพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่น ๆ ครั้งทรงรับราชการในตำแหน่งพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในระยะแรกเสด็จประทับ ณ ตำหนักเดิมภายในพระบรมมหาราชวังร่วมกับพระพี่นาง พระน้องนาง และพระชนนี จนกระทั่งทรงประสูติพระราชโอรสพระองค์แรกแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้สร้างพระตำหนักพระราชทาน คือ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระราชวังบางปะอิน

พระราชวังบางปะอินเป็นพระราชฐานตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระราชวังบางปะอินอยู่เสมอ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจึงทรงมีพระตำหนักส่วนพระองค์อยู่ที่พระราชวังบางปะอินด้วยเช่นเดียวกัน

พระตำหนักศรีราชา

พระตำหนักศรีราชาเป็นที่ประทับระหว่างพักฟื้นจากพระอาการประชวร เดิมเป็นพระตำหนักที่สร้างอยู่ริมทะเลต่อมาเมื่อพระตำหนักทรุดโทรมลง จึงทรงให้จัดสร้างพระตำหนักใหม่บริเวณเนินเขา และใน พ.ศ. 2486 กรุงเทพประสพภัยทางอากาศจากสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์จึงเสด็จมาประทับที่ตำหนักศรีราชาอีกระยะหนึ่ง ปัจจุบัน พระตำหนักศรีราชา เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

พระตำหนักสวนหงส์

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 และทรงให้สร้างวังสวนดุสิตและจึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักสวนหงส์พระราชทานสมเด็จนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีด้วย หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่พระตำหนักสวนหงส์เป็นการชั่วคราวอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะเสด็จไปประทับ ณ วังสระปทุมตราบจนเสด็จสวรรคต

วังสระปทุม

วังสระปทุมเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินริมถนนปทุมวัน เพื่อสร้างวังสำหรับพระราชโอรส คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และประมาณปี พ.ศ. 2456 สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักขึ้นอีกองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นที่ประทับจนกระทั่งเสด็จสวรรคต[41]

พระราชกรณียกิจ

หลังจากงานพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวเรื่อยมา เนื่องจากทรงสามารถจดจำพระราชกระแสได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นผู้รอบรู้การงานในพระราชสำนัก และขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ อีกด้วย สมเด็จพระพันวัสสาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้

ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นประธานในพิธีเข้าประจำหน่วยอนุสภากาชาดครั้งแรกที่โรงเรียนราชินี

พระองค์ทรงสนับสนุนโรงศิริราชพยาบาล ในปี พ.ศ. 2431 ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เรื่อยมาตราบจนพระองค์เสด็จสวรรคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเหตุการณ์การสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรสธิดาไปถึงจำนวน 6 พระองค์ ส่งผลให้พระองค์ทรงพระประชวรและเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระองค์ที่พระตำหนักศรีราชา ซึ่งพระองค์ทรงให้จัดสร้างสถานพยาบาลขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลสมเด็จ” ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และพระองค์ยังทรงริเริ่มหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อให้การรักษาแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลอีกด้วย นอกจากนี้ ยังพระราชทานทุนส่งแพทย์พยาบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อพัฒนาวงการแพทย์ไทยอย่างต่อเนื่อง[42]

ในปี พ.ศ. 2436 สภาอุณาโลมแดงได้เริ่มจัดตั้งขึ้น พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภาชนนี ในปี พ.ศ. 2463 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาพระองค์ที่ 2 หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สภานายิกาพระองค์แรก[43] เป็นเวลานานถึง 35 ปี โดยพระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนมากเพื่อบำรุงสภากาชาดไทย และตั้งกองทุนต่าง ๆ ในการส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศ เพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญมาปฏิบัติหน้าที่อย่างเพียงพอ

ด้านการศึกษา

ทางด้านการศึกษาพระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อบำรุงโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อาทิเช่น โรงเรียนราชินี โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลาโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนเจ้าฟ้าสร้าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น[44]

ด้านการศาสนา

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงสนพระราชหฤทัยพระพุทธศาสนาด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ทรงอ่านพระไตรปิฏกฉบับทองใหญ่ ทรงศีลเป็นประจำในวันธรรมสวนะ พระราชกรณียกิจสำคัญในด้านการศาสนาก็คือการที่พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดพิมพ์อัฏฐกถาชาฎก 1 คัมภีร์ 10 เล่มสมุดพิมพ์ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงอุทิศถวายสิ่งของต่าง ๆ แก่วัดปทุมวนารามด้วย

ด้านการต่างประเทศ

หนังสือเดินทางสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ที่พระอัครมเหสีแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกรับพระราชอาคันตุกะ ซึ่งพระองค์ก็ทรงสามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้เป็นอย่างดีสมดังที่ได้ทรงไว้วางพระราชหฤทัย และสมกับพระบรมราชอิสริยศักดิ์ที่สูงส่งที่สมเด็จฯ ทรงดำรงอยู่อีกด้วย

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในรุ่นแรกที่ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต่างประเทศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2431[45] พระองค์โปรดการเสด็จประพาสตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ นอกพระราชอาณาเขต ดังที่ได้เสด็จประพาสประเทศต่าง ๆ ดังนี้

  • เสด็จประพาสชวา ปีนังและสิงคโปร์ (22 กันยายน - 11 มกราคม พ.ศ. 2469)
  • เสด็จประพาสไซง่อนและสิงคโปร์ (21 เมษายน - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2479)
  • เสด็จประพาสมลายูและสุมาตรา (14 เมษายน - 25 เมษายน พ.ศ. 2480)
  • เสด็จประพาสนครวัดและพนมเปญ (28 พฤศจิกายน - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2480)
  • เสด็จประพาสชวา (เมษายน - มิถุนายน พ.ศ. 2481)

ด้านการหัตถกรรม

สมเด็จพระพันวัสสอัยยิกาเจ้าทรงสนพระทัยด้านหัตถกรรมคือด้านการทอผ้า ทรงสร้างโรงเย็บผ้าส่วนพระองค์ขึ้น ณ พระที่นั่งทรงธรรม บริเวณสวนศิวาลัย ภายในพระบรมมหาราชวัง ครั้งเสด็จไปประทับที่พระตำหนักศรีราชา ทรงเล็งเห็นว่างานทอผ้าในแถบหัวเมืองชายทะเลนั้นมีความงดงาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "หูกทอผ้าพื้นบ้าน" ขึ้น[46]

เมื่อเสด็จฯ มาประทับที่พระตำหนักสวนหงส์ วังสวนดุสิต ก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองทอผ้าขนาดย่อม โดยผ้าที่ทอโปรดให้นำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปด้วยการทอผ้าที่พระตำหนักสวนหงส์นี้ทรงทำมาโดยตลอดตราบจนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จึงเลิกไป

ด้านการเกษตร

นอกจากด้านการทอผ้าแล้ว ในด้านการเกษตรยังทรงจัดให้มีโรงสีข้าวในที่ต่างๆด้วย เช่น โรงจักรสีข้าวถนนเจริญกรุง ใกล้เขตบางคอแหลม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยโปรดให้คนเช่าดำเนินการ รวมทั้งยังโปรดให้ปลูกไม้ผลหลากหลายชนิดภายในวังสระปทุมอีกด้วย นอกจากนั้น ยังพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คนเช่าที่ดินบริเวณโดยรอบของวังสระปทุมให้ปลูกผัก สวนดอกไม้ โดยคิดค่าเช่าที่ต่ำ

พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร

พระพุทธรูปประจำพระชนมวารสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี

พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 สร้างปี พ.ศ. 2424 หล่อด้วยสัมฤทธิ์ กะไหล่ทอง บาตรหยก องค์พระสูง 21.20 เซนติเมตร ปัจจุบันอัญเชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวารสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คู่กับพระโกศพระอัฐิในงานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน และการพระราชพิธีสงกรานต์ เป็นต้น เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ซึ่งเป็นปางประจำวันพุธ ตอนกลางวัน

อนุสรณ์สถาน

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ ที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เดิมชื่อว่า โรงพยาบาลสมเด็จ เป็นโรงพยาบาลที่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงจัดสร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2445 ทางโรงพยาบาลได้จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์ของพระองค์ขึ้นภายในโรงพยาบาล นอกจากนี้ อาคารต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลนั้นยังได้รับพระราชทานนามตามพระนามของพระองค์ ได้แก่ ตึกพระพันวัสสา ตึกสว่างวัฒนา ตึกศรีสวรินทิรา ตึกบรมราชเทวี ตึกอัยยิกาเจ้า และตึกศรีสมเด็จ[47] นอกจากนี้ ภายในโรงพยาบาลยังได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ ณ ตึกพระพันวัสสา เพื่อจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติ และเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับพระองค์[48]

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ

เมื่อ พ.ศ. 2471 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพในขณะนั้น ได้ขอพระราชทานนามโรงเรียนจากพระองค์ ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า "โรงเรียนวัฒโนทัย" (โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ในปัจจุบัน) ตามพระนามเดิม คือ "สว่างวัฒนา" พระองค์เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ในพิธีเปิดป้ายโรงเรียนเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2471 ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพจึงได้ก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า รวมทั้ง สร้างอาคารศรีสวรินทิรา ขึ้นภายในโรงเรียน โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์และอาคารศรีสวรินทิราในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2528[49][50]

พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า วังสระปทุม เป็นสถานที่สำคัญแห่งพระราชวงศ์ ด้วยเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2459 ตราบจนเสด็จสวรรคตและได้เป็นที่ประทับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในเวลาต่อมา สมควรที่จะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ แสดงพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หลังจากที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงระลึกถึงพระราชปรารภแห่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงจัดการตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นสนองพระราชดำริและเพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระราชกรณียกิจแห่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่ครบถ้วนและถูกต้อง

มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จัดตั้งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2548 โดยพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า รวบรวม เผยแพร่ และจัดแสดงพระราชประวัติ อนุรักษ์พระตำหนักใหญ่ที่ประทับ ณ วังสระปทุม รวมถึงเพื่อการสังคมสงเคราะห์ กีฬา ศาสนาและวัฒนธรรม โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่วังสระปทุม โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นประธานกรรมการมูลนิธิ[51]

พระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ตราประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าละอองพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพระพุทธเจ้าข้า/เพคะ

พระราชอิสริยยศ

  • 10 กันยายน พ.ศ. 2405 – พ.ศ. 2411 : พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา
  • พ.ศ. 2411 – พ.ศ. 2421 : พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา
  • พ.ศ. 2421 – 12 สิงหาคม พ.ศ. 2423 : พระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี
  • 12 สิงหาคม พ.ศ. 2423 – 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2424 : สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี
  • 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2424 – พ.ศ. 2454 : สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
  • พ.ศ. 2454 – 21 มีนาคม พ.ศ. 2468 : สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
  • 21 มีนาคม พ.ศ. 2468 – 25 มีนาคม พ.ศ. 2477 : สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า[52]
  • 25 มีนาคม พ.ศ. 2477 – 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 : สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า[53]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

การเทิดพระเกียรติ

พระองค์ได้รับการเทิดพระเกียรติในหนังสือ "ศรีสวรินทิรานุสรณีย์" เป็นหนังสือปกอ่อน จำนวน 176 หน้า ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีแห่งการเสด็จสู่สวรรคาลัย 17 ธันวาคม พ.ศ. 2548 โดยได้รวบรวมพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและที่ประทับ เป็นต้น

ตราสัญลักษณ์ 150 ปี วันพระราชสมภพ

ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ที่ประชุมใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ เป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 150 ปีวันคล้ายวันพระราชสมภพ ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555 ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพและการอนุรักษ์พัฒนาด้านวัฒนธรรม พร้อมกับบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกอีก 97 รายการ

พงศาวลี

อ้างอิง

  1. โพสต์ทูเดย์. "ยูเนสโกชูสมเด็จพระพันวัสสาฯบุคคลสำคัญของโลก ." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ยูเนสโกชูสมเด็จพระพันวัสสาฯบุคคลสำคัญของโลก.... อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/สังคม/การศึกษา/120997/ยูเนสโกชู-พระพันวัสสา-บุคคลสำคัญของโลก[ลิงก์เสีย], 2553. สืบค้น 11 พฤศจิกายน 2554.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 พระราชประวัติสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
  3. 3.0 3.1 3.2 ยิ้ม ปัณฑยางกูร. งานพระเมรุมาศสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2528. 451 หน้า. ISBN 974-7921-98-7
  4. 4.0 4.1 จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, พระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้า ในรัชกาลที่ 5, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 4, 2550 ISBN 974-02-0038-3
  5. วันนี้ในอดีต :10 กันยายน พ.ศ. 2405 เก็บถาวร 2011-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน sarakadee.com
  6. ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 6
  7. ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 20
  8. ฉัตรสุดา (มมป.). "รูปทรงองค์เอว". สกุลไทย. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  9. 9.0 9.1 ดารณี ศรีหทัย, หน้า 56-57
  10. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 114
  11. ดารณี ศรีหทัย, หน้า 73-74
  12. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 39-40
  13. พิมาน แจ่มจรัส, 203-204
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 พิมาน แจ่มจรัส, หน้า 205
  15. 15.0 15.1 15.2 พิมาน แจ่มจรัส, หน้า 207
  16. ดารณี ศรีหทัย, หน้า 71
  17. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 194
  18. 18.0 18.1 ศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา, หม่อม, หน้า 88
  19. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์, หน้า 365
  20. จงจิตรถนอม ดิศกุล, หน้า 40-41
  21. ไกรฤกษ์ นานา (11 กันยายน 2553). "ค้นหารัตนโกสินทร์ 100 ปี วันสวรรคตรัชกาลที่ 5". หอจดหมายอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  22. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 193-194
  23. ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 33
  24. ราชกิจจานุเบกษา, บรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาพระอิสริยศเฉลิมพระอภิไธยและเลื่อนกรมพระราชวงศ์, เล่ม ๔๒, ตอน ๐ก, วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๘, หน้า ๓๗๒
  25. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ เรื่อง ถวายพระนามพระอัยยิกา พระราชบิดา และพระราชชนนี, เล่ม ๕๑, ตอน ๐ก, ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗, หน้า ๑๔๐๙
  26. "สมเด็จพระพันวัสสาทรงมีพระนามมาก ถึงกับรับสั่งว่า "จนจะจำชื่อตัวเองไม่ได้"". ศิลปวัฒนธรรม. 30 มิถุนายน 2563. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  27. สมภพ จันทรประภา, สมเด็จพระศรีสวรินทิราพระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, พ.ศ. 2528, หน้า 194
  28. ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 59
  29. ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 61
  30. พิมาน แจ่มจรัส, หน้า 208
  31. ราชกิจจานุเบกษา,ข่าวในพระราชสำนัก วันเสาร์ที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘, เล่ม ๗๒, ตอน ๙๘ ง,๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๘ ๓, หน้า ๒๒๓
  32. สมภพ จันทรประภา, สมเด็จพระศรีสวรินทิราพระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2514
  33. ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๙, เล่ม ๗๓, ตอน ๓๓ง, ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๙, หน้า ๑๒๔๒
  34. 34.0 34.1 นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ, 2404-2474, ผู้รวบรวม. บาญชีมหามกุฏราชสันตติวงศ์ พุทธศก 2468 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงรวบรวม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2468. 167 หน้า.
  35. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 140
  36. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หน้า 62
  37. พิมาน แจ่มจรัส, หน้า 206
  38. ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 39
  39. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดยศฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์และบรรดาศักดิ์, เล่ม ๕๖, ตอน ๐ ง, ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๒ ,หน้า ๒๖๑๗
  40. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนา นายรังสิตประยูรศักดิ์ รังสิต ณ อยุธยา กลับดำรงฐานะและฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ตามเดิม, เล่ม ๖๑, ตอน ๕๙ ก, ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๗, หน้า ๘๔๘
  41. ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 67
  42. พระราชกรณียกิจ ด้านการแพทย์ มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
  43. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งสภานายิกาแห่งสภากาชาดสยาม (สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า พระบรมราชเทวี), เล่ม ๓๗, ตอน ๐ ก, ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๓, หน้า ๑๕๖
  44. พระราชกรณียกิจ ด้านการศึกษา มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
  45. ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 115
  46. ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 135
  47. "พระราชประวัติ จาก โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-15. สืบค้นเมื่อ 2007-11-24.
  48. พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ เก็บถาวร 2008-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย
  49. ประวัติโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เก็บถาวร 2008-03-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ
  50. พระราชประวัติสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสาอัยยิกาเจ้า : พระผู้พระราชทานนาม โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เก็บถาวร 2008-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ
  51. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า”, เล่ม ๑๒๓, ตอน ๒๐ง, ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๙, หน้า ๓๐
  52. พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง สถาปนาพระอิศริยศเฉลิมพระอภิธัยและเลื่อนกรมพระราชวงศ์  หน้า ๓๗๒ เล่ม ๔๒ , ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘
  53. พระราชโองการ ประกาศ เรื่อง ถวายพระนามพระอัยิกา พระราชบิดา และพระราชชนนี  หน้า ๑๔๐๙ เล่ม ๕๑ , ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗
  54. 54.0 54.1 "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 21 (ตอน 32): หน้า 570. 6 พฤศจิกายน 2447. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  55. "พระราชทานตรารัตนวราภรณ์ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 39 (ตอน ง): หน้า 2773. 7 มกราคม 2465. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  56. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 10 (ตอน 35): หน้า 374. 26 พฤศจิกายน 2436. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  57. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 41 (ตอน 0 ง): หน้า 3207. 28 ธันวาคม 2467. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  58. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 25 (ตอน 39): หน้า 1153. 27 ธันวาคม 2451. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  59. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 28 (ตอน 0 ง): หน้า 130. 23 เมษายน 2454. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  60. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 43 (ตอน 0 ง): หน้า 3114. 26 พฤศจิกายน 2469. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  61. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 55 (ตอน 0 ง): หน้า 2958. 28 พฤศจิกายน 2481. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  62. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 70 (ตอน 6 ง): หน้า 235. 20 มกราคม 2496. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

บรรณานุกรม

  • จงจิตรถนอม ดิศกุล, หม่อมเจ้า. บันทึกความทรงจำของหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล. กรุงเทพฯ : วัชรินทร์การพิมพ์, 2521. 207 หน้า.
  • จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : ลายคำ, 2559. 600 หน้า. ISBN 978-974-9747-52-0
  • สมภพ จันทรประภาสมเด็จพระศรีสวรินทิราพระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า. [ม.ป.ท.] : โรงพิมพ์อักษรสมัย, พ.ศ. 2514. ISBN 974-94727-9-9
  • มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า. ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า. [ม.ป.ท.] : มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, พิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า หน้าที่. ISBN 974-94727-9-9
  • บรรเจิด อินทุจันทร์ยง. ราชสกุลพระบรมราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : องค์การค้าของคุรุสภา, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2539. ISBN 974-005-650-8 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  • ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. กรุงเทพฯ : มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3. 2553. 223 หน้า. ISBN 978-974-02-0643-9
  • ศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา, หม่อม. อัตชีวประวัติ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา. นนทบุรี : สารคดี, 2562. 456 หน้า. ISBN 978-616-465-021-3
  • พิมาน แจ่มจรัส. รักในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, พิมพ์ครั้งที่ 4. 2554. 485 หน้า. ISBN 978-616-220-025-0
  • ดารณี ศรีหทัย. สมเด็จรีเยนต์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. 304 หน้า. ISBN 978-974-02-0727-6

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ถัดไป
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี
(1 ธันวาคม พ.ศ. 2486 – 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี