สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา | |
---|---|
ประสูติ | 5 มีนาคม พ.ศ. 2381 อาณาจักรรัตนโกสินทร์ |
พิราลัย | 13 เมษายน พ.ศ. 2447 (66 ปี) อาณาจักรสยาม |
พระสวามี | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระบุตร | |
ราชวงศ์ | จักรี (สถาปนา) |
พระบิดา | หลวงอาสาสำแดง (แตง) |
พระมารดา | ท้าวสุจริตธำรง (นาค) |
สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระนามเดิม เปี่ยม (สกุลเดิม สุจริตกุล; 5 มีนาคม พ.ศ. 2381 – 13 เมษายน พ.ศ. 2447) เป็นพระสนมเอก[1]ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชชนนีของพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 ถึงสามพระองค์คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระอัยยิกาฝ่ายพระชนนีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระปัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[2]
เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ได้รับการสถาปนาเป็น เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม เจ้าคุณพระอัยยิกาเปี่ยม และหลังจากพิราลัยได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้า ทรงพระนามว่า สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา[3] โดยสร้อยพระนาม "ศรีพัชรินทรมาตา" มีความหมายว่า เป็นพระมารดาของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระราชประวัติ
[แก้]ชีวิตตอนต้นและเข้ารับราชการ
[แก้]สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ประสูติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2381 เป็นธิดาหลวงอาสาสำแดง (แตง) และท้าวสุจริตธำรง (นาค) ต้นราชินิกูลสุจริตกุล พระองค์สืบเชื้อสายจีนมาแต่ฝ่ายบิดาและมารดา[4][5] ในบันทึกของแอนนา ลีโอโนเวนส์ระบุว่าเจ้าจอมมารดาเปี่ยมนั้นมีเชื้อสายจีนจากบิดา และไม่มีชาติกำเนิดสูงส่งอย่างใด[6]
เบื้องต้น เปี่ยมเข้าเป็นนางฟ้อนในคณะละครหลวง[7] ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการที่เจ้าจอมมารดาเปี่ยมไม่ได้เป็นเจ้า พระราชบุตรจึงมีฐานันดรศักดิ์เป็นพระองค์เจ้า[7] แม้นางจะไม่มีชาติกำเนิดสูงส่ง ทว่าฉลาด สามารถชักพาญาติพี่น้องรับราชการ และนำคนจีนจำนวนมากให้ไปรู้จักกับกษัตริย์สยาม ดังปรากฏในหนังสือของแอนนา ลีโอโนเวนส์ ความว่า[6]
"สตรีเพียงหนึ่งเดียวซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ามัดใจพระองค์ [พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว] ได้สำเร็จคือคุณจอมเปี่ยม แม้จะไม่ใช่คนสวยอะไร แต่วางตัวดีและมียุทธวิธีเยี่ยมยอด เธอมิได้มีการศึกษาและชาติกำเนิดสูงส่งเลย ทั้งยังมีเชื้อสายจีนทางฝั่งบิดา กระนั้นกลับมีคุณลักษณะที่น่าชื่นชมโดยเนื้อแท้ เมื่อรู้สึกได้ว่าตนเริ่มมีอิทธิพลเหนือกษัตริย์ เธอวางแผนจะรักษาและใช้ประโยชน์จากอำนาจดังกล่าวอยู่นานหลายปี โดยใช้วิธีบอกปัดบ้างเป็นครั้งคราว ถ่อมตนเกินเหตุจนน่ารำคาญบางครั้งถึงกับถูกกล่าวหาว่าดัดจริต เธอมักหาข้ออ้างไม่ไปเข้าเฝ้าฯ กษัตริย์อยู่เป็นประจำ โดยอ้างว่าป่วยบ้าง ต้องดูแลลูก ๆ บ้าง อยู่ระหว่างไว้ทุกข์ญาติบ้าง และจะเต็มใจไปเข้าเฝ้าฯ ถวายงานเองเป็นช่วง ๆ ในช่วงเวลา 6 ปีที่ถวายตัวรับใช้ เธอสะสมทรัพย์สมบัติไว้เป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งยังจัดการให้สมาชิกในครอบครัวเธอได้รับราชการตำแหน่งดี ๆ ตลอดจนช่วงชักนำชาวจีนอีกมากมายให้ได้รู้จักกษัตริย์ ในขณะเดียวกันเธอก็ใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวตลอดเวลา ต้องยอมอ่อนน้อมถ่อมตนและประนีประนอมกับบรรดาสตรีคู่แข่งซึ่งออกจะสมเพชเธอมากกว่าอิจฉา และต้องอยู่ในอาณัติของเหล่าสตรีผู้ทรงอำนาจแห่งวังหลวง"
เจ้าจอมมารดาเปี่ยมได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสนมเอกในรัชกาล[1][8] จากการที่เจ้าจอมมารดาเปี่ยมเป็นที่สนิทสวาทของพระสวามี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดพระราชบุตรที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยมเป็นพิเศษ ดังจะพบการตั้งพระนามอันแสดงถึงความศิวิไลซ์ ลูกหลวงและบาทบริจาริกาเหล่านี้สวมฉลองพระองค์อย่างยุโรปและเล่าเรียนภาษาอังกฤษจากพระอาจารย์ต่างชาติในวังหลวง[9] และท่านเป็นบาทบริจาริกาที่ถวายการดูแลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงปลายพระชนม์ชีพ[10]
ในฐานะพระสัสสุ
[แก้]หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการเสวยราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชธิดาสามพระองค์ในรัชกาลก่อนที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยมได้ถวายตัวเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้แก่ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา และพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยความบริสุทธิ์ของเชื้อสายหรืออุภโตสุชาติสังสุทธเคราหณี พระภรรยาร่วมสายเลือดเหล่านี้ถือเป็นพระภรรยาชั้นสูง พระราชโอรสที่เกิดจากพระภรรยาเจ้ามีสิทธิธรรมในการสืบราชสันตติวงศ์สูงกว่าพระราชโอรสที่ประสูติแต่เจ้าจอมสามัญชน[11]
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2428 ในพระราชวโรกาสมงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 20 กันยายน ศกนั้น ด้วยเหตุที่เป็นพระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในขณะนั้น พร้อมทั้งพระราชทานเครื่องยศ[12] ได้แก่
- พานหมากทองคำเครื่องในลงยา
- หีบหมากลงยา
- กาทองรองถาด
- กระโถนทองคำ
เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมได้บริจาคเงินจำนวน 100 ชั่ง หรือ 8,000 บาทสำหรับสร้างถาวรวัตถุเพื่อสาธารณะประโยชน์ อุทิศพระกุศลถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ จัดสรรงบประมาณสมทบเงินจำนวนดังกล่าว ตัดถนนเส้นหนึ่งระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนบำรุงเมือง กรมโยธาธิการสร้างถนนเสร็จในปี พ.ศ. 2443 แล้วถวายเป็นถนนหลวง จึงพระราชทานนามถนนเส้นดังกล่าวว่าถนนอุณากรรณ[13][14]
พิราลัย
[แก้]เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2447 ณ วังสะพานถ่าน ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีพระเมรุ ณ เมรุผ้าขาว ภายในสวนมิสกวัน พระอัฐิถูกบรรจุไว้ ณ ศาลาพระอัยกาในวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร[15] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอัฐิขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี ถวายพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา เนื่องด้วยในรัชกาลนั้นมีพระฐานะเป็นพระอัยยิกา (ยาย) เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2466[16]
โดยพระนาม "ปิยมาวดี" นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลจากพระนามเดิมว่า "เปี่ยม" ซึ่งเป็นคำไทย แปลงรูปสระเอียเป็นเอ กลายเป็นคำบาลีว่า "เปม" แปลว่า "ความรัก" แล้วแปลงเป็นอิยะ เป็น "ปิยมา" มีวนฺตุเป็นปัจจัย รวมเป็นคำว่า "ปิยมาวดี" (บาลี: ปิยมาวตี) ส่วนสร้อยพระนาม "ศรีพัชรินทรมาตา" มาจากพระนามของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับคำว่ามาตา แปลว่าแม่ รวมกันมีความหมายว่า "พระราชชนนีของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง"[17]
พระบุตร
[แก้]เข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระชนนีในพระราชโอรส พระราชธิดา จำนวน 6 พระองค์ คือ
- พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย (22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2399 – 29 มีนาคม พ.ศ. 2416) มีพระโอรสหนึ่งองค์
- พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ (27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2401 – 28 มิถุนายน พ.ศ. 2466) ต่อมาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ มีพระโอรส-ธิดา 40 พระองค์ เป็นพระปัยกาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423) มีพระอิสริยยศสูงสุดที่ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชธิดาหนึ่งพระองค์
- พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (10 กันยายน พ.ศ. 2405 – 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498) มีพระอิสริยยศสูงสุดที่ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า อภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโอรส-ธิดา 8 พระองค์ และเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
- พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (1 มกราคม พ.ศ. 2407 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462) มีพระอิสริยยศสูงสุดที่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโอรส-ธิดา 14 พระองค์ เป็นพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (22 ธันวาคม พ.ศ. 2408 – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2478) ต่อมาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ มีพระโอรส-ธิดา 36 พระองค์ หนึ่งในนั้นคือสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
พระเกียรติยศ
[แก้]พระอิสริยยศ
[แก้]- 5 มีนาคม พ.ศ. 2381 – ไม่ทราบปี : เปี่ยม
- ไม่ทราบปี – 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2399 : เจ้าจอมเปี่ยม ในรัชกาลที่ 4
- 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2399 – 20 กันยายน พ.ศ. 2428 : เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ 4
- 20 กันยายน พ.ศ. 2428 – 13 เมษายน พ.ศ. 2447 : เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม
- 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 : เจ้าคุณพระอัยยิกาเปี่ยม[18]
- 1 เมษายน พ.ศ. 2466 : สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2441 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายใน)[19]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 60. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2014-03-15.
- ↑ อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา (บาลี-ไทย) ภาค 1 (PDF). กรุงเทพฯ: มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ. 2546. p. 39-40.
- ↑ คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ และสายไหม จบกลศึก (บรรณาธิการ) (2555). ราชาศัพท์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. p. 20.[ลิงก์เสีย]
- ↑ ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ฉบับสมบูรณ์ (ภาคจบ). พิมพ์ครั้งที่ 2. นครหลวงฯ : รุ่งวัฒนา. 2515, หน้า 305
- ↑ เผ่าทอง ทองเจือ (19 มกราคม 2555). "ไหว้เจ้าตรุษจีน: เมื่อ 'เจ้า' ไหว้เจ้า". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 6.0 6.1 ลีโอโนเวนส์, แอนนา แฮร์เรียต (เขียน), สุภัตรา ภูมิประภาสและสุภิดา แก้วสุขสมบัติ (แปล). อ่านสยามตามแอนนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562, หน้า 304
- ↑ 7.0 7.1 ดารณี ศรีหทัย. สมเด็จรีเยนต์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 44
- ↑ ดารณี ศรีหทัย. สมเด็จรีเยนต์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 45
- ↑ ดารณี ศรีหทัย. สมเด็จรีเยนต์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 48
- ↑ "เปิดเรื่องราวประวัติศาสตร์ จับสลากพระราชมรดก ในคืนสวรรคต ร.4". กระปุกดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ดารณี ศรีหทัย. สมเด็จรีเยนต์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 55-57
- ↑ สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, กรุงเทพฯ : บรรณกิจ ๑๙๙๑, ๒๕๕๐
- ↑ กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 439.
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมือง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551, หน้า 9
- ↑ วรชาติ มีชูบท. "เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่". ศิลปวัฒนธรรม. 37 : 1 พฤศจิกายน 2558, หน้า 79
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนา เรื่อง สถาปนาพระนามพระอัฐิ พระอัยยิกา,เล่ม ๔๐, ตอน ๐ ก, ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖, หน้า ๑
- ↑ อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา (บาลี-ไทย) ภาค 1 (PDF). กรุงเทพฯ: มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ. 2546. p. 44.
- ↑ "พระราชหัตถ์เลขาส่วนพระองค์ สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชทานแด่ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนี ในเวลาที่ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาศยุโรป พ.ศ. ๒๔๔๐ พระราชประวัติสังเขป". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า,เล่ม ๑๕, ตอน ๓๔, ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๑, หน้า ๓๕๔
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา