สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี | |
---|---|
พระวรราชชายา | |
พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา | |
พระราชชายา | |
ดำรงพระยศ | 10 มิถุนายน พ.ศ. 2464 – 1 มกราคม พ.ศ. 2465 (0 ปี 205 วัน) 15 กันยายน พ.ศ. 2468 — 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 (0 ปี 71 วัน) |
พระอัครมเหสี | |
ดำรงพระยศ | 1 มกราคม พ.ศ. 2465 — 15 กันยายน พ.ศ. 2468 (3 ปี 258 วัน) |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี |
ถัดไป | สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี |
ประสูติ | 10 มิถุนายน พ.ศ. 2445 เมืองธนบุรี อาณาจักรสยาม |
สิ้นพระชนม์ | 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 (73 ปี) โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
พระราชสวามี | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2465–2468) |
ราชวงศ์ | สุจริตกุล (ประสูติ) จักรี (อภิเสกสมรส) |
พระบิดา | เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) |
พระมารดา | ท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล) |
ศาสนา | พุทธ |
พันโทหญิง สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา (พระนามเดิม: ประไพ; 10 มิถุนายน พ.ศ. 2445 — 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518) พระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระองค์เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) กับท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล) เข้ารับราชการฝ่ายใน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระอินทราณี ต่อมาพระอินทราณีตั้งครรภ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอินทราณี ขึ้นดำรงพระยศเจ้านายตำแหน่งพระมเหสีที่ พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี ทรงได้รับการสถาปนาพระราชอิสริยยศสูงสุดที่ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ภายหลังสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ทรงตกพระครรภ์หลายครั้ง เป็นเหตุประการหนึ่งให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักสวนนกไม้ ในพระราชวังดุสิต ต่อมาทรงย้ายไปประทับที่วังริมคลองภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี พระนิวาสน์เดิมของพระองค์ ซึ่งเป็นบ้านของพระบิดาของพระองค์ และประทับเป็นการถาวรตลอดพระชนม์ชีพ พระองค์สิ้นพระชนม์ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 สิริพระชันษา 73 ปี
พระประวัติ
ต้นพระชนม์ชีพ
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี มีพระนามเดิมว่า ประไพ เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) เกิดแต่ท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล) เมื่อวันอังคาร ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 7 ปีขาล จัตวาศก จ.ศ. 1264 ตรงกับวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2445 ที่บ้านคลองด่าน อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นบ้านของปู่คือ พระยาราชภักดี (โค สุจริตกุล)[1] ซึ่งพระยาราชภักดีเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระอัยยิกาฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นพระยาราชภักดี รวมทั้งบุตรหลานจึงมีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์จักรีในฐานะราชินิกุลที่ใกล้ชิด[2]
ประไพเกิดมาเป็นเด็กรูปร่างเล็กบอบบาง อุปนิสัยร่าเริง และมีผู้ทำนายไว้ว่าลักษณะมีบุญ จนพี่น้องรู้กันดีว่า หากจะขออนุญาตไปเที่ยวงาน หรือต้องการของกินของเล่นอย่างใด หากอ้างชื่อประไพ ก็จะได้ดังประสงค์ทุกครั้งไป เมื่อประไพอายุครบแปดขวบจึงได้เข้าไปเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนราชินีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2454—2463 จนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์ ระหว่างศึกษานั้นประไพชอบวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ดนตรี การฝีมือ และกีฬา[3] ประไพชอบการกีฬามากกว่าวิชาการ แต่ก็สอบได้คะแนนดีทุกครั้ง ต่อมาพระยาราชภักดี (โค สุจริตกุล) ผู้เป็นปู่ถึงแก่อนิจกรรม เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) ผู้เป็นบิดาจึงย้ายไปปลูกบ้านใหม่ที่ประตูน้ำภาษีเจริญ ห่างจากบ้านคลองด่านไม่มากนัก
เมื่อประไพสำเร็จการศึกษาแล้ว บิดาได้นำประไพเข้าเฝ้าถวายตัวข้ารับราชการฝ่ายใน ประไพสนใจการขับร้องอย่างมาก[3] โดยเป็นต้นเสียงร่วมกับพระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) ผู้เป็นพี่สาว เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงโขนสมัครเล่น เรื่อง "รามเกียรติ์" ตอนนางลอย[4] นอกจากนี้ประไพยังแสดงเป็น "อินทิรา ดุลยวัจน์"[5] นางเอกของพระราชนิพนธ์ละครพูดในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง "เสือเถ้า"[6]
เข้ารับราชการฝ่ายใน
ในเวลาต่อมาเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5) มีความประสงค์ที่จะถวายตัวหญิงนักเรียนนอกจากสกุลบุนนาคเป็นบาทบริจาริกาเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศ แต่พระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) พี่สาวของประไพ ซึ่งเป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กราบทูลว่าจะถวายน้อง ๆ ของตนเองแทน[7] ด้วยเหตุนี้พระสุจริตสุดาจึงให้ประไพไปถวายการรับใช้บ่อย ๆ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับคุณประไพ สุจริตกุล ขึ้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2464 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2465) โปรดให้ท้าวภัณฑสารนุรักษ์ (เจ้าจอมเพิ่ม ในรัชกาลที่ 5) หัวหน้าคลังฝ่ายในนำเงินไปพระราชทานตามพระราชประเพณีเป็นเงิน 4,000 บาท[8] และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คุณประไพ สุจริตกุล ดำรงตำแหน่งพระสนมเอก มีราชทินนามว่า พระอินทราณี[9] โดย อินทราณี เป็นพระนามพระชายาพระองค์หนึ่งของพระอินทร์ และพำนักอยู่ร่วมกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ พระคู่หมั้นในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชวังพญาไท ซึ่งได้ทรงหมั้นกันก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน และมีพระราชวินิจฉัยว่าจะได้ทรงทำการราชาภิเษกสมรสในภายหน้า[10] หากมีพระราชพิธีที่ต้องเสด็จร่วมกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะประทับคู่กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ โดยมีพระสุจริตสุดา (เปรื่อง) และพระอินทราณี (ประไพ) เดินตามอย่างธรรมเนียมโบราณ[11]
ต่อมาพระอินทราณีตั้งครรภ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอินทราณี ขึ้นดำรงพระยศเจ้านายตำแหน่งพระมเหสีพระองค์หนึ่ง[12] ที่ พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2465[13] นับเป็นสามัญชนคนแรกที่ได้รับการสถาปนาให้ดำรงพระอิสริยยศในตำแหน่งพระมเหสีเทวีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์[14] ซึ่งปรากฏอยู่ในคำประกาศสถาปนาว่า
"...อันพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าตามราชประเพณีที่ได้มีมาในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารีนั้นด้วยแล้ว สมควรที่จะสถาปนาพระอินทราณี ให้มียศเหมือนเจ้าได้ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอินทราณี ขึ้นเป็นพระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิ์ศจี..."
พร้อมกับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า อันเป็นตราชั้นสูงสุดสำหรับฝ่ายในแก่พระวรราชชายาเธอในโอกาสนี้ด้วย[15]
ตำแหน่งพระบรมราชินี
พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2465 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2466)[16]
ต่อมาในวันที่ 13 มกราคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ นายพันโทหญิง และแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการพิเศษกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์และกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์แก่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี[17] นับเป็นสตรีไทยคนแรกที่ได้รับพระราชทานยศทางทหาร[18] การนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ได้เสด็จไปทอดพระเนตรละครพระราชนิพนธ์เรื่องผิดวินัย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ปีเดียวกัน ซึ่งเป็นการแสดงถวายของนายทหารกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ทรงรับตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษ[19] และเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 21 พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2466 ได้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงอำนวยพรพระราชทานแก่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ซึ่งปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่องลิลิต นารายณ์สิบปาง[20]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดิน 89 ไร่ ด้านหน้าติดถนนเพชรเกษม ตรงข้ามวัดพระประโทน จังหวัดนครปฐม แก่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี และพระราชทานนามที่ดินแห่งนี้ว่า สวนราชฤดี และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักเป็นเรือนไม้ปั้นหยาสองชั้น ทำด้วยไม้สัก แด่สมเด็จฯ พระราชินีด้วย พร้อมกันนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย เป็นผู้อำนวยการดูแลให้โรงเรียนเพาะช่าง สร้างเครื่องเรือนสีขาวลายทองแบบหลุยส์ขึ้นเป็นชุดแรก เพื่อใช้ตกแต่งภายในทั่วทั้งพระตำหนักราชฤดี เพื่อเป็นการฝึกฝนช่างไม้ไทยตามพระราชประสงค์ให้สามารถสร้างเครื่องแต่งเรือนแบบหลุยส์ซึ่งเป็นที่นิยมในขณะนั้นทดแทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศ และเครื่องเรือนชุดนี้ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีทรงใช้เป็นประจำตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์[21] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ทรงประกอบพระราชพิธีเสด็จขึ้นพระตำหนักในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2466 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2467)[22]
ตกพระโลหิต
ในการทรงครรภ์ พระองค์ตกพระโลหิตเสียก่อนที่จะมีพระประสูติกาลถึง 3 ครั้ง เนื่องจากพระองค์ตามเสด็จพระราชสวามีตลอดไม่ได้หยุดจึงทำให้ตก[23] ทรงตกพระโลหิตครั้งแรกในพ.ศ. 2465[24] ต่อมาได้ทรงพระครรภ์และมีพระประสูติกาลก่อนกำหนดประมาณ 6 เดือนบนพระที่นั่งพิมานจักรี ในพระราชวังพญาไทเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 เป็นพระราชโอรส พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้วถึงกับน้ำพระเนตรไหล[25] กระนั้นก็ยังทรงมีพระเมตตาต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนี ทรงอ่านหนังสือพระราชทาน ทรงประคองและดูแลเป็นอย่างดี
และในครั้งนั้นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในขณะยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ได้ทรงมีพระราชหัตเลขามาปลอบสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี มิให้ทรงโศกเศร้าในการตกพระโลหิตครั้งนี้ เพราะอย่างไรเสียในวันหน้า ก็ยังทรงมีโอกาสที่จะทรงพระครรภ์อีก[26] หลังจากนั้นก็ปรากฏว่าทรงพระครรภ์อีก และก็ตกพระโลหิตอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2468 ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระที่นั่งสมุทรพิมาน พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี[27]
ลดพระอิสริยยศ
ต่อมาในปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการว่าด้วยการออกพระนาม โดยโปรดให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา แทน เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2468[28] และโปรดฯ ให้เสด็จไปประทับยังพระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต
สาเหตุที่ทรงลดพระอิสริยยศมีหลายประการ แต่มีปรากฏในพระราชพินัยกรรม เรื่อง การสืบพระราชสันตติวงศ์แลตั้งพระบรมอัษฐิ เป็นพระราชพินัยกรรม ฉบับบันทึกประจำวัน ลงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2468 ก่อนวันประกาศลดพระอิสริยยศประมาณ 1 สัปดาห์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้เหตุผลว่าสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีทรงทำให้พระองค์ไม่สบายพระทัยอยู่เป็นนิจ ในพระราชพินัยกรรมปรากฏข้อความเป็นพระบรมราชโองการความว่า[29]
"...ข้อ ๔ ต่อไปภายหน้าก็คงจะมีเหตุเรื่องตั้งพระบรมอัษฐิ คือ จะเอาองค์ใดขึ้นมาตั้งคู่กับฃ้าพเจ้า. ฃ้าพเจ้าขอสั่งเด็ดขาดไว้เสียแต่บัดนี้ , ห้ามมิให้เอาพระอัษฐิสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีขึ้นมาตั้งเคียงฃ้าพเจ้าเป็นอันขาด; เพราะตั้งแต่ได้มาเป็นเมียฃ้าพเจ้า ก็ได้บำรุงบำเรอน้ำใจฃ้าพเจ้าเพียง ๑ เดือนเท่านั้น, ต่อแต่นั้นมาเอาแต่ความร้อนใจหรือรำคาญมาสู่ฃ้าพเจ้าอยู่เป็นเนืองนิตย์..."
เรื่องที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ทรงตกพระโลหิตพระกุมารนั้นเป็นเพียงเหตุผลหนึ่ง เพราะมีบันทึกปรากฏชัดเจนว่าแม้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินีทรงแท้งแล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ทะนุถนอมอย่างดี ถึงกับเสด็จไปรับ และทรงเข็นพระเก้าอี้เข็นที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ประทับมาร่วมเสวยกับพระองค์ทุกวัน[30]
เหตุการณ์ที่เป็นเหตุสำคัญในการลดพระอิสริยยศเห็นจะเป็นเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซ้อมละครเรื่องพระร่วง[31] ครั้งนั้น ในบทบาทการแสดงต้องมีการแตะเนื้อต้องตัวกันระหว่างนายมั่นแสดงโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสาวใช้ของนางจันทร์แสดงโดยคุณเครือแก้ว อภัยวงศ์ ภาพนั้นคงไม่สบพระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี จึงทรงกระทืบพระบาท และโปรดให้ข้าหลวงของพระองค์ โห่ฮาและใช้เท้าตบพื้นพระที่นั่ง แสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ทรงพอพระทัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหยุดการซ้อม และเสด็จขึ้นทันที[32] ขณะนั้น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีมีพระชันษาเพียง 21 ปี เป็นธรรมดาที่จะมีพระอาการหึงหวงต่างๆ และหลายครั้งก็ไม่ทรงสามารถเก็บกลั้นพระอารมณ์ได้ เช่น ทรงขอพระบรมราชานุญาตกลับพระนครก่อน ทำให้ต้องตระเตรียมเรือพระที่นั่งอย่างฉุกละหุก และอีกครั้งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้คุณสุวัทนากราบพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระองค์ก็ทรงชักพระบาทหลบและเบือนพระพักตร์ เหตุเหล่านี้ก็เป็นเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพอพระทัย[32]
พระชนม์ชีพหลังรัชกาลที่ 6
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ใน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ทรงย้ายไปประทับยังพระตำหนักสวนนกไม้ พระราชวังดุสิต[33] ต่อมาจึงทรงย้ายไปประทับที่บริเวณบ้านของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีพระบิดา เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีเสด็จมาประทับเป็นการถาวรแล้ว เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีจึงกั้นบริเวณที่ดินว่างเปล่าด้านหลังของบ้านซึ่งเป็นที่กว้างขวางให้เป็นที่ประทับ กับให้สร้างพระตำหนักสไตล์ยุโรปงดงามเป็นพระตำหนักที่ประทับ โดยมีทางเชื่อมต่อกับตึกใหญ่ของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีอีกด้วย ต่อมาวังแห่งนี้มีชื่อเรียกว่าวังริมคลองภาษีเจริญ[34] หรือวังประตูน้ำ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีได้ประทับอยู่ ณ วังริมคลองภาษีเจริญนี้มาโดยตลอดท่ามกลางพระประยูรญาติอย่างอบอุ่นต่อมาอีกกว่า 40 ปี[35]
ในสมัยรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาตลอดพระชนมชีพ[36] โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์และทรงเจิม ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ในการบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2505 และเมื่อพระชนมายุครบ 6 รอบ ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ตามลำดับ[36] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระราชทานน้ำพระมหาสังข์แก่พระราชวงศ์ผู้ใกล้ชิดสนิทสนม ในบางโอกาสเท่านั้น[37]
ประชวร
ครั้นวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ประชวรปวดพระนาภีมาก จึงได้เสด็จเข้ารับการถวายการรักษาพระอาการประชวรที่โรงพยาบาลศิริราช ครั้งนั้นแพทย์ได้ถวายพระโอสถแก้ปวดพระนาภีทางหลอดพระโลหิต พระอาการทุเลาลง[38] ระหว่างเวลาที่ทรงรับการถวายการรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น พระอาการประชวรมีแต่ทรงและทรุดลงเรื่อยมา มีพระอาการปวดพระนาภีมากขึ้น คณะแพทย์ต้องถวายพระโอสถแก้ปวดทางหลอดพระโลหิตถี่ขึ้น จนเมื่อมีพระอาการมาก ก็ต้องถวายพระโอสถทุก 3 ชั่วโมง[39]
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานแจกันดอกไม้ไปเยี่ยมพระอาการประชวร นอกจากนี้ก็มีพระราชวงศ์เสด็จไปทรงเยี่ยม ตลอดจนพระญาติ ข้าราชการ และข้าราชบริพารได้ผลัดเปลี่ยนกันไปเฝ้าและเยี่ยมอยู่ตลอดเวลา[36] ระหว่างที่ทรงประชวรอยู่นั้น เมื่อทรงทุเลาจากการประชวรก็ทรงมีปฏิสันถารกับผู้ที่มาเยี่ยมเยียนเป็นปกติ ยังทรงพระอนุสรณ์ถึงเรื่องตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์หรือธุรกิจส่วนพระองค์ได้เป็นอย่างดี เวลาประชวรมากก็รับสั่งให้ไปตามพระสุจริตสุดา เมื่อมาถึงก็ทรงกรรแสง[38] พระองค์เคยทรงพระปรารภว่ายังไม่อยากสิ้นพระชนม์ ด้วยทรงเป็นห่วงพี่น้องและหลาน ๆ ซึ่งยังไม่สำเร็จการศึกษา[38]
สิ้นพระชนม์
ครั้นถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2518 คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพยาบาลเห็นพระอาการหนักมากสิ้นหวังแล้ว เพราะเสวยไม่ใคร่ได้ ต้องถวายน้ำเกลือทางหลอดพระโลหิต เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 เวลา 7 โมงเช้า พระอาการประชวรน่าวิตก พยาบาลได้ตามคณะแพทย์มาถวายการรักษา แม้คณะแพทย์จะถวายการรักษาอย่างสุดความสามารถ แต่มีพระอาการพระหทัยวายจึงสิ้นพระชนม์ในเวลา 7.55 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร สิริพระชนมายุ 73 พรรษา 5 เดือน 20 วัน[40]
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศทองน้อยทรงพระศพ ภายใต้ฉัตรตาดทอง 5 ชั้น ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง และทรงรับพระศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 7 วัน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2518[41], 50 วัน เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2519[42] และ 100 วัน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2519[43] ตามลำดับ พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519[44] พระอัฐิเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ หอพระนาก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนพระอังคารเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ ศาลาสุจริตกุล วัดราชาธิวาสวิหาร เขตดุสิต[45]
พระจริยวัตร
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ทรงชุบเลี้ยงเด็กผู้ชายไว้หลายคน ส่วนใหญ่จะเป็นพระญาติในสกุลสุจริตกุล แต่มีคนหนึ่งที่เป็นเด็กกำพร้าทั้งบิดาและมารดา ได้ทรงชุบเลี้ยงมาแต่เด็กชายคนนั้นอายุ 3 ขวบ ตรัสเรียกว่า "ลูกบัว" มาจนตลอดพระชนม์ชีพ ต่อมาเด็กชายบัวได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว "ศจิเสวี"[46] ซึ่งมีความหมายว่า เป็นข้าราชบริพารของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
เมื่อสิ้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ก็ประทับอยู่อย่างเงียบ ๆ กับพระญาติในสกุลสุจริตกุล ไม่ได้ทรงออกงานอย่างเป็นทางการมากนัก แต่ยังคงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่อ ๆ มาโดยตลอด เช่น เมื่อประชวรพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการรักษาพยาบาล และพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ในโอกาสฉลองพระชันษา[36]
นอกจากนี้พระองค์ยังคงมีสายสัมพันธ์กับพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อพระองค์ยังประทับอยู่ภายในสวนดุสิต พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มักจะโปรดให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ไปทรงเยี่ยมสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีอยู่เสมอ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงออกพระนามสมเด็จอินทร์ว่า "แม่อินทร์"[47] ครั้นสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ และพระชนนี เสด็จไปประทับที่อังกฤษ ก็ไม่ได้ทรงติดต่อกันอีกจนกระทั่งนิวัตประเทศไทยแล้วใน พ.ศ. 2502[48] สมเด็จเจ้าฟ้าฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ จะโปรดให้ผู้แทนพระองค์เชิญของขวัญมาพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีในวันคล้ายวันประสูติเป็นประจำทุกปี และสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีก็ทรงปฏิบัติเช่นเดียวกันในวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ และเสด็จพระนางฯ คือให้ผู้แทนพระองค์ เชิญของขวัญไปถวายสมเด็จเจ้าฟ้าฯ และเสด็จพระนางฯ ที่วังรื่นฤดี แต่ก็ไม่ได้เสด็จไปมาหาสู่กันด้วยพระองค์เอง[49]
ในแต่ละวัน สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีจะทรงติดตามข่าวสาร ทอดพระเนตรโทรทัศน์ ทรงจดบันทึกรายวัน ทรงปฏิบัติธรรม และทรงบาตรเป็นประจำ ในบางโอกาสจะเสด็จประพาสต่างจังหวัดกับพระญาติ เสด็จงานในหมู่ญาติ อย่างงานศพ งานทำบุญ[50] และในบ้านภาษีเจริญสมัยนั้นก็มีผู้คนมากมาย พระองค์ก็ไม่ทรงเงียบเหงานัก เวลาเสด็จฯกับพระญาติก็ทรงประทับรวมกัน อีกทั้งยังทรงไม่เคร่งครัดเรื่องราชาศัพท์กับพระญาติ[51] งานอดิเรกอื่น ๆ ที่โปรด ก็คือปลูกต้นไม้ และทรงเลี้ยงสุนัข เพราะทรงโปรดที่สุนัขพวกนี้แสนรู้ เฝ้าบ้านได้ดี[50]
พระกรณียกิจ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการปกครองวชิรพยาบาลเมื่อพ.ศ. 2466 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ดำรงตำแหน่งสภานายิกาของวชิรพยาบาล[52][53] ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการของวชิรพยาบาลเป็นอย่างดี[54] ทั้งยังทรงพระราชทานเงินบำรุงวชิรพยาบาลในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา[55]
ทรงประทานทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนในโรงเรียนราชินี โรงเรียนราชินีบูรณะ ทรงเริ่มพระราชทานเงินทุน 3,000 บาทแก่โรงเรียนราชินีเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2464 แล้วพระราชทานเนื่องในวันประสูติเรื่อยมา[56]จนถึงวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2474 โรงเรียนราชินีเริ่มใช้เป็นทุนของ ปีการศึกษา 2474 นับแต่บัดนั้น[57] นอกจากนั้นยังทรงส่งเสริมการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา บางครั้งทรงสนับสนุนให้ศึกษาต่อเนื่องยังต่างประเทศ ซึ่งมีบุคคลที่ได้รับการศึกษาเนื่องจากทุนที่ได้รับประทานดังกล่าวล้วนเป็นข้าราชการ นักธุรกิจ นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติทั้งสิ้น ทั้งยังทรงเข้าเป็นสมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณ และพระราชทานหนังสือแก่หอพระสมุดวชิรญาณเก็บรักษาไว้ด้วย[58]
นอกจากนี้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีก็ยังโปรดกีฬา พระองค์ทรงก่อตั้งทีมฟุตบอลหญิงทีมแรกของประเทศไทย และทรงฝึกนักกีฬาหญิงส่งไปแข่งขันต่างประเทศ เช่น นางสาวสงวน สุจริตกุล นักกีฬาแบดมินตันระดับชาติ[59] เรียกได้ว่าทรงบุกเบิกการกีฬาสำหรับสตรี สำหรับการฝึกนักกีฬาของพระองค์นั้น ทรงควบคุมด้วยพระองค์เอง เช่น นางสาวสงวนกลับจากโรงเรียน ก็จะต้องวิ่งให้ครบตามจำนวนรอบที่กำหนด โดยสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีจะประทับทอดพระเนตรด้วย นอกจากนี้ยังโปรดให้ข้าหลวงหัดกีฬาหลายประเภท เช่น ขี่ม้า จักรยาน และฟุตบอล
เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้มีการตั้งนามสกุลเหมือนกับประเทศอื่น ๆ โดยให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455[60] และมีการพระราชทานนามสกุลให้แก่หลายครอบครัว สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีเมื่อครั้งดำรงพระยศ พระบรมราชินี ทรงได้พระราชทานนามสกุลไว้ถึง 9 นามสกุล[61][62][63] คือ สาลิผลิน, คุณสาระ, จุฑาภักติ, หิรัญยะวสิต, จินดาวระ, สีลาสิริ, นาถะภักติ, สุทธภักติ และเทวินทรภักติ
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีพระราชทานที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานพระตำหนักที่หมู่บ้านท่ายาง ตำบลทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน ให้แก่ราชการ มีพระเสาวนีย์ให้เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ โรงเรียน หรือสุขศาลาก็ได้ แต่ขณะนั้นทางการยังมิได้ดำเนินการ จนกระทั่งพ.ศ. 2482 ทางอำเภอกำแพงแสนจึงทำหนังสือกราบทูลขอพระราชทานที่ดิน 21 ไร่และพระตำหนักเพื่อเปิดเป็นโรงเรียนประชาบาล ซึ่งก็ทรงพระกรุณาพระราชทาน ปัจจุบันคือโรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย[64] พร้อมยังพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนการศึกษา
พระอนุสรณ์
- พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย ที่บ้านยาง ถนนมาลัยแมน ตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ชาวอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม สร้างขึ้นในพ.ศ. 2541 โดยพสกนิกรชาวอำเภอกำแพงแสน เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ ที่พระองค์ได้ประทานที่ดิน เพื่อสร้างเป็นโรงเรียน และสถานที่ราชการอื่น ๆ[65][66]
องค์พระอนุสาวรีย์เป็นพระรูปหล่อของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระอิริยาบถทรงยืน ทรงฉลองพระองค์เสือป่าราชนาวีแขนยาวและพระกระโปรง พระหัตถ์ซ้ายทรงดาบ พระบาทเหลื่อมกันเล็กน้อย
ในทุก ๆ ปี หน่วยงานราชการ และชาวอำเภอกำแพงแสนจะจัดพิธีรำลึกในวันสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาซึ่งตรงกับวันที่ 30 พฤศจิกายน โดยจะมีการวางพวงมาลาและกล่าวสดุดีพระเกียรติคุณ[67] ณ บริเวณลานหน้าพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา[68]
- วันสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
วันสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาตรงกับวันที่ 30 พฤศจิกายน ของทุกปี[69] เป็นวันที่สิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีขณะมีพระชันษา 73 ปี ตั้งขึ้นเพื่อเป็นวันที่ระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี โดยในวันก็จะจัดพิธีสักการะ และถวายพวงมาลา ณ พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ที่โรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
- มูลนิธิสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
มูลนิธิสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จดทะเทียนจัดตั้งครั้งแรกเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2544[70] มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ โรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย ตั้งอยู่ที่บ้านยาง ถนนมาลัยแมน ตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เพื่อช่วยเหลือ สงเคราะห์ และมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนผู้ด้อยโอกาสในอำเภอกำแพงแสน
- โรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย
โรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย (บ้านยาง) ตั้งอยู่เลขที่ 220 หมู่ 1 ตำบลทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม[64] สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2481 โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ซึ่งพระราชทานที่ดินและพระตำหนักราชฤดีให้เป็นสถานศึกษาแก่บุตรธิดา ใช้เป็นสถานศึกษาตลอดมา[71]
- เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
เป็นเหรียญที่ระลึกที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกและเพื่อเป็นเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ซึ่งรูปแบบเหรียญมีสองแบบคือ
แบบที่หนึ่ง ตัวเหรียญมีลักษณะขอบเหลี่ยมเป็นรูปเสมา ทำจากเงิน ด้านหน้าเป็นรูปตราประจำพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีในรัชกาลที่ 6 รูปทรงเสมา ติดห่วง ตรงกลางรูปนกยูงบนพระอภิไธยย่อ "อ" ด้านหลังประดับพระรูปของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ใต้พระรูปมีอักษรลายพระอภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ล่างพระอภิไธยเป็นวันที่จัดสร้างคือวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2548
แบบที่สอง เป็นเหรียญที่มีลักษณะคล้ายกัน ตัวเหรียญทำจากทองคำลงยาหลากหลายสี มีตราประจำพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในรัชกาลที่ 6 รูปทรงเสมาหน้าเดียว ติดห่วง ตรงกลางรูปนกยูงบน ปรมาภิไทย่อ "อ" มีสีสันสวยงาม เหรียญแบบที่สองมีด้านเดียว
พระเกียรติยศ
พระอิสริยยศ
ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา | |
---|---|
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | ใต้ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พระพุทธเจ้าข้า/ เพคะ |
- ประไพ สุจริตกุล (10 มิถุนายน พ.ศ. 2445 - 12 มกราคม พ.ศ. 2465)
- พระอินทราณี (12 มกราคม พ.ศ. 2465 - 10 มิถุนายน พ.ศ. 2465)[9]
- พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี (10 มิถุนายน พ.ศ. 2465 - 1 มกราคม พ.ศ. 2466)[13]
- สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี (1 มกราคม พ.ศ. 2466 - 15 กันยายน พ.ศ. 2468)[16]
- สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา (15 กันยายน พ.ศ. 2468 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518)[28]
พระยศทางทหาร
- 13 มกราคม พ.ศ. 2465 พันโทหญิง - ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และผู้บังคับการพิเศษกองพันที่ 2 กรมทหารบกราบที่ 11 รักษาพระองค์[17]
พระยศทางเสือป่า
- 23 มกราคม พ.ศ. 2464 นายนาวาตรี - สังกัดกองพันหลวงราชนาวีเสือป่า[72]
- 4 มกราคม พ.ศ. 2465 นายกองเอก - สังกัดกรมเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์[73]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้
- พ.ศ. 2465 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายใน)[74]
- พ.ศ. 2465 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) (ฝ่ายใน)[75]
- พ.ศ. 2465 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ (ร.ว.) (ฝ่ายหน้า) (ฝ่ายใน)[76]
- พ.ศ. 2465 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายใน) [77][78][79]
- พ.ศ. 2466 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[80]
- พ.ศ. 2465 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์ (ว.ภ.) (ฝ่ายใน)[81]
- พ.ศ. 2465 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1 (ว.ป.ร.1)[82]
- พ.ศ. 2470 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 2 (ป.ป.ร.2)[83]
- พ.ศ. 2464 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 5 (ว.ป.ร.5)[84]
- พ.ศ. 2464 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 2 (ว.ป.ร.2)[85]
ลำดับพงศาวลี
ลำดับพงศาวลีของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
- ↑ เล็ก พงษ์สมัครไทย. พระญาติ ราชสกุลกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง, พ.ศ. 2549. 160 หน้า. หน้า หน้าที่ 20. ISBN 974-9687-35-3
- ↑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ลำดับสกุล สุจริตกุล. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ:สุทธิสารการพิมพ์, 2522, หน้า 12
- ↑ 3.0 3.1 กรมศิลปากร. สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, พ.ศ. 2547. 360 หน้า. หน้า หน้าที่ 313. ISBN 974-952-787-9
- ↑ "โขน : มหรสพสมโภช" (PDF). นิตยสารศิลปากร. ปีที่ 56 (ฉบับที่ 6): หน้า 34. 17 ธันวาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "ชื่อตัวละครพระราชนิพนธ์บทละคร: พระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" (PDF). ภาษาและวรรณกรรมการ : ภาษาและวรรณกรรม พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปราชญ์แห่งสยามประเทศ: หน้า 1. 27 มกราคม 2548. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-11-23. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ศรีอยุธยา (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว). บทละครพูดเรื่อง หนังเสือ เสือเถ้า. กรุงเทพ : โรงพิมพ์คุรุสภา, พ.ศ. 2516 พิมพ์ครั้งที่ 1. 272 หน้า. หน้า หน้าที่ 85.
- ↑ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล. พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6). กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 1:2561. 320 หน้า. หน้า 108. ISBN 978-974-021-602-5
- ↑ วรชาติ มีชูบท. เบื้องลึก เบื้องหลัง ในพระราชบันทึกเรื่อง"ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖". กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่2 : พฤศจิกายน 2559. 328 หน้า. หน้า 79. ISBN 978-974-02-1471-1 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
- ↑ 9.0 9.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานบรรดาศักดิ์ฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 38, ตอน ง, 15 มกราคม พ.ศ. 2464, หน้า 3021
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ, เล่ม 38, ตอน 0 ก, 8 กันยายน พ.ศ. 2464, หน้า 205
- ↑ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล. พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6). กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 1:2561. 320 หน้า. หน้า 110. ISBN 978-974-021-602-5
- ↑ วรชาติ มีชูบท. เบื้องลึก เบื้องหลัง ในพระราชบันทึกเรื่อง"ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖". กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่2 : พฤศจิกายน 2559. 328 หน้า. หน้า 81. ISBN 978-974-02-1471-1 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
- ↑ 13.0 13.1 "พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาพระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 39 (ตอน 0 ก): หน้า 56. 12 มิถุนายน 2465. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-10. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ รอยใบลาน (คมกฤช บัวคำ). เรื่องไม่ลับ...ฉบับวังหลวง. กรุงเทพ : ฐานบุ๊คส์, พ.ศ. 2553. 328 หน้า. หน้า 125. ISBN 978-616-705-836-8
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อพ.ศ. 2465
- ↑ 16.0 16.1 "พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาพระอิสริยยศ พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี เป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 39 (ตอน 0 ก): หน้า 539. 1 มกราคม 2465. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-10. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 17.0 17.1 "แจ้งความกระทรงกลาโหม เรื่องตั้งผู้บังคับการพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 39: หน้า 2953. 14 มกราคม พ.ศ. 2465.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ ขนิษฐา บัวงาม. พระมหาธีรราชเจ้ากับโฮเต็ลวังพญาไท. กรุงเทพ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, พ.ศ. 2557. 152 หน้า. หน้า 59. ISBN 978-616-042-003-2
- ↑ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล. งานละคร ของ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม. กรุงเทพ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2552. 382 หน้า. หน้า 322.
- ↑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว. ลิลิตนารายณ์สิบปาง. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณาคาร, พ.ศ. 2514. 538 หน้า. หน้า 13.
- ↑ เจรียง ลัดพลี. รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ. กรุงเทพ : โรงพิมพ์มิตราการพิมพ์, พ.ศ. 2514. 98 หน้า. หน้า 20.
- ↑ พระตำหนักราชฤดี ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2563.
- ↑ ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้ง 7 พ.ศ. 2562. 328 หน้า. หน้า หน้าที่ 61. ISBN 978-974-02-1088-7
- ↑ ขนิษฐา บัวงาม. พระมหาธีรราชเจ้ากับโฮเต็ลวังพญาไท. กรุงเทพ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, พ.ศ. 2557. 152 หน้า. หน้า 58. ISBN 978-616-042-003-2
- ↑ เจรียง ลัดพลี. รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ. กรุงเทพ : โรงพิมพ์มิตราการพิมพ์, พ.ศ. 2514. 98 หน้า. หน้า 26.
- ↑ โสมนัส สุจริตกุล. สมเด็จอินทร์และพระสุจริตสุดา สองราชนารีข้างบัลลังก์ ร.6. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์อมรินทร์, พ.ศ. 2560. 362 หน้า. หน้า 56.
- ↑ ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์, พิมพ์ครั้งที่ 5. : พ.ศ. 2554. 368 หน้า. หน้า 189.
- ↑ 28.0 28.1 "พระบรมราชโองการ ประกาศ ว่าด้วยการที่จะออกพระนามสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 42 (ตอน 0 ก): หน้า 159. 20 กันยายน 2468. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2549, หน้า 20
- ↑ สิริทัศนา. สมเด็จอินทร์. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ศรีสารา, พ.ศ. 2555. 200 หน้า. หน้า หน้าที่ 85. ISBN 978-616-715-330-8
- ↑ "พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้า อินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พุทธศักราช ๒๔๖๗" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 41 (ตอน ง): หน้า 675. 15 มิถุนายน 2467. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 32.0 32.1 กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๑-๗. กรุงเทพฯ:ยิปซี, 2552, หน้า 231
- ↑ "พระราชวังดุสิต - BANGKOK's PALACES". palacebangkok. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ รัตนาวดี (29 เมษายน 2559). "วังริมคลองภาษีเจริญ". พระราชวัง วัง และพระตำหนักในไทย. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ เจรียง ลัดพลี. รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ. กรุงเทพ : โรงพิมพ์มิตราการพิมพ์, พ.ศ. 2514. 98 หน้า. หน้า 29.
- ↑ 36.0 36.1 36.2 36.3 เล็ก พงษ์สมัครไทย. "พระราชชายานารีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว". ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 32. ฉบับที่ 3 (มกราคม 2554). หน้า 65.
- ↑ ส.พลายน้อย. ขัตติยะประเพณี. กรุงเทพ : สถาพรบุ๊คส์, พ.ศ. 2562. 304 หน้า. หน้า 102. ISBN 978-616-003-681-3
- ↑ 38.0 38.1 38.2 สิริทัศนา. สมเด็จอินทร์. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ศรีสารา, พ.ศ. 2555. 200 หน้า. หน้า หน้าที่ 142. ISBN 978-616-715-330-8
- ↑ อานนท์ โพธิ์ดี (4 พฤศจิกายน 2560). "พระวรราชชายา ผู้ทรงอาภัพเรื่องทายาท ตกพระโลหิตถึงสองครั้ง สองครา". teenee. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ กรมศิลปากร, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ราชสกุลวงศ์ เก็บถาวร 2017-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพฯ:สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 2554, หน้า 184
- ↑ "หมายกำหนดการ ที่ 20/2518 พระราชกุศลทักษิณานุปทาน 7 วันพระศพสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา ในรัชกาลที่ 6 พุทธศักราช 2518" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 42 (ตอนที่ 251): หน้า 3123. ๙ ธันวาคม ๒๕๑๘. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "หมายกำหนดการ พระราชกุศลทักษิณานุปทาน 50 วันพระศพสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ในรัชกาลที่ 6 พุทธศักราช 2519" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 43 (ตอนที่ 9 ฉบับพิเศษ): หน้า 42. 9 ธันวาคม 2518. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "หมายกำหนดการ ที่ 4/2519 พระราชกุศลทักษิณานุปทาน 100 วัน พระศพสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ในรัชกาลที่ 6 พุทธศักราช 2519" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 43 (ตอนที่ 41 ง ฉบับพิเศษ): หน้า 28. 4 มีนาคม 2519. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "หมายกำหนดการ บำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุและพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในรัชกาลที่ 6 ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส พุทธศักราช 2519" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 43 (ตอนที่ 127 ง ฉบับพิเศษ): หน้า 7. 12 ตุลาคม 2519. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 6 ฉบับที่ 8, มิถุนายน 2528, หน้า 41-42
- ↑ มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท. "นามสกุลพระราชทาน". phyathaipalace. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ วนิตา ดิถียนต์ และชัชพล ไชยพร. ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์อมรินทร์, พ.ศ. 2552. 353 หน้า. หน้า หน้าที่ 121. ISBN 978-974-9559-96-3
- ↑ กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๑-๗. กรุงเทพฯ : ยิปซี, พ.ศ. 2552. 288 หน้า. หน้า 234.
- ↑ "คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ เจ้าแม่แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา". นิตยสารผู้จัดการ. ปีที่ 10 (ฉบับที่ 116): หน้า 37. 17 มีนาคม 2536.
- ↑ 50.0 50.1 เจรียง ลัดพลี. รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ. กรุงเทพ : โรงพิมพ์มิตราการพิมพ์, พ.ศ. 2514. 98 หน้า. หน้า 13.
- ↑ โสมนัส สุจริตกุล. สมเด็จอินทร์และพระสุจริตสุดา สองราชนารีข้างบัลลังก์ ร.6. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์อมรินทร์, พ.ศ. 2560. 362 หน้า. หน้า หน้าที่ 90.
- ↑ "ประกาศตั้งกรรมการการปกครอง วชิรพยาบาล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 40 (0 ง): หน้า 4312. 9 มีนาคม 2466. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ มหาวิทยาลัยนวมินทราราธิราช. แผนยุทธศาสตร์คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ปี 2558-2561[ลิงก์เสีย]. หน้า 1. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2562.
- ↑ "แจ้งความวชิรพยาบาล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 41 (ง): หน้า 1278. 20 กรกฎาคม 2467. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "แจ้งความกระทรวงมหาดไทย แผนกสุขาภิบาล พระราชทานเงินบำรุงวชิรพยาบาล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 40 (0 ง): หน้า 3720. 20 มกราคม 2466. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "แจ้งความถวายอนุโมทนา เรื่องสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงิน 2,200 บาท แก่โรงเรียนราชินี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 40: หน้า 953. 24 มิถุนายน 2466. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา". ศิลปไทย. 4 พฤศจิกายน 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-12. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "แจ้งความหอพระสมุดวชิรญาณ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 40 (0 ง): หน้า 2371. 28 ตุลาคม 2466. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ โสมนัส สุจริตกุล. สมเด็จอินทร์และพระสุจริตสุดา สองราชนารีข้างบัลลังก์ ร.6. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์อมรินทร์, พ.ศ. 2560. 362 หน้า. หน้า หน้าที่ 96.
- ↑ "พระราชบัญญัติขนามนามสกุล พุทธศักราช 2456" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 29 (ตอน 0 ก): หน้า 283. 30 มีนาคม 2455. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ประกาศพระราชทานนามสกุล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 40: หน้า 2180. 14 ตุลาคม 2466. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ประกาศพระราชทานนามสกุล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 40: หน้า 3769. 27 มกราคม 2466. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ประกาศพระราชทานนามสกุล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 40: หน้า 4316. 9 มีนาคม 2466. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 64.0 64.1 อรวรรณ ไกรวิจิตร (17 มิถุนายน 2562). "ประวัติโรงเรียน". โรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย(บ้านยาง) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-21. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ อดิศักดิ์ เทพอาสน์ (30 พฤศจิกายน 2559). "จ.นครปฐมประกอบพิธีวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมประกาศเกียรติคุณแสดงความจงรักภักดี". nakhonpathom. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-27. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ อานนท์ มุ่งลิ้ม (30 พฤศจิกายน 2560). "นครปฐมประกอบพิธีวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี". thainews. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-27. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ อรทัย วุฒาพานิชย์ (30 พฤศจิกายน 2555). "พิธีถวายพวงมาลา สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี". chechadnews. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ดวงนภา วนิชกุลพิทักษ์ (30 พฤศจิกายน 2561). "ม.เกษตร กำแพงแสน ร่วมพิธีจัดงานวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีพระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว". มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ เบญญาพัฒน์ หังเสวก (30 พฤศจิกายน 2561). "วันสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา". สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐมเขต 1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-31. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครปฐม เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ (มูลนิธิสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 118 (ตอนที่ 98 ง): หน้า 51. 6 ธันวาคม พ.ศ. 2544. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ นฤมล บุญญานิตย์ (27 กุมภาพันธ์ 2560). "พระตำหนักราชฤดี". ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "พระราชทานยศนายเสือป่า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 38: หน้า 3184. 29 มกราคม 2464.
- ↑ "พระราชทานยศเสือป่า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 39 (ตอน ง): หน้า 2773. 7 มกราคม 2465. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักกรีบรมราชวงศ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 39 (ตอน ง): หน้า 2345. 26 พฤศจิกายน 2465. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-19. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 39: หน้า 2401. 25 กุมภาพันธ์ 2465. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-19. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานตรารัตนวราภรณ์ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 39 (ตอน ง): หน้า 2292. 19 พฤศจิกายน 2465. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 39 (ตอน 0 ง): หน้า 2347. 26 พฤศจิกายน 2465. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาตำแหน่งมหาสวามินีเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้าฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 40 (ตอน 0 ก): หน้า 127. 28 ตุลาคม 2466. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระบรมราชโองการ ประกาศ ถอนมหาสวามินีแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้าออกเสียจากตำแหน่ง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 42 (ตอน 0 ก): หน้า 187. 11 ตุลาคม 2468. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 40: หน้า 3475. 7 มกราคม 2466. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานตราวัลลภาภรณ์ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 37 (ตอน ง): หน้า 719. 18 มิถุนายน 2465. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 37 (ตอน 0 ง): หน้า 2094. 29 ตุลาคม 2465. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 44: หน้า 2567. 20 พฤศจิกายน 2470. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-23. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน
- ↑ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ (หน้า 3207)
หนังสือ
- พิมาน แจ่มจรัส, รักในราชสำนัก, โอเดียนการพิมพ์, 2510 ISBN 974-341-064-3
แหล่งข้อมูลอื่น
- สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พระคู่หมั้นในพระมหากษัตริย์
- สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
ก่อนหน้า | สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง |
พระบรมราชินีแห่งราชอาณาจักรสยาม (1 มกราคม พ.ศ. 2465 - 15 กันยายน พ.ศ. 2468) |
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี |
- บทความคัดสรร
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2445
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2518
- พระภรรยาในรัชกาลที่ 6
- สกุลสุจริตกุล
- ชาวไทยเชื้อสายแต้จิ๋ว
- บุคคลจากโรงเรียนราชินี
- บุคคลจากกรุงเทพมหานคร
- ทหารบกชาวไทย
- เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว
- พระราชชายา
- สมาชิกกองเสือป่า
- บุคคลจากจังหวัดธนบุรี
- บุคคลจากเขตภาษีเจริญ
- บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์