เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 5
เจ้าจอมมารดา ชุ่ม ในรัชกาลที่ 5 | |
---|---|
เกิด | 19 กันยายน พ.ศ. 2412 บ้านปากคลองโอ่งอ่าง จังหวัดพระนคร อาณาจักรสยาม |
เสียชีวิต | 22 มิถุนายน พ.ศ. 2454 (41 ปี) พระตำหนักสวนภาพผู้หญิง จังหวัดพระนคร อาณาจักรสยาม |
คู่สมรส | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2431–2453) |
บุตร | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี |
บิดามารดา | พระมงคลรัตนราชมนตรี (ช่วง ไกรฤกษ์) ขรัวยายไข่ |
เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 5 (สกุลเดิม ไกรฤกษ์; 19 กันยายน พ.ศ. 2412 – 22 มิถุนายน พ.ศ. 2454) เป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธิดาของพระมงคลรัตนราชมนตรี (ช่วง ไกรฤกษ์) และเป็นสตรีที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนางสนองพระโอษฐ์คนแรกของราชสำนักไทย
ประวัติ
[แก้]เจ้าจอมมารดาชุ่ม เกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2412 ณ บ้านปากคลองโอ่งอ่าง จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือบริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร) เป็นธิดาคนที่เจ็ดจากทั้งหมดสิบคนของพระมงคลรัตนราชมนตรี (ช่วง ไกรฤกษ์) กับภรรยาชื่อไข่ บุตรีเจ้ากรมไม้สูงฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล[1] เมื่อบุตรีจำเริญวัยขึ้น เจ้าจอมอิ่มย่าหรัน ในรัชกาลที่ 3 พี่สาวต่างมารดาของพระมงคลรัตนราชมนตรี แนะนำให้นำบุตรสาวนี้ถวายตัวแก่สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร ด้วยเหตุนี้เจ้าจอมมารดาชุ่มจึงได้รับการอบรมเลี้ยงดูเป็นหญิงชาววังโดยแท้มาแต่นั้น[1] หลังจากนั้นไม่นานเจ้าจอมอิ่มย่าหรันซึ่งเป็นป้าของท่านก็ถึงแก่อนิจกรรม แต่เจ้าจอมอิ่มได้มอบมรดกเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้หลานน้อยไว้ดูต่างหน้า คือหีบหมากหินทรายขลิบทองแก่เจ้าจอมมารดาชุ่ม[2]
ครั้นเข้าสู่วัยสาว เจ้าจอมมารดาชุ่มคอยถวายงานแก่สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่เนือง ๆ[1] ด้วยความที่เจ้าจอมมารดาชุ่มเป็นคนรูปพรรณดี บุคลิกงามสง่า มีดวงหน้ายาว คางหักเหลี่ยม และมีความมั่นใจในตัวเองสูง จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นบาทบริจาริกาในตำแหน่ง เจ้าจอม เมื่ออายุได้ 19 ปี[3] ปีถัดมาท่านมีบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าจอมมารดา เพราะให้ประสูติกาลพระราชธิดาสองพระองค์คือ
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา (21 เมษายน พ.ศ. 2432 – 23 มีนาคม พ.ศ. 2501) ชาววังออกพระนามว่า "เสด็จพระองค์ใหญ่"
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี (6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2433 – 26 ตุลาคม พ.ศ. 2461) ชาววังออกพระนามว่า "เสด็จพระองค์เล็ก"
เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหายจากพระอาการประชวรใน พ.ศ. 2439 แพทย์กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำให้แปรพระราชฐานไปประทับสถานที่อากาศดีสักแห่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกเสด็จประพาสชวาเป็นการส่วนพระองค์ เพราะเคยเสด็จอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2413 มาก่อน พระองค์โปรดอัธยาศัยของชาวฮอลันดาและชนพื้นเมือง ภูมิประเทศที่สวยงาม และกิจการของฮอลันดาที่ปกครองชวา[4] ทรงใช้เวลาประพาสนานถึงสองเดือน ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงแต่งตั้งเจ้าจอมมารดาชุ่มเป็นนางสนองพระโอษฐ์ตามธรรมเนียมยุโรปคนแรก และโปรดเกล้าให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเจ้าจอมมารดาชุ่มแต่งกายอย่างสตรียุโรป ประกอบด้วยกระโปรงแบบสุ่ม เสื้อแขนหมูแฮม และสวมหมวก นอกจากนี้เจ้าจอมมารดาชุ่มยังมีโอกาสร่วมโต๊ะเสวยกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่เคยปฏิบัติมาก่อนในสยาม[5]
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแปรพระราชฐานไปประทับพระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต และพระราชทานพระตำหนักต่าง ๆ ให้พระราชธิดาประทับร่วมกับพระมารดา เจ้าจอมมารดาชุ่มและพระราชธิดาทั้งสองพระองค์อาศัยในพระตำหนักสวนภาพผู้หญิง ติดกับพระตำหนักของเจ้าจอมมารดาอ่อน[6]
เจ้าจอมมารดาชุ่มเริ่มกระเสาะกระแสะ และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2454 เวลา 23.30 น. สิริอายุ 41 ปี วันต่อมา วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2454 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เสนาบดีกระทรวงวัง เสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ[7]
การทำงาน
[แก้]เจ้าจอมมารดาชุ่ม เป็นเจ้าจอมที่ทรงโปรดมากคนหนึ่ง เพราะท่านสามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง จึงได้รับพระกรุณาธิคุณให้ตามเสด็จประพาสชวาถึงสองครั้ง [8]
ครั้งแรกใน พ.ศ. 2439 เจ้าจอมมารดาชุ่มได้ตามเสด็จพระราชดำเนินโดยรับหน้าที่เป็นนางสนองพระโอษฐ์ให้กับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี
ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2444 เจ้าจอมมารดาชุ่มได้ตามเสด็จพระราชดำเนินอีกครั้ง โดยในครั้งนี้พระเจ้าลูกเธอของท่านโสกันต์แล้ว จึงได้ตามเสด็จพระราชดำเนินด้วยทั้งสองพระองค์ ส่วนสาเหตุที่เจ้าจอมมารดาชุ่มได้ตามเสด็จด้วยนั้นเป็นเพราะว่า "ท่านใส่ชุดฝรั่งขึ้น"
ในการตามเสด็จประพาสชวาครั้งที่ 2 ของเจ้าจอมมารดาชุ่มนั้น ยังมีเจ้านายฝ่ายในอีกหลายท่านตามเสด็จด้วย ได้แก่ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ, พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี, พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์, เจ้าจอมเอี่ยม และ เจ้าจอมเอิบ ส่วนพระราชธิดาที่ตามเสด็จด้วยนอกจากพระเจ้าลูกเธอทั้งสองของเจ้าจอมมารดาชุ่มแล้ว ยังมี สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงสุทธาทิพยรัตน์, สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงมาลินีนพดารา และ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงนิภานภดล พระองค์ท่านยังได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประพาสยุโรปทั้งสองครั้งด้วย
เกียรติยศ
[แก้]บรรดาศักดิ์
[แก้]- 19 กันยายน พ.ศ. 2412 – พ.ศ. 2431 : ชุ่ม
- พ.ศ. 2431 – 21 เมษายน พ.ศ. 2432 : เจ้าจอมชุ่ม ในรัชกาลที่ 5
- 21 เมษายน พ.ศ. 2432 – 22 มิถุนายน พ.ศ. 2454 : เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 5
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษฝ่ายใน (ท.จ.ว.)[9]
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 แลวังหลังตำหนัก, หน้า 14
- ↑ แลวังหลังตำหนัก, หน้า 12
- ↑ แลวังหลังตำหนัก, หน้า 15
- ↑ แลวังหลังตำหนัก, หน้า 16
- ↑ แลวังหลังตำหนัก, หน้า 17
- ↑ แลวังหลังตำหนัก, หน้า 18
- ↑ ข่าวอสัญกรรม
- ↑ วรรณพร บุญญาสถิตย์. จอมนางแห่งสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 กับกระแสวัฒนธรรมตะวันตก. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์, พ.ศ. 2549. 338 หน้า. ISBN 874341-471-1 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
- ↑ "การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลพระจุลจอมเกล้าแลถวายบังคมพระบรมรูป" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 16 (34): 498. 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-10-26.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help)
- บรรณานุกรม
- เบญจาภา (จักรพันธุ์) ไกรฤกษ์, ม.ร.ว. ดร.. แลวังหลังตำหนัก. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2558. 417 หน้า. ISBN 978-616-18-0326-1