ข้ามไปเนื้อหา

โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โรงเรียนวรนารีเฉลิม)
โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ในพระอุปถัมภ์ฯ
Woranari Chaloem Songkhla School
จรรยางาม ความรู้ดี มีวินัย ใฝ่คุณธรรม
ที่ตั้ง
เลขที่ 1 ถนนปละท่า ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา 90000
ข้อมูล
ชื่ออื่นว.ฉ. / W.C.S.
ประเภทรัฐบาล
คำขวัญนิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตัญญูกตเวที
ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี
สถาปนา18 มิถุนายน พ.ศ. 2464 (103 ปี)
ผู้ก่อตั้งสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (พระมาตุจฉาเจ้า)
หน่วยงานกำกับสพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ
รหัส1090012004
ผู้อำนวยการนายวิรัช ชูสิน
ระดับปีที่จัดการศึกษาม.1-ม.6
จำนวนนักเรียน3,767 คน
วิทยาเขตเลขที่ 1 ถนนปละท่า ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา 90000
สี  กรมท่า -   ขาว
เพลงมาร์ชกรมท่า-ขาว
เว็บไซต์www.woranari.ac.th http://www.facebook.com/pages/โรงเรียนวรนารีเฉลิม-จังหวัดสงขลา/115865841769660?ref=hnav และ http://woranari-chaloem.blogspot.com

โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดสงขลา ประเภทสหศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 16 จังหวัดสงขลาและสตูล โรงเรียนมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานถึง 100 กว่าปี (118 ปี ในปี 2566) ปัจจุบันเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ตั้งอยู่ เลขที่ 1 ถนนปละท่า ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีเนื้อที่ 26 ไร่ 3 งาน 77 ตารางวา พื้นที่แบ่งออกเป็น 2 เขต (ฝั่ง) ซึ่งอยู่ห่าง กันประมาณ 450 เมตร (โดยสถานที่ทำการเรียนการสอน คือ โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ส่วนเขต (ฝั่ง) ที่ 2 เป็นสถานที่เรียนภาควิชางานอาชีพทุกแขนง)

กำเนิดโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด

[แก้]

โรงเรียนเริ่มก่อตั้ง เมื่อปีพุทธศักราช 2448 โดยมีนามโรงเรียนว่า สตรีสงขลา (เอกชน) ต่อมาก็มีการพัฒนาและย้ายสังกัดมาเป็นทางราชการเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดฝ่ายหญิง มีนามว่า สตรีประจำจังหวัดสงขลา (มหาวชิราวุธ) กระทั่งมีแนวคิดที่จะสร้างโรงเรียนประจำจังหวัดขึ้นใหม่แทนจึงระดมเงินสร้างเป็นโรงเรียนสตรีแห่งใหม่ขึ้นที่วัดแจ้งและปี พ.ศ. 2464 เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระมาตุจฉาเจ้าทรงเปิดโรงเรียนและขอพระราชทานนามโรงเรียนว่า"วรนารีเฉลิม"พร้อมพระราชทาน ตราประจำพระองค์ "กรอบพักตร์" เป็นตราประจำโรงเรียน และทรงปลูกต้นพิกุลเป็นที่ระลึก ทางโรงเรียนจึงถือเอาวันพระราชทานโรงเรียนสตรีแห่งใหม่นี้เป็นวันกำเนิดโรงเรียน จนปัจจุบันโรงเรียนมีอายุครบ 90 ปี ในปี 2554 แต่หากนับความยาวนานโรงเรียนมีความยาวนานถึง 100 กว่าปี

โรงเรียนสตรีประจำมณฑลนครศรีธรรมราช "วรนารีเฉลิม" นามพระราชทาน

[แก้]
สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

เดิมโรงเรียนตั้งอยู่ที่ ถนนนครในมีพระยาสุขุมนัยวินิตสมัยดำรงตำแหน่ง สมุหเทศาภิบาล (เจ้าพระยายมราช ปั้น สุขุม) เป็นผู้จัดตั้งและเปิดสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2448 ในปี พ.ศ. 2464 พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติพระยาวิฑูรดรุณกร ได้จัดการสร้างอาคารเรียนในที่ดินวัดแจ้งเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวในปีนั้นสมเด็จพระเจ้าน้องพะธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศร์ ทรงดำรงตำแหน่งอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ทรงเปิดโรงเรียนและขอพระราชทานนามโรงเรียนว่า วรนารีเฉลิม พร้อมพระราชทาน ตราประจำพระองค์ กรอบวงพักตร์ เป็นตราประจำโรงเรียน และทรงปลูกต้นพิกุลเป็นที่ระลึก

ต่อมาปี พ.ศ. 2482 พลเรือตรีหลวงสินธุสงครามชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาได้มาตรวจราชการจังหวัดสงขลาเห็นความเจริญก้าวหน้า และสถานที่เดิมคับแคบ ควรหาสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนใหม่ ทางจังหวัดมีพระยารามราชภักดีเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดและขุนศิลปกรรมพิเศษ (แปลก ศิลปกรรม) เป็นกรรมาธิการจังหวัด เลือกที่ถนนปละท่า สร้างอาคารเรียนตึก 2 ชั้น ในสมัย ม.ล.ประชุมพร ไกรฤกษ์ เป็นอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนได้พัฒนามาตามลำดับจนถึง พ.ศ. 2511 นางอาภรณ์ สาครินทร์ เป็นอาจารย์ใหญ่ น.ส.รัตน์ ประธานราษฎร์นิกรได้บริจาคเงิน 300,000 บาท เป็นทุนก่อสร้างอาคารเรียนและโรงเรียนได้ของบประมาณปี 2512-2514 มาสร้างเต็มรูปคืออาคาร 3 (อาคารรัตน์ ประธานราษฎร์นิกร) และ ในปี 2514 ได้รับมอบที่ดินแปลงที่ 2 โดยอนุญาตของกระทรวงการคลัง ใน พ.ศ. 2519 โรงเรียนสร้างอาคารเรียน สนามกีฬา บ้านพักครู นักการภารโรง และใช้ที่ดินแปลงที่ 2 เป็นศูนย์การเรียนการสอนวิชาเกษตรกรรมของโรงเรียน

ต่อมาได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียน 1 และอาคารอเนกประสงค์ 6 ชั้น โรงเรียนวรานารีเฉลิม ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนดีเด่นรับรางวัลพระราชทานในฐานะโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ ที่มีการบริหารดีเด่นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้พระราชทานรางวัล ในปี พ.ศ. 2523 และปี พ.ศ. 2537

ในปี พ.ศ. 2529 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับเป็นองค์อุปภัมถ์ของโรงเรียนและโรงเรียนได้รับโล่รางวัล ในฐานะโรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีการส่งเสริมวินัยดีเด่นของจังหวัดสงขลา

ในปี พ.ศ. 2542 ได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาคุณภาพดีเด่นระดับเขตการศึกษา 3 ในวันที่ 16 ธันวาคม 2529 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงมีพระกรุณาฯ รับโรงเรียนวรนารีเฉลิมไว้ในพระอุปถัมภ์ ยังความชื่นชมยินดีให้แก่ชาววรนารีเฉลิม หาที่เปรียบมิได้ สิ่งเหล่านี้เป็นความภาคภูมิใจของชาววรนารีเฉลิมเป็นอย่างยิ่ง คณาจารย์วรนารีเฉลิมทุกคนได้ตั้งปณิธานที่จะดำเนินให้ทุกอย่างดีที่สุด ทั้งในด้านการเรียนการสอน การอบรมจริยธรรมแก่นักเรียน การให้บริการแก่ชุมชน เพื่อรักษาเกียรติยศอันสูงสุดไว้คงอยู่คู่กับชื่อพระราชทาน "วรนารีเฉลิม" ตลอดไป

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานนามกราบบังคมทูล ในนามกรมการมณฑลและจังหวัดว่า บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่นชมยินดีที่ใต้ฝ่าพระบาทเสด็จมาเยี่ยมจังหวัดสงขลาและพระราชทานโอกาสให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงเชิญเสด็จเปิดโรงเรียนที่เป็นที่ศึกษาของกุลสตรีในแขวงนี้โรงเรียนสตรีในจังหวัดสงขลานี้ได้เคยมีมาแล้วหลายครั้งหลายครา เมื่อครั้นเจ้าพระยาราชดำรงตำแหน่งสมุหเทศภิบาลท่านเริ่มจัดขึ้นด้วยความสามารถแล้วผู้ซึ่งสืบต่อ ๆ มาก็ได้กระทำต่อการที่ได้กระทำไปแล้วนี้ด้วยเจตนาหากกุศลดี ในที่ซึ่งกุลสตรีจะได้รับการเล่าเรีนแต่บังเอิญมีเหตุจำเป็นที่จะให้โรงเรียนนี้ไม่จำเริญเสมอโรงเรียนอื่นบางโรงเรียนได้ เพราะเหตุใดเพราะเหตุว่าชาวสงขลาเป็นชาวนอกมิได้รู้ประโยชน์แห่งการศึกษา อย่างชาวกรุงเทพฯ ยังมีผู้พยายามตั้งขึ้นอีกด้วยทุนทรัพย์ของตนดีบ้างเลวบ้าง โดยสำนึกของตนว่าจะสอนเด็กผู้หญิงให้รู้หนังสือเท่านั้น มิได้คิดการอื่นของผู้หญิง ครั้นต่อมาถึง พ.ศ. 2455 รัฐบาลได้ให้เงินเดือนครูเพื่อช่วยเหลือแต่ครูอยู่บ้าง ไม่อยู่บ้าง โรงเรียนกลายเป็นล้มลุกอีก แล้วต่อมาก็ได้มีผู้พยายามบำรุงไว้ การเป็นไปเพียงเท่านั้น ก็เมื่อเป็นดังนั้น ความสำเร็จแห่งประโยชน์ของการศึกษาของผู้หญิงจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะยังอาศัยบุคคลต่อบุคคลสถานที่ไม่มีความแน่นอนความแน่นอนนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงจึงได้ออกเงินเรี่ยไรสร้างโรงเรียน ขึ้นไว้ในที่ซึ่งเป็นสมบัติของโรงเรียนด้วยทุนทรัพย์ของผู้ที่ออกเงินกับทั้งด้วยบำรุงของรัฐบาลช่วยด้วยเพื่อให้นักเรียนหญิงได้เรียนการงานของตน นอกเหนือจาก เพียงรู้หนังสือเท่านั้นตลอดจนการระงับทุกข์ด้วยความพยายามช่วยเหลือแพทย์เป็นที่สุด ให้แก่ผู้รับราชการสนองพระเดช พระคุณ อยู่หัวแห่งประเทศ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลจำนวนนักเรียน โดยย่อเพื่อแสดงว่าการศึกษาของ ผู้หญิงในท้องถิ่นนี้ได้จำเริญขึ้นเพียงใด ใน พ.ศ. 2459 นักเรียนมีเพียง 30 คน เป็นบุตรีข้าราชการ 18 คน เป็นคนพื้นเมือง 12 คน ต่อมาถึง พ.ศ. 2464 มีจำนวนนักเรียน 114 คน เป็นบุตรีข้าราชการ 28 คน เป็นบุตรีคนพื้นเมือง 86 คน ใต้ฝ่าละออง พระบาท ทรงคงทราบว่า ข้าราชการเป็นครมาจาก กรุงเทพฯ โดยมากได้รับคำชี้แจงในเรื่องเรียนหนังสือและการอื่น ๆ แน่ คนพื้นเมือง ยังไม่ได้รับ เมื่อหักจำนวน 12 คน กับ 86 คนแล้ว คงจะเห็นได้ว่า ความจำเริญของการศึกษาคนพื้นเมืองเป็นอย่างไร หัวใจจริงของการศึกษาทั้งปวงทั้งหญิงชายก็จะได้ความจำเริญแก่บุคคลในท้องที่ เป็นใหญ่การก่อสร้างโรงเรียนก็เพื่อจะให้เป็น โรงเรียนตัวอย่างอย่างเช่นโรงเรียนผู้ชายที่เป็นไปแล้วการที่ซึ่งได้ทำที่นี้ได้สำเร็จก็เพราะความอุตสาหะของผู้ว่าราชการจังหวัดและ ศึกษาธิการเป็นต้น และผู้บริจาคทรัพย์ได้สร้างเรือนหลังนี้เป็นประเดิมไว้ก่อนจะให้เป็นหลักฐานต่อไปมิให้ ล้มลุกเหมือนแต่ก่อนเพราะฉะนั้น ณ บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงขอพระราชทานให้ใต้ฝ่าละออกธุลีพระบาท พระราชทานนามแก่โรงเรียนเพื่อเป็นมงคลและระลึกถึงพระองค์ใต้ฝ่าละอองพระบาทและขอพระราชทานทรงเป็นประธาน ในการฉลองโรงเรียนนี้ ขอพระราชทานพรให้ความจำเริญ จงมีแต่เด็กผู้หญิง ซึ่งจะเรียนในโรงเรียนนี้ทั้งในเวลานี้และ ภายหน้าให้มี ความจำเริญทุกเมื่อ

— ควรมิควรแล้วแต่จะทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ

พระราชดำรัสตอบ ของ สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า

[แก้]

สมเด็จพระอุปราชฯ ทรงบรรยายการโรงเรียนมาเป็นลำดับ ฉันมีความโสมนัสอนุโมทนาในทานบริจาค ซึ่งสมเด็จพระอุปราชฯ ได้ทรงสอดส่อง เห็นการไกลชักชวนบรรดาข้าราชการและพ่อค้าประชาชนร่วมสามัคคีช่วยเหลือเกื้อหนุนออกทรัพย์สร้าง โรงเรียนสตรีขึ้น โรงเรียนสตรีนี้เป็นสิ่งสำคัญเพราะสตรีเป็นบุพการีของกุลบุตร กุลสตรี เพื่ออบรมสติปัญญาความสามารถ ที่จะได้เล่าเรียนในภายหน้า วิชานี้พระบาลีท่านยกย่องว่าดีกว่ามีทรัพย์ ส่วนมีทรัพย์อาจมีโจรภัยมาแย่งชิงไปได้ ถ้ามีวิชาแล้วโจรจะมาทำลาย แย่งชิงไม่ได้ ถึงโบราณได้กล่าวว่า รู้อะไรไม่สู้รู้วิชารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี อนึ่ง เธอมีความ ประสงค์ให้ฉันมาเปิดโรงเรียนและขอตั้งนามด้วย ฉันขอให้นามโรงเรียนว่า "วรนารีเฉลิม" ขอให้มีความเจริญมั่นคง ไปชั่วกาลนาน ทั้งบรรดากุลสตรีที่มาเล่าเรียน จงอย่าเรียนแต่หนังสือให้เรียนทั้งการเย็บปักถักร้อยและการบ้ารเรือนตลอดจนการสุขวิทยาเพื่อครอบครัวและผู้อื่นด้วยขอให้มีเชาว์ไว สมประสงค์ท่านทั้งหลาย ซึ่งได้พร้อมใจกันสร้าง ขึ้นด้วยความสามัคคีธรรม สมด้วยพุทธภาษิตย่อมสรรเสริญว่า ความสามัคคีมีในหมู่คณะใดก็มีแต่กาลไพบูลย์ พูนสุข สำราญ ในหมู่คณะนั้น ฉันขอถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จอุปราชฯ และอวยพรแด่ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ซึ่งพร้อมใจกันบำเพ็ญกุศลถาวรวัตถุทานจงเกษมสำราญปราศจากสรรพโรคาพาธ อุปัทวันตราย สิ่งใดที่ประสงค์จำนงหมาย ขอให้เป็นผลสำเร็จแก่ท่านทั้งหลายทั่วกันเทอญ

ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียน

[แก้]
ลำดับที่ ช่วงปีที่รับหน้าที่ ชื่อ-สกุลผู้บริหาร
1 พ.ศ. 2448-2457 นางนาวีวิจารณ์ (เทียบ ถาวร) ป.ภาษาไทย (โรงเรียนสตรีเอกชนเมืองสงขลา)
2 พ.ศ. 2457-2464 นางนิลุบล(นิล) รุจิรธรรม ป.ภาษาไทย โรงเรียนสตรี(มหาวชิราวุธ) จังหวัดสงขลา 18 มิถุนายน 2464
3 พ.ศ. 2464-2474 นางสิทธิธนศักดิ์ (เพียร นกแก้ว) ป.ภาษาอังกฤษ(สิงคโปร์)
4 พ.ศ. 2474-2477 นางยี่สุ่น อัชกุล ป.ม
5 พ.ศ. 2477-2479 นางสาวพิทยาภา พัฒนานนท์ ป.ม
6 พ.ศ. 2479-2481 นางตาบ แรงขำ ป.ม และ นางนิลุบล รุจิรธรรม (รักษาการ)
7 พ.ศ. 2481-2485 นางสาวอาภรณ์ คชเสนี อ.บ,ป.ม (คุณหญิงอาภรณ์ กฤษณามระ)
8 พ.ศ. 2484-2485 ม.ล.ประชุมพร ไกรฤกษ์ B.Ed (U.P)

และ นางเล็กดา (ถาวร) จุลสมัย (รักษาการ)

9 พ.ศ. 2485-2490 นางสาวจรัสสม ปุนณะหิตานนท์ ป.ม
10 พ.ศ. 2490-2492 นางสาวสมลักษณ์ หิตะศักดิ์ อ.บ,ป.ม, M.Ed.
11 พ.ศ. 2499-2504 นางโสมรัศมิ์ จันทรประภา อ.บ,ป.ม (คุณหญิงโสมรัศมิ์ จันทรประภา)
12 พ.ศ. 2505-2509 นางสาวสุพาทินี ศุขะวณิช อ.บ,ป.ม

และ นางธัญภร ภาณุมาศ ณ อยุธยา (รักษาการ)

13 พ.ศ. 2510-2524 นางอาภรณ์ สาครินทร์ วท.พ.ม
14 20 พ.ค.2524 - 8 พ.ย.2528 นางประหยัด ศรีบุญชู M.A
15 8 พ.ค.2528 - 30 ก.ย.2532 นางอาภรณ์ สาขครินทร์ วท.บ ,พ.ม.
16 1 ต.ค.2532 – 30 ก.ย.2535 นางสาวเบญจมาส ทัศนกุล กศ.บ
17 1 ต.ค.2535 – 30 ก.ย.2536 นางสาววสุดี ปุญญะ กศ.บ
18 1 ต.ค.2536 – 30 ก.ย.2540 นางอัปสร วังสะวิบูลย์
19 1 ต.ค.2540 – 9 ธ.ค.2545 นายโสภณ สุขโข ศศ.บ
20 10 ธ.ค.2545 – 30 ก.ย.2547 นางสาวรานี วิสูตรธนาวิทย์
21 1 ต.ค 2547 – 30 ก.ย2555 นางบุปผา มณีพรม
22 6 ธ.ค 2555 - 30 ก.ย 2558 นายวินิจ ซุ้นสุวรรณ
23 21 พ.ย 2558 - 30 ก.ย 2559 นายจำรัส ฟองมณี
24 22 พ.ย 2559 - 22 ต.ค 2563 ดร.อุดม ชูลีวรรณ
25 26 ต.ต 2563 - ปัจจุบัน นายอนันต์ ผุดเกตุ

หลักสูตรการเรียนการสอน

[แก้]

ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-3)

[แก้]
  • หลักสูตรวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (ทั่วไป)
  • หลักสูตรคณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ
  • หลักสูตรพิเศษเพื่อพัฒนาศักยภาพทางด้านภาษาไทย-สังคมศึกษา
  • หลักสูตรการงานอาชีพและเทคโนโลยี
  • โครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางภาษาอังกฤษ (ENGLISH PROGRAM ; EP)
  • โครงการส่งเสริมความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ (MINI ENGLISH PROGRAM ; MEP)
  • โครงการส่งเสริมความสามารถและความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์-ภาษาอังกฤษ (GIFTED PROGRAM ; GP)

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-6)

[แก้]
  • หลักสูตรวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ (SCIENCE PROGRAM II ; ทั่วไป)
  • หลักสูตรคณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ
  • โครงการห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ-ฝรั่งเศส
  • โครงการห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ-จีน (CHINA ENGLISH PROGRAM ; CEP)
  • หลักสูตรภาษาไทย-สังคมศึกษา-ภาษาญี่ปุ่น-ภาษาอังกฤษ
  • โครงการส่งเสริมความสามารถทางคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศที่ 1 และ 2 (GIFTED PROGRAM ; GP)หรือ(SCIENCE MATH ABILITY : SMAP)

อาคารภายในโรงเรียน

[แก้]
  • อาคารเรียน ๑ (วรนารีสโมสร) ทดแทนตึก ๑ เดิม ที่ทรุดโทรม
  1. ชั้นที่ 1 แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นบริเวณนั่งเล่น รับประทานอาหารของนักเรียน หรือชมการแข่งขันบาสเกตบอล อีกส่วนเป็นห้องบริการคอมพิวเตอร์, ห้องประชุมพิกุลแก้ว, ห้องส่วนพระองค์ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  2. ชั้นที่ 2 เป็นห้องสำนักงานโรงเรียน ประกอบด้วย ห้องธุรการ, ห้องวัดผล, ห้องผู้บริหารสถานศึกษา, ห้องจัดการเรียนการสอน เป็นต้น
  3. ชั้นที่ 3 เป็นห้องเรียนทดลองวิทยาศาสตร์นักเรียนโครงการการเรียนการสอนชนิดพิเศษ, ห้องศูนย์บริการนักเรียนโครงการพิเศษ, ห้องพักครูชาวต่างชาติ, ห้องเรียนคอมพิวเตอร์นักเรียนโครงการพิเศษ EP.Com
  4. ชั้นที่ 4 เป็นห้องเรียนนักเรียนโครงการการเรียนการสอนชนิดพิเศษ, ห้องสมุดนักเรียนโครงการพิเศษ, ห้องพักครูที่ปรึกษานักเรียนโครงการพิเศษ
  • อาคารเรียน ๒ (มรกตวรรณขจี)

เป็นอาคารเรียนขนาดใหญ่ของโรงเรียน มีจำนวน 6 ชั้น

  1. ชั้นที่ 1 เป็นห้องสำนักงานโรงเรียนฝ่ายอาคารสถานที่, โถงประชุมนักเรียน รอบ ๆ ห้องโถงนี้เป็นภาพวาดอาคารเรียนที่เก่าแก่ของโรงเรียน, ห้องสำนักงานธนาคารโรงเรียน (ธนาคารออมสิน), ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้การอาชีพ (ว.ฉ. ๒)
  2. ชั้นที่ 2 ห้องเรียนสีเขียวที่จัดแสดงการใช้พลังงานโลกอย่างมีคุณค่าและมีประสิทธิภาพ, ห้องประชุมร่มพิกุล (เป็นห้องประชุมที่ใช้สื่อมัลติมีเดียที่ทันสมัย สะดวก), ห้องเรียนพิมพ์ดีดภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
  3. ชั้นที 3 เป็นห้องแนะแนวนักเรียน, ห้องเรียน
  4. ชั้นที่ 4 เป็นห้องพักครูกลุ่มสาระคณิตศาสตร์, ห้องเรียนประยุกต์สาระคณิศาสตร์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานดีเลิศทางการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์, ห้องเรียน
  5. ชั้นที่ 5 ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ 1 และห้องพักครูผู้ดูแลงานเทคโนโลยี, ห้องเรียน
  6. ชั้นที่ 6 ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ 2, ห้องเรียน
  • อาคารเรียน ๓ (อาคารรัตน์ ประธานราษฎร์นิกรณ์/กรรณิการ์เลอสรวง)
  1. ชั้นที่ 1 ห้องพักครูกลุ่มสาระสุขศึกษาและพลศึกษา, ห้อง SAC, ห้องเรียนสุขศึกษา, ห้องเรียน, ห้องสำนักงานฝ่ายกิจการนักเรียน (ห้องปกครอง), ห้อง TO BE NUMBER ONE, ห้องเรียนสื่อสากล
  2. ชั้นที่ 2 ห้องพักครูกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศที่ 1, ห้องสมุดภาษาต่างประเทศ (Library), ห้องเรียนวิชานาฏศิลป์ไทย, ห้องฝึกซ้อมนาฏศิลป์, ห้องพักครูนาฏศิลป์, ห้องตัดต่องาน, ห้องเรียนญี่ปุ่น, ห้องเรียน
  3. ชั้นที่ 3 ห้องพักครูกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศที่ 2, ห้องเรียนฝรั่งเศส, ห้องเรียน, ห้องดนตรีไทย
  • อาคารเรียน ๔ (พวงทองโสภิณ)

เป็นอาคารเรียนที่มีอายุมากที่สุดของโรงเรียน

  1. ชั้นที่ 1 ห้องเรียนภูมิปัญญาไทย-ภูมิปัญญาท้องถิ่น, ห้องเรียนพัฒนาภาษา, ห้องเรียน
  2. ชั้นที่ 2 ห้องพักครูกลุ่มสาระสังคมศึกษา, ห้องเรียน
  3. ชั้นที่ 3 ห้องพักครูกลุ่มสาระภาษาไทย, ห้องเรียน, ห้องจริยธรรม-ศาสนา
  • อาคารเรียน ๕ (อินทนิลลาวัณย์)
  1. ชั้นที่ 1 ห้องสมุดพูลศรี ประธานราษฎรนิกรณ์ กาญจนาภิเษก, ห้องเรียนเขียนแบบ, ห้องวิจัยทางเคมีในความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยทักษิณ, ห้องบริการอินเทอร์เน็ต, ห้องอาเซียนศึกษา
  2. ชั้นที่ 2 ห้องเรียนภาควิชาชีววิทยา, ห้องเก็บสารเคมีทางการทดลอง, ห้องเรียนทดลองชีววิทยา, ห้องพักครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์, ห้องสื่อวีดิทัศน์วิถีโลก
  3. ชั้นที่ 3 ห้องเรียนภาควิชาเคมี, ห้องเก็บสารทางการทดลอง, ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ทั่วไป
  4. ชั้นที่ 4 ห้องเรียนภาควิชาฟิสิกส์, ห้องเก็บอุปกรณ์ทางการทดลอง
  • อาคารเรียน ๖ (อาคารเฉลิมเกียรติวรนารีเฉลิม / บงกชศรีเสาวภาคย์)

เป็นอาคารรูปแบบพิเศษของโรงเรียนใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงเกือบ 150 ล้านบาท และจัดสร้างด้วยงบประมาณของโรงเรียนเอง

  1. ชั้นที่ 1 ห้องเก็บภาชนะของโรงเรียน, ห้องพักแม่บ้านโรงเรียน, ห้องจำหน่ายอุปกรณ์ทางการเรียน, ห้องเรียน 611, ห้องสภานักเรียน
  2. ชั้นที่ 2 ห้องเรียนนักเรียนโครงการพิเศษระดับมัธยมศึกษาตอนต้น, ห้องพักครูชาวต่างประเทศ, ห้องประชุมนักเรียนโครงการพิเศษ
  3. ชั้นที่ 3 ห้องเรียนนักเรียนโครงการพิเศษระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
  4. ชั้นที่ 4 เป็นหอเฉลิมเกียรติของโรงเรียนภายในหอแห่งนี้มีระบบเซ็นเซอร์ในการปฏิบัติภายในหอ กล่าวคือ หากนักเรียนเข้าสู่ก็จะมีระบบแสง สี เสียง เกิดขึ้นอย่างตระการตาและเมื่อออกจากห้องนั้นไปอีกห้องหนึ่งระบบในห้องเดิมจะหยุดทันที ภายในหอจะมีทั้งหมด 6 โซน 1 โถงกลาง
  • อาคารเรียน ๗ (อาคารศิลปะ)
  1. ชั้น 1 ห้องเรียนศิลปะ
  2. ชั้น 2 ห้องเรียนนาฏศิลป์
  3. ชั้น 3 ห้องเรียนดนตรี
  • อาคารพลศึกษา (หรือนักเรียนจะเรียกว่า หอ 1)
  • อาคารพิเศษอเนกประสงค์
  1. ชั้นที่ 1 เป็นโรงอาหาร, ร้านอาหาร, ห้อง Café Bakery & Drink, ห้องรับประทานอาหารครู
  2. ชั้นที่ 2 เป็นหอประชุม 2 (บงกชศรีเสาวภาคย์)
  • เรือนโรเนียว
  • อาคารพยาบาล (คุณหญิงพูนสุข ประธานราษฎร์นิกร ปรีชาพาณิช)
  • อาคารเรียนดนตรีสากล (สังคีตศิลป์)
  • อาคารเรียนศิลปศาสตร์
  • ศูนย์สารสนเทศนักเรียน (งานสแกนลายนิ้วมือในการเช็คเวลาเข้า - ออกโรงเรียน)
  • เรือนวัสดุ
  • ลานหูกวาง
  • ลานไทร
  • ลานดนตรีศิลป์
  • ลานเฉลิมเกียรติ
  • ลานโรเนียว

รางวัลที่ได้รับ

[แก้]
  • พ.ศ. 2529 โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา รับรางวัลพระราชทานในฐานะโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ที่มีการบริหารงานดีเด่น
  • พ.ศ. 2529 ได้รับโล่รางวัลในฐานะโรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีการส่งเสริมทางด้านวินัยและคุณธรรมดีเด่น
  • พ.ศ. 2529 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มอบเงินก่อตั้งมูลนิธิ "ขยัน ติณสูลานนท์" โรงเรียนวรนารีเฉลิม
  • พ.ศ. 2529 สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ของโรงเรียน
  • พ.ศ. 2529 นางอารีรัตน์ หลีสาภิราช ได้รับเกียรติบัตร "ครูผู้มีคุณธรรม และมาตรฐานแห่งวิชาชีพครู" ของคุรุสภา
  • พ.ศ. 2537 รางวัลพระราชทานโรงเรียนในฐานะโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ที่มีการบริหารงานดีเด่น
  • พ.ศ. 2542 ได้รับการประเมินให้เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาคุณภาพดีเด่นระดับเขตการศึกษา 3 ประจำปีการศึกษา 2541
  • พ.ศ. 2543 ได้รับเหรียญจากการส่งวงโยธวาทิต เข้าแข่งชิงถ้วยพระราชทาน ประเภท ค. ของสมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ
  • พ.ศ. 2546 ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ระดับประเทศ จากการคัดเลือกโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ เรื่อง ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนตามโครงการสายใยครูและศิษย์
  • พ.ศ. 2546 ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ระดับประเทศ
  • พ.ศ. 2550 - 2551
    • รับรางวัลโรงเรียนประชาธิปไตยตัวอย่าง จากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
    • รับรางวัลชนะเลิศ The Best of the Best การบริหารจัดการรูปแบบ โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
    • รับรางวัลชุมนุมอาสายุวกาชาดดีเด่น ประจำปี 2547 - 2550
    • นางสาวศานตมน เพ็งอุบล รับรางวัลนักเรียนดีเด่น ด้านคุณธรรม จริยธรรม ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
    • รางวัลถ้วยพระราชทานจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ชนะเลิศเวทีการประกวดการแสดงระดับประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โครงการเยาวชนพลยุติธรรม จากกระทรวงยุติธรรม
  • พ.ศ. 2552 รับรางวัลโรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีใกล้บ้าน
  • พ.ศ. 2553 ได้รับการประกาศเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล (World Class Standard School)

อ้างอิง

[แก้]