พระตำหนักสวนหงส์
พระตำหนักสวนหงส์ | |
---|---|
พระราชวังดุสิต | |
พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต ก่อนการบูรณะ | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | พระตำหนัก |
สถาปัตยกรรม | วิกตอเรียน กอทิค |
ที่ตั้ง | แขวงดุสิต เขตดุสิต |
เมือง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ไทย |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2445 |
ปรับปรุง | พ.ศ. 2525 พ.ศ. 2561 |
ผู้สร้าง | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
โครงสร้าง | พระราชวังดุสิต |
พระตำหนักสวนหงส์ เป็นพระตำหนักภายในพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เคยใช้เป็นสถานที่จัดแสดงภาพงานพระราชพิธีโบราณต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ พระราชพิธีตรียัมปวาย รวมทั้ง จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
ประวัติ
[แก้]พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชวังดุสิตโดยแบ่งอาณาเขตของพระราชวังเป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นในดังเช่นแบบแผนการสร้างพระราชวังโดยทั่วไป ในเขตพระราชฐานชั้นในนั้นพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างพระตำหนักและตำหนักต่าง ๆ ขึ้น โดยแต่ละแห่งขึ้นต้นด้วยคำว่า "สวน" โดยพระตำหนักที่พระองค์โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีนั้นพระราชทานนามว่า "พระตำหนักสวนหงส์" ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับประตูนกร้อย
ก่อนหน้านั้นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีได้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักศรีราชาเพื่อพักฟื้นจากพระอาการประชวร ระหว่างนั้นพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหูกทอผ้าพื้นบ้านขึ้นภายในพระตำหนัก เมื่อพระองค์เสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักสวนหงส์จึงได้จัดตั้งกองทอผ้าส่วนพระองค์ขึ้นภายในพระตำหนัก ผ้าจากกองทอนี้โปรดให้นำออกจัดจำหน่ายให้แก่ประชาชน เพื่อนำรายได้มาเลี้ยงข้าราชบริพารเรื่อยมา
พระองค์เสด็จพระทับภายในพระตำหนักสวนหงส์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2445 จนถึง พ.ศ. 2453 หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีเสด็จไปประทับกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่พระราชวังพญาไทเป็นเวลาหลายเดือน และได้กลับมาประทับที่พระตำหนักสวนหงส์เป็นครั้งคราว ก่อนที่จะเสด็จไปประทับยังวังสระปทุมเป็นการถาวรตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์
ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุฉาเจ้า ทรงพระกรุณาโปรดให้ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 และ สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี มาประทับ จนถึงเดือนเมษายน ๒๔๗๕ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จไปประทับที่ พระตำหนักพัชราลัย ในฤดูร้อน แล้วเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม ซึ่งพระตำหนักสวนหงส์อยู่ใกล้กับพระที่นั่งอนันตสมาคมที่ก่อการ ทำให้ยากต่อการถวายอารักขา เพื่อความปลอดภัยส่วนพระองค์ จึงย้ายไปประทับ ณ พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในสวนสุนันทา และหลังจากนั้นก็ไม่มีเจ้านายเสด็จมาประทับที่พระตำหนักนี้อีกเลยจนปัจจุบัน
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 พื้นที่บางส่วนของพระราชวังดุสิตตกไปอยู่ภายใต้ความดูแลของกองทัพบก รวมทั้ง พระตำหนักสวนหงส์ด้วย จนกระทั่ง พ.ศ. 2532 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายคืนพื้นที่ภายใต้ความดูแลของกองทัพบกให้แก่สำนักพระราชวัง พระตำหนักสวนหงส์จึงได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้มีความสมบูรณ์อีกครั้ง
พระตำหนักสวนหงส์เคยใช้เป็นสถานที่จัดแสดงภาพงานพระราชพิธีโบราณต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ พระราชพิธีตรียัมปวาย พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีเสด็จทางสถลมารคและชลมารค รวมทั้ง จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เช่น พระฉายาลักษณ์เมื่อผนวชและพระราชพิธีสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงบริเวณภายในพระราชวังดุสิต พระตำหนักสวนหงส์ได้ถูกชะลอย้ายมาปลูกสร้างใหม่บริเวณอุทยานด้านหลังพระที่นั่งอัมพรสถาน หรือฝั่งถนนนครราชสีมา
สถาปัตยกรรม
[แก้]พระตำหนักสวนหงส์ เป็นพระตำหนักไม้ 2 ชั้น บริเวณเชิงชาย ระเบียง และคอสองตกแต่งด้วยไม้แกะสลักลวดลายขนมปังขิง ตัวอาคารทาสีเขียวและขาว บริเวณด้านหน้าพระตำหนักตั้งรูปปฏิมากรรมรูปหงส์ประดับไว้ด้วย พระตำหนักออกแบบและก่อสร้างโดยกลุ่มนายช่างประจำราชสำนัก ซึ่งเป็นชาวตะวันตก ได้แก่ ชาวอิตาเลียน เยอมัน และอังกฤษ สถาปัตยกรรมของพระตำหนักสวนหงส์นั้นเมื่อพิจารณาตามส่วนต่าง ๆ แล้วน่าจะมีสถาปัตยกรรมแบบวิคตอเรียน กอทิค ซึ่งเป็นศิลปะร่วมสมัยกับพระที่นั่งวิมานเมฆ แต่เมื่อพิจารณาแบบองค์รวมแล้วจัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบ Picturesque มากกว่า และนับเป็นสถาปัตยกรรมแนวสัญลักษณ์นิยมที่สามารถผสมผสานวัฒนธรรมไทย จีน และแขกได้อย่างลงตัว
อ้างอิง
[แก้]- แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525) , โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525
- มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, พิมพ์ครั้งที่ 5 (ISBN 974-94727-9-9)
- พระตำหนักสวนหงส์ จาก www.vimanmek.com
- นิตยสารสารคดี , พระตำหนักสวนหงส์ นิมิตมงคลแห่งพระชนมายุ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, ปีที่ ๑๗, ฉบับที่ ๒๑๑, กันยายน ๒๕๔๕
ดูเพิ่ม
[แก้]พระตำหนักที่ประทับในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าแห่งอื่น ๆ ได้แก่
- พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในพระบรมมหาราชวัง
- พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในพระราชวังบางปะอิน
- วังสระปทุม
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ พระตำหนักสวนหงส์
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์