ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นเอก
อธิบดีกรมพิพิธภัณฑ์[1]
ดำรงตำแหน่ง5 เมษายน พ.ศ. 2430
ประสูติ27 สิงหาคม พ.ศ. 2404
สิ้นพระชนม์28 มกราคม พ.ศ. 2479 (74 ปี)
พระราชทานเพลิง27 มกราคม พ.ศ. 2480
พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาส
หม่อม7 คน
พระบุตร23 องค์
ราชสกุลชยางกูร
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ 4
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป ประทับยืนพระองค์ที่ 2 จากขวา
พระรูป ในขณะมีพระชนมายุ ราว 17 พรรษา เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิศริยยศ เป็น พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป (27 สิงหาคม พ.ศ. 2404 – 28 มกราคม พ.ศ. 2479) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเที่ยง เป็นต้นราชสกุลชยางกูร[2] ทรงเคยดำรงตำแหน่งองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[3] และเป็นอธิบดีกรมพิพิธภัณฑ์พระองค์แรก

พระประวัติ

[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 55 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเที่ยง พระสนมเอก (ธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ)) เมื่อวันอังคาร เดือน 9 แรม 6 ค่ำ ปีระกาตรีศก จ.ศ. 1223 ตรงกับวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2404[4] มีพระโสทรภราดาและพระโสทรภคินีได้แก่

  1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐ
  2. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสวตรวรลาภ
  3. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ
  4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร
  5. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากนกวรรณเลขา
  6. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง
  7. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง
  8. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญฤทธิเดช
  9. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์[5]

พระองค์มีศักดิ์เป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเจ้าจอมมารดาทองสุก ในรัชกาลที่ 1) พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยพระองค์สืบเชื้อสายมาจากนายจำปา ณ เวียงจันทน์ ซึ่งเป็นพระญาติของเจ้าจอมมารดาทองสุก ที่เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอินทวงศ์แห่งเวียงจันทน์[6]

ปี พ.ศ. 2417 ขณะมีพระชันษาได้ 13 ปี ทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์[7] ต่อมา ปี พ.ศ. 2424 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต[8] ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการมิวเซียมหลวง[9] ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพิพิธภัณฑ์พระองค์แรก เมื่อ พ.ศ. 2430 ภายหลังจากที่ยกฐานะเป็นกรม[10] หนึ่งในกระทรวงธรรมการ[11] ทรงรับราชการกรมชลประทาน ทรงอำนวยการขุดคลองตั้งแต่คลองสิบสี่ถึงคลองยี่สิบเอ็ดในจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นนายด่าน ควบคุมการซ่อมแปลงพระที่นั่ง ทรงทำฉัตรทองนาคเงิน 9 ชั้นในการพระเมรุกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และทรงปฏิสังขรณ์พระอารามต่าง ๆ เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังทรงดำรงตำแหน่งองคมนตรี (เดิมคือ ปรีวีเคาน์ซิล) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2430[12][13] ในปี พ.ศ. 2445 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นมรรคนายกวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร[14] อีกทั้งยังทรงเป็นกรรมสัมปาทิกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร โดยทรงดำรงตำแหน่งเป็นสภานายก[15] เลขาธิการ สารานิยกร[16] ผู้ช่วยเหรัญญิก[17] และปฏิคม[18] นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงเปลื้องเครื่องพระศรีรัตนศาสดาราม[19]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป มุสิกนาม ทรงศักดินา 15000 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441[20] พร้อมทั้งพระราชทานเครื่องยศอันประกอบด้วย พระมาลาเส้าสะเทิน, ประคำทอง, ฉลองพระองค์เข้มขาบจีบเอว, เจียรบาด, พระแสงดาบญี่ปุ่นฝักถม, กากระบอกถาดรองทองคำ, และหีบหมากเสวยทองคำลงยาตรามงกุฏ[21]

ต่อมาวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเปลี่ยนคำนำพระนามเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ[22]

กรณีคดีปลอมแปลงธนบัตรสยาม

[แก้]

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 นายลอว์สัน (Eric St. Lawson) ผู้บังคับการกรมกองตระเวนขณะนั้น ได้รับหนังสือจากนายวิลเลียมสัน (W. J. F. Williamson) เจ้าพนักงานกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ แจ้งว่า ธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ (The Hongkok Shanghai Bank) พบธนบัตรปลอมเป็นจำนวนมาก นายลอว์สันจึงเดินทางไปตรวจสอบที่ธนาคาร พบว่าเป็นธนบัตรปลอมจริง จึงแจ้งให้นายอากรบ่อนเบี้ยและแขวงหวย รวมถึงธนาคารทุกแห่งในกรุงเทพฯ โรงศุลกากร และกรมรถไฟให้รับทราบ

ในวันที่ 19 พฤศจิกายน ธนาคารชาเตอร์แบงก์ (The Chartered Bank) แจ้งว่าได้รับ ธนบัตรปลอม และตรวจสอบพบลายเซ็นภาษาอังกฤษบนธนบัตร จนพบว่าธนบัตรดังกล่าวได้มาจากพ่อค้าแขกที่ถนนเฟื่องนคร เมื่อกองตระเวนติดตามตรวจสอบห้างร้านสำคัญ ๆ ในกรุงเทพฯ ก็พบการใช้ธนบัตรปลอมจำนวนมากพัวพันอยู่กับ นายเพ่ง (จมื่นศรีสรรักษ์) บุตรชายเจ้าพระยาภาสกรวงศ์กับท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ จากการตรวจสอบพบว่าในช่วงเวลาเพียง 3 วัน นายเพ่งได้นำเงินไปใช้จ่ายในเรื่องต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 1,600 บาท และยังนำเงินอีก 6,000 บาท ฝากธนาคาร กรมกองตระเวนเห็นว่ามีนายเพ่งมีพิรุธเป็นที่น่าสงสัย นายลอว์สันจึงเข้าพบเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เพื่อทำการสอบสวนนายเพ่ง แต่นายเพ่งกลับแจ้งว่า เงินจำนวนนั้นได้มาจากการเล่นพนัน ขณะเดียวกัน เจ้าพนักงานกรมกองตระเวนได้พุ่งเป้าสืบคดีธนบัตรปลอมไปที่ชาวญี่ปุ่น โดยหม่อมเจ้าเศรษฐศิริได้แจ้งให้ทราบว่า ชาวญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้

ต่อมา ในวันที่ 20 พฤศจิกายน เจ้าพนักงานกรมกองตระเวนยังปักใจว่า นายเพ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี จึงตามสืบจากกลุ่มคนที่เคยเล่นพนันโปกับนายเพ่ง ทำให้พบว่า ธนบัตรปลอมเหล่านั้นพัวพันกับนายเพ่งทุกกรณี มิหนำซ้ำยังพบว่า นายเพ่งติดต่อไปมาหาสู่กับชาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ ในช่วงเวลานั้นก็พบว่ามีรายงานพบธนบัตรปลอมเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่งผูกมัดการใช้จ่ายเงินของนายเพ่งทุกกรณี ด้วยเหตุนี้ ในช่วงบ่ายนายลอว์สันจึงให้ออกหมายจับนายเพ่ง แล้วนำหมายไปแจ้งต่อกรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์ ในค่ำวันนั้นก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งนายเพ่งยอมรับสารภาพซัดทอดว่าได้คบคิดกับกรมหมื่นพงษาดิศรมหิป หรือ พระองค์เจ้าไชยานุชิต โดยกรมหมื่นพงษาฯ ทรงเป็นผู้ออกเงินทุนในการปลอมแปลงธนบัตร ส่วนนายเพ่งเป็นผู้จัดการติดต่อกับนายยามาโมโต (Yamamoto Yasutaro) ชาวญี่ปุ่น ให้ออกไปทำธนบัตรปลอมที่ญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2445 โดยขบวนการของชาวญี่ปุ่นประกอบไปด้วย นายอิวาโมโต (Ewamoto) เป็นผู้จัดการทำ, นายวาดา (Wada) เป็นผู้แกะพิมพ์และจัดพิมพ์, นายทากาฮาชิ (Takahasi) เป็นผู้ออกเงินทุนเพิ่มเติม และนายซาซากิ (Sasaki) ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นผู้ดำเนินการหาที่พำนักให้ชาวญี่ปุ่นกลุ่มนี้ ต่อมาในวันที่ 21 พฤศจิกายน กรมกองตระเวนจึงออกหมายจับชาวญี่ปุ่นจากกงสุลญี่ปุ่น จับนายวาดา นายอิวาโมโต และนายทากาฮาชิได้ที่โฮเตลดังกล่าว จับนายซาซากิได้ที่บ้านเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ส่วนนายยามาโมโตนั้นหลบหนีไปและได้มอบตัวต่อราชทูตญี่ปุ่น

ศาลพิจารณาตัดสินคดีให้พระองค์เจ้าไชยานุชิต กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป จำคุกเป็นเวลา 20 ปี เช่นกันกับ นายเพ่งที่ถูกจำคุกเป็นเวลา 20 ปี และให้ยึดทรัพย์ของนายเพ่งไว้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม กรณีของกรมหมื่นพงษาฯนั้น รัฐบาลเห็นว่าอาจไม่มีประโยชน์อันใดในการยึดทรัพย์ เพราะบรรดาพระญาติคงจะเข้ามาช่วยเหลือได้ในที่สุด โดยรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ถอดจากสมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า คืนพานทองเครื่องยศ ถอดออกจากตำแหน่งองคมนตรี และยกชื่อออกจากบัญชีเงินประจำปีพระบรมวงศานุวงศ์

โดยการปลอมแปลงธนบัตรครั้งนี้อาจมีเงินมากถึง 1,200,000 บาท นับว่าเป็นเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งนายเพ่งให้การว่านำเข้ามาเพียง 80,000 บาทเศษ ขณะที่ชาวญี่ปุ่นสารภาพว่าได้ส่งธนบัตรให้นายเพ่งและกรมหมื่นพงษาฯ เพียง 50,000 บาทเท่านั้น แต่ไม่น่าจะเป็นจริงตามอ้าง และเชื่อว่าธนบัตรปลอมที่ยังหลงเหลืออยู่ที่ญี่ปุ่นนั้น กำลังรอโอกาสเหมาะสมที่จะนำเข้ามาในภายหลัง ผลจากการสืบสวนสอบสวนคดีธนบัตรปลอม กรมหลวงนเรศฯ กราบทูลรัชกาลที่ 5 ให้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่นายลอว์สัน

หลังจากที่กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป และนายเพ่งรับโทษถูกคุมขังไว้ได้ 1 ปี กรมหมื่นพงษาฯ ประชวรเป็นโรคปอด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่พระชนม์ จึงทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รับโทษโดยการควบคุมพระองค์ โดยให้รักษาพระอาการอยู่ที่หัวเมืองจนกว่าจะหายประชวร ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชานุญาต โดยทรงห้ามไม่ให้กรมหมื่นพงษาดิศรมหิปออกสังคม และคบค้าสมาคมกับคนต่างชาติอีกต่อไป[23]

การสิ้นพระชนม์

[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป สิ้นพระชนม์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อวันอังคาร ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ปีกุน สัปตศก จ.ศ. 1297 ตรงกับวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2478 (หรือ พ.ศ. 2479 ตามปฏิทินใหม่)[24] สิริพระชันษา 74 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2479 (หรือ พ.ศ. 2480 ตามปฏิทินใหม่)[25]

สาเหตุการสิ้นพระชนม์นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงระบุไว้ใน สาส์นสมเด็จ ว่า "เกล้ากระหม่อมได้ไปเยี่ยมประชวรเมื่อวันที่ 27 ได้ความว่า ทรงรื่นเริงตรุษจีน มีการเลี้ยง เสวยหมูหันแล้วเที่ยวทรงรถกลางคืนตากอากาศหนาว ทำให้ประชวรพระอุทรเสียและพระปัปผาสะอักเสบ"[26][27]

พระโอรสและธิดา

[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป มีหม่อม 7 คน ได้แก่

  • หม่อมเอี่ยม ชยางกูร ณ อยุธยา
  • หม่อมบัว ชยางกูร ณ อยุธยา
  • หม่อมพร้อม ชยางกูร ณ อยุธยา
  • หม่อมละม้าย ชยางกูร ณ อยุธยา
  • หม่อมถม ชยางกูร ณ อยุธยา
  • หม่อมศรี ชยางกูร ณ อยุธยา (สกุลเดิม บุญยมาลิก)
  • หม่อมแหวนศุลี ชยางกูร ณ อยุธยา (สกุลเดิม บุญยมาลิก)

มีพระโอรส 15 องค์ และมีพระธิดา 8 องค์ รวม 23 องค์ ได้แก่

ลำดับ พระรูปและพระนาม เพศ พระมารดา ประสูติ สิ้นชีพิตักษัย เสกสมรส/คู่สมรส
1
หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร[28] ป.ช. ป.ม. ท.จ.ว. (องคมนตรี)
ช. หม่อมเอี่ยม ชยางกูร ณ อยุธยา 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2424[29] 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 หม่อมเจ้าผุดผ่องพรรณ ชยางกูร
หม่อมเนื่อง
หม่อมเชื้อ
2
หม่อมเจ้าวิเศษศักดิ์ ชยางกูร
ช. หม่อมเอี่ยม ชยางกูร ณ อยุธยา 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2430[29] 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 หม่อมเจ้าเฉลียววรรณมาลา
หม่อมศิลา
3
หม่อมเจ้าพักตร์พิสุทธิ์ ชยางกูร
ญ. หม่อมบัว ชยางกูร ณ อยุธยา 26 มกราคม พ.ศ. 2435[29] 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508
4
หม่อมเจ้าผุดผ่องพรรณ ชยางกูร
ญ. หม่อมพร้อม ชยางกูร ณ อยุธยา 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436[29] พ.ศ. 2508 หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร
5
หม่อมเจ้าฉันทวิเชียร ชยางกูร
ญ. หม่อมพร้อม ชยางกูร ณ อยุธยา พ.ศ. 2437 พ.ศ. 2464
6
หม่อมเจ้าลักษณ์เลิศ ชยางกูร
ช. หม่อมละม้าย ชยางกูร ณ อยุธยา 6 ธันวาคม พ.ศ. 2439[29] 1 เมษายน พ.ศ. 2518 หม่อมน้อมสิริ
7
พิศเพี้ยนแขไข หรือพิศเพียงแขไข วณิกสัมบัน
ญ. หม่อมพร้อม ชยางกูร ณ อยุธยา 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2440[29] พ.ศ. 2523 เพิ่ม วณิกสัมบัน
8
หม่อมเจ้าประเสริฐศรี ชยางกูร ม.ว.ม., ป.ช., ท.จ.ว.
ช. หม่อมละม้าย ชยางกูร ณ อยุธยา 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443[29] 21 ตุลาคม พ.ศ. 2534 หม่อมเจริญศรี
9
หม่อมเจ้าทวีผล ชยางกูร
ช. หม่อมละม้าย ชยางกูร ณ อยุธยา 10 ธันวาคม พ.ศ. 2444[29] 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 หม่อมฉอ้อน
10
หม่อมเจ้า
ช. ไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อมูล 11 มิถุนายน พ.ศ. 2446
11
หม่อมเจ้ามงคลอุดม ชยางกูร
ช. หม่อมละม้าย ชยางกูร ณ อยุธยา 4 ตุลาคม พ.ศ. 2446[29] 2 กันยายน พ.ศ. 2518 หม่อมเจ้าอุบลเกษร
หม่อมลมูล
12
ประไพพงศ์ ศิริเวทิน
ญ. หม่อมถม ชยางกูร ณ อยุธยา 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2450[29] 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ขุนสมบูรณ์ยุทธศิลป์ (สมบูรณ์ ศิริเวทิน)[30]
13
หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร
ช. หม่อมถม ชยางกูร ณ อยุธยา 19 เมษายน พ.ศ. 2452[29] 19 สิงหาคม พ.ศ. 2530 หม่อมแมรี
หม่อมละไม
14
หม่อมเจ้าทิพย์ลักษณ์สุดา ชยางกูร
ญ. หม่อมถม ชยางกูร ณ อยุธยา 10 เมษายน พ.ศ. 2454[29] 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ขุนประทนคดี
15
หม่อมเจ้าโสภาเพียงจันทร์ จันทรทัต
ญ. หม่อมถม ชยางกูร ณ อยุธยา 21 สิงหาคม พ.ศ. 2455[29] 20 กันยายน พ.ศ. 2524 หม่อมเจ้าอุรคินทร์ จันทรทัต
16
หม่อมเจ้าสรรพไชยา ชยางกูร
ช. หม่อมถม ชยางกูร ณ อยุธยา 20 มีนาคม พ.ศ. 2458[29] 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2469
17
หม่อมเจ้าจุฬาชัย ชยางกูร
ช. หม่อมศรี ชยางกูร ณ อยุธยา 27 มกราคม พ.ศ. 2463[29] 5 ธันวาคม พ.ศ. 2534 หม่อมเสงี่ยม
หม่อมปลิว
18
หม่อมเจ้าฤทัยเที่ยง ชยางกูร
ช. หม่อมศรี ชยางกูร ณ อยุธยา 22 มกราคม พ.ศ. 2465[29] 1 ตุลาคม พ.ศ. 2508 หม่อมรจิต
19
หม่อมเจ้าเวียงวัฒนา ชยางกูร
ช. หม่อมแหวนศุลี ชยางกูร ณ อยุธยา 30 เมษายน พ.ศ. 2467[29] 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564 หม่อมชมชื่น
20
หม่อมเจ้าวราชัย ชยางกูร
ช. หม่อมศรี ชยางกูร ณ อยุธยา 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 23 เมษายน พ.ศ. 2558 หม่อมอนันตรา
21
หม่อมเจ้าอุทัยเที่ยง ชยางกูร
ญ. หม่อมแหวนศุลี ชยางกูร ณ อยุธยา 1 มิถุนายน พ.ศ. 2473 5 มกราคม พ.ศ. 2568
22
หม่อมเจ้าจรูญฤทธิเดช ชยางกูร
ช. หม่อมแหวนศุลี ชยางกูร ณ อยุธยา 10 มกราคม พ.ศ. 2476 ยังมีชนม์ชีพ หม่อมจรุงใจ
23
หม่อมเจ้า
ช. ไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อมูล

สถานที่และสิ่งสืบเนื่องด้วยพระนาม

[แก้]

พระเกียรติยศ

[แก้]

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต (27 สิงหาคม พ.ศ. 2404 – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411)
  • พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต (1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441)
  • พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 – 28 มกราคม พ.ศ. 2479)
ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมดจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2446 จากคดีปลอมแปลงธนบัตรสยามร่วมกับเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์​ (เพ่ง บุนนาค) และชาวญี่ปุ่น[36]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความกระทรวงพระธรรมการ แผนกพิพิธภัณท์
  2. "ประกาศกรมราชเลขานุการ เรื่อง พระราชทานนามสกุล สำหรับสืบเชื้อพระวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 32 (0 ง): 137. 18 เมษายน พ.ศ. 2458. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2561. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  3. ราชกิจจานุเบกษา,การประชุมองคมนตรี
  4. ราชสกุลวงศ์, หน้า 69
  5. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์. 2554, หน้า 297
  6. 6.0 6.1 "ข้อมูลโดยสังเขปหม่อมราชวงศ์ศุภดิศ ดิศกุล - สายสกุลของท้าวมังสี (ขำ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-03. สืบค้นเมื่อ 2020-03-21.
  7. "ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-06. สืบค้นเมื่อ 2021-06-06.
  8. ประกาศแต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต
  9. ราชกิจจานุเบกษา,ข่าวตั้งรองอธิบดีหอรัษฎากรพิพัฒนแลผู้จัดการมิเวซียม เล่ม 4
  10. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศกรมศึกษาธิการ เล่ม 6 หน้า 333
  11. ราชกิจจานุเบกษา,ตำแหน่งข้าราชการกระทรวงธรรมการ เล่ม 9 หน้า 96-97
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวตั้งปริวีเคาน์ซิลเลอร์, เล่ม 4, หน้า 45
  13. ราชกิจจานุเบกษา, สัญญาบัตรปริวีเคาน์ซิลเลอร์, เล่ม 4, หน้า 47-48
  14. ราชกิจจานุเบกษา,มรรคนายกสำหรับวัด เล่ม 19 หน้า 208-209 23 มิถุนายน 2445
  15. ดำรงตำแหน่งเป็นสภานายก[ลิงก์เสีย]
  16. ประกาศแต่งตั้งเลขาธิการ สารานิยกร
  17. ประกาศแต่งตั้งผู้ช่วยเหรัญญิก
  18. ประกาศแต่งตั้งปฏิคม
  19. เดือน ๔ จุลศักราช ๑๒๕๓ วชิรญาณ.
  20. "พระบรมราชโองการ ประกาศ ในการพระราชทาน พระสุพรรณบัตร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 15 (33): 341–342. 13 พฤศจิกายน ร.ศ. 117. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2561. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  21. ราชกิจจานุเบกษา ,พระราชทานเครื่องยศ เล่ม 15 หน้า 343
  22. "พระบรมราชโองการ ประกาศ คำนำพระนามพระบรมวงษานุวงษ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 15 (27): 1. 30 ตุลาคม ร.ศ. 129. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2561. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  23. จิรวัฒน์ แสงทอง. “คดีกรมหมื่นพงษาดิศรมหิปและนายเพ่ง (ศรีสรรักษ์) ปลอมธนบัตร: ภาพสะท้อนประวัติศาสตร์สังคมเมืองกรุงเทพฯ ทศวรรษ 2440.” รัฐศาสตร์สาร 25, 4 (2547): 131-163.
  24. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3197 2 กุมภาพันธ์ 2478
  25. ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ 15/2479 พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส พุทธศักราช 2479 เล่ม 53, ตอน 0 ง, 17 มกราคม พ.ศ. 2479, หน้า 2640
  26. กรมศิลปากร (ผู้รวบรวม). (2495). สาสน์สมเด็จ ลายพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ภาค 8 และภาค 9). พระนคร: โรงพิมพ์กรุงศิลป์. (พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพคุณหญิงเหลียน นครไภยพิเฉท ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495). หน้า 46.
  27. วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น วชิรญาณ.
  28. ป.ช. ป.ม. ท.จ.ว. (องคมนตรี)
  29. 29.00 29.01 29.02 29.03 29.04 29.05 29.06 29.07 29.08 29.09 29.10 29.11 29.12 29.13 29.14 29.15 29.16 นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ, 2404-2474, ผู้รวบรวม. บาญชีมหามกุฏราชสันตติวงศ์ พุทธศก 2468 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงรวบรวม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2468. 167 หน้า.
  30. ขุนสมบูรณ์ยุทธศิลป์ (สมบูรณ์ ศิริเวทิน)
  31. คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต
  32. ตลาดน้ำคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต
  33. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เล่ม ๑๕ หน้า ๓๔๓
  34. พระราชพิธีฉัตรมงคล ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔ หน้า ๒๘๕
  35. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
  36. คดีปลอมแปลงธนบัตรสยาม
  37. ข้อมูลโดยสังเขปหม่อมราชวงศ์ศุภดิศ ดิศกุล - ราชสกุลสายพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ)
  38. ประวัติพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ) บิดาของเจ้าจอมมารดาถึง 2 รัชกาล. จากเว็บไซต์เรือนไทย. สืบค้นเมื่อ 15-03-57.
  39. ธงทอง จันทรางศุ. ในกำแพงแก้ว. กรุงเทพฯ : เอส.ซี.พริ้นท์แอนด์แพค, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2550, หน้า 113
บรรณานุกรม
  • สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554. 296 หน้า. หน้า 69. ISBN 978-974-417-594-6
  • Jeffy Finestone. 2542. สมุดพระรูป พระราชโอรส พระราชธิดา พระราชนัดดาใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ปรียนันทนา รังสิต,ม.ร.ว. โลมาโฮลดิ้ง

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป ถัดไป
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี
(24 – 28 มกราคม พ.ศ. 2479)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ