ข้ามไปเนื้อหา

ประวัติศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประวัติศาสตร์ (อังกฤษ: history; รากศัพท์ภาษากรีก ἱστορία หมายถึง "การสอบถามหาความรู้ที่ได้มาโดยการสอบสวน") เป็นการค้นพบ ค้นหา รวบรวม จัดระเบียบและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตประวัติศาสตร์ยังอาจจะหมายถึงช่วงเวลาหลังมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้น นักวิชาการผู้เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เรียกนักประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์เป็นสาขาการวิจัยซึ่งใช้การบรรยายเพื่อพิจารณาและวิเคราะห์ลำดับของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น[1][2] และบางครั้งพยายามสอบสวนรูปแบบของเหตุและผลซึ่งมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์อย่างยุติธรรม นักประวัติศาสตร์ถกเถียงกันเรื่องธรรมชาติของประวัติศาสตร์และประโยชน์ของมัน ซึ่งรวมทั้งถกเถียงการศึกษาสาขาวิชาเป็นจุดจบในตัวมันเองและเป็นเสมือนวิถีการให้ "มุมมอง" ต่อปัญหาในปัจจุบัน[1][3][4][5] เรื่องเล่าซึ่งเป็นสิ่งธรรมดาในวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง แต่ไม่มีการสนับสนุนจากแหล่งข้อมูลภายนอก (เช่น ตำนานเกี่ยวกับกษัตริย์อาเธอร์) มักจัดเป็นวัฒนธรรมมากกว่า "การสอบสวนอย่างไม่นำพา" ที่จำเป็นตามสาขาประวัติศาสตร์[6][7] เหตุการณ์ในอดีตก่อนมีบันทึกลายลักษณ์อักษรเรียกว่า ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ในบรรดานักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล เฮโรโดตัส ถูกพิจารณาว่าเป็น "บิดาแห่งประวัติศาสตร์" เขาร่วมกับธูซิดดิดีส นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ก่อตั้งรากฐานของการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ อิทธิพลของพวกเขา ร่วมกับแบบแผนทางประวัติศาสตร์อื่นในส่วนอื่นของโลก ได้ก่อให้เกิดการตีความธรรมชาติของประวัติศาสตร์ไปต่าง ๆ นานา ซึ่งได้วิวัฒนามาเป็นเวลาหลายศตวรรษและยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในปัจจุบัน การศึกษาประวัติศาสตร์สมัยใหม่มีหลายสาขา รวมทั้งสาขาที่มุ่งศึกษาภูมิภาคหนึ่งโดยเฉพาะ และสาขาที่มุ่งศึกษาองค์ประกอบเฉพาะหัวข้อหรือใจความของการสอบสวนประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์มักสอนเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาขั้นประถมและมัธยม และการศึกษาวิชาการประวัติศาสตร์เป็นสาขาหลักในระดับอุดมศึกษา

การบัญญัติศัพท์

[แก้]

คำว่า "ประวัติศาสตร์" ในภาษาไทยเกิดจากการสมาสคำภาษาบาลี "ประวัติ" (ปวตฺติ) ซึ่งหมายถึง เรื่องราวความเป็นไป และคำภาษาสันสกฤต "ศาสตร์" (ศาสฺตฺร) ซึ่งแปลว่า ความรู้

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บัญญัติคำว่า "ประวัติศาสตร์" เพื่อเทียบเคียงกับคำว่า "history" และเพื่อให้มีความหมายครอบคลุมมากกว่าคำว่า "พงศาวดาร" (chronicle) ที่ใช้กันมาแต่เดิม[8]

สำหรับคำว่า history มีที่มาจากคำว่า historia ในภาษากรีก ซึ่งมีความหมายว่าการไต่สวนหรือค้นคว้า

ความหมาย

[แก้]

"ประวัติศาสตร์" เป็นคำที่มีความหมายหลากหลาย แต่ความหมายที่สำคัญที่ใช้โดยทั่วไป คือ[9]

  1. เหตุการณ์ในอดีตทั้งหมดของมนุษย์ หรืออดีตทั้งหมดของมนุษย์ตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้นมาในโลกจนถึงวินาทีที่พึ่งผ่านมา
  2. หมายถึงเรื่องราวของบางเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตที่เรารู้หรือเข้าใจ นั่นคือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์สร้างขึ้นมาเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านพ้นไป
  3. เป็นวิชาหรือศาสตร์ในการศึกษาเรื่องราวของสังคมมนุษย์ในอดีตที่ประกอบด้วยแนวคิดหรือปรัชญาประวัติศาสตร์ (Philosophy of History) และวิธีวิจัยประวัติศาสตร์ (Historical Method)

นักปรัชญาประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงให้คำอธิบายถึงคำว่า "ประวัติศาสตร์" ไว้ เช่น

อาร์. จี. คอลลิงวูด (R. G. Collingwood) อธิบายว่าประวัติศาสตร์คือวิธีการวิจัยหรือการไต่สวน โดยมีจุดมุ่งหมายจะศึกษาเกี่ยวกับพฤติการณ์ของมนุษยชาติที่เกิดขึ้นในอดีต

อี. เอช. คาร์ (E. H. Carr) อธิบายว่าประวัติศาสตร์นั้นก็คือกระบวนการอันต่อเนื่องของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักประวัติศาสตร์กับข้อมูลของเขา ประวัติศาสตร์คือบทสนทนาอันไม่มีที่สิ้นสุดระหว่างปัจจุบันกับอดีต[10] (a continuous process of interaction between the present and the past.)

ส่วน ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์ อธิบายคำว่าประวัติศาสตร์ดังนี้ "การเข้าใจอดีตนั้นคือประวัติศาสตร์ เข้าใจคือการกล้าเผชิญหน้าโดยไม่ปิดบัง อย่าเป็นทาสความรู้ ... เราต้องเข้าใจว่าความรู้เกี่ยวกับอดีตนั้นสร้างใหม่ได้เรื่อย ๆ เพราะทัศนะมุมมองของสมัยที่เขียนประวัติศาสตร์นั้นเปลี่ยนอยู่เสมอ ..."[11]

วิธีการทางประวัติศาสตร์ หมายถึง กระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อให้ได้ความรู้และคำตอบที่เชื่อว่าสะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอดีตได้ถูกต้องมากที่สุด ซึ่งไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าข้อเท็จจริงที่ถูกต้องคืออะไร ดังนั้น จึงต้องมีกระบวนการศึกษา และการใช้เหตุผลในการตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานและนำไปใช้อย่างถูกต้อง ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์เป็นศาสตร์ที่สะท้อนข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากนิทาน นิยาย หรือเรื่องบอกเล่าที่เลื่อนลอย

นิตเช นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้ตีความว่าข้อเท็จจริงคือคำอธิบายที่เกิดจากการตีความของเราเอง

ปัญหาเชิงปรัชญาประการหนึ่งเกี่ยวกับการแสวงหาคำตอบหรือคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16-17 คือ การหาความจริงทางประวัติศาสตร์เป็นการหาความจริงแบบไหน? และสามารถพิสูจน์/เปรียบเทียบกับการหาความจริงทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร? ทั้งนี้ เพราะเชื่อกันว่าการหาความรู้/ความจริงแบบวิทยาศาสตร์เป็นการหาความรู้/ความจริงที่ถูกต้อง มาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำถามที่ถกเถียงกันมากก็คือ ประวัติศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์หรือศิลปะ? และนักประวัติศาสตร์หลายคนพยายามเสนอ (defense) โดยทำให้ประวัติศาสตร์มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ มีการนำวิธีการ "วิพากษ์" หลักฐานทางประวัติศาสตร์มาใช้ นักประวัติศาสตร์ในยุคนั้นพยายามทำให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 200 ถึงปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเห็นว่าความเป็น "วัตถุวิสัย" ของประวัติศาสตร์ลดลง เช่นเดียวกันกับที่ยอมรับว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ความรู้ที่สมบูรณ์[12]

การศึกษาประวัติศาสตร์เริ่มจากการตั้งคำถามพื้นฐานหลัก 5 คำถาม คือ "เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในอดีต" (What), "เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่" (When), "เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นที่ไหน" (Where), "ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น" (Why), และ "เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร" (How) วิธีการทางประวัติศาสตร์ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่

  • การตั้งเรื่องที่ต้องการสืบค้น
  • การรวบรวมหลักฐาน
  • การวิเคราะห์ ตีความ ประเมินหลักฐาน
  • การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของหลักฐาน
  • การนำเสนอข้อเท็จจริง[13]

นอกจากนี้ รอบิน จี. คอลลิงวูด (R. G. Collingwood) นักปรัชญาประวัติศาสตร์คนสำคัญชาวอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผู้เป็นเจ้าของผลงานเรื่อง Idea of History ให้ความเห็นเกี่ยวกับวิธิการศึกษาประวัติศาสตร์ ดังนี้

  • วิธีการศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างจากการศึกษาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
  • นักประวัติศาสตร์ต้องระมัดระวังในการยืนยันความถูกต้องของหลักฐาน
  • การนำเสนอในลักษณะ "ตัด-แปะประวัติศาสตร์" ไม่ถูกต้องและเป็นวิธีการที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ควรนำเสนอโดยการประมวลความคิดให้เป็นข้อสรุป
  • วิธีการทางประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นแบบวิทยาศาสตร์คือการตั้งคำถาม
เบเนเดทโต โครเช่ (Benedetto Croce) นักปราชญ์ชาวอิตาลีต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผู้กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ทั้งหมดคือประวัติศาสตร์ร่วมสมัย[14]

ประโยชน์ของการศึกษาประวัติศาสตร์จะช่วยให้มนุษย์เกิดสำนึกในการค้นคว้าและสืบค้นข้อมูลที่เชื่อมโยงอดีตและปัจจุบัน อันสร้างความภูมิใจและกระตุ้นความรู้สึกนิยมในชาติหรือเผ่าพันธุ์ ตลอดจนตระหนักถึงคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษสั่งสมไว้, ประวัติศาสตร์ช่วยให้เกิดการเรียนรู้จากอดีตเพื่อเป็นบทเรียนสำหรับปัจจุบัน องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาประวัติศาสตร์จะทำให้เข้าใจถึงปัญหา สาเหตุของปัญหา และผลกระทบจากปัญหา, การศึกษาประวัติศาสตร์ก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินนโยบายให้เป็นประโยชน์ต่อทั้งปัจจุบันและอนาคต, วิธีการทางประวัติศาสตร์ทำให้ผู้ศึกษาสั่งสมประสบการณ์และทักษะในการวิเคราะห์ ไต่สวน และแก้ปัญหา ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการศึกษาศาสตร์แขนงอื่น ๆ คุณสมบัตินี้นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาคุณภาพประชากรในสังคมที่เจริญก้าวหน้าและมีพัฒนาการสูง

สำหรับผู้ศึกษาประวัติศาสตร์นั้นจะต้องมีคุณสมบัติต่าง ๆ ประกอบด้วย

  • มีความเป็นกลาง (Objectiveness or Objectivity)
  • มีความคิดที่เป็นประวัติศาสตร์ (Historical thinking)
  • มีความถูกต้องแม่นยำ (Accuracy)
  • มีความเป็นระเบียบในการจัดเก็บและบันทึกข้อมูล (Love of order)
  • มีลำดับการทำงานที่เป็นตรรกะ (Logic)
  • มีความซื่อสัตย์ในการแสวงหาข้อเท็จจริง (Honesty)
  • มีความระมัดระวังในการใช้หลักฐาน (Self-awareness)
  • มีจินตนาการ (Historical imagination) [15]

ประวัติศาสตร์นิพนธ์

[แก้]

ความหมายของคำว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์สามารถพูดถึงได้ในหลายแง่มุม ในความหมายแรก ประวัติศาสตร์นิพนธ์สามารถสื่อถึงการสร้างประวัติศาสตร์ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร โดยกล่าวถึงเรื่องราวของการพัฒนาวิธีการและการปฏิบัติในวงการศึกษาประวัติศาสตร์ (เช่น การเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์จากการเล่าชีวประวัติซึ่งเป็นประวัติระยะสั้นให้เป็นการวิเคราะห์แก่นสาระประวัติศาสตร์ในภาพรวม) ในความหมายที่สอง ประวัติศาสตร์นิพนธ์สามารถสื่อถึงสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ได้ผลิตอะไรบ้าง ซึ่งพูดถึงการเขียนประวัติศาสตร์ในสิ่งนั้น ๆ (เช่น ประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับยุคกลางในช่วงทศวรรษ 1960 หมายถึงงานทางด้านประวัติศาสตร์ที่เขียนเรื่องยุคกลางในช่วงทศวรรษ 1960) หรือในความหมายที่สาม ประวัติศาสตร์นิพนธ์สามารถสื่อถึงสาเหตุของการเกิดประวัติศาสตร์ซึ่งกล่าวถึงปรัชญาประวัติศาสตร์ โดยเชื่อมโยงไปยังการวิเคราะห์ระดับอภิมานเกี่ยวกับอดีตที่เกี่ยวพันกับสองความหมายแรกของประวัติศาสตร์นิพนธ์อย่างการเล่าเรื่อง การตีความ โลกทัศน์ การใช้หลักฐาน หรือวิธีการในการนำเสนอต่อนักประวัติศาสตร์ผู้อื่น ซึ่งประเด็นหลักที่นักประวัติศาสตร์เชี่ยวชาญหลายท่านได้โต้เถียง คือ เรื่องการสอนประวัติศาสตร์ในฐานะระหว่างเรื่องราวที่ปะติดปะต่อเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องราวหลายเรื่องที่พยายามช่วงชิงพื้นที่ทางสังคม[16][17]

วิธีการทางประวัติศาสตร์

[แก้]

วิธีการทางประวัติศาสตร์ประกอบด้วยเทคนิคและแบบแผนที่นักประวัติศาสตร์ใช้หลักฐานชั้นปฐมภูมิและหลักฐานอื่นในการวิจัยและเขียนประวัติศาสตร์ขึ้น

เฮอรอโดทัสแห่งฮาลิคาร์นัสเซิส (484 ปีก่อน ค.ศ.–ประมาณ 425 ปีก่อน ค.ศ.)[18] ได้ถูกยกย่องโดยทั่วกันว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยู่ร่วมสมัยกับเขาอย่าง ทิวซิดิดีส (ประมาณ 460 ปีก่อน ค.ศ.–ประมาณ 400 ปีก่อน ค.ศ.) ได้ถูกให้ชื่อว่าเป็นผู้ที่เข้าถึงประวัติศาสตร์ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่พัฒนาได้ดีในผลงานของเขาที่ชื่อ the History of the Peloponnesian War ซึ่งทิวซิดิดีสไม่เหมือนกับเฮอรอโดทัสที่มองว่าประวัติศาสตร์เป็นผลิตผลของทางเลือกและการกระทำของมนุษย์ทั้งหลาย และมองไปที่เหตุและผล มากกว่าที่จะมองว่าเป็นผลลัพธ์จากการแทรกแซงของเทพเจ้า (แม้ว่าเฮอรอโดทัสจะไม่ได้ริเริ่มแนวคิดนี้เองทั้งหมดก็ตาม)[18] สำหรับวิธีการทางประวัติศาสตร์ของเขา ทิวซิดิดีสได้เน้นถึงลำดับเหตุการณ์ที่มีจุดยืนที่ความเป็นกลางในนามและมองว่าโลกมนุษย์เป็นผลลัพธ์จากการกระทำของมนุษย์ นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกหลายท่านก็มองว่าประวัติศาสตร์มีความเป็นวัฏจักรด้วยเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นวนเวียนเป็นปกติ[19]

ธรรมเนียมทางประวัติศาสตร์และการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนมีเกิดขึ้นในสมัยจีนยุคโบราณและยุคกลาง รากฐานของประวัติศาสตร์นิพนธ์ชำนาญในเอเชียตะวันออกได้สถาปนาขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์ราชสำนักในสมัยราชวงศ์ฮั่นที่เป็นรู้จักในนาม ซือหม่า เชียน (145–90 ปีก่อน ค.ศ.) ผู้เขียนบันทึกประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ (สื่อจี้) ซึ่งด้วยคุณภาพการเขียนของเขา ซือหม่า เชียน เป็นที่รู้จักหลังจากที่เขาตายไปแล้วว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์นิพนธ์จีน นักประวัติศาสตร์จีนหลายท่านในยุคราชวงศ์ต่อ ๆ มาได้ใช้สื่อจี้เป็นรูปแบบทางการของตำราประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกันงานเขียนเชิงชีวประวัติ[ต้องการอ้างอิง]

นักบุญออกัสตินมีอิทธิพลในความคิดของคริสตจักรและตะวันตก ณ ตอนแรกเริ่มของยุคกลาง โดยในยุคกลางและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการนั้น ประวัติศาสตร์ได้ถูกศึกษาผ่านมุมมองของความศักดิ์สิทธิ์หรือศาสนา แต่ราวช่วง ค.ศ. 1800 นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน เกออร์ค วิลเฮ็ลม์ ฟรีดริช เฮเกิลได้นำแนวคิดปรัชญาและการเข้าถึงที่มีความเป็นฆราวาสมากขึ้นในการศึกษาประวัติศาสตร์[20]

ในบทนำของหนังสือ Muqaddimah (ค.ศ. 1377) นักประวัติศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ยุคแรกเริ่มชาวอาหรับ อิบน์ ค็อลดูน ได้เตือนถึงข้อผิดพลาด 7 จุดที่เขาคิดว่านักประวัติศาสตร์มักชอบทำ ในการวิจารณ์นี้ เขาได้เข้าถึงอดีตในฐานะความประหลาดและต้องการการตีความ โดยต้นฉบับของอิบน์ ค็อลดูนได้อ้างว่าความแตกต่างทางวัฒนธรรมในต่างยุคสมัยต้องอยู่ในการประเมินจากวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแยกหลักการว่าหลักการใดเป็นไปได้ในการประเมิน และสุดท้าย เพื่อรู้สึกถึงความต้องการในประสบการณ์ในการเข้าถึงอดีตอย่างมีตรรกะมากขึ้น ซึ่งอิบน์ ค็อลดูน ได้วิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้งกับความงมงายที่นิ่งเฉยและการยอมรับข้อมูลทางประวัติศาสตร์โดยไม่พินิจพิเคราะห์ จึงทำให้เกิดผลลัพธ์ คือ เขาได้เสนอวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ และได้กล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งว่าสิ่งนี้คือ วิทยาศาสตร์แบบใหม่[21] โดยวิธีการทางประวัติศาสตร์ของเขาได้วางรากฐานให้กับการศึกษาบทบาทของรัฐ การสื่อสาร โฆษณาชวนเชื่อ และอคติเชิงระบบในทางประวัติศาสตร์ จากทั้งหมดนี้ ทำให้เขาได้รับสมญานามว่า บิดาแห่งประวัติศาสตร์นิพนธ์[22][23] หรือ บิดาแห่งปรัชญาประวัติศาสตร์[24]

ในทางฝั่งโลกตะวันตก นักประวัติศาสตร์ได้พัฒนาวิธีการประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบสมัยใหม่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งใน ค.ศ. 1851 เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ได้สรุปวิธีการเหล่านั้นได้ดังนี้

จากชั้นของสิ่งสั่งสมในประวัติศาสตร์ของพวกเราที่ต่อเนื่องขึ้นมา พวกเขา [นักประวัติศาสตร์] ได้นำชิ้นส่วนที่มีสีอย่างขยันขันแข็ง ได้รีบคว้าสรรพสิ่งที่น่าค้นหาและเริงร่า และหัวร่อเหมือนดั่งเด็กน้อยที่อยู่กับสิ่งของอันแวววาวที่ได้มา ในขณะที่สายโลหิตแห่งภูมิปัญญาที่แตกแขนงสายธารท่ามกลางเศษซากอันไร้ค่าที่ถูกมองข้ามอย่างสมบูรณ์ เศษขยะชิ้นมโหฬารนั้นได้สั่งสมอย่างบ้าคลั่งซึ่งแท้จริงแล้วเป็นแร่อันล้ำค่า ควรค่าแก่การขุดออกมาและจากความจริงทองคำนี้ มันอาจจะถูกเอาออกมาแล้วก็ได้ แต่เพียงยังมิได้ศึกษาและมิได้ค้นคว้ามัน[25]

โดยคำว่า แร่อันล้ำค่า สเปนเซอร์ได้หมายถึงทฤษฎีเชิงวิทยาศาสตร์ของประวัติศาสตร์ ในขณะที่ เฮนรี โธมัส บักเกิล ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับความฝันของประวัติศาสตร์ว่าวันหนึ่งจะเป็นวิทยาศาสตร์ว่า

สืบเนื่องจากธรรมชาติ เหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่ปรากฏขึ้นอย่างผิดปกติและไม่แน่ไม่นอนได้ถูกอธิบายและได้ถูกแสดงให้เห็นว่ามีความเกี่ยวพันกับกฎที่ตายตัวและเป็นสากล สิ่งนี้ได้ถูกเกิดขึ้นแล้วเนื่องจากผู้คนที่กระทำและเหนือสิ่งใดทั้งปวง คือ ผู้คนที่ถูกกระทำ ความคิดที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยย่อท้อเหล่านั้นได้ศึกษาเหตุการณ์ด้วยมุมมองของการค้นคว้าความปกติของสิ่งเหล่านั้น และถ้าเหตุการณ์ของมนุษย์ถูกกระทำในลักษณะเดียวกันนี้แล้ว เราจะมีความสามารถในการคาดหวังผลที่คล้ายทำนองเดิม[26]

ในทางตรงข้ามกับความฝันของบักเกิล นักประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 19 ที่มีอิทธิพลในวิธีการมากที่สุดคนหนึ่งอย่างเลโอโพลด์ ฟอน รังเคอในเยอรมนี เขาได้จำกัดคำว่า ประวัติศาสตร์ ถึงอะไรที่เกิดขึ้นมาแล้วโดยแท้จริง และด้วยสิ่งนี้เองทำให้สาขาวิชาเริ่มมีห่างไกลจากวิทยาศาสตร์ สำหรับรังเคอเอง ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ควรถูกเก็บอย่างระมัดระวัง ตรวจสอบอย่างปราศจากอคติ และนำมารวมกันด้วยอย่างเข้มงวดยวดยิ่ง แต่กระบวนการเหล่านี้เป็นแค่สิ่งที่จำเป็นและสารตั้งต้นของวิทยาศาสตร์ หัวใจของวิทยาศาสตร์ คือ การค้นคว้าระเบียบและความปกติในข้อมูลที่ถูกตรวจสอบและสร้างความเป็นสากลหรือกฎที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นขึ้น[27]

สำหรับนักประวัติศาสตร์อย่าง รังเคอ และผู้คนอีกหลากหลายที่นำความคิดของเขา ไม่ ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ฉนั้นถ้าหากนักประวัติศาสตร์ได้บอกว่า จากที่เขาได้ทำให้เกิดสิ่งหนึ่ง มันไม่สามารถถูกพิจารณาให้เป็นวิทยาศาสตร์ได้ เราต้องยึดถือเขาตามที่เขาบอกไว้ แม้ว่าเขาจะบอกว่าเขายึดหลักวิทยาศาสตร์หรือไม่ สุดท้ายเขาก็ไม่ได้ยึดหลักวิทยาศาสตร์อยู่ดี นักประวัติศาสตร์แบบจารีตจึงไม่ใช่ทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ ดั่งที่กระทำกันมาเป็นธรรมเนียม จึงไม่ใช่วิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น[28]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักประวัติศาสตร์ในวงการวิชาการได้ลดความสนใจในเรื่องราวชาตินิยมอันยิ่งใหญ่ที่มักจะสรรเสริญชาติหรือมหาบุรุษ เปลี่ยนไปสนใจยังการวิเคราะห์ที่ซับซ้อนและปราศจากอคติมากขึ้นในเรื่องแรงขับเคลื่อนทางสังคมและภูมิปัญญา กระแสหลักในวิธีการทางประวัติศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 20 มีแนวโน้มที่จะจัดประวัติศาสตร์เปลี่ยนให้ไปอยู่กับสังคมศาสตร์มากกว่าจะเป็นศิลปศาสตร์ ซึ่งแต่เดิมแล้วเคยเป็นอย่างนั้นมาก่อน โดยผู้สนับสนุนหลักให้ประวัติศาสตร์ในฐานะของสังคมศาสตร์เป็นนักวิชาการที่มาจากหลากหลายแขนงซึ่งประกอบด้วย แฟร์น็อง โบรเดล, อี เอช คารร์, ฟรีทซ ฟิชเชอร์, เอมมานูเอล เลอ รอย ลาดูรี, ฮันส์-อุลริช เวเลอร์, บรูซ ทริกเกอร์, มาร์ก บล็อก, คาร์ล ดรีทริช บราเคอร์, ปีเตอร์ เกย์, โรเบิร์ต โฟเกล, ลูเซียง แฟบวร์, และลอเรนซ์ สโตน ผู้สนับสนุนที่มองให้ประวัติศาสตร์เป็นสังคมศาสตร์ได้ถูกกล่าวถึงในเรื่องการเข้าถึงแบบสหวิทยาการอย่าง โบรเดลได้นำประวัติศาสตร์มาควบรวมกับภูมิศาสตร์ บราเคอร์กับประวัติศาสตร์ด้วยรัฐศาสตร์ โฟเกลกับประวัติศาสตร์ด้วยเศรษฐศาสตร์ เกย์กับประวัติศาสตร์ด้วยจิตวิทยา ทริกเกอร์กับประวัติศาสตร์ด้วยมานุษยวิทยา ขณะที่เวเลอร์, บล็อก, ฟิชเชอร์, สโตน, แฟบวร์, และ เลอ รอย ลาดูรี มีการควบรวมที่แตกต่างและหลากหลายระหว่างประวัติศาสตร์ด้วยทั้งสังคมวิทยา ภูมิศาสตร์ มานุษยวิทยา และเศรษฐศาสตร์ แม้กระนั้น การเข้าถึงแบบสหวิทยาการเหล่านี้ก็ยังล้มเหลวที่จะสร้างทฤษฎีของประวัติศาสตร์ ซึ่งยังห่างไกลจากทฤษฎีประวัติศาสตร์หนึ่งเดียวที่มาจากปากกาของนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ[29] อย่างไรก็ตามที ทฤษฎีอื่นของประวัติศาสตร์ที่พวกเรามีถูกเขียนโดยผู้เชี่ยวชาญจากสาขาอื่น (ยกตัวอย่างเช่น ทฤษฎีประวัติศาสตร์ของมาร์กซ) ในช่วงระยะหลังนี้ สาขาประวัติศาสตร์ดิจิตอลได้เริ่มต้นระบุวิธีทางที่จะใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการแสดงคำถามใหม่ต่อข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์และสร้างการศึกษาเชิงวิชาการเกี่ยวกับดิจิตอล

ในทางตรงกันข้ามกับการบอกว่าประวัติศาสตร์เป็นสังคมศาสตร์ นักประวัติศาสตร์อย่างฮิวจ์ เทรเวอร์-โรเปอร์, จอห์น ลูคักส์, โดนัลด์ เครตัน, เกิร์ทรูด ฮิมเมลฟาร์บ, และเจอร์ราด ริทเตอร์ ได้โต้เถียงว่าจุดสำคัญในงานของนักประวัติศาสตร์ คือ พลังของการจินตนาการ และดังนั้นจึงคัดค้านว่าประวัติศาสตร์ควรถูกเข้าใจว่าเป็นศิลปะ นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในสำนักแอแน็ลได้เสนอประวัติศาสตร์เชิงปริมาณ โดยใช้ข้อมูลดิบในการติดตามชีวิตของปัจเจกตัวอย่าง และเป็นสิ่งสำคัญในการสถาปนาประวัติศาสตร์วัฒนธรรม (cf. histoire des mentalités) นักประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาอย่าง เฮอเบิร์ต บัทเทอร์ฟิลด์, แอ็นสท์ โนลต์, และจอร์จ มอส ได้โต้เถียงในเรื่องความสำคัญของแนวคิดในประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากยุคสิทธิพลเมือง สนใจในผู้คนที่ถูกหลงลืมโดยทางการอย่าง ชนกลุ่มน้อย, เชื้อชาติ, และกลุ่มทางเศรษฐกิจสังคม ส่วนประเภทของประวัติศาสตร์สังคมอื่นที่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ Alltagsgeschichte (ประวัติศาสตร์ของชีวิตในทุก ๆ วัน) นักวิชาการอย่าง มาร์ติน บร็อซาท, เอียน เคอร์ชอว์, และเด็ทเลฟ พ็อยแคร์ท ได้ค้นหาเพื่อศึกษาว่าชีวิตในทุก ๆ วันของคนธรรมดาเป็นอย่างไรในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสมัยนาซี

นักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์อย่าง อีริก ฮอบส์บอวม์, อี พี ทอมป์สัน, โรดนีย์ ฮิลตัน, ฌอร์ฌ เลอแฟฟวร์, ยูจีน จีโนเวสซี, ไอแซค ดอยช์เชอร์, ซี แอล อาร์ เจมส์, ทีโมธี เมสัน, เฮอเบิร์ต แอปเธเคอร์, อาร์โน เจ เมเยอร์, และ คริสโตเฟอร์ ฮิลล์ ได้ค้นคว้าเพื่อยืนยันทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ โดยการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์จากมุมมองแบบมาร์กซิสต์ ซึ่งผลตอบรับจากการตีความประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์นี้ นักประวัติศาสตร์อย่าง ฟรองซัว ฟูเรต์, ริชาร์ต ไปปส์, เจ ซี ดี คลาร์ก, โรล็อง มูนเย, เฮนรี แอชบี เทอเนอร์, และ โรเบิร์ต คอนเควสต์ ได้เสนอการตีความประวัติศาสตร์แบบต่อต้านมาร์กซิสม์ นักประวัติศาสตร์สตรีนิยมอย่าง โจน วัลแลค สก็อตต์, คลาวเดีย คูนส์, นาตาลี ซีมอน เดวีส์, ชีเลีย โรว์บอธแธม, กีเซลา บ็อค, เกอร์ดา เลอร์เนอร์, เอลิซาเบ็ธ ฟอกซ์-จีโนวีเซ, และลินน์ ฮันต์ ได้โต้ในเรื่องความสำคัญในการศึกษาประสบการณ์ของผู้หญิงในอดีต โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ นักคิดหลังยุคนวนิยมได้พยายามท้าทายการยืนยันได้และความต้องการในการศึกษาประวัติศาสตร์อยู่บนพื้นฐานว่า ประวัติศาสตร์ทั้งหมดอยู่บนฐานของการตีความส่วนบุคคลในแหล่งข้อมูลนั้น ซึ่งในปี 1997 หนังสือ In Defence of History ของรีชาร์ต เจ อีวานส์ได้พยายามแก้ต่างถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์ และได้มีการแก้ต่างจากการวิจารณ์แนวยุคหลังสมัยใหม่ในหนังสืออย่าง The Killing of History ที่ออกจำหน่ายเมื่อ 1997 ของคีธ วินด์ชคัตเทิล อีกด้วย

ในวันนี้ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ได้เริ่มต้นกระบวนการวิจัยของพวกเขาในหอจดหมายเหตุ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ดิจิตอลหรือเป็นกายภาพก็ตาม พวกเขามักจะเสนอข้อโต้เถียงและใช้งานวิจัยของพวกเขามาสนับสนุน จอห์น เอช อาร์โนลด์ได้เสนอว่า ประวัติศาสตร์ คือ การโต้เถียง ซึ่งสร้างความเป็นไปได้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง[30] บริษัทสารสนเทศดิจิตอลอย่าง กูเกิล ได้จุดประกายความขัดแย้งขึ้นเหนือบทบาทของการตรวจพิจารณาทางอินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ[31]

ทฤษฎีแบบมาร์กซ

[แก้]

ทฤษฎีมาร์กซิสต์ในเรื่องวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ได้ให้ทฤษฎีว่า สังคมถูกเกิดขึ้นมาโดยรากฐานมาจากเงื่อนไขเชิงวัตถุ ณ เวลาใด ๆ หรือในอีกความหมายหนึ่ง เงื่อนไขเชิงวัตถุ คือ ความสัมพันธ์ที่ผู้คนมีต่อผู้อื่นในการเติมเต็มความต้องการพื้นฐาน เช่น การให้อาหาร, การสวมใส่เสื้อผ้า, การอยู่อาศัยของเขาและครอบครัวของเขา[32] โดยทั้งหมดทั้งมวล มาร์กซและเอ็งเงิลส์ได้อ้างว่าพวกเขาสามารถระบุได้ว่ามีอีกห้าระดับที่ยังเหนือไปกว่านี้ในการพัฒนาเงื่อนไขเชิงวัตถุในยุโรปตะวันตก[33] นักประวัติศาสตร์นิพนธ์มาร์กซิสต์แต่เดิมแล้วเป็นสายมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิม แต่เมื่อการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1991 มิกเฮล ครอม บอกว่า การศึกษาเหล่านี้ได้ถูกลดรูปเป็นเพียงการศึกษาชายขอบเท่านั้น[34]

ความขาดตกบกพร่องศักยภาพในการผลิตประวัติศาสตร์

[แก้]

นักประวัติศาสตร์หลายท่านเชื่อว่า การผลิตประวัติศาสตร์ถูกแผงด้วยอคติเพราะว่าเหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่รับรู้ในประวัติศาสตร์สามารถตีความได้อย่างหลากหลาย คอนสแตนติน ฟาโซลต์ แนะนำว่า ประวัติศาสตร์ถูกเชื่อมโยงกับการเมืองจากการปฏิบัติที่สร้างความเงียบของตัวมันเอง[35] ซึ่งกล่าวเสริมอีกว่า มุมมองที่สองที่เป็นสามัญในการเชื่อมโยงระหว่างประวัติศาสตร์และการเมืองวางอยู่บนการสำรวจพื้นฐานที่ว่านักประวัติศาสตร์มักจะถูกได้รับอิทธิพลโดยการเมือง[35] ด้วยจากมิเชล-ร็อล์ฟ ทรุยโยต์ กระบวนการทางประวัติศาสตร์มีรากมาจากหอจดหมายเหตุ ดังนั้นความสงบ หรือประวัติศาสตร์ส่วนที่ถูกหลงลืม จะเป็นส่วนที่เจตนาของกลยุทธ์เชิงเรื่องเล่าที่ชี้นำว่าพื้นที่ของประวัติศาสตร์ถูกจดจำได้ว่าอย่างไร[36] การปกปิดทางประวัติศาสตร์สามารถเกิดขึ้นได้หลายทางและสามารถมีผลกระทบสำคัญต่อการบันทึกประวัติศาสตร์ ข้อมูลสารสนเทศทั้งยังสามารถถูกเอาออกอย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม นักประวัติศาสตร์ได้วางจำกัดความคำต่าง ๆ ที่อธิบายถึงการกระทำที่พยายามปกปิดสารสนเทศเชิงประวัติศาสตร์ อย่าง การทำให้เงียบสงบ[36], ความทรงจำทางเลือก[37], และการลบเลือนความทรงจำ[38] เกอร์ดา เลอร์เนอร์ นักประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่สนใจอย่างมากในผลงานของเขาที่เกี่ยวข้องกับการปกปิดทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงและการกระทำของพวกเขา ได้อธิบายว่าการปกปิดเหล่านี้เกิดผลสะเทือนทางลบกับชนกลุ่มน้อย[37]

นักประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิลเลียม โครนอน ได้เสนอสามแนวทางเพื่อปะทะกับอคติและทำให้มั่นใจว่าจะได้เรื่องเล่าที่มีการยืนยันและมีความถูกต้อง ประกอบด้วย เรื่องเล่าเหล่านั้นจะต้องไม่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่แล้ว, เรื่องเล่าเหล่านั้นต้องทำให้เกิดความสมเหตุสมผลเชิงนิเวศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม), และงานที่ถูกเผยแพร่ออกมาแล้วนั้นจะต้องได้รับการทบทวนจากชุมชนวิชาการและนักประวัติศาสตร์คนอื่น ๆ เพื่อให้มั่นใจว่ามีความชอบแล้ว[38]

พื้นที่การศึกษา

[แก้]

ยุคสมัย

[แก้]

การศึกษาประวัติศาสตร์มักให้ความสนใจเหตุการณ์และพัฒนาการที่เกิดขึ้นในระยะเวลาหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะ นักประวัติศาสตร์ตั้งชื่อเวลาแก่ยุคสมัยเหล่านี้เพื่อให้นักประวัติศาสตร์ใช้ "จัดระเบียบความคิดและหลักการที่จำแนกประเภท" ชื่อที่ตั้งแก่ยุคสมัยมีได้หลากหลายตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เช่นเดียวกับวันที่เริ่มต้นและสิ้นสุดยุคสมัยหนึ่ง ๆ เวลาที่มักใช้กันคือ ศตวรรษและทศวรรษ และเวลาที่อธิบายก็ขึ้นอยู่กับระบบการนับเวลาที่ใช้ ยุคสมัยส่วนใหญ่ถูกสร้างย้อนหลัง ฉะนั้นจึงสะท้อนการตัดสินคุณค่าของอดีต วิธีที่ยุคสมัยถูกสร้างขึ้นและชื่อที่ตั้งแก่ยุคสมัยสามารถสะท้อนมุมมองและการศึกษายุคสมัยนั้น ๆ ได้

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์

[แก้]

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์หนึ่ง ๆ สามารถเป็นพื้นฐานของการศึกษาประวัติศาสตร์ได้ อาทิ ทวีป ประเทศหรือนคร การทำความเข้าใจว่าทำไมเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นนั้นมีความสำคัญ นักประวัติศาสตร์มักทำความเข้าใจด้วยการศึกษาภูมิศาสตร์ รูปแบบลมฟ้าอากาศ การประปา และภูมิทัศน์ของสถานที่หนึ่ง ๆ ล้วนกระทบต่อชีวิตของประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น ในการอธิบายว่าเหตุใดชาวอียิปต์โบราณจึงพัฒนาอารยธรรมได้สำเร็จ การศึกษาภูมิศาสตร์อียิปต์มีความสำคัญ อารยธรรมอียิปต์ถูกสร้างขึ้นริมฝั่งแม่น้ำไนล์ ซึ่งเอ่อท่วมทุกปี และมีตะกอนทับถมริมฝั่งแม่น้ำ ดินที่อุดมสมบูรณ์ช่วยให้เกษตรกรปลูกพืชผลพอเลี้ยงประชากรในนคร ซึ่งหมายความว่า ทุกคนไม่จำเป็นต้องทำการเกษตร ฉะนั้นบางคนจึงสามารถทำงานอย่างอื่นซึ่งช่วยยยยยย

ภูมิภาค

[แก้]

การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย

[แก้]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2459 มีการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ขึ้นเป็นวิชาความรู้พื้นฐานสำหรับนิสิตในคณะต่าง ๆ (นโยบายนี้ยังปรากฏในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน) ซึ่งเปิดสอนใน พ.ศ. 2477 ด้วย) ต่อมา ในปลายปี พ.ศ. 2466 เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ทรงดำเนินการปรับปรุงคณะแพทยศาสตร์และคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงจัดหลักสูตรสำหรับวิชาประวัติศาสตร์ด้วยพระองค์เอง โดยทูลเชิญและเชิญผู้ที่มีความรู้เฉพาะทางมาปาฐกถา เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบรรยายประวัติศาสตร์ไทย และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติทรงบรรยายอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียต่อวัฒนธรรมไทย เป็นต้น

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยในประเทศไทยจึงเปิดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอกในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยก่อน พ.ศ. 2516 มีสถาบันอุดมศึกษาเพียง 2 แห่งที่เปิดสอนวิชาประวัติศาสตร์ในระดับปริญญาโท คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในปัจจุบัน)

อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัจจุบันสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐที่ทำการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ได้แก่

ส่วนสถานศึกษาของเอกชน ได้แก่

  • สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ

อนึ่ง นอกจากมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนที่จัดให้มีการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ทั้งในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกแล้ว หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบโดยตรงในงานด้านประวัติศาสตร์ของชาติคือสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และยังมีหน่วยงานเอกชนที่สนับสนุนการศึกษาด้านนี้ด้วย แต่การดำเนินงานไม่เป็นที่กว้างขวางและแพร่หลายนักในสังคม เช่น

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Professor Richard J. Evans (2001). "The Two Faces of E.H. Carr". History in Focus, Issue 2: What is History?. University of London. สืบค้นเมื่อ 10 November 2008.
  2. Professor Alun Munslow (2001). "What History Is". History in Focus, Issue 2: What is History?. University of London. สืบค้นเมื่อ 10 November 2008.
  3. Tosh, John (2006). The Pursuit of History (4th ed.). Pearson Education Limited. p. 52. ISBN 1-4058-2351-8.
  4. Peter N. Stearns; Peters Seixas; Sam Wineburg, บ.ก. (2000). "Introduction". Knowing Teaching and Learning History, National and International Perspectives. New York & London: New York University Press. p. 6. ISBN 0-8147-8141-1.
  5. Nash l, Gary B. (2000). "The "Convergence" Paradigm in Studying Early American History in Schools". ใน Peter N. Stearns; Peters Seixas; Sam Wineburg (บ.ก.). Knowing Teaching and Learning History, National and International Perspectives. New York & London: New York University Press. pp. 102–115. ISBN 0-8147-8141-1.
  6. Seixas, Peter (2000). "Schweigen! die Kinder!". ใน Peter N. Stearns; Peters Seixas; Sam Wineburg (บ.ก.). Knowing Teaching and Learning History, National and International Perspectives. New York & London: New York University Press. p. 24. ISBN 0-8147-8141-1.
  7. Lowenthal, David (2000). "Dilemmas and Delights of Learning History". ใน Peter N. Stearns; Peters Seixas; Sam Wineburg (บ.ก.). Knowing Teaching and Learning History, National and International Perspectives. New York & London: New York University Press. p. 63. ISBN 0-8147-8141-1.
  8. ปฐม ตาคะนานันท์ สืบค้นได้ข้อมูลว่ารามจิตติหรือรัชกาลที่ 6 ทรงใช้คำว่า “ประวัติศาสตร์” ในงานพระราชนิพนธ์ เรื่อง “ผลแห่งวิธีศึกษาของเยอรมัน แสดงความเห็นโดยอัตโนมัติ” พิมพ์ลงในวิทยาจารย์ เล่ม 16 ตอน 1 (พ.ศ. 2458-2549) หน้า 104 ซึ่งพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรทรงกล่าวในงานพระนิพนธ์ เรื่อง “หัวข้อประวัติศาสตร์ ภาค 1 โบราณประวัติ” พิมพ์ใน พ.ศ. 2460 ว่างานพระราชนิพนธ์ของรามจิตติหรือรัชกาลที่ 6 ปรากฏการใช้คำว่า “ประวัติศาสตร์” เป็นครั้งแรก แต่หนังสือที่ใช้คำว่า “ประวัติศาสตร์” เป็นเล่มแรกของสยามน่าจะเป็นงานพระนิพนธ์เรื่องนี้ของกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของปฐมพบว่าในวิทยานิพนธ์ปีการศึกษา 2538 เรื่อง “พัฒนาการของประวัติศาสตร์ชาติในประเทศไทย พ.ศ. 2411-2487” ของ ราม วัชรประดิษฐ์ ที่เสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลับอ้างไว้ว่ารัชกาลที่ 6 ทรงบัญญัติคำว่าประวัติศาสตร์ขึ้นมาใช้ให้มีกับความหมายตรงกับคำว่า History โดยรามให้เหตุผลว่าศึกษาวิเคราะห์จากพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ที่พระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2451 แต่ปฐมตรวจดูในพระราชนิพนธ์เรื่องนี้แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีคำว่า “ประวัติศาสตร์” อยู่ในที่ใด ๆ เลย ดู ปฐม ตาคะนานันท์. (2551). คณะสงฆ์สร้างชาติสมัยรัชกาลที่ 5. (กรุงเทพฯ: มติชน). หน้า 143-145 เชิงอรรถที่ 95. (หนังสือเล่มนี้ ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทที่เสนอต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสกับการสถาปนาอุดมการณ์แห่งรัฐของสยาม" ของผู้เขียนคนเดียวกัน)
  9. จันทร์แรม ชัยศรี. "ความหมายของประวัติศาสตร์ และความเชื่อ", ประวัติศาสตร์กับความเชื่อ : กรณีศึกษาประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ส่งผลต่อความเชื่ออย่างไร. กรุงเทพฯ: ฝ่ายประวัติศาสตร์ สภาคริสตจักรในประเทศไทย.
  10. ดู คาร์, อี.เอช. (2531). ประวัติศาสตร์คืออะไร. แปลโดย ชาติชาย พณานานนท์. (พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์). หน้า 22.
  11. ธงชัย วินิจจะกูล. (2548). "ไทยรบพม่า", ฟ้าเดียวกัน, 3(3):16. (กรกฎาคม-กันยายน 2548).
  12. ดู ฉลอง สุนทราวาณิชย์. (2544). เอกสารคำสอนวิชา 2204 606 ปัญหาเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีทางประวัติศาสตร์. (กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย). หน้า 13, 22-23
  13. วงเดือน นาราสัจจ์. (2550). ประวัติศาสตร์ : วิธีการและพัฒนาการ. (พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ). หน้า 9-11. และดูประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความจริง (truth) กับข้อเท็จจริง (fact) ได้ที่ สมิทธ์ ถนอมศาสนะ. (2560). ระหว่าง "ความจริง" และ "ข้อเท็จจริง": การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางญาณวิทยาในประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก. ใน ประภาส พาวินันท์ (บก.), รายงานสืบเนื่องการประชุมเสนอผลงานทางวิชาการและผลงานสร้างสรรค์ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครั้งที่ 11. หน้า 63-90. กรุงเทพฯ: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. เก็บถาวร 2018-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  14. Paul Newall. (2005). Philosophy of History. Retrieved September 23, 2010, from http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:gK7B43rBFmcJ:www.galilean-library.org/site/index.php%3F/page/index.html/_/essays/introducingphilosophy/18-philosophy-of-history-r35+all+history+is+contemporary+history&cd=3&hl=th&ct=clnk&gl=th
  15. วงเดือน นาราสัจจ์. (2550). ประวัติศาสตร์ : วิธีการและพัฒนาการ. (พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ). หน้า 16-17.
  16. Ernst Breisach, Historiography: Ancient, medieval, and modern (University of Chicago Press, 2007).
  17. Georg G. Iggers, Historiography in the twentieth century: From scientific objectivity to the postmodern challenge (2005).
  18. 18.0 18.1 Lamberg-Karlovsky, C. C., 1937- (1995). Ancient civilizations : the Near East and Mesoamerica. Sabloff, Jeremy A. (2nd ed.). Prospect Heights, Ill.: Waveland Press. ISBN 0-88133-834-6. OCLC 32844843.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  19. Lamberg-Karlovsky, C. C., 1937- (1995). Ancient civilizations : the Near East and Mesoamerica. Sabloff, Jeremy A. (2nd ed.). Prospect Heights, Ill.: Waveland Press. ISBN 0-88133-834-6. OCLC 32844843.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  20. Graham, Gordon (1997). "Chapter 1". The Shape of the Past. University of Oxford.
  21. Ibn Khaldūn, 1332-1406. The Muqaddimah : an introduction to history. Rosenthal, Franz, 1914-2003,, Thomas Leiper Kane Collection (Library of Congress. Hebraic Section). New York. ISBN 0-691-01754-9. OCLC 307867.
  22. Ahmed, Salahuddin. (1999). The dictionary of Muslim names. New York: New York University Press. ISBN 0-8147-0674-6. OCLC 37559819.
  23. ʻInān, Muḥammad ʻAbd Allāh, 1896- (2007). Ibn Khaldūn : his life and works. Kuala Lumpur: The Other Press. ISBN 978-983-9541-53-3. OCLC 880967682.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  24. Dr. S.W. Akhtar (1997). "The Islamic Concept of Knowledge", Al-Tawhid: A Quarterly Journal of Islamic Thought & Culture 12 (3).
  25. อ้างอิงใน Robert Carneiro, The Muse of History and the Science of Culture, New York: Kluwer Publishers, 2000, p 160.
  26. อ้างใน Muse of History, p 158-159.
  27. Muse of History, p 147.
  28. Muse of History, p 150.
  29. Max Ostrovski, The Hyperbole of the World Order, Lanham: Rowman & Littlefield, 2006.
  30. Arnold, John, 1969-. History : a very short introduction. Oxford. ISBN 978-0-19-154018-9. OCLC 53971494.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  31. King, Michelle T. (2016). "Working With/In the Archives". Research Methods for History (2nd ed.). Edinburgh: Edinburgh University Press.
  32. "The German Ideology". www.marxists.org. สืบค้นเมื่อ 2021-01-11.
  33. มาร์กซไม่ได้อ้างถึงการผลิตกุญแจสำคัญของประวัติศาสตร์ วัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ไม่ใช่ทฤษฎีทางปรัชญาประวัติศาสตร์ของ marche generale (ทางเดินสากล) ที่กำหนดโดยโชคชะตาของทุก ๆ คน ซึ่งเป็นอะไรก็ตามที่เป็นพฤติการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มันสามารถหาแนวทางด้วยตัวมันเองได้ (Marx, Karl: Letter to editor of the Russian paper Otetchestvennye Zapiskym, 1877) แนวคิดของเขาซึ่งเขาได้อธิบายว่าอยู่บนฐานของการศึกษาที่เป็นรูปธรรมของเงื่อนไขที่เกิดขึ้นจริงเกี่ยวข้องในยุโรป
  34. Mikhail M. Krom, "From the Center to the Margin: the Fate of Marxism in Contemporary Russian Historiography," Storia della Storiografia (2012) Issue 62, pp. 121–130
  35. 35.0 35.1 Fasolt, Constantin, 1951- (2004). The limits of history. Chicago: University of Chicago Press. ISBN 0-226-23910-1. OCLC 52349012.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  36. 36.0 36.1 Trouillot, Michel-Rolph (1995). "The Three Faces of Sans Souci: The Glories and the Silences in the Haitian Revolution". Silencing the Past: Power and the Production of History. Boston: Beacon Press. pp. 31–69. ASIN B00N6PB6DG
  37. 37.0 37.1 Lerner, Gerda, 1920-2013. (1997). Why history matters : life and thought. New York: Oxford University Press. ISBN 0-19-504644-7. OCLC 35559081.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  38. 38.0 38.1 Cronon, William (March 1992). "A Place for Stories: Nature, History, and Narrative". The Journal of American History. 78 (4): 1347. doi:10.2307/2079346. ISSN 0021-8723.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

หนังสือและบทความ

[แก้]

เว็บไซต์

[แก้]
ประวัติศาสตร์