ประชาทรรศน์ (หนังสือพิมพ์)
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
สงบ สันติ สามัคคี ทำความดีถวายพ่อ | |
ประเภท | หนังสือพิมพ์รายวัน |
---|---|
รูปแบบ | หนังสือพิมพ์ผู้นำ (Elite Newspaper) |
เจ้าของ | บริษัท สำนักข่าวประชาทรรศน์ จำกัด |
หัวหน้าบรรณาธิการ | อุดมศักดิ์ เสาวนะ |
บรรณาธิการ | ทองเจือ ชาติกิจเจริญ |
บรรณาธิการบริหาร | พิธาน คลี่ขจาย |
ก่อตั้งเมื่อ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 |
นโยบายทางการเมือง | กลุ่มเพื่อนเนวิน |
ภาษา | ภาษาไทย |
ฉบับสุดท้าย | 15 มกราคม พ.ศ. 2553 (581 ฉบับ) |
สำนักงานใหญ่ | เลขที่ 731 อาคารพีเอ็มทาวเวอร์ ชั้น 15 ถนนอโศก-ดินแดง แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร |
เว็บไซต์ | prachatouch.co.th |
ประชาทรรศน์ เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน วางจำหน่ายทุกวันจันทร์-วันศุกร์ จำนวน 16 หน้า ราคาฉบับละ 7 บาท นำเสนอข่าวทั่วไป มีคำขวัญว่า “หนังสือพิมพ์รายวันทางเลือกเพื่อประชาชน” ออกฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2550 หลังจากที่พิมพ์เป็นฉบับทดลองมาแล้ว 10 ฉบับ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม มีพิธาน คลี่ขจาย น้องชายสุภาพ คลี่ขจาย เป็นบรรณาธิการบริหาร ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และอเนก เรืองเชื้อเหมือน เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา
หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์มีเนื้อหาส่วนมากเกี่ยวกับการแสดงทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างจากสื่อกระแสหลัก โดยมีจุดยืนในการส่งเสริมระบบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อต้านการรัฐประหาร และการชุมนุมทางการเมืองที่ปฏิเสธคณะบุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ต่อมา การนำเสนอข่าวในระยะหลังเป็นไปในทำนองให้การสนับสนุนนายเนวิน ชิดชอบ และพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากนายเนวินเป็นนายทุนให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้นั่นเอง และสีหัวข่าวใหญ่ปรับเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีน้ำเงินแทนรวมไปถึงได้โจมตีกลุ่ม แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน
หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ตีพิมพ์วางจำหน่าย 581 ฉบับ กระทั่งวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553 ได้ตีพิมพ์เป็นฉบับสุดท้าย ก่อนที่บริษัท สำนักข่าวประชาทรรศน์ จำกัด ตัดสินใจหยุดผลิต หยุดจำหน่าย และให้พนักงานลาออกจำนวนมาก ปัจจุบันเหลือเพียงแค่เว็บไซต์ประชาทรรศน์ออนไลน์ที่นำเสนอข่าว ส่วนกองบรรณาธิการบางส่วนหันไปผลิตรายการวิทยุ โดยใช้ชื่อว่าสถานีวิทยุชุมชนปกป้องสถาบัน นำโดยนายอุดมศักดิ์ สาวนะ บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ เก็บถาวร 2009-12-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สถานการณ์สื่อในช่วงเดือนมกราคม 2553 โดย ศูนย์เฝ้าระวังการคุมคามสื่อ ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย