ข้ามไปเนื้อหา

จารุวรรณ เมณฑกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จารุวรรณ เมณฑกา
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด5 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 (79 ปี)
กรุงเทพมหานคร
ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์
คู่สมรสทรงเกียรติ เมณฑกา
บุตรกิตติวัฒน์ เมณฑกา
ขจาริน เมณฑกา
ศุภางค์ เมณฑกา
บุพการีเต็ม ยรรยง
จำเนียร ยรรยง
อาชีพสมาชิกวุฒิสภา
เป็นที่รู้จักจากอดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

คุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา (เกิด 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2488) ชื่อเล่น เป็ด เป็นสมาชิกคริสตจักรวัฒนา สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 11 อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร[1] อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

จารุวรรณได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544 และไม่ยอมออกจากตำแหน่ง หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กระบวนการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่ออายุครบ 65 ปีแล้ว ต้องพ้นจากตำแหน่งตามกฎหมาย จารุวรรณยังไม่ยอมละทิ้งตำแหน่ง แม้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่อาจอยู่ในตำแหน่งได้อีก จึงนำไปสู่ความขัดแย้งภายในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กระทั่งศาลปกครองวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553[2]

ระหว่างดำรงตำแหน่งในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินนั้น จารุวรรณถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในกรณีเห็นแก่ญาติและขาดความโปร่งใส โดยถูกกล่าวหาว่า ตั้งบุตรตนเองเป็นเลขานุการส่วนตัวโดยได้รับเงินเดือนจากรัฐ และพาบุตรท่องเที่ยวต่างประเทศในการไปราชการของตนเองซึ่งได้รับค่าใช้จ่ายจากรัฐ ฯลฯ แต่จารุวรรณชี้แจงว่า สามารถทำได้ตามกฎหมาย[3][4][5] ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 จารุวรรณถูกศาลพิพากษาจำคุกฐานทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ราชการ เพราะเบิกเงินแผ่นดินไปใช้จ่ายในการทอดกฐิน โดยอ้างว่า ใช้ในการสัมมนา[6]

ประวัติ

[แก้]

จารุวรรณ เมณฑกา เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนโตในจำนวน 8 คนของ นายเต็ม ยรรยง และนางจำเนียร ยรรยง บิดาของเธอเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนกวางตุ้ง ส่วนมารดาเป็นชาวไทยพุทธจากจังหวัดนนทบุรี และครอบครัวตั้งรกรากแถวสามย่าน[7]

สมรสกับนายทรงเกียรติ เมณฑกา นักธุรกิจด้านสิ่งพิมพ์ ชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว มีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน คือ

  1. นายกิตติวัฒน์ เมณฑกา สมาชิกสภาวิศวกร[8]อดีตเลขานุการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
  2. นางสาวขจาริน เมณฑกา ปัจจุบันได้รับทุน มหาวิทยาลัย IUJ International University ประเทศญี่ปุ่น ศึกษาต่อ ระดับปริญญาโท สาขา Finance Innovation
  3. นางสาวศุภางค์ เมณฑกา สมาชิกสภาวิศวกร[9]ทำงานที่บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย

จารุวรรณ เมณฑกา จบการศึกษาจากโรงเรียนศึกษาวัฒนา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และได้รับทุนนักเรียนแลกเปลี่ยน (ปัจจุบัน คือ เอเอฟเอส) ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงเข้าเรียนที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง เมื่อ พ.ศ. 2510

การทำงาน

[แก้]

จารุวรรณเริ่มทำงานที่สำนักงานบัญชีไชยยศ สมบัติ เป็นโปรแกรมเมอร์คอมพิวเตอร์ที่บริษัท NCR และ ได้เข้าทำงานด้านบัญชี ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หลังจากนั้นสอบชิง ทุน ก.พ. ในโควตาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้อันดับ 1 ในจำนวน 4 คนที่สอบผ่าน ได้ไปศึกษาต่อปริญญาโท ด้านการบัญชีและการตรวจสอบ ที่ มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตต สหรัฐอเมริกา และจบปริญญาเอกด้านนโยบายสาธารณะและการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556[10] เคยทำงานด้านการตรวจเงินแผ่นดินที่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สหรัฐอเมริกา

ปี พ.ศ. 2516 กลับมาเริ่มงานที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จนกระทั่งได้เป็น ผู้ตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค ผู้อำนวยการสำนักการตรวจเงินแผ่นดิน และดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามลำดับ

การดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

[แก้]

เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีผลใช้บังคับ และกำหนดให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นองค์กรอิสระ โดยมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 10 คน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน จารุวรรณจึงสมัครเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน[11] ซึ่งการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินประสบปัญหาล่าช้า เนื่องจากผู้สมัครขาดคุณสมบัติ จึงมีผู้เสนอชื่อให้จารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนแรก[12]

หลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ หรือ คตส.[13] และได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง[14]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของจารุวรรณว่า พ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่มีอายุครบ 65 ปี[15] แต่จารุวรรณไม่ยินยอมออกจากตำแหน่ง พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงเรียกร้องให้จารุวรรณปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าว จนเกิดความขัดแย้งกันภายในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กระทั่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 ศาลปกครองกลางได้ตัดสินให้การดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของจารุวรรณสิ้นสุดลงเมื่อมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์[16]

ในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดกรณีการกล่าวหา จารุวรรณเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กับพวก จัดสัมมนาโครงการ "สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา" เป็นเท็จ และส่งเรื่องให้อัยการสูงสูดฟ้องต่อศาลฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557

[แก้]

พนักงานอัยการ ฟ้องร้อง คุณหญิงจารุวรรณ ในคดีหมายดำที่ 2054/2559 คดีนี้ศาลอุทธรณ์[17]พิพากษาจำคุก 1 ปี ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

งานอื่น ๆ

[แก้]

จารุวรรณได้ร่วมลงนามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2549 โดยอ้างอิงความตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540[18]

การดำรงตำแหน่งอื่น ๆ

[แก้]
  • เลขาธิการและอุปนายกสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาตรฐานมหาวิทยาลัยเอกชนของทบวงมหาวิทยาลัย
  • กรรมการผู้ทรงวุฒิ สาขาการเงินและการบัญชีสำนักงาน ก.พ.
  • กรรมการในคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตรวจสอบภายในภาคราชการ กระทรวงการคลัง
  • กรรมการกลุมปรับปรุงชุดวิชาประสบการณ์วิชาชีพการสอบบัญชี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • อนุกรรมการมรรยาทผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
  • อนุกรรมการทดสอบการปฏิบัติงานเพื่อเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
  • ผู้สอบบัญชีกิตติมศักดิ์ มูลนิธิเพื่อการกุศลต่าง ๆ
  • ที่ปรึกษาในการวางระบบตรวจสอบรัฐวิสาหกิจที่จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ประเทศจีน
  • ที่ปรึกษาโครงการตรวจสอบเงินกู้ธนาคารโลก

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร
  2. "ศาลอาญา พิพากษาจำคุก 2 ปี "คุณหญิงจารุวรรณ" อดีตผู้ว่าฯ สตง. คดีเบิกค่าจัดสัมมนาเท็จ". Thaipublica. 2015-11-30. สืบค้นเมื่อ 2015-11-30.
  3. "หม่อมอุ๋ยฟิวส์ขาด เปิดศึกชน คุณหญิงจารุวรรณ". Tnews. 2006-10-31. สืบค้นเมื่อ 2015-11-30.
  4. "รองผู้ว่าฯ สตง. ยืนยัน "คุณหญิงจารุวรรณ" ตั้งลูกชายเป็นเลขาฯ ถูกระเบียบ". Manager. 2007-01-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-11-30. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |accessadate= ถูกละเว้น (help)
  5. "ส.ส. พปช. เปิดสภารุมยำ "คุณหญิงจารุวรรณ" แต่งตั้งมิชอบ-ตั้งลูกเป็นเลขาฯ-ส่งที่ปรึกษาเป็น ส.ว. สรรหา". Matichon. 2008-08-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-08. สืบค้นเมื่อ 2015-11-30.
  6. "ศาลสั่งคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา "คุณหญิงจารุวรรณ" จัดสัมมนา สตง. เท็จ". Post Today. 2015-11-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-03. สืบค้นเมื่อ 2015-11-30.
  7. พระเจ้านำทางดิฉัน ทุกวันนี้อยู่ได้โดยไม่กลัวบาป
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-03-31.
  9. ประวัติส่วนตัว[ลิงก์เสีย]
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-03-23.
  11. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่ง (นางจารุวรรณ เมณฑกา)
  12. "พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (นางจารุวรรณ เมณฑกา)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-30. สืบค้นเมื่อ 2010-09-29.
  13. ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
  14. ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑๒ เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลใช้บังคับต่อไป
  15. "เปิดคำวินิจฉัยกฤษฎีกา'จารุวรรณ'พ้นผู้ว่าสตง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-04. สืบค้นเมื่อ 2010-09-29.
  16. "ศาลปกครองพิพากษา'จารุวรรณ'พ้นตำแหน่งผู้ว่าสตง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-22. สืบค้นเมื่อ 2011-04-21.
  17. ศาลอุทธรณ์ พิพากษาจำคุก 1 ปี คุณหญิงจารุวรรณ-พวก คดีจัดสัมมนาเท็จ
  18. นายกรัฐมนตรีพระราชทาน
  19. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๗, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕
  20. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๒๖, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓
  21. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2021-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๖ ข หน้า ๓, ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๘
  22. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๗๕๐, ๑๘ มกราคม ๒๕๔๑

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า จารุวรรณ เมณฑกา ถัดไป
-
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
(31 ธันวาคม พ.ศ. 2544 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553)
พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส
(รักษาราชการแทน)