ข้ามไปเนื้อหา

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ก่อตั้งพ.ศ. 2548
ยุติ23 สิงหาคม พ.ศ. 2556
ประเภทกลุ่มอิทธิพล
กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง
ที่ตั้ง
บุคลากรหลัก
สนธิ ลิ้มทองกุล
จำลอง ศรีเมือง
พิภพ ธงไชย
สมศักดิ์ โกศัยสุข
สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย
ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ
วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553

การเมืองไทยประวัติศาสตร์ไทย

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (อังกฤษ: People's Alliance for Democracy, PAD) หรือเรียกว่า กลุ่มพันธมิตรกู้ชาติ หรือ กลุ่มคนเสื้อเหลือง เป็นกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยที่มีบทบาทสำคัญในช่วง พ.ศ. 2548-2552 โดยเป็นการรวมตัวจากหลายองค์กรทั่วประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ภายใต้จุดประสงค์ในการขับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และแสดงความต้องการให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนอย่างเปิดเผย[1] กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีแกนนำคนสำคัญ ได้แก่ สนธิ ลิ้มทองกุล และพลตรีจำลอง ศรีเมือง

สัญลักษณ์หลักของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีการใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์หลัก และมีการใส่เสื้อสีเหลืองพร้อมผ้าโพกศีรษะที่มีข้อความว่า "กู้ชาติ" และผ้าพันคอสีฟ้า[2] และมีมือตบเป็นเครื่องมือสัญลักษณ์

ในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายซึ่งมีความเห็นว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ควรออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล จนกระทั่งลงเอยด้วยเหตุการณ์รัฐประหาร ส่งผลให้ฝ่ายทหาร คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ก้าวขึ้นสู่อำนาจ และเข้ามามีบทบาททางการเมือง ส่งผลให้ไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ซึ่งมีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่าง พ.ศ. 2549-2550

ต่อมาผลการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2550 พรรคพลังประชาชน ซึ่งถูกมองว่าเกี่ยวข้องทางผลประโยชน์ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลผสม ทำให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเคยดำเนินการเคลื่อนไหวก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร กลับมาชุมนุมอีกครั้งในปี พ.ศ. 2551 เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชและสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่ง[3] ส่งผลให้มีการปิดล้อมท่าอากาศยานนานาชาติหลายแห่ง จนกระทั่งเที่ยวบินทุกเที่ยวหยุดทำการนั้น นายเกษม พันธ์รัตนมาลา นักเศรษฐศาสตร์ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสูญเสียเงินกว่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการปิดสนามบินครั้งนี้[4] อันส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล

ภายหลังจากมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรค อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ในวันรุ่งขึ้นแกนนำพันธมิตรฯ ได้ประกาศยุติการชุมนุมทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศยุติบทบาทตัวเองที่ห้องส่งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เอเอสทีวี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556[5]

สาเหตุที่นำมาสู่การชุมนุม

สัญลักษณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

กรณีการขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป

ในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2549 ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นที่ครอบครองอยู่ทั้งหมดในกลุ่มบริษัทชินคอร์ป ให้แก่บริษัทเทมาเส็ก รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 73,000 ล้านบาท[6] กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549[7] ซึ่งทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมองว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน[8]

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของทักษิณ ชินวัตร

ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ถูกนักวิชาการบางกลุ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าอยู่ภายใต้ "ระบอบทักษิณ" คือ ไม่ใส่ใจต่อเจตนารมณ์ประชาธิปไตย ข้องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการฉ้อราษฎร์บังหลวง[9] นอกจากนี้ยังไม่สามารถควบคุมความรุนแรงที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการกวาดล้างขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน[10] ทั้งนี้ ประชาชนบางกลุ่มได้ใช้คำว่า "ระบอบทักษิณ" สร้างความชอบธรรมในการขับ พ.ต.ท. ทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

กรณีเมืองไทยรายสัปดาห์

กลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 ฝ่ายบริหารของอสมท. มีมติให้ระงับการออกอากาศรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวีอย่างไม่มีกำหนด[11][12] เนื่องจากนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ดำเนินรายการ ได้อ่านบทความเรื่อง "ลูกแกะหลงทาง" ซึ่งมีเนื้อหาโดยอ้อมกล่าวหารัฐบาลทักษิณและเชื่อมโยงไปถึงสถาบันเบื้องสูง นายสนธิจึงเปลี่ยนเป็นการจัดรายการนอกสถานที่แทน และเป็นช่วงเดียวกับที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก[13]

อุดมการณ์

การเสนอแนวคิดการเมืองใหม่

ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2551 นายสุริยะใส กตะศิลา ได้กล่าวต่อสื่อมวลชนว่าทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีแนวคิดใหม่โดยหวังเพื่อลดจำนวนนักการเมืองหน้าเดิมที่คอร์รัปชั่นและดำเนินนโยบายประชานิยม[14] คือ เสนอให้มีการจัดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 70% มาจากการคัดสรรจากภาคและส่วนอื่น แทนการเลือกตั้ง โดยได้ให้สาเหตุว่าการดำเนินงานรัฐสภาปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเมืองได้[15][16][17] โดยมีจุดประสงค์ที่จะพยายามให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีส่วนร่วม และพยายามให้มีตัวแทนสาขาอาชีพที่มาจากการเลือกสรรของกลุ่มอาชีพแต่ละอาชีพโดยตรง จึงเสนอสูตร 30/70

การเมืองใหม่ ซึ่งเป็นแนวคิดที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสนอ มีเป้าหมายดังนี้:

  • ปกป้องเทิดทูนราชวงศ์จักรีให้เข้มแข็งและปลอดภัย เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงทศพิศราชธรรม
  • สนับสนุนให้คนดีมาปกครองบ้านเมือง ป้องกันไม่ให้คนไม่ดีมีอำนาจ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมทุกภาคส่วน ทั้งในด้าน เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
  • ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง การเมืองใหม่จะไม่จำกัดอยู่เพียงนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในพื้นที่เท่านั้น แต่จะยังเปิดกว้างให้ภาคประชาชนที่หลากหลาย ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองทุกระดับ เช่น ผู้แทนจากกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ ผู้แทนจากภาคประชาชนที่หลากหลาย ผู้แทนจากภาคสังคมที่แตกต่าง เป็นต้น

ในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงข่าวถึงแนวคิดเรื่องการเมืองใหม่ ที่ห้องผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กล่าวว่า การเลือกตั้งแบบ 100 เปอร์เซ็นต์จะให้มีการเลือกตั้งได้ 2 ทาง คือ ผู้แทนพื้นที่เขต 50% และผู้สมัครนามกลุ่มอาชีพอีก 50%[18][19][20]

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้าสู่การเมืองไทยด้วยการจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว[21] จากนั้นในวันที่ 6 ตุลาคม ปีเดียวกัน ทางพรรคได้จัดประชุมกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรครวมทั้งหมด 9,000 คน ที่เมืองทองธานี และได้มีการลงคะแนนเสียงเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน[22]

ชาตินิยม

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถูกอธิบายว่าเป็น "พวกชาตินิยม" และต่อต้านอย่างรุนแรงในการละเมิดอธิปไตยของชาติไทยซึ่งทางกลุ่มได้กล่าวอ้าง[23] และคัดค้านการตัดสินใจสนับสนุนการจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นแหล่งมรดกโลกของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้แจ้งความดำเนินคดีต่อรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลสมัคร ซึ่งคาดว่าเป็นการทำรายได้ให้กับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเพื่อแลกกับข้อตกลงในการยกปราสาทเขาพระวิหารให้กัมพูชาจดทะเบียนมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว[24] ทางกลุ่มยังได้เรียกร้องให้นักลงทุนไทยถอนการลงทุนออกจากกัมพูชา การปิดด่านจุดตรวจบริเวณพรมแดนไทย-กัมพูชา 40 แห่ง การยกเลิกเที่ยวบินทุกเที่ยวจากประเทศไทยไปยังพนมเปญและเสียมราฐ การสร้างฐานทัพเรือที่เกาะกูดใกล้กับแนวชายแดน และการล้มล้างคณะกรรมการซึ่งดูแลการปักปันพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลและการประกาศแผนที่นาวิกโยธินไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว[25]

การเสนอรูปแบบรัฐบาลใหม่

นายสนธิ ลิ้มทองกุล มีความเห็นสนับสนุนต่อต้านวัตถุนิยม และเสนอ "สังคมมีเหตุผล" ความต้องการเพียงแค่ลดระดับหนี้สาธารณะเท่านั้น ในขณะที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ต้องการยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องการจำกัดการลงทุนจากต่างชาติ ต่อต้านการซื้อกิจการรัฐวิสาหกิจของเอกชน และสงสัยต่อการลงทุนจากต่างชาติในประเทศไทย[14]

ขณะที่นโยบายของรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลสมัครได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนในเขตชนบทและผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจซึ่งผสมผสานแนวคิดประชานิยมอย่างมาก ได้แก่ การรักษาพยาบาลทั้งประเทศโดยมีส่วนร่วมต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ส่วนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสนอให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดหนี้สาธารณะ และลดค่าใช้จ่ายในโครงการสังคมสงเคราะห์ทั้งหลาย ซึ่งมีแนวคิดประชานิยม[26]

แกนนำและผู้ประสานงาน

แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่นแรก (พูด) พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, (ยืนข้างหลังจากซ้าย) สมศักดิ์ โกศัยสุข, พิภพ ธงไชย, สนธิ ลิ้มทองกุล, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

แกนนำของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่นแรก ได้แก่

ต่อมาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงได้มีการประกาศแกนนำชุดที่สองประกอบด้วย

และในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้มีการประกาศรายชื่อเพิ่มเติมแกนนำชุดที่สอง[29]ประกอบด้วย

ส่วนผู้ประสานงานของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยะใส กตะศิลา

ประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมือง

การชุมนุม พ.ศ. 2549

การประท้วงขับทักษิณ ชินวัตร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุการณ์ในประเทศไทยที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2547 ในช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ 1 เมื่อมีการรวมตัวของกลุ่มคนในนาม กลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์ และมีการชุมนุมปราศรัยเพื่อขับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2547 เป็นครั้งแรก และเริ่มขยายเป็นวงกว้างขึ้นเมื่อถึงปลายปี พ.ศ. 2548 ส่วนหนึ่งจากการนำของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี และขยายตัวในวงกว้างไปยังบุคคลในหลายสาขาอาชีพในเวลาต่อมา

ในการรณรงค์ขับนี้ มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ในกลุ่มที่แสดงความคิดเห็นสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีลาออกก็มีความเห็นที่แตกต่างกันเป็นหลาย ๆ กลุ่ม ในเรื่องกระบวนการและประเด็นในการขับ ส่วนในกลุ่มที่สนับสนุน ซึ่งประกอบด้วยประชาชนจำนวนไม่น้อย รวมไปถึงกลุ่มคาราวานคนจน และขบวนรถอีแต๋นเดินทางมาจากต่างจังหวัด ก็ได้รวมตัวชุมนุมเพื่อสนับสนุนให้นายทักษิณ ชินวัตรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยปักหลักอยู่ที่สวนจตุจักร และตามจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย

ผลจากการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่อดีตพรรคฝ่ายค้าน 3 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชนและพรรคชาติไทยไม่ได้ร่วมลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทย ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค ยังคงได้รับคะแนนเสียงข้างมาก (56.45% ในผลการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ)[30] แต่ในหลายพื้นที่ได้เกิดปรากฏการณ์ "ไม่เอาทักษิณ" ด้วยการที่ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยได้คะแนนน้อยกว่าผู้ไม่ออกเสียงและบัตรเสีย แต่ในท้ายที่สุดการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้เป็นโมฆะ และได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549

ในวันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้มีกลุ่มเครือข่ายแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และอาจารย์มหาวิทยาลัย 43 องค์กร 11 มหาวิทยาลัย ล่าชื่อกว่า 92 คน ปลุกกระแส "ต้านทักษิณ" และออกแถลงการณ์ให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ยุติบทบาทจากการดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีทันที ซึ่งในการเสวนาโต๊ะกลมเรื่องการร่วมกันแก้ไขวิกฤตปัญหาของบ้านเมือง ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการรวมตัวกันครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของแกนนำเครือข่ายการต่อต้าน

การประท้วงขับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สิ้นสุดลง ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 หลังจากการก่อรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก่อนวันที่จะมีการชุมนุมอย่างยืดเยื้อของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายในวันที่ 20 กันยายน

การชุมนุม พ.ศ. 2551

การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 เป็นการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านพรรคพลังประชาชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2553 ซึ่งการชุมนุมยังคงมีเป้าหมายที่จะต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

หลังจากรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำรัฐบาลบริหารประเทศมาระยะเวลาหนึ่ง กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เริ่มชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 28 มีนาคม โดยการจัดสัมมนาที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และได้ประกาศชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม โดยเป็นการรวมตัวจากหลายองค์กรทั่วประเทศ ซึ่งมีจุดประสงค์ในการขับสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐบาลทั้งสองชุดถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นาย สนธิ ลิ้มทองกุลได้เปิดคลิปพระสุรเสียงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงโดยไม่ได้ระบุว่าได้มาได้อย่างไรสร้างความตกใจให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะข้าราชการทหารตำรวจ[31]

ในเดือนพฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เข้าปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อต่อรองกับนายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งส่งผลให้เที่ยวบินทุกเที่ยวหยุดทำการ[32] โดยนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กล่าว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสูญเสียรายได้ไปกว่า 350 ล้านบาท นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศยังสูญเสียรายได้กว่า 25,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมความเสียหายของสายการบินต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ก่อนหน้านี้ ในเดือนสิงหาคม ผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ปิดท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานกระบี่ รวมทั้งปิดการเดินทางทางรถไฟสายใต้เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ลาออกมาแล้ว[33]

ต่อมาสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกไปจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองอย่างสงบ และกล่าวว่าการชุมนุมประท้วงกำลังทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหายอย่างมาก แถลงการณ์จากเอกอัครราชทูตอียูประจำประเทศไทยยังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมแก้ไข วิกฤตการณ์ทางการเมืองในไทยอย่างสันติ เคารพในกฎหมาย และสถาบันประชาธิปไตยของประเทศ และอียูเคารพสิทธิในการประท้วงและปราศจากการแทรกแซงปัญหาการเมืองภายในของไทย แต่เห็นว่าการกระทำของกลุ่มผู้ประท้วงในครั้งนี้เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของนานาประเทศ

ภายหลังจากมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรค อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ในวันรุ่งขึ้นแกนนำพันธมิตรฯ ได้ประกาศยุติการชุมนุมทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง[34]

พ.ศ. 2553

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553 นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ อ่านแถลงการณ์จุดยืนชัดเจนต่อต้านการเคลื่อนไหวของเสื้อแดง และให้พันธมิตรฯ ทั่วประเทศออกมาเคลื่อนไหวด้วย[35] ส่วนที่รัฐสภา กลุ่ม 40 ส.ว. เสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้เร่งปฏิรูปประเทศและจัดการกลุ่มเสื้อแดงอย่างเด็ดขาด[36] ต่อมาวันที่ 29 เมษายน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ พร้อมทั้งแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนมากได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อ รศ.ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรัฐบาล และ พล.ต.จิรเดช สิทธิประณีต เลขานุการกองทัพบก ในฐานะตัวแทนผู้บัญชาการทหารบก ณ บริเวณด้านหน้ากรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ซึ่งการยื่นหนังสือเพื่อต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาบ้านเมือง และเร่งรัดให้ทหารออกมาจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว ส่วนในภูมิภาคจะให้เครือข่ายพันธมิตรฯ ยื่นหนังสือกดดันทหารตามหน่วยที่ตั้งพร้อมกันวันนี้ด้วย[37]

หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงแนวทางกระบวนการปรองดองแห่งชาตินั้น ทางกลุ่มพันธมิตรฯได้ออกแถลงการณ์ว่า นายกรัฐมนตรียังขาดความชัดเจน การประกาศการเลือกตั้งใหม่ถือว่าเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรมหลัก นิติรัฐอย่างย่อยยับ ทั้งนี้ยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้ผู้ที่สามารถจัดการกับปัญหาเข้ามาแก้ไขปัญหาต่อไป[38]

การชุมนุมในปี พ.ศ. 2554

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้กลับมาชุมนุมอีกครั้งบริเวณสะพานมัฆวานและหน้าทำเนียบรัฐบาล เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554 จากกรณีความขัดแย้งไทย-กัมพูชา (ครั้งแรกจะให้เริ่มการชุมนุมวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553 แต่ได้เลื่อนมา)[39] โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามมติของกลุ่มพันธมิตรฯ 3 ข้อ คือ 1. ยกเลิก บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 2. ผลักดันชาวกัมพูชาที่อพยพและรุกล้ำเข้ามาอาศัยและสร้างสิ่งก่อสร้างในเขตแดนไทย 3. ให้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก[40] แต่ทว่ารัฐบาลก็มิได้มีท่าทีสนองตอบ และได้ออกพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมาใช้รักษาความปลอดภัยระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2554[41]

การชุมนุมในครั้งนี้ปรากฏว่า แนวร่วมผู้ชุมนุมลดลงไปเป็นจำนวนมาก[42][43][44] ประกอบกับบุคคลที่เคยขึ้นเวทีปราศรัยหลายคนก็มิได้เข้าร่วมอีก เช่น รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, อัญชะลี ไพรีรัก[45], สมณะเพาะพุทธ จนฺทเสฏฺโฐ เป็นต้น ซึ่งทางกลุ่มผู้ชุมนุมที่เหลือและแกนนำเมื่อได้ขึ้นเวทีปราศรัยก็ได้โจมตีและกล่าวหาบุคคลเหล่านี้อย่างรุนแรงหลายต่อหลายครั้ง[46][47]

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ตำรวจได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญํติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เข้ายึดพื้นที่ผู้ชุมนุมบางส่วนเพื่อเปิดพื้นผิวจราจรและตำรวจได้จับกุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 2 รายที่พกอาวุธปืนสั้นในที่ชุมนุม[48]

และเมื่อรัฐบาลมีท่าทีว่าจะยุบสภาภายในต้นเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกันนี้ และกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ทางกลุ่มพันธมิตรฯก็ได้มีมติให้ทำการโหวตโน คือ รณรงค์ให้กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใครในบัตรเลือกตั้ง[49]

ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554 มีคนร้ายปาระเบิดเข้าไปในที่ชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย[50]

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 แต่การชุมนุมยุติจริงในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 18.00 น.[51] โดยในวันที่ 1 กรกฎาคม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินทางไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประเทศไทย)เพื่อให้ยุบ 5 พรรคการเมืองได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน โดยพรรคเพื่อฟ้าดิน ซึ่งมีกลุ่มสันติอโศกสนับสนุนได้ส่งแก่นฟ้า แสนเมือง ลงเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อในครั้งนี้ และได้ออกป้ายหาเสียง อย่าปล่อยสัตว์เข้าสภา เป็นสโลแกนการรณรงค์โหวตโนทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2554 ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพอใจกับการตัดสินใจของการถอนตัวออกจากสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกของรัฐบาลในการประชุมครั้งที่ 35 ที่ประเทศฝรั่งเศส

การถอนตัวของแกนนำและสมาชิกบางคน

ในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554 ได้มีมติของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ซึ่งถือเป็นกลุ่มแนวร่วมที่สำคัญของกลุ่มพันธมิตรฯ ให้นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายสาวิทย์ แก้วหวาน ซึ่งเป็นแกนนำรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ถอนตัวออกมาจากการเป็นแกนนำ โดยอาจจะไปร่วมชุมนุมด้วยเฉพาะในประเด็นที่สำคัญเท่านั้น และจะไม่ขึ้นเวทีปราศรัย สืบเนื่องมาจากการเห็นต่างกันในเรื่องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 ของทางพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ทางกลุ่มพันธมิตรฯก่อตั้งขึ้นมา โดยมีนายสมศักดิ์เป็นหัวหน้าพรรค[52] ซึ่งในเรื่องนี้ทำให้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำรุ่นที่ 1 ได้โจมตีนายสมศักดิ์อย่างรุนแรงในเวลาต่อมา[53] โดยที่ทางกลุ่มพันธมิตรฯมีมติให้รณรงค์โหวตโน คือ การกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใคร ในการเลือกตั้งครั้งนี้[54]

ปฏิกิริยาของแต่ละฝ่าย

ฝ่ายรัฐบาล

จากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ บริเวณถนนราชดำเนินนั้น รัฐบาลมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเจรจาเพื่อให้กลุ่มพันธมิตรฯ ย้ายสถานที่ชุมนุมไปอยู่ในที่ที่ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งการชุมนุมเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้แต่การชุมนุมที่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นนั้นไม่ควรกระทำและการชุมนุมนั้นส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ต่างประเทศระงับการลงทุนเพราะไม่สามารถเชื่อมั่นในการลงทุนได้[55]

นอกจากนี้ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าหากการประท้วงดังกล่าวประสบความสำเร็จในการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ก็จะสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ ทำลายโอกาสของงานและเงินที่ควรจะได้จากการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติ[56] รวมทั้ง กลุ่ม ส.ส. และอดีต ส.ส. พรรคพลังประชาชน ยังได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยุติการชุมนุมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสายตานานาชาติและเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของประเทศ[57]

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษถาคม นายจักรภพ เพ็ญแข ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากที่โดนข้อกล่าวหาว่าหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งนายจักรภพได้คาดหวังว่าการลาออกในครั้งนี้จะทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยุติการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันรัฐบาล [58] อย่างไรก็ตาม กลุ่มพันธมิตรฯ จึงประกาศยกระดับการชุมนุมเป็นการขับไล่รัฐบาลนายสมัครแทน นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จึงประกาศจะสลายการชุมนุมด้วยกำลังตำรวจและทหารผ่านทางรายการพิเศษทางช่อง 9 และ NBT แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

หลังจากเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างกลุ่ม นปช. กับกลุ่มพันธมิตรฯ ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมจากกลุ่ม นปช. เสียชีวิต 1 คน รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในเขตกรุงเทพมหานคร จนกระทั่ง วันที่ 14 กันยายน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้ร่วมกันแถลงยกเลิกประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมกันนี้นายสมชายยังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน เพื่อยุติความรุนแรงและความขัดแย้ง [59]

ฝ่ายที่สนับสนุน

วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2549 สมัชชาคนจน เข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย[60]

วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2551 พนักงานเดินรถไฟการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยสหภาพท่าเรือ สหภาพการบินไทย สหภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สหภาพการประปาและสหภาพขสมก. นัดหยุดงานเพื่อกดดันให้รัฐบาลลาออก ขณะเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรฯ จังหวัดภูเก็ต สงขลา และกระบี่ ร่วมกันปิดสนามบินภูเก็ต หาดใหญ่ และกระบี่ งดเที่ยวบินขึ้น-ลง ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ มีผลให้ผู้ที่กำลังเดินทางขึ้นเครื่องบินต้องกลับไปยังที่พักเพื่อรอดูสถานการณ์[61]

วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2551 เครือข่ายเยาวชนกู้ชาติ เดินขบวนจากที่ชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประกาศต่อต้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช และใช้แนวทางต่อสู้แบบอารยะขัดขืนโดยหยุดเรียนเป็นเวลา 3 วัน และหยุดติดต่อกันไปจนกว่ารัฐบาลจะลาออก การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีนิสิตและนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า 80 สถาบัน[62]

วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551 กลุ่ม 40 ส.ว.ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ชุมนุมกันอย่างสันติ จากนั้นเรียกร้องให้เลื่อนการประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม หลังจากรัฐบาลสั่งให้สลายการชุมนุม และได้ประท้วงด้วยการไม่เข้าร่วมประชุมรัฐสภา เนื่องจากไม่ต้องการเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการแถลงนโยบายของรัฐบาล ขณะที่ประชาชนถูกทำร้ายอยู่หน้ารัฐสภา รวมถึงการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในปัญหาความรุนแรงดังกล่าว และเรียกร้องทุกภาคส่วนทั้งในและนอกประเทศร่วมกันกดดันรัฐบาลไทย ให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน รวมทั้งยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้ไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อหยุดยั้งการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลโดยทันที ตลอดจนเรียกร้องให้สอบสวน และดำเนินการทางกฎหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไทย ฉะนั้น ในฐานะที่ OHCHR เป็นหน่วยงานสำคัญขององค์การสหประชาชาติที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเป็นสำนักเลขาธิการของคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กลุ่ม 40 ส.ว.จึงขอเรียกร้องให้ OHCHR ใช้ความพยายามในการกระทำอย่างเหมาะสมเพื่อหยุดยั้งและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย[63]

วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551 สภาทนายความ (ประเทศไทย)ได้ออกแถลงการณ์สภาทนายความ เรื่องอำนาจพนักงานสอบสวนที่ขัดรัฐธรรมนูญและขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่า ด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จากกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีที่กล่าวหาแกนนำ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นกบฏและข้ออื่น ๆ เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงการใช้อำนาจที่เหลื่อมล้ำและไม่ชอบธรรมกับประชาชนที่สุจริต ซึ่งเรื่องนี้สภาทนายความไม่คัดค้านให้ความเห็นแย้งมาโดยตลอดว่ากระบวนการ ใช้อำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณความอาญาที่พนักงานสอบสวนมักอ้างเสมอว่าจะขออำนาจศาลให้คุมตัวผู้ต้องหา เป็นกรณีที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมและขัดกับหลักกฎหมายโดยชัดแจ้ง สภาทนายความจึงขอแถลงการณ์มาเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโปรดพิจารณาไตร่ตรอง และดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้สมจริงตามหลักนิติธรรมและมาตรฐานสากลทั่วโลก 7 ข้อ[64]

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

วันที่ 30 มีนาคม 2549 บางส่วนของกลุ่มคาราวานคนจนมาปิดล้อมสำนักงานหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ในเครือเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป เนื่องจากกล่าวหาว่ามีการตีพิมพ์ข่าวไม่เหมาะสม เกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งหมิ่นเบื้องสูง โดยอ้างอิงถึงคลิปวิดีโอการให้สัมภาษณ์[65] จากการออกมาปฏิเสธของหนังสือพิมพ์คมชัดลึก จึงทำให้เหตุการณ์บานปลายออกไปจนถึงขั้นมีเหตุการณ์ชุลมุน และมีการสันนิษฐานว่ากลุ่มเดียวกันนี้ เป็นขบวนรถมอเตอร์ไซด์หลายร้อยคันไปชุมนุมที่บ้านพระอาทิตย์ สำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการในวันเดียวกัน แต่การชุลมุนก็จบลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงแต่อย่างใด

สำหรับผู้ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ เห็นพ้องว่า การที่มีการชุมนุมขนาดใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งยาวนานต่อเนื่องกลางกรุงเทพมหานครนั้น เป็นการสร้างปัญหาขึ้นมากมาย เช่น ปัญหาจราจรทั้งยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งเป็นเหตุให้เศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศหยุดชะงัก และเศรษฐกิจภายในประเทศพังทลาย

ในคืนวันที่ 19 มิถุนายน กลุ่มต่อต้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติได้เคลื่อนขบวนจากสนามหลวงมาหยุดอยู่ที่บริเวณสี่แยก จ.ป.ร. และเผชิญหน้ากับตอนท้ายขบวนของพันธมิตรฯ โดยยังไม่มีเหตุปะทะกัน ด้านตำรวจได้จับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง[66][67]

จากนั้น วันจันทร์ที่ 1 กันยายน กลุ่มนปช.จำนานหลายพันคนบุกผ่านแยกจปร.และหน้าสถานีตำรวจนางเลิ้งเข้าปะทะกับการ์ดของฝ่ายพันธมิตร โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ห้ามปราม โดยอ้างว่าต้องการจะยึดทำเนียบคืน จึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ต่อมาเกิดเหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 มีผู้เสียชีวิตทันทีหนึ่งราย ขณะเดียวกันทหารจากกองทัพภาคที่ 1 ได้เสริมกำลังด้วยโล่ และกระบองมากั้นระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย

วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ที่สนามหลวงก็มีการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งก็เป็นไปอย่างสงบเช่นเดียวกัน โดยก่อนหน้านี้ แกนนำ นปช.ได้ปราศรัยถึงการทำหน้าที่ของตำรวจในการสลายการชุมนุมว่าถูกต้องแล้ว ขณะเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ที่จะบุกยึดทำเนียบรัฐบาลคืนมา[68]

ปฏิกิริยาจากต่างชาติ

คณะกรรมมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) ได้ระบุถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรว่าไม่ใช่การเรียกร้องอย่างสันติ และเจตนาของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่ามีลักษณะของฟาสซิสต์[69] โดยระบุถึงการที่กลุ่มพันธมิตรโจมตีความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยและเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภามาจากการแต่งตั้งเป็นส่วนใหญ่[70][15][16] สื่อต่างประเทศระบุว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมและนโยบายการกระจายอำนาจทางการเมืองออกจากศูนย์กลาง รวมทั้งโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์[71][72][73] และเปิดโอกาสให้นายทหารและข้าราชการระดับสูงมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น[74]

รัฐบาลของประเทศ จีน, ฝรั่งเศส, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ต่างได้เตือนพลเมืองของประเทศให้หลีกเลี่ยงที่จะเดินทางมายังประเทศไทย และหลีกเลี่ยงผู้ชุมนุมที่สนามบิน[75]

สหภาพยุโรป ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกไปจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองอย่างสงบ และกล่าวว่าผลกระทบจากการชุมนุมประท้วง ทำให้มีผู้โดยสารตกค้างถึงกว่า 100,000 คน กำลังทำให้ภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศไทยเสียหายอย่างมาก[76][77]

กอร์ดอน ดูกิด โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "การปิดสนามบินไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องในการประท้วง" และพันธมิตรฯ ควรเดินออกจากสนามบินอย่างสงบ[78][79]

การดำเนินคดีอาญา

ศาลอาญามีคำสั่งจำคุก 5 การ์ดพันธมิตร ในข้อหามีอาวุธปืนและระเบิด เพื่อใช้ข่มขู่บังคับพนักงานรถเมล์และผู้โดยสารรถเมล์ให้ไปยังรัฐสภาโดยร่วมกันใช้อาวุธจี้ มีความผิด ฐานร่วมกันข่มขืนใจและกักขักหน่วงเหนี่ยว มีอาวุธปืนและระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้ในที่สาธารณะ รวมจำคุก 2 ปี ปรับ 66 บาท และฐานมีวิทยุสื่อสารในโดยไม่ได้รับอนุญาต (คนเดียว) รวมจำคุก 2 ปี ปรับเพิ่มอีก 2000 บาท ผู้ต้องหาขอประกันตัวและยื่นต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอนุญาต[80]

ศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก เนื่องจากนายปรีชา ตรีจรูญ เข้าร่วมชุมนุม และผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธ จึงมีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป แต่เห็นว่า ขณะตำรวจเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร มีตำรวจบางนายมีพฤติกรรม แสดงออกยั่วยุกลุ่มผู้ชุมนม ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ลุแก่อำนาจ ซึ่ง นายปรีชา ตรีจรูญก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส สูญเสียตาข้างขวา และถูกข่มเหงร้ายแรง ย่อมเป็นเหตุให้บันดาลโทสะ กระทำผิดต่อผู้เสียหาย ซึ่งเป็นตำรวจทั้ง 5 นาย และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้ให้จำคุก นายปรีชา จำคุก 4 ปี แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือ จำคุก 2 ปี 8 เดือน และให้จำคุกในความผิดฐานมั่วสุมอีก 8 เดือน รวมโทษจำคุก นายปรีชา เป็น 3 ปี 4 เดือน[81]

ด้านคดีอาญาคดีหมายเลขดำ ที่ อ.973/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวกจำนวน 98 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ กรณีพวกจำเลยบุกเข้าไปในสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี พ.ศ. 2551 ศาลได้มีคำสั่งเลื่อนฟ้องศาลได้เลื่อนตรวจพยานหลักฐานไปอีกครั้งวันที่ 1 ก.พ. 2559 เวลา 09.00 น.เนื่องจากการตรวจพยานหลักฐานยังไม่เรียบร้อย[82]

วันที่17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.4486/2551 ที่กลุ่มนักรบศรีวิชัย การ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกรุกอาคารสำนักงานสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 17 พ.ย.51 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 22-25 ส.ค.51 จำเลยทั้ง 82 คน กับพวกอีก 3 คน ซึ่งเป็นเยาวชน ร่วมกันบุกรุกอาคารสำนักงานสถานี NBT พร้อมพกอาวุธจำนวนมาก จากนั้นจำเลยได้ร่วมกันทำลายทรัพย์สิน รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นกว่า 6 แสนบาท ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของทางราชการ โดยจำเลยที่ 1 มีเครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่จำเลยที่ 39 , 80 มีใบกระท่อม ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 รวมจำนวน 18 ใบไว้ในครอบครอง ในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ในข้อหา พกพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 39 ให้การรับสารภาพ เฉพาะข้อหามีใบกระท่อมไว้ในครอบครองแต่ภายหลังกลับให้การปฏิเสธ ส่วนข้อหาอื่นจำเลยที่ 1-85 ให้การปฏิเสธ

ศาลเห็นว่า แม้จำเลยจะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่การที่บุกรุกให้หยุดเสนอข่าวต้องมีกฎหมายรองรับ พฤติการณ์แห่งคดีและการกระทำของจำเลยเป็นการมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และนายธเนศ จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืน แต่อย่างไรก็ตาม ทางนำสืบของโจทก์ยังไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการในฐานะเป็นหัวหน้าหรือไม่ เช่นเดียวกับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์นั้นโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยคนใดเป็นผู้กระทำผิด

สำหรับความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นฯ โจทก์ มีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ขณะนั้นเป็นผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ได้เบิกความว่า คืนเกิดเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ กลุ่มจำเลยได้พกอาวุธเข้ามาในสำนักงาน พร้อมกับให้พนักงานทุกคนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ศาลเห็นว่า การกระทำที่บุกรุกเข้าไปโดยมีอาวุธแล้วสั่งให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติงาน ย่อมทำให้พนักงานเกิดความหวาดกลัวและยอมทำตามคำสั่งของพวกจำเลย การกระทำของพวกจำเลย จึงเป็นความผิด

ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่มีเหตุนั้น รับฟังได้จากคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ว่า เป็นผู้ครอบครองอาวุธโดยมีใบอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 2 รับสารภาพว่า พกเครื่องกระสุนปืน ขนาด .22 จำนวน 1 นัด และขนาด .38 จำนวน 5 นัด ซึ่งการกระทำดังกล่าว ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยอื่นจะมีส่วนรู้เห็นความผิดนี้ด้วย อีกทั้งพยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจ เบิกความว่าเห็นจำเลยที่ 1 กับพวก พกอาวุธปืนและไม้ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของใคร พยานที่นำสืบมาจึงยังไม่อาจฟังได้ชัดเจนว่าจำเลยอื่น ร่วมกระทำผิดฐานพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะด้วย

แต่ที่จำเลยขอให้ศาลรอการลงโทษนั้น เห็นว่า ลักษณะการชุมนุมของจำเลยเป็นการชุมนุมทางการเมือง ก่อความไม่สงบวุ่นวาย สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง และบุกรุกสำนักงานของผู้อื่น ที่ศาลชั้นต้นไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จากพยานหลักฐานที่วินิจฉัยมา การกระทำของจำเลย ถือเป็นการกระทำกรรมเดียวต่อเนื่องกัน ซึ่งผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษบทหนักสุดฐานบุกรุก ซึ่งแม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องความผิดดังกล่าว แต่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจนำมาวินิจฉัยได้ตามกฎหมาย

จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1-29 , 31-41 , 42 - 46 , 48 - 80 และ 82 มีความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและข่มขู่จะใช้กำลังประทุษร้าย ให้จำคุกคนละ 1 ปี ซึ่งจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดฐานพกพาอาวุธปืนและมีเครื่องวิทยุสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ให้จำคุกอีก 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 1 ปี 4 เดือน

ส่วนจำเลยที่ 30,47 และ 81 ขณะก่อเหตุอายุไม่เกิน 20 ปี จึงให้จำคุกคนละ 8 เดือน และจำเลยที่ 83-85 ขณะเกิดเหตุอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้จำคุกคนละ 6 เดือน

โดยคำให้การจำเลยประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอบยู่บ้าง จึงเห็นควรลดโทษ ให้จำเลยที่ 1-29 , 31-41 , 42 - 46 , 48 - 80 และ 82 คนละกึ่งหนึ่งคงจำคุกคนละ 6 เดือน และลดโทษกึ่งหนึ่งให้จำเลยที่ 1 ฐานพกพาอาวุธ คงจำคุกอีก 2 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 8 เดือน

ส่วนจำเลยที่ 30 ,47 และ 81 ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 6 เดือน โดยจำเลยที่ 30, 47 , 81 , 83-85 ขณะกระทำผิดเป็นเยาวชน จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ ส่วนความผิดฐานซ่องโจรนั้นให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ภายหลังนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความจำเลย กล่าวว่า วันนี้เตรียมหลักทรัพย์เป็นเงินสด และกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ มาพร้อมยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหมด คนละ 200,000 บาท เพื่อจะฎีกาสู้คดีต่อไปและมีผู้ไม่มาฟังคำสั่งศาล 6 ราย ซึ่งดำเนินการออกหมายจับต่อไป[83]

การดำเนินคดีแพ่ง

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ได้ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวก รวม 14 คน กรณีนำกลุ่มพันธมิตรฯ ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองโดยเรียกค่าเสียหายจำนวน 103,483,141.80 บาท จากนั้นวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2552 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 36 คน ในข้อหาความผิดละเมิดเรียกค่าเสียหาย 575,229,059 บาท[84] ในส่วน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องเมื่อ พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เป็นคดีหมายเลขแดง 1117/2558 ,และคดีหมายแดง 1118/2558 ศาลแพ่งได้ตัดสินให้แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ 13 คน ชดใช้ค่าเสียหายทั้งกายภาพและทางพาณิชย์ 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าทนายความโจทก์ 8 หมื่นบาท นับจากวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2551 คดีอยู่ระหว่างฎีกา[85]โดยเมื่อวันที่ 9 ก.ค.58 นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มพันธมิตร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา พร้อมทั้งยื่นฎีกาต่อศาลในคดีดังกล่าวแล้ว โดยอ้างเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในขณะที่นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฏีกา ช่วยทำงานช่วยคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฏีกา โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า จากการตรวจสอบทราบว่า คดีดังกล่าวถึงที่สิ้นสุดแล้วตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์[86]ต่อมาในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560 ศาลฎีกายกคำร้อง 13 แกนนำ พธม. ขยายฎีกาคดีแพ่ง ในคดีที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง , นายสนธิ ลิ้มทองกุล , นายพิภพ ธงไชย , นายสุริยะใส กตะศิลา , นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ,นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ , นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ , นายอมร อมรรัตนานนท์ , นายนรัญยู หรือศรัณยู วงษ์กระจ่าง , นายสำราญ รอดเพชร , นายศิริชัย ไม้งาม , นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และนายเทิดภูมิ ใจดี แกนนำ พธม. ทั้ง 13 คน ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ในคดีหมายเลขดำที่ 6453/2551 เป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธ.ค.51 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561 น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบทรัพย์สินของ 13 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อดำเนินการยึดอายัดไปชดใช้ความเสียหายให้แก่ บริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้ 13 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องถูกฟ้องร้องให้เป็นบุคคลล้มละลายทางกฎหมาย

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรียังเข้าแจ้งความต่อแกนนำพันธมิตร 6 คนที่ร่วมกันบุกรุกทำเนียบรัฐบาลทำให้สวนหย่อมด้านหน้าเสียหาย เป็นมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท ซึ่งคดีกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา[87]

สื่อ

สถานีโทรทัศน์ที่ทำการถ่ายทอดสดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ทั้งปี พ.ศ. 2549 พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2554 คือสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี โดยแบ่งเป็นช่องต่างๆ ดังนี้

  1. ASTV News(News 1 เดิม) สถานีข่าว 24 ชั่วโมง เป็นช่องหลักที่ถ่ายทอดสดการชุมนุมตลอด 24 ชั่วโมง
  2. TAN NETWORK (Thai-Asean News NETWORK) สถานีข่าวภาคภาษาอังกฤษ
  3. Super บันเทิง สถานีข่าวบันเทิง
  4. esan TV สถานีโทรทัศน์วัฒนธรรมอีสาน
  5. SHOP at HOME ช่องรวมโฆษณาสินค้าประเภทสั่งทางโทรศัพท์(สินค้าไม่ใช่ของเอเอสทีวีโดยตรง)
  6. เถ้าแก่ ช่องธุรกิจ
  7. FMTV สถานีโทรทัศน์เพื่อมนุษยชาติ (สันติอโศกเป็นผู้ผลิตรายการ)

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 ASTV ได้เปลี่ยนช่องรายการ โดยสลับช่อง TAN NETWORK เป็นช่องรายการแรกจากจานรับสัญญาณดาวเทียม และช่อง ASTV News เป็นช่องรายการที่ 2 SHOP at HOME เป็นช่องรายการที่ 3 จากนั้นจึงเป็นช่อง Super บันเทิง, esan TV และช่องเถ้าแก่ตามลำดับ

เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ออกจำหน่ายทุกวันจันทร์-วันเสาร์ (โดยฉบับวันเสาร์จะควบวันอาทิตย์ไปด้วย) เสนอข่าวธุรกิจ และการเมือง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังมีหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์, นิตยสารผู้จัดการ 360° รายเดือน และเว็บไซต์ข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ อีกด้วย

อ้างอิง

  1. Bloomberg, Oxford Graduate Abhisit Elected in Thai Power Shift, 19 December 2008
  2. คำนูณ สิทธิสมาน. (2549). ปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า. สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์. ISBN 974-94609-7-9
  3. Airports still shut, trains not running Bangkok Post. August 31, 2008.
  4. Thai economy braces for fresh blow
  5. มติชนออนไลน์. พันธมิตรฯประกาศยุติบทบาท เคลื่อนไหวไม่ออกติดเงื่อนไขคดี-จวกปชป.ไม่เสียสละลาออกมาร่วมสู้. เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556
  6. Bloomberg. Thai Prime Minister Thaksin's Family Sells Shin Corp. (Update2). สืบค้นเมื่อ 27-12-2552.
  7. "วันก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-11. สืบค้นเมื่อ 2009-09-20.
  8. Thai PM Thaksin Sells Stake In Shin Telco
  9. แก้วสรร อติโพธิ. หยุดระบอบทักษิณ เก็บถาวร 2006-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ค้นเมื่อ 27-12-2552.
  10. Thailand War on Drugs Turns Murderous, 600 Killed This Month. StoptheDrugWar.org. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2553.
  11. "Ch 9 drops Sondhi for royal references". The Nation. 2005-09-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-07. สืบค้นเมื่อ 2010-04-21.
  12. "Monastic feud could lead to a schism". The Bangkok Post. 2005-03-05.
  13. Jonathan Head. Rifts behind Thailand's political crisis. BBC News. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
  14. 14.0 14.1 Newsweek, All Politics Isn’t Local, 6 September 2007
  15. 15.0 15.1 IHT, On 5th day of Thai protests, a carnival atmosphere เก็บถาวร 2008-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 30 August 2008
  16. 16.0 16.1 BBC, Rifts behind Thailand's political crisis, 27 August 2008
  17. ไทยรัฐ, แนวคิดการเมืองใหม่ เลือกส.ส.30%- สรรหา70%
  18. PAD Announcement Number 20/2008
  19. Matichon, ตร.เล็งลดกำลังดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม หลังเหตุการณ์สงบ พันธมิตรถก"การเมืองใหม่"ยังไม่ยุตินัดใหม่27ก.ย., 22 กันยายน พ.ศ. 2551
  20. "พันธมิตรพลิกสูตรการเมืองใหม่เลือกตั้งตรง-อ้อม100%". Komchadluek. 22 September 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-10-19.[ลิงก์เสีย]
  21. "ตั้งพรรคการเมืองใหม่ สมศักดิ์รั้งห้วหน้า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-01-17.
  22. พรรคการเมืองใหม่ตั้งโต๊ะโหวตสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นหัวหน้า รู้ผลบ่ายวันนี้
  23. Michael K. Connors, Bloomberg, Playing with the rules of the game: states of emergency, 2 September 2008
  24. Agence France-Presse via ThaiNewsLand.com, Ex-Thai PM Thaksin plans 'modern city' in Cambodia: official, 27 May 2008
  25. Prachatai, Sondhi Limthongkul’s solution to the Preah Vihear dispute เก็บถาวร 2008-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2 August 2008
  26. Giles Ji Ungphakorn, Prachatai, A briefing on the continuing crisis in Thailand เก็บถาวร 2008-09-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 4 September 2008
  27. เปิดประวัติ 9 แกนนำพันธมิตรฯ
  28. "จำลอง"โยนแกนนำรุ่น 2 ตัดสินหลีกทางเสด็จฯหรือไม่ ก่อนโดดนั่งกลางวงม็อบอาศัยฝูงชนเป็นกำแพงอีกแล้ว!
  29. ""ลุงจำลอง" จับโกหก "แม้ว" ยันไม่เคยบอกรวยกี่หมื่นล้าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-10. สืบค้นเมื่อ 2012-06-07.
  30. ย้อนดูวิกฤติเลือกตั้งในอดีต
  31. อัญเชิญพระสุรเสียงราชินีกึกก้องมัฆวานวันอาสาฯ
  32. พธม.ยอมปล่อยผู้โดยสารติดค้าง 3 พันคน ในอาคารสุวรรณภูมิ หลังขาดแคลนน้ำ-อาหาร เหตุร้านปิดบริการ เก็บถาวร 2011-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข่าวจากมติชน
  33. Airports still shut, trains not running Bangkok Post. August 31, 2008.
  34. เอเอสทีวีผู้จัดการ, พันธมิตรฯ แถลงประกาศชัยชนะ-ยุติชุมนุมทุกจุด 3 ธ.ค. เก็บถาวร 2011-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกข้อมูลวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551
  35. ไทยรัฐ, พธม.แถลงจี้รัฐบาล ปราบแดง 29 เม.ย.บุกราบ11 เรียกข้อมูลวันที่ 26 เมษายน 2553
  36. ไทยรัฐ, กลุ่ม 40 ส.ว.บีบรัฐเร่งปราบเสื้อแดง เรียกข้อมูลวันที่ 26 เมษายน 2553
  37. โพสทูเดย์, จำลองนำพันธมิตรจี้รัฐฟันนปช.[ลิงก์เสีย] เรียกข้อมูลวันที่ 29 เมษายน 2553
  38. "พันธมิตรแถลงประณาม โรดแมปนายกฯ ขาดความชัดเจน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-09. สืบค้นเมื่อ 2010-05-06.
  39. ถอย!พธม.เลื่อนม็อบไป 25 ม.ค. จากไทยโพสต์[ลิงก์เสีย]
  40. ข้อเรียกร้องระหว่างไทย-กัมพูชา จากแนวหน้า
  41. พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
  42. พธม.แผ่ว-มวลชนหาย! ด่ากราดทุกคนที่คิดต่าง 'เทพ'จี้ให้ฟังเสียงคนอื่น จะทำตัวเหนือก.ม.ไม่ได้
  43. พธม.แผ่วล้มแผนล้อมสภา[ลิงก์เสีย] จากไทยโพสต์
  44. ด้วย 'รักและหวังดี' เสียดาย 'พลัง' พธม.เก็บถาวร 2011-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากกรุงเทพธุรกิจ
  45. หึ่ง!ผู้จัดASTVนับ10แห่ลาออก!ฉุน'เจ๊กลิ้ม'บีบขึ้นเวทีพธม.เก็บถาวร 2011-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากประชาทรรศน์
  46. “ประพันธ์” โต้บทความ “เจิมศักดิ์” เตือนอยากมีอนาคตดีเลิกรับใช้ “อภิสิทธิ์” ได้แล้วเก็บถาวร 2011-04-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากผู้จัดการออนไลน์
  47. ""สนธิ" เผยเบื้องหลัง "อัญชะลี" ปัดร่วมพันธมิตรฯ-แนะพูดกันตรงๆ พี่น้องพร้อมอภัย จากผู้จัดการออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-29. สืบค้นเมื่อ 2011-04-30.
  48. "ตร.รวบสามีภรรยา-พกปืนใกล้ที่ชุมนุมพันธมิตรฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-11. สืบค้นเมื่อ 2013-01-04.
  49. พธม.เตรียมรณรงค์โหวตโน ที่แรกขอนแก่น17เมย.เก็บถาวร 2012-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากวอยซ์ทีวี
  50. ปาบึ้มหลังเวที พธม.เจ็บ 3ราย
  51. "ประกาศยุติการชุมนุม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-06. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  52. "สรส."ตัดหางพันธมิตรฯ สั่ง"สมศักดิ์-สาวิทย์"ถอนตัวแกนนำ จากข่าวสด[ลิงก์เสีย]
  53. "สนธิ" ถาม "สมศักดิ์" รับงานใครมาทำลายพธม. ลั่นสั่งสอนก.ม.ม. "โหวตโน- ยึดพรรคคืน"เก็บถาวร 2015-06-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากผู้จัดการออนไลน์
  54. พธม.รณรงค์โหวตโน,จี้รัฐบาลสอบเหตุการณ์ 10 เม.ย.53-คดีลอบสังหารสนธิ
  55. "โฆษกรัฐบาลเตือนพันธมิตรฯ อย่าใช้กฎหมู่ เหนือกฎหมาย". คม ชัด ลึก. 7 มิถุนายน 2551. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2552. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  56. "นพดลชี้การชุมนุมพันธมิตรฯ ส่งผลเสียต่อการพัฒนาประเทศ". คม ชัด ลึก. 7 มิถุนายน 2551. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2552. {{cite web}}: |first= ไม่มี |last= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์)
  57. สุภโกศล, นภาเพ็ญ (22 มิถุนายน 2551). "กลุ่ม ส.ส. และอดีต ส.ส. พรรคพลังประชาชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชน". สำนักข่าวแห่งชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-28. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2552. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  58. ""เพ็ญ" แถลงลาออกแล้ว อ้างเพื่อ "รักษาขุนให้อยู่รอด"". เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์. 30 พฤษภาคม 2551. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-13. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2552. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  59. "ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินมีผลวันนี้ สมชาย วอนยุติความขัดแย้ง". กระปุกดอตคอม. 14 กันยายน 2551. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2552. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  60. ""สมัชชาคนจน" เคลื่อนทัพสมทบ พันธมิตรฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-19. สืบค้นเมื่อ 2010-04-21.
  61. "สนามบินภูเก็ตปิดไม่มีกำหนด-สนามบินสุราษฎร์ฯ วุ่นอีกแห่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-03. สืบค้นเมื่อ 2010-04-21.
  62. Sanook.com, ใครเป็นใครใน Young PAD, เข้าถึงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551
  63. เอเอสทีวีผู้จัดการ, ส.ว.ร้องยูเอ็น! ค้าน รบ.โจรตั้ง คกก.สอบโจรเหตุ 7 ตุลาทมิฬ เก็บถาวร 2011-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 10 ตุลาคม 2551
  64. เอเอสทีวีผู้จัดการ, สภาทนายฯ ตั้งคณะทำงาน กม.ช่วยประชาชนถูกตำรวจทำร้าย เก็บถาวร 2011-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 10 ตุลาคม 2551
  65. คาราวานคนจนมาปิดล้อมสำนักงานหนังสือพิมพ์คมชัดลึก คลิปวิดีโอ
  66. มติชน, พันธมิตรเตรียมเคลื่อนบุกทำเนียบ'จำลอง' ย้ำห้ามพกอาวุธ ตร.ระดมกำลัง5พันรับมือ เก็บถาวร 2011-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 19 มิถุนายน 2551
  67. ประชาไท, สถานการณ์การชุมนุม มัฆวาน – สนามหลวง คืนก่อนวันทุบหม้อข้าว, 19 มิถุนายน 2551
  68. "พล.ต.อ.สล้าง ยืนยันยึดทำเนียบฯ คืนจากพันธมิตรฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-27. สืบค้นเมื่อ 2009-03-01.
  69. Asian Human Rights Committee, THAILAND: Watershed moment for democracy and rule of law เก็บถาวร 2008-12-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 26 November 2008
  70. ไทยรัฐ, แนวคิดการเมืองใหม่ เลือกส.ส.30%- สรรหา70%
  71. ABC, Thai PM threatens protestors over slogans, 5 August 2008
  72. Al Jazeera, Thai PM: 'I will never resign', 31 August 2008
  73. The Financial Times, Protesters besiege Thai state buildings เก็บถาวร 2008-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 27 August 2008
  74. AFP Thai PM consults king over escalating protests เก็บถาวร 2009-04-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 20 August 2008
  75. AFP, Defiant Thai PM rejects army pressure to quit[ลิงก์เสีย], 26 November 2008
  76. "EU Says Airport Protests Damaging Thailand's Image". Deutsche Welle. 2008-11-29. สืบค้นเมื่อ 2008-11-29.
  77. Ringborg, Maria (2008-11-29). "Polis borttvingad från Bangkoks flygplats" (ภาษาสวีเดน). Dagens Nyheter. สืบค้นเมื่อ 2008-11-29.
  78. "Blast Prompts Thai Protesters to Seek Police Patrols". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2009-02-19.
  79. "US : PAD should walk away from airports". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-17. สืบค้นเมื่อ 2009-02-19.
  80. "ศาลอาญามีคำสั่งจำคุก 5 การ์ดพันธมิตร ในข้อหามีอาวุธปืนและระเบิด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-11. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  81. "ศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก เนื่องจากนายปรีชา ตรีจรูญ เข้าร่วมชุมนุม และผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธ จึงมีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-07-20.
  82. ด้านคดีอาญาคดีหมายเลขดำ ที่ อ.973/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9[ลิงก์เสีย]
  83. อุทธรณ์ลดโทษ'79นักรบศรีวิชัย'บุกNBT
  84. ""การบินไทย" ฟ้องพันธมิตรฯ เรียก 575 ล้าน!". เอเอสทีวีผู้จัดการ. 9 ธันวาคม 2552. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-13. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2552. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  85. ทนายชี้ยึดทรัพย์แกนนำพธม.และฟ้องล้มละลายได้ หากคดีถึงที่สุด
  86. นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มพันธมิตร ชี้แจงต่อศาลฎีกา
  87. "พันธมิตรฯ ปฏิเสธคดีทำหญ้าทำเนียบตายเสียหาย 6 ล้าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-13. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น