หลี่ ต้าเจา
หลี่ ต้าเจา | |||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
李大釗 | |||||||||||||||
ข้อมูลส่วนบุคคล | |||||||||||||||
เกิด | 29 ตุลาคม ค.ศ. 1889 เล่าถิง จื๋อลี่ จักรวรรดิชิง | ||||||||||||||
เสียชีวิต | 28 เมษายน ค.ศ. 1927 ปักกิ่ง สาธารณรัฐจีน | (37 ปี)||||||||||||||
สาเหตุการเสียชีวิต | ถูกประหารชีวิตโดยการแขวนคอ | ||||||||||||||
เชื้อชาติ | จีน | ||||||||||||||
พรรคการเมือง |
| ||||||||||||||
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยวาเซดะ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น; วิทยาลัยกฎหมายและการเมืองเป่ย์หยาง เทียนจิน ประเทศจีน | ||||||||||||||
ชื่อภาษาจีน | |||||||||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 李大釗 | ||||||||||||||
อักษรจีนตัวย่อ | 李大钊 | ||||||||||||||
| |||||||||||||||
ชื่อรอง | |||||||||||||||
ภาษาจีน | 壽昌 守常 | ||||||||||||||
| |||||||||||||||
หลี่ ต้าเจา (จีน: 李大釗; พินอิน: Lǐ dàzhāo; 29 ตุลาคม ค.ศ. 1889 – 28 เมษายน ค.ศ. 1927) เป็นปัญญาชนและนักปฏิวัติชาวจีนผู้เข้าร่วมในขบวนการวัฒนธรรมใหม่ในช่วงปีแรกของสาธารณรัฐจีนที่ก่อตั้งใน ค.ศ. 1912 เขาร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับเฉิน ตู๋ซิ่วในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1921 เขาช่วยสร้างแนวร่วมที่เป็นหนึ่งเดียวระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคชาตินิยมของซุน ยัตเซ็นในช่วงต้นปี ค.ศ. 1924 ระหว่างการกรีธาทัพขึ้นเหนือ หลี่ถูกจับและประหารชีวิตโดยขุนศึกจาง จั้วหลินในปักกิ่งในเดือนเมษายน ค.ศ. 1927
ชีวประวัติ
[แก้]ชีวิตช่วงต้น
[แก้]หลี่เกิดในครอบครัวชาวนาในอำเภอเล่าถิง มณฑลเหอเป่ย์ (เดิมคือจื๋อลี่) ใน ค.ศ. 1889 วัยเด็กของเขาเต็มไปด้วยความทุกข์ยาก พ่อของเขาเสียชีวิตเพียงไม่กี่เดือนก่อนที่เขาจะเกิด และแม่ของเขาเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเป็นทารก เมื่ออายุได้สิบปี หลี่ได้แต่งงานกับจ้าว เหรินหลาน ซึ่งมีอายุมากกว่าเกือบหกปี ปู่บุญธรรมของหลี่ได้จัดการแต่งงานนี้เพื่อปกป้องหลี่ เขาได้รับการศึกษาแบบดั้งเดิมในโรงเรียนหมู่บ้านสามแห่งในอำเภอเล่าถิงเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษ[1] เขาเริ่มต้นรับการศึกษาสมัยใหม่ที่โรงเรียนมัธยมหย่งผิงฝู่ใน ค.ศ. 1905 ตั้งแต่ ค.ศ. 1907 ถึง 1913 เขาสำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยจากวิทยาลัยกฎหมายและการเมืองเป่ย์หยางในเทียนจิน ตั้งแต่ ค.ศ. 1914 ถึง 1916 หลี่ได้ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มหาวิทยาลัยวาเซดะในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น[2]: 32 ก่อนจะเดินทางกลับประเทศจีนใน ค.ศ. 1916 ในขณะอยู่ที่นั่น เขาอาศัยอยู่ที่หอพักวายเอ็มซีเอและเข้าร่วมการศึกษาพระคัมภีร์ที่โบสถ์ยาซูโสะ ชิมิซึ[3] เขาเรียนไม่จบเพราะถูกไล่ออกจากวาเซดะเพราะขาดเรียนเนื่องด้วยการเข้าร่วมการรณรงค์ต่อต้านความพยายามของจักรพรรดิยฺเหวียน ซื่อไข่ ซึ่งเขาเดินทางกลับเซี่ยงไฮ้ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1916[4] นักข่าวได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยวาเซดะเพื่อตามรอยชีวิตวัยเยาว์ของหลี่ในระหว่างที่เขาศึกษาในประเทศญี่ปุ่น ในช่วงฤดูหนาว ค.ศ. 1913 หลังสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยกฎหมายและการเมืองเป่ย์หยาง หลี่ได้ไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น โดยอาศัยอยู่ที่วายเอ็มซีเอในโตเกียว ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1914 เขาเข้าเรียนที่ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มหาวิทยาลัยวาเซดะอย่างเป็นทางการ ที่ศูนย์ประวัติศาสตร์และจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัยวาเซดะ นักข่าวพบสมุดใบเสร็จค่าเล่าเรียน 2 เล่มที่เกี่ยวข้องกับหลี่ ซึ่งบันทึกไว้อย่างชัดเจนด้วยปากกาหมึกซึม ได้แก่ หลี่จ่ายเงิน 5 เยนในวันที่ 9 กันยายน 4.5 เยนในวันที่ 26 ตุลาคม 4.5 เยนในวันที่ 9 พฤศจิกายน และอื่น ๆ ศาสตราจารย์กิตติคุณอันโดะ ฮิโกทาโระ แห่งมหาวิทยาลัยวาเซดะ ไม่ได้แสดงเฉพาะสำเนาการเรียนของหลี่เท่านั้น แต่ยังแสดงรายละเอียด 11 หลักสูตรที่เขาเรียนและอาจารย์ผู้สอนแต่ละรายวิชาด้วยในหนังสือเรื่อง "การสร้างสะพานสู่อนาคต: มหาวิทยาลัยวาเซดะและประเทศจีน" เขาแสดงความเห็นว่า "เมื่อเทียบกับนักศึกษาญี่ปุ่นคนอื่น ผลการเรียนของหลี่ค่อนข้างดี" สำเนาบัตรลงทะเบียนนักศึกษาของหลี่ที่สแกนซึ่งจัดทำโดยสมาคมศิษย์เก่าชาวจีนมหาวิทยาลัยวาเซดะระบุชื่อ ที่อยู่ สถานที่เกิด และข้อมูลการลงทะเบียนของเขาอย่างชัดเจน คาวาโซโกะ ฟูมิฮิโกะกล่าวว่าในช่วงที่เขาเรียนอยู่ที่โรงเรียนกฎหมายและการเมืองเป่ย์หยาง หลี่เรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นอย่างกระตือรือร้นและแปล "The Program of Tolstoyism" ของนากาซาโตะ มิยาโซสึเป็นภาษาจีนใน ค.ศ. 1913 แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นของเขาตั้งแต่ก่อนจะมาถึงญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ในประเทศญี่ปุ่น เขายังคงเรียนภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่องในขณะอาศัยอยู่ที่วายเอ็มซีเอ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1915 ระหว่างปีแรกของหลี่ที่วาเซดะ โอกูมะ ชิเงโนบุ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้นและคณะรัฐมนตรีของเขาได้เสนอ "21 ข้อเรียกร้อง" ต่อจีนอย่างเป็นความลับ เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการตอบสนองอย่างแข็งขันจากนักศึกษาจีนที่ศึกษาอยู่ในญี่ปุ่น และหลี่ก็เข้าร่วมการประท้วงของพวกเขาด้วย เขาปฏิเสธที่จะเรียนวิชาจากศาสตราจารย์ เช่น อุกิตะ คาสึทามิ ผู้สนับสนุนตัวยงของ "21 ข้อเรียกร้อง" และฮาจิโนะ นากายาสึ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของยฺเหวียน ชื่อไข่ หลี่วิจารณ์พวกเขาในบทความเช่น "เงื่อนไขแห่งชาติ" ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1916 บัตรลงทะเบียนนักศึกษาของเขาถูกประทับตราระบุวันที่ถอนตัว พร้อมระบุเหตุผลว่า "ถูกถอนออกเนื่องจากขาดเรียนเป็นเวลานาน" ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1916 หลี่พร้อมกับนักศึกษาชาวจีนอีกหลายร้อยคนในญี่ปุ่นละทิ้งการศึกษาในสถาบันที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมฝ่ายต่อต้านยฺเหวียน ชื่อไข่ในประเทศ[5]
หัวหน้าบรรณารักษ์และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
[แก้]หลังจากกลับมายังประเทศจีน หลี่ทำงานเป็นบรรณาธิการให้กับหนังสือพิมพ์หลายฉบับในปักกิ่ง โดยตีพิมพ์บทความต่าง ๆ มากมายเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย เสรีภาพ การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ และการฟื้นคืนชาติ ในฐานะปัญญาชนชั้นนำในขบวนการวัฒนธรรมใหม่ [2]: 32 เขาโจมตีประเพณีระบบศักดินาของจีน วิจารณ์อดีตอันทรราชย์ และสนับสนุนระบบผู้แทนอย่างแข็งขัน ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1918 หลี่ได้รับการว่าจ้างจากไช่ ยฺเหวียนเผย์ให้เป็นหัวหน้าห้องสมุดที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งในปักกิ่ง และสองสามปีต่อมา เขาก็ได้กลายเป็นศาสตราจารย์ด้านการเมือง ประวัติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ที่นั่น เขาสอนหลักสูตรต่าง ๆ มากมายไม่เพียงแต่ในมหาวิทยาลัยปักกิ่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมหาวิทยาลัยอื่นอีกสี่แห่งในปักกิ่งด้วย เขาได้รับเชิญเป็นวิทยากรโดยสมาคม วิทยาลัย และองค์กรอื่น ๆ ทั่วประเทศจีน ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เขามีอิทธิพลต่อนักเรียนในช่วงขบวนการ 4 พฤษภาคมในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 รวมถึงเหมา เจ๋อตง ซึ่งทำงานเป็นผู้ช่วยในห้องอ่านหนังสือของห้องสมุด[6] ในหลาย ๆ ด้าน "การเรียกร้องอย่างเร่งด่วนของหลี่เพื่อประชาธิปไตย วิทยาศาสตร์ และการปกครองตามรัฐธรรมนูญถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความยอดเยี่ยมของขบวนการ 4 พฤษภาคม"[7]
ที่สำคัญไปกว่านั้น หลี่เป็นผู้นำที่มีชื่อเสียงในช่วงขบวนการ 4 พฤษภาคม [2]: 32 เขาให้คำแนะนำและฝึกสอนนักเรียนรุ่นเยาว์ในปักกิ่งให้ต่อต้านรัฐบาลเป่ย์หยางและประท้วงการตัดสินใจของมหาอำนาจจักรวรรดินิยมในการประชุมสันติภาพปารีสใน ค.ศ. 1919 ที่จะโอนสิทธิพิเศษของอาณานิคมของเยอรมันในชานตงให้กับจักรวรรดิญี่ปุ่น ในช่วงเวลานี้ เขาตีพิมพ์ผลงานอย่างมีประสิทธิผลในหัวข้อต่าง ๆ มากมาย โดยส่งเสริมแนวคิดใหม่ ๆ และก้าวหน้า และกลายเป็นคอมมิวนิสต์จีนคนแรกที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาด้วยตนเอง[8] เขาเป็นหนึ่งในนักวิชาการคนแรก ๆ ที่สำรวจรัฐบาลบอลเชวิคในสหภาพโซเวียตซึ่งอาจเป็นต้นแบบให้กับประเทศของเขาเอง ตลอดชีวิตของเขา หลี่รักษาความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลสำคัญในขบวนการวัฒนธรรมใหม่ เช่น หู ชื่อ และหลู่ ซฺวิ่น พวกเขาจะมีความเห็นทางวิชาการหลากหลายและมีจุดยืนทางการเมืองต่างกัน[9]
ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน
[แก้]จากคำบอกเล่ามากมาย หลี่เป็นชาตินิยมและเชื่อว่าประชาชาติจีนสามารถเพลิดเพลินไปกับยุคฟื้นฟูได้โดยการยอมรับวัฒนธรรมใหม่ ฟื้นฟูประชาชน และปรับปรุงอารยธรรมของตน หลี่ชื่นชมอเมริกามาหลายปีแต่เปลี่ยนทัศนคติดังกล่าวมาเป็นปัญญาชนที่นิยมรัสเซียใน ค.ศ. 1919[10] เช่นเดียวกับปัญญาชนคนอื่น ๆ ในสมัยของเขา ความคิดของหลี่ได้รับผลกระทบจากองค์ประกอบที่หลากหลาย เช่น ลัทธิอนาธิปไตยของโครพ็อตกิน หลังจากขบวนการ 4 พฤษภาคม เขาและปัญญาชนคนอื่น ๆ เริ่มหันไปหาลัทธิมากซ์ ความสำเร็จของการปฏิวัติบอลเชวิคเป็นปัจจัยในการปรับเปลี่ยนมุมมองทางการเมืองของเขา
ต่อมา หลี่ผสมผสานความคิดชาตินิยมดั้งเดิมของตนกับทัศนคติแบบมาร์กซิสต์ที่เพิ่งได้รับมาใหม่เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ทางการเมืองเพื่อความอยู่รอดของชาติ[11] การศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นว่าหลี่อ่านผลงานที่เกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นหลักจากแหล่งข้อมูลของญี่ปุ่นซึ่งช่วยให้เขาเข้าใจอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ได้ลึกซึ้งขึ้น[12]
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองของหลี่มีความต่างจากมุมมองทั่วไปของมาร์กซิสต์ที่ว่าชนชั้นกรรมาชีพในเมืองเป็นชนชั้นปฏิวัติ[2]: 32 ในมุมมองของหลี่ ชาวนาในชนบทของจีนจะเป็นพลังสำคัญในการปรับระดับชนชั้นและเป็นแหล่งที่มาทางการเมืองสำหรับการปฏิวัติ[2]: 32
แม้จะมีการตีพิมพ์บทความที่อ้างอิงถึงลัทธิมากซ์บางส่วนในประเทศจีนมาก่อนแล้วก็ตาม แต่ใน ค.ศ. 1918 หลี่กลายเป็นคนแรกในจีนที่เผยแพร่ลัทธิมากซ์ผ่านบทความที่ตีพิมพ์อย่างมีนัยสำคัญ[13] ในบทความ ทัศนะมาร์กซิสต์ของข้าพเจ้า (My Marxist Views) ของเขาใน ค.ศ. 1919 และบทความ สาระสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ (The Essentials of Historical Study) ของเขาใน ค.ศ. 1924 หลี่กล่าวว่ารุ่นต่อรุ่นสร้างอนาคตของตนเองได้โดยการควบคุมพลังทางสังคม[2]: 32 ในมุมมองของหลี่ การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นผ่านการก้าวหน้าแบบเชิงเส้นตรงที่เน้นไปที่ขั้นตอนต่าง ๆ ของการปรับปรุงอารยธรรมโดยได้รับการควบคุมจากการกระทำของมนุษย์[2]: 33 หลี่ริเริ่มเหล่าเยาวชนสังคมนิยมปักกิ่งใน ค.ศ. 1920[14] เขาสร้างกลุ่มสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์จีนกลุ่มแรก ๆ ในปักกิ่งตั้งแต่ก่อนจะมีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเซี่ยงไฮ้ หลี่และเฉิน ตู๋ซิ่วได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรค[2]: 32
แนวร่วมพรรคชาตินิยมของซุน ยัตเซ็น
[แก้]ภายใต้การนำของหลี่และเฉิน พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พัฒนาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ควบคุมโดยโซเวียต ภายหลังการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลี่และคอมมิวนิสต์ยุคแรกคนอื่น ๆ ได้ทำงานอย่างขยันขันแข็งเพื่อระดมคนงานทางรถไฟและเหมืองแร่ชาวจีนให้ต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง ภายใต้การกำกับดูแลของโคมินเทิร์น หลี่และเฉินเข้าร่วมพรรคชาตินิยมใน ค.ศ. 1922 และสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับซุน ยัตเซ็น หลี่ได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมาธิการบริหารกลางของก๊กมินตั๋ง ในกว่างโจว (กวางตุ้ง) ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2467 ซึ่งถือเป็นการก่อตั้งแนวร่วมแรกระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคชาตินิยมอย่างเป็นทางการ ทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันในการต่อสู้กับศัตรูร่วมกัน ได้แก่ รัฐบาลขุนศึกในปักกิ่งและมหาอำนาจจักรวรรดินิยมที่ครอบงำอิทธิพลหลายด้านในประเทศจีน
หลี่ไปเยือนสหภาพโซเวียตในปลายปี ค.ศ. 1924 และอยู่ที่นั่นนานหลายเดือน[15] เมื่อกลับจากรัสเซีย เขาได้เกี้ยวพาราสีเฝิง ยฺวี่เสียง ขุนศึกคริสเตียนให้เข้าฝ่ายชาตินิยม ชักชวนคนหนุ่มสาวเข้าร่วมพรรคการเมืองทั้งสอง และจัดกิจกรรมปฏิวัติมากมาย เขาเร่งเร้าให้เฝิงใช้ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับจาง จั้วหลินตั้งแต่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนไปจนถึงมณฑลเหอหนาน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จของการกรีธาทัพขึ้นเหนือเพื่อโค่นระบอบขุนศึกในปักกิ่ง[16]
เสียชีวิต
[แก้]ความตึงเครียดระหว่างโคมินเทิร์นกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในด้านหนึ่งและก๊กมินตั๋งในอีกด้านหนึ่งนำไปสู่การวางอุบายทางการเมือง โดยเฉพาะหลังการเสียชีวิตของซุน ยัตเซ็นใน ค.ศ. 1925 ไม่ว่าในกรณีใด หลี่มีส่วนสำคัญในแนวร่วมของพรรคทั้งสองซึ่งเขาทำหน้าที่เป็นผู้นำในจีนตอนเหนือ เขาช่วยจัดการประท้วงต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1926 ซึ่งทหารรักษาการณ์ของรัฐบาลได้ยิงเข้าไปในฝูงชน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 47 รายและบาดเจ็บอีกกว่า 200 ราย หลังการสังหารหมู่ 18 มีนาคม หลี่ถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อผู้ต้องสงสัยที่รัฐบาลเป่ย์หยางต้องการตัวมากที่สุด เขาหลบภัยไปยังสถานทูตโซเวียตในปักกิ่งแต่ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองในจีนตอนเหนือเพื่อโค่นรัฐบาลขุนศึก[17] เมื่อแนวร่วมล่มสลายใน ค.ศ. 1927 จาง จั้วหลินแห่งกลุ่มเฟิ่งเทียนได้สั่งการบุกโจมตีสถานทูตในวันที่ 6 เมษายน แม้จะละเมิดเอกสิทธิ์ทางการทูต แต่การกระทำนี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้แทนทางการทูตต่างประเทศอื่น ๆ ไปแล้ว[18] หลี่ ภรรยาและลูกสาวของเขาถูกจำคุก แต่ภรรยาและลูกสาวของเขาได้รับการปล่อยตัวไม่นานหลังจากหลี่ถูกประหารชีวิต หลี่และพันธมิตรอีก 19 คน ทั้งชาตินิยมและคอมมิวนิสต์ ถูกตัดสินประหารชีวิตอย่างลับ ๆ และพวกเขาถูกประหารชีวิตโดยการแขวนคอในวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1927[19][20]
มรดก
[แก้]หลี่ ต้าเจาทิ้งมรดกอันยั่งยืนไว้ให้ในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ในฐานะปัญญาชนชั้นนำของขบวนการวัฒนธรรมใหม่ของจีน เขาเขียนบทความนับร้อยเรื่องเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย สนับสนุนรัฐบาลที่มีรัฐธรรมนูญ รับรองเสรีภาพส่วนบุคคล และเรียกร้องให้ฟื้นฟูชาติ โลกอุดมการณ์ของเขาอาจซับซ้อนเนื่องจากเขานำเอาความคิดที่หลากหลายมาใช้[21] การผันตัวของเขาไปสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นช่างน่าทึ่งมาก โดยระหว่าง ค.ศ. 1918 ถึง 1919 เขาได้กลายเป็นคอมมิวนิสต์คนแรกของจีน เร็วกว่าเฉิน ตู๋ซิ่วประมาณหนึ่งปี
ความคิดของหลี่เกี่ยวกับบทบาทของชาวนามีอิทธิพลต่อเหมา เจ๋อตงอย่างมาก ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน บทบาทสำคัญของหลี่ในการตัดสินใจสำหรับกิจกรรมคอมมิวนิสต์ในช่วงแรกและการนำเสนอทฤษฎีใหม่ ๆ มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อขั้นเริ่มต้นของการปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีน ในความหมายเฉพาะอย่างหนึ่ง หลี่เป็นสะพานพิเศษระหว่างสองรุ่นแรกของผู้นำคอมมิวนิสต์ มอริส ไมส์เนอร์กล่าวว่าหลี่คือ "ผู้นำที่แท้จริงคนแรกและผู้เสียสละที่ยิ่งใหญ่ที่สุด" ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเขา "เป็นตัวแทนของความเชื่อมโยงระหว่างคนรุ่นเก่าของปัญญาชนที่มุ่งเน้นประชาธิปไตยและได้รับการศึกษาแบบตะวันตกในช่วงแรกของขบวนการวัฒนธรรมใหม่ (ประมาณ ค.ศ. 1915–1919) ซึ่งเป็นช่วงที่มาร์กซิสต์ชาวจีนกลุ่มแรกถือกำเนิดขึ้น และปัญญาชนคอมมิวนิสต์รุ่นใหม่ที่สืบทอดความเป็นผู้นำของพรรคหลังจาก ค.ศ. 1927"[22]
ใน ค.ศ. 2021 ภาพยนตร์เรื่อง The Pioneer ซึ่งเป็นภาพยนตร์ชีวประวัติของเขานำแสดงโดยจาง ซ่งเหวิน รับบทเป็นหลี่ ต้าเจาได้เข้าฉาย ฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน[23]
ครอบครัว
[แก้]คู่สมรส:
- จ้าว เหรินหลาน (1884–1933)
บุตร:
- หลี เป่าหฺวา (1909–2005) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนตั้งแต่ ค.ศ. 1978 ถึง 1982
- หลี่ ซิ่งหฺวา (1911–1979)
- หลี่ เยี่ยนหฺวา
- หลี่ กวงหฺวา
- หลี่ ซินหฺวา
อ้างอิง
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 唐山市委党史研究室 [CCP Tangshan Municipal Committee Party History Research House]. 李大钊与故乡 [Li Dazhao and his hometown]. Beijing: Central Party Literature Press, 1994, pp. 1-90.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 Rodenbiker, Jesse (2023). Ecological States: Politics of Science and Nature in Urbanizing China. Environments of East Asia. Ithaca, NY: Cornell University Press. ISBN 978-1-5017-6900-9.
- ↑ Hua, Shiping (16 August 2021). Chinese Ideology. Routledge. ISBN 9781000422245.
- ↑ Meisner 1967, p. 28.
- ↑ "通讯:在日本追寻李大钊之青春印记-新华网". Xinhua News Agency. สืบค้นเมื่อ 2024-01-11.
- ↑ Murray, Stuart. The Library: An Illustrated History. New York, NY: Skyhorse Pub, 2009.
- ↑ Patrick Fuliang Shan, “Assessing Li Dazhao’s Role in the New Cultural Movement,” in A Century of Student Movements in China: The Mountain Movers, 1919-2019, Rowman Littlefield and Lexington Books, 2020, p. 20.
- ↑ Patrick Fuliang Shan, “Assessing Li Dazhao’s Role in the New Cultural Movement,” ibid, pp. 3-22.
- ↑ Meisner (1967), p. 221.
- ↑ Patrick Fuliang Shan, “From Admirer to Critic: Li Dazhao’s Changing Attitudes towards the United States,” in Sino-American Relations: The New Cold War, The University of Amsterdam Press, 2022, 31-54.
- ↑ Meisner (1967), p. 178.
- ↑ Patrick Fuliang Shan, “Li Dazhao and the Chinese Embracement of Communism,” in Shiping Hua (ed.), Chinese Ideology, Routledge, 2022, 94-110.
- ↑ Huang, Yibing (2020). An Ideological History of the Communist Party of China. Vol. I. Qian Zheng, Guoyou Wu, Xuemei Ding, Li Sun, Shelly Bryant. Montreal, Quebec. p. 7. ISBN 978-1-4878-0425-1. OCLC 1165409653.
- ↑ Pringsheim (1962), p. 78.
- ↑ Patrick Fuliang Shan, Li Dazhao: China's First Communist, Albany, NY: SUNY Press, 2024, 175-182.
- ↑ Yan Zhixin. Li Dazhao and Feng Yuxiang. Beijing: People's Liberation Army Publishing House, 1987, p. 202.
- ↑ Zhu Zhimin. 李大钊传 [Biography of Li Dazhao]. Beijing: Hongqi Publishing House, 2009, p. 358.
- ↑ "张作霖杀害共产党创始人李大钊的复杂内幕(2)". Sina (ภาษาจีน). 21 October 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 December 2013. สืบค้นเมื่อ 2 November 2024.
- ↑ Meisner (1967), p. 259.
- ↑ Yang (2014), p. 516.
- ↑ Arif Dirlik, The Origin of Chinese Communism, Oxford University Press, 1989, p. 43.
- ↑ Meisner (1967), p. 12.
- ↑ Xing, Yi (1 January 2021). "Films to celebrate the centennial of CPC". China Daily. สืบค้นเมื่อ 1 November 2023.
แหล่งที่มา
[แก้]- Original text based on marxists.org article, released under the GNU FDL.
- Meisner, Maurice (1967). Li Ta-Chao and the Origins of Chinese Marxism. Cambridge: Harvard University Press.
- Yang, Hu (2014). "李大釗年譜簡編" [Summarized Chronicle of Li Dazhao]. 中國近代思想家文庫·李大釗卷 [Library for China's Modern Ideologists – Li Dazhao's Volume]. Beijing: China Renmin University Press.
- Patrick Fuliang Shan, Li Dazhao: China's First Communist, Albany, NY: SUNY Press, 2024.
- Pringsheim, Klaus H. (Oct–Dec 1962). "The Functions of Chinese Communist Youth Leagues 1920–1949". The China Quarterly. 12: 75–91. doi:10.1017/s0305741000020762. S2CID 153915560.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Li Dazhao