เหมา อี๋ชาง
เหมา อี๋ชาง 毛贻昌 | |
---|---|
เกิด | 15 ตุลาคม พ.ศ. 2413 อำเภอเฉาชาน มณฑลหูหนาน จักรวรรดิชิง |
เสียชีวิต | 23 มกราคม พ.ศ. 2463 (49 ปี) อำเภอเฉาชาน มณฑลหูหนาน สาธารณรัฐจีน |
อาชีพ | เกษตรกร, พ่อค้าธัญพืช |
คู่สมรส | เหวิน ซู่ฉิน |
บุตร | เหมา เจ๋อตง เหมา เจ๋อหมิน เหมา เจ๋อถาน เหมา เจ๋อเจี้ยน (บุตรบุญธรรม) |
เหมา อี๋ชาง (จีน: 毛贻昌; พินอิน: Máo Yíchāng; 15 ตุลาคม พ.ศ. 2413 – 23 มกราคม พ.ศ. 2463) เป็นเกษตรกรและพ่อค้าธัญพืชชาวจีน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะบิดาของเหมา เจ๋อตง เขาเป็นทายาทรุ่นที่ 19 ของตระกูลเหมา เกิดและใช้ชีวิตอยู่ที่หมู่บ้านเฉาชานจง ในอำเภอเฉาชาน มณฑลหูหนาน
เหมา อี๋ชาง เป็นบุตรชายของเหมา เอินผู่ เติบโตมาในครอบครัวชาวนาที่ยากจน เขาแต่งงานกับเหวิน ซู่ฉิน เมื่ออายุได้ 15 ปี ต่อมาเขารับราชการในทัพเซียงเป็นเวลา 2 ปี หลังจากกลับมาทำการเกษตรกรรม เขาก็กลายเป็นผู้ปล่อยเงินกู้และพ่อค้าธัญพืช โดยการซื้อข้าวในท้องถิ่นไปขายในเมืองเพื่อหารายได้ที่สูงขึ้น ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในชาวนาที่ร่ำรวยที่สุดในเฉาชาน และมีที่ดินถึง 50 ไร่ เขากับเวินมีบุตร 4 คนได้แก่ เหมา เจ๋อตง, เหมา เจ๋อหมิน, เหมา เจ๋อถาน และเหมา เจ๋อเจี้ยน ซึ่งบุตรคนหลังนี้เป็นบุตรบุญธรรม
ประวัติ
[แก้]ตามประวัติความเป็นมาที่เล่าต่อกันมาในครอบครัว บรรพบุรุษของตระกูลเหมาในเฉาชานคือ เหมา ไท่หัว ไท่หัวเดินทางออกจากบ้านเกิดที่มณฑลเจียงซีไปยังมณฑยูนนาน ที่นั่นเขาเข้าร่วมกบฏของจู หยวนจาง เพื่อต่อต้านราชวงศ์หยวน จากนั้นจูก็ได้โค่นล้มราชวงศ์หยวนและสถาปนาราชวงศ์หมิงขึ้นในปี พ.ศ. 1911 ไท่หัวแต่งงานกับหญิงท้องถิ่นในยูนนาน ในปี พ.ศ. 1923 ครอบครัวของไท่หัวได้ย้ายไปตั้งรกรากที่อำเภอเซียงเซียงถาน มณฑลหูหนาน ประมาณ 10 ปีต่อมา ลูกชายสองคนก็ได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอเฉาชานในจังหวัดเซียงถาน โดยมีเหมา อี๋ชางเป็นลูกหลานของพวกเขา[1]
เหมา อี้ชาง เกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2413 เป็นบุตรคนเดียวของเหมา เอินผู่ และภรรยาชื่อหลิว เอินผู่เป็นเกษตรกรที่ยากจนมาตลอดชีวิต ทำให้เหมา อี๋ชางมีหนี้สินติดตัวมาตั้งแต่เด็ก[2] เขาหมั้นกับเหวินตั้งแต่เธออายุ 13 ปี ตอนเขาอายุ 10 ปี งานแต่งงานเกิดขึ้นในอีก 5 ปีต่อมาตอนเขาอายุได้ 15 ปี[2] เนื่องจากหนี้สินของบิดา อี๋ชางจึงต้องไปรับใช้ในทัพเซียงของเจิง กั๋วฟาน ในท้องถิ่นเป็นเวลา 2 ปี ในช่วงเวลานี้เขาเก็บเงินได้มากพอที่จะซื้อที่ดินคืนกลับมาได้จำนวนมาก ซึ่งเป็นที่ดินที่บิดาของเขาเคยสูญเสียไป[3] ด้วยความขยันขันแข็งและความมัธยัสถ์ เหมา อี๋ชาง จึงสามารถไต่เต้าจนกลายเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในหมู่บ้าน[4] ตามเรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมาตั้งแต่เหมา เจ๋อตง ถึงลูกสาวคนหนึ่งของเขา อี๋ชางมักจะพูดว่า:[5]
ความยากจนไม่ได้มาจากการกินมากหรือใช้จ่ายมากเกินไป แต่เกิดจากความไม่สามารถทางคณิตศาสตร์ ผู้ใดคำนวณเป็น ย่อมมีพอกินพอใช้ ผู้ใดคำนวณไม่เป็น แม้ภูเขาทองคำก็จะสุรุ่ยสุร่ายหมด![5]
หลิว มารดาของเหมา อี๋ชาง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2427 ขณะมีอายุ 37 ปี[2]
เหมา เจ๋อตง
[แก้]ก่อนที่เหมา เจ๋อตงจะเกิด เหมา อี๋ชางและภรรยาเคยมีบุตรชายด้วยกันสองคน แต่ทั้งคู่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก[5] หลังจากเหมา เจ๋อตง เกิด บิดาและมารดาของเขาได้รับไก่ตัวผู้เป็นของขวัญตามธรรมเนียมท้องถิ่น[5] 2 ปีต่อมา ก็ได้กำเนิดบุตรชายคนที่สอง ชื่อเจ๋อหมิน ตามมาด้วยบุตรชายคนที่สาม ชื่อเจ๋อถาน เกิดในปี พ.ศ. 2448 ลูกสาวอีกสองคนเสียชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก แต่ครอบครัวได้รับบุตรสาวอีกคนมาเลี้ยงดู[5]
แม้ว่าจะเป็นเกษตรกรที่ได้รับการศึกษาเพียงเล็กน้อย แต่เหมา อี๋ชาง ก็กลายเป็นหนึ่งในคนที่ร่ำรวยที่สุดในหมู่บ้าน[6] เขาปลูกข้าวไว้เลี้ยงดูครอบครัว โดยแบ่งข้าวเป็น 2 ส่วน สองในสามเก็บไว้กินเอง ส่วนที่เหลือนำไปขายที่ตลาด[7] นอกจากนี้ เขายังจ้างคนงานอีก 2 คน และเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อข้าวจากชาวนาเพื่อเอาไปขายต่อในเมือง[7] อาชีพพ่อค้าคนกลางลักษณะนี้เองที่ เหมา เจ๋อตงมองว่าเป็นการแสวงหาผลประโยชน์บนความเดือดร้อนของผู้อื่น[7] เหมา อี๋ชาง ยังเป็นผู้ให้กู้เงินที่คิดดอกเบี้ยสูง โดยยึดที่ดินของชาวนารายอื่นเป็นประกัน[8]
เหมา อี๋ชาง เสียชีวิตด้วยโรคไข้รากสาดน้อยในปี พ.ศ. 2463[9]
เหมา เจ๋อตง เคยเล่าว่าบิดาของเขาเป็นคนเคร่งครัดในระเบียบวินัย ชอบลงโทษเขาและพี่น้องด้วยการเฆี่ยนตีอย่างรุนแรง บิดาของเขามองว่าเขามีนิสัยเกียจคร้าน เพราะเหมา เจ๋อตงชอบอ่านหนังสือมากกว่าที่จะช่วยทำงานบ้าน[10][11][12]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Pantsov & Levine 2012, p. 11
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Pantsov & Levine 2012, p. 13
- ↑ Short 1999, p. 20; Pantsov & Levine 2012, p. 13.
- ↑ Short 1999, p. 20.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Pantsov & Levine 2012, p. 14
- ↑ Karl, Rebecca E. (2010). Mao Zedong and China in the twentieth-century world : a concise history. Durham [NC]: Duke University Press. pp. 4–5. ISBN 978-0-8223-4780-4. OCLC 503828045.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 Karl, Rebecca E. (2010). Mao Zedong and China in the twentieth-century world : a concise history. Durham [NC]: Duke University Press. p. 5. ISBN 978-0-8223-4780-4. OCLC 503828045.
- ↑ Karl, Rebecca E. (2010). Mao Zedong and China in the twentieth-century world : a concise history. Durham [NC]: Duke University Press. p. 6. ISBN 978-0-8223-4780-4. OCLC 503828045.
- ↑ http://assets.cambridge.org/97811070/92723/excerpt/9781107092723_excerpt.pdf [bare URL PDF]
- ↑ Schram, Stuart (1966). Mao Tse-tung. London: Simon & Schuster.
- ↑ Terrill, Ross (1980). Mao: A Biography.
- ↑ Feigon, Lee (2002). Mao: A Reinterpretation. Chicago: Ivan R. Dee.