ข้ามไปเนื้อหา

ราชวงศ์ชิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จักรวรรดิต้าชิง

大清
ค.ศ. 1636–1912
ตราพระราชลัญจกรของราชวงศ์ชิง
ตราพระราชลัญจกร
เพลงชาติ(ค.ศ. 1911–1912)
ก่งจินโอว (Gong Jin'ou)
("ขอให้จักรวรรดิของเราจงเข้มแข็ง")
อาณาเขตของจักรวรรดิชิงในช่วงที่แผ่อำนาจกว้างที่สุดในปี ค.ศ. 1760 ดินแดนภายใต้การควบคุมของราชสำนักแสดงด้วยสีเขียวเข้ม และดินแดนที่อ้างสิทธิ์แต่มิได้ควบคุมแสดงด้วยสีเขียวอ่อน
อาณาเขตของจักรวรรดิชิงในช่วงที่แผ่อำนาจกว้างที่สุดในปี ค.ศ. 1760 ดินแดนภายใต้การควบคุมของราชสำนักแสดงด้วยสีเขียวเข้ม และดินแดนที่อ้างสิทธิ์แต่มิได้ควบคุมแสดงด้วยสีเขียวอ่อน
สถานะจักรวรรดิ
เมืองหลวงเฉิ่นหยาง (ค.ศ. 1636–1644)
ปักกิ่ง (ค.ศ. 1644–1912)
ภาษาทั่วไปภาษาจีน
ภาษาแมนจู
ภาษามองโกล
ศาสนา
เต๋า, ขงจื๊อ, พุทธ, คริสต์, อิสลาม, อื่นๆ
เดมะนิมชาวจีน
การปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ค.ศ.1636–1911)
ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (ค.ศ.1911–1912)
จักรพรรดิ 
• ค.ศ. 1636-1643
จักรพรรดิฉงเต๋อ (พระองค์แรก)
• ค.ศ. 1661-1722
จักรพรรดิคังซี
• ค.ศ. 1908-1912
จักรพรรดิเซฺวียนถ่ง (พระองค์สุดท้าย)
นายกรัฐมนตรี 
• ค.ศ. 1911
ยี่กวัง เจ้าแห่งชิง
• ค.ศ. 1911-1912
ยฺเหวียน ชื่อไข่
สภานิติบัญญัติสภาพิจารณา
(ค.ศ. 1636–1733)
สภาที่ปรึกษา
(ค.ศ. 1910–1912)
ประวัติศาสตร์ 
• การก่อตั้งจินยุคหลัง
ค.ศ. 1616
• เปลี่ยนชื่อจาก "จิน" เป็น "ชิง"
เมษายน ค.ศ. 1636
6 มิถุนายน ค.ศ. 1644
ค.ศ. 1755-1792
ค.ศ. 1850-1864
ค.ศ. 1898
12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912
ประชากร
140,000,000
301,000,000
395,918,000
ก่อนหน้า
ถัดไป
ราชวงศ์จินยุคหลัง
ราชวงศ์ชุ่น
ราชวงศ์หมิงใต้
รัฐข่านซูงการ์
อาณาจักรตงหนิง
สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949)
รัฐข่านบ็อกด์มองโกเลีย
สาธารณรัฐฟอร์โมซา
ทิเบต (ค.ศ. 1912–1951)
จักรวรรดิชิง
ชื่อภาษาจีน
ภาษาจีน
มหาจักรวรรดิชิง
อักษรจีนตัวเต็ม帝國
อักษรจีนตัวย่อ帝国
ราชวงศ์จินยุคหลัง
อักษรจีนตัวเต็ม
อักษรจีนตัวย่อ
ชื่อภาษาแมนจู
อักษรแมนจู
อักษรโรมันDaiqing gurun
ไดชิง กูรุง
อมากา ไอซิง กูรุง

ราชวงศ์ชิง (ภาษาแมนจู: daicing gurun; ภาษาจีน:清朝 ; พินอิน: qīng cháo ชิงเฉา ; ) หรือบ้างเรียก ราชวงศ์แมนจู ปกครองแผ่นดินจีนต่อจากราชวงศ์หมิง และถือเป็นราชวงศ์สุดท้ายของประเทศจีน ตั้งแต่ ค.ศ. 1636 ถึง ค.ศ. 1912

ราชวงศ์ชิงไม่ได้ก่อตั้งโดยชาวฮั่นซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศจีน แต่เป็นชาวแมนจูซึ่งอาศัยอยู่ในเขตแมนจูเรีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน ในสมัยนั้น ชาวแมนจูเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยเร่ร่อนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งยังไม่มีคนรู้จักมากนั้น ในช่วงที่ราชวงศ์หมิงของชาวจีนฮั่นอยู่ในสภาพอ่อนแอ เกิดจลาจลและการเมืองไร้เสถียรภาพ

ราชวงศ์ชิงนั้นได้ก่อตั้งโดยชนเผ่าหนู่เจิน โดยตระกูลอ้ายซินเจว๋หลัวเป็นผู้นำ ตั้งอยู่ในดินแดนแมนจูเรีย ในปลายศตวรรษที่สิบหก นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ผู้นำเผ่าหนู่เจินได้แข็งข้อไม่ยอมขึ้นกับราชวงศ์หมิงและได้เริ่มจัดตั้งกองทัพแปดกองธงขึ้น ซึ่งเป็นกองทัพที่รวมเผ่าต่าง ๆ เข้าด้วยกัน อันได้แก่ ชาวหนู่เจิน, ชาวจีนฮั่นและ ชาวมองโกล นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ได้รวมเผ่าหนู่เจินเป็นปึกแผ่นและเปลี่ยนชื่อเป็น แมนจู นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ถือได้ว่าเป็นผู้นำชาวแมนจูคนแรกที่ได้ถือโอกาสรวบรวมกำลังพล ในปี ค.ศ. 1637 หฺวัง ไถจี๋ โอรสของนู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ได้นำกองทัพขับไล่กองทัพราชวงศ์หมิงออกจากคาบสมุทรเหลียวตง และก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ ชื่อว่า ราชวงศ์ชิง

ในปี ค.ศ. 1636 ได้เกิดกบฎชาวนานำโดย หลี่ จื้อเฉิง นำกำลังเข้ายึดกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของราชวงศ์หมิง นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์หมิง หลี่ จื้อเฉิงได้ตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิก่อตั้งราชวงศ์ชุนขึ้นมาแทน ในขณะเดียวกันผู้นำราชวงศ์ชิง จักรพรรดิซุ่นจื้อ ได้เริ่มนำกองทัพรุกรานแผ่นดินจีนและล้อมกรุงปักกิ่ง อู๋ ซานกุ้ย แม่ทัพราชวงศ์หมิงผู้ทรยศ ได้แอบติดต่อกับกองทัพแมนจูลับ ๆ และเปิดประตูป้อมด่านซันไห่ ทำให้กองทัพแมนจูแปดกองธง นำโดยตัวเอ่อร์กุ่น เข้ายึดกรุงปักกิ่งได้สำเร็จ ราชวงศ์ชุนล่มสลาย

เมื่อกองทัพแมนจูนำเข้าบุกยึดกรุงปักกิ่งซึ่งเป็นอดีตราชธานีของราชวงศ์หมิงได้ จักรพรรดิซุ่นจื้อได้สถาปนา จักรวรรดิต้าชิง (ภาษาจีน: 大清帝國, พินอิน: dàqīngdìguó) แต่ในระยะแรกของปกครองของราชวงศ์ชิง ชาวแมนจูได้เรียกตำแหน่งจักรพรรดิของตนว่า ข่าน ตามแบบมองโกล จักรพรรดิแมนจูยังทรงให้การอุปถัมภ์ศาสนาพุทธแบบทิเบต ราชวงศ์ชิงปกครองโดยใช้รูปแบบขงจื๊อ แต่ในการปกครองนั้นยังมีชาวจีนฮั่นที่ต่อต้านการปกครองของชาวแมนจูอยู่ และได้รวมตัวกันเป็นอาณาจักรหมิงใต้และได้เกิดกบฏสามเจ้าศักดินา ของอู๋ ซานกุ้ย แต่ก่อกบฎของชาวฮั่นได้ถูกทางการราชวงศ์ชิงปราบปรามได้สำเร็จ ในรัชสมัยของจักรพรรดิคังซี (พ.ศ. 2204–2265) ภายหลังการต่อต้านของชาวฮั่นนั้นทำให้ราชวงศ์ชิงหันมาใช้นโยบายประนีประนอมและผ่อนปรน โดยอนุญาตให้ชาวฮั่นมีสิทธิ์สอบจอหงวนเข้ารับราชการ และมีสิทธิ์เท่าเทียมกับชาวแมนจูได้บางอย่าง

ในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงถือเป็นยุคทองที่รุ่งเรืองของราชวงศ์ชิง พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะขยายอาณาเขตของจักรวรรดิต้าชิงโดยรวมเอเชียกลางและบางส่วนของ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่าและเวียดนาม สิ่งนำไปสู่การรบครั้งใหญ่หรือที่เรียกว่า สิบการทัพใหญ่ ตลอดรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลงมีการใช้ระบบรัฐบรรณาการหรือจิ้มก้อง โดยจะมีการเรียกเครื่องราชบรรณาการจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน

ในปลายสมัยของราชวงศ์ชิง ถือว่าได้เป็นยุคตกต่ำของราชวงศ์ การปกครองของราชวงศ์เป็นไปด้วยความล้มเหลว เกิดการฉ้อโกง สังคมเสื่อมโทรม ภาวะอดอยาก อีกทั้งต้องประสบกับการถูกรุกรานจากบรรดาชาตินักล่าอาณานิคมเนื่องจากในขณะนั้นเกิดจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมขึ้น ประเทศตะวันตกในยุโรป ได้เริ่มล่าอาณานิคมในเมืองจีน โดยมีจักรวรรดิอังกฤษเป็นชาติแรก อังกฤษได้นำฝิ่นมามอมเมาชาวจีนทำให้ราชสำนักชิงอ่อนแอ นำไปสู่สงครามฝิ่นถึง 2 ครั้ง ซึ่งราชวงศ์ชิงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทำให้ต้องสูญเสียเกาะฮ่องกงแก่อังกฤษ อีกทั้งต้องทำสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมจำนวนมากกับชาติตะวันตก และจีนต้องเสียเกาะมาเก๊าให้โปรตุเกส รวมถึงเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ราชวงศ์ชิงยังพ่ายแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง ซึ่งทำให้จีนสูญเสียเกาหลีและเกาะไต้หวัน แก่ญี่ปุ่น อีกทั้งการเกิดกบฎนักมวย ในปี พ.ศ. 2442 ทำให้ชาวจีนรู้สึกอัปยศอดสูเป็นอย่างมาก จักรพรรดิกวางสูได้ทรงพยายามทำการปฏิรูปพัฒนาประเทศให้ทันสมัยแต่แผนการของพระองค์กลับถูกทำลายลงโดย พระนางซูสีไทเฮา ซึ่งถือเป็นผู้ขัดขวางการพัฒนาสู่สมัยใหม่ของจักรวรรดิต้าชิง

ตลอดระยะเวลาที่ราชวงศ์ชิงระส่ำระส่าย เป็นประเทศล้าหลังและวุ่นวาย ชาวจีนถูกชาวตะวันตกและญี่ปุ่น ขนานนามว่าเป็น ขี้โรคแห่งเอเชีย ทำให้ชาวจีนบางส่วนต้องการกอบกู้ศักดิ์ศรีของประเทศ โดยมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้เจริญและเป็นประชาธิปไตย โดยมีขบวนการถงเหมิงฮุ่ย มี ดร. ซุน ยัตเซ็น เป็นผู้นำ ราชวงศ์ชิงครองแผ่นดินจีนจนถึงปี พ.ศ. 2454 เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ซึ่งเป็นการลุกฮือต่อต้านราชวงศ์ชิง ราชวงศ์ชิงถูกยึดอำนาจในปีนั้น และใน พ.ศ. 2455 จักรพรรดิผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายถูกบังคับให้สละราชสมบัติ ถือเป็นจุดอวสานของราชวงศ์ชิง และการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นเวลานับ 5,000 ปีของประวัติศาสตร์จีน ถงเหมิงฮุ่ยได้เปลี่ยนแปลงประเทศนำไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย และมีชื่อประเทศว่า สาธารณรัฐจีน

ชื่อ

[แก้]

นู่เอ๋อร์ฮาชื่อตั้งตนเป็น "ข่านแห่งแสงสว่าง" แห่ง จิน ที่แปลว่า ทอง เพื่อเป็นเกียรติแก่อาณาจักรโบราณ ในศตวรรษที่ 12-13 ของชาวหนี่เจินโดยมีราชวงศ์จินปกครอง และเพื่อเป็นเกียรติแด่ ตระกูลอ้ายซินเจว๋หลัว (อ้ายซิน เป็น ภาษาแมนจู สำหรับทับศัพท์ภาษาจีน คำว่า (จิน, ที่แปลว่า "ทองคำ") ต่อมาในรัชสมัยหฺวัง ไถจี๋ ได้ทรงเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "จักรวรรดิต้าชิง" ในปี พ.ศ. 2179[1] โดยคำว่า "ชิง" แปลว่า บริสุทธิ์ หรือ ใหม่ ชื่อของคำว่าชิงนั้น มีการสันนิษฐานในยุคหลังว่าอาจจะเป็นการแทนที่คำว่า "หมิง" () ของราชวงศ์หมิง ซึ่งประกอบด้วย ตัวอักษรจีน คำว่า "ดวงอาทิตย์" () และ "ดวงจันทร์" () ซึ่งทั้งสองคำเกี่ยวข้องกับธาตุไฟของธาตุทั้งห้าในศาสตร์ฮวงจุ้ย ในขณะที่คำว่า ชิง () เกิดจากการรวมอักษรของคำว่า น้ำ () และอักษรคำว่า สีฟ้า () ซึ่งทั้งสองคำเกี่ยวข้องกับธาตุน้ำ ซึ่งพรรณนาแสดงให้เห็นถึงการที่ราชวงศ์ชิงชนะ ไฟ ด้วย น้ำ

หลังจากที่ชาวแมนจูยึดครองแผ่นดินจีนได้ทั้งหมด ชาวแมนจูก็ได้รับเอาอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีน มาปรับใช้ มีการใช้ชื่อเรียกจักรวรรดิของตนว่า จีน (中國, จงกั๋ว; ที่แปลว่า อาณาจักรศูนย์กลางของโลก) ซึ่งตรงกับภาษาแมนจู ดูลิมไบ กูรุง (ดูลิมไบ แปลว่า "ศูนย์กลาง" หรือ "ตรงกลาง," กูรุง แปลว่า "ชาติ" หรือ "รัฐ") ราชสำนักชิงมีการพรรณนาถึงจักรวรรดิของตนโดยเปรียบเสมือน กับศูนย์กลางโลกและจักรวาล เหมือนในสมัยราชวงศ์หยวนของชาวมองโกล

จักรพรรดิราชวงศ์ชิงทุกพระองค์ตั้งแต่ หฺวัง ไถจี๋ เป็นต้นมาจะใช้ คำว่า "จีน" กับ "ชิง" เป็นชื่อเรียกจักรวรรดิ สลับกันไปมา มีการใช้ภาษาจีน (ดูลิมไบ กูรุง อี บิเตอ) เป็นภาษากลางในการสื่อสารของจักรวรรดิ และเรียกราษฎรในจักรวรรดิว่า ชาวจีน (中國之人 จงกั๋ว จื้อ เริน; ภาษาแมนจู: ดูลิมไบ กูรุง อี นียัลมา) เพื่อความเป็นเอกภาพและหนึ่งเดียว[2] ในเอกสารสำคัญเกี่ยวกับราชสำนักและเอกสาร สนธิสัญญาระหว่างประเทศ ราชวงศ์ชิง เป็นที่รู้จักกันในการติดต่อระหว่างประเทศในชื่อ จีน[3] หรือ จักรวรรดิจีน[4])

ประวัติ

[แก้]

ก่อตั้งรัฐแมนจู

[แก้]
ดินแดนแมนจูเรีย
ดินแดนแมนจูเรียเทียบกับแผนที่ประเทศจีนปัจจุบัน ประกอบด้วย แมนจูเรียใน: ภาคตะวันอกเฉียงเหนือของจีน = สีแดง, ส่วนตะวันออก มองโกเลียใน = สีชมพู

ราชวงศ์ชิงนั้นเป็นราชวงศ์ที่ไม่ได้ถูกก่อตั้งโดยชาวจีนฮั่น ซึ่งเป็นชนชาติส่วนใหญ่ของประเทศจีน แต่ถูกก่อตั้งโดยชาวแมนจู หรือ ชาวหนี่เจิน (女眞; Jurchen) ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อน ชาวหนี่เจินมีลักษณะการแต่งกายต่างจากชาวจีนฮั่นโดยนิยมไว้ทรงผมแบบ โกนครึ่งหัว และไว้ผมหางเปียข้างหลัง ชาวหนี่เจินใช้ชีวิตโดยการ ล่าสัตว์ ทำการเกษตร ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของดินแดนจักรวรรดิราชวงศ์หมิง ในแรกเริ่มรัฐแมนจูเป็นดินแดนของชนเผ่าที่เรียกตัวเองว่า ชาวหนี่เจิน อาศัยอยู่บริเวณ มณฑลจี๋หลิน มณฑลเฮย์หลงเจียงของประเทศจีน และบางส่วนในประเทศรัสเซียอันได้แก่ ดินแดนปรีมอร์สกี บางส่วนของดินแดนฮาบารอฟสค์และแคว้นอามูร์

ดินแดนของชาวหนี่เจินได้เริ่มเป็นหนึ่งเดียวเมื่อมีผู้นำชื่อ นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ จากตระกูล อ้ายซินเจว๋หลัว มีอำนาจอยู่ในบริเวณเจี้ยนโจว ซึ่งในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์หมิง ชาวหนี่เจินถูกทางการที่เป็นชาวจีนฮั่นจากราชสำนักหมิงมองว่าเป็นคนป่าเถื่อนนอกกำแพงเมืองจีน มีการกดขี่และเก็บภาษีชาวหนี่เจินอย่างมหาศาล สร้างความเกลียดชังให้กับชาวหนี่เจิน ในต้นพุทธศตวรรษที่ 22 โดยเริ่มแรก นู่เอ๋อร์ฮาชื่อได้ยอมสวามิภักดิ์กับราชวงศ์หมิง และรับตำแหน่งเป็นขุนนางของราชวงศ์หมิง ครองที่ดินทางตะวันออกเฉียงเหนือ หรือมณฑลแมนจูเรีย เมื่อราชวงศ์หมิงอ่อนแอลง นู่เอ๋อร์ฮาได้ถือโอกาสตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับอำนาจจากราชสำนักหมิง ได้รวบรวมชนเผ่าหนู่เจินรอบข้างเป็นหนึ่งเดียว และเปลี่ยนชื่อเป็น แมนจู ทั้งยังตั้งตนเป็น ข่าน แห่งราชวงศ์จินขึ้นใน พ.ศ. 2152[5]

สองปีต่อมานู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ได้ประกาศความแค้นเจ็ดประการเป็นการประกาศสงครามกับหมิง นู่เอ๋อร์ฮาชื่อได้หยุดส่งเครื่องราชบรรณาการให้ราชวงศ์หมิง เท่ากับเป็นการประกาศไม่ขึ้นต่ออำนาจราชวงศ์หมิง ทั้งยังได้ยุยงให้เผ่าหนี่เจินที่เหลือแข็งข้อไม่อยู่ใต้อาณัติของหมิง และให้หันมาร่วมกำลังเป็นเผ่าแมนจู ในที่ขณะที่ราชสำนักหมิงกำลังอ่อนแอจากปัญหาการเมืองภายใน ทำให้กองทัพของหมิงอ่อนแอพ่ายแพ้แก่กองทัพแมนจูของนู่เอ๋อร์ฮาชื่อเรื่อยมา การได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่องของกองทัพแมนจู ทำให้นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ยึดเมืองสำคัญ ๆ ของหมิงแถบคาบสมุทรเหลียวตง ได้เป็นจำนวนมาก เขาย้ายเมืองหลวงมาที่เหลียวหยาง ในปี พ.ศ. 2164 และ เฉิ่นหยาง (沈阳/瀋陽 Shěnyáng) ในปี พ.ศ. 2168 ตามลำดับ

การที่นู่เอ๋อร์ฮาชื่อได้ย้ายเมืองหลวงจากเจี้ยนโจวมาที่เหลียวตงทำให้แมนจูได้ครอบครองแหล่งทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังทำให้เขาได้ติดต่อกับเผ่ามองโกล ที่มีอาณาจักรคอร์ชินตั้งอยู่บนที่ราบของมองโกเลีย ได้สะดวกขึ้น ซึ่งราชสำนักหมิงมองชาวมองโกลเป็นภัยต่อจักรวรรดิพอ ๆ กับพวกแมนจู นู่เอ๋อร์ฮาชื่อได้ทำการผูกมิตรและทำสัญญาพันธมิตรกับคอร์ชินแห่งมองโกลร่วมกับต่อต้านราชวงศ์หมิง นอกจากนี้พวกมองโกลคอร์ชินยังเป็นพันธมิตรที่ดีของแมนจูในการรบ ทำให้ชาวหนี่เจินได้เรียนรู้ทักษะความชำนาญในการยิงธนูขี่ม้า เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับมองโกล นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ได้ริเริ่มนโยบายการแต่งงานดองญาติระหว่างเผ่าแมนจูกับเผ่ามองโกล ทำให้ความสัมพันธ์กับมองโกลแนบแน่นขึ้นไปอีก เป็นเหตุให้ชาวมองโกลได้ร่วมรบและช่วยเหลือชาวแมนจูตลอดสมัยของราชวงศ์ชิง[6]

ในขณะเดียวกันนู่เอ๋อร์ฮาชื่อได้เร่งสร้างเศรษฐกิจ แรงงาน และเทคโนโลยีของรัฐ โดยการจับชาวจีนที่อาศัยในแมนจูเรียมาเป็นทาส นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ สถาปนาเมืองเฉิ่นหยาง ให้เข้มแข็งและมั่นคงยิ่งขึ้นไปอีก แต่ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2169 เขาได้รับบาดเจ็บจากการรบกับแม่ทัพเอกของหมิง หยวน ชงหวน ผู้เก่งกาจ ในขณะนำกองทัพเข้าล้อมเมืองหนิงหยวน ในการรบหนิงหยวน นู่เอ๋อร์ฮาชื่อสวรรคตในปีเดียวกัน ความสำเร็จที่สำคัญสิ่งหนึ่งของนู่เอ๋อร์ฮาชื่อคือการตั้งระบบกองธง ซึ่งเป็นระบบในการแบ่งสายการปกครองออกเป็นส่วน ๆ มีประโยชน์ทั้งทางด้านการปกครองและการทหาร โดยแรกเริ่มนั้นมี 8 กองธง หรือ กองทัพแปดกองธง

ผู้สืบบัลลังก์จากนู่เอ๋อร์ฮาชื่อ คือ หวงไท่จี๋ ผู้ซึ่งขึ้นมามีอำนาจสืบต่อจากนู่เอ๋อร์ฮาชื่อ หลังจากการช่วงชิงราชสมบัติในราชวงศ์และขึ้นเป็นข่านองค์ใหม่ แม้ว่าหวงไท่จี๋จะเคยมีประสบการณ์ในการร่วมรบในแปดกองทัพของกองทัพแมนจู แต่ในรัชสมัยแรกของหวงไท่จี๋นั้นการทหารยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร ในปี พ.ศ. 2170 กองทัพแมนจูก็ได้พ่ายแพ้ให้กับกองทัพหมิงอีกครั้งนำโดย หยวน ชงหวน การรบครั้งก่อนหน้านี้นั้น การที่กองทัพแมนจูประสบกับความปราชัยเนื่องมาจากการที่กองทัพหมิงได้ใช้อาวุธปืนใหญ่และปืนคาบศิลาจากโปรตุเกส เพื่อแก้ไขปัญหาความด้อยกว่าทางด้านเทคโนโลยีอาวุธ ในปี พ.ศ. 2177 หวงไท่จี๋ สร้างกองปืนใหญ่ของตนเองขึ้น หรือ (ภาษาแมนจู: อูเจ็น ชูฮา, ภาษาจีน: ) กองปืนใหญ่ดังกล่าวได้มาจากการยึดอาวุธปืนใหญ่ของหมิง และเชลยศึกชาวจีนฮั่นผู้มีความรู้ด้านการหล่อปืนใหญ่แบบตะวันตก ในปี พ.ศ. 2178 หวงไท่จี๋ ได้ปรับปรุงระบบกองธงโดยรวมชาวมองโกล ซึ่งเป็นพันธมิตรให้อยู่ในกองธงด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2179 หวงไท่จี๋ได้เริ่มโจมตีอาณาจักรโชซอนหรือเกาหลี ซึ่งชาวแมนจูถือว่าเป็นศัตรูของตน เนื่องจากอาณาจักรโชซอนเป็นประเทศราชอยู่ใต้อาณัติของราชวงศ์หมิง และได้ช่วยเหลือราชวงศ์หมิงทำกับสงครามกับแมนจูอยู่ตลอด

หลังการรุกรานเกาหลีของแมนจูครั้งที่สอง อาณาจักรโชซอนได้พ่ายแพ้ให้แก่กองทัพแมนจู เกาหลีถูกยึดครอง กษัตริย์แห่งโชซอนได้ถูกบังคับให้ยกเจ้าหญิงให้เป็นนางสนมของเจ้าชายแมนจูหรือผู้สำเร็จราชการตัวเอ่อร์กุ่น[7]

หวงไท่จี๋ยังคงพัฒนากองธงอย่างต่อเนื่อง เขาได้ตั้งกองธงแรกที่เป็นชาวฮั่นขึ้น และได้มีการนำระบบธรรมเนียมการปกครองแบบราชวงศ์หมิงมาปรับใช้บางส่วน แต่ก็ยังให้สิทธิพิเศษกับหน่วยปกครองของแมนจูเองโดยระบบโควตา การปฏิรูปทางทหารเหล่านี้ทำให้หวงไท่จี๋สามารถเอาชนะกับกองทัพหมิงได้อย่างรวดเร็วในการต่อสู้ระหว่างปี พ.ศ. 2183 ถึงปี พ.ศ. 2185 ทำให้ได้ดินแดนซ่งฉาน และ จิ่นโจว ทำให้แมนจูครอบครองดินแดนแมนจูเรีย บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนได้ทั้งหมด ชัยชนะครั้งสุดท้ายนี้ส่งผลให้กองทัพราชวงศ์หมิงแทบเสื่อมสภาพในการสู้รบ มีทหารกองทัพราชวงศ์หมิงหันมายอมสวามิภักดิ์จำนนต่อแมนจูเป็นจำนวนมาก การตายของหยวน ชงหวน แม่ทัพหมิง โดยคำสั่งประหารชีวิตจากพระเจ้าหมิงซือจง เนื่องจากเชื่อคำพูดของเหล่าขันทีในราชสำนักว่า หยวน ชงหวน คิดทรยศและตั้งตนเป็นใหญ่ ทำให้หยวน ชงหวน ถูกประหาร และนำไปสู่การถอยทัพกองทัพของหมิงบริเวณทางตอนเหนือของกำแพงเมืองจีน

เมื่อลิงตันข่าน มหาข่านองค์สุดท้ายของมองโกลสิ้นพระชนม์ลงระหว่างเดินทางไปทิเบตในพ.ศ. 2177 บุตรของเขานาม เอเจยข่าน ได้สวามิภักดิ์ต่อกองทัพแมนจูและมอบตราประจำพระองค์ของอดีตจักรพรรดิหยวนให้หวงไท่จี๋ ใน พ.ศ. 2179 หวงไท่จี๋เปลี่ยนชื่อรัฐแมนจู ที่ชื่อ "อาณาจักรจิน" เป็น อาณาจักรต้าชิง (แปลว่า บริสุทธิ์) และสถาปนาตนเป็น จักรพรรดิไท่จง พระองค์ทรงรวมมองโกเลีย, เกาหลี และครอบครองพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอาร์มู หรือมณฑลเฮหลงเจียงในปัจจุบัน นอกจากนี้พระองค์ได้มีพระราชประสงค์หมายที่จะขยายอาณาเขตไปนอกแมนจูเรีย ซึ่งก็คือทางตอนใต้หรือดินแดนจีนที่ถูกป้องกันด้วยป้อมซานไฮ่กวาน (山海关/山海關: Shānhǎi Guān) ซึ่งเป็น ด่านป้องกันสุดท้ายของราชวงศ์หมิง

การประกาศอาณัติแห่งสวรรค์

[แก้]

จักรพรรดิไท่จงสวรรคตอย่างกะทันหันในเดือนกันยายน พ.ศ. 2186 โดยไม่มีการแต่งตั้งรัชทายาท โดยปกติชาวแมนจูจะคัดเลือกผู้นำของพวกเขาผ่านสภาขุนนาง ราชวงศ์ชิงไม่มีระบบการสืบทอดตำแหน่งรัชทายาทจนกระทั่งถึงรัชสมัยจักรพรรดิคังซี ผู้ที่กุมอำนาจมากที่สุดในเวลานั้นโอรสชายที่อายุมากที่สุด เหาเก๋อ และ พระเชษฐาของพระองค์ คือ ตัวเอ่อร์กุ่น ตัวเอ่อร์กุ่นได้เจรจาประนีประนอมเพื่อไม่ต้องการให้เกิดการแย่งชิงบัลลังก์รัชทายาทจึงอัญเชิญ "ฝูหลิน" โอรสวัยห้าชันษาขึ้นครองราชย์เป็น จักรพรรดิซุ่นจื้อ โดยมีตัวเอ่อร์กุ่นเป็นผู้สำเร็จราชการ และเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของแมนจู

รัฐบาลราชสำนักหมิงนอกจากจะต้องทำสงครามอย่างต่อเนื่องกับแมนจู ยังต้องเผชิญกับปัญหาภายใน เช่น ปัญหาทางด้านการเงินการคลัง และการปราบปรามกบฎชาวนา

การยึดครองประเทศจีน

[แก้]
ภาพวาด กองทัพแมนจูเข้าโจมตีกองทัพหมิงในปี ค.ศ. 1619

ในสมัยพระเจ้าหมิงซือจง (明思宗) แห่งราชวงศ์หมิง เกิดเหตุการณ์สำคัญหลายครั้ง ได้แก่ การผนวกที่ดิน การเก็บภาษีเบ็ดเตล็ด ความไม่พอใจของทหาร และภัยแล้งครั้งใหญ่ ทั้งหมดทำให้ประชาชนและทหารไม่พอใจราชวงศ์หมิงอย่างมาก และรวมตัวเป็นกลุ่มย่อยก่อจลาจลในหลายพื้นที่ กินเวลาหลายปี ในที่สุดก็รวมตัวกันก่อจลาจลครั้งใหญ่ ซึ่งนำโดย หลี่จื้อเฉิง (李自成: Lǐ Zìchéng) อดีตขุนนางชั้นผู้น้อยของราชวงศ์หมิง ได้นำกำลังเข้ายึดครองกรุงปักกิ่ง ราชธานีของราชวงศ์หมิง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2187 จนพระเจ้าหมิงซือจงต้องผูกพระศอปลงพระชนม์ตัวเองที่ต้นไม้บนเนินเขาที่มองเห็นพระราชวังต้องห้ามได้ชัด ถือเป็นจุดอวสานของราชวงศ์หมิง

หลังจากที่ยึดครองกรุงปักกิ่งแล้ว หลี่จื้อเฉิงได้ตั้งปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิก่อตั้งราชวงศ์ชุนขึ้นมาแทน และได้นำกำลังพล 60,000 นาย บุกเผชิญหน้ากับอู๋ซานกุ้ย (吳三桂: Wú Sānguì) นายพลหมิงที่คุมกองกำลังกว่า 100,000 นาย ที่ประจำอยู่ในป้อมซานไฮ่กวาน ป้อมซานไฮ่กวานเป็นประตูของกำแพงเมืองจีนผ่านไปสู่ตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง ป้อมซานไฮ่กวานถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่คอยกั้นพวกแมนจูอยู่ที่อ่าวไม่ให้เข้ามาสู่แผ่นดินจีนทางใต้ได้ และป้องกันไม่ให้ราชธานีปักกิ่งของหมิงถูกแมนจูเข้ายึดครอง นายพลอู๋จนมุมศัตรูทั้ง 2 ทาง ทั้งกลุ่มกบฏของหลี่จื้อเฉิงและกองทัพแมนจู เป็นที่สันนิษฐานว่า นายพลอู๋ อาจจะได้รับการปฏิบัติไม่ดีโดยหลี่จื้อเฉิง โดยหลังจากที่หลี่จื้อเฉิงยึดกรุงปักกิ่งแล้วบรรดาครอบครัว ทรัพย์สินของนายพลอู๋ ถูกยึดไปหมด รวมทั้งได้มีตำนานบอกเล่าว่า หลี่จื้อเฉิงยังลักพาเอานาง เฉิน หยวนหยวน ภรรยาโปรดของนายพลอู๋ไปเป็นของตนด้วย ทำให้นายพลอู๋โกรธแค้นเป็นอย่างมาก จึงตัดสินใจที่จะสวามิภักดิ์ต่อแมนจูซึ่งมีองค์ชายตัวเอ่อร์กุ่น ผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิซุ่นจื้อ และได้เปิดประตูป้อมด่านซานไฮ่กวานให้กองทัพแมนจูเข้ามาได้สำเร็จ

วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2187 ทั้งกองทัพของนายพลอู๋และกองทัพแมนจูเข้าล้อมกลุ่มกบฏหลี่จื้อเฉิงไว้ กลุ่มกบฏมีกำลังไม่เพียงพอจะรักษาเมืองไว้ได้ จึงต้องตีฝ่าวงล้อมออกไปตั้งมั่นที่อื่น ฝ่ายกองทัพนายพลอู๋ก็ปล่อยให้กลุ่มกบฏตีฝ่าไปได้เพราะอ่อนแรงหลังจากต้องต่อสู้กับกองทัพแมนจูก่อนจะสวามิภักดิ์ กองทัพแมนจูได้เข้ายึดกรุงปักกิ่งได้ในวันที่ 6 มิถุนายน ในปีเดียวกัน

ตัวเอ่อร์กุ่นแม่ทัพแมนจูผู้ยึดกรุงปักกิ่งได้เชิญพระราชวงศ์อ้ายซินเจว๋หลัวมาประทับที่พระราชวังต้องห้ามซึ่งเป็นที่ประทับของของอดีตฮ่องเต้ราชวงศ์หมิงที่กรุงปักกิ่ง จักรพรรดิซุ่นจื้อ เป็นจักรพรรดิแมนจูพระองค์แรกที่เข้าประทับในพระราชวังต้องห้าม อีกทั้งได้ตั้งราชวงศ์ขึ้นแบบจีนและเข้าปกครองแผ่นดินจีน

สมัยต้นราชวงศ์ชิง

[แก้]
ตัวเอ่อร์กุ่น ผู้สำเร็จราชการแห่งราชวงศ์ชิงมีบทบาทอย่างมากในช่วงต้นของราชวงศ์

เนื่องจากต้นราชวงศ์มีกบฏเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทำให้ราชวงศ์ชิงต้องร่วมมือกับขุนนางราชวงศ์หมิงที่ทรยศชาติปราบกบฏหมิงใต้ หลังจากกบฏหมิงใต้สิ้นสุดเมื่อปี 1662 ปี 1673 เกิดกบฏสามเจ้าศักดินา ราชวงศ์ชิงใช้เวลาปราบกบฏทางใต้ 8 ปี 1673-1681

ปราบหมิงใต้

[แก้]
กองทัพแมนจูเข้ายึดครองดินแดนจีนตอนใต้ ปราบหมิงใต้

นับจากปี ค.ศ. 1644 หลังอู๋ซันกุ้ยเปิดด่านซันไห่กวนให้กองทัพชิงบุกเข้ายึดครองแผ่นดินจีน จนฮ่องเต้หมิงซือจงต้องปลงพระชนม์ตนเอง ยังให้ราชวงศ์หมิงอันเป็นราชวงศ์สุดท้ายของชนชาวฮั่นต้องอวสานลง ในปีเดียวกันตัวเอ่อกุ่น แม่ทัพใหญ่ของแมนจูก็ได้ทูลเชิญซุ่นจื้อ ให้เสด็จมาประทับยังบัลลังก์ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ชิงในกรุงปักกิ่ง

ทหารแมนจูแห่งกองทัพแปดกองธง

ทว่าในยามนั้น ยังคงมีกองกำลังทหารของต้าหมิง และกองทัพประชาชนที่ต่อต้านแมนจูอยู่ทั่วไป ทำให้ราชสำนักชิง ต้องร่วมมือกับอดีตขุนนางราชวงศ์หมิงที่แปรพักตร์อย่างอู๋ซันกุ้ย เกิ่งจ้งหมิง(耿仲明) ซั่งเขอสี่ (尚可喜) ขงโหย่วเต๋อ(孔有德) ระดมกำลังปราบกองกำลังทางใต้อย่างฝูอ๋อง หลู่อ๋อง ถังอ๋อง กุ้ยอ๋องและกองกำลังต่างๆที่เหลืออยู่

ภาพวาด เหตุการณ์การฆ่าล้างเมืองหยางโจว กองทัพแมนจูสังหารชาวฮั่นอย่างโหดร้าย

หลังจากกองทัพแมนจูแห่งราชวงศ์ชิงสามารถเข้าด่านมายึดครองปักกิ่ง ก่อตั้งราชวงศ์ชิงบนแผ่นดินจีนได้ในปี ค.ศ.1644 นั้นสถานการณ์โดยรวมในเวลานั้น แผ่นดินจีนถูกแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือฝั่งเหนือกับฝั่งใต้ โดยฝั่งเหนืออยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ปักกิ่ง ภายใต้พระราชอำนาจของจักรพรรดิซุ่นจื้อ ส่วนฝั่งใต้อยู่ภายใต้อิทธิพลของราชวงศ์หนานหมิง หรือ หมิงใต้ (ก่อตั้งโดยอดีตเชื้อพระวงศ์และขุนนางราชวงศ์หมิงจำนวนหนึ่งที่รอดตายหนีมาจากปักกิ่งตั้งแต่คราวที่ปักกิ่งถูกกบฎหลี่จื้อเฉิงตีแตก) มีศูนย์กลางการปกครองที่เมืองนานกิง

จากการสู้รบกันหลายครั้งครา กองทัพแมนจูแห่งราชวงศ์ชิงภายใต้การบัญชาการหลักของรุ่ยชินอ๋องตัวเอ่อกุ๋น ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนองค์จักรพรรดิซุ่นจื้อ มีแม่ทัพที่เป็นหัวหอกหลัก ๆ คือ ตัวตั๋ว หงเฉิงโฉว หวูลิ่วอี รบชนะต่อเนื่อง ฝ่ายหมิงใต้ต้องถอยร่นไปเรื่อย ๆ

ในปี ค.ศ. 1645 ในขณะที่กองกำลังแมนจูบุกตีเหมือนหยางโจว สื่อ เขอฝ่า (史可法) แม่ทัพชาวฮั่นผู้รักษาเมืองได้นำทหารจีนเพียงน้อยนิดต้านยันไว้ 7 วัน 7 คืน จนกระทั่งเมืองถูกตีแตก สื่อเขอฝ่าปฏิเสธที่จะยอมจำนนต่อกองทัพแมนจูและถูกประหาร ตัวเอ่อร์กุ่น ก็ได้ออกคำสั่งให้ฆ่าล้างเมืองหยางโจว โดยใน “บันทึกสิบวันในหยางโจว” ของหวังซิ่วฉู่ ผู้โชคดีรอดชีวิต ได้ระบุว่าว่าการเข่นฆ่าล้างเมืองดำเนินไปโดยไม่หยุดตลอด 10 วัน เป็นที่รู้จักในเหตุการณ์การสังหารหมู่หยางโจว

กองทัพแมนจูมีชัยชนะต่อเนื่องและฮึกเหิมไล่สังหารชาวจีนฮั่นอย่างโหดเหี้ยม ฮ่องเต้หมิงใต้พระองค์แล้วพระองค์เล่า ตั้งแต่ฮ่องเต้หงกวงจนถึงหลงอู่ ล้วนถูกพวกแมนจูจับฆ่าเสียหมด

กระทั่งมาถึงฮ่องเต้พระองค์สุดท้ายของหมิงใต้ คือฮ่องเต้หย่งลี่ หรือกุ้ยอ๋องจูโหย่วหลาง สถาปนาตนเป็นฮ่องเต้ที่ยูนนานได้ไม่นาน ก็ถูกกองทัพของหงเฉิงโฉวคุกคามอย่างหนัก จนกระทั่งในปี ค.ศ.1658 หลี่ติ้งกั๋ว นายพลผู้ภักดีต่อหมิงใต้ จึงคุ้มครองฮ่องเต้หย่งลี่พาหนีแมนจูเข้าแดนพม่า ไปขอความคุ้มครองจากพระเจ้าพินดาเลแห่งราชวงศ์ตองอูของพม่า พระเจ้าพินดาเลก็ทรงรับไมตรีของฝ่ายหมิงใต้ ยอมให้การคุ้มครองฮ่องเต้หย่งลี่

ลุถึงปี ค.ศ.1661 อู๋ซานกุ้ยนำกำลังผสมฮั่น-แมนจู 2หมื่นคนบุกประชิดเมืองตองอู เรียกร้องให้พระเจ้าพินดาเลส่งตัวฮ่องเต้หย่งลี่ให้แก่ราชวงศ์ชิง เพื่อแลกกับสันติภาพระหว่างต้าชิงกับตองอู หาไม่แล้วแมนจูกับพม่าคงต้องตายกันไปข้าง การมาของอู๋ซานกุ้ยในครั้งนี้ทำให้ภายในราชสำนักตองอูเกิดความขัดแย้งอย่างหนักว่า จะจัดการกับฮ่องเต้หย่งลี่อย่างไร จะรับมือกับอู๋ซานกุ้ยและพวกแมนจูอย่างไร ในขณะที่พระเจ้าพินดาเลเองก็ทรงยืนกรานไม่ยอมมอบฮ่องเต้หย่งลี่ให้แก่ต้าชิง สถานการณ์ระหว่างต้าชิงกับตองอูตึงเครียดหนัก

กระทั่งถึงปี ค.ศ.1662 องค์ชายพเยมิน อนุชาของพระเจ้าพินดาเล ซึ่งมีตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งตองอู ก็ตัดสินใจกระทำรัฐประหาร ชิงอำนาจจากพระเชษฐา ตั้งตนเป็นกษัตริย์องค์ใหม่แห่งราชวงศ์ตองอู และเปิดการเจรจากับอู๋ซานกุ้ยอีกครั้ง ในที่สุดพระเจ้าพเยมินก็ยอมขับฮ่องเต้หย่งลี่และหลี่ติ้งกั๋วออกนอกแดนพม่า เปิดทางให้อู๋ซานกุ้ยจัดการกับฮ่องเต้หย่งลี่ได้โดยสะดวก เป็นการปิดฉากราชวงศ์หมิงใต้โดยสมบูรณ์

การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

[แก้]
การไว้ผมหางเปียแบบชาวแมนจู

เมื่อกองทัพแมนจูยึดภาคกลางของจีนได้ จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการกลืนกินข่มวัฒนธรรมฮั่นอย่างเข้มงวด ในรัชสมัยของจักรพรรดิซุ่นจื้อ ทรงมีคำสั่งให้ชาวฮั่นใช้ผมเปียชาวแมนจูอย่างเป็นทางการ จักรพรรดิชิงทรงออกกฎหมายบังคับให้ชาวฮั่นทุกคนต้องไว้ผมเปียและสวมเสื้อผ้าอย่างชาวแมนจู เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและภักดีต่อราชวงศ์ชิง ชายชาวฮั่นทุกคนต้องโกนผมครึ่งศีรษะและหนวดเครา และผูกผมด้านท้ายเป็นหางเปียยาว กฎนี้ขัดแย้งกับประเพณีปฏิบัติเดิมของชาวฮั่นที่ห้ามตัดผม เพราะถือว่า เส้นผม ตามหลักลัทธิขงจื้อแล้วเป็นสิ่งที่พ่อแม่บรรพบุรุษให้มา หากตัดทิ้งเท่ากับไม่เคารพบรรพชน ชาวจีนทั่วประเทศต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีทางเลือก มิฉะนั้นจะถูกตัดหัว กว่า 258 ปีที่ราชวงศ์ชิงครองประเทศ ชาวจีนได้ก่อกบฏขึ้นหลายครั้งเนื่องจากกฎดังกล่าวนี้ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตัวเอ่อร์กุ่นมีคำสั่งให้ชาวฮั่นโกนผมไว้เปียทั้งหมด หากไม่ไว้มีแต่ตายสถานเดียว จนมีคำกล่าวว่า

“ไว้ผมไม่ไว้หัว ไว้หัวไม่ไว้ผม” หมายความว่า หากคิดรักษาหัวให้โกนผมไว้เปีย หากไม่คิดไว้เปียก็เตรียมถูกบั่นศีรษะได้ ครั้งนั้นมีคนตายจากการขัดคำสั่งหลายแสนคน ทั่วแผ่นดินเต็มไปด้วยเสียงร่ำไห้ระงมผสมเคียดแค้นเพราะคำสั่งนี้

ยุคทองของราชวงศ์ชิง

[แก้]

ยุครุ่งเรืองแห่งราชวงศ์ชิง เริ่มจากช่วงรัชกาลจักรพรรดิคังซีถึงจักรพรรดิเฉียนหลง จัดเป็นยุครุ่งเรืองสุดท้ายในประวัติศาสตร์ราชวงศ์จีน โดยกล่าวถึงรัชกาลของจักรพรรดิต้าชิง 3 พระองค์ ได้แก่ จักรพรรดิคังซี จักรพรรดิยงเจิ้ง และจักรพรรดิเฉียนหลง รวมเป็นระยะเวลากว่า 130 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากการปกครองเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สามารถลดความขัดแย้งระหว่างชนชาติและชนชั้น ดำเนินนโยบายหนึ่งประเทศหลายเผ่าพันธุ์ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้สังคมมีความสงบสุขเป็นระยะเวลาที่ยาวนานนับร้อยปี

ความเป็นปึกแผ่นในรัชสมัยจักรพรรคังซี

[แก้]
จักรพรรดิคังซี

ตลอดระยะหกสิบเอ็ดปีของการครองราชยของจักรพรรดิคังซี ถือได้ว่าเป็นยุคที่ราชวงศ์ปราบกบฎชาวจีนฮั่นได้หมดสิ้นสำเร็จ จักรวรรดิต้าชิงสงบสุขและมั่นคง เป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ยุคทองของราชวงศ์ชิงที่รุ่งเรือง การปกครองที่ยาวนานของจักรพรรดิคังซีเริ่มต้นจากการที่พระองค์มีพระชันษาแปดชันษาเมื่อพระราชบิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ เพื่อป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในในรัชสมัยของจักรพรรดิซุ่นจื้อ ที่มีตัวเอ่อร์กุ่น เป็นผู้สำเร็จราชการ ในยุคนั้นผู้สำเร็จราชการมีอำนาจมากและมีลักษณะเผด็จการ จักรพรรดิแทบไม่มีพระราชอำนาจ จักรพรรดิคังซีจึงได้ทรงริบอำนาจจากเหล่าขุนนางเข้าสู่ศูนย์กลาง

โดยหลังจากที่คังซีได้รับอำนาจเต็มในการปกครอง นอกจากจะมีการหยุดการเวนคืนที่ดิน ผ่อนปรนภาษีแล้ว เพื่อป้องกันมิให้ขุนนางทั้งหลายปิดบังหลอกลวง อ้าวซินเจี๋ยว์หลอเสวียนเยี่ย หรือคังซีจึงมักเสด็จออกประพาส เพื่อทำความเข้าใจกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และรับทราบถึงผลจากนโยบายการปกครองในรูปแบบต่าง ๆ โดยที่ทราบกับทั่วไปก็คือประพาสทางใต้ 6 ครั้ง ตะวันออก 3 ครั้ง ตะวันตก 1 ครั้ง ประพาสในเขตเมืองหลวงและมองโกลหลายร้อยครั้ง นอกจากนั้นยังมีการเดินทางประพาสเพื่อสำรวจเส้นทางน้ำของแม่น้ำฮวงโห และตรวจงานก่อสร้างอีกด้วย

คังซียังให้ความสำคัญกับชนชั้นปัญญาชนของชาวฮั่นเป็นอย่างยิ่ง ให้ความยกย่องความรู้ของหยูเจีย (ลัทธิขงจื้อ) โดยเฉพาะ หลี่เสียว์ (理学) ของปราชญ์จูซี (朱熹) พระองค์ยังเคยเสด็จไปยังชีว์ฟู่ เพื่อไปสักการะยังอารามขงจื้อที่นั่นด้วย

อีกหนึ่งผลงานที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคนี้ก็คือ “พจนานุกรมคังซี” (康熙字典) มีราชบัณฑิตจากตำหนักเหวินหัวอย่างจางอี้ว์ซู กับราชบัณฑิตจากตำหนักเหวินยวน นามเฉินถิงจิ้ง เป็นแกนนำในการจัดทำ โดยได้ทำการตรวจทาน ตรวจสอบอักษรจีนที่ใช้ในราชวงศ์หมิง และเป็นตำราที่ถูกจัดพิมพ์ยาวนานตั้งแต่รัชกาลคังซีปีที่ 55 หรือ ค.ศ.1716 มาตราบจนปัจจุบัน

ฮ่องเต้คังซีได้มีรับสั่งให้จัดเรียบเรียงพจนานุกรมดังกล่าวในเดือน 3 ปีค.ศ.1710 ใช้เวลาในการจัดทำถึง 6 ปี มีทั้งสิ้น 47,035 อักษร แบ่งเป็น 12 ชุด แต่ละชุดมี 3 พับ โดยมีคำอธิบายถึงอักษรพ้องเสียง แต่ต่างความหมาย หรืออักษรพ้องรูปที่ต่างความหมาย ซึ่งภายหลังได้ถูกนำมาใช้เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการสอบรับราชการในราชวงศ์ชิง และเป็นที่แพร่หลายแม้ในเวลาต่อมา

รัชทายาทอิ้นเหริง (胤礽) ออกจากตำแหน่งเป็นครั้งแรก เนื่องจากทรงทราบว่ามีพฤติกรรมที่นิยมในเพศชายด้วยกัน และชอบทำร้ายขุนนาง โดยในขั้นตอนการคัดเลือกรัชทายาทคนใหม่ อิ้นเจิน (胤禛) ในเวลาต่อมาได้ให้การสนับสนุนให้คืนตำแหน่งให้กับอิ้นเหริงใหม่ กระทั่งในปีต่อมา จึงมีการคืนตำแหน่งให้กับรัชทายาทคนเดิม ทว่าเมื่อมาถึงปีค.ศ. 1712 คังซีก็ทรงปลดอิ้นเหริงออกจากตำแหน่งรัชทายาทอีกครั้ง และไม่มีการแต่งตั้งหรือคัดสรรรัชทายาทต่อ ทำให้ในหมู่พระโอรสมีการแก่งแย่งช่วงชิงทั้งในที่ลับและที่แจ้งอย่างดุเดือด

ในขณะนั้นอิ้นเจิน ภายนอกแสดงให้เห็นว่าตนเองไม่สนใจแก่แย่งชิงดี ทุ่มเทให้กับพุทธศาสนา โดยขนานนามตนเองว่าเป็น “คนว่างอันดับหนึ่งแห่งแผ่นดิน” พยายามปรองดองกับพระโอรสองค์อื่น ๆ ทว่าเบื้องหลังก็ได้คบหากับเกิงเหยา และลู่เคอตัวบ่มเพาะเป็นขุมกำลังอันเข้มแข็งของตนขึ้น นอกจากนั้น จากการที่มีผลงานในการแก้ปัญหาอุทกภัยของแม่น้ำฮวงโหที่ได้ผลมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปลายราชวงศ์หมิงเป็นตนมา ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากคังซีเป็นอย่างยิ่ง

ทว่าในช่วงปลายรัชกาล ฮ่องเต้คังซีให้ความชื่นชมกับองค์ชาย 14 อิ้นถี (胤禵) อีกทั้งแต่งตั้งเป็นแม่ทัพใหญ่ให้เดินทางไปยังภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้ในขณะนั้นมีการคาดเดาว่า อิ้นถี อาจจะเป็นทายาทที่คังซีคิดจะให้สืบทอดบัลลังก์อย่างถูกต้องชอบธรรม

กระทั่งรัชกาลคังซีปีที่ 61 หรือค.ศ.1722 เมื่อคังซีเสด็จสวรรคต ประจวบกับเป็นช่วงเวลาที่อิ้นเจิน ได้รับพระบัญชาให้ไปทำพิธีสักการะฟ้า ทำให้กลับมาไม่ทัน ช่วงเวลาที่หลงเคอตัวกำลังประกาศผู้สืบทอดตำแหน่ง ซึ่งในระบุให้อิ้นเจินขึ้นเป็นฮ่องเต้ต้าชิงพระองค์ต่อไป

ความมั่นคงในรัชสมัยจักรพรรดิยงเจิ้ง

[แก้]
จักรพรรดิยงเจิ้ง

อิ้นเจิ้งขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้ยงเจิ้ง (雍正皇帝) ด้วยพระชนมายุ 45 พรรษา กระนั้นขั้นตอนการขึ้นครองราชย์ของพระองค์ยังคงเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้ มีการสันนิษฐานว่ายงเจิ้งคิดชิงบัลลังก์อาจจะปลอมพินัยกรรมของจักรพรรดิคังซีเพื่อที่จะขึ้นเป็นฮ่องเต้เสียเอง โดยมีการเล่าขานเอาไว้หลากหลาย โดยบันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิงได้บันทึกว่า ในปีค.ศ. 1722 ฮ่องเต้คังซีทรงพระประชวรจนเสด็จสวรรคต ณ กรุงปักกิ่ง โดยก่อนนั้นได้มีรับสั่งเชิญพระโอรส 7 พระองค์เข้าเฝ้า จากนั้นก็มีรับสั่งให้ผู้บัญชาการทหารบกลู่เคอตัวเป็นผู้ถ่ายทอดราชโองการ ให้กับพระโอรสองค์ที่สี่นามอิ้นเจิน อันเป็นผู้ที่มีความประพฤติดีงาม เหมาะสมที่จะเป็นผู้สืบสานบัลลังก์สืบไป”

ทว่าในบันทึกของชาวบ้าน กลับมีคำเล่าลือว่าเดิมพระราชโองการฉบับดังกล่าวเป็นการถ่ายทอดตำแหน่งให้พระโอรสองค์ที่ 14 แต่แล้วมีการแก้อักษรเลขสิบ (十) ให้เป็นคำว่า “ให้กับ” (于) จึงออกมาเป็นคำว่าถ่ายถอดให้กับพระโอรสองค์ที่ 4 แทน อย่างไรก็ตาม ในภายหลังมีการระบุว่า พระพินัยกรรมของคังซี จะต้องมีฉบับที่เป็นภาษาแมนจูด้วย ฉะนั้นต่อให้สามารถแก้ไขในภาษาฮั่นได้ ก็ไม่สามารถแก้ไขในฉบับภาษาแมนจูด้วยวิธีการเดียวกันนี้ได้ ผนวกกับในสมัยนั้นยังไม่มีอักษรย่อ ดังนั้นคำว่า “ให้กับ” ที่ถูกต้องจึงควรเป็นตัวอักษร (於) ไม่ใช่ตัวอักษร (于)

ในช่วงการครองราชย์ของยงเจิ้ง แม้จะทรงโหดเหี้ยมกับบรรดาพี่น้องของตน แต่ก็เป็นฮ่องเต้ที่มีความขยันหมั่นเพียรในราชกิจเป็นอย่างยิ่ง จะทรงตื่นบรรทมแต่ก่อนเช้า และทรงงานตรวจฎีกาจนดึกดื่น ทรงรวบอำนาจ จัดสรรระบบภาษี การเงินการคลัง และขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวงจนถือว่าเป็นช่วงสืบทอดยุคความรุ่งเรืองของราชวงศ์ที่สำคัญ จนสามารถยังผลให้ประเทศจีนรุ่งเรืองถึงขีดสุดในยุคของฮ่องเต้เฉียนหลง

หลังยงเจิ้งสวรรคตจากการทำงานที่ตรากตรำมากจนเกินไป อ้ายซินเจี๋ยว์หลอหงลี่ ก็ได้ขึ้นครองราชย์ เป็นเฉียนหลงฮ่องเต้ ซึ่งการครองราชย์ของเฉียนหลง ที่สามารถดำเนินไปอย่างราบรื่น เนื่องจากยงเจิ้งเองเกรงว่าจะมีการแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างพระโอรสเหมือนในสมัยของตน จึงได้ใช้วิธีการเขียนรายชื่อผู้ที่จะขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์แล้วประทับตราลัญจกร จากนั้นแบ่งเป็น 2 ชุด ชุดหนึ่งเก็บใส่หีบปิดผนึกแล้ววางไว้ที่ป้ายโลหะหน้าท้องพระโรง อีกชุดหนึ่งเก็บไว้กับพระองค์เอง โดยมีรับสั่งให้นำออกมาเปิดอ่านพร้อมกันหลังจากที่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์

ความรุ่งเรืองในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง

[แก้]
จักรพรรดิเฉียนหลง
เครื่องถ้วยเปลือกไข่ สีน้ำเงินเข้มประดับโลหะ ศิลปะราชวงศ์ชิงสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง
อาณาเขตจักรวรรดิต้าชิงในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง

ในรัชกาลของจักรพรรดิเฉียนหลงถือเป็นยุคทองที่รุ่งเรืองที่สุดของราชวงศ์ชิง จากความพยายามปฏิรูปนโยบายภาษี การใช้จ่าย นโยบายการเงินการคลังของยงเจิ้ง ได้ทำให้มีเงินท้องพระคลังเหลือมาถึงยุคของเฉียนหลงเป็นจำนวนมาก เมื่อผนวกกับการที่ประชาชนเมื่อไม่มีภัยสงครามมาเป็นเวลานาน จึงทุ่มเทไปกับการสร้างผลผลิต จนทำให้ยุคสมัยนี้มีความมั่งคั่ง และมีความเจริญก้าวหน้าทางศิลปะวิทยาการต่าง ๆ เป็นอันมาก

ในปีค.ศ.1772 หรือรัชกาลเฉียนหลงปีที่ 49 อีกผลงานหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับมาจนถึงปัจจุบันก็คือ “ซื่อคู่เฉวียนซู” (四库全书) หรือจตุคลังคัมภีร์ ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือชุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก (รองลงมาคือสารานุกรมหย่งเล่อในราชวงศ์หมิง) โดยใช้เวลาในการชำระคัมภีร์และตำราต่าง ๆ นานถึง 9 ปี รวบรวมตำราไว้ทั้งสิ้น 3,503 ประเภท เรียบเรียงเป็น 36,304 เล่ม 79,337 บรรพ มีจำนวนเกือบ 2,300,000 หน้า มีอักษรราว 800 ล้านตัว โดยเป็นการรวบรวมคัมภีร์สำคัญตั้งแต่ยุคโบราณ ซึ่งบางเล่มเคยถูกระบุเป็นคัมภีร์ต้องห้ามในสมัยราชวงศ์ฉิน ครอบคลุมศาสตร์อันหลากหลายแทบทุกประเภทในประเทศจีน

นอกจากความสามารถอันหลากหลายจนเป็นที่ประจักษ์แล้ว ฮ่องเต้เฉียนหลงยังเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่ามีความรักประชาชน และมีความวิริยะอุตสาหะในการปฏิบัติราชกิจเป็นอย่างยิ่ง ทำให้มีขุนนางที่สุจริตซื่อสัตย์ช่วยเหลือในการปกครองบ้านเมืองไม่น้อย โดยพระองค์ได้ต่อต้านและเรียกร้องไม่ให้ขุนนางใช้แต่ภาษาที่สวยหรูแต่จอมปลอมอีกด้วย

ในช่วงยุครุ่งโรจน์ จักรพรรดิ 3 รัชกาลถือเป็นยุคทองอันรุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์เกือบ 300 ปีของราชวงศ์ชิง และถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของจีน ไม่ว่าจะเป็นด้านพื้นที่การทำไร่ทำนา จำนวนผลผลิตการเกษตร จำนวนประชากร ที่มีอย่างยากที่จะหายุคใดเปรียบเทียบได้ จากสถิติที่มีการบันทึก ในรัชกาลคังซีปีที่ 24 ทั่วประเทศมีพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูกถึง 600 ล้านไร่จีน เมื่อมาถึงช่วงปลายรัชกาลของเฉียนหลง ทั่วประเทศมีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มเป็น 1,050 ล้านไร่จีน ผลผลิตทางการเกษตรทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 204,000 ล้านชั่ง จนเป็นประเทศที่มีผลผลิตสูงที่สุดในโลกในสมัยนั้น ในขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจากปีค.ศ. 1700 ที่มีราว 150 ล้านคนมาเป็น 313 ล้านคนในปีค.ศ. 1794 หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของทั่วโลกในเวลานั้น

ยุคราชวงศ์ชิงตอนปลายและความเสื่อมถอย

[แก้]

เริ่มระส่ำระสาย

[แก้]

หลังจากเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในช่วงต้นราชวงศ์ สภาพทั่วไปในพุทธศตวรรษที่ 24 ราชวงศ์ชิงเริ่มอ่อนแอและความเจริญรุ่งเรืองลดลง เนื่องจากประเทศจีนประสบปัญหาความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของกลุ่มคนในวงการต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการเมืองที่มีขุนนางฉ้อราษฎร์บังหลวง เศรษฐกิจหยุดนิ่ง เพราะจักรพรรดิเฉียนหลง กษัตริย์เจ้าสำราญโปรดความหรูหราฟุ่มเฟือยและทำสงครามบ่อยครั้ง เงินท้องพระคลังขัดสน และจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนที่ทำกิน จะเห็นได้ว่าราชวงศ์ชิงมีปัญหาความกดดันภายในประเทศที่สะสมมานาน ประกอบกับความกดดันภายนอกจากชาติมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคม ที่ราชวงศ์ชิงไม่อาจทานได้เพราะระบบการปกครอง และเศรษฐกิจที่ล้าสมัย

จากจักรวรรดิสู่ "ขี้โรคแห่งเอเชีย"

[แก้]

สงครามฝิ่น

[แก้]
เรือรบอังกฤษทำลายเรือรบสำเภาจีน (1843)
ชาวจีนกำลังสูบฝิ่น ในปี ค.ศ. 1902

แม้ราชวงศ์ชิงจะมีความยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม แต่ที่ผ่านมาราชสำนักชิงก็ยังคงทะนงตน ถือว่าตนเป็นอาณาจักรศูนย์กลางของโลกและจักรวาล และเลือกที่จะปิดประเทศไม่ยอมค้าขายกับชาติอื่น ไม่ยอมรับวัฒนธรรมและเทคโนโลยีจากตะวันตกมาพัฒนาประเทศ ทำให้ประเทศยังคงล้าหลังอยู่ จนกระทั่งปีค.ศ. 1757 หรือในรัชกาลเฉียนหลงปีที่ 22 ก็ได้มีการกำหนดให้เมืองกว่างโจวเป็นเมืองท่าเพียงแห่งเดียวที่ได้รับการอนุญาตให้ติดต่อกับชาวต่างชาติ ซึ่งนับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา อังกฤษได้นำเข้าใบชา ถ้วยชามเครื่องเคลือบและผ้าไหมจากจีนเป็นจำนวนมาก ในขณะที่มีสินค้าส่งออกให้จีนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้อังกฤษเสียเปรียบดุลการค้าให้จีนอย่างมหาศาล

กระทั่งรัชกาลเฉียนหลงปีที่ 28 หรือ ค.ศ.1763 เพื่อถ่วงดุลการค้าที่เสียเปรียบ อังกฤษได้เริ่มนโยบายจักรวรรดินิยมและได้ใช้ลัทธิล่าอาณานิคมในเมืองจีน อังกฤษได้วางแผนนำฝิ่นมามอมเมาชาวจีนให้อ่อนแอ โดยนำเอาฝิ่นเข้ามาจำหน่ายในเมืองจีน ซึ่งเดิมทีสำหรับคนจีน นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 เป็นต้นมา ฝิ่นก็ถูกจัดและถูกใช้ในฐานะยาสมุนไพรประเภทหนึ่ง กระทั่งหลังจากที่อังกฤษได้เข้าพิชิตอินเดีย และได้มอบสิทธิผูกขาดในการจำหน่ายให้กับบริษัทอีสต์อินเดีย และนำเข้าจำหน่ายในจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งในเวลานั้นนอกจากอังกฤษแล้ว ยังมีอเมริกา ฝรั่งเศสและรัสเซียที่ต่างก็พยายามนำเอาฝิ่นจากตุรกี และเอเชียกลางมาจำหน่ายในจีนเช่นกัน

ในช่วงเวลานั้น ราคาของฝิ่นอยู่ชั่งละ 5 ตำลึงเงิน ในช่วงเวลา 40 ปีก่อนที่สงครามฝิ่นจะปะทุขึ้น อังกฤษได้ขนฝิ่นเข้ามาประเทศจีนมากถึง 400,000 ลัง จนดูดเอาเงินแท่งออกไปจากจีนได้ราว 300 ล้าน – 400 ล้านแท่ง จนกระทั่งเกิดปัญหาการขาดแคลนเงินแท่งภายในประเทศและทำให้ราคาของเงินแท่งพุ่งสูงขึ้นไปกว่า 1 เท่าตัว จนประชาชนและประเทศชาติต่างยากจนลงไปตาม ๆ กัน คนที่สูบฝิ่นมากขึ้นทุกขณะ ไม่เพียงแต่เป็นในวงขุนนางข้าราชการเท่านั้น แต่เลยไปถึงบรรดาเจ้าของที่ดิน พ่อค้า บัณฑิต และแม้กระทั่งชาวไร่ชาวนา ช่างแรงงาน ทหารก็ไม่เว้น

เมื่อมาถึงปีค.ศ. 1838 ทั่วประเทศมีชาวจีนที่ติดฝิ่นมากถึง 2,000,000 คน จนถึงกับมีคำกล่าวว่าฝิ่นนั้น นอกจากจะขูดเอาเงินแท่งจากจีนไปแล้ว ยังได้ทำลายสุขภาพร่างกายและจิตวิญญาณชาวจีนไปด้วย ในปีเดียวกันนี้จึงมีกลุ่มขุนนางถวายฎีกาโดยเปิดโปงบรรดาข้าราชการที่ค้าฝิ่น และผลักดันให้มีการหยุดฝิ่นด้วยการลงโทษผู้ที่สูบอย่างรุนแรง หลังจากนั้นหลินเจ๋อสีว์ (林则徐) ผู้ตรวจการหูกว่างได้ถวายฎีกาถึง 3 ครั้งต่อฮ่องเต้เต้ากวง โดยระบุว่าหากไม่ทำการหยุดฝิ่นในประเทศจีน ในระยะยาวอีกหลายสิบปีนั้น จีนจะไม่เหลือทหารไว้รบ ไม่เหลือเงินไว้ใช้อีกต่อไป จนทำให้จักรพรรดิเต้ากวงมีดำริที่จะปราบปรามฝิ่นอย่างจริงจัง นำไปสู่สงครามฝิ่นกับอังกฤษทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งราชวงศ์ชิงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เนื่องจากอาวุธปืนของอังกฤษมีความทันสมัยกว่ามาก ทำให้ต้องราชวงศ์ชิงต้องสูญเสียเกาะฮ่องกงแก่อังกฤษ อีกทั้งต้องทำสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมจำนวนมากกับชาติตะวันตกและเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

กบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว

[แก้]

หลังจากพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น รัฐบาลชิงต้องเสียดินแดนและชำระค่าฝิ่นกับค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนสูง จึงขูดรีดภาษีจากประชาชน การคลังขาดแคลน ประชาชนอดอยาก สังคมเริ่มวุ่นวาย ไร้ความสงบสุข ประชาชนเริ่มรวมตัวต่อต้านอำนาจรัฐกลายเป็นกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว โดยมีผู้นำคือ หงซิ่วฉวน เป็นชาวอำเภอฮัวเซี่ยน มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งได้รับอิทธิพลของคริสต์ศาสนา จึงร่วมกับ เฝิงอวิ๋นซาน ก่อตั้งสมาคมนับถือพระเจ้าที่มณฑลก่วงซี แล้วกลายสภาพเป็นกบฏไท่ผิงเทียนกั๋วในเวลาต่อมาในปี ค.ศ. 1851 รัชศกเต้ากวง ปลายรัชสมัยปีที่ 30

กองทัพของหงซิ่วฉวนกับเฝิงอวิ๋นซานบุกยึดเมืองนานกิงได้ในปีค.ศ. 1853 รัชศกเสียนฟง ปีที่ 3 ขณะนั้นกองทัพมีกำลังพลนับล้านกว่าคนและในอีก 2 ปี ต่อมา ก็ได้รับชัยชนะจากยุทธการหูโข่ว หลังจากได้ชัยชนะในหลายสมรภูมิช่วงท้ายของกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว ผู้นำทั้งสองเกิดความขัดแย้งกันเองด้วยการแยกตัวเป็นอิสระ การลอบสังหารกันด้วยความระแวงใจ ทำให้กองทัพกบฏเริ่มอ่อนแอลง กอปรกับราชสำนักชิงขอร้องกองทัพอังกฤษซึ่งมีอาวุธทันสมัยและทหารแข็งแกร่งให้ช่วยกวาดล้างกบฏแลกกับผลประโยชน์ที่เสนอให้อังกฤษ ฝ่ายกบฏเริ่มสูญเสียที่มั่นไปจนถึงปลายปีค.ศ. 1863 รัชศกถงจื้อ ปีที่ 2 ทหารชิงและทหารต่างชาติล้อมเมืองเทียนจิงได้ ปีถัดมาเมืองนั้นเกิดสภาพอดอยาก หงซิ่วฉวนฆ่าตัวตาย เมืองเทียนจิงแตก จึงถือเป็นการปิดฉากกบฏไท่ผิงเทียนกั๋วลง แต่จิตวิญญาณต่อต้านราชวงศ์ชิงยังฝังแน่นในหัวใจของชาวฮั่นซึ่งส่งผลสืบเนื่องให้เกิดการปฏิวัติต่อต้านแมนจูในเวลาข้างหน้าอีก

สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง

[แก้]
แม่ทัพแห่งต้าชิงคุกเข่ายอมจำนนต่อกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น

หลังการปฏิรูปเมจิในญี่ปุ่นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นได้พัฒนาประเทศจนเจริญทัดเทียมกับตะวันตกและเริ่มขยายอำนาจออกนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายที่แผ่นดินจีนอันกว้างใหญ่ ญี่ปุ่นเริ่มการคุกคามจีนด้วยการนำกองทัพบุกยึดครองเกาหลีซึ่งเป็นประเทศราชของจีนเพื่อหวังเป็นเส้นทางเข้าสู่จีน ปี พ.ศ. 2437 (ค.ศ. 1894) รัชศกกวงซี่ ปีที่ 20 เกาหลีเกิดจลาจลกลุ่มภูมิปัญญาตะวันออก (ตงเสวียตั่ง) ขึ้น จึงร้องขอให้จีนช่วยเหลือ จีนส่งกองทัพไปตามคำขอ ส่วนญี่ปุ่นส่งกองทัพเรือไปยึดครองเกาหลีและโจมตีทหารจีนอันเป็นการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ กองทหารชิงพ่ายแพ้ ญี่ปุ่นยังรุกต่อเนื่องทำให้ราชสำนักชิงหวั่นเกรงความเข้มแข็งของกองทัพญี่ปุ่น ราชสำนักชิงจึงรีบขอเจรจาสงบศึกก่อน ในปี ค.ศ. 1895 ได้เกิดสนธิสัญญาชิโมะโนะเซะกิ อันเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มีการลงนามระหว่างขุนนางราชสำนักชิง หลี่ หงจางกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น อิโต ฮิโระบุมิ ความสูญเสียของจีนคือ ยกเกาหลี ไต้หวัน, คาบสมุทรเหลียวตงให้ญี่ปุ่น ใช้เงินค่าปฏิกรรมสงครามนับสองร้อยล้านตำลึง อนุญาตให้ญี่ปุ่นตั้งโรงงานตามเมืองท่าของจีนได้

ผลจากสนธิสัญญานี้บางส่วนไปกระทบต่อความมั่นคงของรัสเซียซึ่งมีดินแดนบางส่วนติดกับจีนที่บริเวณคาบสมุทรเหลียวตง รัสเซียร่วมกับฝรั่งเศส เยอรมัน ทำการคัดค้านการยึดครองดินแดนผืนนั้นอย่างหนักหน่วง ญี่ปุ่นจำใจคืนคาบสมุทรเหลียวตงให้จีน โดยแลกกับเงินแท่งหลายล้านตำลึง การต้องใช้จ่ายเงินจำนวนสูงมากในหลายกรณีโดยราชสำนักชิง ทำให้ประชาชนเดือดร้อนหนักจากการรีดภาษี ความยากแค้นแผ่ขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ แรงคับแค้นใจถูกเก็บอัดแน่นมากขึ้นในหมู่ประชาชน

การปฏิรูป / รัฐประหาร อู้ซีว์

[แก้]

หลังการพ่ายแพ้สงครามต่อฝรั่งเศสและญี่ปุ่น รัชศกกวางสู์ ปีที่ 23 เยอรมันใช้กำลังยึดครองอ่าวเจียวโจว คังโหย่วเหวย ถานซือถง เสนอหลักเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบใหม่เพื่อความเข้มแข็งของชาติ ซึ่งเรียกกันว่า “แผนปฏิรูป อู๋ซีว์” โดยเน้นการผลิตบัณฑิตสมัยใหม่ เปิดกว้างการวิพากษ วิเคราะห์ พัฒนากิจการใหม่ ๆ ที่ส่งผลต่อความเข้มแข็งของชาติ และความอิ่มท้องของชาวบ้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากพระเจ้ากวางสู์ ซึ่งต้องการใช้แผนปฏิรูปนี้ยึดคืนอำนาจจากพระนางซูสีไทเฮา ข้าราชสำนักส่วนใหญ่เกิดความระแวงใจว่าแผนดังกล่าวมาจากบัณฑิตชาวฮั่น จึงร่วมมือกับพระนางซูสีทำรัฐประหาร กักขังพระเจ้ากวางสู จับถานซื่อถงกับพวกนักปฏิรูป รวมทั้งลงโทษขุนนางที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สั่งยกเลิกแผนปฏิรูปทั้งหมด เรียกว่า รัฐประหาร อู้ซีว์ ส่วนคังโหย่วเหวยกับเหลียงฉี่เชาหลบหนีไปนอกประเทศได้

หลังการปฏิรูปชาติล้มเหลว ราษฎรเริ่มตระหนักใจว่าหากไม่ล้มล้างรัฐบาลชิงซึ่งไร้ความสามารถ ราชสำนักชิงภายใต้อำนาจของพระนางซูสีเหลวแหลกและเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปไปสู่ความเข้มแข็งของชาติ คนจำนวนมากจึงเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติของดร.ซุนยัดเซน ในเวลาต่อไป

ขบวนการอี้เหอถวน / ศึกพันธมิตรแปดชาติ

[แก้]
การ์ตูนล้อการเมืองพรรณนาถึง กลุ่มประเทศนักล่าอาณานิคมกำลังรุมโต๊ะแบ่งกันยึดครองประเทศจีน โดย สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (อังกฤษ), ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 (เยอรมัน), พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 (รัสเซีย), มารียาน (ฝรั่งเศส) และ ซามูไร (ญี้ปุ่น) กำลังแบ่งประเทศจีน
ชาวจีนตกเป็นเชลยในกบฎนักมวย

ตอนปลายราชวงศ์ชิงการรุกรานของต่างชาติทั้งด้านกองทหารและศาสนาคริสต์สร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรอันเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันที่ราชสำนักกลัวเกรงต่างชาติโดยไม่คุ้มครองชาวบ้านที่ถูกรังแกเหยียดหยาม จึงสั่งสมความแค้นกลายเป็นพลังต่อต้านต่างชาติอย่างเร็ว กอปรกับภัยพิบัติของแม่น้ำฮวงโหแล้งติดต่อกันหลายปี ทำให้เกิดความยากแค้นจึงมีกลุ่มความเชื่อลัทธิต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มอี้เหอถวนในมณฑลซานตุงกับเหอเป่ย ซึ่งนอกจากสอนมวยแล้ว ยังฝังความเชื่อเกี่ยวกับเวทมนตร์ให้ชาวบ้านด้วยพร้อมกับแนวคิดสนับสนุนราชวงศ์ชิง กำจัดต่างชาติ ทำให้มีผู้ร่วมกลุ่มเพิ่มทวีขึ้น นอกจากนั้นราชสำนักชิงโดยพระนางซูสีต้องการใช้กลุ่มนี้ต่อต้านต่างชาติซึ่งคัดค้านพระนางกักขังพระเจ้ากวางสู กลุ่มนี้จึงกลายเป็นเครื่องมือทำลายต่างชาติของและได้รับการสนับสนุนจากพระนางซูสีซึ่งคอยบงการอยู่เบื้องหลัง อันสร้างความไม่พอใจแก่ชาวต่างชาติอย่างมาก

พระนางซูสีไทเฮาหนีภัยสงครามของตนเอง

[แก้]
พระนางซูสีไทเฮา

ปี พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1900) รัชศก กวางสู์ ปีที่ 26 พระนางซูสีไทเฮาสั่งกลุ่มอี้เหอถวนโจมตีเขตสถานทูตของต่างชาติในปักกิ่ง ทำให้ชาติต่าง ๆ ซึ่งได้รับความเสียหายรวมตัวกันเป็นกองทัพพันธมิตรแปดชาติตอบโต้จีน ทหารชิงแตกพ่าย ทหารพันธมิตรบุกเข้ากรุงปักกิ่งและยึดพระราชวังต้องห้ามไว้ พระนางซูสีพาพระเจ้ากวางสูลี้ภัยหนีไปเมืองซีอาน ส่วนกองทัพพันธมิตรปล้นสะดมวังต้องห้ามและบ้านเรือนของชาวบ้าน อันสร้างความเสียหายอย่างมากทั้งสถานที่หรือสมบัติมีค่าของจีน ปีต่อมาราชสำนักชิงส่งตัวแทนเจรจาสันติภาพโดยยอมใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนสูงมาก ยอมให้ต่างชาติตั้งกองทหารในเขตที่ต้องการอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ของชาติ รวมทั้งกำหนดขอบเขตที่ห้ามคนจีนเข้าไปทั้งที่เป็นดินแดนจีน การสูญเสียอธิปไตยเพิ่มเติมจากสัญญาต่าง ๆ ที่เคยทำไว้โดยมาจากความอ่อนแอของราชสำนักชิงสร้างความคับแค้นใจแก่คนจีนซึ่งเชื่อมั่นมากขึ้นว่า ชาติจะรอดพ้นภัยพิบัติได้ด้วยการล้มล้างราชวงศ์ชิงเท่านั้น แนวคิดนี้ลุกลามไปทั่วแผ่นดิน ขบวนการปฏิวัติจึงรวมตัวและเคลื่อนไหวเข้มข้นมากขึ้น อันสั่นคลอนต่ออำนาจของพระนางซูสีไทเฮาและราชสำนักชิงในเงื้อมเงาของพระนางหนักขึ้นทุกขณะ

รัฐธรรมนูญของราชสำนักชิง

[แก้]

ช่วงปลายลมหายใจของพระนางซูสีไทเฮา ฝ่ายต่อต้านราชสำนักชิงมีพลังมากขึ้นและแยกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุนให้มีรัฐธรรมนูญโดยยังมีฮ่องเต้ของคังโหย่วเหวย กับ ฝ่ายล้มล้างราชวงศ์ชิงของดร.ซุนยัดเซน เพื่อเป็นการลดความร้อนแรงของประชาชน ราชสำนักชิงเลือกจะร่างรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนต้องการ ทำให้ฝ่ายล้มล้างราชวงศ์ชิงไม่เป็นที่สนใจเพราะความหวังใหม่ในท่าทีอ่อนลงของราชสำนัก พระนางซูสีไทเฮาคัดเลือกรัชทายาทใหม่และถือเป็นคนสุดท้ายของราชวงศ์ชิงก่อนสิ้นลมหายใจ คือ จักรพรรดิผู่อี๋หรือผู่อี๋ ตอนนั้นมีพระชนมายุไม่ถึง 3 ขวบ และเปลี่ยนเป็นรัชศกเซียนถ่ง โดยมีพระบิดา คือ เจ้าชายฉุน (ไจ้เฟิง) เป็นผู้สำเร็จราชการบริหารแผ่นดินแทน พระบิดาร่างรัฐธรรมนูญต่อไปเมื่อประกาศใช้ในแผ่นดินกลับสร้างความผิดหวังแก่ประชาชนอย่างมาก เมื่อกำหนดให้กลุ่มผู้บริหารประเทศเป็นเชื้อพระวงศ์ชิงส่วนใหญ่ คนจีนตระหนักใจแล้วว่าความหวังเดียวของชาติ คือ ต้องใช้กำลังล้มล้างราชวงศ์ชิงเท่านั้น ฝ่ายที่เคยเรียกร้องรัฐธรรมนูญของคังโหย่วเหวยผันตัวเองไปสนับสนุนกลุ่มดร.ซุนยัดเซนมากขึ้น หลังจากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับของราชสำนักชิงแล้ว ประชาชนเปลี่ยนไปเข้าร่วมแนวคิดของดร.ซุนยัดเซนเพิ่มทวีขึ้นและถือว่าทรงอิทธิพลมาก ชะตากรรมของราชสำนักชิงเข้าสู่จุดวิกฤติ

การปฏิวัติซินไฮ่

[แก้]

ราชวงศ์ชิงล่มสลาย

[แก้]
กองทัพฝ่ายปฏิวัติใน การลุกฮือที่อู่ชาง กำลังทำการรบในยุทธการหยางเซีย

ในช่วงต้นของพุทธศตวรรษที่ 25 ความไม่พอใจของประชาชนต่อการปกครองที่เหลวแหลกของราชสำนักชิงพวยพุ่งขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีการรวมกลุ่มกันประท้วงมากขึ้นและขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งพระนางซูสีไทเฮาและจักรพรรดิกวางสูสวรรคตใน ค.ศ. 1908 ทิ้งให้สมาชิกราชวงศ์ที่ไร้บารมีและสถานภาพทางการเมืองไม่แน่นอนยังอยู่ในพระราชวังต้องห้าม ผู่อี๋ โอรสขององค์ชายชุนที่ 2 ได้รับการอภิเษกให้เป็นจักรพรรดิองค์ต่อไปตั้งแต่พระชนมายุเพียง 2 ชันษา โดยให้พระราชบิดาเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ต่อมา นายพลหยวน ซื่อไข่ ถูกปลดออกจากตำแหน่งทางทหาร ในกลางปี ค.ศ. 1911 องค์ชายชุนที่ 2 ทรงตั้งคณะรัฐมนตรีหลวง โดยสมาชิกเกือบทั้งหมดเป็นพระญาติสกุลอ้ายซินเจว๋หลัว มีหน้าที่บริหารประเทศจีนในเรื่องทั่วไป การตั้งคณะรัฐมนตรีหลวงครั้งนี้ได้สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับข้าราชการชั้นสูงทั้งหลาย ซึ่งรวมทั้ง จางจื่อตง ด้วย

ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 1911 ได้เกิดจลาจลอู่จางขึ้น และต่อมา ดร.ซุน ยัดเซ็น ได้ประกาศก่อตั้งรัฐบาลของตนขึ้นใหม่ ในนามสาธารณรัฐจีน ที่เมืองนานกิง หัวเมืองหลายแห่งเริ่มตีตัวแยกจากรัฐบาลราชวงศ์ชิง เมื่อสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจเช่นนี้ รัฐบาลราชวงศ์ชิงจึงเรียกตัวนายพลหยวน ซื่อไข่รู้สึกไม่พอใจราชวงศ์อยู่แล้วกลับเข้ามาควบคุมกองทัพเป่ย์หยาง เพื่อปราบปรามกลุ่มผู้แข็งข้อทั้งหลาย หลังจากที่ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลของตนแล้ว นายพลหยวนก็ได้เรียกร้องให้องค์ชายชุนลงจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ โดยการเรียกร้องครั้งนี้ได้รับคำแนะนำจาก สมเด็จพระพันปีหลวงหรงยู่

กองทัพฝ่ายปฏิวัติบุกเข้าประตูเมืองนานกิง

หลังจากองค์ชายชุนออกจากตำแหน่งแล้ว หยวน ซื่อไข่และนายพลจากกองทัพเป่ย์หยางก็ครอบงำราชวงศ์ชิงได้สำเร็จ ประเทศจีนในครั้งนั้นก็มี รัฐบาล 2 ฝ่าย รัฐบาลหยวน ซื่อไข่ปฏิเสธการทำสงครามกับรัฐบาลสาธารณรัฐของซุน ยัดเซ็น โดยให้เหตุผลว่าเสียค่าใช้จ่ายสูงและไม่มีเหตุผล คำเรียกร้องของราชวงศ์ชิงคืออยากใประเทศจีนปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และซุนยัดเซ็นอยากให้ประเทศปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ หลังจากที่ได้รับการอนุญาตจากหลงหยูไทเฮาแล้ว นายพลหยวนก็ได้เปิดการเจรจากับซุนยัดเซ็น โดยที่ซุนยัดเซ็นมีเป้าหมายว่าถ้าก่อตั้งสาธารณรัฐจีนสำเร็จแล้ว อาจจะให้นายพลหยวนขึ้นเป็นประธานาธิบดี ใน ค.ศ. 1912 หลังจากการเจรจา หลงหยูไทเฮาก็ได้ออกพระราชเสาวนีย์ประกาศให้จักรพรรดิผู่อี๋ผู้เป็นพระโอรสบุญธรรมสละราชบัลลังก์

การล่มสลายของราชวงศ์ชิงใน ค.ศ. 1912 ถือเป็นการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในจีนที่มีมายาวนานกว่า 5,000 ปี

การเมือง

[แก้]
เครื่องแบบชุดขุนนางฤดูหนาว สมัยราชวงศ์ชิง
เครื่องแบบชุดขุนนางฤดูร้อน สมัยราชวงศ์ชิง

ในสมัยจักรพรรดิราชวงศ์ชิงตอนต้นนำระบบโครงสร้างและสถาบันของข้าราชการของราชวงศ์หมิงมาปรับใช้ แต่มีแบ่งแยกการปกครองและตำแหน่งของข้าราชการระหว่างชาวฮั่นกับชาวแมนจู ตำแหน่งราชการบางตำแหน่งยังคงเป็นของชาวมองโกล[8] เช่นเดียวกับราชวงศ์ในอดีตก่อนหน้านี้ ข้าราชการของราชวงศ์ชิงได้รับคัดเลือกผ่านทางสอบจอหงวนเข้ารับราชการ จนกระทั่งระบบถูกยกเลิกในปี ค.ศ. 1905 ราชวงศ์ชิงได้แบ่งตำแหน่งออกเป็นตำแหน่งพลเรือนและทหาร แต่ละหมวดย่อยแบ่งเป็น 2 แผนก แผนกแรก การแต่งตั้งตำแหน่งพลเรือนมีตำแหน่งตั้งแต่ข้าราชบริพารในจักรพรรดิ (ฮ่องเต้) ไปจนถึงตำแหน่งศาลาในที่ประจำอยู่ในพระราชวังต้องห้าม (ตำแหน่งสูงสุด) เป็นผู้จัดเก็บภาษีประจำจังหวัด, ผู้ช่วยผู้คุมในเรือนจำรอง, ผู้บัญชาการตำรวจหรือผู้ตรวจสอบภาษี แผนกที่ 2 การแต่งตั้งตำแหน่งทางทหารนั้นมีตั้งแต่การเป็นแม่ทัพใหญ่หรือมหาดเล็กกรมวังของราชองครักษ์ไปจนถึงจ่าสิบเอก,ชั้นสิบโทหรือตำแหน่งพลทหารชั้นหนึ่งหรือชั้นสอง[9]

หน่วยงานราชการกลาง

[แก้]

โครงสร้างที่เป็นทางการของราชสำนักชิงมีศูนย์กลางที่จักรพรรดิในฐานะผู้ปกครองที่เป็นศูนย์รวมอำนาจสมบูรณ์ซึ่งเป็นประธานในคณะกรรมการหกคณะ หรือ หกกรม (จีน: 六部; พินอิน: lìubù) แต่ละกรมมีเสนาบดีสองคน (จีนตัวย่อ: 尚书; จีนตัวเต็ม: 尚書; พินอิน: shàngshū) และมีตำแหน่งผู้ช่วยรองลงมาอีก 4 คน (จีน: 侍郎; พินอิน: shìláng) อย่างไรก็ตามระบบของราชวงศ์ชิงตรงกันข้ามกับระบบของราชวงศ์หมิงที่นโยบายชาติพันธุ์ของชิงระบุว่าการแต่งตั้งบรรจุข้าราชการจะถูกแบ่งระหว่างข้าราชการชาวแมนจูและข้าราชการชาวฮั่นที่ผ่านระดับสูงสุดของการสอบจอหงวนเข้ารับราชการ ส่วนตำแหน่ง ศาลาใน (จีนตัวย่อ: 内阁; จีนตัวเต็ม: 內閣; พินอิน: nèigé) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายที่สำคัญในยุคสมัยราชวงศ์หมิงได้สูญเสียความสำคัญลงในช่วงราชวงศ์ชิงและกลายมาเป็นกรมบริหารระดับสูง องค์กรที่ได้รับการสืบทอดมาจากราชวงศ์หมิงเป็นแกนกลางของ "พระตำหนักชั้นนอก" ซึ่งทำหน้าที่จัดการเรื่องประจำและตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพระราชวังต้องห้าม

เพื่อไม่ให้การบริหารกิจวัตรประจำวันเข้ามามีอิทธิพลครอบงำในราชสำนักมากเกินไป จักรพรรดิชิงจึงทรงทำให้แน่ใจว่าเรื่องสำคัญทั้งหมดต้องได้รับการตัดสินใจจากใน "พระตำหนักชั้นใน" ซึ่งปกครองโดยบรรดาสมาชิกของราชวงศ์ที่เป็นเชื้อพระวงศ์และขุนนางแมนจูซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณตอนเหนือของพระราชวังต้องห้าม

กรมความลับทหาร

[แก้]

องค์กรหลักของพระตำหนักชั้นในคือ กรมความลับทหาร (จีนตัวย่อ: 军机处; จีนตัวเต็ม: 軍機處; พินอิน: jūnjī chù) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1720 ภายใต้รัชสมัยของจักรพรรดิหย่งเจิ้ง ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการกับความขัดแย้งแตกแยกทางทหารระหว่างราชสำนักชิงกับชาวมองโกล แต่ในไม่ช้าหน่วยงานดังกล่าวก็ได้เข้ามาดูแลราชการทหารและการบริหารอื่น ๆ และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางอำนาจภายใต้ราชสำนัก[10]

นโยบายปกครองประเทศ

[แก้]

การปกครองสมัยต้นราชวงศ์ชิง

[แก้]

พุทธศตวรรษที่ 23 ในต้นราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นยุคที่ทางราชวงศ์ต้องผจญกับขบวนการกู้หมิงต้านชิง ของชาวฮั่นทั้งหลายที่โกรธแค้นที่ชนต่างเชื้อสายมาเป็นใหญ่ประเทศจีน ดังนั้นในสมัยของ จักรพรรดิคังซี, จักรพรรดิหย่งเจิ้ง และจักรพรรดิเฉียนหลง จึงต้องใช้ทั้งนโยบายประนีประนอมเพื่อให้อยู่กับชาวฮั่นได้อย่างเป็นสุข และนโยบายแข็งกร้าวเพื่อควบคุมชาวฮั่นไว้ไม่ให้คิดต่อต้าน ซึ่งนโยบายเหล่านี้กลายเป็นแนวปฏิบัติของจักรพรรดิองค์ต่อ ๆ มา เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับอำนาจรัฐ

ในประวัติศาสตร์จีนได้ปรากฏว่ามีชนกลุ่มน้อยขึ้นตั้งราชวงศ์ปกครองแผ่นดินจีน 2 ราชวงศ์ นั่นคือ ราชวงศ์หยวนของเผ่ามองโกล และราชวงศ์ชิงของเผ่าแมนจู ราชวงศ์หยวนถึงแม้จะเก่งกาจ มีกำลังทหารและอาวุธที่น่าเกรงขาม แต่ไม่มีความรู้ด้านการปกครอง จึงปกครองแผ่นดินจีนได้เพียงแค่ 90 ปีเศษก็ล่มสลายไป ส่วนราชวงศ์ชิงใช้นโยบายประนีประนอมและแข็งกร้าวได้อย่างแยบยล จึงประสบความสำเร็จทั้งทางด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และสังคม จนสามารถปกครองแผ่นดินจีนได้นานถึง 260 ปี

การประชุมขุนนาง

นโยบายประนีประนอม

[แก้]

นโยบายประนีประนอมถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการผูกมิตรเอาอกเอาใจชาวฮั่นซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ราชวงศ์ชิงเข้าปกครองแผ่นดินจีนใหม่ๆ เพื่อสร้างบารมีให้กับราชวงศ์ชิง และขจัดความคิดต่อต้านแมนจู โดยนโยบายสำคัญ ๆ มีดังนี้

  • จัดพระราชพิธีปลงพระศพของพระเจ้าหมิงซือจง จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์หมิงและพระมเหสี และสร้างสุสานถวายให้อย่างสมพระเกียรติ
  • ยกย่องขุนนางราชวงศ์หมิงที่สละชีพเพื่อปกป้องเยี่ยงวีรบุรุษ และเกลี้ยกล่อมขุนนางหมิงให้สวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์ชิงและดูแลเป็นพิเศษ
  • ยังคงใช้วิธีคัดเลือกข้าราชการโดยวิธีการสอบจอหงวนตามแบบของราชวงศ์หมิง และเปิดโอกาสให้ชาวจีนฮั่นเข้าสอบรับราชการได้
  • จักรพรรดิคังซี ทรงจัดทำ พจนานุกรมคังซี ซึ่งรวบรวมตัวอักษรจีนได้ครบถ้วนที่สุดสมัยนั้น และในสมัย จักรพรรดิเฉียนหลง ได้มีการรวบรวมงานวิชาการครั้งยิ่งใหญ่ทั่วประเทศจีนมาเป็น ประมวลสาส์นสี่ภาค (四庫全書 ซื่อคู่เฉวีนซู) มีการส่งเสริมบัณฑิตที่มีผลงานทางวิชาการให้ได้รับบำเหน็จ อย่างไรก็ตาม ในขณะรวบรวมผลงานทางวิชาการ หนังสือหลายเล่มถูกทำลายเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง
  • ยกเลิกหรือลดอัตราภาษีที่ขูดรีดในท้องที่ต่าง ๆ และล้มแนวการปกครองที่โหดร้ายของราชวงศ์หมิง

นโยบายแข็งกร้าว

[แก้]

ในขณะเดียวกัน ราชวงศ์ชิงก็ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวเพื่อสยบชาวฮั่นที่คิดจะต่อต้านไว้ด้วย โดยนโยบายสำคัญมีดังนี้

  • สังหารประชาชนที่รวมตัวก่อจลาจลต่อต้านราชสำนักตามท้องที่ต่าง ๆ อย่างโหดเหี้ยม
  • ห้ามการรวมกลุ่มกันจัดตั้งสมาคมอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการรวมพลังมวลชน
  • บังคับให้ชายชาวฮั่นทั่วประเทศต้องไว้ผมแบบชาวแมนจู คือ ไว้หางเปียยาวด้านหลัง และโกนผมครึ่งศีรษะ อย่างที่ชาวไทยคุ้นเคยกันดีจากภาพยนตร์ ใครฝ่าฝืนจะต้องโทษประหารชีวิต
  • นำกฎหมายอาชญาทางภาษา (เหวินจื้ออวี้) มาใช้หลายครั้ง เพื่อควบคุมความคิดของชาวฮั่นให้อยู่ในกรอบ ในสมัยจักรพรรดิคังซี หย่งเจิ้ง และเฉียนหลง มีปรากฏว่ามีมากถึง 70-80 คดี แต่ละคดีจะมีผู้รับเคราะห์ 10 คน จนถึงหมื่นคนก็มี ตัวอย่างคดีที่สำคัญ เช่น คดีหนังสือประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิง (หมิงสื่อ) ในสมัยคังซี ที่จวนถิงหลง จัดพิมพ์ไปกล่าวกระทบประวัติศาสตร์แมนจู ราชวงศ์ชิงถึงกับขุดศพจวนถิงหลงมาแยกร่าง ผู้เขียน ตรวจอักษร ขายหนังสือ และแม้แต่ผู้มีหนังสือในครอบครองถูกประหาร 72 คน และถูกขับไล่ให้เป็นทหารแถบชายแดนอีกนับร้อยคน

การทหาร

[แก้]

กองทัพแบบเก่า

[แก้]

จุดเริ่มต้นและการพัฒนาในช่วงต้น

[แก้]
กระบวนทัพกองธงในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงขณะเสด็จประพาสภาคใต้
ทหารของกองธงน้ำเงินในช่วงรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง

การทหารชิงในช่วงต้นราชวงศ์มีรากฐานมาจากกองทัพแปดกองธงที่พัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกโดยปฐมจักรพรรดิหนูเอ่อร์ฮาชื่อเพื่อจัดระเบียบชาวหนี่เจินด้วยกันเองและสังคมที่อยู่นอกเหนือความผูกพันของเผ่าเดียวกัน มีธงเป็นสัญลักษณ์ทั้งหมดแปดธงแยกตามสี สีเหลืองมีขอบสีเหลืองและสีขาวเป็นที่รู้จักในนาม "สามกองธงระดับสูง" และอยู่ภายใต้คำสั่งโดยตรงของจักรพรรดิ มีเพียงชาวแมนจูเท่านั้นที่เป็นสมาชิกของธงชั้นสูงสามธง และชาวจีนฮั่นที่ผ่านการสอบระดับสูงสุดมาแล้วเท่านั้นที่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มกันส่วนตัวของจักรพรรดิได้ ธงที่เหลือเป็นที่รู้จักในนาม "ห้ากองธงระดับล่าง" ซึ่งได้รับคำสั่งบัญชาการจากบรรดาเชื้อพระวงศ์แมนจูที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลอ้ายซินเจว๋หลัว ซึ่งรู้จักกันอย่างไม่เป็นทางการว่าอ๋องพระมาลาเหล็ก พร้อมกันนั้นได้มีการก่อตั้งสภาผู้ปกครองแห่งราชวงศ์แมนจู รวมถึงผู้บังคับบัญชากองทัพ พระโอรสของหนูเอ่อร์ฮาชื่อ หฺวัง ไถจี๋ ได้นำทัพบุกดินแดนประเทศจีนของราชวงศ์หมิง ได้ขยายระบบเพื่อรวมกองธงที่เป็นเผ่าชาวมองโกล และชาวฮั่น หลังจากการยึดครองกรุงปักกิ่งได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1644 กองทัพธงขนาดค่อนข้างเล็กนั้นถูกเสริมโดย กองทัพมาตรฐานสีเขียว ซึ่งประกอบด้วยกองทหารหมิงที่ยอมจำนนต่อราชวงศ์ชิงซึ่งในที่สุดมีจำนวนมากกว่าสามต่อหนึ่งกองทัพ พวกเขายังคงรักษาระบบการบริหารกองทัพยุคราชวงศ์หมิงของพวกเขาและนำมาผสมกับบรูปแบบการปกครองกองธงและเจ้าหน้าที่กองทัพมาตรฐานสีเขียว

กองทัพแปดกองธงได้มีการจัดเรียงตามกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ แมนจูและมองโกล แต่รวมถึงทาสที่ไม่ใช่แมนจูที่ลงทะเบียนสังกัดมูลนายภายใต้ครัวเรือนของเจ้านายของแมนจู ในภายต่อมาเมื่อราชวงศ์ชิงพิชิตดินแดนจีนมากขึ้น ทำให้มีการเพิ่มจำนวน ของชาวฮั่น ภายใต้การปกครองของแมนจูทำให้หฺวัง ไถจี๋สร้างแปดกองธงฮั่น [zh] ขึ้น เมื่อแม่ทัพอู๋ซานกุ้ยแปรพักตร์เปิดด่านให้กองทัพแปดธงเข้าจงหยวน แมนจูก็สามารถยึดแผ่นดินจีนได้สำเร็จ และในช่วงเวลาที่ราชวงศ์ชิงยึดกรุงปักกิ่ง ตัวเลขของกองธงก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว[11] กองธงชาวฮั่นมีสถานะและอำนาจในช่วงต้นราชวงศ์ชิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการพิชิตในช่วงจักรพรรดิซุ่นจื้อและจักรพรรดิคังซีที่พวกเขาครองตำแหน่งผู้ว่าการ-นายพลและผู้ว่าการทั่วประเทศจีน ในช่วงการขยายตัวของพลเรือนแมนจูและฮั่นในกองธง ชาวฮั่นยังมีครองอิทธิพลในกองธงเป็นจำนวนมากจนถึงกลางศตวรรษที่ 18 ผู้มาเยือนชาวยุโรปในปักกิ่งเรียกพวกเขาว่า "จีนแมนจู" หรือ "ชาวจีนแมนจู"

ในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงทรงกังวลเกี่ยวกับการมีอิทธิพลมากเกินไปของชาวฮั่นในระบบกองธง และทรงตระหนักถึงการรักษาอัตลักษณ์ของเผ่าพันธุ์แมนจูที่เน้นภาษาเผ่าพันธุ์และวัฒนธรรมในแปดกองธง พระองค์จึงทรงเริ่มต้นการปลดทหารจำนวนกองธงชาวฮั่นจากแปดกองธงโดยสมัครใจหรือขอให้พวกเขาลาออกจากกองธงโดยสมัครใจหรือประกาศชื่อถอดถอนพวกเขาออก โดยทรงมอบทรัพย์สินปลอบใจตอบแทนเพื่อประนีประนอมกับชาวฮั่นอีกที สิ่งนี้นำไปสู่การเปลี่ยนจากเสียงส่วนใหญ่ของชาวฮั่นมาเป็นชาวแมนจูเสียส่วนใหญ่ภายในระบบกองธง[12] และก่อนหน้านี้ทหารรักษาการณ์ที่เป็นกองธงชาวฮั่นในภาคใต้ของจีนเช่นที่ ฝูเจี้ยน, เจียงซู, กวางตุ้ง ถูกแทนที่ด้วยกองธงชาวแมนจู ในการสับเปลี่ยนกองธงซึ่งเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1754 การหมุนเวียนของจักรพรรดิเฉียนหลงส่งผลกระทบอย่างมากต่อการประจำการของทหารรักษาการณ์กองธงประจำจังหวัดต่าง ๆ ในขณะที่มีผลกระทบต่อกองธงชาวฮั่น ในกรุงปักกิ่งน้อยมาก ทำให้สัดส่วนของกองธงชาวฮั่นที่เหลืออยู่ในกรุงปักกิ่งมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ[13] สถานะของกองธงชาวฮั่นลดลงจากจุดนั้นด้วยการที่กองธงชาวแมนจูได้รับสถานะที่สูงขึ้น กองธงชาวฮั่นที่แต่เดิมมีจำนวนครองตำแหน่งในกองธงถึง 75% ในปี ค.ศ. 1648 รัชสมัยจักรพรรดิซุ่นจื้อ ในปี ค.ศ. 1723 ในช่วงจักรพรรดิยงเจิ้งครองราชย์ ลดเหลือ 72% ในปี ค.ศ. 1796 ในช่วงปีแรกของการครองราชย์ของจักรพรรดิเจียชิ่ง ลดลงเหลือ 43% ซึ่งเกิดภายหลังจากการลดจำนวนของจักรพรรดิเฉียนหลง

หลังจากศตวรรษแห่งสันติภาพกองทหารกองธงชาวแมนจูเริ่มอ่อนแอ พ่ายแพ้การต่อสู้หลายครั้ง ก่อนการพิชิตหมิงของชิง กองธงแมนจูนั้นเป็นกองทัพ "พลเมือง" ที่มีสมาชิกเป็นชาวนาและผู้เลี้ยงสัตว์มีหน้าที่ให้การรับราชการทหารในยามสงคราม การตัดสินใจเปลี่ยนกองธงให้กลายเป็นกองกำลังมืออาชีพที่รัฐต้องการทุกประการนำมาซึ่งการเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นและความเสื่อมถอยในฐานะกำลังต่อสู้ กองทัพมาตรฐานสีเขียวลดลงในทำนองเดียวกัน

กองทัพแบบใหม่

[แก้]
กองทัพรูปแบบใหม่ของราชวงศ์ชิงขณะทำการฝึก

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ราชสำนักชิงเสื่อมถอยเนื่องจากไม่ยอมปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยและมักพ่ายแพ้สงครามเรื่อยมา อีกทั้งต้องประสบจากภัยคุกคามจากเหล่าประเทศล่าอาณานิคม ฝ่ายที่อนุรักษ์นิยมที่สุดในราชสำนักชิงไม่สามารถเพิกเฉยต่อความอ่อนแอทางทหารของจีนได้อีกต่อไป ในปี ค.ศ. 1860 ในระหว่างสงครามฝิ่นครั้งที่สอง ราชวงศ์ชิงพ่ายแพ้อย่างยับเยินเมืองหลวงของกรุงปักกิ่งถูกยึดครองและพระราชวังฤดูร้อนถูกปล้นสะดมจากกองกำลังผสมของอังกฤษ-ฝรั่งเศสที่มีขนาดค่อนข้างเล็กจำนวน 25,000 คน เนื่องจากอังกฤษและฝรั่งเศสมีอาวุธที่ทันสมัยกว่า เนื่องจากการถือกำเนิดของอาวุธสมัยใหม่อันเป็นผลมาจากยุโรปมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่วนกองทัพบกและกองทัพเรือของจีนได้รับการฝึกฝนไม่เพียงพอและล้าสมัย ราชสำนักชิงพยายามที่จะทำให้กองทัพและประเทศทันสมัยในช่วงขบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งในตนเองโดยพัฒนาประเทศยึดแบบตะวันตก แม้ประสบความสำเร็จในขั้นต้น แต่ให้ผลที่ยั่งยืนเพียงเล็กน้อยเนื่องจากราชสำนักขาดเงินทุนอีกทั้งยังขาดเจตจำนงทางการเมืองและไม่มีเต็มใจปฏิรูปประเทศเนื่องจากยังยึดแนวคิดแบบโบราณตามราชประเพณีที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงประเทศแบบตะวันตก

หลังราชวงศ์ชิงพ่ายแพ้ในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1894–1895 เป็นการตอกย้ำถึงความอ่อนด่อยและล้าหลังของกองทัพราชสำนักชิง เพราะการที่ราชวงศ์ชิงพ่ายแพ้ให้กับญี่ปุ่นซึ่งราชสำนักมักดูถูกว่าเป็นพวกโจรสลัดและมองว่าเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่ต้อยต่ำกว่า แต่ญี่ปุ่นกลับเอาชนะราชวงศ์ชิงได้และทำลายล้างกองทัพเรือเป่ย์หยางที่ทันสมัยและดีที่สุดของราชสำนักชิงได้อย่างราบคาบ ชัยชนะของญี่ปุ่นเกิดขึ้นเพียงสามทศวรรษหลังจากการปฏิรูปเมจิ โดยจักรพรรดิเมจิได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงประเทศญี่ปุ่นขึ้นให้ทันสมัยตามแบบชาติตะวันตกในความสำเร็จทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ในที่สุดในเดือนธันวาคมปี ค.ศ. 1894 หลังพ่ายแพ้สงครามและถูกประชาชนกดดันอย่างหนัก ราชสำนักชิงใช้ขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมในการปฏิรูปสถาบันทางทหารและฝึกอบรมหน่วยที่เลือกในการฝึกซ้อมยุทธวิธีและอาวุธแบบตะวันตก หน่วยเหล่านี้เรียกว่า กองทัพใหม่ ความสำเร็จที่สุดของสิ่งเหล่านี้คือ กองทัพเป่ย์หยาง ภายใต้การควบคุมและการควบคุมโดยรวมของผู้บัญชาการกองทัพอดีตนายพลยฺเหวียน ชื่อไข่ ผู้ใช้ตำแหน่งของเขาในการสร้างเครือข่ายเจ้าหน้าที่ที่ซื่อสัตย์และในที่สุดเขาก็กลายเป็น ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีนในภายหลัง[14]

เศรษฐกิจ

[แก้]
แจกันสมัยราชวงศ์ชิง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Calouste Gulbenkian, ลิสบอน, โปรตุเกส
ตั๋วเงินสมัยราชวงศ์ชิง

ในตอนท้ายของศตวรรษที่ 17 ในช่วงที่ราชวงศ์ชิงปกครองประเทศจีนนั้นเศรษฐกิจจีนได้ฟื้นจากความเสียหายที่เกิดจากสงครามที่ราชวงศ์หมิงถูกโค่นล้มและการตกต่ำทางการค้าขายขนส่งสินค้าที่เกิดขึ้น[15] ในศตวรรษต่อมาตลาดยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ในช่วงปลายราชวงศ์หมิง แต่ด้วยการค้าระหว่างภูมิภาคมากขึ้นการพึ่งพาตลาดต่างประเทศและประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก[16] ในตอนท้ายของศตวรรษที่ 18 ประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 300 ล้านจากประมาณ 150 ล้านในช่วงปลายราชวงศ์หมิง จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นผลมาจากหลายสาเหตุรวมถึงช่วงเวลาแห่งสันติภาพและความมั่นคงในศตวรรษที่ 18 และการนำเข้าพืชใหม่ที่จีนได้รับจากอเมริการวมถึงถั่วลิสงมันฝรั่งหวานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสายพันธุ์ใหม่จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างมากในการผลิต สมาคมผู้ค้าแพร่กระจายไปทั่วเมืองจีนที่กำลังเติบโตและมักได้รับอิทธิพลทางสังคมและการเมืองที่ยอดเยี่ยม พ่อค้าที่ร่ำรวยด้วยการติดต่อกับทางการสร้างความมั่งคั่งมหาศาล และการผลิตสิ่งทอและงานฝีมือก็มืความเจริญรุ่งเรือง[17]

"เสียนเฟิงถงเปา" (咸豐通寶) เหรียญเงินสดของราชวงศ์ชิง เหรียญเงินทองแดง (ทองเหลือง) ใช้ในช่วงราชวงศ์ชิงแมนจู รัชศกจักรพรรดิเสียนเฟิง ค.ศ. 1850–1861

ราชสำนักชิงได้มีนโยบายขยายความเป็นเจ้าของที่ดินโดยการคืนที่ดินที่ขายให้กับเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในช่วงต้นราชวงศ์โดยครอบครัวไม่สามารถจ่ายภาษีที่ดินได้[18] เพื่อให้ผู้คนมีแรงจูงใจมากขึ้นที่จะเข้าร่วมในตลาดพวกเขาลดภาระภาษีเมื่อเปรียบเทียบกับหมิงตอนปลายและแทนที่ระบบแรงงานเกณฑ์ ด้วยการจ่ายภาษีต่อหัวที่ใช้ในการจ้างแรงงาน[19] การบริหารคลองต้า-ยฺวิ่นเหอ นั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นและการขนส่งเปิดทางให้พ่อค้าเอกชนส่วนตัว[20] ระบบการตรวจสอบราคาข้าวช่วยลดปัญหาการขาดแคลนอย่างรุนแรงและทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นอย่างช้า ๆ และราบรื่นตลอดศตวรรษที่ 18[21] ราชสำนักชิงยังมีนโยบายจำกัดอิทธิพลของนายทุนพ่อค้า โดยคอยสอดส่องระมัดระวังอำนาจของพ่อค้าผู้มั่งคั่ง ราชสำนักได้จำกัดใบอนุญาตการค้าและมักจะปฏิเสธพวกพ่อค้าที่จะอนุญาตให้เปิดเหมืองใหม่ยกเว้นในพื้นที่ที่ยากจน[22] ข้อจำกัดเหล่านี้เกี่ยวกับการสำรวจทรัพยากรในประเทศรวมถึงการค้าต่างประเทศเป็นทฤษฎีการพิชิตชิงโดยนักวิชาการบางคน ซึ่งเป็นสาเหตุที่เปิดช่องให้การค้าเสรีซึ่งโลกตะวันตกได้เข้ามายังประเทศจีนเพื่อเข้ามามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน

ในช่วงระยะเวลาราชวงศ์หมิง-ชิง (ค.ศ. 1368–1911) การพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในเศรษฐกิจจีนคือการเปลี่ยนจากคำสั่งไปสู่เศรษฐกิจตลาด เศรษฐกิจตลาดภายหลังได้กลายเป็นแพร่หลายมากขึ้นตลอดทั่วการปกครองของราชวงศ์ชิง[23] จากประมาณปี ค.ศ. 1550 ถึงปี ค.ศ. 1800 ประเทศจีนมีประสบการณ์การปฏิวัติเชิงพาณิชย์ครั้งที่สองการพัฒนาตามธรรมชาติจากการปฏิวัติเชิงพาณิชย์ครั้งแรกของช่วงราชวงศ์ซ่ง ซึ่งเห็นการเกิดขึ้นของการค้าระหว่างประเทศทางไกลของสินค้าฟุ่มเฟือย ในช่วงการปฏิวัติเชิงพาณิชย์ครั้งที่สองเป็นครั้งแรกผู้ประกอบการทำการเกษตรส่วนใหญ่เริ่มผลิตพืชผลเพื่อจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นและระดับชาติมากกว่าเพื่อการบริโภคหรือแลกเปลี่ยนในเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม พืชส่วนเกินถูกนำไปวางขายในตลาดระดับชาติเพื่อรวมเกษตรกรเข้ากับเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ต้นจนจบ สิ่งนี้นำไปสู่ภูมิภาคที่มีความเชี่ยวชาญด้านพืชผลเพื่อการส่งออกเนื่องจากเศรษฐกิจของจีนพึ่งพาการค้าสินค้าหลักเช่น ผ้า,ฝ้าย ธัญพืช,ถั่ว,น้ำมันพืช,ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าและปุ๋ย

สังคม

[แก้]
ภาพวาดการแต่งงานสมัยราชวงศ์ชิง

จากข้อมูลในสมัยราชวงศืชิงตอนต้นและตอนกลาง พัฒนาการทางด้านสังคมมีการเจริญเติบโตสูง ประชากรเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงศตวรรษที่ 18 มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าประชากรที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของจักรวรรดิ ในขณะเดียวกันราชสำนักชิงก็จะมักระมัดระวังจับตาพฤติกรรมความเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันของชาวฮั่นตลอด เนื่องจากมีกลุ่มชาวฮั่นได้รวมตัวกันต่อต้านราชสำนักชิงที่มีชาวแมนจูมาปกครอง มีสมาคมลับผู้เป็นแกนนำชูอุดมการณ์ “โค่นชิงฟื้นหมิง” คือ พวกหงเหมิน (洪门) แต้จิ๋วว่า “อั่งมึ้ง” ในเมืองไทยเรียก “อั้งยี่” คำว่า อั้งหรือหง (洪) ในที่นี้เป็นคนละคำกับ อั้งหรือหง (红) ที่แปลว่า สีแดง อักษร 洪 (หง,อั้ง) ตัวนี้หมายถึง น้ำหลาก,ไหลหลาก และใช้เป็นแซ่คือ แซ่อั้ง ในภาษาแต้จิ๋ว หรือแซ่หงในภาษาจีนกลาง[24]

มหาพจนานุกรมจีน (汉语大词典) อธิบายคำหงเหมิน ในแง่องค์กรลับไว้ว่า “หงเหมิน : สมาคมลับพื้นบ้านสมาคมหนึ่งในยุคราชวงศ์ชิง เรียกอีกอย่างว่า หงปัง (พรรคหง) เป็นขบวนการที่พัฒนามาจากเทียนตี้ฮุย (สมาคมฟ้าดิน) มุ่งโค่นชิงฟื้นหมิงเป็นจุดหมายหลัก ว่ากันว่าใช้คำว่า หง จากชื่อรัชศกหงอู่ของพระเจ้าหมิงไท่จู่เป็นคำเรียกขาน (จึงได้นามว่าหงเหมิน ชาวหง) สมาชิกของสมาคมเรียกกันว่า พี่น้องชาวหง แพร่หลายอยู่แถบลุ่มแม่น้ำแยงซีและลุ่มแม่น้ำจูเจียง ทั้งยังมีองค์กรสาขาที่จัดตั้งในโพ้นทะเลอีกด้วย[24]

เมื่อแรกก่อตั้ง ขบวนการหงเหมินแพร่อยู่ในมณฑลฮกเกี้ยน กวางตุ้งและเจ้อเจียง แล้วค่อย ๆ ขยายกว้างออกไป ถึงยุคสงครามฝิ่น (พ.ศ. 2383) แพร่ไปหลายมณฑลตลอดจนโพ้นทะเลถึงอเมริกา มีสมาคมสาขาใช้ชื่อต่างกันมากมายทั้งในและนอกประเทศจีน[24]

ขบวนการหงเหมินและเครือข่ายเป็นกบฏและก่อจลาจลหลายครั้ง บางส่วนเข้าร่วมกับกบฏไท่ผิง การโค่นล้มราชวงศ์ชิงของซุนยัตเซนได้รับความช่วยเหลือจากขบวนการหงเหมิน (อั้งยี่) ทั้งในและนอกประเทศจีนรวมทั้งประเทศไทยด้วย[24]

มีความเห็นกันว่าพวกหงเหมิน (อั้งยี่) คงจะใช้เทศกาลกินเจบังหน้าหาพวกพ้องร่วมขบวนการต่อต้านราชวงศ์ชิง ศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลฮกเกี้ยน ต่อมาถูกปราบ พลอยให้เทศกาลกินเจเสื่อมไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฮกเกี้ยน พวกหงเหมินเป็นอันมากหนีไปดำเนินการต่อในโพ้นทะเล กิจกรรมสำคัญประการหนึ่งคือสร้างโรงเจ ทำให้เทศกาลกินเจในโพ้นทะเลโดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยกับมาเลเซียคึกคักยิ่งกว่าในจีน โรงเจเหล่านี้ส่วนมากมีกลอนคู่ (ตุ้ยเหลียน-ตุ้ยเลี้ยง) สื่อความหมาย “โค่นชิงฟื้น หมิง” อยู่ด้วย[24]

การแต่งกาย

[แก้]

สมัยราชวงศ์ชิง ผู้หญิงชาวแมนจูจะสวมชุดคลุมยาวทรงกว้างที่มีความยาวถึงเท้า ด้านนอกจะสวมเสื้อกั๊กไม่มีแขนที่เรียกว่า “ขั่นเจียน” หรือ “หม่าเจี่ย” ทับเอาไว้ เนื่องจากชาวแมนจูมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “ฉีเหริน (ชาวกองธง)” ดังนั้นชุดคลุมยาวของสตรีจึงเรียกว่า “ชุดฉีผาว (กี่เพ้า)” แต่ชุดนี้ไม่เหมือนกับชุดกี่เพ้าที่เป็นสัญลักษณ์การแต่งกายของผู้หญิงจีนที่สืบต่อกันมาในภายหลัง ชุดกี่เพ้าของชาวแมนจูในสมัยราชวงศ์ชิงนั้นมีความกว้างและหลวม ต่อมา มีการเปลี่ยนเป็นเข้ารูปช่วงเอว และผ่านการปรับปรุงอีกมากมาย อีกทั้งยังเพิ่มเติมความเป็นกระโปรงแบบตะวันตกเข้าไป จึงกลายเป็นชุดกี่เพ้าในปัจจุบัน การแต่งกายของสตรีชาวฮั่นในสมัยราชวงศ์ชิงก็มีรูปแบบพื้นฐานมาจากสมัยราชวงศ์หมิง นั่นคือ ด้านบนสวมเสื้อ “เอ๋า” หรือเสื้อ “ซัน” ด้านล่างสวมกระโปรงหรือกางเกง

สำหรับการแต่งกายของบุรุษนั้น ชุดยาวและเสื้อกั๊กตัวสั้น “หม่ากว้า” เป็นการแต่งกายที่ผู้ชายในสมัยราชวงศ์ชิงทั้งชาวแมนจูและชาวฮั่นนิยมใส่ เสื้อหม่ากว้าเป็นเสื้อกั๊กตัวสั้นที่สวมทับชุดคลุมยาว ความยาวระดับเอว เดิมเป็นชุดที่คนทางเหนือใส่สำหรับขี่ม้า หลังจากชาวแมนจูรวบรวมแผ่นดินจีน ก็ค่อย ๆ เป็นที่นิยมไปทั่วประเทศ

รายพระนามจักรพรรดิราชวงศ์ชิง

[แก้]
พระนามที่รู้จักกันดี พระบรมสาทิสลักษณ์/ฉายาลักษณ์ ระยะเวลาครองราชย์ พระนามเดิม รัชศก พระนามเรียกขาน
(ภาษาจีน–
ภาษาแมนจู)
พระอารามนาม
นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ
(21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1559
30 กันยายน ค.ศ. 1626)
ค.ศ. 1616

ค.ศ. 1626
นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ
努爾哈赤
(พินอิน:
Nǔ'ěrhāchì)
เทียนมิ่ง
天命
Abkai fulingga
เกาตี้
高帝
Dergi
ไท่จู่
太祖
หวงไท่จี๋
(28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1592
21 กันยายน ค.ศ. 1643)
ค.ศ. 1626

ค.ศ. 1643
หวงไท่จี๋ เทียนฉง
天聰
Abkai sure
(1627–1636)

ฉงเต๋อ
崇德
Wesihun erdemungge
(1636–1643)

เหวินตี้
文帝
Genggiyen Su
ไท่จง
太宗
จักรพรรดิซุ่นจื้อ
(15 มีนาคม ค.ศ. 1638
5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1661)
(8 กุมภาพันธ์)
ค.ศ. 1644

ค.ศ. 1661
(18 ปี)
ฟูหลิน
福臨
ซุ่นจื้อ
順治
Ijishūn dasan
จางตี้
章帝
Eldembure
ซื่อจู่
世祖
จักรพรรดิคังซี
(4 พฤษภาคม ค.ศ. 1654
20 ธันวาคม ค.ศ. 1722)
(18 กุมภาพันธ์)
ค.ศ. 1662

ค.ศ. 1722
(61 ปี)
เสวียนเย่
玄燁
คังซี
康熙
Elhe taifin
เหรินตี้
仁帝
Gosin
เซิ่งจู่
聖祖
จักรพรรดิยงเจิ้ง
(13 ธันวาคม ค.ศ. 1678
8 ตุลาคม ค.ศ. 1735)
(5 กุมภาพันธ์)
ค.ศ. 1723

ค.ศ. 1735
(13 ปี)
อิ้นเจิน
胤禛
ยงเจิ้ง
雍正
Hūwaliyasun tob
เซี่ยนตี้
憲帝
Temgetulehe
ซื่อจง
世宗
จักรพรรดิเฉียนหลง
(25 กันยายน ค.ศ. 1711
7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1799)
(12 กุมภาพันธ์)
ค.ศ. 1736

ค.ศ. 1796
(60 ปี)
หงลี่
弘曆
เฉียนตี้
乾隆
Abkai wehiyehe
ฉุนตี้
純帝
Yongkiyangga
เกาจง
高宗
จักรพรรดิเจียชิ่ง
(13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1760
2 กันยายน ค.ศ. 1820)
(9 กุมภาพันธ์)
ค.ศ. 1796

ค.ศ. 1820
(25 ปี)
หย่งเหยี่ยน
顒琰
เจียชิ่ง
嘉慶
Saicungga fengšen
รุ่ยตี้
睿帝
Sunggiyen
เหรินจง
仁宗
จักรพรรดิเต้ากวง
(16 กันยายน ค.ศ. 1782
25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1850)
A man in a grey suit, white shirt and dark tie, he has a birthmark on his forehead (3 กุมภาพันธ์)
ค.ศ. 1821

ค.ศ. 1850
(30 ปี)
หมินหนิง
旻寧
เต้ากวง
道光
Doro eldengge
เฉิงตี้
成帝
Šanggan
เซวียนจง
宣宗
จักรพรรดิเสียนเฟิง
(17 กรกฎาคม ค.ศ. 1831
22 สิงหาคม ค.ศ. 1861)
(1 กุมภาพันธ์)
ค.ศ. 1851

ค.ศ. 1861
(11 ปี)
อี้จู่
奕詝
เสียนเฟิง
咸豐
Gubci elgiyengge
เสี่ยนตี้
顯帝
Iletu
เหวินจง
文宗
จักรพรรดิถงจื้อ
(27 เมษายน ค.ศ. 1856
12 มกราคม ค.ศ. 1875)
(30 มกราคม)
ค.ศ. 1862

ค.ศ. 1875
(13 ปี)
ไจ้ฉุน
載淳
ถงจื้อ
同治
Yooningga dasan
อี้ตี้
毅帝
Filingga
มู่จง
穆宗
จักรพรรดิกวังซวี่
(14 สิงหาคม ค.ศ. 1871
14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908)
(6 มกราคม)
ค.ศ. 1875

ค.ศ. 1908
(34 ปี)
ไจ้ถียน
載湉
กวังซวี่
光緒
Badarangga doro
จิ่งตี้
景帝
Ambalinggū
เต๋อจง
德宗
จักรพรรดิผู่อี๋
(7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1906
17 ตุลาคม ค.ศ. 1967)
(22 มกราคม)
ค.ศ. 1909

(17 กุมภาพันธ์)
ค.ศ. 1912
(3 ปี)
ผู่อี๋
溥儀
เซวียนถ่ง
宣統
Gehungge yoso
หมิงตี้
明帝
ชุนจง
询宗

วัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]
  • 13 ฮ่องเต้ตำนานจักรพรรดิราชวงศ์ชิง ภาพยนตร์ซีรีส์ของฮ่องกง เกี่ยวกับเรื่องราวของของประวัติศาสตร์จีนยุคราชวงศ์ชิง ตั้งแต่ยุคบุกเบิกและก่อตั้งราชวงศ์ไปจนกระทั่งมาถึงการล่มสลาย
  • ภาพยนตร์ซีรีส์ชุด หวงเฟยหง ภาพยนตร์กำลังภายในสมัยยุคราชวงศ์ชิงตอนปลาย ซึ่งถือเป็นยุคที่ตกต่ำ บ้านเมืองอ่อนแอ เกิดศึกสงครามจากเหล่าผู้รุกรานจากชาติตะวันตก และภายในจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงของเหล่าขุนนางในราชสำนักในปี ค.ศ. 1875 หวงเฟยหง ต้องต่อสู้เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของจีนกลับมาและช่วยชาวจีนไม่ให้ตกเป็นทาสนักล่าอาณานิคมตะวันตก

อ้างอิง

[แก้]
  1. Yamamuro, Shin'ichi (2006). Manchuria Under Japanese Domination. แปลโดย J. A. Fogel. University of Pennsylvania Press. p. 246. ISBN 9780812239126.
  2. Zhao (2006), pp. n 4, 7–10, and 12–14.
  3. Treaty of Nanking. 1842.
  4. McKinley, William. "Second State of the Union Address". 5 Dec. 1898.
  5. Ebrey (2010), pp. 220–224.
  6. Bernard Hung-Kay Luk, Amir Harrak-Contacts between cultures, Volume 4, p.25
  7. Wakeman, Jr, Frederic (1985). The great enterprise : the Manchu reconstruction of imperial order in seventeenth-century China (Book on demand. ed.). Berkeley: University of California Press. p. 892. ISBN 9780520048041.
  8. Spence (2012), p. 39.
  9. Beverly Jackson and David Hugus Ladder to the Clouds: Intrigue and Tradition in Chinese Rank (Ten Speed Press, 1999) pp. 134–135.
  10. Bartlett (1991).
  11. Naquin (2000), p. 372.
  12. Naquin (2000), p. 380.
  13. CrossleySiuSutton (2006), p. 50.
  14. Liu & Smith (1980), pp. 251–273.
  15. Myers & Wang (2002), pp. 564, 566.
  16. Myers & Wang (2002), p. 564.
  17. Murphey (2007), p. 151.
  18. Myers & Wang (2002), p. 593.
  19. Myers & Wang (2002), pp. 593, 595.
  20. Myers & Wang (2002), p. 598.
  21. Myers & Wang (2002), pp. 572–573, 599–600.
  22. Myers & Wang (2002), pp. 606, 609.
  23. Jonathan, Porter. Imperial China, 1350–1900. Lanham. ISBN 9781442222915. OCLC 920818520.
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 24.4 เทศกาลกินเจ กับ สมาคมลับเพื่อโค่นชิงฟื้นหมิง ศิลปวัฒนธรรม. 16 พฤษภาคม 2560
  • โจวจยาหรง. ประวัติศาสตร์จีน. กรุงเทพมหานคร: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2546.

ดูเพิ่ม

[แก้]

Primary source collections and reference

[แก้]

Historiography

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า ราชวงศ์ชิง ถัดไป
ราชวงศ์หมิง ราชวงศ์ในประวัติศาสตร์จีน
(ค.ศ. 1644–1912)
สาธารณรัฐจีน