ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระอาทิตยวงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระอาทิตยวงศ์
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์พ.ศ. 2173
6 เดือน (ตามพงศาวดาร) หรือ 38 วัน (ตามจดหมายเหตุวันวลิต)
ก่อนหน้าสมเด็จพระเชษฐาธิราช
(ราชวงศ์สุโขทัย)
ถัดไปสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
(ราชวงศ์ปราสาททอง)
พระราชสมภพพ.ศ. 2163
สวรรคตพ.ศ. 2180 (17 พรรษา)
ราชวงศ์สุโขทัย
พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

สมเด็จพระอาทิตยวงศ์[1] เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 23 แห่งอาณาจักรอยุธยาและยังเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ 3 แห่งอาณาจักรอยุธยา

พระราชประวัติ

[แก้]

สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ มีพระนามเดิมว่าพระอาทิตยวงศ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีพระเชษฐา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเชษฐาธิราชและพระพันปีศรีสิน[2]

เมื่อเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์สำเร็จโทษสมเด็จพระเชษฐาธิราชแล้ว ได้อัญเชิญพระอาทิตยวงศ์ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษาให้สืบราชสมบัติ ตรงกับปี พ.ศ. 2172[1] แต่ด้วยความที่ทรงพระเยาว์จึงไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ ทรงโปรดเที่ยวประพาสจับแพะจับแกะเล่น เจ้าพนักงานต้องคอยนำเครื่องทรงและเครื่องเสวยตามเสด็จอยู่ตลอด ผ่านไปได้ประมาณ 6 เดือน เหล่ามุขมนตรีก็เห็นว่าสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ยังทรงพระเยาว์เกินไป ไม่รู้จักว่าราชการจนเสียการแผ่นดิน[3] จึงถอดพระองค์จากราชสมบัติ ถวายราชสมบัติแก่เจ้าพระยากลาโหมให้ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[4]

หลังจากสมเด็จพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระอาทิตยวงศ์ยังคงประทับอยู่ภายในพระราชวังหลวงกับพระนมพี่เลี้ยง[5] ถึงปี พ.ศ. 2176 ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จไปนมัสการพระศรีสรรเพชญดาญาณ ทอดพระเนตรเห็นพระอาทิตยวงศ์ขึ้นนั่งห้อยเท้าอยู่บนหลังกำแพงแก้ว ชี้พระหัตถ์ตรัสว่า "อาทิตยวงศ์องอาจ มิได้ลงจากกำแพงแก้วให้ต่ำ" จึงโปรดให้ลดพระยศ ให้อยู่เรือนเสาไม้ไผ่ 2 ห้อง 2 หลังริมวัดท่าทราย และให้คนรับใช้ไว้ 2 คนแต่พออยู่ตักน้ำหุงข้าว[6]

ถึงปีฉลู จ.ศ. 999 พระอาทิตยวงศ์กับขุนนางที่ถูกออกจากราชการได้พวกกว่า 200 คน ร่วมกันก่อกบฏบุกเข้าพระราชวังสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จหนีลงเรือแล้วโปรดให้ขุนนางเร่งปราบกบฏ จนจับพระอาทิตยวงศ์ได้[7] ก็ให้สำเร็จโทษตามราชประเพณี

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 140
  2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 264
  3. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 269
  4. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 271
  5. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 272
  6. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 274
  7. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 277-8
บรรณานุกรม
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค 1. สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พิมพ์ขึ้นเป็นส่วนพระราชกุศลทานมัยในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสฐสุดา, พระอรรคชายาเธอ กรมขุนอรรควรราชกัญญา, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี. พ.ศ. 2455. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค 2. สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พิมพ์ขึ้นเป็นส่วนพระราชกุศลทานมัยในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสฐสุดา, พระอรรคชายาเธอ กรมขุนอรรควรราชกัญญา, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี. พ.ศ. 2455. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9

ดูเพิ่ม

[แก้]
ก่อนหน้า สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ ถัดไป
สมเด็จพระเชษฐาธิราช
(ราชวงศ์สุโขทัย)

(พ.ศ. 2171 - 2172)

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์สุโขทัย)

(พ.ศ. 2172)
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
(ราชวงศ์ปราสาททอง)

(พ.ศ. 2172 - 2199)