ข้ามไปเนื้อหา

ไพร่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในสังคมไทยสมัยโบราณ ไพร่ หมายถึง สามัญชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในฐานะทาส หรือเจ้าขุนมูลนาย ตามการจัดระเบียบชนชั้นทางสังคมของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ไพร่มีศักดินา 10–20 ไร่ และต้องสังกัดมูลนาย จะโยกย้ายสังกัดไม่ได้ ไพร่ที่ขึ้นสังกัดหรือสักเลกแล้ว จะปรากฏเครื่องหมายสังกัดที่ข้อมือ หากสามัญชนผู้ใดไม่ได้สังกัดมูลนายจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย ไพร่มีหน้าที่ในการถูกเกณฑ์แรงงาน หรือเสีย "ส่วย" และถูกเกณฑ์ทหารในยามที่มีศึกสงคราม มีสองประเภทคือ ไพร่หลวง และ ไพร่สม

ไพร่หลวง คือไพร่ที่สังกัดกรมกองต่าง ๆ เป็นไพร่ของพระมหากษัตริย์โดยตรง ประเภทที่ต้องถูกเกณฑ์มาทำงานตามราชการกำหนด และประเภทที่ต้องเสียเงินหรือสิ่งของมาแทนการเกณฑ์แรงงานหรือที่เรียกว่า "ไพร่ส่วย" การส่งเงินมาแทนการเกณฑ์แรงงาน เงินที่ส่งมาเรียกว่า "เงินค่าราชการ"

ไพร่สม เป็นไพร่ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้มูลนายและขุนนางที่มีตำแหน่งทางราชการเพื่อผลประโยชน์ตอบแทน มูลนายจะมีไพร่มากน้อยขึ้นอยู่กับ ยศ ตำแหน่ง ศักดินา ไพร่สมต้องทำงานให้ราชสำนักปีละ 1 เดือน ส่วนเวลาที่เหลือรับใช้มูลนายหรือส่งเงินแทน เมื่อถึงยามสงครามทุกคนต้องเป็นทหารป้องกันอาณาจักร เมื่อมูลนายถึงแก่กรรมไพร่สมจะถูกโอนมาเป็นไพร่หลวง นอกจากบุตรจะขอควบคุมไพร่สมต่อจากบิดา

ไพร่ส่วย พวกที่ประสบความยากลำบากในการเดินทาง เพราะตั้งภูมิลำเนาอยู่ห่างไกลจากสถานที่รับราชการ จึงต้องจัดหาสิ่งของ ที่ต้องการใช้ในราชการ ส่งมาทดแทนแก่ทางราชการ เมื่อมีศึกสงครามมาประชิดบ้านเมือง มีการระดมไพร่เข้ารับราชการพวกไพร่ส่วย จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งระดมพล เข้าประจำการในกองทัพอย่างพรักพร้อม

"เลกวัด" พวกไพร่ที่ยกให้แก่วัด ที่ไม่ใช่ ข้าพระ (ทาสที่ยกให้แก่วัด) และ โยมสงฆ์ (เด็กวัด)


ระบบไพร่ดำรงอยู่จนกระทั่งถึงกลางสมัยรัตนโกสินทร์ จนในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีการเลิกไพร่อย่างเป็นทางการ เมื่อมีการนำระบบภาษีอากร และระบบเกณฑ์ทหารสมัยใหม่มาใช้แทน

แหล่งข้อมูล

[แก้]

หนังสือและบทความ

[แก้]
  • อัญชลี สุสายัณห์. ความเปลี่ยนแปลงของระบบไพร่และผลกระทบต่อสังคมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2545.
  • Chatchai Panananon. “Phrai, Neither Free Nor Bonded.” Asian Review 2 (1988): 1-23.

ดูเพิ่ม

[แก้]