เงินยาง
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
หิรัญญนครเงินยางเชียงเเสน ᩉᩥᩁᩢᨬ᩠ᨬᨶᨣᩬᩁᨦᩮᩥ᩠ᨶᨿᩣ᩠ᨦᨩ᩠ᨿᨦᩈᩯ᩠ᨶ | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พ.ศ. 1181–พ.ศ. 1805 | |||||||||
เมืองหลวง | หิรัญ (จนถึง พ.ศ. 1393) เงินยาง (ตั้งแต่ พ.ศ. 1393) | ||||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษาไทยถิ่นเหนือ | ||||||||
ศาสนา | พุทธเถรวาท | ||||||||
การปกครอง | ราชาธิปไตย | ||||||||
เจ้าผู้ครอง | |||||||||
• พ.ศ. 1181–? | ลาวจักกราช (พญาลวจักกราช) | ||||||||
• พ.ศ. 1666–1709 | พญาเจือง | ||||||||
• พ.ศ. 1802–1805 | พญามังราย | ||||||||
ยุคประวัติศาสตร์ | ยุคกลาง | ||||||||
• ก่อตั้ง | พ.ศ. 1181 | ||||||||
• ยึดอาณาจักรหริภุญชัย | พ.ศ. 1805 | ||||||||
|
ประวัติศาสตร์ไทย |
---|
ตัวเลขในวงเล็บ หมายถึง ปีพุทธศักราช |
หิรัญนครเงินยาง หรือ ชยวรนคร เมืองเชียงแสน[1] หรือ หิรัญญนครเงินยางเชียงแสน[2] หรือ นครยางคปุระ[3] หรือเมืองท่าทรายเงินยาง[4] (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นอาณาจักรแห่งหนึ่งของชาวไทยวนในบริเวณที่เป็นจังหวัดเชียงรายของประเทศไทยและแขวงบ่อแก้วของประเทศลาวปัจจุบัน
เหตุการณ์
[แก้]หลังจากการล่มสลายของโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น จนถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ลาวจังราช หรือ ลาวจง (ซึ่งตามตำนานว่าเกิดโดยโอปปาติกใต้ต้นพุทรา หรือบางตำนานว่าไต่บันไดเงินและทองคำลงมาบริเวณดอยตุง) ได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ เรียกราชวงศ์ใหม่นี้ว่าราชวงศ์ลาว เนื่องจากกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์นี้ใช้ ลาว นำหน้าพระนาม
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อ พญามังรายขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 25 ของหิรัญนครเงินยางเชียงลาวในปี พ.ศ. 1805 พระองค์ทรงมีแนวพระราชดำริจะรวบรวมแคว้นน้อยใหญ่ในอาณาบริเวณเดียวกันให้เป็นปึกแผ่น เมื่อพระองค์ได้ทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้สร้างเมืองเชียงรายและประทับที่นั่นเป็นราชธานีแห่งใหม่ ถือเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์ลาวแห่งหิรัญนครเงินยางเชียงลาว และเริ่มต้นราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา
ที่ตั้งเมืองเงินยาง
[แก้]ปัจจุบันมักเชื่อกันว่าเมืองเงินยางคือเมืองเดียวกันกับเมืองเชียงแสน ซึ่งปรากฏในพื้นเมืองเชียงแสน ความว่า
กาลนั้น พระญาเจ้าท่านก็พร้อมกับด้วยเสนาอามาตย์ทังหลาย ส้างขุดฅือกว้าง ๗ ร้อยวา ยาว ๑๑๐๐ วา ยาวไปตามแม่น้ำนั้น ก่อเมกปราการกวมแท่นเงินและต้นไม้หมากขระทันที่ท่านเอาโอปปาติกะชาตินั้นแล้ว ก็เรียกชื่อว่า เวียงเหรัญนครเงินยางเชียงแสน ว่าอั้นแล เหตุเอานิมิตเงื่อนเกินเงินนั้นตั้งแล ที่ต้นไม้หมากขระทันนั้น ท่านก็ก่อสร้างหื้อเปนมหาธาตุแลวิหารทังมวลแล้ว ก็เรียกชื่อว่า อารามสังกาแก้วดอนทันนั้นแล ไนยะนึ่งเรียกว่า วัดสังกาแก้วยางเงินก็เรียกแล เหรัญญบัลลังก์แท่นเงินนั้น พระญาเจ้าท่านก็มล้างเอาสละสร้างแลทาน เดือน ๖ ออก ๕ ฅ่ำ วัน 2 ยามเที่ยง พระญาเจ้าค็สระเด็จเข้าอยู่ในราชโรงหลวงที่นั้นแล นามวิเสสก็ปรากฏชื่อว่า พระญาลาวะจังกราช ว่าอั้นแล
— พื้นเมืองเชียงแสน[5]
อย่างไรก็ตาม พื้นเมืองเชียงแสน (ถูกแปลเป็นไทยชื่อพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนและตำนานสิงหนวติ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61) เป็นเอกสารฉบับเดียวที่ให้ภาพว่าเมืองเงินยางกับเมืองเชียงแสนคือเมืองเดียวกัน ในขณะที่เอกสารอื่น ๆ ระบุที่ตั้งของเมืองเงินยางต่างไป พื้นเมืองน่าน ระบุว่าเมืองอยู่บริเวณท่าทราย ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุว่าเมืองเงินยางตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำสาย และกล่าวถึงอีกครั้งในตอนที่พญามังรายคิดจะตั้งเมืองเชียงราย โดยคำนึงถึงเมื่อครั้งลาวจงสร้างเมืองบริเวณเชิงดอยผาเลา และลาวเคียงสร้าง (ปรับปรุง) เมืองเงินยางบริเวณเชิงดอยทุง (ดอยตุง) ดอยท่า ดอยย่าเถ้า ความว่า
ลวจังกรเทวบุตรค็รับเอาคำพระญาอินทาว่า สาธุ ดีดีแล ว่าอั้น แล้วค็จุตติแต่ชั้นฟ้าลงมากับปริวารแห่งตนพันนึ่ง ก่ายเกินเงินทิพแต่ชั้นฟ้า นัยยะ ๑ ว่าก่ายแต่ปลายดอยทุงลงมาเอาปฏิสันธิ โอปปาติกา โสฬสวสฺสุทฺเทสิโก ราชกุมาโร วิย เกิดมาเปนปุริสสามญะ เปนดั่งราชกุมารอันได้ ๑๖ ขวบเข้า ทรงวัตถาภรณะเครื่องง้าอลังการนั่งอยู่เหนืออาสสนาใต้ร่มไม้พทระ คือว่าไม้ทันควรสนุกใจ มีที่ใกล้น้ำแม่สายในเมืองชยวรนคอร คือว่าเมืองเชียงลาว
— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่[6]
อยู่บ่นานเท่าใด ช้างมังคละเจ้ามังรายปล่อยไพหัวดอยหนวันออก เจ้าไพตามรอยช้าง หันประเทสที่ ๑ ข้างริมน้ำแม่กก มีม่อนดอยสูงสะเกิงงามนัก ท้าวจิ่งคระนิงใจว่า เมื่อปู่คูเจ้าลาวจงส้างบ้านหื้อปู่คูเจ้าลาวเกล้าอยู่ ได้ยินว่าเพิกตีนดอยผาเลาวันนั้น เมื่อปู่คูเจ้าลาวเครียงส้างเมืองเงินยางค็จิ่มตีนดอยทังสาม คือ ดอยทุง ดอยท่า ดอยย่าเถ้าวันนั้นดีหลี เหตุดั่งนั้น ควรคูกะทำม่อนดอยหื้อเปนสะดือเมือง คือท่ำกลางเมือง ควรชะแล
— ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่[7]
ยังมีเทวบุตต์ตน ๑ เลงหันยังเมืองเชียงลาวที่นั้น เปนที่ตั้งแห่งมหากระสัตราพายหน้า จิ่งก่ายเกินเงินทิพพ์แต่ชั้นฟ้าลงมา ไนยะ ๑ ว่าปลายดอยท่าดอยทุง ลงมาเอาปฏิสนธิในร่มไม้พัทธรต้น ๑ คือว่าไม้ทัน เปนโอปปาติกะกับบริวารพัน ๑ ฅนทังหลายหันเกินเงินอันนั้น เปนอาจาริยะนัก จิ่งเรียกกันมาดู เกินอันนั้นก็ปุดขึ้นเมืออากาศพายบน ฅนทังหลายผ่อดูเกินเงินอันนั้นยัง จิ่งร้องว่า เงินยัง ว่าอั้น เมืองเชียงลาวที่นั้นลวดได้ชื่อว่า เมืองเงินยัง เพื่ออั้นแล ไนยะ ๑ ว่าไม้พัทธรต้นนั้นใหญ่สูงนัก มีต้นอันขาวเปนดั่งเงินนั้น ตั้งอยู่ (กลางต้น) ยางอัน ๑ ฅนทังหลายจิ่งเรียกว่า เงินยาง เพื่ออั้นแล
— พื้นเมืองเชียงรายเชียงแสน[8]
ตำนานเมืองพะเยาได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในรัชสมัยลาวเคียง ได้มีการปรับปรุงขยายแนวคูเมืองใหม่ ใกล้กับแม่น้ำละว้า ขนานนามเมืองใหม่ว่ายางสาย แล้วเปลี่ยนชื่อแม่น้ำละว้าเป็นแม่สาย แสดงให้เห็นว่าสถานที่ตั้งของเมืองเงินยางควรอยู่ติดน้ำแม่สายเชิงดอยตุง ไม่ใช่เมืองเชียงแสนดังที่เชื่อถือกันในปัจจุบัน ซึ่งตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่าพญาแสนพูสร้างเมืองเชียงแสนทับเวียงรอย
ส่วนว่าท้าวลาวเฅียงจิ่งร่ำเพิงว่า บ้านเมืองอันใดหารั้วเวียงแก่นบ่ได้ดังอั้น บ่สมเป็นราชะธาณีเมืองใหญ่แล ข้าเสิกมาหาที่เพิ่งบ่ได้แล หางทุงปู่หม่อนกูตกไหนควรกูสร้างเวียงที่นั้นเทิอะ ว่าอั้น แล้วท้าวค็ไพพิจารณาดูที่อันจักสร้างเวียงนั้น แล้วท้าวค็หื้อตัดเอาหัวยางอัน ๑ ไปเกี้ยวเอาถ้ำอัน ๑ แล้วเขิงเมือรอดแม่น้ำอัน ๑ ชื่อว่าแม่ละว้า ข้างวันออก เอาตีนนาเปนแดน คันเขิงแล้วค็หื้อฅัวพื้นหื้อราบเพียงเรียงงาม ที่สูงค็หื้อค้ำ ที่ต่ำค็หื้อยอ ที่ต่อค็หื้อสิม ที่หิ้นค็หื้อเพิกเสีย ซ้ำที่น้ำค็หื้อก่ายขัวข้าม แล้วนิมนเจ้าภิกขุสังฆะไปสูดถอนที่จักตั้งฅุ้มน้อยแห่ง ๑ ท่ำกลางเวียงแห่ง ๑... ...เพื่อหื้อเปนมังคละสรีเตชะอนุภาวะสืบสายท้าวพระญาไพพายหน้าชั่วลูกหลานเหลนดีหลี เหตุดังอั้นเวียงอันนั้นได้ชื่อว่ายางสาย ถ้ำอันนั้นได้ชื่อว่าถ้ำเกี้ยว น้ำแม่ละว้าได้ชื่อว่าแม่สาย มาต่อบัดนี้แล
— ตำนานเมืองพะเยา[9]
สอดคล้องกับการวิจัยสำรวจพื้นที่ “เวียงพางคำ” ของ วรสิทธิ์ โอภาพ ที่พบว่าเวียงพางคำ ซึ่งเป็นเมืองโบราณในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตัวเมืองมีแนวคันดินแบ่งเป็น 2 เมือง โดยมีเมืองอยู่แล้ว แนวคันดินเพิ่งสร้างทีหลังเพื่อขยายเขตตัวเมือง และตั้งอยู่บริเวณดอยเวา ดอยคา ดอยป่าเลา (ดอยผาเลา)[10] ซึ่งเป็นแนวเดียวกันกับดอยตุง เวียงพางคำจึงควรเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองเงินยาง ไม่ควรเป็นเวียงสี่ตวงหรือเวียงพานคำของพระเจ้าพรหมตามที่เชื่อกันในปัจจุบัน[11]
รายพระนามกษัตริย์ผู้ครองเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงลาว
[แก้]- ลาวจักกราช (หรือชื่ออื่น ลาวจักกราช)
- ลาวเกล้าแก้วมาเมือง
- ลาวเสา
- ลาวตั้ง
- ลาวกม
- ลาวแหลว
- ลาวกับ
- ลาวกืน
- ลาวเครียง (ลาวเคียง) ขยายเมืองยางสาย
- ลาวกิน (ลาวคริว)
- ลาวทึง
- ลาวเทิง
- ลาวตน
- ลาวโฉม
- ลาวกวัก
- ลาวกวิน
- ลาวจง (คนละคนกับลาวจังกราชหรือลาวจง ต้นราชวงศ์ลาว)
- ลาวชื่น มีน้องชื่อ จอมผาเรืองหรือขุนจอมธรรม ซึ่งได้ไปสร้างเมืองพูกามยาว (พะเยา) และมีลูกชื่อพญาเจือง
- ลาวเจือง , พญาเจือง, ขุนเจือง , พญาเจืองหาญ หรือ ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง (ທ້າວຮຸ່ງ ທ້າວເຈືອງ) เป็นกษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษในตำนานสองฝั่งโขง เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ตีได้ดินแดนมากมาย รบชนะแกว(เวียดนาม) พญาเจืองได้รับการราชาภิเษกจากพญาห้อลุ่มฟ้าเพาพิมาน ชาวไทลื้อ ชาวลาวเทิงล้านช้าง ชาวไทยวนล้านนา ต่างอ้างว่าพญาเจืองเป็นบรรพบุรุษของพวกตน มีวรรณกรรมกล่าวขานถึงมากมาย เช่น มหากาพย์โคลงท้าวฮุ่งท้าวเจือง มีความยาวกว่าเกือบ 5,000 บท
- ลาวเงินเรือง
- ลาวชื่น
- ลาวมิ่ง
- ลาวเมิง
- ลาวเมง
- พญามังราย สิ้นสุดราชวงศ์ลวจักกราช สถาปนาอาณาจักรล้านนา เริ่ม ราชวงศ์มังราย
(หมายเหตุ รายชื่อกษัตริย์ราชวงศ์ลาว รวมทั้งหมด 25 พระองค์ อ้างอิงจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เป็นหลัก)[12]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2546.
- ↑ พระรัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 1 : กรมศิลปากร, 2501.
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล.(2539).พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด.
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2546.
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2546.
- ↑ เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี (ปริวรรต). ตำนานเมืองพะเยา. เชียงใหม่ : นครพิงค์, 2554.
- ↑ วรสิทธิ์ โอภาพ. การสืบค้นประวัติศาสตร์โบราณสถาน "คันดิน-คูเมืองเวียงพางคำ" อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย, 2548.
- ↑ อภิชิต ศิริชัย. วิเคราะห์ตำนานจากเอกสารพื้นถิ่น ว่าด้วย โยนกนคร เวียงสี่ตวง เวียงพานคำ เมืองเงินยาง และ ประวัติวัดพระธาตุจอมกิตติ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย:ล้อล้านนา, 2560.
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
บรรณานุกรม
[แก้]- "กลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน". สำนักศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.