ข้ามไปเนื้อหา

คำให้การชาวกรุงเก่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คำให้การชาวกรุงเก่า เป็นคำให้การของเชลยศึกชาวอยุธยาที่บอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยโดยเฉพาะช่วงอาณาจักรอยุธยา ตั้งแต่ก่อตั้งอาณาจักร จนกระทั่งเสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2310

ประวัติ

[แก้]

คำให้การชาวกรุงเก่า เป็นเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาได้ในแผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราช ยังมีเนื้อหาบรรยายภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา ทำเนียบต่าง ๆ ตลอดจนราชประเพณี

เชื่อกันว่าเป็นคำให้การของพระเจ้าอุทุมพรที่พระเจ้าอังวะโปรดให้สอบถามและจดไว้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพสันนิษฐานว่า เมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้ในปี พ.ศ. 2310 ได้พาชาวไทย ทั้งพระเจ้าอุทุมพร ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยและชาวเมืองไปยังพม่า พระเจ้าอังวะมีรับสั่งให้จดคำให้การของชาวไทยเป็นภาษามอญ แล้วแปลเป็นภาษาพม่าเก็บไว้ในหอหลวง เมื่ออังกฤษตีเมืองมัณฑะเลย์ได้ จึงเก็บมาไว้ที่เมืองย่างกุ้ง

คำให้การชาวกรุงเก่านี้ ได้ต้นฉบับมาจากประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2454 เมื่อปี พ.ศ. 2454 ซึ่งเป็นช่วงที่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิอังกฤษ โดยเชื่อว่าต้นฉบับดั้งเดิมเป็นคำให้การเป็นภาษามอญและได้แปลเป็นภาษาพม่าอีกทอดหนึ่ง แล้วแปลเป็นภาษาไทยเสร็จในปี พ.ศ. 2455 พิมพ์โดยโรงพิมพ์หมอสมิธ (แซมมวล เจ.สมิธ)

คำให้การชาวกรุงเก่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกับ "คำให้การขุนหลวงหาวัด" (เดิมเรียกว่า พระราชพงศาวดารแปลจากภาษารามัญ[1] แปลเป็นภาษาไทย โดย กรมหลวงวงศาธิราชสนิท) เมื่อพิมพ์แล้วเสร็จ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงวิจารณ์และทรงให้ชื่อหนังสือว่า คำให้การชาวกรุงเก่า แทนที่จะเป็น คำให้การขุนหลวงหาวัด เนื่องจากทรงเห็นว่า เป็นคำให้การของบุคคลหลายคน มิใช่แต่เพียงคน ๆ เดียว

เนื้อหา

[แก้]

คำให้การชาวกรุงเก่า มีเนื้อหาแบ่งเป็น 3 ภาคใหญ่ ๆ โดยตอนแรกว่าด้วยพงศาวดารที่เป็นนิทาน ตำนานและความเชื่อที่บอกเล่าต่อมากันมาของการกำเนิดอาณาจักรอยุธยา นับตั้งแต่ พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังเขาปัถวี และได้ทรงมีพุทธทำนาย ถึงความเจริญรุ่งเรืองของอาณาบริเวณนี้ต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์ ทรงฉายรูปของพระองค์ประดับไว้ยังหน้าผาแห่งนั้น เรียกกันว่า พระฉาย และทรงประทับรอยพระพุทธบาท ไว้เหนือยอดเขาสุวรรณบรรพด้วย

จากนั้นก็เป็นเรื่องราวของกษัตริย์พระองค์ต่าง ๆ ทั้งในตำนานและมีพระองค์จริง โดยมีทั้ง พงศาวดารเขมร, เจ้าฟ้ารั่ว รวมถึงเรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้งด้วย จนถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ในปี พ.ศ. 2310

ภาคที่ 2 เป็นดรรชีรายชื่อของลำดับกษัตริย์ ตำนานความเชื่อต่าง ๆ แต่ครั้งโบราณ ชื่อเมือง ชื่อเจดีย์ ชื่อพระราชวัง ชื่อยศขุนนาง ชื่อช้างต้น ชื่อเรือพระที่นั่ง ชื่อรถพระที่นั่ง เป็นต้น และตอนสุดท้ายเป็น การบันทึกถึงพระราชประเพณี 12 เดือน และพระราชประเพณีต่าง ๆ ในสมัยอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา

พระนามพระมหากษัตริย์

[แก้]

พระนามของพระมหากษัตริย์ในคำให้การชาวกรุงเก่า บางพระองค์จะมีเรียกแตกต่างไปจากที่รับรู้โดยทั่วไป ดังนี้

ทัศนะ

[แก้]
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ ให้ความเห็นเกี่ยวกับ คำให้การชาวกรุงเก่าว่า "...เป็นหนังสือคำให้การของเชลยชาวกรุงศรีอยุธยาหลายคนที่ถูกพม่ากวาดต้อนไปคราวกรุงแตก พ.ศ. 2310 แล้วให้การเป็นภาษาไทย แต่แปลเป็นภาษามอญและพม่า แล้วถ่ายกลับมาเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง เรื่องราวต่าง ๆ จึงเลอะเลือน "ใส่สีตีไข่" จนสับสนไปหมด..."[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. กำพล จำปาพันธ์. "เอกสารคำให้การกับการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา," มนุษยศาสตร์สาร, 19(2)(กรกฎาคม-ธันวาคม 2561): 227. ISSN 2630-0370
  2. สุจิตต์ วงษ์เทศ. ท้าวศรีสุดาจันทร์ "แม่หยัวเมือง" ใครว่าหล่อนชั่ว ?. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2557, หน้า 38-39
  • หนังสือ คำให้การชาวกรุงเก่า โดย สำนักพิมพ์จดหมายเหตุ (พ.ศ. 2544) ISBN 974-87895-7-8