ข้ามไปเนื้อหา

สงครามพระเจ้าอลองพญา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามพระเจ้าอลองพญา

ยุทธศาสตร์การยกทัพพระเจ้าอลองพญา
วันที่ธันวาคม พ.ศ. 2302 - พฤษภาคม พ.ศ. 2303
สถานที่
ผล ไม่มีผู้ชนะที่ชัดเจน
คู่สงคราม
ราชวงศ์โก้นบอง อาณาจักรโก้นบอง (พม่า) อาณาจักรอยุธยา (สยาม)
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ราชวงศ์โก้นบอง พระเจ้าอลองพญา 
ราชวงศ์โก้นบอง เจ้าชายมังระ
ราชวงศ์โก้นบอง มังฆ้องนรธา
ราชวงศ์โก้นบอง แมงละนรธา
ราชวงศ์โก้นบอง แมงละราชา
พระเจ้าเอกทัศ
พระเจ้าอุทุมพร
เจ้าพระยากลาโหมคลองแกลบ 
พระยารัตนาธิเบศร์
พระยายมราช
พระยาราชวังสัน
กำลัง

กำลังรุกราน:
40,000 นาย[1][2] (รวมทหารม้า 3,000 นาย)[3]
กองหลัง:

พลปืนคาบศิลา 6,000 นาย ทหารม้า 500 นาย[4]

ตะนาวศรีและอ่าวไทย:
ทหาร 27,000 นาย, ทหารม้า 1,300 นาย, ช้าง 200 เชือก[5]
สุพรรณบุรีและอยุธยา:

ทหาร 45,000 นาย, ทหารม้า 3,000 นาย, ช้าง 300 เชือก[5]

สงครามพระเจ้าอลองพญา เป็นความขัดแย้งทางทหารครั้งแรกระหว่างอาณาจักรโก้นบองแห่งพม่า กับอาณาจักรอยุธยาสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง สงครามครั้งนี้เป็นการจุดชนวนการสงครามระลอกใหม่ระหว่างพม่าและสยาม ซึ่งจะเกิดขึ้นอยู่เป็นเวลานานไปอีกหนึ่งประมาณศตวรรษข้างหน้า

หลังจากที่พม่าราชวงศ์ตองอูเสียราชธานีเมืองอังวะให้แก่มอญหงสาวดีฟื้นฟูในพ.ศ. 2295 พม่ากลับตั้งอำนาจขึ้นใหม่ภายใต้การนำของพระเจ้าอลองพญาผู้ก่อตั้งราชวงศ์โก้นบอง ในระหว่างสงครามเพื่อปราบชาวมอญและรวบรวมประเทศพม่านั้น ชาวพม่าและกองกำลังพม่าสั่งสมประสบการณ์ในการรบ รวมถึงการขับไล่ชาวอังกฤษและชาวฝรั่งเศสออกจากพื้นที่พม่าตอนล่างด้วย พม่าจึงสามารถเรืองอำนาจขึ้นใหม่อย่างเข้มแข็ง ในขณะที่สยามกรุงศรีอยุธยากำลังประสบปัญหาความขัดแย้งภายใน การแย่งชิงราชสมบัติ และความเสี่อมของระบบการเกณฑ์ไพร่[6] สยามไม่มีการเผชิญกับการรุกรานจากภายนอกนับตั้งแต่สงครามกับพม่าในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทำให้ระบบการป้องกันอาณาจักรเสื่อมถอยลง

สาเหตุของสงครามพระเจ้าอลองพญานี้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างพม่าและกรุงศรีอยุธยาเหนือหัวเมืองมะริดตะนาวศรี พระเจ้าอลองพญาทรงทราบข่าวว่าเรืองหลวงของพม่าถูกกรมการกรุงศรีอยุธยายึดไป[7] เมื่อชาวมอญในพม่าตอนล่างเป็นกบฏต่อพม่าเมื่อพ.ศ. 2301 ชาวมอญได้ถูกพม่าปราบปรามและโดยสารเรือหลบหนีไปยังเมืองมะริด ซึ่งกรมการเมืองมะริดได้รับไว้ไม่ส่งชาวมอญคืนแก่พม่า[8] ทำให้ฝ่ายพม่าและพระเจ้าอลองพญามีความเห็นว่าสยามกรุงศรีอยุธยานั้นให้ความสนับสนุนแก่มอญ นอกจากนี้ พระเจ้าอลองพญายังยึดถือคติพระจักรพรรดิราช ในการแผ่ขยายศักดานุภาพทั่วทั้งชมพูทวีปเพื่อทำนุบำรุงพุทธศาสนา

ในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2302 พระเจ้าอลองพญาเสด็จกรีฑาทัพจำนวน 40,000 คน ออกจากเมืองร่างกุ้ง โดยมีเจ้าชายมังระสิริธรรมราชาราชบุตร และสหายวัยเยาว์คือมังฆ้องนรธา ทั้งสองคนเป็นแม่ทัพหน้า[7] ทัพฝ่ายพม่าจากเมืองร่างกุ้งยกผ่านเมืองเมาะตะมะเข้าโจมตีและยึดเมืองทวายได้สำเร็จ หลังจากที่ตีได้เมืองมะริดและตะนาวศรีของสยามแล้ว พระเจ้าอลองพญาและทัพพม่าจึงยกเข้าสู่สยามข้ามเทือกเขาตะนาวศรีที่บริเวณด่านสิงขร[8] ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงส่งทัพฝ่ายสยามซึ่งขาดประสบการณ์ในการรบ ออกไปต่อกรกับทัพพม่าที่มีฝีมือและประสบการณ์ในการรบมากกว่า ทำให้ฝ่ายพม่าได้รับชัยชนะ และเกิดวีรกรรมของขุนรองปลัดชูที่หาดหว้าขาว

ทัพฝ่ายพม่าโจมตีและยึดครองหัวเมืองรายทางของสยามได้ทั้งกุยบุรี ปราณบุรี เพชรบุรี ราชบุรี จนถึงสุพรรณบุรี ฝ่ายสยามกรุงศรีอยุธยาใช้ยุทธศาสตร์ดั้งเดิมคือ การตั้งรับภายในพระนคร อาศัยความแข็งแรงของกำแพงกรุงศรีอยุธยา (ซึ่งได้รับการเสริมสร้างโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศสในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ) และการมาถึงของฤดูฝน ในการป้องกันราชธานีจากพม่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรขุนหลวงหาวัดเสด็จออกจากสมณเพศขึ้นบัญชาการรบ ในการรบที่แม่น้ำผักไห่ตาลาน หรือแม่น้ำน้อย ในปลายเดือนมีนาคม เจ้าชายมังระผู้บัญชาการกองหน้ามีความรีบร้อน นำทัพพม่าข้ามแม่น้ำน้อยเข้าโจมตีทัพกรุงฯ ฝ่ายกรุงศรีฯระดมยิงปืนใส่ทัพพม่าที่กำลังข้ามแม่น้ำ ทำให้ฝ่ายพม่าเพลี่ยงพล้ำเกือบพ่ายแพ้ ทัพหลวงของพระเจ้าอลองพญาเข้ามาช่วยหนุนได้ทัน[7] ทำให้ฝ่ายพม่าได้รับชัยชนะ เจ้าพระยากลาโหมคลองแกลบ เสนาบดีกลาโหม ถูกพม่าสังหารขณะกำลังหลบหนีจากที่รบ[9]

พระเจ้าอลองพญาเสด็จนำทัพพม่าถึงชานกรุงศรีอยุธยาในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญาตั้งทัพที่บ้านกุ่มบ้านกระเดื่อง[9] อำเภอบางบาล ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงศรีอยุธยา มังฆ้องนรธานำทัพหน้าเข้าประชิดพระนครจากโพธิ์สามต้นทางทิศเหนือ ฝ่ายกรุงศรีอยุธยายังคงยึดมั่นในยุทธศาสตร์ตั้งรับในพระนคร รอเวลาให้ฤดูฝนมาถึงและทัพพม่าถอยกลับไปเอง ในกลางเดือนเมษายน พม่ายกเข้าโจมตีอยุธยา ทำให้เกิดการสังหารหมู่ชาวกรุงฯและพ่อค้าต่างประเทศขึ้นในที่ท้ายคูทางฝั่งใต้ของพระนคร และฝ่ายพม่ายังยิงปืนใหญ่เข้าใส่พระนคร ต้องพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ยอดปราสาทหักพังลง[9]

พระเจ้าอลองพญาประชวรในกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2303 (พงศาวดารไทยบางฉบับระบุว่าพระเจ้าอลองพญาต้องปืนใหญ่ระเบิดใส่บาดเจ็บ) เจ้าชายมังระและมังฆ้องนรธาทูลขอให้พระเจ้าอลองพญาถอยทัพ พระเจ้าอลองพญามีราชโองการให้ถอยทัพออกจากกรุงศรีอยุธยา โดยให้มังฆ้องนรธาเป็นกองหลังคอยระวังทัพสยามที่อาจติดตามมาก ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาส่งทัพออกไปติดตามแต่ถูกมังฆ้องนรธาตีแตกพ่าย[7]ที่บ้านกุ่มบ้านกระเดื่อง สุดท้ายทัพพม่าจึงถอยกลับไป กรุงศรีอยุธยาจึงรอดพ้นจากการพิชิตของพม่าไปได้ครั้งหนึ่ง ยุทธศาสตร์การตั้งรับภายในพระนครแบบดั้งเดิมยังคงได้ผลอยู่เป็นครั้งสุดท้าย พระเจ้าอลองพญาเสด็จกลับพม่าทางด่านแม่ละเมาเมืองตาก สิ้นพระชนม์ในระหว่างทางเสด็จกลับพม่า ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2303

สงครามพระเจ้าอลองพญานี้เป็นรากฐานของสงครามการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในสงครามพระเจ้าอลองพญา ฝ่ายพม่าโดยเฉพาะเจ้าชายมังระราชบุตรได้เรียนรู้สภาพภูมิประเทศของสยาม เรียนรู้ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของกรุงศรีอยุธยา และได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดและข้อปรับปรุงของยุทธศาสตร์ของฝ่ายพม่าเอง นำไปปรับใช้และปรับปรุงแก้ไขยุทธศาสตร์ในการโจมตีกรุงศรีอยุธยาครั้งต่อมา เจ้าชายมังระขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้ามังระในปลายปีพ.ศ. 2306 พระเจ้ามังระมีปณิธานที่จะสานต่อเจตนารมณ์ในการเข้าพิชิตกรุงศรีอยุธยาของพระบิดาคือพระเจ้าอลองพญาให้สำเร็จ พระเจ้ามังระคิดค้นปรับปรุงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีใหม่ในการเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาในพ.ศ. 2308 จนฝ่ายพม่าสามารถเข้าพิชิตยึดทำลายกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จในพ.ศ. 2310

ภูมิหลัง

[แก้]

สรุปความขัดแย้งระหว่างพม่ามอญและสยาม

[แก้]
พระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธา กษัตริย์พม่าราชวงศ์ตองอู ผู้แผ่ขยายอำนาจอิทธิพลของอาณาจักรออกไปไพศาลในภูมิภาค

พระเจ้าตะเบงชเวตี้กษัตริย์พม่าราชวงศ์ตองอูได้เข้าพิชิตยึดครองอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญในพม่าตอนล่างได้สำเร็จในพ.ศ. 2082 ต่อมาไม่นานชาวมอญได้เป็นกบฏจนพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองต้องทำการพิชิตชาวมอญอีกครั้งในพ.ศ. 2094 กษัตริย์พม่าราชวงศ์ตองอูตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองหงสาวดีของชาวมอญ และมีความเคารพต่ออัตลักษณ์วัฒนธรรมมอญ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทรงกรีฑาทัพเข้าบุกยึดเมืองอังวะและพม่าตอนบนจากชาวไทใหญ่ได้สำเร็จในพ.ศ. 2098 รวบรวมอาณาจักรพม่าให้เป็นเอกภาพ ยึดล้านนาเชียงใหม่ในพ.ศ. 2101 ยึดเมืองมณีปุระในพ.ศ. 2103 และยึดเมืองทวายในพ.ศ. 2105 ปีต่อมาพ.ศ. 2106 สงครามช้างเผือก พระเจ้าบุเรงนองทรงยกทัพพม่าเข้าโจมตีหัวเมืองเหนือของสยาม พระมหาธรรมราชาแห่งพิษณุโลกหัวเมืองเหนือยินยอมสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าบุเรงนอง[8] และพระเจ้าบุเรงนองจึงยกทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาในพ.ศ. 2107 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกษัตริย์อยุธยาทรงยอมสงบศึกเป็นไมตรีต่อพระเจ้าบุเรงนอง[8] ต่อแต่มาไม่นานกรุงศรีอยุธยาเกิดความขัดแย้งกับหัวเมืองเหนือพิษณุโลก เป็นเหตุให้พระเจ้าบุเรงนองส่งทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง จนนำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งในพ.ศ. 2112[8] อยุธยาตกเป็นประเทศราชของพม่า ในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนองอาณาจักรพม่าเรืองอำนาจแผ่อิทธิพลและอาณาเขตไพศาล พระเจ้าบุเรงนองทรงแต่งตั้งให้พระโอรสคือเจ้าชายสาวัตถีนรธาเมงสอให้เป็นกษัตริย์เชียงใหม่มีอำนาจเหนือล้านนา

ตราประจำจังหวัดสุพรรณบุรี แสดงถึงสงครามยุทธหัตถี

พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสวรรคตในพ.ศ. 2124 พระโอรสพระมหาอุปราชขึ้นครองราชสมบัติพม่าต่อมาเป็นพระเจ้านันทบุเรง[8] จึงเข้าสู่ยุคเสื่อมอำนาจของอาณาจักรพม่าตองอู สมเด็จพระนเรศวรฯทรงเป็นปฏิปักษ์ต่อพม่าในพ.ศ. 2127[8] กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นอิสระจากอำนาจของพม่า พระเจ้านันทบุเรงกษัตริย์พม่าส่งทัพพม่าเข้ามาปิดล้อมอยุธยาในพ.ศ. 2129 แต่ไม่สามารถพิชิตกรุงศรีอยุธยาได้ต้องถอยทัพกลับ[8] หลังจากนั้นทัพพม่าไม่รุกรานเข้ามาถึงชานกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นเวลาประมาณสองร้อยปี (จนกระทั่งสงครามพระเจ้าอลองพญา) พระเจ้านันทบุเรงส่งพระโอรสพระมหาอุปราชมังกยอชวายกทัพเข้ารุกรานสยามในพ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรฯทรงสามารถต้านทานและเอาชนะทัพพม่าได้ในการรบยุทธหัตถีพ.ศ. 2135 สังหารพระมหาอุปราชพม่าสิ้นพระชนม์ในที่รบ หลังจากสงครามยุทธหัตถีพม่าไม่เข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นเวลาประมาณสองร้อยปี (พงศาวดารพม่ากล่าวถึงการรุกรานสยามครั้งหนึ่งในสมัยของสมเด็จพระเพทราชาแต่ไม่ปรากฏในพงศาวดารไทย) จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรฯทรงส่งทัพสยามเข้ายึดทวายและตะนาวศรีคืนจากพม่าในพ.ศ. 2136 และตีได้เมืองเมาะตะมะของชาวมอญในพ.ศ. 2137 พระเจ้าสาวัตถีนรธาเมงสอแห่งเชียงใหม่เข้าสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยา เมื่อมีชัยชนะต่อทัพพม่าผู้รุกราน ฝ่ายสยามกรุงศรีอยุธยากลับเป็นฝ่ายรุก สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้เมืองเมาะตะมะเป็นฐานในการโจมตีพม่า แต่ทว่ามอญเมืองเมาะตะมะได้เป็นกบฏต่อสยามในพ.ศ. 2142[8] สมเด็จพระนเรศวรฯเสด็จยกทัพปราบกบฏมอญที่เมาะตะมะ ในเวลาเดียวกันเจ้าเมืองตองอูร่วมมือกับอาณาจักรยะไข่เข้ายึดเมืองหงสาวดีได้สำเร็จ ปีต่อมาพ.ศ. 2143 สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพเข้าตีกรุงหงสาวดี ฝ่ายเมืองตองอูจึงนำพระเจ้านันทบุเรงกษัตริย์พม่าไปไว้ที่เมืองตองอู ส่วนฝ่ายยะไข่นั้นเผาทำลายเมืองหงสาวดีลงแล้วกลับไป[8] สมเด็จพระนเรศวรฯเสด็จยกทัพติดตามไปจนถึงเมืองตองอู เข้าล้อมเมืองตองอู ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรทรงล้อมเมืองตองอูไม่สามารถตีหักเอาเมืองตองอูได้จึงเสด็จถอยทัพกลับ[8] ในปีเดียวกันนั้นพระเจ้านันทบุเรงทรงถูกนัตจินหน่องวางยาพิษปลงพระชนม์[8] สยามกรุงศรีอยุธยาจึงมีอำนาจปกครองทั้งล้านนาเมืองเมาะตะมะและทวายตะนาวศรีทั้งหมด

เมื่อสิ้นพระเจ้านันทบุเรงแล้ว อาณาจักรพม่าตกอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมือง มีผู้ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นสี่แห่งได้แก่อังวะแประตองอูและสีเรียม เจ้าชายนยองรามเจ้าเมืองอังวะยกทัพเข้าปราบปรามหัวเมืองไทใหญ่ในพ.ศ. 2146[8] สมเด็จพระนเรศวรฯเสด็จยกทัพขึ้นไปช่วยเมืองแสนหวีแต่ประชวรสวรรคตระหว่างเส้นทางเมื่อพ.ศ. 2148[8] เจ้าชายนยองรามแห่งอังวะก็ได้ประชวรสิ้นพระชนม์ในครั้งนั้นเช่นกัน โอรสขึ้นเป็นพระเจ้าอังวะพระองค์ใหม่พระนามว่าพระมหาธรรมราชาอะเนาะเพะลูน พระเจ้าอะเนาะเพะลูนเจ้าเมืองอังวะได้ปราบเมืองแปรตองอูและสีเรียม รวบรวมพม่าได้สำเร็จอีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าอะเนาะเพะลูนตั้งราชธานีที่เมืองหงสาวดีขึ้นอีกครั้งในพ.ศ. 2156 รวมทั้งยังเกลี้ยกล่อมเมืองเมาะตะมะให้เป็นของพม่าดังเดิม สามารถยึดเมืองทวายคืนได้[8]ในพ.ศ. 2157 และยึดเมืองเชียงใหม่และล้านนาคืนจากอยุธยาได้ในพ.ศ. 2158 หลังจากนั้นความขัดแย้งระหว่างพม่าและสยามเข้าสู่สภาวะคุมเชิงและสงบศึก ยุติลงที่พม่าปกครองล้านนาและทวายในขณะที่อยุธยาปกครองมะริดตะนาวศรี พระเจ้าตาลุนทรงย้ายราชธานีในพ.ศ. 2178 จากเมืองหงสาวดีในพม่าตอนล่างไปยังเมืองอังวะในพม่าตอนบน ทำให้ชาวมอญในพม่าตอนล่างเป็นอิสระและออกห่างจากการควบคุมของราชสำนักพม่าได้มากขึ้น

ในพ.ศ. 2204 ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จักรพรรดิหย่งลี่แห่งราชวงศ์หมิงใต้เข้าลี้ภัยที่พม่าเมืองสะกาย เป็นเหตุให้จักรวรรดิจีนราชวงศ์ชิงส่งทัพเข้ารุกรานพม่าเพื่อตามตัวจักรพรรดิหย่งลี่ พระเจ้าเชียงใหม่มีความเกรงกลัวต่อทัพจีนจึงขอความช่วยเหลือจากราชสำนักอยุธยา ฝ่ายพม่าเกณฑ์ชาวมอญไปรบกับจีนแต่ชาวมอญไม่พอใจเกิดการกบฏของชาวมอญขึ้นที่เมาะตะมะ สมเด็จพระนารายณ์เสด็จกรีฑาทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ในพ.ศ. 2204 แต่เมืองเชียงใหม่หันกลับไปเข้ากับพม่าเนื่องจากพม่าสามารถต้านทานทัพจีนได้แล้ว พระเจ้าเบงตะเลกษัตริย์พม่าส่งทัพลงมาปราบกบฏชาวมอญแล้วล่วงเข้ารุกรานสยามทางด่านเจดีย์สามองค์ในพ.ศ. 2204 สมเด็จพระนารายณ์ฯจึงมีพระราชโองการให้พระยาสีหราชเดโช (ทิป) ยกทัพจากเชียงใหม่มาป้องกันทางกาญจนบุรี พระยาสีหราชเดโชตีทัพพม่าแตกพ่ายไปที่ไทรโยค[8] จากนั้นสมเด็จพระนารายณ์จึงเสด็จยกทัพไปตีได้เมืองเชียงใหม่ในปลายปีพ.ศ. 2204 แล้วจึงส่งพระยาสีหราชเดโช (ทิป) และพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) นำทัพสยามเข้ารุกรานโจมตีเมืองทวายและเมาะตะมะของชาวมอญในพ.ศ. 2205 แต่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ยึดครองล้านนาเชียงใหม่และหัวเมืองมอญเป็นการถาวร เพียงแต่กวาดต้อนชาวเชียงใหม่และชาวมอญมาที่อยุธยาเท่านั้น หลังจากนั้นเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองมอญรวมทั้งทวายจึงกลับคืนแก่พม่า

ความเสื่อมและการล่มสลายของราชวงศ์ตองอู

[แก้]

ในพ.ศ. 2247 พระเจ้าจาไรรงบา (Charairongba) แห่งอาณาจักรคังเลปัก (Kangleipak) ได้ยกพระขนิษฐาคือเจ้าหญิงชักปามาเคางัมบี (Chakpa Makhao Ngambi)[10] ให้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสเน่ห์กษัตริย์พม่าราชวงศ์ตองอู แต่ทว่าพระเจ้าสเน่ห์ได้เกิดความขัดแย้งกับเจ้าหญิงชักปามาเคางัมบี ไม่ได้ยกขึ้นเป็นพระมเหษีเอกตามที่ได้สัญญาไว้ ทำให้พระเจ้าจาไรรงบาแค้นเคืองตรอมพระทัยจนสิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. 2252 พระเจ้าจาไรรงบาได้สั่งเสียแก่พระโอรสพามเฮบา (Pamheiba) ว่าให้ทำการแก้แค้นแก่พม่าเมื่อมีโอกาส พามเฮบาขึ้นครองราชสมบัติต่อจากบิดาเป็นกษัตริย์แห่งคังเลปักพระองค์ต่อมา พระเจ้าพามเฮบาได้รับอิทธิพลจากกูรูชาวอินเดียชื่อว่าศานติทาส อธิการี (Shantidas Adhikari) ทำให้พระเจ้าพามเฮบาทรงรับเอาศาสนาพราหมณ์ไวษณพนิกายให้เป็นศาสนาประจำอาณาจักร เปลี่ยนชื่ออาณาจักรคังเลปักเป็นอาณาจักรมณีปุระ และแปลงพระนามเป็นภาษาเปอร์เซียพระนามว่าพระเจ้าการิบนิวาซ (Gharib Niwaz) ต่อมาในพ.ศ. 2259 กษัตริย์พม่าพระองค์ใหม่คือพระเจ้าช้างเผือกตะนินกันเหว่ส่งทูตมาสู่ขอเจ้าหญิงมณีปุระเป็นบาทบริจาริกาของกษัตริย์พม่า พระเจ้าการิบนิวาซทรงจดจำคำสั่งเสียของพระบิดาได้มีความแค้นเคืองต่อพม่า จึงส่งกำลังไปทำร้ายและจับกุมคณะทูตพม่านั้น[10] กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามพม่า-มณีปุระ พระเจ้าการิบนิวาซแห่งมณีปุระยกทัพเข้าโจมตีสร้างความเสียหายแก่หัวเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ในลุ่มแม่น้ำชี่นดวี่นและแม่น้ำมู ได้แก่เมืองปิดู่ (Myedu) เมืองดีเปเยียง (Tabayin) เมืองมินกิน (Mingin) การรุกรานของมณีปุระทำให้พม่าเสื่อมอำนาจลง ในพ.ศ. 2270 เจ้าองค์คำแห่งเชียงใหม่สามารถแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองของพม่าได้สำเร็จ ในพ.ศ. 2277 พระเจ้าการิบนิวาซยกทัพเข้ายึดรัฐไทใหญ่เมืองก้องซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของพม่า กูรูศานติทาสทูลกษัตริย์มณีปุระว่าแม่น้ำอิระวดีเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์หากได้สรงน้ำในแม่น้ำอิระวดีนั้นจะเป็นสิริมงคล ในพ.ศ. 2282 ในสมัยพระมหาธรรมราชาธิบดีกษัตริย์พม่าราชวงศ์ตองอูพระองค์สุดท้าย พระเจ้าการิบนิวาซยกทัพมณีปุระเข้ามายึดและเผาทำลายเมืองสะกาย ซึ่งอยู่เพียงฝั่งตรงข้ามแม่น้ำอิระวดีจากกรุงอังวะไปเท่านั้น แต่พระเจ้าการิบนิวาซไม่ได้เข้าโจมตีเมืองอังวะ เพียงแต่ประกอบพิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำอิระวดีตามคำแนะนำของกูรู ในปีต่อมาพ.ศ. 2283 ฝ่ายพม่าได้บรรลุข้อตกลงสงบศึกกับพระเจ้าการิบนิวาซ จนกษัตริย์มณีปุระถอยทัพกลับไปในที่สุด

หลังจากที่พม่าได้ย้ายราชธานีจากเมืองหงสาวดีของชาวมอญไปยังเมืองอังวะแล้ว ราชสำนักพม่าได้ส่งเมี้ยวหวุ่นหรือผู้ปกครองชาวพม่ามาปกครองชาวมอญที่เมืองหงสาวดีแทนที่ แต่ชาวมอญเป็นอิสระจากการควบคุมของพม่ามากขึ้น ในพ.ศ. 2280 มังสาอ่อง ขุนนางชาวพม่าได้มาเป็นเมี้ยวหวุ่นเจ้าเมืองหงสาวดี[11] มังสาอ่องทำการขูดรีดภาษีชาวมอญอย่างหนักสร้างความไม่พอใจแก่ชาวมอญ ในพ.ศ. 2283 เมื่อกรุงอังวะกำลังประสบภัยการรุกรานจากมณีปุระนั้น มองส่าอ่องเห็นเป็นโอกาสจึงกบฏขึ้นที่หงสาวดีประกาศตนเองเป็นเจ้าอิสระ "ธอระแซงมู"ขุนนางมอญไปกราบทูลพระเจ้าอังวะว่ามังสาอ่องเป็นกบฏ[11] พระเจ้าอังวะทรงส่งมังมหาราชาหรือมังรายจอข่อง[11] เป็นแม่ทัพพม่าลงมาปราบมังสาอ่อง จับตัวมังสาอ่องไปประหารชีวิต จากนั้นพระเจ้าอังวะทรงแต่งตั้ง"มองซวยเยนรธา"เป็นเจ้าเมืองหงสาวดีคนใหม่ แต่ทว่าชาวมอญได้ร่วมมือกับ"ชาวกวย" (ชาวไทใหญ่ซึ่งถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่พม่าตอนล่าง หรืออาจหมายถึงชาวกะเหรี่ยง) กบฏต่ออังวะในพ.ศ. 2283 โดยมีผู้นำคือพระภิกษุชาวกวยชื่อว่าสมิงทอ (พงศาวดารมอญระบุว่าสมิงทอเป็นชาวกวย แต่พงศาวดารพม่าระบุว่าสมิงทอเดิมเป็นโอรสของเจ้าพุกาม เจ้าชายพม่าซึ่งได้เคยกบฏแล้วหนีไป)[8] ธอระแซงมูสังหารมองซวยเยนรธาเจ้าเมืองหงสาวดีคนใหม่ ยกเมืองหงสาวดีให้แก่สมิงทอและยกย่องสมิงทอขึ้นเป็นกษัตริย์หงสาวดีพระเจ้าทอพุทธเกษ[11] ก่อตั้งฟื้นฟูอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญขึ้นใหม่ ในพม่าตอนล่าง สมิงทอแต่งตั้งให้ธอระแซงมูเป็นเสนาบดีดำรงตำแหน่งเป็นพญาทะละและสมรสกับบุตรสาวของพญาทะละเป็นพระมเหสี[11] จากนั้นสมิงทอจึงยกทัพมอญเข้าโจมตีเมืองแปร เจ้าเมืองเมาะตะและเจ้าเมืองทวายเกรงว่าชาวมอญจะเข้าโจมตี จึงหลบหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกษัตริย์อยุธยา[11] ฝ่ายกษัตริย์พม่าเมื่อทรงทราบว่าเจ้าเมืองเมาะตะมะและเจ้าเมืองทวายได้หลบหนีเข้ามาที่กรุงศรีอยุธยา จึงแต่งทูตเดินทางมาถึงอยุธยาในพ.ศ. 2287 กราบทูลขอตัวเจ้าเมืองทั้งสองคืนแก่อังวะ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงแต่งคณะทูตนำโดยพระยายมราชเป็นราชทูต พระธนบุรีเป็นอุปทูต[8] เป็นคณะทูตสยามนำตัวเจ้าเมืองทั้งสองไปถวายคืนแก่พระเจ้าอังวะ คณะทูตสยามได้แสดงท่าทีสนับสนุนพม่าและเป็นปฏิปักษ์ต่อมอญ[11] ทำให้สมิงทอกษัตริย์หงสาวดีเกรงว่าจะถูกฝ่ายกรุงศรีอยุธยาตีกระหนาบจากด้านหลังจึงถอยทัพออกจากเมืองแปรในที่สุด พงศาวดารไทยระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยาและพม่าในช่วงเวลานี้เป็นไปด้วยความไมตรี แต่เอกสารพม่าระบุว่าราชสำนักพม่าไม่ไว้วางใจคณะทูตสยาม และสงสัยว่าสยามอาจให้ความช่วยเหลือแก่มอญ

สมิงทอกษัตริย์หงสาวดีนั้น เดิมมีพระมเหสีอยู่แล้วองค์หนึ่งคือนางคุ้งเป็นบุตรสาวของพญาทะละกรมช้าง (เดิมคือ"ธอระแซงมู") ในพ.ศ. 2287 สมิงทอได้สู่ขอพระธิดาจากเจ้าองค์คำแห่งเชียงใหม่มาเป็นพระมเหสีองค์ที่สอง[11] ชื่อว่า นางสอิ้งทิพ[8]หรือนางเทพวิลา สมิงทอโปรดปรานนางเทพวิลามเหสีเชียงใหม่มากกว่าทำให้พระมเหสีเดิมไม่พอพระทัย จึงนำความไปฟ้องต่อพญาทะละผู้เป็นบิดา พญาทะละจึงมีความไม่พอใจต่อสมิงทอ ในพ.ศ. 2289 เมื่อสมิงทอออกไปคล้องช้างอยู่นั้น พญาทะละเสนาบดีทำการยึดอำนาจที่กรุงหงสาวดี ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์หงสาวดีแทนที่สมิงทอ (เอกสารพม่าระบุว่าพญาทะละดั้งเดิมอาจเป็นหมอช้างชาวฉาน ชาวยวนล้านนา? จากเชียงใหม่ที่ได้อพยพมาอยู่หงสาวดี) พญาทะละแต่งตั้งให้น้องชายชื่อว่าธอลองเป็นอุปราช[11] จากนั้นในปีเดียวกันพญาทะละส่งให้อุปราชธอลองยกทัพขึ้นไปยึดเมืองแปรและตองอูของพม่าได้สำเร็จ[11] ฝ่ายสมิงทอหลบหนีไปเชียงใหม่ นำกำลังชาวกะเหรี่ยงมากอบกู้ราชสมบัติคืนจากพญาทะละในปีต่อมาพ.ศ. 2290 แต่ไม่สำเร็จ พ่ายแพ้ทำให้สมิงทอต้องหลบหนีมายังกรุงศรีอยุธยาขอพึ่งพระโพธิสมภารพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฯ[11] ต่อมาในพ.ศ. 2292 พระเจ้าการิบนิวาซกษัตริย์มณีปุระทรงสละราชสมบัติให้แก่พระโอรสคือพระเจ้าจิตไซ (Chitsai) จากนั้นพระเจ้าการิบนิวาซยกทัพเข้ามายังกรุงอังวะเพื่ออภิเษกพระนัดดาเจ้าหญิงมณีปุระถวายกษัตริย์พม่าเป็นบาทบริจาริกา[12] เมื่อสิ้นหนทาง พระมหาธรรมราชาฯพระเจ้าอังวะจึงทรงแต่งเครื่องบรรณาการไปมอบให้แก่ข้าหลวงมณฑลยูนนานในพ.ศ. 2293 ร้องขอทัพจีนมาช่วยเหลือ ทัพจีนราชวงศ์ชิงเข้ามาช่วยเหลือพม่าแต่เห็นว่าทัพพม่าขาดประสิทธิภาพจึงกลับไป พระเจ้าจิตไซกษัตริย์มณีปุระองค์ใหม่ทรงขับไล่พระบิดาคือพระเจ้าการิบนิวาซออกจากราชธานีกรุงอิมผาลในพ.ศ. 2293 จนพระเจ้าการิบนิวาซต้องเสด็จลี้ภัยมายังกรุงอังวะของพม่า[12] ในพ.ศ. 2294 ราชสำนักหงสาวดีทำสนธิสัญญากับผู้แทนฝรั่งเศส ชื่อว่าเดอบริวโน (Sieur de Bruno) ยินยอมให้ฝรั่งเศสจัดตั้งกองกำลังที่เมืองสิเรียม โดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้ฝรั่งเศสส่งมอบอาวุธได้แก่ปืนใหญ่และปืนคาบศิลาให้แก่หงสาวดีเป็นการตอบแทน ฝ่ายมอญจึงมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยกว่าของพม่าอังวะ ขณะนั้นอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังมีความขัดแย้งกัน อังกฤษจึงตอบโต้ด้วยการยกทัพเข้ายึดเมืองท่าเนกราย (Negrais) ใกล้กับเมืองสีเรียมในพ.ศ. 2296

ในพ.ศ. 2294 พญาทะละจัดทัพใหญ่ให้อุปราชคุมทัพเรือจำนวน 20,000 คน ให้ตาละปั้นคุมทัพหน้า 7,000 คน[11] ยกขึ้นไปตามลำน้ำอิระวดีเพื่อตีเมืองอังวะ ฝ่ายพม่าแม่ทัพมังมหาราชาตั้งรับมอญที่เมืองแปรแต่พ่ายแพ้ถอยไป ฝ่ายมอญสามารถยึดเมืองพุกามล่วงขึ้นไปจนถึงเมืองอังวะในต้นปีพ.ศ. 2295 ฝ่ายพม่าพ่ายแพ้การรบหลายครั้งหมดสิ้นเสบียงอาหารและกำลังพล จนกระทั่งทัพชาวมอญและชาวกวย นำโดยอุปรายธอลองและแม่ทัพตาละปั้น สามารถเข้ายึดเมืองอังวะราชธานีพม่าได้ในที่สุด ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2295 พระมหาธรรมราชาธิบดี พระเจ้าอังวะกษัตริย์พม่าราชวงศ์ตองอูพระองค์สุดท้าย ทรงยินยอมให้จับกุมแต่โดยดี อุปราชมอญมีคำสั่งให้เผาทำลายเมืองอังวะลง กวาดต้อนเชื้อพระวงศ์อังวะรวมทั้งชาวพม่าจำนวนกว่า 20,000 คน ลงไปไว้ที่หงสาวดี และมอบหมายให้ตาละปั้นเป็นผู้รักษาการที่อังวะ เนื่องจากฝ่ายมอญกังวลว่าหากสู้รบในพม่าตอนบนอยู่นานฝ่ายสยามกรุงศรีอยุธยาจะถือโอกาสยกมาโจมตีเมืองเมาะตะมะ ฝ่ายพระเจ้าการิบนิวาซอดีตกษัตริย์มณีปุระซึ่งได้ประทับอยู่ที่กรุงอังวะ เมื่อเสียกรุงอังวะแล้วพระเจ้าการิบนิวาซเสด็จกลับไปยังเมืองมณีปุระแต่พระโอรสคือพระเจ้าจิตไซเกรงว่าพระบิดาจะกลับมาทวงอำนาจคืน จึงส่งคนไปลอบสังหารปลงพระชนม์พระเจ้าการิบนิวาซเสียกลางทาง[12]

รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

[แก้]

หลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติสยามเมื่อพ.ศ. 2231 พระเพทราชาปราบดิภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์อยุธยาก่อตั้งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ในสมัยราชวงส์บ้านพลูหลวงเกิดกบฏขึ้นหลายครั้งได้แก่กบฏธรรมเถียรพ.ศ. 2232 กบฏนครราชสีมาพ.ศ. 2242 และกบฏนครศรีธรรมราชพ.ศ. 2243 ที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสามารถปราบลงได้[13] กษัตริย์อยุธยาราชวงศ์บ้านพลูหลวงจึงมีนโยบายขยายอำนาจของราชสำนักส่วนกลางออกไปยังหัวเมือง[14] โดยการให้สมุหนายกควบคุมหัวเมืองฝ่ายเหนือ และให้สมุหกลาโหมควบคุมหัวเมืองฝ่ายใต้ แต่นโยบายนี้สุดท้ายแล้วทำให้ราชสำนักอยุธยาสูญเสียอำนาจในหัวเมือง[14] ราชสำนักอยุธยาไม่สามารถควบคุมกำลังพลในหัวเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีข้าศึกรุกรานราชสำนักอยุธยาจึงไม่สามารถเรียกเกณฑ์กำลังพลมาป้องกันพระนครได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับนโยบายลดอำนาจหัวเมืองทำให้หัวเมืองมีกำลังไม่เพียงพอไม่สามารถเป็นปราการหน้าด่านสำหรับพระนครได้ ยุทธวิถีการรับศึกพม่าจึงเป็นการตั้งรับศึกอยู่ที่พระนครศรีอยุธยาแต่เพียงเท่านั้น ระบบการปกครองของอยุธยาสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้น เป็นไปเพื่อการสร้างเสถียรภาพภายในและป้องกันการกบฏเป็นหลัก ไม่ได้เป็นไปเพื่อการตั้งรับการรุกรานจากภายนอก[14] ในขณะเดียวกันการค้าสำเภาระหว่างอยุธยากับจีนราชวงศ์ชิงรุ่งเรืองขึ้น เนื่องจากจีนประสบปัญหาขาดแคลนข้าวโดยเฉพาะในภาคใต้ของจีน ในเวลานั้นราชสำนักจีนมีนโยบายไห่จิ้น (海禁) คือห้ามค้าขายกับต่างประเทศโดยเด็ดขาด ราชสำนักอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระได้ทดลองนำข้าวขนส่งไปกับเรือบรรณาการไปขายที่เมืองกวางตุ้งในพ.ศ. 2265 พระจักรพรรดิคังซีมีพระราชานุญาตให้สยามเข้ามาขายข้าวเป็นกรณีพิเศษ ต่อมาในพ.ศ. 2270 พระจักรพรรดิยงเจิ้งทรงประกาศยกเลิกนโยบายไห่จิ้นทำให้ชาวจีนสามารถค้าขายต่างประเทศได้อย่างอิสระ สยามค้าขายข้ามกับจีนผ่านระบบบรรณาการรวมทั้งพ่อค้าจีนเอกชน สร้างรายได้ให้แก่ราชสำนักอยุธยาและไพร่ที่ปลูกข้าวเพื่อส่งออก[15]

ในพ.ศ. 2273 มีผู้นำหนังสือสอนศาสนาของมิชชันนารีฝรั่งเศส ซึ่งแต่งขึ้นโดยสังฆราชลาโน ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการเปรียบเทียบระหว่างศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ และแต่งโดยใช้ภาษาไทยและภาษาบาลีอักษรขอมไทย ถวายแด่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลฯเจ้าฟ้าพร เป็นเหตุให้ราชสำนักกรุงศรีอยุธยามีความสงสัยว่ามิชชันนารีฝรั่งเศสแต่งหนังสือโจมตีพุทธศาสนา และพระเจ้าอยู่ท้ายสระมีพระราชโองการห้ามมิชชันนารีสอนศาสนาด้วยภาษาไทยหรือภาษาบาลีอักษรขอมไทย ห้ามมิให้มิชชันนารีสอนศาสนาแก่ชาวสยาม ชาวมอญ และชาวลาว (ล้านนา) ห้ามมิให้มิชชันนารีชักชวนให้ชาวไทยมอญลาวเข้ารีตเป็นคริสเตียน และห้ามมิให้มิชชันนารีติเตียนพระพุทธศาสนา[16] ทางราชสำนักกรุงศรีอยุธยาได้ทำศิลาประกาศพระราชโองการนี้ปักไว้ที่โบสถ์เซนต์โยเซฟในอยุธยา[16]

ในพ.ศ. 2276 ก่อนสวรรคตพระเจ้าท้ายสระทรงยกราชสมบัติให้แก่พระโอรสเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ แทนที่จะทรงมอบให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเจ้าฟ้าพรพระอนุชา ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในอยุธยาระหว่างเจ้าฟ้าพรและเจ้าฟ้าอภัยเจ้าปรเมศร์ ในชั้นแรกฝ่ายวังหน้าถูกทัพฝ่ายวังหลวงตีแตกถอยร่น จนกระทั่งขุนชำนาญชาญณรงค์ขุนนางวังหน้าได้ทูลอาสานำทัพออกไปรบกับฝ่ายวังหลวง สุดท้ายขุนขำนาญสามารถเอาชนะทัพฝ่ายวังหลวงได้ เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าปรเมศร์ถูกจับกุมและสำเร็จโทษประหารชีวิต เจ้าฟ้าพรทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงแต่งตั้งให้ขุนชำนาญผู้มีความดีความชอบให้เป็นเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ที่ตำแหน่งพระคลังและเป็นเสนาบดีผู้มีอำนาจ ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศอยุธยาประสบปัญหาขาดแคลนกำลังพลเนื่องจากความเสื่อมของระบบการเกณฑ์ไพร่ ทรงตั้งกรมเจ้านายขึ้นหลายกรมเพื่อควบคุมกำลังพลของเจ้านายแต่ละพระองค์ เป็นการป้องกันการแย่งชิงราชสมบัติ เศรษฐกิจการส่งออกข้าวไปจีนที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นทำให้ไพร่มีรายได้มากขึ้นจากการค้าขายนำไปสู่กำเนิด"ไพร่มั่งมี"[15] หรือคหบดีชนชั้นกลางขึ้น ไพร่จึงหลีกเลี่ยงการเกณฑ์แรงงานออกไปทำผลผลิตค้าขายสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง บรรดาไพร่ไม่ต้องการเป็นไพร่หลวงเนื่องจากถูกใช้งานหนักจึงหลีกเลี่ยงไปเป็นไพร่สมตามกรมเจ้านายแทน ทำให้ระบบการควบคุมกำลังพลของอยุธยาเสื่อมถอยลง ในพ.ศ. 2285 พระยาราชภักดี (สว่าง) สมุหนายก ได้ออกเกลี้ยกล่อมบรรดาไพร่ที่หลบหนีตามแขวงเมืองต่างๆในภาคกลางตอนล่าง สามารถเกลี้ยกล่อมไพร่ให้กลับเข้ารับราชการได้เป็นจำนวนหลายหมื่นคน[9]

รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่บรมโกศตรงกับช่วงปลายสมัยราชวงศ์ตองอูของพม่า ในพ.ศ. 2285 เจ้าเมืองเมาะตะมะและเจ้าเมืองทวายหลบหนีกบฏมอญเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารฯ เจ้าเมืองทั้งสองกราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่า "สมิงทอคนหนึ่งเป็นชาติถ่อย คบคิดกันกับพระยาทละกรมช้างกบฏต่อพระเจ้าอังวะ"[17] พ.ศ. 2287 พระมหาธรรมราชาธิบดีกษัตริย์พม่าพระเจ้าอังวะทรงส่งทูตพม่ามายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและเพื่อกราบทูลขอตัวเจ้าเมืองพม่าทั้งสองนั้นกลับไป พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงแต่งคณะทูตมีพระยายมราชเป็นราชทูต พระธนบุรีเป็นอุปทูต[8] เดินทางนำเจ้าเมืองทั้งสองกลับไปพม่า ทูตสยามประกาศสนับสนุนฝ่ายพม่าและให้ทูตพม่าปล่อยข่าวออกไป ทำให้สมิงทอกษัตริย์หงสาวดีซึ่งขณะนั้นกำลังโจมตีเมืองแปรอยู่ เกรงว่าจะถูกสยามโจมตีจากทางตะนาวศรีจึงถอยทัพออกจากเมืองแปร สมิงทอต้องการสานสัมพันธ์กับอยุธยาเพื่อรักษาชายแดนด้านตะนาวศรีให้ปลอดภัย[11] จึงส่งผู้แทนมายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อทูลสู่ขอพระธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปเป็นมเหสี ปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่บรมโกศทรงพระพิโรธ "อ้ายสมิงธอนี้ มันเป็นชาติกวย เมื่อครั้งมันได้นั่งเมืองหงสาวดีนั้น มันจัดให้มาขอลูกสาวเราใจกำเริบมันไม่คิดถึงตัวมันว่าไม่ใช่เชื้อกษัตริย์"[17]

ต่อมาพ.ศ. 2289 สมิงทอกษัตริย์หงสาวดีถูกพญาทะละเสนาบดียึดอำนาจ จนสุดท้ายสมิงทอจำต้องเดินทางลี้ภัยมายังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฯทรงให้จำคุกสมิงทอด้วยข้อหาบังอาจมาทูลขอพระธิดา พระยาพระราม พระยากลางเมือง และพระยาน้อยวันดี แม่ทัพมอญผู้ภักดีต่อสมิงทอ ได้อพยพนำชาวมอญจำนวน 400 คน[11][9] เข้ามายังอยุธยา พระราชทานให้ชาวมอญอพยพไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่โพธิ์สามต้น[9]ทางเหนือของอยุธยา ปีต่อมาพ.ศ. 2290 พญาทะละกษัตริย์หงสาวดีองค์ใหม่ส่งทูตมากรุงศรีอยุธยา ขอต้วสมิงทอคืนไม่ให้กรุงศรีอยุธยาเลี้ยงดูสมิงทอไว้ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเมตตาสมิงทอจึงตัดสินพระทัยให้จับสมิงทอใส่โซ่ตรวนลงเรือสำเภาจีนเนรเทศไปเมืองกวางตุ้ง โดยมีทูตมอญเป็นสักขีพยาน[11] พญาทะละกษัตริย์มอญไม่พอใจที่สยามไม่ยอมส่งมอบตัวสมิงทอให้แต่ไม่สามารถทำอย่างไรได้เนื่องจากต้องการรักษาสัมพันธ์กับสยาม[11] สุดท้ายแล้วสมิงทอหลบหนีออกจากเรือที่เมืองญวน สามารถเดินทางไปยังเมืองเชียงใหม่อยู่กับเจ้าองค์คำเจ้าเชียงใหม่ผู้เป็นพ่อตา ในพ.ศ. 2293 สมิงทอขอกำลังจากเจ้าเชียงใหม่ไปกอบกู้ราชสมบัติหงสาวดีคืนแต่เจ้าเชียงใหม่ไม่เห็นชอบด้วย[11] ในปีเดียวกันนั้น พระยาพระรามหัวหน้าชาวมอญที่โพธิ์สามต้น อาจได้ข่าวว่าสมิงทอมีความเคลื่อนไหว จึงนำปืนสยามพร้อมกำลังมอญบางส่วนลักลอบหลบหนีออกไปทางด่านเจดีย์สามองค์เพื่อช่วยเหลือสมิงทอแต่ถูกจับได้ที่บางแก้วราชบุรี พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงลงพระราชอาญาให้ประหารชีวิตพระยาพระรามพร้อมพรรคพวก[9]

กำเนิดราชวงศ์คองบอง

[แก้]
อูอองไจยะ (U Aung Zeya) หรือ อ่องชัย หรือต่อมาคือ พระเจ้าอลองพญา ผู้กอบกู้อาณาจักรพม่าและทำลายอาณาจักรมอญหงสาวดี สถาปนาราชวงศ์คองบอง

อองไจยะ (Aung Zeiya) หรือ อ่องชัย เกิดที่หมู่บ้านมุกโซโบในลุ่มแม่น้ำมู[18] ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงอังวะ เมื่อพ.ศ. 2259 พงศาวดารพม่าระบุว่าอ่องชัยมาจากวงศ์ตระกูลเป็นขุนนางท้องถิ่นแต่หลักฐานอื่นระบุว่าเดิมเป็นนายพราน เมื่อเติบโตขึ้นอ่องชัยรับราชการเป็นนายบ้านมุกโซโบ เมื่ออุปราชธอลองนำทัพมอญเข้าล้อมกรุงอังวะในพ.ศ. 2295 นั้น อุปราชาหงสาวดีได้ประกาศให้ชาวพม่าในพม่าตอนบนทั้งปวงเข้ามาสวามิภักดิ์ถือน้ำ อ่องชัยซึ่งเป็นเจ้าภาษีได้ปกครองหมู่บ้านจำนวนสี่สิบหกหมู่บ้านในลุ่มแม่น้ำมู เป็นหนึ่งในขุนนางพม่าที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อมอญ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2295 หนึ่งเดือนก่อนเสียกรุงอังวะ[18] อ่องชัยได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าอลองพญา แปลว่า พระโพธิสัตว์ เมื่อเสียกรุงอังวะให้แก่มอญในเดือนมีนาคม พระเจ้าอลองพญาทรงแปลงนามหมู่บ้านมุกโซโบเป็นเมืองรัตนสิงห์ (Yadana Theingka) หรือเมืองชเวโบ (Shwebo) หรือเมืองอยุชฌปุระรัตนสิงห์คองบองชเวปยีจี (Ayujjhapura Rattanasingha Konbaung Shwe Pyi Gyi)[19] ทรงให้สร้างป้อมตั้งค่ายขุดคูเมืองที่ชเวโบเตรียมรับศึกมอญ ฝ่ายอุปราชหงสาวดีเกรงว่ากรุงศรีอยุธยาจะตีกระหนาบหลังทางทวาย[20] หลังจากพิชิตพม่ากรุงอังวะได้สำเร็จแล้วจึงรีบนำทัพกลับลงไปหงสาวดี ตั้งให้ตาละปั้นเป็นผู้รักษาเมืองอังวะ ตาละปั้นส่งกองกำลังมอญมาสู้รบพระเจ้าอลองพญาแต่ไม่สำเร็จถูกตีแตกพ่าย ในเดือนมิถุนายน[20] ตาละปั้นแม่ทัพมอญยกทัพมาด้วยตนเองเข้าโจมตีเมืองรัตนสิงห์ชเวโบแต่พ่ายแพ้ พระเจ้าอลองพญาทรงปราบปรามชุมนุมต่างๆในพม่าตอนบนรวบรวมชาวพม่าให้เป็นเอกภาพในการกอบกู้บ้านเมืองจากมอญ ในปลายปีพ.ศ. 2296 พระเจ้าอลองพญาทรงให้มังระราชบุตร (ต่อมาคือพระเจ้ามังระ) ยกทัพพม่าเข้าโจมตีล้อมเมืองอังวะ จนสามารถยึดเมืองอังวะคืนจากมอญได้สำเร็จในเดือนมกราคม พ.ศ. 2297 อุปราชมอญและแม่ทัพตาละปั้นยกจากหงสาวดียกขึ้นมาล้อมกรุงอังวะแต่ไม่สำเร็จ เจ้าชายมังระสามารถรักษาอังวะไว้ได้ ในเวลานั้นชาวพม่าที่เมืองแปรได้ลุกฮือขึ้นและขับไล่มอญออกจากเมือง ตาละปั้นยกเข้าล้อมเมืองแปร แต่พระเจ้าอลองพญาทรงตีทัพตาละปั้นขับไล่ออกไปจากแปรได้ในพ.ศ. 2298[20] ทำให้พระเจ้าอลองพญาทรงมีอำนาจลงไปจรดถึงเมืองแปร

พระเจ้าอลองพญาทรงสร้างพระราชวังชเวโบขึ้นในพ.ศ. 2296 เป็นราชธานีที่หมู่บ้านมุกโซโบเดิม พระราชวังชเวโบปัจจุบันบูรณะสร้างขึ้นใหม่เมื่อพ.ศ. 2542
ราชสาส์นทองคำ ที่พระเจ้าอลองพญาทรงส่งถึงพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่ ในพ.ศ. 2299 ปัจจุบันอยู่ที่ห้องสมุดก็อทฟรีทวิลเฮ็ล์มไลบ์นิทซ์ (Gottfried Wilheim Leibniz Library) เมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมันนี และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นความทรงจำแห่งโลก (UNESCO Memory of the World) ในพ.ศ. 2558

พระเจ้าอลองพญาเสด็จยกทัพเข้ารุกรานยึดครองพม่าตอนล่างปากแม่น้ำอิระวดีอย่างรวดเร็ว ในพ.ศ. 2298 พระเจ้าอลองพญาทรงโจมตีเมืองตะโก้ง ในเวลานั้นชาวมอญได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสนำโดยนายบริวโนผู้แทนฝรั่งเศส ทัพฝ่ายมอญมีความได้เปรียบเนื่องจากมียุทโธปกรณ์ตะวันตกที่ทันสมัยได้รับจากฝรั่งเศส พระเจ้าอลองพญาทรงร้องขออาวุธปืนจากอังกฤษที่มีเนกราย[18] แต่ยังไม่ทันส่งมอบอาวุธพระเจ้าอลองพญาทรงยึดได้เมืองตะโก้งเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองร่างกุ้ง หลังจากนั้นพระเจ้าอลองพญาจึงยกทัพเข้าโจมตีเมืองสิเรียมในเดือนพฤษภาคม เมืองสิเรียมของมอญเป็นเมืองที่มีป้อมปราการแข็งแรงและมีอาวุธทันสมัย เนื่องจากมีทั้งชาวอังกฤษและชาวฝรั่งเศสตั้งสถานีการค้าอยู่ ฝ่ายอังกฤษซึ่งในขณะนั้นมีความขัดแย้งกับฝรั่งเศสในสงครามเจ็ดปี จึงตัดสินใจให้การสนับสนุนแก่พระเจ้าอลองพญา แต่พระเจ้าอลองพญาทรงไม่ไว้วางพระทัยอังกฤษเนื่องจากทราบว่ามีเรือรบอังกฤษชื่อว่าอาร์โคต (Arcot) ได้ร่วมรบในฝ่ายมอญ[18]ที่สิเรียม ในปลายปีพ.ศ. 2298 พระเจ้าอลองพญาเกรงว่าจะถูกมณีปุระและไทใหญ่โจมตีด้านเหนือ จำต้องจัดทัพล้อมเมืองสิเรียมไว้แล้วเสด็จขึ้นไปเมืองอังวะ ส่งทัพพม่าเข้าปราบมณีปุระในพ.ศ. 2298 สร้างความเสียหายแก่มณีปุระ เหตุการณ์นี้ถูกขนานนามว่า "ความเสียหายครั้งที่หนึ่ง" (Koolthakahalba)[21] ของมณีปุระ เมื่อปราบมณีปุระแล้วพระเจ้าอลองพญาจึงเสด็จกลับลงมาที่สิเรียมในต้นปีพ.ศ. 2299 การล้อมเมืองสิเรียมกินเวลากว่าสิบเอ็ดเดือน[11] นายบริวโนแม่ทัพฝรั่งเศสขอกำลังเสริมจากเมืองปอนดีเชอรี จนกระทั่งในเดือนกรกฎาคม กลางปีพ.ศ. 2299 พระเจ้าอลองพญาทรงเกรงว่ากำลังหนุนฝรั่งเศสจะมาถึง จึงจัดตั้ง"กองกำลังผู้กล้าแห่งสิเรียม" (Golden Company of Syriam)[22] ประกอบด้วยผู้กล้าจำนวน 93 คน สละชีพรับกระสุนปืนฝรั่งเศสเป็นทัพหน้าเพื่อเปิดทางให้แก่ทัพพม่า จนพระเจ้าอลองพญาทรงสามารถตีเมืองสิเรียมแตกได้ในที่สุด เมื่อเรือบรรทุกอาวุธฝรั่งเศสมาถึงเมืองสิเรียม สามวันหลังจากเสียเมือง พระเจ้าอลองพญาทรงบังคับให้นายบริวโนเขียนจดหมายให้นายเรือฝรั่งเศสนำเรือเข้ามา[20] แล้วฝ่ายพม่าได้เข้ายึดเรือฝรั่งเศสทั้งสองนั้น ได้อาวุธยุทโธปกรณ์ ปืนใหญ่และปืนคาบศิลาที่ทันสมัยจำนวนมากมาไว้ในครอบครอง หลังจากนั้นพระเจ้าอลองพญาทรงประหารชีวิตนายบริวโนชาวฝรั่งเศสด้วยการย่างไฟ

การที่พระเจ้าอลองพญายึดเมืองสีเรียมได้เป็นการทำลายที่มั่นของฝรั่งเศสในการช่วยเหลือมอญหงสาวดี หลังจากพักค้างฤดูฝนพระเจ้าอลองพญาทรงยกทัพเข้าล้อมเมืองหงสาวดีในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2299 ฝ่ายหงสาวดีพญาทะละกษัตริย์หงสาวดีและอนุชาคืออุปราชธอลองยินยอมเจรจาสงบศึกเป็นประเทศราชของพม่าแต่โดยดี พญาทะละส่งบุตรสาวของตน ซึ่งตาละปั้นหมายมั่นว่าจะแต่งงานด้วย ให้อุปราชนำไปถวายพระเจ้าอลองพญา พระเจ้าอลองพญาทรงคุมตัวอุปราชไว้ ทำให้แม่ทัพตาละปั้นไม่พอใจและไม่เห็นด้วยไม่ต้องการสงบศึกกับพม่า จึงออกโจมตีฝ่าวงล้อมพม่าออกไปทางเมืองสะโตงไปยังเชียงใหม่ พระเจ้าอลองพญาดำริว่าฝ่ายหงสาวดีหลงกลแล้วจึงตรัสว่าฝ่ายหงสาวดีสงบศึกแล้วแต่กลับเสียสัจจะส่งตาละปั้นออกมารบอีก จึงส่งทัพเข้าโจมตีเมืองหงสาวดีอีกครั้ง การล้อมเมืองหงสาวดีกินเวลาประมาณหกเดือน จนกระทั่งเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2300 ฝ่ายพม่าสามารถเข้ายึดเมืองหงสาวดีได้ พระเจ้าอลองพญาทรงช้างเสด็จเข้าเมืองหงสาวดีทางประตูเมืองยางทิศใต้ จับกุมพญาทะละกษัตริย์หงสาวดีได้ พระเจ้าอลองพญาพิโรธที่ฝ่ายมอญได้ปลงพระชนม์พระมหาธรรมราชาธิบดีอดีตกษัตริย์พม่า[11] (พงศาวดารมอญระบุว่าพระมหาธรรมราชาฯประชวรสิ้นพระชนม์ ส่วนหลักฐานพม่าระบุว่าพญาทะละมีคำสั่งให้ปลงพระชนม์) พระเจ้าอลองพญามีพระราชโองการให้เผาทำลายเมืองหงสาวดีที่ได้สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนองลงอย่างราบคาบ และให้ฆ่าพระสงฆ์มอญกว่าพันรูปเนื่องจากพิโรธว่าพระสงฆ์มอญทำมงคลตะกรุดประเจียดลงยันต์ให้แก่ทหารมอญถือว่าศีลขาดแล้ว[11] จากนั้นพระเจ้าอลองพญาทรงกวาดต้อนชาวมอญหงสาวดี พร้อมทั้งพญาทะละและอุปราชไปไว้ที่เมืองร่างกุ้ง นับจากนั้นเมืองร่างกุ้งจึงกลายเป็นศูนย์กลางของพม่าตอนล่างแทนที่เมืองหงสาวดี พระเจ้าอลองพญามีพระราชโองการให้อังกฤษเมืองเนกรายมาเข้าเฝ้าที่เมืองแปร โธมัส เลสเตอร์ (Thomas Lester) ผู้แทนอังกฤษจากเนกรายจึงเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอลองพญา[18] นายเลสเตอร์ต้องถอดรองเท้าคลานเข่าเข้าหากษัตริย์พม่า[18] นำไปสู่ข้อตกลงสนธิสัญญาอังกฤษ-พม่า พ.ศ. 2300 พระเจ้าอลองพญาทรงอนุญาตให้อังกฤษตั้งสถานีการค้าที่เนกรายและพะสิม โดยที่อังกฤษตอบแทนด้วยการส่งดินดำให้แก่ราชสำนักพม่าทุกปี[18]

ความขัดแย้งภายในอยุธยา

[แก้]

เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ถึงแก่กรรมในพ.ศ. 2269 ทำให้เกิดสูญญากาศทางอำนาจภายในราชสำนักอยุธยา กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมขุนเสนาพิทักษ์ ทรงมีอำนาจขึ้น ทรงสามารถลงพระอาญาเฆี่ยนพระยากลาโหม (ปิ่น) จนเสียชีวิต กรมพระราชวังบวรฯทรงเผชิญกับการท้าทายอำนาจจากเจ้าสามกรม ประกอบด้วย กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฯซึ่งประสูติแต่พระสนม ในพ.ศ. 2298 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงแต่งตั้งเสนาบดีได้แก่;[9]

  • พระยาราชสุภาวดีบ้านประตูจีน เป็น เจ้าพระยาอภัยราชาว่าที่สมุหนายก
  • พระยาธรรมไตรโลกบ้านคลองแกลบ เป็น เจ้าพระยามหาเสนาบดีสมุหกลาโหม
  • พระยาบำเรอภักดิ์ เป็น พระยารัตนาธิเบศร์ว่าที่กรมวัง

พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรฯประชวรเป็นพระโรคสำหรับบุรุษไม่ได้เข้าเฝ้าถึงสามปีเศษ เจ้าสามกรมแต่งตั้งข้าในกรมให้มียศเป็นขุนสูงเกินกว่าศักดิ์ กรมพระราชวังบวรฯมีพระบัณฑูรให้นำตัวข้าในกรมของเจ้าสามกรมมาลงพระอาญาโบยหลัง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2299 กรมพระราชวังบวรฯนำกำลังเข้าล้อมจับกุมกรมหมื่นสุนทรเทพ[23] กรมหมื่นสุนทรเทพหลบหนีไปได้ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฯ ทูลฟ้อง พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระราชโองการให้กรมพระราชวังบวรมาเข้าเฝ้า แต่กรมพระราชวังบวรกลับยกกองกำลังพร้อมอาวุธ ถือดาบพระแสงมาเข้าเฝ้า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระพิโรธมีพระราชโองการให้กุมขังกรมพระราชวังบวรฯ โดยมีกรมหมื่นสุนทรเทพเป็นผู้ไต่สวน กรมหมื่นสุนทรเทพกราบทูลฯว่ากรมพระราชวังบวรฯเป็นชู้กับเจ้าฟ้านิ่มเจ้าฟ้าสังวาล พระชายาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฯ กรมพระราชวังบวรฯรับเป็นสัตย์ ว่าได้ลักลอบทำกุญแจเข้าเขตพระราชฐานฝ่ายในและเข้าห้องบรรทม ได้ลักลอบเข้าฝ่ายในและวางแผนก่อการกบฏ[23] พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฯทรงลงพระราชอาญาให้เฆี่ยนกรมพระราชวังบวรฯ 230 ครั้ง เฆี่ยนไปได้ 180 ครั้ง กรมพระราชวังบวรฯจึงดับสูญสิ้นพระชนม์ จากนั้นตำแหน่งมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงว่างลง ในพ.ศ. 2300 กรมหมื่นเทพพิพิธปรึกษาด้วยเจ้าพระยาอภัยราชาสมุหนายก เจ้าพระยามหาเสนา พระยาพระคลัง กราบทูลฯขอพระราชทานยกให้เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์ต่อมา กรมขุนพรพินิตทูลว่ามีพระเชษฐาเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีอยู่ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศตรัสว่ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นโฉดเขลาหาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ถ้าให้เป็นพระมหาอุปราชบ้านเมืองจะวิบัติฉิบหายเสีย เห็นแต่กรมขุนพรพินิตมีสติปัญญา พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระราชโองการให้กรมขุนอนุรักษ์มนตรีไปผนวชที่วัดละมุดปากจั่น เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตจึงอุปราชาภิเษกขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่ยังคงประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนกระต่ายตามแต่เดิม[9]

ภาพกษัตริย์อยุธยา ซึ่งอาจคือพระเจ้าอุทุมพรหรือพระเจ้าเอกทัศน์ จากหนังสือพับของพม่าเรื่อง "นั้นเตวั้งรุปซุงประบุท"

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตเมื่อแรม 5 คำ เดือน 6 จุลศักราช 1120 (26 เมษายน พ.ศ. 2301) กรมหมื่นเทพพิพิธอัญเชิญพระแสงดาบให้ชาวที่นำไปประดิษฐานไว้ที่พระตำหนักสวนกระต่ายอันเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรฯ ฝ่ายเจ้าสามกรมซึ่งกำลังซ่องสุมอยู่ที่ตำหนักศาลาลวดนั้น ได้เชิญเอาพระแสงบนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ไปไว้ที่ตำหนักศาลาลวด ฝ่ายกรมขุนอนุรักษ์มนตรีซึ่งได้ผนวชอยู่ที่วัดละมุดปากจั่นนั้น ได้เสด็จมายังกรุงศรีอยุธยา กรมขุนอนุรักษ์มนตรีมีคำสั่งให้กรมหมื่นเทพพิพิธพระแสงในโรงแสงต้นไปไว้ที่พระตำหนักสวนกระต่ายทั้งหมด เพื่อเป็นการตอบโต้เจ้าสามกรม กรมพระราชวังบวรฯกรมขุนพรพินิต มีพระบัณฑูรให้ข้าทูลละอองฯทั้งปวงมาเข้าเฝ้าที่ตำหนักสวนกระต่าย ในเวลาเดียวกันนี้ เจ้าสามกรมส่งคนปีนกำแพงเข้าทลายประตูโรงแสงนอกยึดอาวุธปืนไปเป็นจำนวนมาก เมื่อเห็นว่ากรุงศรีอยุธยากำลังจะเข้าสู่สงครามกลางเมือง พระราชาคณะจำนวนห้ารูป นำโดยพระเทพมุนีวัดกุฎีดาว ไปเกลี้ยกล่อมให้เจ้าสามกรมยอมรับอำนาจของกรมพระราชวังบวรฯ เจ้าสามกรมยอมเชื่อฟังคำของพระราชาคณะและเดินทางไปเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ แต่ทว่ากรมพระราชวังบวรฯทรงปรึกษากับกรมขุนอนุรักษ์มนตรี จับกุมตัวเจ้าสามกรมไปกุมขังไว้ แล้วลงพระอาญาสำเร็จโทษเจ้าสามกรมด้วยท่อนจันทน์ตามประเพณี[9]

กรมพระราชวังบวรฯกรมขุนพรพินิต เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าอุทุมพร เมื่อวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 (12 พฤษภาคม) แต่กรมขุนอนุรักษ์มนตรีซึ่งผนวชอยู่ในสมณเพศนั้น กลับไปประทับที่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ไม่เสด็จกลับวัดละมุด พระเจ้าอุทุมพรอยู่ในราชสมบัติประมาณหนึ่งเดือน ทรงเผชิญกับการกดดันทางการเมืองจากพระเชษฐา จนทรงสละราชสมบัติในที่สุดเมื่อวันแรม 1 ค่ำ เดือน 7 (22 พฤษภาคม) ถวายราชสมบัติให้แก่กรมขุนอนุรักษ์มนตรีพระเชษฐา กรมขุนอนุรักษ์มนตรีเจ้าฟ้าเอกทัศน์จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อข้างขึ้นเดือน 8 ฝ่ายพระเจ้าอุทุมพรเสด็จออกผนวชที่วัดประดู่ทรงธรรม ได้รับสมัญญานามว่า "ขุนหลวงหาวัด" กรมหมื่นเทพพิพิธออกบวชลี้ภัยทางการเมืองประทับอยู่ที่วัดกระโจม เมื่อพระเจ้าเอกทัศน์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พี่ชายของเจ้าจอมเพ็งสองคนได้แก่ พระยาราชมนตรี (ปิ่น) และจมื่นศรีสรรักษ์ (ฉิม) ขึ้นมามีอำนาจในราชสำนัก

พระยาราชมนตรีและจมื่นศรีสรรักษ์ถือตนว่ามีอำนาจหมื่นประมาทขุนนางเสนาบดีระดับสูง สร้างความไม่พอใจให้แก่ขุนนางกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในเดือนสิบสอง กลุ่มขุนนางประกอบด้วยเจ้าพระยาอภัยราชา (ประตูจีน) สมุหนายก พระยายมราชเสนาบดีนครบาล พระยาเพชรบุรีเจ้าเมืองเพชรบุรี หมื่นทิพเสนา นายจุ้ย และนายเพ็งจันทร์ วางแผนการกบฏล้มอำนาจพระเจ้าเอกทัศน์คืนราชสมบัติให้แก่พระเจ้าอุทุมพรขุนหลวงหาวัด เจ้าพระยาอภัยราชานำคณะผู้ก่อการไปเข้าเฝ้ากรมหมื่นเทพพิพิธที่วัดกระโจม ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งยังคงจงรักภักดีต่อพระเจ้าอุทุมพร ยินยอมเป็นผู้นำในการกบฏครั้งนี้ กรมหมื่นเทพพิพิธนำคณะผู้ก่อการไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอุทุมพรที่วัดประดู่ทรงธรรม พระเจ้าอุทุมพรไม่มีพระทัยปรารถนาจะครองราชสมบัติจึงตรัสตอบว่า "รูปเป็นสมณะ จะคิดอ่านการแผ่นดินนั้นไม่ควร ท่านทั้งปวงจะเหนเปนประการใดก็ตามแต่จะคิดกันเถีด"[9] ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธเข้าใจว่าพระเจ้าอุทุมพรทรงตอบตกลงแล้ว จึงดำเนินการตามแผนการ พระเจ้าอุทุมพรทรงไม่ไว้วางพระทัยกรมหมื่นเทพพิพิธ "คนเหล่านี้คิดขบถจะทำการใหญ่ ถ้าเขาทำการสำเรจ์จับพระเชษฐาได้แล้ว เขาก็จะมาจับเราเสียด้วยจะยกกรมหมื่นเทพพิพิธ ขึ้นครองราชสมบัดิ์ เราสองคนพี่น้องก็จะภากันตาย"[9] พระเจ้าอุทุมพรจึงตัดสินพระทัยนำความกบฏไปทูลพระเชษฐาพระเจ้าเอกทัศน์ พร้อมทั้งถวายพระพรขอไว้ชีวิตคณะผู้ก่อการกบฏครั้งนี้ พระเจ้าเอกทัศน์จึงมีพระราชโองการให้จับกุมคณะกบฏ เจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช พระยาเพชรบุรี ถูกจับกุมและเฆี่ยน หมื่นทิพเสนาและนายเพ็งจันทร์หลบหนีไปได้ กรมหมื่นเทพพิพิธเสด็จหนีจากวัดกระโจมพร้อมทั้งบุตรธิดาไปทางตะวันตกแต่ทรงถูกจับกุมได้ที่พระแท่นดงรัง พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชโองการให้เนรเทศฝากกรมหมื่นเทพพิพิธพร้อมทั้งบุตรธิดาลงเรือกำปั่นฮอลันดาออกไปยังเมืองลังกา ในพ.ศ. 2301 นั้นเอง นอกจากนี้ พระเจ้าเอกทัศน์ยังหมายจะลงพระราชอาญาแก่พระยาพระคลังในฐานะรู้เห็นต่อการกบฏ พระยาพระคลังจึงถวายเงินให้แด่พระเจ้าเอกทัศน์ พระเจ้าเอกทัศน์จึงปูนบำเหน็จพระยาพระคลังขึ้นเป็น"เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหนายก" เป็นสมุหนายกต่อจากเจ้าพระยาอภัยราชา (ประตูจีน) ซึ่งถูกกุมขังอยู่

ตะนาวศรีจนถึง พ.ศ. 2301

[แก้]

"พงศาวดารทวาย" (Dawei Yazawin) บรรยายตำนานการสร้างเมืองทวายไว้ว่า กาลครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่บริเวณเมืองทวาย ผีนัตท้องถิ่นชื่อว่าทุรคาได้ถวายผลทุเรียนให้พระพุทธเจ้าเสวย พระพุทธเจ้าจึงมีพุทธทำนายว่าจะเกิดเมืองขึ้นในที่แห่งนี้ ต่อมาท้าวสักกะเทวราชหรือพระอินทร์ ได้ส่งผีนัตสตรีมามีบุตรกับฤๅษีชื่อว่ากวีนันท์ เกิดเป็นเด็กชายขึ้นมา ต่อมาเด็กชายคนนี้จึงปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็น"พระเจ้าสามนตราชา"แห่งเมืองสาคร (Thagara) ในพ.ศ. 1249 ซึ่งเมืองสาครนี้คือเมืองทวายแห่งแรก อยู่ทางเหนือของเมืองทวายในปัจจุบันทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำทวาย ในขณะที่พงศาวดารมอญพม่าระบุว่า กษัตริย์พม่าเมืองพุกามชื่อว่าพระเจ้าอลังคจอสู เสด็จลงมาปราบเมืองมอญสะเทิมสุธรรมวดี แล้วเสด็จประพาสมายังบริเวณเมืองทวาย ทรงพบต้นทุเรียนขึ้นอยู่จำนวนมาก จึงมีพระราชโองการให้สร้างเมืองทวายขึ้นเพื่อส่งส่วยทุเรียนให้แก่ราชสำนักพุกาม[11] นายฟรานซิส เมสัน (Francis Mason) มิชชันนารีชาวอเมริกันซึ่งได้เดินทางมายังเมืองทวายในพ.ศ. 2374 ซึ่งทวายอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษแล้วนั้น บันทึกตำนานการสร้างเมืองทวายไว้ว่าในปีพ.ศ. 1747 พระเจ้านรปติสิธูกษัตริย์พม่าพุกามเสด็จลงมาตั้งเมืองทวาย แล้วทรงให้ชาวพม่าอพยพเข้ามาอยู่เมืองทวาย เป็นเหตุให้ชาวทวายพูดภาษาตระกูลพม่า[24] "เมืองทวายซึ่งพระเจ้าอลังคจอสู่สร้างไว้ให้พวกพม่าอยู่นั้น คนทั้งหลายในเมืองนั้นจึงพูดเปนภาษาพม่า ครั้นนานมาภาษานั้นเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ว่าพม่าพอฟังได้"[11] จารึกในสมัยพุกามระบุว่า เมืองทวายเป็นเมืองสุดเขตแดนทางทิศใต้ของอาณาจักรพุกาม

ต่อมาเมืองทวายจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรมอญหงสาวดีซึ่งปกครองพม่าตอนล่าง พงศาวดารมอญพม่าระบุว่า เจ้าเมืองทวายเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าฟ้ารั่ว[11] ซึ่งเป็นกษัตริย์มอญที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรสุโขทัย ในปีพ.ศ. 1933 เมืองทวายย้ายไปตั้งอยู่ที่เมืองเวยดี (Weidi)[25] ซึ่งอยู่ทางใต้ของเมืองทวายในปัจจุบัน อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำทวาย และต่อมามีการตั้งเมืองโมกติ (Mokti) หรือเมืองมุตตสุขนครขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ ต่อมาในพ.ศ. 2031 สมเด็จพระบรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาเสด็จยึดเมืองทวายได้ หลังจากนั้นเมืองทวายจึงอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม ส่วนเมืองตะนาวศรีนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยานับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นอย่างน้อย ดังปรากฏในจารึกลานทองที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองตะนาวศรีในพ.ศ. 2005[26] เมืองตะนาวศรีปรากฏในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง มีราชทินนามว่า"ออกญาไชยาธิบดี" เมืองตะนาวศรีและเมืองทวายปรากฏเป็นเมืองเจ้าพระยามหานครในกฎมณเฑียรบาลที่เจ้าเมืองต้องเข้ามาถือน้ำพิพัฒน์สัตยา "พงศาวดารมะริด" (Myeik Yazawin) ระบุว่า ในพ.ศ. 2074 เจ้าเมืองตะนาวศรีชื่อว่า"พญาราม"ได้สร้างเมืองท่าขึ้นใหม่ชื่อเมืองมะริด เพื่อทดแทนเมืองท่าเดิมที่ตะกอนทับถมจนตื้นเขิน เมืองมะริดจึงถือกำเนิดอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองตะนาวศรี

ภาพกองกำลังของกรมการเมืองทวาย เข้าโจมตีเรือฝรั่งเศสในแม่น้ำทวายของเชอวาลิเยร์ เดอ โบเรอการ์ ที่ได้หลบหนีจากเมืองมะริดของสยามเพื่อเข้าลี้ภัยที่เมืองทวายในพ.ศ. 2231

พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาโจมตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง จึงยึดเมืองทวายและตะนาวศรีไปได้ทั้งหมด[8] หลังจากนั้นสมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จยกทัพเข้าโจมตีเมืองตะนาวศรีและเมืองทวายคืนจากพม่าได้ในพ.ศ. 2136[8] ชายฝั่งตะนาวศรีสลับผลัดเปลี่ยนมือระหว่างพม่าและสยามหลายครั้ง ท้ายที่สุดพระเจ้าอโนะเพะลุนกษัตริย์พม่าได้เข้ายึดเมืองทวายในพ.ศ. 2157 นับจากนั้นมาเมืองทวายจึงอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ในขณะที่เมืองมะริดและตะนาวศรีอยู่ภายใต้การปกครองของสยามกรุงศรีอยุธยา สถานการณ์ในชายฝั่งตะนาวศรีคงที่อยู่ในลักษณะนี้เป็นระยะเวลาร้อยกว่าปี เมืองมะริดบนฝั่งทะเลอันดามันเป็นเมืองท่าหลักของอยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งการค้ากับอินเดียและชาติตะวันตกที่สำคัญ[27] ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2224 ทรงแต่งตั้งให้นายริชาร์ด เบอร์นาบี (Richard Burnaby) ชาวอังกฤษ มาเป็นเจ้าเมืองมะริด นายเบอร์นาบีเจ้าเมืองมะริด และนายแซมมวล ไวท์ (Samuel White) ได้ทำการแก้แค้นส่วนตัวด้วยการต่อเรือขึ้นที่เมืองมะริดและยกกองเรือไปโจมตีเรือสินค้าของอังกฤษในอ่าวเบงกอล เป็นเหตุให้อังกฤษประกาศสงครามกับสยาม นำไปสู่สงครามอังกฤษ-สยามในพ.ศ. 2230 เรืออังกฤษเดินทางมายังเมืองมะริด เจ้าเมืองตะนาวศรียกทัพสยามเข้าสังหารชาวอังกฤษที่เมืองมะริดไปสิ้น รวมทั้งนายเบอร์นาบีเจ้าเมืองมะริดด้วย สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งตั้งนายทหารชาวฝรั่งเศสชื่อ เชอวาลิเยร์ เดอ โบเรอการ์ (Chevalier de Beauregard) ให้เป็นออกพระมะริดเจ้าเมืองมะริดคนใหม่ ต่อมาในพ.ศ. 2231 สมเด็จพระนารายณ์ฯทรงอนุญาตให้ฝรั่งเศสนำกองกำลังมาประจำการที่เมืองมะริด แต่ไม่นานได้เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม ทัพสยามยกมาขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกไปจากเมืองมะริด นายเดอโบเรอการ์เจ้าเมืองมะริดหลบหนีทางเรือไปขอความช่วยเหลือจากเมืองทวาย ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่ทว่านายเดอโบเรอการ์ถูกฝ่ายพม่าโจมตีและจับกุมตัวที่เมืองทวาย เคอโบเรอการ์ถูกทางการพม่าตัดสินให้ขายตัวลงเป็นทาส ถูกส่งไปที่เมืองหงสาวดีและเสียชีวิตต่อมาอีกไม่นาน

ในพ.ศ. 2283 เมื่อมอญเป็นกบฏต่อพม่าขึ้นที่หงสาวดี เจ้าเมืองเมาะตะมะชาวพม่าชื่อว่ามังนราจอสู มีความเกรงกลัวว่าชาวมอญในเมืองเมาะตะมะจะเป็นกบฏขึ้นบ้าง จึงตัดสินใจละทิ้งเมืองเมาะตะมะอพยพลี้ภัยมาอยู่ที่เมืองทวาย[11] ต่อมาสมิงทอพระเจ้าหงสาวดีมีคำสั่งให้มังนราจอสูไปสวามิภักดิ์ต่อมอญที่หงสาวดี มิฉะนั้นจะส่งกำลังไปโจมตี ชาวเมืองทวายเกรงกลัวทัพหงสาวดีจึงปรึกษากันว่าจะจับมังนราจอสูส่งให้หงสาวดี มังนราจอสูเจ้าเมืองเมาะตะมะพร้อมทั้งมังลักแวเจ้าเมืองทวายจึงตัดสินใจพาครอบครัวหลบหนีเข้ามาที่เมืองตะนาวศรีของสยาม[11] พระยาตะนาวเจ้าเมืองตะนาวศรีมีใบบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงมีพระราชโองการให้พระยาตะนาวส่งตัวเจ้าเมืองเมาะตะมะและเจ้าเมืองทวายมายังกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งมีราชโองการให้พระยาตะนาวยกทัพไปรักษาเมืองทวายไว้[11] เมืองทวายจึงตกเป็นของกรุงศรีอยุธยาในเวลาสั้นๆ ต่อมาพระมหาธรรมราชาธิบดีกษัตริย์พม่าพระเจ้าอังวะจึงแต่งตั้งเจ้าเมืองทวายคนใหม่ชื่อมังนายหลา เมื่อกรุงอังวะเสียให้แก่มอญในพ.ศ. 2295 เมืองทวายจึงถูกตัดขาดและแยกตัวโดดเดี่ยว เมืองเมาะตะมะและเมืองทวายนั้นเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่หงสาวดี "พงศาวดารทวาย"ระบุว่า ในพ.ศ. 2297 มังนายหลาเจ้าเมืองทวายได้ย้ายเมืองทวายมาตั้งเมืองทวายใหม่ในตำแหน่งปัจจุบัน[25] เจ้าเมืองทวายมีจดหมายถึงอังกฤษขอความช่วยเหลือในการป้องกันเมืองทวายจากชาวมอญ ต่อมาในพ.ศ. 2300 เมื่อพระเจ้าอลองพญาพิชิตเมืองหงสาวดีแล้ว เมืองเมาะตะมะจึงขึ้นแก่พระเจ้าอลองพญาแต่เมืองทวายยังคงเป็นอิสระ ในสนธิสัญญาระหว่างอังกฤษและพระเจ้าอลองพญาในพ.ศ. 2300 มีข้อสัญญาระบุว่าอังกฤษจะงดไม่ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่เจ้าเมืองทวาย แสดงว่าในปีพ.ศ. 2300 นั้น เมืองทวายยังคงเป็นอิสระอยู่

ในพ.ศ. 2292 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฯมีพระราชโองการให้พระยาตะนาวเจ้าเมืองตะนาวศรีนำศิลาประกาศห้ามมิชชันนารีสอนศาสนา มาลงหลักปักไว้ที่โบสถ์คริสเตียนฝรั่งเศสที่เมืองมะริด[28] ต่อมาในพ.ศ. 2301 บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เมืองมะริดชื่อว่าฌัค อันดรีเออ (Jacques Andrieux) ได้ฟ้องร้องต่อทางกรุงศรีอยุธยาว่าเจ้าเมืองตะนาวศรียึดเรือสินค้าฝรั่งเศสที่เมืองมะริดอย่างไม่เป็นธรรม[29] ทางกรุงศรีอยุธยาจึงลงโทษปลดเจ้าเมืองตะนาวศรีจำคุกเฆี่ยน และตั้งให้ชาวจีนผู้หนึ่งเป็นเจ้าเมืองตะนาวศรีคนต่อมา[29]

กบฏมอญต่อพม่า พ.ศ. 2301

[แก้]

ในปีพ.ศ. 2298 หลังจากที่พระเจ้าอลองพญาทรงสามารถยึดเมืองร่างกุ้งจากมอญได้สำเร็จแล้ว จึงส่งทัพเข้าโจมตีเมืองสีเรียมของมอญ ซึ่งอยู่เพียงตรงข้ามฝั่งแม่น้ำย่างกุ้งจากเมืองร่างกุ้งเท่านั้น ซึ่งมีทั้งชาวอังกฤษและชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ ชาวอังกฤษที่เมืองสีเรียมแสดงสัมพันธไมตรีต่อพระเจ้าอลองพญาด้วยการแล่นเรือรบของอังกฤษทั้งหมดที่เมืองสิเรียมไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอลองพญาที่เมืองร่างกุ้ง เรือของอังกฤษลำหนึ่งชื่อว่าเรืออาร์โคต (Arcot) มีกัปตันเรือชื่อว่าโรเบิร์ต แจ็คสัน (Robert Jackson) มีความเห็นที่แตกต่างไปจากชาวอังกฤษอื่นๆ กัปตันแจ็คสันไม่ต้องการเข้าฝ่ายพระเจ้าอลองพญา กัปตันแจ็คสันไม่ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอลองพญาด้วยตนเองแต่ส่งผู้แทนชื่อว่าจอห์น ไวท์ฮิล (John Whitehill) ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอลองพญาแทน พระเจ้าอลองพญามีพระราชโองการให้เรือรบอังกฤษส่งมอบอาวุธปืนทั้งหมดให้แก่ฝ่ายพม่าเพื่อใช้ในการรบกับมอญ กัปตันแจ็คสันไม่พอใจและไม่ยินยอมถวายอาวุธให้แก่พระเจ้าอลองพญา ต่อมาพระเจ้าอลองพญาจำต้องเสด็จขึ้นเหนือไปประทับที่เมืองอังวะเพื่อรบกับไทใหญ่และมณีปุระ ฝ่ายมอญและฝรั่งเศสที่เมืองสีเรียมฉวยโอกาสนี้ ยกทัพเรือเข้าโจมตีเมืองร่างกุ้ง ปรากฏว่าเรืออาร์โคตและกัปตันแจ็คสันเข้ากับฝ่ายมอญโจมตีฝ่ายพม่า สุดท้ายแล้วฝ่ายมอญและฝรั่งเศสต้องถอยทัพกลับไป เมื่อพระเจ้าอลองพญาเสด็จกลับมาที่เมืองร่างกุ้ง ทรงทราบว่าเรืออาร์โคตได้ทรยศไปเข้ากับฝ่ายมอญมาโจมตีฝ่ายพม่า ทำให้พระเจ้าอลองพญาทรงพระพิโรธเรืออาร์โคตและนายไวท์ฮิล อันเป็นผู้แทนของกัปตันแจ็คสันที่ส่งไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอลองพญา[30]

พระเจ้าการิบนิวาซแห่งมณีปุระได้สละราชสมบัติให้แก่พระโอรสคือพระเจ้าจิตไซในพ.ศ. 2292 แต่พระเจ้าการิบนิวาซมีพระโอรสอีกองค์หนึ่งคือเจ้าชายศยามไซ ซึ่งเป็นพระโอรสที่โปรดปราน ทำให้พระเจ้าจิตไซกษัตริย์มณีปุระพระองค์ใหม่มีความอิจฉา พระเจ้าจิตไซจึงทรงขับไล่เนรเทศพระเจ้าการิบนิวาซพระบิดาให้ออกไปพ้นจากมณีปุระพร้อมทั้งเจ้าชายศยามไซ พระเจ้าการิบนิวาซและเจ้าชายศยามไซจึงเสด็จลี้ภัยมาอยู่ที่กรุงอังวะ เมื่อเมืองอังวะเสียให้แก่มอญในพ.ศ. 2295 พระเจ้าการิบนิวาซและเจ้าชายศยามไซจึงเสด็จกลับเมืองมณีปุระ ฝ่ายพระเจ้าจิตไซเกรงว่าพระบิดาจะกลับมายึดอำนาจและยกราชสมบัติให้แก่ศยามไซ จึงส่งคนไปทำการลอบปลงพระชนม์พระเจ้าการิบนิวาซและเจ้าชายศยามไซเสียกลางทาง การที่พระเจ้าจิตไซทำการลอบปลงพระชนม์พระบิดาการิบนิวาซทำให้ชาวมณีปุระไม่พอใจ จนเจ้าชายภารัตไซ (Bharatsai) พระโอรสของพระเจ้าการิบนิวาซอีกองค์ ทำการล้มอำนาจพระเจ้าจิตไซและยึดราชสมบัติในพ.ศ. 2295 เป็นพระเจ้าภารัตไซ แต่ทว่าปีต่อมาพระเจ้าภารัตไซถูกยึดอำนาจ และยกให้เจ้าชายโกริศยาม (Gaurisiam) ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าชายศยามไซและเป็นนัดดาของพระเจ้าการิบนิวาซ เป็นกษัตริย์มณีปุระองค์ต่อมา เมื่อพระเจ้าอลองพญาทรงสามารถพิชิตเมืองหงสาวดีได้ในพ.ศ. 2300 พระเจ้าอลองพญาเสด็จกรีฑาทัพเข้ารุกรานมณีปุระในปลายปีพ.ศ. 2301 เพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่พระเจ้าการิบนิวาซ และเพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาในมณีปุระ อนุชาของพระเจ้าโกริศยาม คือ อุปราชภัคยจันทร์ (Bhagyachandra) ยกทัพมณีปุระออกมาตั้งรับทัพพม่าแต่ถูกพระเจ้าอลองพญาตีแตกพ่ายไป พระเจ้าโกริศยามพร้อมทั้งชาวเมืองมณีปุระ ต่างหลบหนีเข้าป่าไปหมดสิ้น เมื่อพระเจ้าอลองพญาเสด็จเข้าเมืองอิมผาลราชธานีมณีปุระ เมืองนั้นว่างเปล่าไร้ผู้คน[21]

ในระหว่างที่พระเจ้าอลองพญาเสด็จยกทัพไปตีเมืองมณีปุระอยู่นั้น ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2301 ชาวมอญในพม่าตอนล่างเป็นกบฏต่อพม่าขึ้น ชาวมอญสามารถเข้ายึดเมืองหงสาวดีและเมืองร่างกุ้งได้ "เนเมียวนรธา"เจ้าเมืองหงสาวดีที่พระเจ้าอลองพญาทรงแต่งตั้งไว้ ต้องถอยออกจากเมืองหงสาวดี พระเจ้าอลองพญาประทับอยู่ในเมืองอิมผาลของมณีปุระได้เก้าวัน ก็ทรงทราบข่าวว่ามอญเป็นกบฏขึ้น จึงรีบเสด็จกลับยังพม่า แต่ในระหว่างนี้เนเมียวนรธาสามารถรวบรวมกำลังพม่าปราบกบฏมอญลงได้สำเร็จเสียก่อนแล้วสามารถยึดเมืองร่างกุ้งคืนได้ ชาวมอญกบฏหลบหนี้ลี้ภัยมายังเมืองมะริดซึ่งเป็นเมืองท่าของสยาม พระเจ้าอลองพญาจึงเสด็จกลับมาประทับที่เมืองชเวโบรัตนสิงห์ราชธานีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2302 ในขณะเดียวกันอังกฤษซึ่งตั้งสถานีการค้าอยู่ที่เมืองเนกรายนั้น กำลังทำสงครามเจ็ดปีกับฝรั่งเศส นายจอร์จ ปิโกต (George Pigot) เจ้าเมืองมัทราส หรือเมืองเจนาปัตนัม (Chenapatam) มีคำสั่งให้ถอนกำลังอังกฤษออกจากเมืองเนกรายเกือบทั้งหมดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2302 เพื่อโยกย้ายกำลังไปสู้รบกับฝรั่งเศสในอินเดีย

ในเดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ. 2302 พระเจ้าอลองพญาเสด็จยกทัพพม่าและไทใหญ่จำนวนประมาณ 60,000 คน ลงมาเพื่อบำเพ็ญกุศลสร้างศาลาถวายแด่วัดเจดีย์ชเวดากองที่เมืองร่างกุ้ง ในเวลาเดียวกันนายจอห์น ไวท์ฮิล ล่องเรือมาค้าขายที่เมืองร่างกุ้ง นายไวท์ฮิลไม่ทราบว่าพระเจ้าอลองพญามีความพิโรธแก่ตน จากเหตุการณ์เรืออาร์โคตไปเข้ากับฝ่ายมอญเมื่อพ.ศ. 2298 เมื่อสี่ปีก่อนหน้า นายไวท์ฮิลเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอลองพญาที่เมืองแปร นายไวท์ฮิลถูกฝ่ายพม่าจับกุมโบยตีและใส่โซ่ตรวน ไวท์ฮิลจำต้องกู้เงินจำนวนมากมาเพื่อไถ่ตนเองให้รอดพ้นจากพระราชอาญาของกษัตริย์พม่า ต่อมานายลาวีนชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นอดีตลูกน้องของนายบริวโนที่ถูกประหารชีวิตไปนั้น ได้เพ็ดทูลต่อพระเจ้าอลองพญาว่าฝ่ายอังกฤษได้ให้ความช่วยเหลือและให้อาวุธแก่กบฏมอญ พระเจ้าอลองพญาจึงตั้งพระทัยที่จะกำจัดอังกฤษออกไปจากพม่าอย่างสิ้นเชิง ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2302 ชาวโปรตุเกสชื่อนายอันโตนิโอ ซึ่งพระเจ้าอลองพญาได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองพะสิม เดินทางมาถึงเมืองเนกราย เพื่อมอบราชสาสน์พม่าให้แก่อังกฤษ นายลาวีนฝรั่งเศสได้เชื้อเชิญนายเซาท์บี (Southby) ชาวอังกฤษเจ้าเมืองเนกราย มารับประทานอาหาร แล้วนายอันโตนิโอมีคำสั่งให้ทหารพม่าปิดประตูห้องอาหารรุมสังหารฆาตกรรมนายเซาท์บีรวมทั้งชาวอังกฤษอีกสิบคน และทหารอินเดียซีปอยอีกร้อยคนไปจนหมดสิ้น เหตุการณ์การสังหารชาวอังกฤษที่เมืองเนกรายในพ.ศ. 2303 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและอังกฤษยุติลงไปเป็นเวลาประมาณสี่สิบปี

สาเหตุของสงครามและการเตรียมทัพของพม่า

[แก้]

คติพระจักรพรรดิราช

[แก้]

เมื่อพระเจ้าอลองพญาปราบดาภิเษกประกาศพระองค์เป็นกษัตริย์พม่านั้น ทรงประกาศพระองค์เองเป็นพระโพธิสัตว์ผู้มาช่วยเหลือปลดปล่อยราษฎรให้พ้นจากความทุกข์ และเป็นองค์พุทธศาสนูปถัมภกค้ำชูฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในขณะที่พระเจ้าอลองพญาทรงกำลังจัดทัพเข้าล้อมเมืองสิเรียมในพ.ศ. 2299 นั้น พระเจ้าอลองพญาทรงประกาศว่าพระองค์ได้รับมอบหมายจากท้าวสักกะเทวราช (Thagya) หรือพระอินทร์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา หรืออาจหมายถึงสากระแมง (Thagyamin, พม่า: သိကြားမင်း) ซึ่งเป็นเทพเจ้านัตสูงสุด ในการปราบยุคเข็ญบำรุงสุขให้แก่ราษฎร ทรงประกาศว่าพระอินทร์ได้มอบหอกวิเศษชื่อว่า"อรินทมะ" (Arindama)[19] ให้แก่พระองค์ พระเจ้าอลองพญาทรงประกาศ"สารจากท้าวสักกะ" (Thagya Shwe Pe Hlwa)[19] ไปยังชาวมอญหงสาวดี ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2299 ใจความว่า เจ้าพม่าพระองค์ใหม่นี้มีบุญญาธิการมาก ตามพุทธทำนาย เจ้าพม่าพระองค์ใหม่นี้จะได้เป็นอธิราชเป็นใหญ่เหนือดินแดนทั้งมวล ได้แก่ จีน ชมพูทวีป ฉาน มอญ และกรุงศรีอยุธยา แสดงว่าพระเจ้าอลองพญาทรงมีคติเกี่ยวกับความเป็นพระจักรพรรดิราช (Chakravartin) และมีความตั้งพระทัยที่อาจจะเข้าพิชิตกรุงศรีอยุธยาในอนาคต และพระเจ้าอลองพญายังทรงประกาศว่าพระองค์นั้นเปรียบเสมือเป็นท้าวสักกะ คือเป็นองค์พุทธศาสนานูปถัมภก ชาวมอญหงสาวดีควรออกมาสวามิภักดิ์เสีย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของราษฎร ทรงเปรียบพระองค์เองเป็นครุฑและเปรียบกษัตริย์มอญเป็นนาค[19]

ในเอกสารที่ติดต่อกับอังกฤษ พระเจ้าอลองพญาพระยาทรงใช้พระนามว่า พระเจ้าอลองเมงตารา (Alaungmintaya) พระเจ้ากรุงสุนาปรันตะ (Thunaparanta) กรุงตามพะทีป กรุงกัมโพชา และเมืองอื่นๆ เป็นเจ้าบ่อเงินบ่อทองบ่อแก้ว เป็นพระเจ้าช้างเผือกเจ้าพระยาฉัททันต์ ผู้ครอบครองหอกอรินทมะ เป็นสุริยวงศ์ เป็นเจ้าขัณฑสีมากรุงรัตนปุระอังวะและกรุงอยุชฌปุระรัตนสิงห์[19]

พระเจ้าอลองพญาเสด็จเมืองร่างกุ้ง

[แก้]
เจดีย์ชเวดากองที่เมืองย่างกุ้ง เป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของพม่า พระเจ้าอลองพญาเสด็จลงมาบำเพ็ญกุศลที่เจดีย์ชเวดากอง ในปีพ.ศ. 2302 ก่อนที่จะโจมตีกรุงศรีอยุธยา

หลังจากที่พระเจ้าอลองพญาเสด็จกลับจากศึกมณีปุระมาที่กรุงรัตนสิงห์แล้ว พระเจ้าอลองพญาจึงเสด็จลงมาพร้อมทั้งพระมเหสีและพระราชวงศ์ ลงมาบำเพ็ญกุศลสร้างศาลาถวายแด่เจดีย์ชเวดากองเมืองร่างกุ้ง แต่ในการเสด็จลงมาเมืองร่างกุ้งครั้งนี้ พระเจ้าอลองพญาให้จัดทัพขนาดมหึมาลงมาด้วย อาจเป็นเพราะว่าพระเจ้าอลองพญาทรงไม่ไว้วางพระทัยสถานการณ์ในพม่าตอนล่าง[7] เกรงว่าชาวมอญจะขบถขึ้นมาอีกครั้ง หรือพระเจ้าอลองพญาอาจจะทรงตั้งพระทัยยกทัพไปทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น โจมตีกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอลองพญามีพระราชโองการให้พระโอรสองค์คือ เจ้าชายศรีสุธรรมราชา (Thiri Thudamayaza) หรือเจ้าชายมังลอกอุปราช (Maung Hlauk) อายุ 24 ชันษา ให้อยู่รักษาเมืองชเวโบรัตนสิงห์ จากนั้นพระเจ้าอลองพญาจึงทรงเกณฑ์ไพร่พลพม่าจัดทัพยกลงมายังเมืองร่างกุ้ง;[7]

  • เจ้าชายศิริธรรมราชา (Thiri Damayaza) หรือเจ้าชายมังระ (Maung Ywa) ราชบุตรองค์รอง อายุ 23 ชันษา คุมทัพหน้าจำนวน 10,000 คน พร้อมเรืออีก 300 ลำ
  • พระเจ้าอลองพญาทรงคุมทัพหลวง จำนวน 24,000 คน เรืออีก 600 ลำ พร้อมทั้งพลปืนชาวฝรั่งโปรตุเกส
  • ทัพหลังประกอบด้วย;
    • เจ้าชายสะโดมังหลาจอ (Thado Minhla Kyaw) หรือเจ้าชายมังโป (Maung Po) ผู้ครองเมืองอาเมียง โอรสของพระเจ้าอลองพญา อายุ 16 ชันษา คุมทัพจำนวน 5,500 คน เรือ 100 ลำ
    • เจ้าชายสะโดเมงสอ (Thado Minsaw) หรือเจ้าชายมังเวง (Maung Waing) ผู้ครองเมืองปดุง โอรสของพระเจ้าอลองพญา อายุ 14 ชันษา ต่อมาคือพระเจ้าปดุง คุมทัพจำนวน 5,500 คน เรือ 100 ลำ

รวมทัพชาวพม่าจำนวนทั้งสิ้น 44,000 คน ประชุมทัพที่เมืองจอกมอง (Kyaukmyaung)[7] ริมแม่น้ำอิระวดีทางตะวันออกของเมืองชเวโบ นอกจากนี้ พระเจ้าอลองพญายังทรงให้เกณฑ์ทัพชาวไทใหญ่จากเมืองตีลิน (Htilin) เมืองยอ (Yaw ปัจจุบันเรียกว่า Gangaw) เมืองสองสบ (Hsawnghsup หรือ Thaungdut) เมืองกะเล (Kale) เมืองยาง (Mohnyin) เมืองก้อง (Mogaung) เมืองบ้านหม้อ (Bhamo) เมืองมีต (Momeik) เมืองสีป้อ (Thibaw) เมืองยองห้วย (Yawnghwe) เมืองนาย (Mone) และเมืองปาย (Mobye) เป็นทัพไทใหญ่จำนวนทั้งสิ้น 25,000 คน ยกลงมาทางเมืองตองอูอีกทัพหนึ่ง[7] รวมกับทัพพม่าข้างต้น เป็นจำนวนทั้งสิ้น 69,000 คน

หลังจากที่เสด็จออกจากเมืองรัตนสิงห์แล้วนั้น พระเจ้าอลองพญาพร้อมทั้งพระโอรส พระมเหสี และพระราชวงศ์ เสด็จยกทัพออกจากเมืองจอกมองที่ประชุมทัพเมื่อวันแรมสิบค่ำเดือนแปด[7] (19 กรกฎาคม พ.ศ. 2302) พระเจ้าอลองพญาประทับที่เมืองร่างกุ้ง ทรงสร้างศาลาถวายแด่เจดีย์ชเวดากองและยังทรงปิดทองเจดีย์ใหม่ทั้งหมด ทรงประกอบพิธิบำเพ็ญกุศลที่เจดีย์ชเวดากองอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น พระนางยู่นซานพระมเหสีของพระเจ้าอลองพญายังเสด็จไปนมัสการพระธาตุเจดีย์ชเวมอดอที่เมืองหงสาวดี และเจ้านายพม่าองค์อื่นได้เสด็จไปนมัสการเจดีย์ไจขอก (Kyaikkhauk) ที่เมืองสิเรียมด้วย[7]

อยุธยาช่วยเหลือมอญ

[แก้]

นับตั้งแต่ที่สมเด็จพระนเรศวรฯทรงประกาศอิสรภาพจากพม่าในพ.ศ. 2127 กรุงศรีอยุธยาได้เป็นที่พึ่งพักพิงหลบภัยให้แก่ชาวมอญจากพม่าตอนล่าง ซึ่งก่อกบฏต่อต้านการปกครองพม่าไม่สำเร็จถูกพม่าลงโทษ ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรฯพระราชทานให้ชาวมอญอพยพ ซึ่งอพยพเข้ามายังสยามในหลายระลอกเป็นจำนวนหลายพันคน ในพ.ศ. 2127 พ.ศ. 2138 และพ.ศ. 2143[31] ให้ตั้งถิ่นฐานที่บริเวณโดยรอบกรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาส่งเสริมและช่วยเหลือให้ชาวมอญกบฏขึ้นต่อพม่า เพื่อลดทอนอำนาจของพม่า ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมื่อพม่าเกณฑ์ชาวมอญเมืองเมาะตะมะไปสู้รบกับจีนในพ.ศ. 2204 ชาวมอญไม่พอใจจึงก่อการกบฏขึ้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งทัพกรุงศรีอยุธยาไปตีเมืองเมาะตะมะได้ชาวมอญมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่สามโคกปทุมธานี ปากเกร็ด และนนทบุรี[31] ชาวสยามและชาวมอญถึงแม้ว่าจะมีภาษาที่แตกต่างกันแต่มีวัฒนธรรมและศาสนาที่ใกล้เคียงกัน[31] ประกอบกับการแต่งงานกันระว่างชาวสยามและชาวมอญที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับ สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไปชาวมอญเหล่านั้นจึงถูกหลอมรวมเข้ากับสังคมสยามในที่สุด ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ชาวมอญเริ่มอพยพเข้ามากรุงศรีอยุธยาครั้งแรกในพ.ศ. 2289 เมื่อสมิงทอกษัตริย์หงสาวดีถูกโค่นล้มอำนาจ ทำให้ขุนนางมอญที่จงรักภักดีต่อสมิงทอได้แก่ พระยาพระราม พระยากลางเมือง พระยาน้อยวันดี อพยพพาชาวมอญในสังกัดเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพระราชทานให้ชาวมอญกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานที่โพธิ์สามต้นทางเหนือของกรุงศรีอยุธยา[9][31]

พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงส่งคณะทูตไปยังกรุงอังวะในพ.ศ. 2287 เพื่อพระราชทานตัวเจ้าเมืองเมาะตะมะและเจ้าเมืองทวายคืนให้แก่กษัตริย์พม่า และอาจเพื่อสังเกตสถานการณ์สงครามระหว่างพม่าและมอญ หลังจากที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงปล่อยตัวสมิงทอออกไปเมืองจีนในพ.ศ. 2290 ไม่ปรากฏว่าราชสำนักกรุงศรีอยุธยายังคงติดตามเหตุการณ์ในพม่าต่อไปหรือไม่ เมื่อกรุงหงสาวดีเสียให้แก่พระเจ้าอลองพญาในพ.ศ. 2300 ไม่ปรากฏว่ากรุงศรีอยุธยาจะมีท่าทีประการใดหรือมีนโยบายต่อการเรืองอำนาจขึ้นของพระเจ้าอลองพญาอย่างไร ในพ.ศ. 2301 ชาวมอญเป็นกบฏขึ้นต่อพระเจ้าอลองพญา ฝ่ายพม่าปราบกบฏมอญลงได้สำเร็จ ทำให้มีชาวมอญจำนวนหนึ่งโดยสารเรือฝรั่งเศสเข้ามาลี้ภัยที่เมืองมะริดเมืองท่าของสยาม[8] เมื่อพระเจ้าอลองพญาเสด็จยกทัพลงมาพม่าตอนล่างเพื่อบำเพ็ญกุศลที่เจดีย์ชเวดากองในช่วงกลางปีพ.ศ. 2302 ซึ่งเป็นการเสด็จหัวเมืองมอญครั้งแรกนับตั้งแต่ที่มีการกบฏของมอญ ทำให้พระเจ้าอลองพญาทรงทราบว่ามีกบฏมอญได้หลบหนีไปยังสยาม พระเจ้าอลองพญาทรงกังวลกับกบฏมอญที่หลั่งไหลเข้าไปสู่ดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของอยุธยาอย่างไม่ขาดสาย โดยทรงเชื่อว่าพวกมอญมักจะเตรียมวางแผนก่อกบฏและพยายามชิงเอาพม่าตอนล่างกลับคืนไปเป็นของตน[32] ความกังวลของพระองค์นั้นถูกพิสูจน์แล้วว่าสมเหตุสมผล มอญได้ก่อกบฏขึ้นหลายครั้งในปี พ.ศ. 2301, 2305, 2317, 2326, 2335 และ 2367-69 ซึ่งการกบฏแต่ละครั้งที่ล้มเหลวนั้นจะตามมาด้วยการหลบหนีของมอญเข้าไปยังอาณาจักรของไทย[33]

เมื่อกบฏมอญถูกปราบลงในพ.ศ. 2301 มีชาวมอญบางกลุ่มได้โดยสารเรือสินค้าของฝรั่งเศส เพื่อหลบหนีไปยังเมืองปอนดีเชอร์รีของฝรั่งเศสในอินเดีย แต่คลื่นลมพัดจึงจำต้องมาขึ้นท่าที่เมืองมะริด[8] เมืองท่าของสยาม คำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า เรือฝรั่งเศสลำนี้ถูกทางการเมืองมะริดจับกุมเนื่องจากทำผิดสัญญาการค้าบางประการ[17] เมืองมะริดมีใบบอกเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชโองการให้ริบสินค้าและจับกุมลูกเรือฝรั่งเศสลำนั้นไว้เนื่องจากทำผิดสัญญาการค้า บรรดาข้าราชการได้ทูลทัดทานว่าไม่สมควรที่จะกุมขังลูกเรือชาวพม่า (ชาวมอญ?) เหล่านั้นไว้ จะเสียทางพระราชไมตรี[17] แต่พระเจ้าเอกทัศน์ยังคงยืนยันตามพระราชโองการ ฝ่ายพระเจ้าอลองพญา ซึ่งกำลังบำเพ็ญกุศลอยู่ที่เมืองร่างกุ้งในกลางปีพ.ศ. 2302 นั้น ได้กิตติศัพท์ว่าฝ่ายเมืองมะริดกรุงศรีอยุธยาได้รับตัวกบฏมอญที่ลงเรือฝรั่งเศสหนีไปไว้ จึงทรงส่งข้าหลวงนำพระราชสาส์นถึงพระเจ้ากรุงทวารวดีศรีอยุธยาทางเมืองมะริด[19]ว่าเรือฝรั่งเศสลำนั้นเป็นเรือหลวงของพระเจ้าอลองพญา ขอให้กรุงศรีอยุธยาส่งเรือและลูกเรือเหล่านั้นกลับคืนให้แก่พระเจ้าอลองพญา มิฉะนั้นจะถือว่าผิดพระราชไมตรีจำต้องมีสงครามเกิดขึ้นแก่กัน พระเจ้าเอกทัศน์กษัตริย์สยามยังคงทรงยืนยันที่จะยึดเรือและคุมตัวลูกเรือเหล่านั้นไว้ ฝ่ายกรมการเมืองมะริดตอบว่าหากพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาไม่มีพระราชานุญาตก็ไม่สามารถส่งกลับคืนให้แก่ทางพม่าได้[19] ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญาทรงทราบข่าวว่ากองกำลังของสยามได้ตามขึ้นมายึดเรือหลวงเรือสินค้าของพระเจ้าอลองพญาถึงเมืองทวาย[7] เป็นเหตุให้พระเจ้าอลองพญาพิโรธและตัดสินพระทัยยกทัพเข้าโจมตีสยามกรุงศรีอยุธยา ท่าทีของกรุงศรีอยุธยาทำให้ฝ่ายพม่าตีความว่าสยามให้ความช่วยเหลือแก่มอญ แต่สยามกรุงศรีอยุธยาไม่เคยให้กองกำลังหรืออาวุธสนับสนุนแก่กบฏมอญในสมัยของพระเจ้าอลองพญา เพียงแต่ต้อนรับชาวมอญอพยพให้เข้ามาลี้ภัยเท่านั้น ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาอาจไม่ทราบและไม่เข้าใจว่าเหตุใดพระเจ้าอลองพญาจึงมีพระประสงค์ที่จะนำเรือคืนไป

ขณะที่นักประวัติศาสตร์มีความเห็นโดยทั่วไปว่าการสนับสนุนของอยุธยาต่อกบฏมอญ และการปล้นสะดมข้ามพรมแดนของมอญนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุของสงคราม แต่ยังไม่มีข้อสรุปถึงแรงจูงใจที่ลึกลับกว่านั้น นักประวัติศาสตร์พม่าสมัยอาณานิคมอังกฤษบางคนลงความเห็นว่าสาเหตุที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น และได้เสนอว่าสาเหตุหลักของสงคราม คือ ความปรารถนาของพระเจ้าอลองพญาที่จะฟื้นฟูจักรวรรดิของพระเจ้าบุเรงนองขึ้นอีกครั้ง ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมถึงอาณาจักรอยุธยาด้วย[34][35] เดวิด ไวอัท นักประวัติศาสตร์ไทย ยอมรับว่าพระเจ้าอลองพญาอาจทรงกลัวการสนับสนุนการฟื้นฟูอาณาจักรหงสาวดีของอยุธยา แต่ได้เสริมว่าพระเจ้าอลองพญานั้นชัดเจนว่าออกจะเป็นชาวชนบทดิบซึ่งมีประสบการณ์ทางการทูตน้อยมาก จึงได้เพียงสานต่อสิ่งต่อพระองค์ได้ทรงแสดงออกมาให้เห็นแล้วว่าพระองค์ทำได้ดีที่สุด ซึ่งก็คือการนำกองทัพไปสู่สงคราม[36]

แต่นักประวัติศาสตร์พม่า หม่อง ทินอ่อง กล่าวว่าวิเคราะห์ของพวกเขานั้นบรรยายไม่หมดถึงความกังวลที่แท้จริงของพระเจ้าอลองพญาที่ว่าอำนาจของพระองค์นั้นเพิ่งจะเริ่มสถาปนาขึ้น และพระราชอำนาจในพม่าตอนล่างนั้นยังไม่มั่นคง และพระเจ้าอลองพญาไม่ทรงเคยรุกรานรัฐยะไข่ เนื่องจากชาวยะไข่ไม่เคยแสดงความเป็นปรปักษ์ และเมืองตานด่วยในรัฐยะไข่ตอนใต้ได้เคยถวายเครื่องราชบรรณาการในปี พ.ศ. 2298[37] ถั่น มินอู ยังได้ชี้ให้เห็นว่านโยบายที่มีมาอย่างยาวนานของอยุธยาในการรักษารัฐกันชนกับพม่าศัตรูเก่า ได้กินเวลามาจนถึงสมัยใหม่ซึ่งครอบครัวของชาวพม่าผู้ต่อต้านรัฐบาลได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทย และกองทัพต่อต้านรัฐบาลยังสามารถซื้ออาวุธ เครื่องกระสุน และยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย[38]

นักประวัติศาสตร์ตะวันตกในสมัยหลังได้ให้มุมมองที่ค่อนข้างเป็นกลางกว่า ดี.จี.อี. ฮอลล์ เขียนว่า การปล้นสะดมเป็นนิจโดยอยุธยาและกบฏมอญนั้นเพียงอย่างเดียวก็พอที่จะเป็นชนวนเหตุของสงครามได้ ถึงแม้เขาจะเสริมว่าสำหรับพระมหากษัตริย์ผู้ทรงไม่สามารถที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้[39] สไตน์แบร์กและคณะสรุปว่าชนวนเหตุของสงครามเป็นผลมาจากการกบฏท้องถิ่นในทวาย ซึ่งอยุธยาถูกคาดว่าเข้าไปมีส่วนพัวพัน[40] และล่าสุด เฮเลนส์ เจมส์ เขียนว่า พระเจ้าอลองพญาทรงต้องการที่จะยึดครองการค้าระหว่างคาบสมุทรของอยุธยา ขณะที่ยอมรับว่าเหตุจูงใจรองนั้นเป็นเพื่อหยุดยั้งการโจมตีของอยุธยา และการให้การสนับสนุนพวกมอญของอยุธยา[5]

การเตรียมการฝ่ายพม่า

[แก้]

เมื่อพระเจ้าอลองพญาทรงตัดสินพระทัยที่จะยกทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยานั้น บรรดาข้าราชการและโหรหลวงต่างทูลทัดทานว่า ศึกโจมตีกรุงศรีอยุธยาในครั้งนี้ ฤกษ์ยามไม่เป็นมงคล ศึกครั้งนี้จะต้องปราชัยและอาจทรงพระประชวรในศึกนี้ได้[7] แต่พระเจ้าอลองพญายังทรงยืนกรานที่จะยกทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอลองพญามีพระราชโองการให้พระโอรสสององค์ได้แก่ เจ้าชายอาเมียงและเจ้าชายปดุง ซึ่งคุมทัพหลังอยู่นั้น ให้คุมทัพนำพระมเหสีและพระราชวงศ์เสด็จกลับไปยังเมืองรัตนสิงห์ชเวโบเสียก่อน[7] แล้วฝ่ายพม่าเองจึงได้เตรียมระดมพลกองทัพรุกราน โดยเริ่มจากการเฉลิมฉลองปีใหม่เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2302 โดยรวบรวมทหารจากพม่าตอนบนทั้งหมด รวมทั้งจากรัฐฉานและมณีปุระที่อยู่ทางเหนือซึ่งเพิ่งจะถูกยึดครองไปเมื่อไม่นานมานี้ด้วย จนถึงปลายปี พ.ศ. 2302 พระเจ้าอลองพญาทรงสามารถระดมพลได้มากถึง 40 กรมทหาร (ทหารราบ 40,000 นาย และทหารม้า 3,000 นาย) ที่ย่างกุ้ง ซึ่งจากทหารม้าทั้งหมด 3,000 นายนี้ เป็นทหารม้ามณีปุระเสีย 2,000 นาย ซึ่งเพิ่งจะถูกจัดเข้าสู่ราชการของพระเจ้าอลองพญาหลังจากมณีปุระถูกพม่ายึดครองเมื่อปี พ.ศ. 2301[5][41]

พระเจ้าอลองพญาทรงเป็นผู้นำทัพด้วยพระองค์เอง โดยมีพระราชบุตรองค์ที่สอง เจ้าชายมังระ เป็นรองแม่ทัพใหญ่ ส่วนเจ้าชายมังลอก พระราชบุตรองค์โต พระองค์ทรงให้บริหารประเทศต่อไป ส่วนพระราชโอรสที่เหลือนั้นนำทหารราวหนึ่งกองพันทั้งสองพระองค์[42] นอกจากนี้ที่ติดตามกองทัพไปด้วยนั้นยังมีแม่ทัพยอดฝีมือ ซึ่งรวมไปถึงมังฆ้องนรธา ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ทางทหารอย่างมาก บางคนในราชสำนักสนับสนุนให้เขาผู้นี้อยู่ข้างหลังและมังระนำปฏิบัติการแทน แต่พระเจ้าอลองพญาทรงปฏิเสธ[43]

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2302 พระเจ้าอลองพญาซึ่งประทับอยู่ที่เมืองร่างกุ้งนั้น ทรงริเริ่มวางแผนในการยกทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งโจมตีล้านนาเมืองเชียงใหม่และลำพูน โดยให้แม่ทัพมังหลาราชา (Minhla Yaza) ยกทัพกองหน้าจำนวน 1,000 คน และให้ปะกันจี สิธูนรธา (Sithu Nawyatha Pakhan Gyi) และเสือหาญฟ้า (Tho Han Bwa) เจ้าฟ้าไทใหญ่เมืองยอ ยกทัพกองหน้าตามออกไปอีก 1,000 คน[19] ล่วงหน้าจากเมืองร่างกุ้งออกไปเมืองเมาะตะมะก่อนในเดือนพฤศจิกายน ส่วนพระเจ้าอลองพญาจะเสด็จยกทัพหลวงออกไปในเดือนธันวาคม ในระหว่างที่เตรียมทัพเพื่อโจมตีกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น พระเจ้าอลองพญาได้ส่งนายอันโตนิโอชาวโปรตุเกส ผู้เป็นที่พระยาพะสิม ให้นำกองกำลังพม่าไปทำการสังหารหมู่ชาวอังกฤษที่เมืองเนกรายในเดือนตุลาคม ต่อมาในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2302[19] พระเจ้าอลองพญามีประกาศพระราชโองการสอนสั่งให้นายทหารพม่าทั้งมวลใช้ปืนคาบศิลาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ และต่อมาในวันที่ 9 ธันวาคม พระเจ้าอลองพญามีพระราชโองการไปยังท้าวไชยจักร (Daw Zweyaset) ขุนนางชาวมอญซึ่งพระเจ้าอลองพญาได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ ในตำแหน่งพญาทะละ (Binnya Dala) ตั้งแต่ที่ได้เมืองเมาะตะมะในพ.ศ. 2300 นั้น ให้เตรียมทัพมอญเมืองเมาะตะมะและเก็บสะสมเสบียงไว้เตรียมการสำหรับการศึกกรุงศรีอยุธยา[19] ฝ่ายพม่าได้รวบรวมกองทัพเรือที่มีเรือกว่า 300 ลำ เพื่อขนส่งทหารบางส่วนไปยังชายฝั่งตะนาวศรีโดยตรง[41] และเนื่องจากพระเจ้าอลองพญาได้ทรงยุติความสัมพันธ์กับอังกฤษไปในเหตุการณ์เมืองเนกราย พระเจ้าอลองพญามีพระประสงค์ที่จะซื้อปืนคาบศิลาจากฝรั่งเศส จึงมีราชสาสน์ออกมาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2302[19] ไปยังโธมัส อาร์เธอร์ (Thomas Arthur) เจ้าเมืองปอนดิเชอรีของฝรั่งเศส ขอให้ฝรั่งเศสกลับมาค้าขายที่พม่าตามเดิมฟื้นฟูความสัมพันธ์ แต่ทว่าในขณะนั้นนายโธมัสและเมืองปอนดิเชอรีกำลังทำสงครามกับอังกฤษอย่างแข็งขันจึงยังไม่ตอบรับราชสาสน์ของพระเจ้าอลองพญา

พม่าพิชิตทวายมะริดตะนาวศรี

[แก้]

พม่าพิชิตทวาย

[แก้]

พระเจ้าอลองพญาพร้อมทั้งเจ้าชายมังระราชบุตร เสด็จยกทัพหลวงออกจากเมืองร่างกุ้ง ในวันขึ้นสามค่ำเดือนยี่[7] (21 ธันวาคม พ.ศ. 2302) พงศาวดารไทยระบุว่า ทัพของพระเจ้าอลองพญาครั้งนี้มีจำนวนประมาณ 30,000 คนเศษ[9] พระเจ้าอลองพญาเสด็จยกพยุหยาตราทัพเรือหลวงจากเมืองย่างกุ้งทางแม่น้ำพะโคจนถึงเมืองหงสาวดี แล้วเสด็จทางสถลมารคไปยังเมืองเมาะตะมะ ที่เมืองเมาะตะมะ พระเจ้าอลองพญาทรงสงสัยว่าท้าวไชยจักรหรือพญาทะละเจ้าเมืองเมาะตะมะนั้น ได้วางแผนสมคบคิดกับตาละปั้น อดีตแม่ทัพมอญหงสาวดี ในการลุกฮือเพื่อปลดปล่อยชาวมอญจากการปกครองของพม่า[7] ตาละปั้นแม่ทัพหงสาวดีนั้น หลังจากที่ฝ่าวงล้อมพม่าออกมาจากเมืองหงสาวดีเมื่อพ.ศ. 2300 ได้เดินทางหลบหนีไปยังเมืองเชียงใหม่ จากนั้นตาละปั้นจึงเดินทางกลับมาซ่องสุมผู้คนที่หมู่บ้านคอกุน (Kawgun)[19] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียกว่า "กลีกกะละแม่คง" ซึ่งอยู่เหนือเมืองเมาะตะมะไปทางแม่น้ำสาละวิน เขตเมืองพะอันในรัฐกะเหรี่ยงปัจจุบัน พระเจ้าอลองพญาลงพระราชอาญาให้ประหารชีวิตท้าวไชยจักรเจ้าเมืองเมาะตะมะ แล้วพระเจ้าอลองพญาจึงทรงแต่งตั้งขุนนางชาวมอญอีกคนหนึ่งชื่อว่าท้าวตลุด (Daw Talut) เป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะคนใหม่[7]

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2303 ทัพหลวงของพม่าประชุมกันอยู่ที่พรมแดนในเมาะตะมะ แทนที่จะใช้เส้นทางปกติจากเมาะตะมะไปยังด่านเจดีย์สามองค์ พม่าเลือกที่จะรุกรานลงไปทางใต้ เนื่องจากพระเจ้าอลองพญาทรงต้องปราบปรามหัวเมืองทวายที่เป็นอิสระอยู่เสียก่อน โดยเจ้าชายมังระทรงนำทัพหน้าไป ซึ่งประกอบด้วยทหาร 6 กรม (ทหาร 5,000 นาย และม้า 500 ตัว) ไปยังทวาย[42] เจ้าชายมังระทรงให้มังหลาราชา สิธูนรธา และเจ้าฟ้าเสือหาญฟ้าเมืองยอ ยกทัพหน้า 2,000 คน เข้าโจมตีเมืองทวาย เมืองทวายซึ่งเป็นนครรัฐอิสระมาตั้งแต่พ.ศ. 2295 เป็นเวลาเจ็ดปี จึงเสียให้แก่พระเจ้าอลองพญาในที่สุด ในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2302 ทวายถูกยึดครองโดยง่ายดาย และเจ้าเมืองทวายได้ถูกประหารชีวิต[5] มีชาวทวายได้หลบหนีลี้ภัยไปยังเมืองมะริดของสยาม พระเจ้าอลองพญาซึ่งประทับอยู่ที่เมาะตะมะ ทรงทราบว่า ได้เมืองทวายแล้ว ในที่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2303[19]

พระเจ้าอลองพญามีพระราชโองการให้สร้างถนนทางเสด็จจากเมืองเมาะตะมะไปยังเมืองทวาย แล้วพระเจ้าอลองพญาจึงย้ายมาประทับที่เมืองทวาย มีพระราชโองการให้หยุดประชุมทัพที่เมืองทวาย เพื่อรอกองกำลังเสริมและเสบียงเพิ่มเติมจากร่างกุ้งและเมาะตะมะให้มาถึงอย่างทันท่วงที และมีพระราชโองการแต่งตั้งให้มังหลาราชา พงศาวดารไทยเรียกว่า แมงละราชา ให้เป็นแม่ทัพใหญ่กองหน้าแต่ผู้เดียว[19] และให้เกณฑ์ชาวเมืองทวายเข้าทัพด้วย

การเตรียมทัพของฝ่ายสยาม

[แก้]

ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญาทรงส่งข้าหลวงพม่าสองคนเป็นผู้นำราชสาส์นของพระเจ้าอลองพญามามอบให้แก่กรมการเมืองมะริดใจความว่า;[19]

  • เมื่อครั้งที่พระเจ้าอลองเมงตาราเสด็จออกทำศึกมณีปุระนั้น พวกตะเลงได้เป็นขบถขึ้นที่เมืองร่างกุ้ง มีฝรั่งฝรังคีบางผู้ได้ขโมยเรือหลวงจากเมืองร่างกุ้งแล้วแล่นมาที่เมืองมะริดตะนาวศรี เมื่อพระเจ้าอลองเมงตาราร้องขอให้กรมการเมืองมะริดคืนเรือนั้นให้แก่พระเจ้าอลองเมงตารา กรมการเมืองมะริดกลับตอบว่าจะต้องมีพระราชานุญาตจากพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสียก่อน เพราะฉะนั้น ขอให้พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจงอย่ายึดทรัพย์สมบัติของกษัตริย์พระองค์อื่นไว้ จงยินยอมมอบเรือหลวงของพระเจ้าอลองเมงตาราคืนให้โดยทันที
  • เมื่อข้าขัณฑสีมาได้หลบหนีไปต่างเมือง เป็นธรรมเนียมว่าพระเจ้ากรุงกษัตริย์แห่งเมืองนั้น จักต้องส่งข้าขัณฑสีมาเหล่านั้นคืนให้แก่เจ้าขัณฑสีมาเดิม หากพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาไม่ทรงคืนชาวพม่าชาวมอญและชาวทวายที่เมืองมะริดตะนาวศรีคืนให้แก่พระเจ้าอลองเมงตาราโดยเร็ว ก็จงยกทัพออกมาสัประยุทธตามราชประเพณี

ฝ่ายสยามกรมการเมืองมะริดนั้นนิ่งเฉย ไม่มีท่าทีตอบโต้คำร้องขอของพระเจ้าอลองพญาแต่ประการใด พระเจ้าอลองพญามีพระราชสาส์นมาถึงกรมการเมืองมะริดอีกครั้งในวันที่ 19 มกราคม ว่าให้ส่งตัวชาวทวายคืนให้แก่พระเจ้าอลองพญา ทางเมืองมะริดตะนาวศรียังคงนิ่งเฉยเช่นเดิม ส่วนกรมการเมืองตะนาวศรีมีใบบอกเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา แจ้งว่าเจ้าพม่าชื่อว่า"มังลอง" ยกทัพพม่ามาจำนวนประมาณ 30,000 คน ยกมาตีได้เมืองทวายแล้ว กำลังจะยกลงมาโจมตีเมืองมะริด[9] ม้าเร็วมากราบทูลว่า พม่ายกมาทั้งทางมะริด (ด่านสิงขร) ทางท่ากระดาน (เจดีย์สามองค์) และทางเชียงใหม่ ทั้งที่ในความจริงพม่ายกมาทางเมื่องมะริดทางเดียว พระเจ้าเอกทัศน์ทรงตกพระทัย มิได้มีพระวิจารณญาณจึงมีพระราชโองการให้จัดทัพออกไปรับทัพพม่าทั้งสามทาง;

  • พระยาอภัยราชา (คนใหม่) พระยาราชสงคราม ยกทัพ 8,000 คน ไปตั้งรับพม่าจากเชียงใหม่
  • พระยาอภัยมนตรี ยกทัพจำนวน 10,000 คน ไปตั้งรับพม่าทางท่ากระดานด่านเจดีย์สามองค์
  • เจ้าพระยาพระคลัง[17]ผู้ว่าที่สมุหนายก พร้อมทั้งพระยาสีหราชเดโช และพระยาราชวังสัน ยกทัพ 14,000 คน ไปตั้งรับพม่าทางแก่งตุ่มด่านสิงขร
  • เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ยกทัพ 14,000 คน ตั้งรอรับทัพพม่าที่ราชบุรี[17]

ต่อมาเมื่อพระเจ้าเอกทัศน์ทรงทราบว่า พม่ายกมาทางเมืองมะริดด่านสิงขรมากที่สุด จึงมีพระราชโองการให้จัดเกณฑ์ทัพเสริมเข้าตั้งรับการรุกรานของพม่าจากทางด่านสิงขร;

  • กองทัพที่ 1: ขณะนั้นพระยายมราชเป็นโทษจำคุกอยู่จากเหตุการณ์กบฏของกรมหมื่นเทพพิพิธในพ.ศ. 2301 พระเจ้าเอกทัศน์จึงทรงแต่งตั้งให้พระยาอินทราบดีสีหราชรองเมือง ขึ้นเป็นพระยายมราชเสนาบดีนครบาลคนใหม่ ทรงให้พระยายมราชคนใหม่เป็นแม่ทัพ นำทัพจำนวน 3,000 คนเศษ
    • พระยาเพชรบุรีเจ้าเมืองเพชรบุรีเป็นโทษจากเหตุการณ์กบฏกรมหมื่นเทพพิพิธ พระเจ้าเอกทัศน์ทรงให้พระยาเพชรบุรีคนใหม่ คือ พระยาเพชรบุรี (เรือง) เป็นทัพหน้าของพระยายมราช
    • พระยาราชบุรีเป็นยกกระบัตรทัพ พระสมุทรสงครามเป็นเกียกกายทัพ พระธนบุรีและพระนนทบุรีเป็นทัพหลัง
  • กองทัพที่ 2: พระยารัตนาธิเบศร์ ผู้ว่าที่ธรรมาธิกรณ์กรมวัง เป็นแม่ทัพอีกทัพหนึ่งคุมกำลังพล 2,000 คนเศษ
    • พระยาสีหราชเดโช และพระยาราชวังสัน เป็นทัพหน้า
    • ท้าวพระยากรมอาสาหกเหล่า เป็นเกียกกายทัพและเป็นทัพหลัง
    • ขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษชัยชาญ อาสานำกำลังไพร่ 400 คนเศษ เป็นกองอาตมาท เข้าร่วมกับกองของพระยารัตนาธิเบศร์

พม่าพิชิตมะริดและตะนาวศรี

[แก้]

หลังจากที่ทัพพม่ามาประชุมกันที่เมืองทวายพร้อมสรรพแล้วนั้น พระเจ้าอลองพญามีพระราชโองการให้เจ้าชายมังระราชบุตร ยกทัพพน้าจำนวน 5,000 คน พร้อมทั้งมังฆ้องนรธายกทัพจำนวน 3,000 คน เป็นทัพหนุน เข้าโจมตีและล้อมเมืองมะริด ฝ่ายกรมการเมืองมะริดมีกำลังน้อย สู้รบกับพม่าอยู่เป็นเวลาถึงสิบห้าวัน[17]แต่ไม่สามารถต้านทานทัพพม่าได้ แม่ทัพพม่าแมงละราชาจึงสามารถตีหักเอาเมืองมะริดได้สำเร็จในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2303 และทัพพม่าใช้เวลาเดินทัพเพียงสองวันถึงเมืองตะนาวศรี เข้ายึดเมืองตะนาวศรีได้อีกเมืองหนึ่ง ราษฎรกรมการเมืองมะริดตะนาวศรีแตกหนีเข้ามา[9]ทางด่านสิงขร หลังจากสงครามเริ่มต้นขึ้นเพียงสองอาทิตย์เท่านั้น พม่าสามารถยึดครองทั้งมะริดและเมืองทวาย และสามารถควบคุมชายฝั่งตะนาวศรีทั้งหมดได้สำเร็จ[42]

การรบที่แก่งตุ่ม

[แก้]

พระเจ้าอลองพญาประกาศสงคราม

[แก้]

เมือสามารถพิชิตทวายมะริดตะนาวศรีได้ทั้งหมดแล้ว พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่า ซึ่งประทับอยู่ที่เมืองทวายนั้น มีหมายรับสั่งถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา คือ พระเจ้าเอกทัศน์ ใจความว่า;[19]

สารถึงพระเจ้ากรุงทวารวดี ด้วยเหตุที่พระเจ้าอลองเมงตาราเสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลที่เขาสิงห์โคตย์ (Thein Gottaya) พระเจ้าอลองเมงตาราทรงตรวจตราท่าเรือลูกค้าวาณิชย์ตามแต่ปกติวิสัย มีผู้กราบทูลว่าเรือหลวงลำหนึ่งมีผู้ลักไปไว้ที่เมืองมะริด พระเจ้าอลองเมงตาราทรงส่งข้าหลวงไปทวงเรือหลวงที่ถูกลักไปนั้น แต่กรมการเมืองมะริดนั้นเบียดบังไว้ด้วยอ้างว่า ต้องมีพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้ากรุงทวารวดีเสียก่อน จึงจะถวายเรือหลวงลำนั้นคืนให้แก่พระเจ้าอลองพญาเมงตาราได้ บัดนั้นเมืองทวายเป็นกบฏ พระเจ้าอลองเมงตาราทรงปราบกบฎและลงพระราชอาญาแก่พระยาทวายจนถึงสิ้นชีวิต ชาวทวายข้าขัณฑสีมาคร้ามแก่พระเดชานุภาพแตกหนีไปเมืองมะริดตะนาวศรี พระเจ้าอลองเมงตารามีพระราชสาสน์ให้กรมการเมืองมะริดยกข้าขัณฑสีมาทวายคืนแก่พระเจ้าอลองเมงตารา แต่กรมการเมืองมะริดกลับนิ่งเสีย พระเจ้าอลองเมงตาราจึงเสด็จพยุหยาตราถึงเมืองมะริดเมืองตะนาว ไม่พบเรือหลวงที่ลักไปนั้น พระเจ้าอลองเมงตาราจึงเสด็จติดตามเรือหลวงไปทางกรุงทวารวดี ขอพระเจ้ากรุงทวารวดีจงมาเข้าเฝ้าถวายบังคมพระเจ้าอลองเมงตาราที่ทางก่อนถึงกรุงทวารวดี

ต่อมาไม่นานพระเจ้าอลองพญาทรงล่วงรู้ความขัดแย้งทางการเมืองภายในกรุงศรีอยุธยา จึงมีหมายรับสั่งถึงพระเจ้าเอกทัศน์กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาออกมาอีกว่า;[19]

พระเจ้ากรุงทวารวดีมิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม กระทำมิชอบเป็นหลายประการต่อทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางเสนาบดีทั้งปวง พระเจ้าอลองพญาเมงตารา ผู้เป็นเอกองค์โพธิสัตว์หาผู้ใดเทียมในชมพูทวีป ตั้งพระทัยสอนสั่งราชธรรมให้แก่พระเจ้ากรุงทวารวดี ขอพระเจ้ากรุงทวารวดีจงเสด็จมาถวายบังคมประทับแทบพระบาทองค์เอกโพธิสัตว์พระองค์นี้ จักได้เรียนราชธรรมต่อไป

การรบที่แก่งตุ่ม

[แก้]

ทัพสยามกรุงศรีอยุธยายกมาไม่ทันช่วยเมืองมะริดตะนาวศรี ซึ่งเสียให่แก่พม่าแล้ว ทัพสยามจึงตั้งรับทัพพม่า

  • พระยายมราช ตั้งทัพที่แก่งตุ่ม ปลายน้ำตะนาวศรี[8] บริเวณด่านสิงขรในเขตแดนประเทศพม่าในปัจจุบัน
  • พระยารัตนาธิเบศร์ ตั้งทัพที่กุยบุรี

เมื่อทรงทราบว่าเมืองมะริดตะนาวศรีแตกเสียให้แก่พม่าแล้วนั้น พระเจ้าเอกทัศน์จึงมีพระราชโองการให้เจ้าเมืองหัวเมืองทั้งปวง นำกำลังหัวเมืองเข้ามาป้องกันกรุงศรีอยุธยา ทำให้บรรดาหัวเมืองขาดกำลังที่จะป้องกันตนเองจากการรุกรานของพม่า และยังมีพระราชโองการให้ราษฎรในหัวเมืองหลบหนีเข้าป่าอย่าให้ฝ่ายพม่าจับตัวได้[9] พระเจ้าอลองพญาเสด็จจากเมืองทวายมาถึงเมืองตะนาวศรี แล้วจึงมีพระราชโองการให้ทัพหน้านำโดยมังฆ้องนรธายกทัพหน้า จำนวน 20,000 คน[9] โดยมีแมงละราชาเป็นปลัดทัพ ยกเข้ามาทางด่านสิงขร ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2303 พบกับทัพของพระยายมราชที่แก่งตุ่ม นำไปสู่การรบที่แก่งตุ่ม ทัพของพระยายมราชมีกำลังเพียง 15,000 คน[9] พระยายมราชส่งพระยาสีหราชเดโชและพระยาราชวังสันเป็นทัพหน้า เข้าต้านทัพพม่า แต่ทัพฝ่ายสยามถูกฝ่ายพม่าตีแตกพ่าย ฝ่ายพม่านำโดยมังฆ้องนรธาได้รับชัยชนะ พระยายมราชจึงตัดสินใจแตกทัพถอยหนีกลับไปทางด่านสิงขร เปิดทางให้ทัพพม่าสามารถยกทัพเข้าสู่ฝั่งอ่าวสยามได้ในที่สุด

สงครามในอ่าวไทย

[แก้]

การรบที่หว้าขาว

[แก้]

หลังจากความชัยชนะของทัพพม่า นำโดยมังฆ้องนรธา หรือทัพสยามกรุงศรีอยุธยานำโดยพระยายมราช ในการรบที่แก่งตุ่ม ทัพสยามแตกพ่ายพระยายมราชจำต้องถอยร่นกลับมา เป็นเหตุให้ทัพพม่าสามารถเดินทางผ่านด่านสิงขรเข้ามายังชายฝั่งอ่าวสยามได้ในที่สุด ฝ่ายพระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งตั้งทัพอยู่ที่กุยบุรี เห็นความทัพพม่าผ่านด่านสิงขรเข้ามา จงมีคำสั่งให้ขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษไชยชาญซึ่งอาสาเข้าร่วมรบในครั้งนี้ คุมไพร่จำนวน 500 คน ออกไปตั้งรับทัพพม่า ที่ตำบลหว้าขาว (ตำบลบ่อนอก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์) เป็นชายหาดริมทะเล นำไปสู่การรบที่หว้าขาว ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2303 ทัพพม่ายกมาถึงในตอนเช้า ขุนรองปลัดชูนำไพร่ห้าร้อนคนเข้าต่อสู้กับพม่า รบันถึงขั้นตะลุมบอน ขุนรองปลัดชูถือดาบสองมือเข้าสู้กับพม่า รบตั้งแต่เวลาเช้าถึงเที่ยง แต่ทว่าฝ่ายขุนรองปลัดชูมีกำลังน้อยกว่าจึงพ่ายแพ้ ขุนรองปลัดชูล้มลงถูกพม่าจับกุมตัวได้ พม่านำช้างออกมาเหยียบทหารสยาม ทหารสยามหลบหนีออกสู่ทะเล จมน้ำทะเลไปเป็นจำนวนมาก เหลือรอดเพียงจำนวนน้อยกลับมารายงานพระยารัตนาธิเบศร์ พระยารัตนาธิเบศร์และพระยายมราชเห็นว่าสู้พม่าไม่ได้ จึงถอยทัพทั้งหวนกลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยา กราบทูลพระเจ้าเอกทัศน์ว่าพม่ายกมามากเหลือกำลังจึงพ่ายแพ้[9]

พม่ายึดเมืองกุยบุรีและเพชรบุรี

[แก้]

หลังจากที่ฝ่ายพม่าได้รับชัยชนะที่หว้าขาว และทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาได้ถอยร่นกลับไปแล้ว ทัพพม่าจึงสามารถรุกหน้าเข้าพิชิตยึดหัวเมืองริมทะเลอ่าวไทย ได้แก่ เมืองกุยบุรี เมืองปรานบุรี และเมืองเพชรบุรีได้อย่างรวดเร็ว โดยมีแมงละราชาเป็นแม่ทัพหน้า ซึ่งเมืองเหล่านี้ไม่ได้ต่อสู้ขัดขืนยอมแก่พม่าแต่โดยดี กองทัพพม่าใช้เวลาเดินทางริมอ่าวไทยหลายวัน เห็นชายหาดอยู่ทางขวาและภูเขาอยู่ทางซ้ายโดยตลอด พระเจ้าอลองพญาทรงประสบกับปัญหาแม่ทัพนายกองเมื่อเห็นว่าทัพฝ่ายสยามขาดประสิทธิภาพ จึงแก่งแย่งกันเป็นทัพแนวหน้าเพื่อให้ได้ความดีความชอบ[19] พระเจ้าอลองพญาต้องทรงมีหมายรับสั่งหลายครั้งเพื่อควบคุมบรรดาแม่ทัพนายกองแนวหน้าให้อยู่ในระเบียบ ไม่ให้ล้ำหน้าจนเกินไปมิฉะนั้นหากถูกทัพสยามโจมตีจะขาดจากการสนับนุนของทัพหลวง เมื่อทัพหลวงของพระเจ้าอลองพญากำลังโจมตีเมืองกุยบุรีอยู่นั้น มีทัพหน้าของพม่าบางส่วนยกเลยขึ้นไปถึงเมืองเพชรบุรีแล้ว เมืองกุยบุรีเสียให้แก่พม่าในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2303[19] พระเจ้าอลองพญาทรงมีหมายรับสั่งให้แมงละราชายกติดตามทัพสยามที่ล่าถอยในระยะที่สามารถพุ่งหอกได้ถึง[19]

พม่าสามารถยึดเมืองเพชรบุรีได้โดยปราศจากการต่อสู้ในประมาณวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2303[19] หลังจากนั้นสามวันพระเจ้าอลองพญาทรงมีประกาศหมายรับสั่งเป็นพระราชสาสน์ถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา โดยฝากให้แก่สามเณรเมืองเพชรบุรีใส่ชะลอมนำไปถวายแด่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ที่กรุงศรีอยุธยาใจความว่า;[19]

พระเจ้าอลองเมงตาราเอกกษัตริย์ราชาธิราช ผู้ถือหอกวิเศษอรินทม ผู้เป็นพระเจ้าช้างเผือก เป็นเอกองค์ศาสนูปถัมภก ผู้ลงพระราชอาญาแก่ปัจจามิตรทั้งปวง เป็นสุริยวงศ์ มีขัณฑสีมากอปรด้วยกรุงสุนาปรันตะ กรุงตามพะทีป กรุงกัมโพชา กรุงรามัญ กรุงมณีปุระ กรุงสารเขตต์ และกรุงอื่นๆ มีพระราชโองการถึงพระเจ้ากรุงทวารวดี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์และไพร่ฟ้าข้าขัณฑสีมาทั้งปวง ด้วยพระเดชานุภาพของพระเจ้าอลองเมงตารานั้นเป็นไปตามด้วยพระพุทธทำนาย หากผู้ใดหมายจะรักษาชีวิตทรัพย์สินศฤงคารไว้มิให้สูญสิ้นไปตามกรรม จงออกมาถวายบังคมต่อพระเจ้าอลองเมงตารา

พระเจ้าอลองพญาประทับอยู่ที่เมืองเพชรบุรี มีชาวเมืองเพชรบุรีกลุ่มหนึ่งเข้าปล้นเสบียงอาหารที่พม่าได้ยึดไว้ เป็นเหตุให้พระเจ้าอลองพญามีหมายรับสั่งตักเตือนชาวเมืองเพชรบุรี ว่าหากมีชาวเมืองเพชรบุรีเข้าปล้นเสบียงอาหารของพม่าอีก จะลงพระราชอาญาแก่ชาวเมืองเพชรบุรีจนสิ้นชีวิตทั้งหมดทั้งสิ้น[19]

การรบที่ราชบุรี

[แก้]

ทัพพม่าพักที่เมืองเพชรบุรีเป็นเวลาสามวัน หลังจากนั้นจึงยกทัพต่อไปยังเมืองราชบุรี พระเจ้าอลองพญาทรงตั้งทัพที่ตำบลบ้านหม้อ[7] (อำเภอโพธาราม) เป็นเวลาหนึ่งคืน แล้วจึงยกเข้าตีเมืองราชบุรีสามารถยึดเมืองราชบุรีได้สำเร็จในวันเดียวกัน หลังจากนั้นพม่าตั้งทัพที่บ้านหลวง แล้วเดินทัพไปทางเมืองสมุทรสงครามออกทางปากน้ำแม่กลอง ทัพหน้าของพม่านำโดยมังฆ้องนรธา ได้พบกับทัพกรุงศรีอยุธยานำโดยพระยาราชวังสัน จำนวน 20,000 คน[7] พงศาวดารพม่าระบุว่าในระยะแรกทัพพม่าของมังฆ้องนรธาเสียทีต่อทัพฝ่ายสยาม ทหารพม่าล้มตายจำนวนมาก จนกระทั่งเมื่อเจ้าชายมังระราชบุตรได้ยกทัพหลวงมาช่วยหนุน ช่วยเหลือมังฆ้องนรธา จนฝ่ายพม่ามีชัยชนะในที่สุด พระยาราชวังสันแม่ทัพสยามขี่ม้าหลบหนีไป เจ้าชายมังระศิริธรรมราชาจับเชลยชาวสยามได้ 2,000 คน ปืน 1,000 กระบอก และปืนใหญ่ขนาดเล็กอีก 180 กระบอก[7]

หลังจากที่ฝ่ายพม่ามีชัยชนะเหนือฝ่ายสยามที่ราชบุรีแล้ว ทัพฝ่ายพม่าจึงยกทัพเข้ายึดเมืองสุพรรณบุรีได้สำเร็จอีกเมืองหนึ่ง

การรบที่ตาลาน

[แก้]

พระเจ้าอุทุมพรเสด็จขึ้นบัญชาการ

[แก้]

เมื่อทัพพม่าของพระเจ้าอลองพญามาตั้งอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี ทางทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยาแล้ว บรรดาขุนนางข้าราชการอาณาประชาราษฎร์ เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ในภาวะวิกฤต จึงพากันไปอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งผนวชอยู่ที่วัดประดู่นั้น ให้ออกจากผนวชมาช่วยป้องกันพระนคร พระเจ้าอุทุมพรจึงทรงออกจากผนวชมาช่วยพระเชษฐาพระเจ้าเอกทัศน์ในการป้องกันการรุกรานของพม่า แต่ในขณะเดียวกันพระเจ้าอุทุมพรก็ทรงฟื้นฟูอำนาจทางการเมืองของพระองค์ขึ้นมาใหม่ พระเจ้าอุทุมพรมีพระราชโองการให้ปลดปล่อยขุนนางฝ่ายของพระองค์ ซึ่งถูกจำคุกไปจากเหตุการณ์กบฏเมื่อพ.ศ. 2301 ได้แก่ เจ้าพระยาอภัยราชาอดีตสมุหนายก พระยายมราชเสนาบดีนครบาลคนเก่า พระยาเพชรบุรีเจ้าเมืองเพชรบุรีคนเก่า ให้พ้นโทษออกจากคุกมาช่วยราชการคงที่ฐานาศักดิ์ตามเดิม[9]

ในด้านการป้องกันพระนคร สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรมีพระราชโองการให้;

  • กวาดต้อนไพร่ราษฏรบริเวณโดยรอบเกาะเมือง พร้อมทั้งเสบียงอาหาร ให้เข้ามาอยู่ภายในกำแพงพระนครกรุงศรีอยุธยา
  • นำขอนไม้สักมาผูกไว้ที่ตามใบเสมาปักเป็นเขื่อน ขวางกั้นประตูบกประตูน้ำของกรุงศรีอยุธยาป้องกันไม่ให้พม่าสามารถเข้ามาได้
  • นำปืนขึ้นเชิงเทินบนกำแพงโดยรอบพระนคร เกณณ์ทหารขึ้นรักษาที่หน้าเชิงเทิน

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร มีพระราชโองการให้จัดทัพออกไปป้องกันทัพพม่า ที่ยกมาจากสุพรรณบุรีที่ชานกรุงศรีอยุธยา จำนวน 20,000 คนเศษ (พงศาวดารพม่าระบุว่ามี 30,000 คน) เป็นจำนวนทั้งสิ้นห้ากอง นำโดยเจ้าพระยากลาโหมคลองแกลบ รวมทั้งพระยารัตนาธิเบศร์ พระยายมราชคนเก่า พระยาราชวังสัน พระยาสีหราชเดโช ยกออกไปตั้งที่แม่น้ำน้อย หรือลำน้ำเอกราช หรือลำน้ำปากไห่ตาลาน[8] (อำเภอผักไห่) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรมีพระราชโองการให้จับกุมขุนนางฝ่ายของพระเจ้าเอกทัศน์ ได้แก่ พระยาราชมนตรี (ปิ่น) และจมื่นศรีสรรักษ์ (ฉิม) ทรงให้มีกระทู้ถามว่า พระยาราชมนตรีและจมื่นศรีสรรักษ์กระทำคบชู้ด้วยฝ่ายใน[9] พิจารณาความรับเป็นสัตย์แล้ว พระเจ้าอุทุมพรจึงทรงพระราชอาญาให้เฆี่ยนคนละห้าสิบครั้งแล้วจำคุกไว้ อยู่ได้สามวันพระยาราชมนตรี (ปิ่น) ทนพิษบาดแผลไม่ได้จึงเสียชีวิต ทรงให้นำศพของพระยาราชมนตรีไปเสียบประจานไว้ที่ที่ประตูไชย ในขณะที่จมื่นศรีสรรักษ์ (ฉิม) นั้นรอดชีวิต นอกจากนี้ เจ้าพระยาพระคลังผู้ว่าที่สมุหนายกก็ได้ถูกจับกุมกุมขังไว้เช่นกัน

การรบที่ตาลาน

[แก้]

ในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2303 ทัพหน้าของพระเจ้าอลองพญา นำโดยเจ้าชายมังระสิริธรรมราชา และมังฆ้องนรธา ยกจากเมืองสุพรรณบุรีมายังกรุงศรีอยุธยา พบกับค่ายขนาดน้อยใหญ่ต่างๆของฝ่ายสยามที่แม่น้ำน้อย เจ้าชายมังระต้องการที่จะโจมตีทัพของฝ่ายสยามโดยทันทีอย่างรวดเร็ว แต่มังฆ้องนรธาได้ทัดทานไว้ ให้เหตุผลว่ากำลังฝ่ายสยามนั้นมีจำนวนที่มาก และมีกำลังในกรุงศรีอยุธยาที่พร้อมจะออกมาหนุน สมควรที่รอให้ทัพหลวงของพระเจ้าอลองพญามาถึงเสียก่อน จึงทำการเข้าโจมตี มิฉะนั้นถ้าเสียทีจะไม่มีกองกำลังช่วยเหลือ พระเจ้าอลองพญามีหมายรับสั่งมายังทัพหน้า มีพระราชโองการให้ทัพหน้ายับยั้งอย่าเพิ่งเข้าโจมตีทัพสยาม จนกว่าพระเจ้าอลองพญาจะเสด็จยกทัพหลวงมาถึง[7]

อย่างไรก็ตาม เจ้าชายมังระมีความเร่งรีบต้องการที่จะเข้าโจมตีทัพสยามโดยเร็ว เมื่อเจ้าชายมังระได้ยินเสียงกลองเสียงโห่ของทัพหลวงพระเจ้าอลองพญา แลเห็นธงต่างๆมาแต่ไกล เจ้าชายมังระจึงมีคำสั่งให้ทัพหน้าของพม่าเข้าโจมตีฝ่ายสยามโดยทันที โดยที่ทัพหลวงของพระเจ้าอลองพญายังไม่ทันที่จะมาถึง เจ้าชายมังระให้แบ่งกองกำลังออกเป็นสามสายเพื่อข้ามแม่น้ำน้อย;

  • มังฆ้องนรธาเป็นปีกขวา
  • แมงละนรธา (Minhla Nawrata) เป็นปีกซ้าย
  • แมงละสิริ (Minhla Thiri)[7] ภายหลังคือมังมหานรธา เป็นกองกลาง
แควผักไห่ หรือ แม่น้ำน้อย ในปัจจุบัน สถานที่ซึ่งเจ้าชายมังระ ยกทัพพม่าข้ามแม่น้ำ ถูกฝ่ายสยามโจมตีกลางแม่น้ำ จนกระทั่งพระเจ้าอลองพญานำทัพมาช่วยหนุน จนฝ่ายพม่าสามารถมีชัยชนะ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2303

ทัพหน้าของพม่ายกข้ามแม่น้ำน้อยเข้าโจมตีฝ่ายสยาม แต่ทว่าในขณะที่ทัพพม่ากำลังข้ามแม่น้ำอยู่นั้น เจ้าพระยากลาโหมคลองแกลบมีคำสั่งให้ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา ระดมยิงใส่ทัพพม่าที่กำลังข้ามแม่น้ำ ทำให้ฝ่ายพม่าล้มตายจำนวนมาก ทัพหน้าของพม่าเกือบที่จะพ่ายแพ้ แต่ทัพหลวงของพระเจ้าอลองพญามาถึงได้ทันเวลาพอดี หนุนทัพของพม่าให้ข้ามแม่น้ำน้อยได้สำเร็จ

เมื่อทัพฝ่ายพม่าสามารถข้ามแม่น้ำน้อยได้สำเร็จแล้ว จึงเข้าโจมตีค่ายของฝ่ายสยาม เมื่อถูกฝ่ายพม่าโจมตีโดยตรง ทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจึงพ่ายแพ้แตกถอยหนี พงศาวดารพม่าระบุว่า ฝ่ายพม่าสามารถจับกุมแม่ทัพสยามได้ทั้งห้าคน ยกเว้นเจ้าพระยากลาโหมซึ่งหลบหนีไปและพม่าต้องส่งกองกำลังติดตาม;

  • พงศาวดารไทยระบุว่า เจ้าพระยากลาโหมขี่ช้างหนีพม่า มาจนถึงทุ่งวัดนนทรี ฝ่ายพม่ายกทัพติดตามมาได้ พุ่งหอกถูกเจ้าพระยากลาโหมถึงแก่อสัญกรรมตกจากหลังช้าง
  • พงศาวดารพม่าระบุว่า เจ้าพระยากลาโหมลงจากหลังช้าง ควบม้าหลบหนีไป (แล้วจึงถึงแก่อสัญกรรมต่อมา)

พงศาวดารไทยไม่ได้ระบุว่าแม่ทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าจับกุมได้แต่อย่างใด พระยายมราช (คนเก่า) ได้รับบาดเจ็บถูกหอดซัดหลายตำแหน่ง กลับมาพักรักษาตัวที่กรุงศรีอยุธยา ได้ประมาณเก้าวันสิบวันจึงถึงแก่กรรม ฝ่ายแม่ทัพคนอื่นๆได้แก่ พระยารัตนาธิเบศร์ พระยาราชวังสัน พระยาสีหราชเดโช ขี่ม้ากลับมายังกรุงศรีอยุธยา พระยารัตนาธิเบศร์ทูลต่อพระเจ้าอุทุมพรฟ้องว่า พระยาราชวังสันนั้นเป็นกบฏ เป็นพรรคพวกของพระยาราชมนตรี (ปิ่น) เนื่องจากกองของพระยาราชวังสันได้ยิงปืนแย้งเข้ามาโดนค่ายของพระยารัตนาธิเบศร์ แล้วพระยาราชวังสันจึงหลบหนีไป ทำให้พระยารัตนาธิเบศร์ต้องเสียทีพ่ายแพ้ให้แก่พม่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงมีพระราชโองการให้จับกุมตัวพระยาราชวังสัน ลงพระราชอาญาเฆี่ยนห้าสิบครั้งแล้วจำคุก พระยาราชวังสันทนพิษบาดแผลไม่ได้เสียชีวิตในอีกเจ็ดวันแปดวันต่อมา นำศพของพระยาราชวังสันไปเสียบประจานไว้ที่ประตูไชยอีกเช่นกัน[9]

การล้อมกรุงศรีอยุธยา

[แก้]

หลังจากได้รับชัยชนะที่แม่น้ำตาลานแล้ว พระเจ้าอลองพญาจึงเสด็จยกทัพพม่ามาตั้งที่บ้านกุ่มบ้านกระเดื่อง ในอำเภอบางบาล ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงศรีอยุธยา ในวันขึ้นสิบเอ็ดค่ำเดือนห้า[7] (27 มีนาคม พ.ศ. 2303) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบประมาณสองร้อยปี ที่ทัพพม่าสามารถยกมาถึงชานกรุงศรีอยุธยาได้ ครั้งก่อนหน้านี้คือในพ.ศ. 2129 เมื่อพระเจ้านันทบุเรงกษัตริย์พม่าราชวงศ์ตองอูยกทัพมาโจมตีกรุงศรีอยุธยา ในครั้งนั้นทัพพม่ายกลงมาจากทางหัวเมืองเหนือ ทางเมืองกำแพงเพชรเมืองนครสวรรค์ แล้วเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาในพ.ศ. 2130 ตั้งค่ายอยู่ที่ชานกรุงทางทิศเหนือและทิศตะวันออก พระเจ้านันทบุเรงทรงล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้เป็นเวลาสี่เดือน ไม่สามารถตียึดกรุงศรีอยุธยาได้ จึงถอยทัพกลับไป[8]

การรบที่โพธิ์สามต้น

[แก้]

พระเจ้าอลองพญาทรงส่งทัพหน้านำโดยมังฆ้องนรธาหรือแมงละแมงข่อง ยกทัพหน้าของพม่ามาตั้งที่โพธิ์สามต้น ทางทิศเหนือของกรุงศรีอยุธยา อันเป็นชุมชนชาวมอญอพยพที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้พระราชทานให้แก่ชาวมอญในพ.ศ. 2289 หลางอภัยพิพัฒน์ ผู้นำชาวจีนนายก่ายทูลอาสาออกรบพม่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงมีพระราชโองการให้จัดทัพออกรับพม่า;[9]

  • หลวงอภัยพิพัฒน์ ผู้นำชาวจีนนายก่าย นำชาวจีนอาสา 2,000 คน ออกไปตั้งรบกับพม่าที่โพธิ์สามต้น
  • จมื่นทิพเสนา นำกองกำลังชาสยามจำนวน 1,000 คน ออกไปสนับสนุนกองอาสาจีน ของหลวงอภัยพิพัฒน์ จมื่นทิพเสนาตั้งอยู่ที่ทุ่งวัดทะเลหญ้า (วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร) เลยออกไปจากเพนียดก่อนถึงโพธิ์สามต้น

หลวงอภัยพิพัฒน์นำกองกำลังจีนอาสาออกไปตั้งที่โพธิ์สามต้น แต่ยังไม่ทันที่กองอาสาจีนจะตั้งค่ายลง มังฆ้องนรธาแม่ทัพพม่าเห็นฝ่ายสยามกำลังลงมือตั้งค่าย จึงยกกำลังข้ามแม่น้ำโพธิ์สามต้นเข้าโจมตีกองอาสาจีนอย่างรวดเร็ว ทำให้กองอาสาจีนของหลวงอภัยพิพัฒน์แตกพ่าย ชาวจีนหนีลงไปทั้งทางบกทางน้ำ พม่าไล่ติดตามทั้งยิงปืนทั้งพุ่งหอก ถูกทหารอาสาจีนเสียชีวิตจำนวนมาก กองสนับสนุนของจมื่นทิพเสนาก็ไม่ได้ช่วยเหลือ ถอยหนีกลับมาอีกเช่นกัน ความพ่ายแพ้ของฝ่ายกรุงศรีอยุธยาที่โพธิ์สามต้นนี้ เป็นเหตุให้ทัพหน้าของพม่าสามารถยกลงมาตั้งค่ายได้ถึงเพนียด ฝ่ายพม่าตั้งค่ายที่เพนียด วัดเจดีย์แดง วัดสามวิหาร ริมกำแพงด้านทิศเหนือ ทำบันไดไว้จำนวนมากเพื่่อเตรียมพาดกำแพงกรุงศรีอยุธยาเข้าโจมตีเมือง[9]

เจรจาสงบศึก

[แก้]

พระเจ้าอลองพญามีหมายรับสั่งแก่ชาวกรุงศรีอยุธยาใจความว่า;[7]

เนื่องด้วยเหตุว่าพระบรมพุทธศาสนาในกรุงทวารวดีนั้นมิได้วัฒนารุ่งเรืองถึงแก่กาลเสื่อมถอย พระเจ้าอลองเมงตาราเอกโพธิสัตตราชา มีพระทัยปรารถนาเสด็จมาเพื่อยกยออุปถัมภ์พระศาสนา แต่พระเจ้ากรุงทวารวดีนั้นมิได้ออกมาถวายบังคม มิได้ถวายราชบุตรราชโอรส มิได้ถวายช้างม้า แลมิได้ออกมากระทำรณยุทธตามราชประเพณี แม้นว่าพระเจ้าอลองเมงตารา ผู้มีพระทัยปรารถนาในพระโสดาปัตติผลเป็นปัจฉิม ได้มีพระมหากรุณาให้ปล่อยตัวท้าวพระยาขุนนางเมืองสุพรรณบุรี มิได้ลงพระราชอาญาแต่ประการใด

ฝ่ายราชสำนักกรุงศรีอยุธยา เมื่อได้รับราชสาสน์ของพระเจ้าอลองพญาแล้ว จึงมีพระราชสาสน์ออกไปตอบโต้ว่า;

ในภัทรกัปป์นั้นมีองค์พระโพธิสัตว์พุทธเจ้าจักอุบัติขึ้นเพียงห้าพระองค์ ซึ่งสี่องค์กอปรด้วย พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า แลพระสมณโคดม ล้วนแต่ได้อุบัติขึ้นแลเสด็จถึงนิพพานแล้วทั้งหมดทั้งสิ้น ยังคงแต่โพธิสัตว์เมตไตรยะ ยังมิได้อุบัติขึ้นในมนุสสภพ ยังประทับเสวยกุศลผลบุญอยู่ในดุสิตสวรรค์ แล้วพระเจ้ากรุงอังวะ เป็นพระโพธิสัตว์พระองค์ใด? ที่อุบัติขึ้นในภัทรกัปป์ ด้วยเหตุว่ามิเคยมีพระโพธิ์สัตว์พระองค์ที่หกอุบัติขึ้นมาแต่กาลก่อน

เจ้าพระยาอภัยราชา (ประตูจีน) สมุหนายก ได้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์และพระอนุชาพระเจ้าอุทุมพรว่า ขณะนี้ฤดูฝนกำลังจะมาถึง ท้องทุ่งโดยรอบพระนครจะกลายเป็นพื้นที่น้ำขัง บรรดาช้างม้าและทหารของพม่าจะตั้งอยู่ไม่ได้ต้องขึ้นที่สูง เป็นเหตุให้ทัพพม่าจะต้องล่าถอย และฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจะถือโอกาสนี้ ยกตามตีทัพพม่าทางด้านหลัง ขณะนี้จวนจะถึงเวลาที่พม่าจะต้องถอยทัพกลับอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งกองกำลังออกไปต่อกรกับพม่า ให้เสียกำลังไพร่พลโดยเปล่า เนื่องจากฝ่ายพม่าตั้งมั่นแข็งแรงไม่สามารถขับไล่ออกไปได้ จนกว่าเมื่อฤดูฝนมาถึงแล้วฝ่ายพม่าก็จะกลับไปเอง สมควรตั้งมั่นอยู่ในพระนครเพื่่อรอเวลาให้ฤดูฝนมาถึง พระเจ้าอุทุมพรทรงเห็นด้วยกับแผนของเจ้าพระยาอภัยราชา มีพระราชโองการไปยังหัวเมืองโดยรอบ ให้ตั้งมั่นอยู่ในเมืองปิดประตูเมืองให้แน่นหนา รอจนกว่าเมื่อฤดูฝนมาถึงแล้วทัพพม่าจะต้องถอยกลับไปเอง[7]

ราชสำนักอยุธยาประวิงเวลาด้วยการส่งขุนนางสยามสามคน ได้แก่ พระยาราชประสิทธิ์[17] พระยาราชสุภาวดี และพระยาสุรกรรม ออกไปเจรจาความเมืองสงบศึกกับพม่า ในประมาณวันที่ 6 เมษายน เพื่อถ่วงเวลาให้ฤดูฝนมาถึง ทูตสยามสามคนนำราชสาสน์จากกรุงศรีอยุธยาไปพบกับมังฆ้องนรธาที่ค่ายเพนียด มังฆ้องนรธาส่งตัวทูตสยามให้แก่เจ้าชายมังระราชบุตรสิริธรรมราชา ทูตสยามว่ากล่าวแก่เจ้าชายมังระว่า ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจะยินยอมส่งช้างม้าให้แก่ฝ่ายพม่าเป็นเครื่องบรรณาการ แต่เจ้าชายมังระไม่ยินยอมให้ทูตสยามเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอลองพญาที่บ้านกุ่มบ้านกระเดื่อง ด้วยเหตุผลพระเจ้าอลองพญานั้นได้มีพระราชโองการออกมาแล้วว่า พระเจ้าอลองพญาเสด็จมาเพื่อฟื้นฟูบำรุงพุทธศาสนาในกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาต้องเสด็จออกมาถวายบังคมด้วยพระองค์เอง[7] เมื่อการเจรจาไม่เป็นผล ทูตสยามจึงเดินทางกลับ

พม่าโจมตีกรุงศรีอยุธยา

[แก้]

เมื่อฝ่ายกรุงศรีอยุธยาตั้งมั่นอยู่ในพระนครไม่ออกมาสู้รบ ทำให้ฝ่ายพม่าเหลือเพียงกลยุทธการโจมตีกรุงศรีอยุธยาโดยตรง มังฆ้องนรธานำทัพหน้าของพม่าเข้าประชิคกำแพงพระนครกรุงศรีอยุธยาทางเพนียดทางทิศเหนือ ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2303[29] วันต่อมาวันที่ 9 เมษายน เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในกรุงศรีอยุธยาสามจุด ทำให้พระเจ้ากรุงสยามไม่ไว้วางพระทัยผู้ใดเลย เนื่องจากเกรงว่าจะมีไส้ศึกภายในให้ความร่วมมือกับพม่า พระเจ้าเอกทัศน์จึงมีพระราชโองการให้นำตัวเจ้าพระยาพระคลังผู้ว่าที่สมุหนายกไปกุมขังไว้[29]

เมื่อทัพหน้าของพม่าเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาทางทิศเหนือ ราชสำนักอยุธยาจึงจำต้องอพยพขนย้ายเรือพระราชพิธี เรือพระทื่นั่งกิ่ง เรือพระที่นั่งไชย เรืองพระที่นั่งศรี เรือพระที่นั่งกราบ เรือดั้ง เรือกัน เรือศีรษะสัตว์น้อยใหญ่ทั้งปวง รวมทั้งเรือกำปั่นหลวง ไปจอดไว้ที่ท้ายคู นอกกำแพงเมืองทางคูทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้รอดพ้นจากการโจมตีของพม่า บรรดาราษฎร พ่อค้าลูกค้าชาวต่างประเทศ ก็ไปอาศัยอยู่ที่ท้ายคูเช่นกัน ด้วยเป็นที่ซึ่งปลอดภัยจากการโจมตีของพม่า นอกจากนี้ ทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยา ยังเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวต่างชาติ ได้แก่ บ้านโปรตุเกส และสถานีการค้าของฮอลันดาอีกด้วย ในวันที่ 11 เมษายน[29] ฝ่ายพม่าได้จุดไฟเผาบ้านเรือนโดยรอบพระนครนอกกำแพงเมืองทั้งหมด

ในวันแรมแปดค่ำ เดือนห้า (บันทึกมิชชันนารีฝรั่งเศสระบุว่า เป็นวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2303)[29] ปรากฏว่ามีกองกำลังของพม่าจำนวน 2,000 คน เข้าโจมตีท้ายคู สังหารบรรดาราษฏรครอบครัวชาวกรุงศรีอยุธยา เสียชีวิตจำนวนมากมีศพอยู่เป็นกองๆ เรือจอดอย่างแออัดทำให้ไม่สามารถหลบหนีได้ พม่าเข้าสังหารผู้คนบนเรือรวมทั้งพ่อค้าวาณิชย์ชาวต่างชาติ พม่าเผาเรือกำปั่นหลวงและเรือพระราชพิธีน้อยใหญ่ไปหมดสิ้น ซากศพของผู้เสียชีวิตกองอัดกันเต็มคูเมืองลอยเต็มแม่น้ำจนไม่สามารถใช้สอยได้ นอกจากนี้ ราษฎรที่ท้ายคูยังถูกพม่าจับเป็นไปอีกจำนวนมาก[9] พม่ายึดเรือแล้วนำกำลังเข้าโจมตีปล้มสะดมสถานีการค้าของฮอลันดา เผาเรือสินค้าของชาวจีนและฮอลันดาไปจำนวนมาก นายนิโคลาส บัง (Nicolaas Bang) หัวหน้าสถานีการค้าของฮอลันดา ถูกพม่าทำร้ายได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการจมน้ำขณะกำลังหลบหนีจากพม่า พร้อมทั้งภรรยาชาวสยาม[23]

วันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนห้า (14 เมษายน พ.ศ. 2303) พม่านำปืนใหญ่มาตั้งที่วัดราชพลี และวัดกษัตราวาส (วัดกษัตราธิราช) ทางนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก ระดมยิงเข้าใส่กรุงศรีอยุธยา ถูกบ้านเรือนและผู้คนล้มตาย สมเด็จพระอนุชาธิราชพระเจ้าอุทุมพรจึงทรงช้างต้น ชื่อว่าพลายแสนพลพ่าย เสด็จเลียบพระนครตรวจตรา ทรงกำชับตรวจขันเจ้าหน้าที่ทั้งปวงให้คอยตั้งรับพม่า และมีพระราชโองการให้ยิงปืนใหญ่ตอบโต้พม่าจากวัดสวนหลวงสบสวรรค์ จากป้อมท้ายกบและป้อมมหาไชย ทำให้พม่าที่วัดราชพลีและวัดกษัตราวาสต้องล่าถอยกลับไปทางวัดภูเขาทอง[9]

อีกสองวันต่อมาในวันขึ้นสองค่ำ เดือนหก (16 เมษายน พ.ศ. 2303) พม่านำปืนใหญ่มาอีกครั้งมาตั้งที่วัดหน้าพระเมรุราชิการาม และวัดท่าช้าง (วัดหัสดาวาส) นอกกำแพงด้านเหนือ ระดมยิงในกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ทั้งกลางวันกลางคืน ถูกยอดปราสาทของพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์หักลง[9]

พม่าถอยทัพ

[แก้]

พระเจ้าอลองพญาประชวร

[แก้]

พระเจ้าอลองพญาประชวรในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2303 พงศาวดารไทยระบุว่า พม่าถอยทัพกลับออกไป (จากค่ายบริเวณกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ) ในวันขึ้นสองค่ำเดือนหก[9] (16 เมษายน พ.ศ. 2303) มิชชันนารีฝรั่งเศสระบุว่า พม่าถอยทัพออกไปอย่างเร่งรีบ ในกลางคืนของวันที่ 16 เมษายน[29] พงศาวดารบางฉบับระบุว่า ทางราชสำนักอยุธยาได้ข่าวว่า พระเจ้าอลองพญาต้องปืนใหญ่ระเบิดใส่ ทำได้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ในวันที่ 16 เมษายน นั้น ซึ่งเป็นวันที่ฝ่ายพม่าตั้งปืนใหญ่ที่วัดหน้าพระเมรุฯ ยิงปืนใหญ่ใส่พระนครถูกยอดปราสาทพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์นั้นเอง ในขณะที่พงศาวดารไทยบางฉบับระบุว่า พระเจ้าอลองพญาประชวร ฝ่ายพงศาวดารพม่าระบุว่า ในการยกทัพมาโจมตีกรุงศรีอยุธยาในครั้งนี้ ในดินแดนของสยามมียุงและแมลงจำนวนมากทำให้ทหารพม่าได้รับความเจ็บป่วยหลายประการ และระบุว่าพระเจ้าอลองพญาประชวรด้วยโรคบิด สิบวันหลังจากที่ทูตสยามได้เดินทางมาเจรจาพยายามที่จะขอสงบศึก

เมื่อพระเจ้าอลองพญาประชวร จึงมีพระราชโองการให้แม่ทัพนายกองพม่าทั้งปวงมาเข้าเฝ้าที่ค่ายหลวง บ้านกุ่มบ้านกระเดื่อง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอยุธยา พระเจ้าอลองพญาปรารภว่า สถานการณ์สงครามในกรุงศรีอยุธยายังคงติดพัน ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาไม่ส่งทัพออกมาสู้รบ เน้นป้องกันตนเองอยู่ในกำแพงเมือง กรุงศรีอยุธยาส่งทูตออกมาเจรจาว่ากล่าว ว่าจะยอมส่งบรรณาการให้แก่พระเจ้าอลองพญา แต่จนถึงบัดนี้กรุงศรีอยุธยายังไม่สวามิภักดิ์และยังไม่ส่งบรรณาการมาแต่อย่างใด และในขณะนี้ฤดูฝนกำลังมาถึงแล้ว ฝ่ายพม่าจะต้องตัดสินใจว่าจะกระทำอย่างไรต่อไป เจ้าชายมังระศิริธรรมราชาราชบุตร ทูลข้อเท็จจริงให้แก่พระเจ้าอลองพญาผู้เป็นบิดาว่า การที่กรุงศรีอยุธยาส่งทูตออกมาเจรจาขอยอมสงบศึกสวามิภักดิ์นั้น เป็นไปเพียงเพื่อประวิงเวลาให้ฤดูฝนมาถึงเท่านั้นเอง เมื่อฤดูฝนมาถึงแล้ว ชานกรุงศรีอยุธยาจะมีน้ำท่วงขังไม่สามารถตั้งทัพอยู่ได้ เจ้าชายมังระทูลขอให้พระเจ้าอลองพญาทรงถอยทัพกลับจากกรุงศรีอยุธยาก่อนในครั้งนี้ เนื่องจากพระเจ้าอลองพญาประชวร หากเมื่อสิ้นฤดูฝนแล้วจึงกรีฑาทัพมากรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง มังฆ้องนรธาเห็นด้วยกับเจ้าชายมังระ ว่าควรที่จะถอยทัพกลับไปก่อน เนื่องจากกรุงศรีอยุธยานั้นเป็นราชธานีที่มีป้อมปราการมั่งคงแข็งแรง มีคูเมืองคูคลองต่างๆล้อมรอบ กรุงศรีอยุธยายังมีปืนใหญ่น้อยมีฝรั่งโปรตุเกสเป็นพลปืน และกรุงศรีอยุธยายังไม่เคยถูกทำลายล้างลงอย่างสิ้นเชิงมาก่อน พระราชวงศ์อยุธยาประทับอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์มีเสบียงอาหารยุทโธปกรณ์ช้างม้ากำลังไพร่พลพร้อมสรรพ์ กรุงศรีอยุธยาแม้ว่าจะยิ่งใหญ่เกรียงไกรสักเพียงใด ก็ไม่อาจสู้ต้านทานพระเดชานุภาพของพระเจ้าอลองพญาได้ สุดท้ายแล้ว กรุงศรีอยุธยาก็จะต้องเสียให้แก่พม่าในที่สุดเมื่อพระเจ้าอลองพญาทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ แต่ในขณะนี้พระเจ้าอลองพญากำลังประชวร สมควรเสด็จยกทัพกลับก่อน เนื่องจากโหรหลวงได้ทักท้วงมาก่อนหน้านี้ว่าพระเจ้าอลองพญาอาจต้องประชวรในศึกครั้งนี้ เมื่อพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์แล้ว มาตีกรุงศรีอยุธยาย่อมได้ดั่งพระประสงค์[7]

นอกจากนี้ มังฆ้องนรธายังกราบทูลแก่พระเจ้าอลองพญา ถึงปัจจัยที่ทำให้การพิชิตกรุงศรีอยุธยาในครั้งนี้ไม่สำเร็จ;

  • พระเจ้าอลองพญาเริ่มเสด็จกรีฑาทัพมายังกรุงศรีอยุธยาช้าเกินไป ทำให้ไม่ทันพิชิตกรุงศรีอยุธยาก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง อีกทั้งยังเดินทัพเส้นทางทวายมะริดตะนาวศรี อ้อมเข้ามาทางด่านสิงขรทำให้ต้องใช้เวลาในการปราบปราบหัวเมืองรายทาง นับตั้งแต่เมืองมะริดตะนาวศรี เมืองกุยบุรีปรานบุรีเพชรบุรี จนถึงเมืองราชบุรีสุพรรณบุรี พระเจ้าอลองพญาเสด็จจากเมืองร่างกุ้งในเดือนยี่ กว่าจะถึงชานกรุงศรีอยุธยาก็ถึงเดือนห้า สมควรต้องรีบยกทัพออกจากพม่ามาเข้ายึดหัวเมืองรายทางที่สำคัญของสยามให้ได้เสียตั้งแต่ภายในเดือนอ้ายหรือเดือนยี่
  • เส้นทางในการเดินทัพ ครั้งนี้พระเจ้าอลองพญาทรงจำต้องเสด็จเดินทางนำทัพทางเมืองทวาย เพื่อปราบเจ้าเมืองทวายลงเสียก่อน จึงเดินทัพต่อมาทางเมืองมะริดและตะนาวศรีเข้าทางด่านสิงขร ซึ่งเป็นเส้นทางที่อ้อมและใช้เวลา ในการโจมตีกรุงศรีอยุธยาครั้งหน้า มังฆ้องนรธาทูลเสนอให้ฝ่ายพม่ายกทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาในสามเส้นทางได้แก่ ทางเมืองระแหง ทางเมืองตาก และทางเมืองตะนาวศรี

พม่าถอยทัพ

[แก้]

เมื่อพม่าถอนกองกำลังออกจากค่ายที่บริเวณทางด้านเหนือของกรุงศรีอยุธยาแล้ว พม่าไม่ได้โจมตีกรุงศรีอยุธยาอีก พระเจ้าอลองพญาทรงยินยอมให้พม่าถอยทัพกลับตามคำกราบทูลของเจ้าชายมังระพระโอรสและมังฆ้องนรธาแม่ทัพใหญ่กองหน้า มีพระราชโองการให้มังฆ้องนรธาอยู่ระวังรักษาเป็นกองหลัง ในระหว่างที่พระเจ้าอลองพญาทรงถอยทัพกลับ ไม่ให้ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเข้าโจมตีทางด้านหลังได้ พระราชทานกองกำลังพม่าจำนวน 6,000 คน และทหารม้ากระแซมณีปุระจำนวน 500 คน ไว้เป็นกองหลังให้แก่มังฆ้องนรธา พระเจ้าอลองพญาเสด็จยกทัพกลับในวันรุ่งขึ้นคือวันพฤหัสขึ้นสามค่ำเดือนหก (17 เมษายน พ.ศ. 2303) เมื่อพระเจ้าอลองพญาเสด็จออกจากบ้านกุ่มบ้านกระเดื่องแล้วเป็นเวลาหนึ่งวัน แมงละนรธาแม่ทัพพม่าอีกคนหนึ่ง จึงยกทัพจำนวน 3,000 คน ติดตามพระเจ้าอลองพญาไป เพื่อเป็นทัพเชื่อมกลางระหว่างทัพหลวงพระเจ้าอลองพญากับทัพหลังของมังฆ้องนรธา หากมังฆ้องนรธาถูกฝ่ายสยามโจมตีทัพของแมละนรธาจะสามารถช่วยเหลือมังฆ้องนรธาได้[7]

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา เมื่อทราบว่าพระเจ้าอลองพญาและฝ่ายพม่าได้ยกทัพกลับไปแล้วนั้น พงศาวดารพม่าระบุว่า ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาส่งคนออกมาสืบข่าวว่าเหตุใดพระเจ้าอลองพญาจึงตัดสินพระทัยเสด็จยังทัพกลับ แม้ว่าฝ่ายพม่ากำลังมีชัยในการต่อสู้ แต่ฝ่ายสยามไม่ได้ข้อมูลกลับไป พบแต่เพียงพม่าพม่าเหลือกองกำลังไว้ส่วนหนึ่งที่บ้านกุ่มบ้านกระเดื่อง สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงมีพระราชโองการให้พระยายมราช (คนใหม่) และพระยาสีหราชเดโช[9] ยกทัพติดตามพระเจ้าอลองพญาไป ในวันที่ 20 เมษายน[29] เพื่ออาศัยโอกาสโจมตีทัพพม่าจากทางด้านหลัง ทัพของพระยายมราชและพระยาสีหราชเดโช พบกับกองหลังของมังฆ้องนรธาที่บ้านกุ่มบ้านกระเดื่อง พระยายมราชนำกำลังฝ่ายสยามเข้าล้อมมังฆ้องนรธาไว้อย่างหนาแน่น แม่ทัพนายกองของมังฆ้องนรธาร้องขอให้มังฆ้องนรธาถอยทัพออกจากบ้านกุ่ม เนื่องจากทัพฝ่ายสยามมีจำนวนที่มากกว่า แต่มังฆ้องนรธายังคงยืนยันที่จะยืนหยัดต่อสู้ เนื่องจากว่าหากกองหลังถอยทัพออกไปในตอนนี้ ทัพฝ่ายสยามอาจติดตามไปจนถึงทัพหลวงของพระเจ้าอลองพญาได้ นำไปสู่การรบที่บ้านกุ่มบ้านกระเดื่อง มังฆ้องนรธาใช้วิธีฝ่าวงล้อมของสยามออกพร้อมกันทั้งสี่ด้าน ให้กองกำลังจำนวนกองละ 1,500 คน เข้าโจมตีวงล้อมของสยาม ทางทิศใต้ ทิศเหนือ ทิศตะวันตก และมังฆ้องนรธานำทัพด้วยตนเองเจ้าโจมตีทางทิศตะวันออก ผลคือฝ่ายพม่าสามารถทำลายวงล้อมของทัพพระยายมราชได้สำเร็จ สังหารฝ่ายกรุงศรีอยุธยาล้มตายจำนวนมาก พงศาวดารพม่าระบุว่า ฝ่ายพม่าสามารถตัดศีรษะแม่ทัพสยามคนหนึ่ง ซึ่งมียศสูงได้กั้นสัปทน ฝ่ายแมงละนรธาที่ยกทัพตามหลังพระเจ้าอลองพญานั้น เมื่อได้ยินเสียงปืนจึงรีบยกกลับลงมาช่วยมังฆ้องนรธา แต่มาไม่ทันมังฆ้องนรธาได้ตีฝ่ายสยามแตกพ่ายไปแล้ว มังฆ้องนรธามีคำสั่งให้แมงละนรธาให้ยกทัพติดตามคอยระวังหลังให้แก่พระเจ้าอลองพญาให้ดี ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับกองหลังของมังฆ้องนรธา[7]

หลังจากที่ได้รับชัยชนะสามารถทำลายวงล้อมของฝ่ายสยามได้แล้ว มังฆ้องนรธาอยู่ระวังรักษากองหลังที่บ้านกุ่มบ้านกระเดื่องอยู่อีกเป็นเวลาห้าวัน จนแน่ใจแล้วว่าฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจะไม่พยายามยกทัพมาโจมตีทางด้านหลังอีก จึงถอนทัพออกจากบ้านกุ่มบ้านกระเดื่อง ยกทัพตามพระเจ้าอลองพญาไปในที่สุด มังฆ้องนรธาได้ฝังปืนใหญ่จำนวนสี่กระบอกไว้ที่บ้านกุ่ม ต่อมาพระเจ้าอุทุมพรมีพระราชโองการให้ข้าหลวงออกไปค้นค่ายพม่าที่บางกุ่มหรือบ้านกุ่ม ค้นพบปืนใหญ่พม่าสี่กระบอก สำหรับขนาดกระสุนปืนใหญ่สามถึงสี่นิ้ว[9] ได้ขุดขึ้นแล้วขนย้ายเข้ามาในพระนครฯ กรุงศรีอยุธยาจึงรอดพ้นจากเงื้อมมือของพม่าไปอีกเป็นเวลาเจ็ดปี

พระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์

[แก้]

เจ้าชายมังระราชบุตรนำพระเจ้าอลองพญาหามแคร่เสด็จกลับทางด่านแม่ละเมาเมืองตาก ระหว่างทางตียึดได้เมืองกำแพงเพชรอีกเมืองหนึ่ง[29] เมื่อถึงเมืองระแหงแล้วจึงเปลี่ยนทิศไปทางทิศตะวันตก ผ่านเมืองเมียวดี มุ่งหน้าไปยังเมืองเมาะตะมะ พระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์ในวันอาทิตย์แรมสิบสองค่ำเดือนหก[7] (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2303) พงศาวดารไทยเรียกว่าตำบลกะเมาะกะโลก ปัจจุบันเรียกว่าหมู่บ้านกินวรา (Kinwya) เมืองบีลิน (Bilin Township) เขตสะเทิม (Thaton District) ครึ่งทางระหว่างเมืองเมียวดีกับเมืองเมาะตะมะ ในรัฐมอญในปัจจุบัน พระเจ้าอลองพญาอยู่ในราชสมบัติได้แปดปี สิริพระชนมายุ 45 ชันษา การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอลองพญาถูกปกปิดเป็นความลับ มีเพียงเจ้าชายมังระพระโอรสและข้าราชบริพารใกล้ชิดเท่านั้นที่ล่วงรู้ เจ้าชายมังระส่งม้าเร็วไปแจ้งข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอลองพญาให้แก่พระเชษฐาคือเจ้าชายมังลอกศิริสุธรรมราชา ซึ่งสำเร็จราชการในเมืองรัตนสิงห์ราชธานีตั้งแต่ที่พระเจ้าอลองพญาเสด็จลงมาเมืองร่างกุ้งกลางปีพ.ศ. 2302 เจ้าชายมังระอัญเชิญพระศพของพระเจ้าอลองพญาขึ้นแคร่หามต่อไป เสมือนว่าพระเจ้าอลองพญายังมีพระชนม์ชีพอยู่ยังมีหมายรับสั่งราชโองการออกมาอย่างต่อเนื่อง

ภาพของสุสานของพระเจ้าอลองพญา ที่เมืองชเวโบ จากหนังสือ The Silken East ของวินเซนต์ คลาเรนซ์ สก็อต โอคอนเนอร์ (Vincent Clarence Scott O'Connor) พิมพ์เมื่อพ.ศ. 2447
สุสานของพระเจ้าอลองพญาในปัจจุบัน แท่นหินอ่อนสร้างครอบทับในพ.ศ. 2441

เจ้าชายมังระอัญเชิญพระศพของพระเจ้าอลองพญาลงเรือหลวง ล่องไปจนถึงเมืองหงสาวดีและเมืองร่างกุ้ง เจ้าชายมังระเปิดเผยประกาศข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอลองพญาให้แก่ราษฎรโดยทั่วไปได้รับรู้ที่เมืองร่างกุ้ง จากนั้นจึงอัญเชิญพระศพลงเรือหลวงล่องขึ้นไปตามแม่น้ำอิระวดี[7] เจ้าชายมังลอกพร้อมทั้งพระนางยู่นซานพระมเหสีของพระเจ้าอลองพญา พร้อมทั้งพระวงศานุวงศ์ขุนนางข้าราชการพม่า เสด็จออกจากราชธานีรัตนสิงห์มารับพระศพของพระเจ้าอลองพญา ที่ท่าเรือเมืองจอกมอง (Kyaukmyaung) ทางเหนือของเมืองอังวะ เจ้าชายมังลอกอุปราชอัญเชิญพระศพเข้าสู่เมืองราชธานีชเวโบผ่านทางประตูหลายสา (Hlaingtha) พระศพของพระเจ้าอลองพญาได้รับการฝังไว้ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพระราชวังเมืองชเวโบ อันเป็นที่ตั้งดั้งเดิมของหมู่บ้านมุกโซโบ หมู่บ้านบ้านเกิดของพระเจ้าอลองพญา ต่อในสมัยการปกครองของอังกฤษ ในพ.ศ. 2441 มีการสร้างปราสาทพร้อมแท่นหินอ่อนครอบทับสุสานของพระเจ้าอลองพญา

บทวิเคราะห์

[แก้]

เปรียบเทียบระหว่างพม่าและสยาม

[แก้]

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 อาณาจักรต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ประสบปัญหาความเสื่อมของอำนาจส่วนกลาง ทำให้สูญเสียอำนาจทางการเมืองและการทหาร หัวเมืองต่างๆแยกตัวเป็นอิสระหรืออาณาจักรเหล่านั้นแตกแตกออกเป็นอาณาจักรที่เล็กกว่า ต่อมาอาณาจักรเหล่านั้นประสบกับความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง ทำให้กลุ่มผู้มีอำนาจเก่าสูญสิ้นไปและกลุ่มใหม่ขึ้นมามีอำนาจแทน ทำให้เกิดราชวงศ์ใหม่ที่มีอำนาจเข้มแข็งสามารถรวบรวมหัวเมืองต่างได้อย่างมั่นคงและแผ่ขยายแสนยานุภาพทางทหารได้กว้างขวาง พม่าเป็นอาณาจักรแรกที่เข่าสู่การเปลี่ยนแปลงนี้ จากนั้นจึงตามมาด้วยสยามและเวียดนาม ในพุทธศตวรรษที่ 23 ทั้งพม่าและสยามต่างประสบปัญหาความเสื่อมของระบบการเกณฑ์กำลังพล ในพม่าแรงงานไพร่ตกกลายเป็นไพร่สมของเจ้านายพม่าต่างๆ ในสยามกรุงศรีอยุธยาประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน คือ ไพร่สมสังกัดมูลนายมีจำนวนมากขึ้น ในขณะที่ไพร่หลวงมีจำนวนลดลง อีกทั้งการค้าข้าวที่รุ่งเรืองกับจีนราชวงศ์ชิง ทำให้ไพร่สยามเลี่ยงการเกณฑ์แรงงานเพื่อไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง[44] ซึ่งราชสำนักอยุธยาไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเกณฑ์ไพร่ได้อย่างเด็ดขาด

พม่านั้นอยู่ในภาวะสงครามอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2283 นับตั้งแต่ที่ชาวมอญในพม่าตอนล่างแยกตัวเป็นอิสระ การที่พม่าราชวงศ์ตองอูเสียเมืองอังวะให้แก่มอญหงสาวดีฟื้นฟู ทำให้ราชวงศ์ตองอูสิ้นสุดในพ.ศ. 2295 เปิดโอกาสให้พม่าเกิดราชวงศ์ใหม่ที่เข้มแข็งและมั่งคงกว่าเดิม นั่นคือ ราชวงศ์คองบอง ก่อตั้งโดยพระเจ้าอลองพญา พระเจ้าอลองพญาพร้อมทั้งบรรดาผู้สนับสนุนแม่ทัพนายกอง ต่อสู้ทำสงครามอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อต้านอำนาจมอญหงสาวดีและเพื่อฟื้นฟูอาณาจักรพม่า พระเจ้าอลองพญาทรงปราบชุมนุมในพม่าตอนบน สู้รบกับมอญและฝรั่งเศสในพม่าตอนล่าง จนสามารถเข้ายึดพิชิตเมืองหงสาวดีได้ในที่สุดในพ.ศ. 2300 รวมทั้งยกไปปราบปรามหัวเมืองไทใหญ่ และยกไปปราบเมืองมณีปุระ ทำให้แม่ทัพนายกองและทหารพม่านั้นมีประสบการณ์ในการทำสงครามอย่างต่อเนื่อง กลุ่มผู้มีอำนาจชุดใหม่ในช่วงต้นราชวงศ์คองบองนั้น ล้วนแต่มีต้นกำเนิดจากฝ่ายทหารทั้งสิ้น นอกจากนี้ พระเจ้าอลองพญายังปฏิรูประบบการเกณฑ์ของพม่าเสียใหม่ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเรียกใช้ได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีสงคราม

ในขณะที่สยามกรุงศรีอยุธยานั้น ไม่มีศึกสงครามภายนอกนับตั้งแต่สงครามกับพม่าในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ในพ.ศ. 2204 - 2205 (และสงครามกับพม่าในรับสมัยสมเด็จพระเพทราชา) ในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง กรุงศรีอยุธยาเผชิญกับปัญหาความขัดทางการเมืองเรื่องการสืบราชสมบัติหลายครั้ง ได้แก่ คราวกรณีเจ้าพระขวัญในพ.ศ. 2246 กรณีเจ้าฟ้าปรเมศร์เจ้าฟ้าอภัยในพ.ศ. 2276 กรณีเจ้าสามกรมและกรมหมื่นเทพพิพิธในพ.ศ. 2301 รวมทั้งกบฏในส่วนภูมิภาคได้แก่ กบฏเมืองนครราชสีมาและที่เมืองนครศรีธรรมราช ในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีการส่งกองทัพออกไปยังอาณาจักรข้างเคียงได้แก่ ออกไปเมืองเวียงจันทน์ พ.ศ. 2238 (เพื่อไกล่เกลี่ยระหว่างหลวงพระบางและเวียงจันทน์) ออกไปกัมพูชาในพ.ศ. 2260 (เพื่อยกนักองค์ธรรมขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชา) และพ.ศ. 2292 (เพื่อยกนักองค์สงวนขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชา) และออกไปปัตตานีในพ.ศ. 2235 พ.ศ 2252 และพ.ศ. 2255 แต่การที่กรุงศรีอยุธยายกทัพไปในเหตุการณ์เหล่านี้ เป็นไปเพื่อแสดงอำนาจทางการเมืองเท่านั้น เนื่องจากการยกทัพไปครั้งเหล่านี้ทำให้เกิดการเจรจายินยอมอ่อนน้อมมากกว่าที่จะเกิดการสู้รบที่รุนแรงและจริงจัง สภาวะว่างเว้นจากสงครามภายนอกอย่างยาวนาน ทำให้ระบบการทหารและการป้องกันอาณาจักรของอยุธยาเสื่อมถอยลง ระบบโครงสร้างอำนาจและการปกครองของอยุธยาสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้น เป็นไปเพื่อการสร้างเสถียรภาพภายในและป้องกันการกบฏเป็นหลัก ไม่ได้เป็นไปเพื่อเตรียมการตั้งรับการรุกรานของศัตรูจากภายนอก[45] ภัยคุกคามจากผู้รุกรานภายนอกมีความสำคัญน้อยกว่าปัญหาภายในสำหรับอยุธยา

นับตั้งแต่ที่เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) ถึงแก่อสัญกรรมในพ.ศ. 2296 ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาขาดเสถียรภาพต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างเจ้านาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงแต่งตั้งกรมเจ้านายต่างๆเพื่อควบคุมการแบ่งสรรจำนวนกำลังพลแก่เจ้านายต่างๆ เพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างเจ้านายในภายภาคหน้า ในระยะแรกกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเจ้าฟ้ากุ้งขึ้นมามีอำนาจ แต่ถูกลงพระราชอาญาจนสิ้นพระชนม์ในพ.ศ. 2299 เมื่อพระเจ้าอยูหัวบรมโกศฯเสด็จสวรรคตในพ.ศ. 2301 ได้เกิดเหตุการณ์ที่เจ้าสามกรมไม่ยอมรับในพระราชอำนาจของพระเจ้าอุทุมพรและเป็นกบฏขึ้น และในปลายปีเดียวกันยังมีเหตุการณ์ที่กรมหมื่นเทพพิพิธไม่ยอมรับพระเจ้าเอกทัศน์ ความขัดแย้งภายในกรุงศรีอยุธยา ทำให้ไม่สามารถตระหนักและรับรู้ถึงภัยคุกคามอย่างใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นที่พม่าในทางทิศตะวันตกได้ และไม่มีการปรับปรุงปฏิรูประบบการป้องกันอาณาจักรเพื่อรับมือการรุกรานของพม่าที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา เปรียบเทียบในเวลาเดียวกัน อาณาจักรพม่าภายใต้ราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์คองบอง ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงจนถือกำเนิดขึ้นใหม่กลายเป็นอาณาจักรที่มีความเข้มแข็งทางการทหาร มีประสบการณ์ในทำสงคราม ในขณะที่กรุงศรีอยุธยามีระบบการป้องกันอาณาจักรที่เสื่อมถอย ประสบปัญหาความขัดแย้งภายในและการเสื่อมของระบบเกณฑ์ไพร่ ยังไม่ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่จะให้กลายเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็งและมีอำนาจในอนาคต

ยุทธศาสตร์ของพระเจ้าอลองพญา

[แก้]

เมื่อพระเจ้าอลองพญาประชวรในขณะที่กำลังโจมตีกรุงศรีอยุธยา ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2303 นั้น พระเจ้าอลองพญาทรงให้เรียกประชุมแม่ทัพนายกอง เพื่อหารือว่าจะทำอย่างไรต่อไปในการล้อมกรุงศรีอยุธยา มังฆ้องนรธา แม่ทัพกองหน้าและพระสหายวัยเยาว์ของพระเจ้าอลองพญา ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดของพระเจ้าอลองพญาในการรุกรานกรุงศรีอยุธยาในครั้งนี้คือ;[7]

  • พระเจ้าอลองพญาทรงเริ่มการรุกรานกรุงศรีอยุธยาช้าจนเกินไป พระเจ้าอลองพญาเสด็จออกจากราชธานีรัตนสิงห์ชเวโบในเดือนแปด (กรกฎาคม) พ.ศ. 2302[7] ลงมาที่เมืองร่างกุ้ง ทรงทราบข่าวว่าเรือพม่าถูกเมืองมะริดยึดเมื่อในเดือนสิบ (กันยายน) และมีพระราชโองการเตรียมการเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาและเชียงใหม่ในเดือนสิบเช่นเดียวกัน[19] แต่พระเจ้าอลองพญาทรงใช้เวลาในช่วงต้นฤดูแล้งไปกับการบำเพ็ญกุศลที่เจดีย์ชเวดากอง และการลงพระอาญาชาวอังกฤษที่เมืองเนกราย พระเจ้าอลองพญาทรงมีกำหนดที่จะยกทัพออกจากเมืองร่างกุ้งเพื่อเข้าโจมตีเมืองทวาย นับตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม แต่ล่าช้าไปสองสัปดาห์ และเสด็จยกทัพออกมาในวันที่ 21 ธันวาคม[19] เมื่อยกออกจากเมืองร่างกุ้งแล้ว พระเจ้าอลองพญาทรงจำต้องใช้เส้นทางตีผ่านเมืองทวายมะริดตะนาวศรี เข้าทางด้านสิงขร ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยาวและอ้อม พระเจ้าอลองพญาทรงใช้เวลาถึงประมาณสามเดือน นับตั้งแต่เดือนอ้าย (ธันวาคม) จนถึงเดือนสี่ (มีนาคม) พ.ศ. 2302 กว่าจะถึงชานกรุงศรีอยุธยา เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว ฝ่ายพม่าพระเจ้าอลองพญามีเวลาเพียงแค่หนึ่งเดือน ในการบีบบังคับให้อยุธยายอมจำนน ก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึงในเดือนหก (พฤษภาคม) ซึ่งกรุงศรีอยุธยามีกำแพงเมืองที่ใหญ่โตแข็งแรง ได้รับการเสริมสร้างโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศสในรับสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ฯ และมีเสบียงอาหารอาวุธยุทโธปกรณ์ล้นเหลือ เวลาเพียงหนึ่งเดือนจึงไม่สามารถบีบให้กรุงศรีอยุธยายอมจำนนได้ มังฆ้องนรธาเสนอว่า หากพระเจ้าอลองพญาประสงค์จะตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้ภายในหนึ่งปี ต้องเริ่มยกทัพตั้งแต่ต้นฤดูแล้ง เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการบีบบังคับกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายพม่าจะได้ตีหัวเมืองรายทางของสยามให้ได้ทั้งหมดตั้งแต่ภายในเดือนอ้าย (ธันวาคม) หรือเดือนยี่ (มกราคม)
  • เส้นทางการเดินทัพ: เส้นทางที่พม่ามักใช้ในการเข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยาได้ได้แก่ เส้นทางด่านเจดีย์สามองค์ผ่านทางกาญจนบุรี เส้นทางด่านแม่ละเมาเมืองตาก เส้นทางด่านเมืองราชบุรี หรือมาจากเมืองเชียงใหม่หากว่าเชียงใหม่อยู่ภายใต้อำนาจของพม่า พระเจ้าอลองพญาจำต้องใช้เส้นทางเมืองทวายมะริดตะนาวศรี เนื่องจากพระเจ้าอลองพญาทรงต้องตีเมืองทวายให้ได้เสียก่อน เมืองทวายเป็นนครรัฐอิสระมานับตั้งแต่การล่มสลายของราชวงศ์ตองอูในพ.ศ. 2295 เมืองทวายไม่ยอมรับอำนาจของพระเจ้าอลองพญา พระเจ้าอลองพญาทรงประกาศว่าเมืองทวายนั้นเป็นกบฏต่อพระองค์[19] การที่พระเจ้าอลองพญาตีเมืองทวายได้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2302 นั้น ถือว่าพระเจ้าอลองพญาทรงได้บรรลุการรวบรวมอาณาจักรพม่าได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อตีเมืองทวายได้แล้ว พระเจ้าอลองพญาจึงเสด็จยกไปตีเมืองมะริดต่อ และมีสาสน์มาถึงกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากว่าพระเจ้าอลองพญาทรงกำลังจะเข้าสู่เขตแดนของสยาม ราชสำนักกรุงศรีอยุธยามีปฏิกิริยาต่อการรุกรานของพระเจ้าอลองพญา ก็ต่อเมื่อฝ่ายพม่าเริ่มเข้าโจมตีเมืองมะริดแล้วเท่านั้น เนื่องจากเมืองทวายในขณะนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยา หลังจากผ่านด่านสิงขรเข้ามาแล้ว พระเจ้าอลองพญาทรงต้องตีหัวเมืองรายทางได้แก่ กุยบุรี เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี กว่าจะถึงกรุงศรีอยุธยา ใช้เวลาประมาณสามเดือน เส้นทางจากทวายมะริดตะนาวศรี ผ่านด่านสิงขรเข้าสู่หัวเมืองภาคตะวันตกริมอ่าวไทย เป็นเส้นทางที่ยาวและอ้อม มังฆ้องนรธาเสนอว่า พระเจ้าอลองพญาควรใช้เส้นทางเดินทางที่สั้นกว่านี้และตรงเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาได้โดยตรง[7]

นอกจากนี้ ความรีบร้อนเร่งรีบของแม่ทัพนายกองพม่ายังเป็นปัญหาให้แก่พระเจ้าอลองพญา เมื่อทัพพม่าได้เห็นถึงความอ่อนแอไร้ประสิทธิภาพของกองกำลังฝ่ายสยามแล้ว แม่ทัพนายกองพม่าจึงมีความหึกเหิมต้องการที่จะได้ความดีความชอบแก่งแย่งกันพิชิตหัวเมืองรายทางให้ได้เร็วที่สุด เมื่อพระเจ้าอลองพญาทรงกำลังโจมตีเมืองกุยบุรีอยู่นั้น มีแม่ทัพกองหน้าของพม่าบางส่วนยกไปถึงเมืองเพชรบุรีแล้ว[19] ทำให้พระเจ้าอลองพญาทรงต้องมีหมายรับสั่งออกมาหลายครั้ง[19] เพื่อควบคุมแม่ทัพนายกองไม่ให้ยกล้ำไปข้างหน้ามาเกินไป เนื่องจากหากทัพหน้าของพม่าถูกฝ่ายสยามโจมตี ฝ่ายทัพหลวงของพระเจ้าอลองพญาจะไม่สามารถเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ดังเช่นเหตุการณ์ในการรบที่แม่น้ำตาลาน หรือแม่น้ำน้อย เจ้าชายมังระศิริธรรมราชาราชบุตรของพระเจ้าอลองพญาทรงต้องการที่จะยกทัพข้ามแม่น้ำน้อยเข้าโจมตีทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาอย่างรวดเร็ว แต่พระเจ้าอลองพญาทรงห้ามไว้และให้รอทัพหลวงมาถึงก่อน ฝ่ายเจ้าชายมังระทรงไม่ฟังและยกทัพพม่าข้ามแม่น้ำน้อย เป็นโอกาสให้เจ้าพระยากลาโหมคลองแกลบสั่งให้ฝ่ายสยามยิงระดมปืนใส่ทหารพม่าที่กำลังข้ามแม่น้ำน้อย ทำให้ฝ่ายพม่าสูญเสียล้มตายจำนวนมากจนเกือบที่จะพ่ายแพ้ จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าอลองพญาทรงยกทัพหลวงเข้ามาช่วยหนุนได้ทันเวลา[7] จึงสามารถกอบกูสถานการณ์ได้

ยุทธศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา

[แก้]

เมื่อพระเจ้าอลองพญายกทัพพม่าเข้ารุกรานสยามนั้น พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชโองการให้พระยายมราชและพระยารัตนาธิเบศร์ยกออกไปรับสกัดทัพพม่า แต่ถูกฝ่ายพม่าตีแตกพ่ายถอยกลับมา ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาไม่สามารถต้านทัพพม่าที่ปลายแดนหรือหัวเมืองได้ เนื่องจากแม่ทัพและกองกำลังฝ่ายพม่ามีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการรบอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่แม่ทัพนายกองฝ่ายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งคือขุนนางเสนาบดีจตุสดมภ์ที่ขาดประสบการณ์ทางทหาร เมื่อไม่สามารถต้านทัพพม่าที่หัวเมืองได้ กรุงศรีอยุธยาจึงใช้ยุทธศาสตร์ดั้งเดิมนั่นคือการตั้งรับภายในพระนครศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาไม่ต้องการที่จะรักษาหัวเมืองรายทางไว้ ปล่อยให้เสียแก่พม่าทั้งหมด เน้นการรักษาราชธานีส่วนกลางเป็นสำคัญ พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชโองการให้บรรดาเจ้าเมืองยกทัพมาช่วยป้องกันราชธานี[9] ทำให้หัวเมืองรอบนอกไม่สามารถป้องกันตนเองได้ จึงถูกพม่าเข้าพิชิตยึดครองและยกทัพผ่านไปอย่างง่ายดาย บางเมืองเช่นเพชรบุรียอมจำนนต่อพม่าโดยปราศจากการสู้รบ[19] เมื่อพระเจ้าอลองพญาเข้ายึดเมืองเพชรบุรีแล้ว ก็ได้รักษาเมืองเพชรบุรีไว้ไม่ได้เผาทำลายลงหรือสร้างความเสียหายประการใด

เมื่อพระเจ้าอลองพญาเสด็จยกทัพมาถึงสุพรรณบุรี ทำให้บรรดาขุนนางข้าราชการรวมทั้งราษฎรกรุงศรีอยุธยาตื่นตระหนก เนื่องจากทัพพม่าไม่ได้เข้ามาใกล้ชิดกรุงศรีอยุธยาอย่างมากเท่าครั้งนี้ นับตั้งแต่เมื่อพระเจ้านันทบุเรงเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อพ.ศ. 2129 หรือประมาณสองร้อยปีก่อนหน้า ข้าราชการอาณาประชาราษฎร์จึงอัญเชิญพระเจ้าอุทุมพรขุนหลวงหาวัดให้ออกจากสมณเพศมาช่วยบัญชาการรบ เมื่อพระเจ้าอุทุมพรขุนหลวงหาวัดเสด็จขึ้นบัญชาการรบแล้ว ยังทรงต้องยึดอำนาจในทางการเมืองด้วย ทรงลงพระราชอาญาขุนนางฝ่ายพระเจ้าเอกทัศน์ได้แก่ พระยาราชมนตรี (ปิ่น) และจมื่นศรีสรรักษ์ (ฉิม) ด้วยข้อหาคบชู้ด้วยข้างใน ซึ่งเป็นข้อหาทางการเมืองที่ใช้ในการทำลายฝ่ายตรงข้ามในการเมืองของกรุงศรีอยุธยา แม้แต่เจ้าพระยาพระคลังผู้ว่าที่สมุหนายกยังถูกจำคุกด้วยข้อหาต้องสงสัยว่าเป็นใจด้วยพม่า[29] ในขณะที่ขุนนางเสนาบดีจตุสดมภ์ยกทัพกรุงฯออกไปสู้รบกับพม่านั้น ขุนนางฝ่ายพระเจ้าเอกทัศน์ถูกลงพระราชอาญาลงหวายจนถึงสิ้นชีวิต การเมืองภายในของอยุธยายังคงครุกรุ่นแม้ว่ากำลังเผชิญกับภัยคกคามจากภายนอก ในการรบที่ตาลาน เจ้าพระยากลาโหมคลองแกลบสิ้นชีวิตในที่รบ พงศาวดารพม่าระบุว่า ฝ่ายพม่าสามารถจับกุมตัวแม่ทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาได้ทุกคน แล้วจึงปล่อยตัวในภายหลัง[7] ทั้งพระยายมราช พระยารัตนาธิเบศร์ พระยาราชวังสัน พระยาสีหราชเดโช แล้วจึงเกิดความขัดแย้งขึ้นอีก เมื่อพระยาราชวังสันยิงปืนแย้งเข้าใส่ค่ายของพระยารัตนาธิเบศร์ พระยารัตนาธิเบศร์จึงนำความไปทูลฟ้องต่อพระเจ้าอุทุมพร พระเจ้าอุทุมพรจึงลงพระราชอาญาแก่พระยาราชวังสันด้วยการลงหวายจนสิ้นชีวิต[9]

กรุงศรีอยุธยาอาศัยการป้องกันสองประการที่สำคัญได้แก่ กำแพงเมืองที่แข็งแรง และปรากฏการณ์ธรรมชาติคือฤดูฝน หากพม่าต้องการที่จะพิชิตกรุงศรีอยุธยา จะต้องเอาชนะด่านป้องกันกรุงศรีอยุธยาทั้งสองประการนี้ให้สำเร็จ ในสงครามพระเจ้าอลองพญาในครั้งนี้ ฝ่ายพม่ายังไม่สามารถเอาชนะกำแพงเมืองและฤดูฝนได้ เจ้าพระยาอภัยราชา (ประตูจีน) กราบทูลว่า เมื่อฤดูฝนมาถึงแล้วทัพพม่าจะถอยไปเอง ไม่มีความจำเป็นต้องยกทัพออกไปต่อกรสู้รบกับพม่า[7] จะเป็นการสูญเสียกำลังพลโดยเปล่า เป็นการตอกย้ำยุทธศาสตร์ตั้งรับของกรุงศรีอยุธยา จนสุดท้ายเมื่อพระเจ้าอลองพญาประชวร และฤดูฝนกำลังมาถึง ยังไม่สามารถตีหักเอากรุงศรีอยุธยาได้ ฝ่ายพม่าจึงถอยทัพกลับไปในที่สุด ยุทธศาสตร์แบบตั้งรับภายในพระนครของกรุงศรีอยุธยาจึงยังคงได้ผล แต่เป็นครั้งสุดท้าย สามารถผัดผ่อนเลื่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาออกไปได้เพียงเจ็ดปี

เหตุการณ์ต่อเนื่อง

[แก้]

ความขัดแย้งในพม่า

[แก้]

เมื่อพระเจ้าอลองพญาสวรรคต มีพระราชโองการให้สืบต่อราชสมบัติจากพี่ไปน้อง ให้พระโอรสของพระเจ้าอลองพญาทุกองค์ได้ครองราชสมบัติก่อนตามลำดับอาวุโส ถึงแม้ว่าเจ้าชายมังระ จะเป็นเจ้าชายที่มีบทบาทและผลงานทางการทหารมากที่สุด นับตั้งแต่ที่เจ้าชายมังระสามารถยึดเมืองอังวะจากมอญได้ในพ.ศ. 2297 และการเข้าร่วมสงครามโจมตีกรุงศรีอยุธยาเป็นทัพหน้าให้แก่พระราชบิดา แต่เจ้าชายมังระนั้นเป็นพระโอรสองค์รอง โอรสองค์โตของพระเจ้าอลองพญาคือ เจ้าชายมังลอก ได้สำเร็จราชการแทนพระเจ้าอลองพญาในเมืองชเวโบ นับตั้งแต่ที่พระเจ้าอลองพญาเสด็จลงมาเมืองร่างกุ้งเมื่อกลางปีพ.ศ. 2302 เมื่อพระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์ สุดท้ายเจ้าชายมังระอ่อนน้อมต่อพระเชษฐา เจ้าชายมังลอกจึงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้ามังลอก หรือ พระเจ้านองดอว์จี (Naungdawgyi พม่า: နောင်တော်ကြီး) กษัตริย์พระองค์ที่สองแห่งราชวงศ์คองบอง

เมื่อพระเจ้ามังลอกขึ้นครองราชสมบัตินั้น ต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งภายใน แม่ทัพมังฆ้องนรธา ซึ่งพระเจ้าอลองพญาได้มีพระราชโองการให้คุมทัพหลังจำนวน 10,000 คน เป็นทัพหลังถอยทัพจากกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ามังลอกเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของมังฆ้องนรธามีความน่าสงสัย อาจเป็นกบฏ จึงมีราชโองการให้เจ้าชายสะโดสิงคสู (Thado Theinkathu) พระเจ้าตองอูผู้เป็นพระเจ้าอา เป็นอนุชาของพระเจ้าอลองพญา ให้ดำเนินการเข้าล้อมจับกุมตัวมังฆ้องนรธา เมื่อมังฆ้องนรธายกทัพเคลื่อนผ่านเมืองตองอูกลับเมืองชเวโบ แต่ทว่ามังฆ้องนรธาสามารถหลุดรอดหลบหนีได้พร้อมกำลังส่วนหนึ่ง มังฆ้องนรธามีความโกรธเคืองต่อพระเจ้ามังลอกจึงก่อกบฏขึ้น นำกำลังเข้ายึดเมืองอังวะไว้ได้ยึดเป็นฐานที่มั่นในเดือนหก[46] (พฤษภาคม พ.ศ. 2303) พระเจ้ามังลอกเสด็จยกทัพจำนวน 50,000 คน[46] ลงมาที่เมืองสะกาย ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำอิระวดีกับเมืองอังวะ เพื่อเข้าโจมตีเมืองอังวะ ในขณะเดียวกันพระเจ้ามังลอกได้ประกอบพิธีราชาภิเษกที่เมืองสะกายในเดือนมิถุนายน ย้ายราชธานีจากชเวโบมาอยู่ที่เมืองสะกาย และตั้งเจ้าชายมังระอนุชาเป็นอุปราช ฝ่ายพระเจ้ามังลอกยกเข้าตีเมืองอังวะหลายครั้งไม่สำเร็จ นายลาวีนชาวฝรั่งเศสผู้เคยยุยงให้พระเจ้าอลองพญาสังหารชาวอังกฤษที่เมืองเนกรายนั้น เสียชีวิตในการรบที่เมืองอังวะ

ในระหว่างที่พระเจ้ามังลอกทรงล้อมเมืองอังวะอยู่นั้น กัปตันวอลเตอร์อัลเวส (Captain Walter Alves) ผู้แทนชาวอังกฤษ ได้เดินทางมาเข้าเฝ้าพระเจ้ามังลอกที่เมืองสะกายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2303 เรียกร้องให้ราชสำนักพม่าชดใช้ค่าเสียหายต่อเหตุการณ์การสังหารหมู่ชาวอังกฤษที่เมืองเนกราย เมื่อปีพ.ศ. 2302 เมื่อหนึ่งปีก่อนหน้า พระเจ้ามังลอกต้องการสานสัมพันธ์กับอังกฤษเนื่องจากต้องการปืนคาบศิลาไว้ใช้ในการสงคราม แต่ไม่ยอมรับว่าพม่าเป็นฝ่ายผิดในเหตุการณ์เมืองเนกราย พระเจ้ามังลอกทรงยินยอมให้ปล่อยตัวนักโทษชาวอังกฤษที่หลงเหลือ แต่อังกฤษตัดสินใจตัดสัมพันธ์กับพม่าเนื่องจากเห็นว่าการตั้งสถานีการค้าในพม่านั้นไม่ได้ประโยชน์ พระเจ้ามังลอกทรงล้อมเมืองอังวะอยู่เป็นเวลาเจ็ดเดือน[46] จนกระทั่งเดือนธันวาคม พ.ศ. 2303 ฝ่ายมังฆ้องนรธาอ่อนกำลังลง จึงถอนกำลังออกจากเมืองอังวะ พระเจ้ามังลอกจึงสามารถเข้ายึดเมืองอังวะได้ในที่สุด มังฆ้องนรธาถูกยิงเสียชีวิตขณะหลบหนี เมื่อปราบกบฏมังฆ้องนรธาได้แล้ว พระเจ้ามังลอกจึงเสด็จกลับไปประทับที่เมืองชเวโบ

ต่อมาในกลางปีพ.ศ. 2304 เจ้าชายสะโดสิงคสู พระเจ้าตองอูผู้เป็นพระเจ้าอาของพระเจ้ามังลอก เป็นอนุชาของพระเจ้าอลองพญา หรือที่พงศาวดารไทยเรียกว่า สะโดมหาสิริอุจนา ก่อการกบฎขึ้นที่เมืองตองอู ส่งกองกำลังไปโจมตีเมืองแปรกวาดต้อนคนเข้าเมืองตองอู[46] และขอความช่วยเหลือจากตาละปั้น อดีตแม่ทัพมอญหงสาวดีผู้แตกหนีไปตั้งแต่พ.ศ. 2299 หลบซ่อนอาศัยอยู่ที่ถ้ำคอกุน (Kawgun) เหนือเมืองเมาะตะมะ พระเจ้ามังลอกเสด็จยกทัพจำนวน 30,000 คน[46] จากเมืองชเวโบ เข้าโจมตีล้อมเมืองตองอู ในขณะเดียวกัน ตาละปั้นพร้อมทั้งพระยาเจ่ง (Binnya Kyin)[7] ยกทัพมอญจำนวน 2,000 คน เข้ามาทางเมืองสะโตง หมายจะเข้าช่วยพระเจ้าตองอู พระเจ้ามังลอกจึงเสด็จยกทัพเข้าตีเมืองตองอู สามารถยึดเมืองตองอูได้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2305 พระเจ้ามังลอกทรงไว้ชีวิตพระเจ้าอาผู้เป็นกบฏแต่จับกุมไปไว้ หลังจากปราบกบฏลงทั้งหมดแล้ว ฝ่ายพม่าในรัชกาลของพระเจ้ามังลอกจึงพร้อมสำหรับสงครามครั้งใหม่

ความขัดแย้งในกรุงศรีอยุธยา

[แก้]

หลังจากที่พม่าได้ถอยกลับไปแล้ว กรุงศรีอยุธยาจึงเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองภายในราชสำนักอีกครั้งหนึ่ง เจ้าพระยาพระคลังได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวออกจากคุกในวันที่ 29 เมษายน[29] มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลังไปบวช เพื่อชดใช้ความผิด ต่อมาไม่นานจึงกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง ในเดือนแปดข้างขึ้น[9] (มิถุนายน พ.ศ. 2303) สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งได้ออกจากสมณเพศมาช่วยราชการศึกทัพพม่านั้น เสด็จมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์พระเชษฐา ทอดพระเนตรพระเจ้าเอกทัศน์ทรงวางพระแสงดาบถอดพาดพระเพลาอยู่[9] พระเจ้าอุทุมพรจึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งไปวัดโพธิ์ทองคำหยาด ในวันที่ 14 กรกฎาคม[29] เพื่อทรงออกผนวช แล้วเสด็จมาดำรงฐานะสมณเพศที่วัดประดู่อีกครั้งหนึ่ง ขุนนางข้าราชการผู้ให้การสนับสนุนแก่พระเจ้าอุทุมพร ได้ออกบวชเป็นพระสงฆ์ตามพระเจ้าอุทุมพรไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ขุนนางฝ่ายพระเจ้าเอกทัศน์กลับขึ้นมามีอำนาจในราชสำนักอยุธยาอีกครั้ง ต่อมาสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชโองการให้กรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์เป็นแม่กองซ่อมแซมพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์[9] ที่ถูกปืนใหญ่ของพม่าเสียหาย

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2304 ชาวมอญอพยพที่นครนายกจำนวน 600 คน เป็นกบฏขึ้น ยกออกไปตั้งที่เขานางบวช แขวงเมืองนครนายกเป็นที่มั่น พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชโองการให้พระยาสีหราชเดโช ยกทัพกรุงศรีอยุธยาจำนวน 2,000 คน ออกไปปราบกบฏมอญ ฝ่ายกบฏมอญมีอาวุธเพียงแค่ท่อนไม้เป็นอาวุธ สามารถต้านทัพจากกรุงฯได้ พระเจ้าเอกทัศน์จึงมีพระราชโองการให้พระยายมราช และพระยาเพชรบุรี (เรือง) นำทัพ 3,000 คนออกไปอีกครั้ง และพระเจ้าอุทุมพรขุนหลวงหาวัดได้ทรงจัดให้ข้าราชการของพระองค์เข้าร่วมด้วย[29] จึงสามารถปราบกบฏมอญเขานางบวชลงได้สำเร็จ

เมื่อทัพพม่าของพระเจ้าอลองพญาถอยกลับไปแล้ว พม่าเข้ายึดครองเมืองทวายได้ แต่เมืองมะริดและตะนาวศรีนั้นกลับคืนเป็นของสยาม พระเจ้าเอกทัศน์ทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองตะนาวศรีคนใหม่[29] ในพ.ศ. 2304 มีกองกำลังพม่า 3,000 คน มอญ 3,000 คน[29] เข้าโจมตีเมืองทวาย เจ้าเมืองทวายขอกำลังช่วยเหลือจากกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชโองการให้พระยาตะนาวเจ้าเมืองตะนาวศรีคนใหม่ ซึ่งมีเชื้อสายแขกมลายู[29] นำกำลังไปช่วยเมืองทวาย แต่พระยาตะนาวเตรียมทัพไม่ทันการฝ่ายเมืองทวายสามารถขับไล่มอญพม่าออกไปได้เสียก่อน

ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งได้ถูกเนรเทศลงเรือกำปั่นฮอลันดาไปยังนครสิงขัณฑ์เมืองแคนดีเกาะลังกา ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2302 นั้น ปีต่อมาพ.ศ. 2303 ขุนนางลังกาและพระสงฆ์สยามนิกายสมคบคิดกับฮอลันดาวางแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้ากิตติศิริราชสีห์แห่งลังกา และวางแผนยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นกษัตริย์ลังกาแทน แต่พระเจ้ากิตติศิริราชสีห์ล่วงรู้ถึงแผนการ จึงเนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธออกจากลังกา กรมหมื่นเทพพิพิธพร้อมทั้งพระวงศ์เสด็จประพาสรอนแรมในมหาสมุทรอินเดีย จนกระทั่งเสด็จกลับคืนสู่เมืองท่ามะริดของสยามในพ.ศ. 2305 พระเจ้าเอกทัศน์ทรงพระพิโรธ[23] มีพระราชโองการให้กักตัวกรมหมื่นเทพพิพิธไว้ที่เมืองตะนาวศรีมิให้มากรุงศรีอยุธยา ในขณะเดียวกัน พ.ศ. 2306 หลังจากที่พระเจ้ามังลอกสิ้นพระชนม์ ขุนนางพม่าชื่อว่า หุยตองจา หรืออูดองส่า[17] ได้กบฏต่อพม่าเข้ายึดอำนาจในเมืองทวาย สังหารเจ้าเมืองทวายที่พม่าได้แต่งตั้งไว้ พร้อมทั้งถวายเครื่องบรรณาการเข้ามาสวามิภักดิ์เป็นขัณฑสีมาของกรุงศรีอยุธยา ทำให้สยามมีอำนาจปกครองทวายมะริดตะนาวศรีทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อมังมหานรธาเข้ายึดทวายมะริดตะนาวศรีได้ทั้งหมด ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2308

ในพ.ศ. 2305 จอร์จ ปีโกต (George Pigot) เจ้าเมืองมัทราสของอังกฤษ ส่งพ่อค้าชาวอังกฤษชื่อว่า วิลเลียม โพว์นีย์ (Willam Powney)[47] มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ เป็นตัวแทนอังกฤษในการมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสยาม วิลเลียม โพว์นีย์ ถวายสิงโต ถวายม้าอาหรับ และนกกระจอกเทศแด่พระเจ้าเอกทัศน์ นายโพว์นีย์เจรจาขอให้กรุงศรีอยุธยาอนุญาตให้อังกฤษเข้ามาตั้งสถานีการค้าที่เมืองท่ามะริด[47] แต่การริเริ่มความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและสยามนั้น ต้องหยุดชะงักไปจากการเสียกรุงฯในพ.ศ. 2310 อีกห้าปีต่อมา

พม่าพิชิตล้านนา

[แก้]
พม่าเข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่ในพ.ศ. 2305 ตั้งทัพที่วัดเวฬุวันกู่เต้า จนกระทั่งได้เมืองเชียงใหม่ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2306

เจ้าองค์คำได้แยกเมืองเชียงใหม่ออกจากการปกครองของพม่า เป็นอิสระตั้งแต่พ.ศ. 2270 เจ้าองค์คำแห่งเชียงใหม่ถึงแก่พิราลัยในพ.ศ. 2302 โอรสคือเจ้าองค์จันทร์ขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่องค์ต่อมา หลังจากที่ตาละปั้นหลบหนีออกจากเมืองหงสาวดีในพ.ศ. 2299 ไปซ่อมสุมอยู่ที่แขวงเมืองเมาะตะมะนั้น ตาละปั้นเป็นภัยคุกคามต่อราชสำนักคองบองมาโดยตลอด ในพ.ศ. 2305 พระเจ้ามังลอกทรงส่งกองกำลังจำนวน 3,500 คน ไปปราบแม่ทัพมอญตาละปั้น ที่คอกุนเหนือเมืองเมาะตะมะ สามารถจับตัวตาละปั้นกลับมาได้ไปไว้ที่เมืองชเวโบ พระเจ้ามังลอกทรงไว้ชีวิตตาละปั้น ในขณะเดียวกัน ฝ่ายราชสำนักพม่ามองว่าเมืองเชียงใหม่ให้ที่พักพิงแก่ตาละปั้น พระเจ้ามังลอกทรงแต่งทัพจำนวน 7,500 คน นำโดยอภัยคามณี (Abaya Kamani)[7] เป็นแม่ทัพ มีแมงละสิริเป็นปลัดทัพ ยกออกไปโจมตีเมืองเชียงใหม่ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2305 ถึงเมืองเชียงใหม่เดือนธันวาคม ตั้งอยู่ที่วัดเวฬุวันกู่เต้าเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายเมืองเชียงใหม่มีศุภอักษรขอความช่วยเหลือจากกรุงศรีอยุธยา หลังจากที่ล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่เป็นเวลาแปดเดือน อภัยคามณีจึงสามารถพิชิตยึดเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อวันแรมแปดค่ำเดือนเก้า (31 สิงหาคม พ.ศ. 2306) พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (เรือง) เจ้าเมืองพิษณุโลก นำกองกำลังหัวเมืองเหนือ 5,000 คน[9] ยกไปช่วยเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่ทันการ เมืองเชียงใหม่เสียให้แก่พม่าแล้วจึงถอยกลับ ฝ่ายพม่ากวาดต้อนชาวเมืองเชียงใหม่กลับไปพม่าจนเกือบหมดสิ้น และยังสามารถคุมตัวเจ้าจันทร์กษัตริย์เชียงใหม่ และสมิงทอ อดีตกษัตริย์หงสาวดี ซึ่งได้มาลี้ภัยอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ตั้งแต่พ.ศ. 2292 กลับไปได้เช่นกัน

พระเจ้ามังลอกกษัตริย์พม่าประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อแรมเก้าค่ำเดือนอ้าย[7] (28 ธันวาคม พ.ศ. 2306) พระชนมายุ 29 ชันษา อยู่ในราชสมบัติได้สามปีเศษ เจ้าชายมังระอุปราชผู้เป็นอนุชา อายุ 27 ชันษา จึงขึ้นครองราชสมบัติต่อมาเป็นพระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่าพระองค์ที่สามแห่งราชวงศ์คองบอง อภัยคามณีนำเชลยเชียงใหม่กลับมาถึง พระเจ้ามังระทรงปูนบำเหน็จให้อภัยคามณีเป็นเมี้ยวหวุ่นหรือเจ้าเมืองเชียงใหม่ และให้แมงละสิริเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นมังมหานรธา ในขณะที่อภัยคามณีอยู่ที่เมืองอังวะนั้น หัวเมืองล้านนาเป็นกบฏขึ้นต่อพม่า นำโดยแสนขวางเมืองพะเยา และเจ้าเมืองลำพูน พระเจ้ามังระจึงมีพระราชโองการให้โปสุพลาหรือเนเมียวสีหบดีนำทัพพม่าจำนวน 20,000 คน ยกออกไปในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2307 เพื่อปราบกบฏล้านนาและยกต่อไปโจมตีกรุงศรีอยุธยาจากทางทิศเหนือในคราวเดียว เนเมียวสีหบดีปราบแสนขวางที่เมืองพะเยา เข้ายึดเมืองลำปาง เมืองลำพูน เมื่อเนเมียวสีหบดีปราบหัวเมืองล้านนาได้หมดแล้ว จึงพักค้างฤดูฝนอยู่ที่เมืองน่าน นอกจากนี้ เนเมียวสีหบดียังส่งกองกำลังเข้ายึดเมืองเชียงตุง และเลยไปเข้าโจมตีสิบสองปันนา นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างพม่าและจีนราชวงศ์ชิง ในสงครามจีน-พม่า

พม่าโจมตีสยาม พ.ศ. 2308

[แก้]

เมื่อพระเจ้ามังระขึ้นครองราชสมบัติแล้ว มีปณิธานที่จะเข้าพิชิตกรุงศรีอยุธยาให้สำเร็จ เนื่องจากพระเจ้ามังระได้เคยติดตามพระราชบิดาคือพระเจ้าอลองพญาในการเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อพ.ศ. 2303 เมื่อสามปีก่อนหน้า พระเจ้ามังระมีประสบการณ์และมีความรู้ในลักษณะสภาพภูมิประเทศของสยาม และล่วงรู้ยุทธศาสตร์วิธีการรบของกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ามังระทรงประกาศต่อขุนนางว่ากรุงศรีอยุธยานั้นยังไม่เคยถูกปราบจนราบคาบมาก่อน มีกำลังพลเสบียงและยุทโธปกรณ์มหาศาล กองทัพของเนเมียวสีหบดีในล้านนาเพียงกองเดียว ที่ได้วางแผนเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาทางทิศเหนือนั้น ไม่เพียงพอ สมควรที่จะต้องแต่งทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาทางเมืองทวายอีกเมืองหนึ่ง พระเจ้ามังระจึงมีพระราชโองการให้มังมหานรธาเป็นแม่ทัพ ยกทัพพม่าและมอญจำนวน 20,000 คน ยกเข้าโจมตีเมืองทวายและกรุงศรีอยุธยาอีกทางหนึ่ง ทัพของมังมหานรธาออกจากเมืองชเวโบในวันขึ้นแปดค่ำเดือนอ้าย[7] (1 ธันวาคม พ.ศ. 2307)

ในพ.ศ. 2304 พระเจ้าโกริศยามแห่งมณีปุระ สละราชสมบัติให้แต่พระอนุชาคืออุปราชภัคยจันทร์ ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าจิงธังโคมบา (Chingthang Khomba) หรือพระเจ้าชัยสิงห์แห่งมณีปุระ พระเจ้าชัยสิงห์จิงธังโคมบาเห็นถึงภัยคุกคามจากพม่า จึงส่งตัวแทนไปทำสนธิสัญญากับอังกฤษที่เมืองจิตตะกองในพ.ศ. 2305[21] โดยที่อังกฤษสัญญาว่าหากมณีปุระถูกพม่าโจมตี อังกฤษจะเข้าช่วยเหลือมณีปุระ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2308 พระเจ้ามังระหลังจากที่แต่งทัพเข้าโจมตีอยุธยาทางเมืองทวายแล้ว จึงเสด็จยกทัพด้วยพระองค์เองเข้าโจมตีมณีปุระ พระเจ้าชัยสิงห์ออกรบพระเจ้ามังระในเดือนกุมภาพันธ์แต่พ่ายแพ้ พระเจ้ามังระเข้ายึดมณีปุระได้สำเร็จ ฝ่ายอังกฤษเมืองจิตตะกองยกทัพมาช่วยมณีปุระแต่ยกมาไม่ถึงเนื่องจากสภาพภูมิประเทศขวางกั้น[21] พระเจ้าชัยสิงห์แห่งมณีปุระจำต้องเสด็จหลบหนีไปยังเมืองกาจาร์ (Cachar) เพื่อขอความช่วยเหลือจากอาณาจักรอาหม[21]

ในขณะเดียวกันนั้น ฝ่ายมังมหานรธาเข้าโจมตียึดเมืองทวายมะริดตะนาวศรีได้ทั้งหมดในเดือนมกราคมพ.ศ. 2308 หุยตองจาเจ้าเมืองทวายและกรมหมื่นเทพิพิธหลบหนีเข้ามา มังมหานรธาส่งกำลังเข้ายึดเมืองเพชรบุรีราชบุรีได้อย่างรวดเร็ว พระเจ้าเอกทัศน์โปรดฯพระราชทานให้หุยตองจาไปอยู่ที่ชลบุรี และกรมหมืนเทพพิพิธไปอยู่ที่จันทบุรี และเนเมียวสีหบดียกทัพพม่าจากเมืองน่านเข้าโจมตีสามารถยึดเมืองหลวงพระบางได้สำเร็จ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2308 เป็นเหตุให้อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง และอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ เข้ามากลายเป็นเมืองขึ้นประเทศราชของพม่า พระเจ้ามังระประทับอยู่ที่มณีปุระอยู่เป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือน แล้วจึงทรงแต่งตั้งให้เจ้าชายโมยรัง (Moirang) ซึ่งเป็นพระปิตุลาและเป็นศัตรูทางการเมืองของพระเจ้าชัยสิงห์ ให้เป็นกษัตริย์หุ่นเชิดแห่งมณีปุระภายใต้อำนาจของพม่า[12] แล้วพระเจ้ามังระจึงเสด็จกลับพม่า กวาดต้อนชาวกระแซมณีปุระกลับพม่าเป็นจำนวนมาก พระเจ้ามังระทรงเห็นว่า ราชธานีเมืองชเวโบรัตนสิงห์นั้น ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ไม่สะดวกต่อการปกครองอาณาจักร พระเจ้ามังระจึงทรงย้ายราชธานีจากเมืองชเวโบมาประทับที่เมืองอังวะ เมื่อขึ้นสิบเอ็ดค่ำเดือนห้า[7] (1 เมษายน พ.ศ. 2308)

แผนที่แสดงเส้นทางของทัพพม่าในการเข้าโจมตีอยุธยา ในพ.ศ. 2308 ทัพฝ่ายตะวันตก ของมังมหานรธา จากทวาย และทัพฝ่ายเหนือ ของเนเมียวสีหบดี จากเชียงใหม่ มาบรรจบกับที่อยุธยา ในต้นปีพ.ศ. 2309

ทัพพม่าฝ่ายเหนือของเนเมียวสีหบดี ยกลงมาจากเมืองลำปางในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2308 ยกลงมาก่อน เนื่องจากเส้นทางโจมตีอยุธยาจากทางเหนือมีระยะไกลว่าเส้นทางของมังมหานรธาจากทางทิศตะวันตก[8] เนเมียวสีหบดีตีได้หัวเมืองเหนือทั้งปวง ได้แก่ สวรรคโลก สุโขทัย ลงไปจนถึงนครสวรรค์ อ่างทอง ในปลายปีพ.ศ. 2308 เดือนธันวาคม มังมหานรธายกทัพออกจากเมืองทวายเข้าโจมตียึดหัวเมืองปากแม่น้ำเจ้าพระยา ธนบุรี นนทบุรี ได้สำเร็จ ฝรั่งอะลังกะปูนี หรือ วิลเลียม พอว์นีย์ พ่อค้าชาวอังกฤษ เข้าช่วยฝรั่งกรุงศรีอยุธยาในการต้านทานทัพพม่า แต่ทัพอังกฤษสยามก็พ่ายแพ้ต่อพม่าในการรบที่นนทบุรี ทัพพม่าจากสองเส้นทางเข้ามาบรรจบกันที่กรุงศรีอยุธยา ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2309 ฝ่ายพม่าคืบเข้ากรุงศรีอยุธยาทางทางสามด้าน ด้านฝั่งทิศตะวันตกมังมหานรธาตั้งทัพที่สีกุก ทิศเหนือเนเมียวสีหบดีตั้งที่โพธิ์สามต้น ทางใต้ปะกันหวุ่นตั้งที่ขนอนบางไทร ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาพระเจ้าเอกทัศน์โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลังยกทัพออกไปรับพม่าที่ปากน้ำประสบทางเหนือ และให้พระยาเพชรบุรี (เรือง) พระยาตาก ออกไปรับพม่าที่วัดภูเขาทองทางตะวันตก ล้วนแต่ถูกพม่าตีแตกพ่ายมาทั้งสิ้น

การล้อมและการเสียกรุงศรีอยุธยา

[แก้]

เมื่อไม่สามารถขับไล่พม่าออกไปได้ ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจึงใช้ยุทธศาสตร์ดั้งเดิม คือกวาดต้อนผู้คนเข้าปิดประตูเมืองตั้งรับภายในพระนคร ฝ่ายพม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา ในระยะแรกกรุงศรีอยุธยายังมีเสบียงอาหารพร้อมบริบูรณ์ ไม่เดือดร้อนต่อการล้อมของพม่า[29] ฝ่ายสยามคาดการณ์ว่าเมือฤดูฝนฤดูน้ำหลากมาถึง ฝ่ายพม่าจะถอยทัพกลับไปเอง แต่ฝ่ายพม่านั้นได้เรียนรู้ข้อบกพร่องของตนเองนับตั้งแต่สงครามพระเจ้าอลองพญา ในพ.ศ. 2303 เมื่อหกปีก่อนหน้า ฝ่ายพม่าพระเจ้ามังระทรงตระหนักว่าการพิชิตกรุงศรีอยุธยาให้ทันภายในหนึ่งปีก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึงนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก จำต้องปักหลักอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาหลายปี เพื่อบีบให้กรุงศรีอยุธยาสิ้นเสบียงและสิ้นกำลัง เมือฤดูน้ำหลากมาถึง ฝ่ายพม่าจะต้องไม่ถอยกลับแต่ต้องยืนหยัดอยู่ต่อไป ฝ่ายพม่าเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยาในเดือนกันยายน[29] โดยมังมหานรธาเข้ามาตั้งที่วัดภูเขาทอง เนเมียวสีหบดีมาตั้งที่โพธิ์สามต้นทางเหนือ ถึงปลายปีพ.ศ. 2309 เดือนธันวาคม กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าล้อมมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี อยู่ในสภาวะโรยรา สิ้นกำลังพลสิ้นเสบียงไปในการรบกับพม่า

ภาพการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2310 จากอนุสรณ์สถานแห่งชาติ

ความขัดแย้งในประเด็นเรื่องสิบสองปันนาและเชียงตุง นำไปสู่สงครามจีน-พม่า หยางอิงจวี่ (楊應琚) ข้าหลวงมณฑลยูนนานและกุ้ยโจว ส่งกองทัพธงเขียวเข้าโจมตีเมืองบ้านหม้อ เมืองไทใหญ่ภายใต้การปกครองของพม่า ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2309 ทำให้พม่าต้องเผชิญศึกสองด้าน ทั้งทางสยามและทางจีน พระเจ้ามังระจึงมีพระราชโองการลงมายังแม่ทัพพม่าที่อยุธยา ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2310 ให้เร่งโจมตีเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาให้ได้โดยเร็ว[7] เพื่อโยกย้ายกำลังพลไปรบกับจีน ฝ่ายพม่าจึงสร้างป้อมล้อมกรุงฯไว้ทั้งหมด 27 ค่าย ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาอาศัยชาวจีนคลองสวนพลู และชาวโปรตุเกสจากบ้านโปรตุเกส ออกไปต้านทานพม่าเป็นด่านสุดท้ายแต่พ่ายแพ้ ระหว่างนี้มังมหานรธาล้มป่วยถึงแก่กรรม เนเมียวสีหบดีจึงขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทัพพม่าทั้งปวงในอยุธยา สุดท้ายเนเมียวสีหบดีให้ขุดอุโมงค์เข้าเผาทำลายรากกำแพงกรุงศรีอยุธยาที่ทางหัวรอ ทำให้กำแพงกรุงฯบริเวณหัวรอพังทลายลง ทัพพม่าจึงสามารถเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ เมื่อขึ้นเก้าค่ำเดือนห้า 7 เมษายน พ.ศ. 2310 พระเจ้าเอกทัศน์สวรรคต ฝ่ายพม่าเผาทำลายกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งกวาดต้อนผู้คน นำทรัพย์สมบัติอาวุธยุทโธปกรณ์และสมบัติทางวัฒนธรรมต่างๆกลับไปยังพม่า

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. Harvey, p. 334
  2. Kyaw Thet, p. 290
  3. Letwe Nawrahta, p. 142
  4. Harvey, p. 246
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 James, SEA encyclopedia, p. 302 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "hj-302" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  6. สายชล สัตยานุรักษ์. พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ( พ.ศ. 2325-2352). พ.ศ. 2546, กรุงเทพฯ; มติชน.
  7. 7.00 7.01 7.02 7.03 7.04 7.05 7.06 7.07 7.08 7.09 7.10 7.11 7.12 7.13 7.14 7.15 7.16 7.17 7.18 7.19 7.20 7.21 7.22 7.23 7.24 7.25 7.26 7.27 7.28 7.29 7.30 7.31 7.32 7.33 7.34 7.35 7.36 7.37 7.38 7.39 7.40 7.41 Phraison Salarak (Thien Subindu), Luang. Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawgyi. Bangkok; February 15, 1916.
  8. 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 8.13 8.14 8.15 8.16 8.17 8.18 8.19 8.20 8.21 8.22 8.23 8.24 8.25 8.26 8.27 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงศรีอยุทธยา. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอรรคโยธินทร์ โปรดให้พิมพ์ครั้งแรก ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมมารดาวาดรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ถนนรองเมือง
  9. 9.00 9.01 9.02 9.03 9.04 9.05 9.06 9.07 9.08 9.09 9.10 9.11 9.12 9.13 9.14 9.15 9.16 9.17 9.18 9.19 9.20 9.21 9.22 9.23 9.24 9.25 9.26 9.27 9.28 9.29 9.30 9.31 9.32 9.33 9.34 9.35 9.36 พระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า"ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม อดีตพระธานกรรมการมูลนิธิ"ทุนพระพุทธยอดฟ้า"ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิริรนทราวาส วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558, ห้องสมุดรัฐสภา. Link
  10. 10.0 10.1 Memchaton Singha. MARRIAGE DIPLOMACY BETWEEN THE STATES OF MANIPUR AND BURMA, 18TH TO 19TH CENTURIES. Proceedings of the Indian History Congress, Vol. 77 (2016). https://www.jstor.org/stable/26552717
  11. 11.00 11.01 11.02 11.03 11.04 11.05 11.06 11.07 11.08 11.09 11.10 11.11 11.12 11.13 11.14 11.15 11.16 11.17 11.18 11.19 11.20 11.21 11.22 11.23 11.24 11.25 ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑: พงศาวดารมอญพม่า
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 Raj Kumar Somorjit Sana. The Chronology of Meetei Monarchs From 1666 CE to 1850 CE. Waikhom Ananda Meetei, พ.ศ. 2553.
  13. จิตรสิงห์ ปิยะชาติ. (2551). กบฏกรุงศรีอยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ:ยิปซีกรุ๊ป.
  14. 14.0 14.1 14.2 นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. พ.ศ. 2550. พิมพ์ครั้งที่ 9, กรุงเทพฯ; มติชน.
  15. 15.0 15.1 สายชล สัตยานุรักษ์. พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ( พ.ศ. 2325-2352). พ.ศ. 2546, กรุงเทพฯ; มติชน.
  16. 16.0 16.1 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๗: เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเจ้าเสือแลแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ภาค ๔. พิมพ์ในงารศพ คุณหญิงผลากรนุรักษ (สงวน เกาไศยนันท์) เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๖๙. พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 17.5 17.6 17.7 17.8 ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยารวม ๓ เรื่อง คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม คำให้การขุนหลวงหาวัด. กรุงเทพ; แสงดาว, พ.ศ. 2553.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 18.6 D. G. E. Hall. Burma. Read Books Limited, พ.ศ. 2556.
  19. 19.00 19.01 19.02 19.03 19.04 19.05 19.06 19.07 19.08 19.09 19.10 19.11 19.12 19.13 19.14 19.15 19.16 19.17 19.18 19.19 19.20 19.21 19.22 19.23 19.24 19.25 19.26 19.27 19.28 Than Tun. The Royal Orders of Burma A.D. 1598 - 1885; Part Three, A.D. 1751 - 1781. The Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University, พ.ศ. 2528.
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 Sir Arthur Purves Phayre. History of Burma: From the Earliest Time to the End of the First War with British India. Trübner & Company, พ.ศ. 2426.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 Rev Dr Koningthung Ngoru Moyon. The Lost Kingdom of Moyon (Bujuur) Iruwng (King) Kuurkam Ngoruw Moyon & The People of Manipur. Shashwat Publication, พ.ศ. 2566.
  22. G. E. Harvey. History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824 The Beginning of the English Conquest. Taylor & Francis, พ.ศ. 2562.
  23. 23.0 23.1 23.2 23.3 ภาวรรณ เรืองศิลป์, ดร. Dutch East India Company Merchants at the Court of Ayutthaya: Dutch Perceptions of the Thai Kingdom, Ca. 1604-1765. BRILL, พ.ศ. 2550.
  24. Francis Mason. Burmah, Its People and Natural Productions. T.S. Ranney, พ.ศ. 2403.
  25. 25.0 25.1 Elizabeth Moore. Dawei Buddhist culture: a hybrid borderland. Myanmar Historical Research Journal, พ.ศ. 2554. https://core.ac.uk/download/pdf/2793845.pdf
  26. วินัย พงศ์ศรีเพียร. ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๗: ประมวลจารึกที่พบในประเทศไทยและต่างประเทศ. พ.ศ. 2534.
  27. James, SEA encyclopedia, pp. 1318-1319
  28. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๘: เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเจ้าบรมโกษฐ
  29. 29.00 29.01 29.02 29.03 29.04 29.05 29.06 29.07 29.08 29.09 29.10 29.11 29.12 29.13 29.14 29.15 29.16 29.17 ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙: เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ กับ ครั้งกรุงธนบุรีแลกรุงรัตนโกสินทรตอนต้น
  30. Journal Of The Burma Research Society Vol.21. American Baptist Mission Press, พ.ศ. 2474.
  31. 31.0 31.1 31.2 31.3 Edward Van Roy. Safe Haven: Mon Refugees at the Capitals of Siam from the 1500s to the 1800s. Journal of Siam Society, Volume 98, พ.ศ. 2553. https://thesiamsociety.org/wp-content/uploads/2010/03/JSS_098_0g_VanRoy_SafeHavenMonRefugeesAtCapitalsOfSiam.pdf
  32. Htin Aung, pp. 167-168
  33. Lieberman, p. 205
  34. Harvey, pp. 241, 250
  35. Phayre, pp. 168-169
  36. Wyatt, p. 116
  37. Htin Aung, pp. 169-170
  38. Myint-U, pp. 287, 299
  39. Hall, Chapter X, p. 24
  40. Steinberg, p. 102
  41. 41.0 41.1 Alaungpaya Ayedawbon, pp. 141-142
  42. 42.0 42.1 42.2 Alaungpaya Ayedawbon, pp. 143-145
  43. Alaungpaya Ayedawbon, p. 229
  44. สายชล สัตยานุรักษ์. พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ( พ.ศ. 2325-2352). พ.ศ. 2546, กรุงเทพฯ; มติชน.
  45. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. พ.ศ. 2550. พิมพ์ครั้งที่ 9, กรุงเทพฯ; มติชน.
  46. 46.0 46.1 46.2 46.3 46.4 คำให้การชาวอังวะ. พิมพ์แจกในงานศพหม่อมเอม ในพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พ.ศ. ๒๔๕๘. พิมพ์ที่โรงพิมพ์เจริญผล ถนนเจริญกรุง
  47. 47.0 47.1 ธีรวัต ณ ป้อมเพชร. Alangkapuni: An English Captain at the Siege of Ayutthaya. Journal of Siam Society, Vol 105, พ.ศ. 2560.

อ้างอิง

[แก้]
  • Baker, Chris, Christopher John Baker, Pasuk Phongpaichit (2009). A history of Thailand (2 ed.). Cambridge University Press. ISBN 0521767687, 9780521767682. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help)
  • Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Frank Cass & Co. Ltd.
  • Htin Aung, Maung (1967). A History of Burma. New York and London: Cambridge University Press.
  • James, Helen (2004). "Burma-Siam Wars and Tenasserim". ใน Keat Gin Ooi (บ.ก.). Southeast Asia: a historical encyclopedia, from Angkor Wat to East Timor, Volume 2. ABC-CLIO. ISBN 1576077705.
  • James, Helen (2000). "The Fall of Ayutthaya: A Reassessment". Journal of Burma Studies. 5: 75–108.
  • Kyaw Thet (1962). History of Union of Burma (ภาษาพม่า). Yangon: Yangon University Press.
  • Lieberman, Victor B. (2003). Strange Parallels: Southeast Asia in Global Context, c. 800–1830, volume 1, Integration on the Mainland. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-80496-7.
  • Myint-U, Thant (2006). The River of Lost Footsteps--Histories of Burma. Farrar, Straus and Giroux. ISBN 978-0-374-16342-6, 0-374-16342-1. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help)
  • Phayre, Lt. Gen. Sir Arthur P. (1883). History of Burma (1967 ed.). London: Susil Gupta.
  • Steinberg, David Joel (1987). David Joel Steinberg (บ.ก.). In Search of South-East Asia. Honolulu: University of Hawaii Press.
  • Wyatt, David K. (2003). History of Thailand (2 ed.). Yale University Press. ISBN 0300084757, 9780300084757. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help)