ข้ามไปเนื้อหา

การกอบกู้เอกราชของเจ้าตาก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประดิษฐาน ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี (วัดคุ้งตะเภา บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์)

การกอบกู้เอกราชของเจ้าตาก นับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นการรวบรวมกองกำลังของเจ้าตาก เพื่อขับไล่กองทัพพม่าที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในกรุงศรีอยุธยา ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง อันส่งผลให้เกิดสภาพจลาจลโดยทั่วไป ราชอาณาจักรอยุธยาเดิมจึงถูกแบ่งออกเป็นชุมนุมต่าง ๆ เป็นอิสระต่อกัน

ราวปี พ.ศ. 2309 ก่อนเสียกรุง พระยาตากได้นำทหารในบังคับบัญชาตีฝ่าวงล้อมของกองทัพพม่าไปทางด้านทิศตะวันออกของกรุงศรีอยุธยา เพื่อรวบรวมผู้คนและยุทธปัจจัยต่าง ๆ มาสู้รบกับกองทัพพม่าอีกครั้ง ในระหว่างนั้นยังได้ตั้งตนเป็นเจ้าเมืองระยอง เมื่อ เจ้าตาก เตรียมกำลังรบจนพร้อมสรรพแล้ว จึงได้เคลื่อนพลกลับไปยังกรุงศรีอยุธยาทางด้านปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อทำการขับไล่ทหารพม่าที่ยังคงเหลืออยู่ออกไปได้

เบื้องหลัง

[แก้]

พระชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้าตากสิน

[แก้]

สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2277[1] ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งอยุธยา พระนามเดิมว่า สิน หรือเจิ้งเจา (鄭昭 พินอิน: Zhèng Zhāo แต้จิ๋ว: dên7 ziao1 แตเจียว) หรือเจิ้งสิน (鄭信 พินอิน: Zhèng Xìn แต้จิ๋ว: dên7 sing3 แตเส่ง) เป็นบุตรของนายเจิ้งยง (鄭鏞 พินอิน: Zhèng Yōng) กับพระราชมารดาชื่อว่านางนกเอี้ยง ซึ่งอาจเป็นคนสยามหรืออาจเป็นคนจีนสกุลแซ่โหงวหรืออาจมีเชื้อสายมอญ[1] เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินก่อนการขึ้นครองราชสมบัติส่วนใหญ่ได้ข้อมูลมาจากงานเขียนเรื่อง"อภินิหารบรรพบุรุษ" ในพงศาวดารปรากฏหลายครั้งว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเป็นบุตรของ"จีนไหฮอง"หรือ"จีนไหหง" ซึ่งคำว่า"ไหฮอง"นี้อาจหมายถึงชื่อเดิมของนายเจิ้งยงพระราชบิดา หรืออาจหมายถึงอำเภอไห่เฟิงในเขตเมืองซัวเถา[1] ซึ่งนามว่า"เจิ่งยง"นี้ได้มาจากเอกสารจีน ซึ่งระบุว่าเจิ้งยงเป็นชาวจีนแต้จิ๋วอพยพมาจากหมู่บ้านหวาฟู้ (華富) เมืองเฉิงไห่ มณฑลกวางตุ้ง

"อภินิหารบรรพบุรุษ"ระบุว่า เมื่อนายสินเกิดมาแล้ว มีงูมาพันรอบตัว บิดาคือนายเจิ้งยงเห็นว่าไม่เป็นมงคล จึงเอานายสินเมื่อครั้งยังเป็นทารกไปวางไว้หน้าบ้านเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาจักรีจึงรับเลี้ยงนายสินเป็นเห็นบุตรบุญธรรม และต่อมาเติบโตขึ้นได้รับราชการเป็นขุนนางมหาดเล็กในกรุงศรีอยุธยา เรื่อง"อภินิหารบรรพบุรุษ"ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2473 ในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์พินิตโปรดให้พิมพ์เป็นของชำร่วยในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ สุประดิษฐ์[2] "อภินิหารบรรพบุรุษ"อาจเป็นผลงานของก.ศ.ร.กุหลาบ[1] นักประวัติศาสตร์ โดยคัดลอกมาจากหนังสือโบราณสมุดไทยขาวฉบับหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4[1] ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้เผยแพร่เนื้อความของ"อภินิหารบรรพบุรุษ"ออกมาก่อนหน้านั้นแล้วในวารสารของตนเอง[1] หนังสือเรื่อง"อภินิหารบรรพบุรุษ"นี้ไม่ใช่เอกสารร่วมสมัย มีความน่าเชื่อถือน้อย และข้อมูลขัดแย้งกับพงศาวดารหลายประการ[1] เอกสารหลักฐานที่เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ระบุไปในลักษณะว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น เดิมทรงเป็น"พ่อค้าเกวียนต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองตาก" ดังเช่นพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุในตอนที่มหาโสภิตเจ้าอารามวัดใหม่ ถวายพุทธทำนายเขียนใส่ใบตาลถวายเมื่อพ.ศ. 2319 หลังจากสงครามอะแซหวุ่นกี้ ว่า;

...กรุงเทพเสียแก่พม่าแล้ว ยังมีชายพ่อค้าเกวียนนั้นจะได้เป็นพระยาครองเมืองทิศใต้กรุงชายชเลชื่อเมืองบางกอก...

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับปลีก หมายเลข 2/ก101 บรรยายการวิ่งเต้นเป็นเจ้าเมืองตากโดยผ่านทางเจ้าพระยาจักรี;

ขนะนั้น ยังมีบุตรจีนคลองสวนพลูคนหนึ่งขึ้นไปค้าขายหยู่นะเมืองตากหลายปี ครั้นหยู่มา จีนผู้นั้นเปนคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ช่วยกรมการชำระถ้อยความของราสดรหยู่เนืองๆ เจ้าเมืองตากนั้นป่วยลงก็ถึงแก่ความตาย จีนมีชื่อผู้นั้นก็ตัดผมเปนไทย ลงมานะกรุงสรีอยุธยา จะเดินเปนเจ้าเมืองตาก

[3]

พรยาตากอาจไม่ได้เป็นผู้ดีอยุธยามาแต่ก่อน[1] เอกสารเกี่ยวกับพระเจ้าตากสินที่เขียนขึ้นนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา มักกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระยาตากกับขุนนางเก่ากรุงศรีอยุธยา แต่ไม่มีหลักฐานชั้นต้นร่วมสมัยมาสนับสนุนและมักขัดแย้งกันเอง[1] ข้อมูลที่ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯได้ทรงคุ้นเคยสนิทสนมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมาตั้งแต่ก่อนเสียกรุง รวมทั้งการที่นายสินรู้จักกับนายบุนนาคตาม"จดหมายเหตุประถมวงศกุลบุนนาค"ซึ่งรวบรวมโดยก.ศ.ร.กุหลาบ และมีซินแสมาทำนายว่าจะได้เป็นพระมหากษัตริย์นั้น มาจากเรื่อง"อภินิหารบรรพบุรุษ"และไม่มีหลักฐานชั้นต้นยืนยันเช่นกัน[1] ในขณะที่พงศาวดารพระพนรัตน์ระบุว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปราบดาภิเษกแล้ว พระมหามนตรี (บุญมา) จึงได้นำพี่ชายมาถวายตัวเป็นข้าราชการกรุงธนบุรี "ขณะนั้นพระมหามนตรีจึ่งกราบทูลพระกรุณาว่า จะขอไปรับหลวงปลัดราชบูรีย์ผู้พี่นั้น มาถวายตัวทำราชการ จึ่งโปรดให้ไปรับเข้ามา แล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นพระราชริณ"[4]

พงศาวดารพระพนรัตน์ระบุว่า ในระหว่างที่พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา พระยาตากได้เลื่อนขึ้นเป็นที่พระยากำแพงเพชรเจ้าเมืองกำแพงเพชร "ครั้งถึง ณะ เดือน ๑๒ น่าน้ำ จึ่งทรงพระกรรุณาโปรดให้พญาตากเลื่อนที่เปนพญากำแพงเพช"[4] นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอว่า "พระยาวชิรปราการ" อาจเกิดจากการแปลชื่อเมืองกำแพงเพชรเป็นภาษาบาลี ว่า "วชิรปราการ" ในจุลยุทธการวงศ์ซึ่งเป็นพงศาวดารภาษาบาลี[1] อีกทั้งราชทินนามโดยปกติของเจ้าเมืองกำแพงเพชรนั้นคือ"พระยารามรณรงค์สงคราม"ไม่ใช่พระยาวชิรปราการ อย่างไรก็ตาม พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ไม่ปรากฏเหตุการณ์ว่าพระยาตากได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรแต่อย่างใด ยังคงเป็น"พระยาตาก"อยู่จนเสียกรุงฯ

พม่ารุกรานกรุงศรีอยุธยา

[แก้]

ในช่วงที่ราชวงศ์ตองอูของพม่าอ่อนแอลงนั้น ชาวมอญในพม่าลุ่มแม่น้ำอิรวะดีตอนล่างสามารถแยกตัวเป็นอิสระฟื้นฟูอาณาจักรหงสาวดีขึ้นมาใหม่ได้สำเร็จ ในพ.ศ. 2295 พญาทะละ (Binnya Dala) กษัตริย์มอญหงสาวดียกทัพเข้ายึดเมืองอังวะราชธานีของพม่าได้ จับองค์กษัตริย์พม่ากลับไป เป็นการสิ้นสุดราชวงศ์ตองอูของพม่าที่ธำรงอยู่มาเป็นเวลาหลายร้อยปี ในสูญญากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้นในพม่าตอนบน เปิดโอกาสให้ชาวบ้านนายพรานชาวพม่าชื่อว่าอองไจยะ (Aung Zeiya) ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นที่หมู่บ้านมุกโซโบ (Moksobo ปัจจุบันคือชเวโบ Shwebo) เพื่อต่อต้านอำนาจการยึดครองของชาวมอญ อองไจยะปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าอลองพญา (Alaungpaya) ก่อตั้งราชวงศ์โก้นบอง (Konbaung dynasty) พระเจ้าอลองพญาทรงรวบรวมอำนาจและดินแดนในพม่าตอนบนและแผ่ขยายอำนาจไปยังพม่าตอนล่างซึ่งเป็นดินแดนของชาวมอญ พระเจ้าอลองพญาทรงสามารถยึดและทำลายเมืองหงสาวดีราชธานีของมอญได้สำเร็จในพ.ศ. 2300 ทำให้อาณาจักรมอญหงสาวดีสิ้นสุดลง

เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ถูกลงพระราชอาญาจนถึงสิ้นพระชนม์ในพ.ศ. 2298 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงแต่งตั้งกรมขุนพรพินิตเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นที่มหาอุปราชต่อมา โดยที่ทรงไม่แต่งตั้งให้กรมขุนอนุรักษ์มนตรีเจ้าฟ้าเอกทัศน์ให้เป็นอุปราชเนื่องจากทรงเห็นว่ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นขาดความสามารถ "กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้น เป็นวิสัยพระทัยปราศจากความเพียร ถ้า จะให้ดำรงฐานาศักดิ์อุปราชสำเร็จราชกิจกึ่งหนึ่ง ก็จะเกิดวิบัติ ฉิบหายเสีย"[5] เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคตในเดือนเมษายน พ.ศ. 2301 "เจ้าสามกรม"ยกกำลังพลขึ้นทำสงครามเพื่อช่วงชิงบัลลังก์ นำไปสู่สงครามกลางเมืองอยุธยา แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจะทรงเอาชนะเจ้าสามกรมได้ เจ้าสามกรมถูกสำเร็จโทษประหารชีวิต แต่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงอยู่ในราชสมบัติเพียงหนึ่งเดือนกว่าก็สละราชสมบัติถวายเวนคืนราชสมบัติให้แก่พระเชษฐากรมขุนอนุรักษ์มนตรี พระเจ้าอุทุมพรเสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ได้รับการขนานพระนามว่า"ขุนหลวงหาวัด" กรมขุนอนุรักษ์มนตรีเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์เป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรอยุธยา

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญาแห่งพม่าราชวงศ์โก้นบองยกทัพพม่าเข้าโจมตีเมืองทวายมะริดตะนาวศรี เป็นจุดกำเนิดของสงครามพระเจ้าอลองพญา ฝ่ายพม่ายกทัพเข้ามาถึงล้องกรุงศรีอยุธยาในเดือนเมษายน แต่ทัพพม่าต้องเผชิญกับปรากฏการณ์น้ำท่วมรอบกรุงศรีอยุธยาและพระเจ้าอลองพญาประชวร[6] เป็นเหตุให้พม่าจำต้องยกทัพถอยกลับ พระเจ้าอลองพญาเสด็จสวรรคตที่กลางทางในครั้งนั้น ต่อมาพม่าสามารถตีได้หัวเมืองเชียงใหม่ล้านนาในพ.ศ. 2306 และได้อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางและอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ในพ.ศ. 2308 เป็นเหตุให้อาณาจักรต่อแดนทางทิศเหนือของสยามล้วนแต่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าทั้งสิ้น ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2308 พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่าพระองค์ใหม่มีพระราชโองการให้ยกทัพเข้ารุกรานโจมตีอยุธยาจากสองทางได้แก่จากทางเหนือและจากทางตะวันตก ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาระดมกำลังพลป้องกันกรุงศรีอยุธยาอยู่ภายในเมือง บรรดาหัวเมืองรอบนอกบ้างต่อสู้กับพม่าบ้างยอมจำนนต่อพม่า[6] พม่าสามารถยกเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาได้อย่างรวดเร็ว เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งในเดือนมกราคมพ.ศ. 2309

ประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. 2309 สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลังยกทัพออกไปรบกับทัพของเนเมียวสีหบดีที่ปากน้ำประสบทางเหนือของอยุธยา ถูกพม่าตีโอบล้อม เจ้าพระยาพระคลังและบรรดาแม่ทัพนายกองต่างถอยลงมาอยู่ที่โพธิ์สามต้น มีเพียงแต่พระยาตากเท่านั้นที่ยังรอสู้รบอยู่แล้วถึงถอยตามมาในภายหลัง[5][4] ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2309 ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาให้พระยาตาก พระยาเพชรบุรี (เรือง) และหลวงศรเสนี ยกทัพออกไปตั้งสกัดพม่าที่วัดใหญ่ชัยมงคล สู้รบกับพม่าที่วัดสังฆาวาส ทางตะวันออกเฉียงใต้ของราชธานีอยุธยาใกล้กับวัดใหญ่ชัยมงคล พระยาเพชรบุรี (เรือง) ถูกสังหารสิ้นชีวิตในที่รบ ในพงศาวดารระบุว่าพระยาตากเฝ้าดูอยู่ไม่ได้ยกออกมาช่วย (พันจันทนุมาศ: พระยาตาก หลวงศรเสนี ถอยมาแอบดูหาช่วยหนุนไม่[5] พระพนรัตน์: กองพญากำแพงเพชญ หลวงศรเสนี จอดรอดูเสีย หาเข้าช่วยอุดหนูนกันไม่)[4]

พระยาตากเดินทัพไปจันทบุรี

[แก้]

พระยาตากออกจากอยุธยา

[แก้]
วัดพิชัยสงคราม ทางตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา สถานที่ซึ่งพระยาตากได้รวบรวมกำลังพลเพื่อตีฝ่าวงล้อมพม่าออกไปในเดือนมกราคม พ.ศ. 2310

ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2309 (นับแบบปัจจุบัน พ.ศ. 2310) ซึ่งตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจอ อัฐศก ประมาณสามเดือนก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาฯ พระยาตากเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงต้องเสียทีแก่พม่า จึงตัดสินใจร่วมกับพระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี พร้อมด้วยพลทหารไทยและจีนราว 500 คน[7] มีปืนเพียงกระบอกเดียว แต่ชำนาญด้านอาวุธสั้น[8] ยกออกไปตั้งกองกำลังที่วัดพิชัยสงคราม ทางตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา และยกกำลังออกจากค่ายวัดพิชัยฯในคืนนั้น ตีฝ่าวงล้อมทหารพม่าไปทางทิศตะวันออก ไปทางบ้านข้าวเม่า เมื่อพระยาตากเดินทัพถึงสามบัณฑิตในเวลาเที่ยงคืนสองยามเศษ ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา สว่างโชติช่วงจนสามารถมองเห็นได้จากระยะไกล

ในวันรุ่งขึ้น วันอาทิตย์ขึ้น 5 ค่ำ เดือนยี่ ทัพพม่าติดตามมาพบกับพระยาตากที่บ้านโพธิ์สังหาร[9] (ตำบลโพสาวหาญ อำเภออุทัย) ทัพของพระยาตากได้ต่อสู้กับกองทหารพม่าในการรบที่บ้านโพธิ์สังหาร (บริติชมิวเซียม: โพสาวหาญ) จนฝ่ายพม่าล้มตายและบางส่วนแตกหนีไป ก่อนเดินทางไปตั้งค่ายพักอยู่บ้านพรานนก ในขณะนั้นมีทหารพม่ากองหนึ่งซึ่งประกอบด้วยทหารม้าประมาณ 30 คน ทหารเดินเท้าประมาณ 200 คน เดินทางมาจากบางคางแขวงเมืองปราจีนบุรี[10] สวนทางมาพบทหารพระยาตากที่เที่ยวหาเสบียงอาหาร ทหารพม่าก็ไล่ตามมาแต่ถูกกลอุบาย "วงกับดักเสือ"[11]ถูกตีกระหนาบจนแตกหนีไป

เส้นทางเดินทัพของพระยาตาก

รุ่งขึ้นวันจันทร์ขึ้น 6 ค่ำ ขุนชำนาญไพรสณฑ์ (บริติชมิวเซียม: ขุนชำนาญไพร่สน) เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระยาตาก และนำช้างหกเชือกมามอบให้ จากนั้นพระยาตากเดินทางไปถึงบ้านดง (อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก) ขุนหมื่นพันทนายผู้นำท้องถิ่นไม่ยินยอมเข้าร่วมกับพระยาตาก กลับซ่องสุมกำลังพลไว้ต่อสู้ พระยาตากให้ทหารไปเกลี้ยกล่อมถึงสามครั้งไม่เป็นผล จึงในวันอังคารขึ้นเจ็ดค่ำเดือนยี่ (6 มกราคม พ.ศ. 2310) พระยาตากยกทัพเข้าโจมตีค่ายบ้านดง นำไปสู่การรบที่บ้านดง ฝ่ายค่ายบ้านดงนำกำลังจำนวน 1,000 คน ออกมาต้านทานพระยาตาก พระยาตากนำทัพเข้ายึดค่ายบ้านดงได้สำเร็จ ชาวบ้านบ้านดงแตกกระจายหนีไป ยึดได้ช้างเจ็ดเชือกและเสบียงเงินทองต่างๆ

หลังจากนั้นเจ้าตากจึงยกกองทหารไปทางนาเริง เมืองนครนายก[12] ผ่านด่านกบแจะ ข้ามลำน้ำปราจีนบุรี ไปตั้งพักอยู่ชายดงศรีมหาโพธิ์ ข้างฝั่งตะวันออก พม่าที่ตั้งทัพอยู่ปากน้ำเจ้าโล้ หรือปากน้ำโจ้โล้ (บริติชมิวเซียม: ปากน้ำเจ้าโล้) เมืองฉะเชิงเทรา[13] ปรากฏว่าพระเชียงเงิน ขุนพิพิธวาที (ตั้งเลี้ยง) และนักองค์รามฯ (นักองค์โนน) เจ้าชายกัมพูชา สามคนนี้เดินทางตามมาไม่ทัน พระยาตากจึงควบม้าไปกับหลวงพรหมเสนาย้อนไปตามตัวทั้งสามคนแต่ไม่พบ ต่อมาพระเชียงเงินเดินทางมาถึง พระยาตากมีคำสั่งให้โบยพระเชียงเงินสามสิบที จากนั้นพระยาตากเห็นว่ากิริยาของพระเชียงเงินไม่เป็นใจกับราชการ จึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตพระเชียงเงินเสีย[14] แต่บรรดาแม่ทัพนายกองได้ขอให้ไว้ชีวิต

ในวันจันทร์ขึ้นสิบสามค่ำเดือนยี่ (13 มกราคม พ.ศ. 2310) พม่าติดตามมาและไล่ฟันแทงคนที่เลื่อยล้าล่าช้าอยู่ข้างหลัง พระยาตากได้เห็นแล้วจึงให้นายบุญมีควบม้าลงไปดูว่าพม่ายกมาจากที่ใด นายบุญมีพบว่าพม่ายกทัพมาจากปากน้ำโจ้โล้ ยกมาทั้งทางบกและทางเรือ มาขึ้นบกที่ท่าข้าม พระยาตากตั้งรับอยู่ที่ปราจีนบุรีออกคำสั่งให้ตั้งปืนใหญ่เป็นตับซุ่มอยู่สองข้างทาง เมื่อพม่ายกทัพมาถึง พระยาตากพร้อมทั้งขุนชำนาญไพรสณฑ์ พระเชียงเงิน นายบุญมี นายทองดี และนายแสง ยกกำลังทหาร 100 คน ออกมาลวงพม่าให้เข้ามาในที่ซี่งซุ่มปืนใหญ่ไว้ จากนั้นให้ยิงปืนใหญ่ออกพร้อมกันฝ่ายพม่าล้มตายลงไป พระยาตากล่อลวงฝ่ายพม่าให้เข้ามาในช่องซุ่มอีกรวมทั้งหมดสามครั้ง ฝ่ายพม่าจึงพ่ายแพ้ไปในที่สุด

จากนั้นพระยาตากเดินทางยกทัพลงมาตามแม่น้ำบางปะกง ไปถึงบางปลาสร้อย ที่บ้านนาเกลือบางละมุงพระยาตากได้ต่อสู้กับนายกลม (พันจันทนุมาศ: นายกล่ำ) จนนายกลมได้ยอมสวามิภักดิ์ และนายกลมยังได้นำพระยาตากเดินทางไปยังพัทยา ต่อไปยังนาจอมเทียน ต่อไปยังสัตหีบถึงชายทะเล และพักที่หินโด่งและน้ำเก่า

พระยาตากที่เมืองระยอง

[แก้]
ค่ายท่าประดู่ วัดลุ่มมหาชัยชุมพล เมืองระยอง สถานที่ซึ่งพระยาตากได้มาตั้งค่ายและพำนักอาศัยอยู่เป็นเวลาประมาณห้าเดือนในพ.ศ. 2310 ก่อนที่จะยกทัพไปตีเมืองจันทบุรี

ในวันพุธแรมเจ็ดค่ำเดือนยี่ (21 มกราคม พ.ศ. 2310) พระระยอง (บุญเมือง พระพนรัตน์: พระรยองบุญเมือง)[4] ผู้รั้งเมืองระยองและกรมการเมืองระยอง ออกมาต้อนรับพระยาตากที่น้ำเก่าและมอบอาหารเสบียงให้ พระยาตากจึงมอบปืนคาบศิลากระบอกหนึ่งให้แก่ผู้รั้งเมืองระยองเป็นการตอบแทน ในวันนั้นพระยาตากได้ยกทัพมาตั้งค่ายที่ค่ายท่าประดู่วัดลุ่มมหาชัยชุมพลในเมืองระยอง ที่เมืองระยองพระยาตากได้แต่งตั้งพระเชียงเงินให้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ "ท้ายน้ำ" เรียกว่า พระเชียงเงินท้ายน้ำ

อีกสองวันต่อมามีนายบุญรอดแขนอ่อน นายหมอก และนายบุญมา ทั้งสามคนนี้เป็นน้องชายของภรรยา[4]ของพระยาจันทบุรี (เจ้าขรัวหลาน) ได้นำความมาบอกแก่พระยาตากที่วัดลุ่มมหาชัยชุมพล ใจความว่าขุนรามและหมื่นซ่อง นายทองอยู่นกเล็ก (พระพนรัตน์: นายทองอยู่น้อย) ขุนจ่าเมือง (ด้วง) และหลวงพลแสนหาญฝ่ายกรมการเมืองระยอง วางแผนยกทัพจำนวน 1,500 คน เข้าโจมตีพระยาตาก พระยาตากจึงเรียกตัวพระระยอง (บุญเมือง) ผู้รั้งเมืองระยองมาพบ ถามพระระยองว่าฝ่ายกรมการเมืองระยองวางแผนจะลอบโจมตีพระยาตากจริงหรือไม่ พระระยองปฏิเสธแต่พระยาตากไม่ไว้วางใจพระระยองจึงให้หลวงพรหมเสนานำตัวไปกุมขังไว้ แล้วพระยาตากจึงเตรียมอาวุธกำลังพลไว้รับป้องกันการโจมตี ดังนี้;

  • กองกำลังฝ่ายไทย ถือปืนคาบศิลา มีผู้นำได้แก่ พระเชียงเงินท้ายน้ำ หลวงชำนาญไพรสณฑ์ หลวงพรหมเสนา นายบุญมี นายแสง นายอยู่ศรีสงคราม นายนาค ธำมะรงค์อิ่ม
  • กองกำลังฝ่ายจีน ถือดาบและง้าว ประกอบด้วย หลวงพิพิธ (ตั้งเลี้ยง) หลวงพิชัยราชา ขุนจ่าเมือง เสือร้าย หมื่นท่อง หลวงพรหม

ในคืนของวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2310 เวลาประมาณทุ่มเศษ ขุนรามหมื่นซ่อง นายทองอยู่นกเล็ก ฯลฯ ยกทัพซุ่มเข้ามาในเมืองระยองเพื่อโจมตีพระยาตากที่วัดลุ่มมหาชัยชุมพล นำไปสู่การรบที่ระยอง ฝ่ายขุนรามหมื่นซ่องตั้งค่ายล้อมพระยาตากสองด้าน จากนั้นโห่ร้องเข้าโจมตี ขุนจ่าเมือง (ด้วง) ยกกำลังข้ามสะพานวัดเนินเข้ามาโจมตี พระยาตากให้ยิงปืนใส่สะพานถูกขุนจ่าเมือง (ด้วง) และทหารตกสะพานเสียชีวิตจำนวนมาก ฝ่ายขุนรามหมื่นซ่องจึงพ่ายแพ้ไปในที่สุด โดยที่ขุนรามและหมื่นซ่องหลบหนีไปตั้งหลักที่เมืองแกลง ในขณะที่นายทองอยู่นกเล็กไปอยู่ที่ชลบุรี ฝ่ายพระยาตากเก็บได้เสบียงอาวุธและเชลย

ภายในเวลาไม่ถึงเดือนหลังจากที่เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยา พระยาตากสามารถยึดเมืองระยองเป็นที่มั่นได้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพที่มีอยู่เหนือกว่าชุมนุมอื่น ๆ ในการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา[15][16]

ประมาณเจ็ดวันหลังจากได้รับชัยชนะที่ระยอง พระยาตากประกาศว่าจะนำเมืองจันทบุรีมาไว้ในอำนาจให้จงได้ โดยในชั้นแรกใช้วิธีทางการทูตก่อน โดยให้นายเผือกชาวญวนและนักมาชาวเขมร นำผู้แทนพระยาตากสามคนได้แก่ นายบุญมีมหาดเล็ก นายบุญรอดแขนอ่อน และนายบุญมา ทั้งสามคนนี้เป็นน้องชายของภรรยาพระยาจันทบุรี[4] เดินทางโดยเรือออกไปจากปากน้ำเมืองระยองอีกห้าวันถึงเมืองจันทบุรี พระยาจันทบุรี (เจ้าขรัวหลาน) ให้การต้อนรับผู้แทนของพระยาตากเป็นอย่างดี พร้อมทั้งให้สัญญาว่าในอีกสิบวันจะจะจัดขบวนออกไปรับพระยาตากด้วยตนเองไปที่เมืองจันทบุรี พระยาจันทบุรีกระทำสัตย์สาบานต่อหน้าศาลเทพารักษ์[14] บรรดาผู้แทนพระยาตากเห็นว่าพระยาจันทบุรีให้สัญญาแล้ว จึงเดินทางกลับเมืองระยองนำความบอกแก่พระยาตาก เวลาผ่านไปสิบวัน พระยาจันทบุรีไม่มาตามที่ได้สัญญาไว้แต่ส่งข้าวเปลือกสี่เกวียนบรรทุกเรือมามอบให้แก่พระยาตากแทน

เมื่อครั้งที่พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น พระยาราชาเศรษฐีหมักเทียนตื๊อเจ้าเมืองบันทายมาศห่าเตียนได้เคยส่งทัพเรือมาช่วยที่ปากน้ำกรุงศรีอยุธยา พระยาตากจึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือทางทหารจากหมักเทียนตื๊อที่เมืองพุทไธมาศ ซึ่งเป็นผู้นำชาวจีนที่ทรงอำนาจที่สุดในภูมิภาคในขณะนั้น โดยมีศุภอักษรให้พระยาพิชัยราชาและนายบุญมีนำไปมอบให้แก่หมักเทียนตื๊อ ในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2310 เป็นการติดต่อกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างพระยาตากและหมักเทียนตื๊อ[17] พระยาพิชัยราชาและนายบุญมีเดินทางถึงเมืองบันทายมาศเมื่อวันแรม 14 ค่ำ เดือนสี่ (28 มีนาคม พ.ศ. 2310) นำศุภอักษรและเสื้อผ้าอย่างฝรั่งมอบให้แก่หมักเทียนตื๊อ

ฝ่ายขุนรามและหมื่นซ่องซึ่งได้แตกพ่ายแพ้ไปอยู่ที่เมืองแกลงนั้น ได้ส่งกองกำลังมาลอบโจมตีลักขโมยโคกระบือช้างม้าที่เมืองระยองอยู่บ่อยครั้ง ในวันอาทิตย์แรม 1 ค่ำเดือนสี่ (15 มีนาคม พ.ศ. 2310) พระยาตากจึงนำทัพออกไปปราบขุนรามหมื่นซ่องและกองกำลังฝ่ายศัตรูที่เมืองแกลง บ้านประแสร์ บ้านค่าย บ้านกล่ำ จนขุนรามหมื่นซ่องพ่ายแพ้อีกครั้งและครั้งนี้หลบหนีไปพึ่งพิงพระยาจันทบุรีที่เมืองจันทบุรี ฝ่ายพระยาตากจับได้เชลยทหารและช้างม้าโคกระบือกลับมาได้

การประกาศยึดเมืองระยองได้กระทำกลางทุ่งนาและไพร่พลจำนวนมาก พระยาตากได้ประทับ ณ บริเวณวัดลุ่มมหาชัยชุมพล หลังจากนั้นบรรดาแม่ทัพนายกองที่สวามิภักดิ์ ต่างพร้อมใจกันยกพระยาตากขึ้นเป็นผู้นำขบวนการกอบกู้แผ่นดินและเรียกพระยาตากว่า เจ้าตาก นับตั้งแต่นั้นมา[18] ถึงแม้จะเป็นเสมือนผู้ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง แต่เจ้าตากก็ระวังตนมิได้คิดตั้งตัวเป็นกบฏ ให้เรียกคำสั่งว่าพระประศาสน์อย่างเจ้าเมืองเอกเท่านั้น "จึ่งยกพญากำแพงเพ็ชขึ้นเป็นจ้าวเรียกว่า จ้าวตาก ตามนามเดีมแล้วรับพระประสาตร์หย่างหัวเมืองเอก"[4]

วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310[I] เวลาประมาณบ่ายสามโมง พม่าจุดไฟสุมรากกำแพงเมืองตรงหัวรอที่ริมป้อมมหาชัย และยิงปืนใหญ่ระดมเข้าไปในพระนคร จากบรรดาค่ายที่รายล้อมทุกค่าย พอเพลาพลบค่ำกำแพงเมืองตรงที่เอาไฟสุมทรุดลง เวลา 2 ทุ่ม แม่ทัพพม่ายิงปืนเป็นสัญญาณให้ทหารเข้าพระนครพร้อมกันทุกด้าน พม่าเอาบันไดปีนพาดเข้ามาได้ตรงที่กำแพงทรุดนั้นก่อน ทหารอยุธยาที่รักษาหน้าที่เหลือกำลังจะต่อสู้ พม่าก็สามารถเข้าพระนครได้ในเวลาค่ำวันนั้นทุกทาง[19]

หลังจากกรุงแตกแล้ว กองทัพพม่าได้พักอยู่ถึงวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2310[20] ก่อนจะรวบรวมเชลยและทรัพย์สมบัติแล้วยกทัพกลับ ในบรรดาเชลยนั้นมีสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรไปด้วย เนเมียวสีหบดีได้แต่งตั้งให้สุกี้เป็นนายทัพ คุมพล 3,000 คน ตั้งค่ายอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น คอยกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินตามกลับไปภายหลัง

หลังจากนั้นทำให้เกิดชุมนุมทางการเมืองในระดับต่าง ๆ ซึ่งเป็น "รัฐบาลธรรมชาติ" ขึ้นมาในท้องถิ่นทันที ส่วนรัฐบาลธรรมชาติซึ่งมีขนาดใหญ่เกิดจากการที่บรรดาเจ้าเมืองขนาดใหญ่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามมากนักได้ตั้งตนเป็นใหญ่ในเขตอิทธิพลของตน เรียกว่า "ชุมนุม" หรือ "ก๊ก" ซึ่งมีจำนวน 4-6 แห่งทีเดียว นับเป็นมหันตภัยร้ายแรงเมื่อไม่มีชุมนุมทางการเมืองใดที่จะกอบกู้เอกราชหรือฟื้นฟูชาติให้กลับคืนดังเดิม

อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาได้ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ข่าวกรุงแตกได้แพร่กระจายออกไปขณะที่พระยาตากอยู่ที่เมืองระยอง พระยาตากจึงได้ประกาศตนเป็นผู้นำในการกอบกู้กรุงศรีอยุธยาให้กลับรุ่งเรืองดังเดิม พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงคำพูดของพระยาตากไว้ตอนหนึ่งว่า[21]

ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงหัวเมืองให้ได้มาก แล้วจะยกกลับไปกู้กรุงให้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจัดทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎร ซึ่งอนาถาหาที่พำนักมิได้ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข แล้วจะยอยกพระบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้นให้คนทั้งหลายยำเกรงจงมาก ซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย ท่านทั้งหลายจะเห็นประการใด

— พระยาตาก
วัดใหญ่อินทาราม อำเภอเมืองชลบุรี สถานที่ซึ่งพระยาตากยกทัพมาปราบนายทองอยู่นกเล็กที่เมืองชลบุรี

พระยาพิชัยราชาและนายบุญมีเดินทางกลับจากเมืองบันทายมาศถึงเมืองระยองในวันอาทิตย์แรม 15 ค่ำเดือนห้า (27 เมษายน) ในวันเดียวกันนั้นพระยาตากประกาศว่าจะยกทัพไปปราบนายทองอยู่นกเล็กที่เมืองชลบุรี พระยาตากยกทัพออกจากเมืองระยองในวันศุกร์ขึ้น 4 ค่ำเดือน 6 (1 พฤษภาคม) ยกทัพไปตั้งที่วัดหลวง (วัดใหญ่อินทาราม) ใกล้กับเมืองชลบุรี ให้นายบุญรอดแขนอ่อนและนายชื่นบ้านค่ายซึ่งเป็นเพื่อนกับนายทองอยู่นกเล็กเข้าไปเจรจาก่อน นายทองอยู่นกเล็กยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี นายบุญรอดแขนอ่อนจึงนำนายทองอยู่นกเล็กมาพบกับพระยาตากที่วัดหลวง กระทำพิธีสัตย์สาบานสวามิภักดิ์ต่อพระยาตาก แล้วนายทองอยู่นกเล็กจึงนำพระยาตากเข้าเมืองชลบุรี พระยาตากขี่ช้างมีนายบุญมีมหาดเล็กเป็นควาญท้าย ขี่ช้างเลียบชมเมืองชลบุรี พระยาตากแต่งตั้งนายทองอยู่นกเล็กให้เป็น"พระยาอนุราชบุรีศรีมหาสมุทร"เจ้าเมืองชลบุรี และแต่งตั้งขุนหมื่นกรมการเมืองชลบุรีตามตำแหน่ง พระยาตากมอบเสื้อเข้มขาบดอกแดกพื้นใหญ่ดุมทอง เข็มขัดทองประดับพลอยให้แก่พระยาอนุราชบุรีฯ รวมทั้งให้โอวาทสั่งสอนให้ประพฤติสุจริต[14]

ฝ่ายพระยาจันทบุรี (เจ้าขรัวหลาน) ไม่ได้มาสวามิภักดิ์ต่อพระยาตากดังที่ได้สัญญาไว้แต่กลับร่วมมือกับขุนรามและหมื่นซ่องวางแผนโจมตีพระยาตาก พระยาจันทบุรีออกอุบายนิมนต์พระสงฆ์สี่รูปมาพบกับพระยาตากที่เมืองระยอง เชื้อเชิญให้พระยาตากเดินทางไปเมืองจันทบุรีเพื่อจับกุมพระยาตากโดยไม่ทันตั้งตัว พระภิกษุสี่รูปนั้นมาไม่ทันพระยาตากออกไปปราบเมืองชลบุรี เมื่อพระยาตากกลับมาเมืองระยองแล้วพระภิกษุสี่รูปนั้นจึงได้พบกับพระยาตาก บรรดาแม่ทัพนายกองต่างคัดค้านว่าอาจเป็นอุบายของพระยาจันทบุรี แต่พระยาตากพิจารณาแล้วว่าการเดินทางไปเมืองจันทบุรีนั้นจะเกิดประโยชน์ หากพระยาจันทบุรีคิดทรยศจะได้ปราบเสีย หากพระยาจันทบุรีสวามิภักดิ์จริงจะถือเป็นโอกาสให้โอวาทสอนสั่ง[14]

การยึดเมืองจันทบุรี

[แก้]

ในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในหัวเมืองชายทะเลตะวันออกของสยามได้แก่บางปลาสร้อยและจันทบุรี เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาในพ.ศ. 2310 เจ้าขรัวหลาน[1][22][23] (เอกสารจีนเรียกว่า ผู่หลาน 普蘭 พินอิน: Pǔ Lán)[24] ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองจันทบุรี

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2310 เจ้าตากเดินทัพจากระยองผ่านแกลงเข้าบ้านพลอยแหวนบางกระจะ มุ่งยึดจันทบุรี ฝ่ายพระยาจันทบุรีให้หลวงปลัดออกมานำทางให้ทัพของพระยาตากให้เลี้ยวไปทางใต้เมืองจันทบุรี ข้ามแม่น้ำจันทบุรีไปยังฝั่งตะวันออกที่ซึ่งพระยาจันทบุรีได้เตรียมซุ่มกำลังไว้โจมตี แต่พระยาตากรู้ทันอุบายจึงมีคำสั่งให้นายบุญมีมหาดเล็กควบม้าไปห้ามทัพไม่ให้ข้ามแม่น้ำจันทบุรี พระยาตากยกทัพไปตั้งที่วัดแก้วบริเวณทางเข้าประตูท่าช้าง พระยาตากตั้งมั่นที่วัดแก้วส่วนพระยาจันทบุรีให้คนเข้าประจำที่เชิงเทินบนกำแพงเมือง พระยาจันทบุรีให้ตัวแทนของตนได้แก่"ขุนพรหมธิบาลผู้เป็นที่ท้ายน้ำ" นายลิ้ม นายแก้วแขก ธำมะรงค์พร นายเมฆแขก ออกมาต้อนรับพระยาตากและเชิญพระยาตากเข้าไปในเมืองจันทบุรี พระยาตากปฏิเสธ กล่าวว่าพระยาจันทบุรีเป็นผู้น้อย จะให้ผู้ใหญ่เข้าไปหาผู้น้อยไม่สมควร ต้องให้ผู้น้อยออกมาคารวะผู้ใหญ่ และให้พระยาจันทบุรีส่งตัวขุนรามและหมื่นซ่องออกมาให้พระยาตากเสียก่อน พระยาตากจึงจะไว้วางใจพระยาจันทบุรี[14]

ขุนพรหมธิบาลนำความกลับไปบอกพระยาจันทบุรี พระยาจันทบุรีจึงให้ธำมะรงค์พรนำอาหารมามอบให้แก่พระยาตาก และให้พระภิกษุสงฆ์สี่รูปออกมาเชิญพระยาตากเข้าไปในเมืองจันทบุรีอีกครั้ง พระยาตากยังคงยืนยันให้พระยาจันทบุรีออกมาพบด้วยตนเอง สุดท้ายพระยาจันทบุรีส่งหลวงปลัดออกมาแจ้งแก่พระยาตากว่า ต้องการจะส่งตัวขุนรามหมื่นซ่องออกมาแต่ขุนรามหมื่นซ่องเกรงว่าจะถูกพระยาตากลงโทษ ฝ่ายพระยาตากเห็นว่าพระยาจันทบุรีบิดพลิ้วหลายครั้งจึงกล่าวว่า "พระยาจันทบูรมิได้ตั้งอยู่ในสัตยภาพแล้ว แลเห็นว่าขุนรามหมื่นส้องจะช่วยป้องกันเมืองไว้ได้ ก็ให้ตกแต่งการไว้ให้มั่นคงเถิด เราจะตีเอาให้จงได้"[14]

เมื่อเจ้าเมืองจันทบุรีไม่ยอมสวามิภักดิ์ เจ้าตากต้องการยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นที่มั่นเพื่อรวบรวมกำลังมาตีพม่า จึงสั่งทหารทุกคนว่า "เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเสร็จแล้ว ทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ ก็จะให้ได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว"[25]

ในวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2310 ครั้นถึงเวลา 19.00 น. เจ้าตากจึงได้สั่งให้ทหารไทยและจีนลอบเข้าไปอยู่ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้ว ให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเมืองพร้อมกัน จึงให้โห่ขึ้นให้พวกอื่นรู้ เมื่อเวลา 03.00 น. เจ้าตากก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชร ให้ยิงปืนสัญญาณพร้อมกับบอกพวกทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน[26] ฝ่ายเมืองจันทบุรียิงกระสุนปืนลงมามากราวกับห่าฝน มีกระสุนปืนนัดหนึ่งลอดใต้ช้างของพระยาตาก ควาญช้างจึงเกี่ยวให้พังคีรีบัญชรถอยหนี แต่พระยาตากไม่ต้องการถอยหนีมีความโกรธเงื้อดาบจะฟันลงโทษควาญช้าง[14] ควาญช้างขอให้ไว้ชีวิต พระยาตากจึงเอามีดแทงช้างพังคีรีบัญชร ช้างพังคีรีบัญชรได้รับความเจ็บปวดวิ่งเข้าพังทลายประตูเมืองจันทบุรี เจ้าตากจึงไสช้างเข้าพังประตูเมืองจนทำให้บานประตูเมืองพังลง ทหารเจ้าตากจึงกรูกันเข้าเมืองได้ พวกชาวเมืองต่างพากันละทิ้งหน้าที่หนีไป ส่วนพระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยังเมืองบันทายมาศ[27] (ต่อมาพระยาจันทบุรีเจ้าขรัวหลานถูกจับกุมตัวได้เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพไปตีเมืองบันทายมาศในพ.ศ. 2314) เจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 3 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เพลา 3 ยามเศษ ตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 03.00 น. หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน

ฝ่ายพระยาตากได้จับได้เชลย เงินทองเสบียงอาหารที่เมืองจันทบุรีได้จำนวนมาก ที่เมืองจันทบุรีพระยาตากได้พบกับหลวงศักดิ์นายเวร (หมุด) ข้าหลวงอยุธยาซึ่งติดอยู่ที่เมืองจันทบุรีตั้งแต่เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ได้พบกับนายสุดจินดา (บุญมา)[4] และทรงรับอนุเคราะห์พระองค์เจ้าทับทิมหรือ"เจ้าครอกจันทบูร"มาไว้ในความดูแล[4]

การยึดเมืองตราด

[แก้]

หลังจากตีเมืองตราดได้แล้ว เจ้าตากได้เคลื่อนทัพทางบกจำนวน 1,000 คนไปยังเมืองทุ่งใหญ่ (ตราด) และให้พระพิชัยราชา หลวงราชนรินทร์ เป็นแม่ทัพเรือคุมเรือ 50 ลำ[14] ยกไปเมืองตราด พระยาตากยกทัพพบกับฝนตกเจ็ดวันเจ็ดคืน ที่เมืองตราดพวกกรมการและราษฎรเกิดความเกรงกลัวต่างพากันมาอ่อนน้อมโดยดี แต่ทว่าที่ปากน้ำเมืองตราดมีเรือสำเภาจีนมาทอดทุ่นอยู่หลายลำ เจ้าตากได้เรียกนายเรือมาพบ แต่พวกจีนนายเรือขัดขืนต่อสู้ เจ้าตากจึงนำกองเรือไปล้อมสำเภาจีนเหล่านั้น ได้ทำการต่อสู้กันอยู่ประมาณครึ่งวันเจ้าตากก็ยึดสำเภาจีนไว้ได้หมด ได้ทรัพย์สินสิ่งของมาเป็นจำนวนมาก จีนเจียมหัวหน้าชาวสำเภาจีนเข้าสวามิภักดิ์และยกบุตรสาวให้แก่พระยาตาก เดอเฟลส์ (De Fels) เสนอว่า จีนเจียมนั้นเป็นคนเดียวกันกับเฉินไท่ (陳太 พินอิน: Chén Tài) พ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งมีความขัดแย้งกับหมักเทียนตื๊อเจ้าเมืองบันทายมาศ และถูกหมักเทียนตื๊อส่งทัพเรือเข้าปราบปรามจนต้องหลบหนีมายังสยาม[17]

การกอบกู้กรุงศรีอยุธยา

[แก้]

พระยาตากใช้เวลาประมาณสามเดือนในการรวบรวมกำลังพลและต่อเรือจำนวน 100 ลำ[14] ที่เมืองจันทบุรี มีการพบหลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านเสม็ดงาม (ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี) ซึงสันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ต่อเรือของพระยาตาก[28]

เมื่อสิ้นฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2310 พระยาตากรวบรวมกำลังพลได้ 5,000 คน ยกทัพเรือออกจากจันทบุรีมุ่งหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่เมืองชลบุรีพระยาตากมีคำสั่งให้ประหารชีวิตพระยาอนุราชบุรีฯ (ทองอยู่นกเล็ก) เจ้าเมืองชลบุรี พร้อมทั้งพรรคพวกคือหลวงพลและขุนอินเชียง เนื่องจากพระยาอนุราชบุรีฯได้ประพฤติตนเป็นโจรสลัดตีชิงเรือสำเภาวาณิช[14]

การรบที่โพธิ์สามต้น

[แก้]

ฝ่ายพม่านับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาฯ จำต้องยกกำลังส่วนใหญ่กลับไปสู้รบกับจีนในสงครามจีน-พม่า (Sino-Burmese War) ฝ่ายพม่าวางกำลังพลไว้จำนวนหนึ่งเพื่อรักษาการณ์ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย;

  • ค่ายโพธิ์สามต้น (อำเภอบางปะหัน) ทางตอนเหนือของเมืองอยุธยา มีสุกี้พระนายกองหรือนายทองสุกชาวมอญเป็นผู้นำ
  • เมืองธนบุรี มีชาวสยามชื่อนายทองอินเป็นผู้รักษาการณ์

นอกจากนี้ ยังมีขุนนางและเชื้อพระวงศ์ของอยุธยาบางส่วนที่ไม่ได้ถูกกวาดต้อนไปพม่ายังคงพำนักอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น

พระยาตากยกทัพเรือมาจนถึงปากน้ำสมุทรปราการปากแม่น้ำเจ้าพระยา รุ่งเช้าจึงยกทัพเรือเข้าโจมตีพม่าที่เมืองธนบุรี นำไปสู่การรบที่ธนบุรีในวันพุธขึ้น 13 ค่ำเดือน 12 (4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310) เข้ายึดเมืองธนบุรีได้สังหารนายทองอิน ฝ่ายพม่าแตกหนีขึ้นไปแจ้งข่าวแก่สุกี้นายกองที่โพธิ์สามต้น สุกี้จึงให้มองย่าแม่ทัพพม่ายกกองกำลังลงมาตั้งสกัดทัพของพระยาตากที่เพนียด เมื่อเจ้าตากยึดเมืองธนบุรีและปราบนายทองอินได้แล้ว[29] จึงเคลื่อนทัพต่อไปที่กรุงศรีอยุธยา ในเวลากลางคืนเรือของพระยากลาโหมซึ่งบรรทุกดินประสิวล่มจมลง พระยาตากจึงมีคำสั่งให้ลงโทษเฆี่ยนพระยากลาโหมและขุนนางทหารหลายคน พระยาตากเคลื่อนทัพเรือไปในเวลากลางคืนถึงกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายมองย่าที่เพนียดเมื่อพระยาตากยกทัพมาไม่สู้รบกลับถอยหนีไปโพธิ์สามต้น

วันรุ่งขึ้น วันพฤหัสบดีขึ้น 14 ค่ำ (5 พฤศจิกายน) เวลาสามโมงเศษ พระยาตากยกทัพเข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ สามารถยดค่ายโพธิ์สามต้นฝั่งตะวันออกได้อย่างรวดเร็ว ฝ่ายพม่าพ่ายแพ้ถอยไปที่ค่ายั่งตะวันตก ฝ่ายสุกี้พระนายกองอยู่ที่ค่ายฝั่งตะวันตก พระยาตากให้ทำบันไดพาดเข้าปีนค่ายฝั่งตะวันตก ให้พระยาพิพิธ (ตั้งเลี้ยง) และพระยาพิชัยราชา นำกองกำลังจีนเข้าประชิดที่วัดกลาง ซึ่งอยู่ห่างจากค่ายใหญ่ระยะทางประมาณเจ็ดเส้น วันรุ่งขึ้นวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ (ุ6 พฤศจิกายน) พระยาตากให้ทหารจีนเป็นกองหน้าเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้น รบกันจนถึงเวลาเที่ยง ทหารจีนสามารถเข้าค่ายโพธิ์สามต้นได้ พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียมระบุว่า สุกี้พระนายกองส่งให้พระยาธิเบศร์บริรักษ์ผู้เป็นที่เจ้าพระยาศรีธรรมราชธิราช (พระพนรัตน์: พญาธิเบศบดี) ขุนนางอยุธยาออกมาเจรจากับพระยาตากขอสวามิภักดิ์[14] ในขณะที่พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์วัดพระเชตุพนฉบับตัวเขียนระบุว่า พระยาตากตีค่ายพม่าโพธิ์สามต้นแตกสุกี้พระนายกองเสียชีวิตในที่รบ พระยาตากยึดค่ายโพธิ์สามต้นปราบพม่าจนราบคาบ สามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมา เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 13.00 น. ใช้เวลา 7 เดือนหลังจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยา

การเข้ายึดค่ายโพธิ์สามต้นทำให้อำนาจอิทธิพลของพม่าถูกกำจัดและขับไล่ออกไปจากสยาม และทำให้พระยาตากขึ้นมามีอำนาจครอบคลุมบริเวณภาคกลางตอนล่าง หลังจากยึดค่ายโพธ์สามต้นได้แล้ว พระยาตากเข้าพำนักในจวนของสุกี้พระนายกอง พระยาธิเบศร์บดีตัวแทนของขุนนางอยุธยาในค่ายโพธิ์สามต้น มาสวามิภักดิ์ต่อพระยาตากขอให้ไม่ให้พระยาตากทำอันตรายแก่ชาวค่ายโพธิ์สามต้น พระยาตากจึงมีคำสั่งห้ามไม่ให้พลทหารทั้งปวงทำอันตรายแก่ชาวค่ายโพธิ์สามต้น พระยาตากได้เห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางอยุธยาในค่ายโพธิ์สามต้นได้รับความทุกข์ยากลำบาก พระยาตากจึงมอบทรัพย์สินและเสื้อผ้าให้แก่ชาวอยุธยาเก่า จากนั้นพระยาตากจึงเข้าพำนักในพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ พระยาตากยังให้อัญเชิญพระศพของพระเจ้าเอกทัศน์กษัตริย์อยุธยา ซึ่งถูกพม่าฝังเอาไว้ที่โคกพระเมรุหน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร อัญเชิญขึ้นมาประกอบพิธีถวายพระเพลิงตามสมควร

หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรสยามตกอยู่ในสภาวะข้าวยากหมากแพง พระยาตากให้นำปืนใหญ่ของพม่ากระบอกหนึ่ง ระเบิดเอาทองลงสำเภาไปซื้อข้าวสารมาเลี้ยงคนโซได้กว่า 1,000 คน[30] พระบรมวงศานุวงศ์อยุธยาที่ตกค้างอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้นประกอบด้วย[31] พระธิดาของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้แก่ เจ้าฟ้าสุริยา เจ้าฟ้าพินทวดี เจ้าฟ้าจันทวดี และพระองค์เจ้าฟักทอง นอกจากนี้คือ หม่อมเจ้ามิตรพระธิดาของเจ้าฟ้ากุ้ง หม่อมเจ้ากระจาดพระธิดาของกรมหมื่นจิตรสุนทร หม่อมเจ้ามณีพระธิดาของกรมหมื่นเสพภักดี และหม่อมเจ้าฉิมพระธิดาของเจ้าฟ้าจีด สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงอัญเชิญพระบรมวงศ์อยุธยาไปประทับที่ธนบุรี ต่อมาเจ้าฟ้าสุริยาและเจ้าฟ้าจันทวดีสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าตากสินพระราชทานพระนามให้แก่หม่อมเจ้ามิตรว่าเจ้าประทุม หม่อมเจ้ากระจาดว่าเจ้าบุปผา[4]

ปราบดาภิเษก

[แก้]

หลังจากที่พระยาตากมีชัยชนะเหนือพม่าในการรบที่ค่ายโพธิ์สามต้นแล้ว ในชั้นแรกพระยาตากหมายจะฟื้นฟูกรุงศรีอยุธยาให้เป็นราชธานีดังเดิม[31] พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า พระยาตากได้เห็นซากศพและกระดูกของผู้เสียชีวิตในอยุธยากองกันประดุจภูเขา ได้เห็นคนที่อดอยากอาหารรูปร่างผอมโซดั่งเปรตปีศาจ จึงเกิดความสังเวชเหนื่อยหน่ายจะเดินทางกลับจันทบุรี บรรดาสมณพราหมณ์เสนาบดีประชาราษฏร์วิงวอนพระยาตาก ฝ่ายพระยาตากเห็นว่าการอยู่รักษาบ้านเมืองนั้นเป็นประโยชน์ต่อโพธิญาณ จึงหยุดพำนักอาศัยอยู่ที่เมืองธนบุรี

...ทอดพระเนตรเห็นอัฏฐิกเรวฬะคนทั้งปวงอันถึงพิบัติชีพตายด้วยทุพภิกขะ โจระ โรคะ สุมกองอยู่ดุจหนึ่งภูเขา แลเห็นประชาชนซึ่งลำบากอดอยากอาหาร มีรูปร่างดุจหนึ่งเปรตปีศาจพึงเกลียด ทรงพระสังเวชประดุจมีพระทัยเหนื่อยหน่ายในราชสมบัติ จะเสด็จไปเมืองจันทบุรี จึงสมณพราหมณาจารย์เสนาบดีประชาราษฎรชวนกันกราบทูลอาราธนาวิงวอน สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระบรมหน่อพุทธางกูร ตรัสเห็นประโยชน์เป็นปัจจัยแก่พระปรมาภิเษกสมโพธิญาณนั้นก็รับอาราธนา จงเสด็จยับยั้งอยู่ณพระตำหนักเมืองธนบุรี...

[14]

พงศาวดารพระพนรัตน์ฯระบุว่า พระยาตากพำนักในกรุงศรีอยุธยาที่พระที่นั่งทรงปืน พระยาตากสุบินฝันว่า พระมหากษัตริย์อยุธยามาขับไล่มิให้อยู่ วันรุ่งขึ้นพระยาตากจึงปรึกษากับขุนนางทั้งปวงว่า เจ้าของเดิมยังหวงแหนอยู่ จึงกวาดต้อนราษฏรชาวอยุธยาและอัญเชิญพระราชวงศ์อยุธยาลงมาอยู่ที่ธนบุรี

...ก็เสดจ์เข้าประทับแรมอยู่ ณะ พระธินั่งทรงปืนที่เสดจ์ออก บันทมอยู่คืนหนึ่ง จึ่งทรงพระสุบินนิมิตรว่า พระมหากระษัตรมาขับไล่เสียมิให้อยู่ ครั้นรุ่งขึ้นเพลาเช้าจึ่งตรัสเล่าพระสุบินให้ขุนนางทั้งปวงฟัง แล้วจึงดำหรัดว่าเราคิดสังเวชเหนว่าบ้านเมืองจะร้างรกเปนป่าจะมาช่วยปฏิสังขรณะทำนุกบำรุงขึ้นให้บริบูรรณ์ดีดังเก่า เมื่อเจ้าของเดีมท่านยังหวงแหนอยู่แล้ว เราชวนกันยกลงไปสร้างเมืองธนบูรีอยู่เถีด แล้วตรัสสั่งให้เลีกกองทับกวาดต้อนราษฎร แลสมณพราหมณาจารย์ทั้งปวง กับโบราณขัติยวงษซึ่งยังหลงเหลืออยู่นั้นก็เสดจ์กลับลงมา ตั้งอยู่ ณะ เมืองธนบูรี...

[4] กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระวินิจฉัยว่า ในขณะนั้นกองกำลังพลของเจ้าตากมีไม่เพียงพอไม่สามารถอยู่รักษากรุงศรียุธยาได้ หากพม่ายกมาโจมตีจะไม่สามารถใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นที่ตั้งรับได้ เมืองธนบุรีมีป้อมปราการคือป้อมวิชัยประสิทธิ์อยู่แล้ว เป็นที่ชัยภูมิอยู่ใกล้กับทะเล สามารถตั้งรับข้าศึกพม่าได้[31] เป็นเหตุผลที่พระยาตากเลือกที่จะย้ายที่มั่นจากอยุธยาลงมาอยู่ที่ธนบุรี

ภาพประธานด้านหลังธนบัตร 20 บาท แบบที่ 12 เป็นพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จำลองจากพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ สวนสาธารณะทุ่งนาเชย อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี

หลังจากสร้างพระราชวังบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ทรงจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยพอสมควร บรรดาแม่ทัพ นายกอง ขุนนาง ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดทั้งสมณะพราหมณาจารย์และอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลาย จึงพร้อมกันกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ณ วันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน จุลศักราช 1128 ซึ่งตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่เรียกขานพระนามของพระองค์ติดปากว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

เดิมพระองค์ทรงคิดที่จะปฏิสังขรณ์พระนครศรีอยุธยาให้กลับคืนเป็นดังเดิม[32] แต่หลังจากตรวจดูแล้วยากต่อการฟื้นฟู จึงทรงให้อพยพผู้คนและทรัพย์สินลงมาทางใต้ และตั้งราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี เรียกนามว่า กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร

ปรากฏว่าที่เมืองลพบุรี มีพระบรมวงศานุวงศ์ของราชวงศ์อยุธยามาพำนักอยู่เป็นจำนวนมาก พระเจ้าตากจึงรับสั่งให้คนไปอัญเชิญมายังเมืองธนบุรี พระองค์ทรงขุดพระบรมศพของพระเจ้าเอกทัศ ขึ้นมาถวายพระเพลิงตามโบราณราชประเพณี[33][34]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2550). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด. หน้า 133.
  2. อภินิหารบรรพบุรุษ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์พินิต โปรดให้พิมพ์เปนของเจ้าภาพชำร่วยในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าปิยภักดีนารถ สุประดิษฐ์ พ.ศ. ๒๔๗๓.Link
  3. พระราชประวัติบางตอนของสมเด็ดพระเจ้ากรุงธนบุรี (จากฉบับสมุดไทย), เรื่องของสมเด็ดพระเจ้ากรุงธนบุรี. พิมพ์เปนที่ระลึกไนงานสพ นายสวาสดิ์ สรีสกลไกรนุชิต ภัทรนาวิก (พระยาสรีสกลไกรนุชิต) นะ วัดไตรมิตร์วิทยาราม วันที่ 10 ตุลาคม 2487.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 พระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า" ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม อดีตพระธานกรรมการมูลนิธิ"ทุนพระพุทธยอดฟ้า"ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิริรนทราวาส วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558, ห้องสมุดรัฐสภา. Link
  5. 5.0 5.1 5.2 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๔: พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ ( เจิม )
  6. 6.0 6.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงศรีอยุทธยา.
  7. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า "ประมาณ 1000 เศษ"
  8. พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, สามกรุง (พระนคร : คลังวิทยา,2511) หน้า 60.
  9. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า "บานโพสามหาว โพสาวหาร และโพสังหาร"
  10. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สภาพทั่วไปและข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรของจังหวัดปราจีนบุรี[ลิงก์เสีย]
  11. ประกอบ โชประการ, มหาราชชาติไทย (กรุงเทพฯ : รวมการพิมพ์ 2523) หน้า 434.
  12. กรมตำรากระทรวงธรรมการ, พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (พระเจ้าตากสิน) จุลศักราช 1128-1144. พิมพ์ครั้งที่ 4 ; พระนคร : โรงพิมพ์กรมตำรากระทรวงพระธรรมการ, 2472. หน้า 8.
  13. สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ไทยรับพม่า ฉบับรวมเล่ม หน้า 385 ว่า "ปากน้ำเจ้าโล้ ข้างใต้เมืองปราจีนบุรี"
  14. 14.00 14.01 14.02 14.03 14.04 14.05 14.06 14.07 14.08 14.09 14.10 14.11 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
  15. กรมศิลปากร,ประชุมพงศาวดารภาคที่ 65 พงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์ พ.ศ. 2480 (พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพันเอก พระยาสิริจุลเสวก)
  16. ศิลปวัฒนธรรม, เส้นทางเดินทัพ พระเจ้าตาก เลียบทะเลตะวันออก เก็บถาวร 2009-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 1 สิงหาคม 2546
  17. 17.0 17.1 Breazeale, Kennon. From Japan to Arabia; Ayutthaya's Maritime Relations with Asia. Bangkok: the Foundation for the promotion of Social Sciences and Humanities Textbook Project, 1999.
  18. วัลลภา รุ่งศิริแสงรัตน์. (2546). บรรพบุรุษไทย: สมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 5
  19. จรรยา ประชิตโรมรัน. หน้า 169.
  20. ขจร สุขพานิช. หน้า 270.
  21. กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานบรรจุศพ คุณพ่อไต้ล้ง พรประภา วันที่ 4 กันยายน 2511) หน้า 603-604
  22. เสด็จประพาสจันทบุรี: พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและอักขรานุกรมภูมิศาสตร์จังหวัดจันทบุรี; สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
  23. เล่าเรืองเมืองจันทบูรณ์; สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี http://www.chanthaburi.doae.go.th/history/chan%20history.htm
  24. Masuda Erika. The Fall of Ayutthaya and Siam's Disrupted Order of Tribute to China (1767-1782). Taiwan Journal of Southeast Asian Studies, พ.ศ. 2550.
  25. ศรรวริศา เมฆไพบูลย์,ศิริโชค เลิศยะใส. NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับที่ 77 ธันวาคม 2550. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ปริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน),หน้า 51.ISSN 1513-9840
  26. จังหวัดตาก, ตากสินมหาราชานุสรณ์ งานฉลองวันขึ้นปีใหม่ ปีที่ 22 พ.ศ. 2515 (พระนคร : มิตรสยาม 2514) หน้า 113.
  27. กรมตำรากระทรวงธรรมการ, พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (พระเจ้าตากสิน) จุลศักราช 1128-1144. พิมพ์ครั้งที่ 4 ; พระนคร : โรงพิมพ์กรมตำรากระทรวงพระธรรมการ, 2472. หน้า 20-26.
  28. อู่ต่อเรือพระเจ้าตาก (อู่ต่อเรือเสม็ดงาม) Link
  29. พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, สามกรุง (พระนคร:คลังวิทยา 2511) หน้า 98.
  30. พระราชวิจารณ์ จดหมายความทรงจำ ของ พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ. ๑๑๒๙ ถึง ๑๑๘๒ เปนเวลา ๕๓ ปี: พิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. ๑๒๘ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
  31. 31.0 31.1 31.2 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ.
  32. พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, สามกรุง (พระนคร:คลังวิทยา 2511) หน้า 98.
  33. กรมตำรากระทรวงธรรมการ, พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (พระเจ้าตากสิน) จุลศักราช 1128-1144. พิมพ์ครั้งที่ 4 ; พระนคร : โรงพิมพ์กรมตำรากระทรวงพระธรรมการ, 2472. หน้า 23.
  34. สุนทรภู่, นิราศสุนทรภู่ ตอนนิราศพระบาท (พระนคร:คุรุสภา 2519) หน้า 123-124.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]