สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ | |
---|---|
เกิด | สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 28 เมษายน พ.ศ. 2499 จังหวัดนครปฐม ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 27 กันยายน พ.ศ. 2560 (61 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
อาชีพ | อาจารย์ นักวิชาการ |
องค์การ | คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
ขบวนการ | แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ |
คู่สมรส | ศ.บาหยัน อิ่มสำราญ |
รองศาสตราจารย์ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (28 เมษายน พ.ศ. 2499 – 27 กันยายน พ.ศ. 2560) คือ อดีตนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ อดีตรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติ
[แก้]ต้นตระกูลเป็นจีนฮกเกี้ยน ใช้ชีวิตวัยเด็กที่ตลาดบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เรียนหนังสือที่โรงเรียนบางเลน มีเพื่อนสมัยเด็กที่เป็นชาวบางเลนที่มีชื่อเสียงคือ วิมล ไทรนิ่มนวล ต่อมาเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2512 เป็นนักเรียนสวนกุหลาบรุ่น 88 ซึ่งมีเพื่อน เช่น หรินทร์ สุขวัฒน์, อุดม วิบูลเทพาชาติ, เสรี ดาราราช, ธำรงค์ ศิริปุณย์, ศักดิ์ชัย กาญจนาวิโรจน์กุล และ วีระ ธีรภัทรานนท์ เป็นต้น และที่มีบทบาททางการเมือง คือ อดุลย์ วันไชยธนวงศ์ อดีต ส.ส.แม่ฮ่องสอน สังกัด พรรคเพื่อไทย และ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จากพังงา
เป็นหนึ่งในคนเดือนตุลา ในขณะเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้าร่วมในขบวนการนักศึกษา และร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 หลังเหตุการณ์ ได้เดินทางเข้าสู่เขตป่าเขาร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อจัดตั้งว่า "สหายสมพร" อยู่เขตเดียวกับ อมร อมรรัตนานนท์ หรือ สหายสกล สุวิทย์ วัดหนู หรือ สหายเชิด จาตุรนต์ คชสีห์ หรือ สหายสืบแสง และ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ หรือ สหายวีระ เป็นต้น
เมื่อเหตุการณ์ผ่อนคลายลง ได้ออกจากป่าแล้วเข้าศึกษาที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จนจบปริญญาตรี ในปี พ.ศ. 2524 ได้รางวัลเกียรตินิยม จากนั้น ได้ทำงานที่หนังสือพิมพ์มาตุภูมิ และสยามนิกร ร่วมสมัยกับ ทวีป แก่นทับทิม นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในระยะต่อมาหลายคน เช่น สำราญ รอดเพชร, ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์, วุฒิพงษ์ หลักคำ, ศักดา แซ่เอียว (เซีย), นาตยา เชษฐโชติรส, พงษ์ศักดิ์ ศรีสด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทำหนังสือพิมพ์ไทยแลนด์ไทม์ ร่วมกับ ณัฐพัฒน์ บำรุงฤทธิ์, ปรีดี บุญซื่อ, อรรถวิบูลย์ ศรีสุวรนันท์, ผดุงศักดิ์ พื้นแสน, ต่อมา ได้เข้าเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ของ มานะ แพร่พันธุ์ ร่วมกับ กมล เข็มทอง และ ไพโรจน์ ทองมั่ง
พ.ศ. 2514 ได้ร่วมกับ ชาญ แก้วชูใส และ อินสอน บัวเขียว ฟื้นฟูพรรคสังคมประชาธิปไตย (พ.ศ. 2514) ซึ่งต่อมา เข้ารวมกับพรรคพลังใหม่ ตั้งเป็นพรรคพลังสังคมประชาธิปไตย มี ชัชวาลย์ ชมภูแดง เป็นหัวหน้าพรรค แต่พรรคนี้ได้เปลี่ยนเป็นพรรครวมพลังใหม่หลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2534 โดยมี ปราโมทย์ นาครทรรพเป็นหัวหน้าพรรค และยุบตัวลงหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2535 เนื่องจากไม่มีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.
ตุลาคม พ.ศ. 2530 เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการรุ่นบุกเบิกของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในเครือของบริษัทเนชั่น ซึ่งมี ณัฐพัฒน์ บำรุงฤทธิ์ เป็นบรรณาธิการ โดยรับหน้าที่ในฝ่ายข่าวต่างประเทศ ร่วมกับ สงวน พิศาลรัศมี เคยรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการพิเศษฝ่ายต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเมื่อ พ.ศ. 2532 ร่วมกับ ดรุณี แซ่ลิ่ว
จากนั้นได้จบการศึกษาระดับอักษรศาสตรมหาบัณฑิต เอกประวัติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2532 โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง กระบวนการทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2490-พ.ศ. 2500) และจบปริญญาเอก ด้วยทุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอก ประวัติศาสตร์โปรตุเกส จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ( University of Bristol) ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2541 โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง The Portuguese Lançados in Asia
เคยเป็นกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา ซึ่งมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน และ ประสาร มฤคพิทักษ์ เป็นเลขาธิการ ร่วมกับคนอื่น เช่น สุรัสวดี หุ่นพยนต์ สุนี ไชยรส สันติสุข โสภณศิริ เป็นต้น แต่ได้ลาออกตั้งแต่ พ.ศ. 2557
พ.ศ. 2552 เข้าร่วมกับมิตรสหาย เช่น อินสอน บัวเขียว, อุดม ขันแก้ว, ประชา อุดมธรรมานุภาพ, สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน และ กมล ดวงผาสุก (ไม้หนึ่ง ก.กุนที) เป็นต้น เพื่อรื้อฟื้น พรรคสังคมนิยม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 ผศ.ดร.สุธาชัย ก็เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่สนับสนุน พรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
มีรายการโทรทัศน์ ชื่อ ห้องเรียนประชาธิปไตย ออกร่วมกับสมยศ พฤกษาเกษมสุข ต่อมา เมื่อ คุณสมยศถูกจับกุม ก็ออกรายการคู่กับสุดา รังกุพันธุ์ รายการยุติลงหลังจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ได้เขียนบทความลงในคอลัมน์ถนนประชาธิปไตยประจำหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ วันสุข ซึ่งออกเผยแพร่ทุกวันศุกร์
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 ได้รับเชิญเป็นผู้ปาฐกถา 6 ตุลาประจำปี นอกจากนี้ ยังเป็นผู้สนับสนุนการล้มล้างผลพวงรัฐประหารตามข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์
เดือนมกราคม พ.ศ. 2555 เข้าร่วมในคณะ ครก.112 เพื่อรณรงค์ปฏิรูปมาตรา 112 ตามข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์และร่วมรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมือง
การทำงาน
[แก้]รศ.ดร.สุธาชัย มีผลงานวิจัยและผลงานด้านหนังสือ ส่วนมากเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในหนังสือชื่อ อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการณ์ของการเปลี่ยนแปลง โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ เป็นบรรณาธิการ และที่ได้รับการตีพิมพ์ล่าสุด คือ เรื่อง แผนชิงชาติไทย พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นเรื่องสมัยคณะรัฐประหาร 2490 และ หนังสือเรื่อง สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ นอกจากนี้ ยังเขียนเรื่อง อีกฟากหนึ่งของยุโรป เป็นหนังสือว่าด้วย ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของยุโรปตะวันออก
เขียน บทนำ หนังสือเรื่อง หลังไมล์ดาวแดง และ สู่สมรภูมิแนวหน้า ของ เหมือนฝัน เรื่อง หลัง 6 ตุลาฯ ของ ธิกานต์ ศรีนารา เรื่อง เบนาซีร์ บุตโต หญิงแกร่งแห่งตะวันออก แปลโดย อรวรรณ นารากุล เรื่อง จีนเป็ง ประวัติศาสตร์คู่ขนาน เรื่องเล่าเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา แปลโดย ธันรวี
เคยเป็นอาจารย์ประจำที่ภาควิชาพื้นฐาน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตระยะหนึ่ง ต่อมามีตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์เปรียบเทียบระดับ 9 ของ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชีวิตส่วนตัว สมรสกับ ศ.บาหยัน อิ่มสำราญ ภรรยาซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสนิทสนมกับทางกลุ่มผู้สนับสนุนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหลายคน เช่น นพ.เหวง โตจิราการ, จรัล ดิษฐาอภิชัย, สุนัย จุลพงศธร, อดิศร เพียงเกษ, วิสา คัญทัพ, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เป็นต้น และร่วมในทีมงานวิชาการของธิดา ถาวรเศรษฐ์ ผู้ประสานงาน นปช. รุ่นใหม่ จึงถือว่าเป็นหนึ่งในนักวิชาการฝ่ายเสื้อแดง โดยมีผู้ร่วมงานวิชาการเช่น ผศ.ดร.สุดา รังกุพันธุ์ รศ.ดร.สุดสงวน สุธีสร
ผลงานล่าสุด เมื่อ พ.ศ. 2558 คือ บันทึกเชิงนวนิยาย เรื่อง "น้ำป่า" ซึ่งเล่าเรื่องการต่อสู้ของนักศึกษาที่เขตงานสุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ. 2520
บทบาททางการเมือง
[แก้]ในช่วงเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2554 ผศ.ดร.สุธาชัย เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และมีความเห็นตรงกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) รวมทั้งสนับสนุนการเคลื่อนไหวและขึ้นเวทีปราศรัย อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ขอประกันตัว นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ผู้ต้องหาถูกจำคุกในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อ พ.ศ. 2551 ต่อมา รศ.ดร.สุธาชัยก็ได้กลายเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่รณรงค์ให้ยกเลิก มาตรา 112
และหลังการยุติการชุมนุมของ นปช. พ.ศ. 2553 รศ.ดร.สุธาชัยถูกควบคุมไปที่ค่ายอดิศร ศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี พร้อมกับนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสียงทักษิณ ด้วย ในข้อหาจัดการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งผิดต่อพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ต่อมา ได้รับการปล่อยตัว และถูกดำเนินคดีข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน
นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ยังได้ยื่นฟ้องต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นจำเลยที่ 1 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยที่ 2 และ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เป็นจำเลยที่ 3 ในคดี ผังล้มเจ้า ซึ่ง ศอฉ.สร้างขึ้น ผลของคดีนำมาซึ่งการยอมความในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 โดย พ.อ.สรรเสริญยอมรับว่า ข้อหาล้มเจ้า ตั้งขึ้นมาจากความเชื่อที่ว่า ขบวนการล้มเจ้ามีจริง ส่วนบุคคลที่ปรากฏชื่อในผัง ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในขบวนการล้มเจ้า เพียงแต่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเท่านั้น
หลังจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวด้วยคำสั่งที่ 44/2557 ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้เข้ารายงานตัวในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557 แต่ไม่ได้ถูกควบคุมตัวแต่อย่างใด
ถึงแก่อนิจกรรม
[แก้]สุธาชัยถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร[1]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2558 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[2]
- พ.ศ. 2555 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ. " 'สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ' นักวิชาการประวัติศาสตร์ชื่อดังเสียชีวิตอย่างสงบ เก็บถาวร 2017-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." Voice TV. 27 กันยายน 2560. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2560.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๘[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๓๑ ข หน้า ๕๘, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๕ เก็บถาวร 2022-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๓๕ ข หน้า ๑๒๖, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๕
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2499
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2560
- บุคคลจากอำเภอบางเลน
- นักวิชาการจากจังหวัดนครปฐม
- นักเขียนจากจังหวัดนครปฐม
- นักเขียนสารคดีชาวไทย
- นักประวัติศาสตร์ชาวไทย
- นักเคลื่อนไหวชาวไทย
- นิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- บุคคลจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ - ศิลปศาสตร์ - มนุษยศาสตร์
- บุคคลจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
- แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
- รองศาสตราจารย์
- ชาวไทยเชื้อสายจีน
- พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
- บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ม.
- บุคคลในประวัติศาสตร์ไทย หลัง พ.ศ. 2544