ข้ามไปเนื้อหา

พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิติศักดิ์ กิตฺติวุฑฺโฒ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระกิตติวุฒโฑ)
พระเทพกิตติปัญญาคุณ

(กิติศักดิ์ กิตฺติวุฑฺโฒ)
ชื่ออื่นกิตติวุฑโฒ ภิกขุ
ส่วนบุคคล
เกิด1 มิถุนายน พ.ศ. 2479 (68 ปี)
มรณภาพ21 มกราคม พ.ศ. 2548
นิกายมหานิกาย
การศึกษาป.4 นักธรรมชั้นเอก
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ชลบุรี
อุปสมบท14 มิถุนายน พ.ศ. 2500
พรรษา48
ตำแหน่งอดีตผู้อำนวยการจิตตภาวันวิทยาลัย

พระเทพกิตติปัญญาคุณ นามเดิม กิติศักดิ์ เจริญสถาพร[1] หรือที่รู้จักในนาม กิตติวุฑโฒ ภิกขุ อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร และอดีตผู้อำนวยการจิตตภาวันวิทยาลัย จังหวัดชลบุรี

ประวัติ

[แก้]

พระเทพกิตติปัญญาคุณ เดิมชื่อ มังกร เจริญสถาพร เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2479 ที่ตำบลบางไทรป่า อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรของนายเตียวยี่-นางเง็กเล้า เจริญสถาพร มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน คือ

  1. ร.ต.ต. อุเทน เจริญสถาพร
  2. นายวิทยา เจริญสถาพร
  3. พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิติศักดิ์ กิตฺติวุฑฺโฒ)
  4. นางสาวสมนึก เจริญสถาพร
  5. นายบุญช่วย เจริญสถาพร
  6. เด็กหญิงพิกุล เจริญสถาพร
  7. นายเกียรติ เจริญสถาพร
  8. นายชูศักดิ์ เจริญสถาพร

มังกรเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านบางเลน ต่อมาได้เรียนวิชชาธรรมกายกับพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) แล้วอุปสมบทวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2500 ณ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ[2] ขณะนั้นหลวงพ่อสดอาพาธ จึงให้พระธีรสารมุนี (สุไชย ธีรสาโร) วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์แทน พระครูปัญญาภิรัต วัดปากน้ำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูพิพัฒนธรรมคณี วัดปากน้ำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์[3] ต่อมาวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2507 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกิติศักดิ์[4]

หลังอุปสมบทได้ศึกษาปริยัติธรรมจนจบนักธรรมชั้นเอกจากสำนักเรียนวัดปากน้ำ ต่อมาไปเรียนอภิธรรมที่โรงเรียนพระอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์[5] ได้รับแต่งตั้งเป็นครูสอนอภิธรรมเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2503 จึงย้ายไปอยู่วัดมหาธาตุฯ และได้ศึกษาคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น มูลกัจจายน์ วิสุทธิมรรค อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นต้น กับพระเตชินทะ ธัมมาจริยะ อภิธัมมกถิกาจริยะชาวพม่า และพระครูประกาศสมาธิคุณ (สังเวียน ญาณเสวี) และเรียนวิปัสสนากับพระอาจารย์อินทวังสะ กัมมัฎฐานาจริยะชาวพม่า[6] จนมีผลงานทางด้านการพัฒนาการศึกษาของสงฆ์ การประพันธ์ และแต่งหนังสือเป็นจำนวนมาก[7] ในปี พ.ศ. 2510 ได้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการคนแรกของวิทยาลัยการเผยแพร่พระพุทธศาสนา (ปัจจุบันคือจิตตภาวันวิทยาลัย)

ช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ (ขณะนั้นเป็นพระราชาคณะที่พระอุดรคณาภิรักษ์) ได้กล่าวว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ ไม่บาป ซึ่งถูกฝ่ายขวา อันได้แก่ นวพล กลุ่มกระทิงแดง ในสมัยนั้นนำไปใช้เป็นวาทกรรม โจมตีฝ่ายซ้าย และยุยงให้คนไทยเกลียดชังนิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำไปสู่การสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519[8]

ระยะหลังพยายามที่จะสร้างอุโบสถกลางทะเลและระดมทุนก่อสร้างคอนโดธรรมะ รวมทั้งโรงพยาบาลสงฆ์ แต่ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์

พระเทพกิตติปัญญาคุณ อาพาธด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบมานาน 5 ปีเศษ จนมรณภาพด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2548 เวลา 12:51 น. ณ โรงพยาบาลชลบุรี[9] สิริอายุได้ 68 ปี 234 วัน[10]วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเพลิงศพ[11]วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ้าย กรุงเทพมหานคร

สมณศักดิ์

[แก้]

วาทกรรมฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป

[แก้]

กิตติวุฑโฒภิกขุ ได้ให้สัมภาษณนิตยสารรายสัปดาห์ จัตุรัส เมื่อ พ.ศ. 2519 อันกลายมาเป็นคำขวัญระบือลือลั่นของฝ่ายขวาว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ ไม่บาป ดังต่อไปนี้[15]

จัตุรัส: การฆ่าฝ่ายซ้าย หรือ คอมมิวนิสต์บาปหรือไม่

กิตติวุฑโฒ: อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นการฆ่าคนเพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ เราไม่ได้ฆ่าคน แต่ฆ่ามาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน

จัตุรัส: ฝ่ายซ้ายที่ตายหลายคนในช่วงนี้ คนฆ่าก็ได้บุญ

กิตติวุฑโฒ: ถ้าหากฆ่าคนที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แล้วก็ได้ประโยชน์

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. พระมหากัจจายนเถระ รจนา. (2551). เนตติปกรณ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก Link[ลิงก์เสีย]. เข้าถึงเมื่อ 7-8-52
  2. เรือเอก ธเนศ วงษ์วารี. กิตติวุฑโฒ ภิกขุ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ), หน้า (4)
  4. ปรมัตถธรรม 4. (จิต เจตสิก รูป นิพพาน), หน้า (7)
  5. ปรมัตถธรรม 4. (จิต เจตสิก รูป นิพพาน), หน้า (8)
  6. ปรมัตถธรรม 4. (จิต เจตสิก รูป นิพพาน), หน้า (9)
  7. พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ), หน้า (5)
  8. 6 ตุลา “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” จาก ประชาไทย [ออนไลน์] วันที่ 2013-10-04.
  9. พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ), หน้า (6)
  10. คุยได้ทุกเรื่อง : "พระกิตติวุฑโฒ"มรณภาพแล้ว
  11. พิธีบำเพ็ญกุศล ‘พระเทพกิตติปัญญาคุณ’
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 89, ตอน 202 ง ฉบับพิเศษ, 31 ธันวาคม 2515, หน้า 5
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 104, ตอน 253 ง ฉบับพิเศษ, 5 ธันวาคม 2530, หน้า 6
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 109, ตอน 101 ง ฉบับพิเศษ, 12 สิงหาคม 2535, หน้า 4
  15. กิตติวุฒโฑภิกขุ. น.ส.พ.จัตุรัส ปีที่ 2 ฉบับที่ 51 วันที่ 27 มิถุนายน 2519
บรรณานุกรม
  • พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ). ปรมัตถธรรม 4. (จิต เจตสิก รูป นิพพาน). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2549. ISBN 974-344-389-4
  • พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ). กรุงเทพฯ : [ม.ป.พ.], 2548. [อนุสรณ์งานบำเพ็ญกุศลสัตตมวารศพ พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ)]