ข้ามไปเนื้อหา

เล่าปี่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระเจ้าเล่าปี่)
เล่าปี่ (หลิว เป้ย์)
劉備
จักรพรรดิจีน
ภาพวาดเล่าปี่ในม้วนสิบสามจักรพรรดิ (สมัยราชวงศ์ถัง)
จักรพรรดิแห่งจ๊กก๊ก
ครองราชย์15 พฤษภาคม ค.ศ. 221 – 10 มิถุนายน ค.ศ. 223
ถัดไปเล่าเสี้ยน
อ๋องแห่งฮันต๋ง (漢中王)
(ภายใต้จักรวรรดิฮั่น)
ดำรงตำแหน่งค.ศ. 219 – 15 พฤษภาคม ค.ศ. 221
ประสูติค.ศ. 161
อำเภอตุ้นก้วน เมืองจัวจวิ้น จักรวรรดิฮั่น
(ปัจจุบันคืออำเภอจัวโจว เมืองเป่าติ้ง มณฑลเหอเป่ย์)
สวรรคต10 มิถุนายน ค.ศ. 223 (63 ปี)
เป๊กเต้เสีย (ไป๋ตี้เฉิง) จ๊กก๊ก
(ปัจจุบันคืออำเภอเฟิ่งเจี๋ย เมืองฉงชิ่ง)
ฝังพระศพสุสานฮุ่ยหลิง เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน
คู่อภิเษก
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: หลิว/เล่า (劉)
ชื่อตัว: เป้ย์/ปี่ (備)
ชื่อรอง: เสฺวียนเต๋อ/เหี้ยนเต๊ก (玄德)
รัชศก
เจี๋ยงบู๋ (章武 จางอู่): ค.ศ. 221-223
พระสมัญญานาม
จักรพรรดิเจาเลี่ย (昭烈皇帝)
ราชวงศ์ราชสกุลเล่า (หลิว)
พระราชบิดาเล่าเหง
ช่วงเวลา
เล่าปี่ (หลิว เป้ย์)
"เล่าปี่" (หลิว เป้ย์) เขียนเป็นอักษรจีนตัวเต็ม (บน) และอักษรจีนตัวย่อ (ล่าง)
อักษรจีนตัวเต็ม劉備
อักษรจีนตัวย่อ刘备
ชื่อภาษาจีนอื่น ๆ
ภาษาจีน玄德
ความหมายตามตัวอักษร(ชื่อรอง)

เล่าปี่ (ค.ศ. 161 – 10 มิถุนายน ค.ศ. 223)[1] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หลิว เป้ย์ (การออกเสียง; จีนตัวย่อ: 刘备; จีนตัวเต็ม: 劉備; พินอิน: Liú Bèi; เวด-ไจลส์: Liu2 Pei4) ชื่อรอง เหี้ยนเต๊ก[a] หรือในภาษาจีนกลางว่า เสฺวียนเต๋อ (玄德) เป็นขุนศึกในสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ผู้ก่อตั้งและผู้ปกครองคนแรกของจ๊กก๊กในยุคสามก๊ก แม้จะเริ่มต้นด้วยความล้มเหลวเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทั้งยังปราศจากขุมกำลังและสถานะทางสังคมดังที่คู่แข่งมี แต่นานวันเข้าเล่าปี่ก็ได้การสนับสนุนจากกลุ่มผู้ภักดีต่อราชวงศ์ฮั่นซึ่งต่อต้านโจโฉ ขุนศึกผู้สามารถควบคุมการปกครองส่วนกลางรวมถึงพระเจ้าเหี้ยนเต้จักรพรรดิหุ่นเชิดไว้ได้ ครั้นแล้วเล่าปี่ก็ขับเคลื่อนขบวนการประชาชนเพื่อรื้อฟื้นราชวงศ์ฮั่น จนก่อตั้งดินแดนของตนซึ่งกินอาณาเขตที่ปัจจุบันคือมณฑลเสฉวน เมืองฉงชิ่ง มณฑลกุ้ยโจว มณฑลหูหนาน และบางส่วนของมณฑลกานซู่กับมณฑลหูเป่ย์

ในทางวัฒนธรรมแล้ว สืบเนื่องจากความโด่งดังของนวนิยายสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 เรื่อง สามก๊ก เล่าปี่จึงได้รับการมองว่าเป็นผู้ปกครองที่โอบอ้อมอารี รักใคร่ปวงประชา และเลือกสรรคนดีเข้าปกครองบ้านเมือง เรื่องแต่งเหล่านี้เป็นไปเพื่อยกตัวอย่างเชิงสดุดีผู้ปกครองที่ยึดมั่นคุณธรรมแบบขงจื๊อ เช่นความซื่อสัตย์จงรักภักดีและความเมตตากรุณา แต่ในทางประวัติศาสตร์แล้ว เล่าปี่ยึดถือเล่าจื๊อมากกว่า เฉกเช่นเดียวกับผู้ปกครองหลาย ๆ คนแห่งราชวงศ์ฮั่น ทั้งเขายังเป็นนักการเมืองที่ชาญฉลาด เป็นผู้นำที่ความสามารถฉายออกมาในแบบนักนิตินิยม ความนับถือขงจื๊อของเล่าปี่นั้นได้รับการแต่งเติมมากกว่าของผู้ก่อตั้งรัฐคู่แข่งอย่างโจผีกับซุนกวน ผู้ซึ่งบริหารบ้านเมืองอย่างนิตินิยมเต็มรูปแบบ ปรัชญาการเมืองของเล่าปี่สามารถอธิบายได้ด้วยสำนวนจีนที่ว่า "ขงจื๊อเพียงเปลือกนอก แต่นิตินิยมเป็นเนื้อแท้" (儒表法里; 儒表法裡; rú biǎo fǎ lǐ; ju2 piao3 fa3 li3) เป็นรูปแบบการปกครองที่กลายเป็นบรรทัดฐานหลังจากการสถาปนาราชวงศ์ฮั่น[b]

แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์

[แก้]

แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับชีวประวัติของเล่าปี่คือสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ) เขียนโดยตันซิ่ว (เฉิน โชฺ่ว) ในศตวรรษที่ 3 ต่อมาในศตวรรษที่ 5 เผย์ ซงจือเขียนอรรถาธิบายของสามก๊กจี่โดยนำข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอื่นมารวมเข้ากับผลงานต้นฉบับของตันซิ่วรวมถึงเพิ่มความคิดเห็นส่วนตัวของตนเองไปด้วย ในปี ค.ศ.2006 วิลเลียม กอร์ดอน โครเวล (William Gordon Crowell) แปลชีวประวัติของเล่าปี่อย่างสมบูรณ์เป็นภาษาอังกฤษจากสามก๊กจี่ของตันซิ่วเล่มที่ 32 และเผยแพร่ฟรีทาง Academia.edu.[3]

ลักษณะภายนอก

[แก้]

บันทึกทางประวัติศาสตร์สามก๊กจี่ ได้บรรยายว่าเล่าปี่เป็นบุรุษผู้สูงเจ็ดฉื่อห้าชุ่น (ประมาณ 174 เซนติเมตร) มีแขนซึ่ง "ยืดยาวไปถึงเข่า" และมีใบหูขนาดใหญ่ถึงขนาดที่ "ตนเองสามารถชำเลืองตาไปมองเห็นได้"[สามก๊กจี่ 1] เล่าปี่เคยถูกเรียกว่า "ไอ้หูใหญ่" (大耳 ต้าเอ่อร์) จากทั้งลิโป้[หฺวาหยางกั๋วจื้อ 1] และโจโฉ[หฺวาหยางกั๋วจื้อ 2]

นวนิยายอิงประวัติศาสตร์สมัยศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะภายนอกของเล่าปี่ที่คล้ายคลึงกับในสามก๊กจี่แต่มีรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยระบุว่าเล่าปี่สูงเจ็ดฉื่อห้าชุ่น มีหูขนาดใหญ่ยานถึงไหล่ซึ่งตัวเล่าปี่สามารถชำเลืองตาไปมองเห็นหูตัวเองได้ มีแขนยาวถึงเข่า มีใบหน้าขาวเหมือนหยก และมีริมฝีปากแดงเหมือนทาชาด[4] สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยจากนวนิยายภาษาจีนในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็ได้บรรยายลักษณะของเล่าปี่ด้วยเนื้อความคล้ายคลึงกันว่า "กอปรด้วยลักษณะรูปใหญ่สมบูรณ์ สูงประมาณห้าศอกเศษ หูยานถึงบ่า มือยาวถึงเข่า หน้าขาวดังสีหยก ฝีปากแดงดังชาดแต้ม จักษุชำเลืองไปเห็นหู" [5]

ภูมิหลังครอบครัว

[แก้]

บันทึกทางประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 3 สามก๊กจี่ ระบุว่าเล่าปี่เกิดที่อำเภอตุ้นก้วน (涿縣 จัวเซี่ยน) เมืองจัวจฺวิ้น (涿郡) (ปัจจุบันคือเมืองจัวโจฺว เมืองเป่าติ้ง มณฑลเหอเป่ย์) เล่าปี่สืบเชื้อสายจากหลิว เจิน (劉貞) ผู้เป็นโอรสของหลิว เชิ่ง (劉勝) ที่เป็นโอรสลำดับที่ 9 ของจักรพรรดิฮั่นเกงเต้ (ฮั่นจิ่งตี้) และเป็นอ๋องแห่งราชรัฐจงซานองค์แรกในยุคราชวงศ์ฮั่น แต่อรรถาธิบายสามก๊กจี่ของเผย์ ซงจือในศตวรรษที่ 5 อ้างอิงข้อมูลจาก เตี่ยนเลฺว่ (典略) ได้ระบุว่าเล่าปี่สืบเชื้อสายจากหลินอี้โหว (臨邑侯) บรรดาศักดิ์ "หลินอี้โหว" นี้ถือครองโดยหลิว ฟู่ (劉復; เหลนชายของจักรพรรดิฮั่นกองบู๊) และภายหลังได้สืบทอดมายังหลิว เถาถู (劉騊駼) บุตรชาย ซึ่งสืบสายเลือดมาจากหลิว ฟา (劉發) ผู้เป็นติ้งหวางแห่งเตียงสา (長沙定王 ฉางซาติ้งหวาง) โอรสอีกองค์หนึ่งของจักรพรรดิฮั่นเกงเต้ อาจจะเป็นไปได้ว่าเล่าปี่อาจสืบเชื้อสายมาจากสายนี้มากกว่าสายของหลิว เชิ่ง

หลิว สฺยง (劉雄) ปู่ของเล่าปี่ และเล่าเหง (劉弘 หลิว หง) บิดาของเล่าปี่ต่างก็รับราชการที่ว่าการเมืองและที่ว่าการมณฑล หลิว สฺยงปฏิบัติหน้าที่ได้ดีและได้รับการเสนอชื่อให้เป็นเซี่ยวเหลียนในกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครเป็นขุนนางพลเรือน จากนั้นจึงได้ขึ้นมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอของอำเภอฟ่าน (范) ในเมืองตองกุ๋น (東郡 ตงจฺวิ้น)[สามก๊กจี่ 2][อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 1]

ประวัติช่วงต้น

[แก้]
ภาพวาดของเล่าปี่ในสมัยเอโดะ

เล่าปี่เกิดในครอบครัวที่ยากจน สูญเสียบิดาไปตั้งแต่ยังเด็ก เล่าปี่และมารดาจึงต้องขายรองเท้าและเสื้อฟางขายเลี้ยงชีพ ถึงกระนั้นเล่าปี่ก็เปี่ยมด้วยความทะเยอทะยานตั้งแต่วัยเด็ก ครั้งหนึ่งเล่าปี่ได้พูดคุยกับเพื่อนขณะอยู่ใต้ต้นไม้ที่มีลักษณะคล้ายราชรถว่ามีความต้องการจะเป็นจักรพรรดิ ในปี ค.ศ. 175 มารดาของเล่าปี่ได้ส่งเล่าปี่ไปเรียนหนังสือกับโลติดผู้มีชื่อเสียงในอำเภอตุ้นก้วน เพื่อนร่วมเรียนของเล่าปี่คนหนึ่งคือกองซุนจ้าน ซึ่งเล่าปี่ให้ความนับถือและปฏิบัติเหมือนเป็นพี่ชาย เพื่อนร่วมเรียนอีกคนเป็นญาติชื่อหลิว เต๋อหรัน (劉德然)[6] กล่าวกันว่าเล่าปี่ในวัยรุ่นไม่เอาใจใส่ในการเรียนหนังสือ แต่มีความสนใจในการล่าสัตว์ ดนตรี และการแต่งตัว เล่าปี่ยังเป็นที่ชื่นชอบของคนในตระกูลจากการเป็นคนพูดน้อย มีความสุขุมเยือกเย็น และรักเพื่อนฝูง

กบฏโพกผ้าเหลือง

[แก้]

ในปี ค.ศ. 184 เกิดกบฏโพกผ้าเหลืองก่อการขึ้น เล่าปี่มีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นและเรียกระดมพลทหารอาสาเพื่อช่วยเหลือกองทัพราชสำนักในการปราบปรามกบฏ เล่าปี่ได้รับเงินสนับสนุนจากพ่อค้าม้าที่มั่งคั่งสองคนคือเตียวสิเผง (張世平 จาง ชื่อผิง)[7] และเล่าสง (蘇雙 ซู ซฺวัง)[8] และรวบรวมกลุ่มผู้ติดตามผู้ภักดี ได้แก่ กวนอู, เตียวหุย และกันหยง

เล่าปี่นำกองกำลังทหารอาสาเข้าร่วมกับกองทัพหลวงท้องถิ่นนำโดยนายพันเจาเจ้ง และเข้าร่วมในศึกรบกับกบฏ ด้วยความชอบในการร่วมศึก ราชสำนักฮั่นจึงแต่งตั้งให้เล่าปี่เป็นนายอำเภอ (令 ลิ่ง) ของอำเภออันห้อกวน (安喜縣 อันสี่เซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองอันกั๋ว มณฑลหูเป่ย์) อำเภอหนึ่งในเมืองจงชาน (中山郡 จงชานจฺวิ้น) ภายหลัง ราชสำนักฮั่นได้ออกคำสั่งให้ปลดข้าราชการที่ได้รับตำแหน่งจากความชอบในการศึก เล่าปี่จึงจำต้องลาออกจากตำแหน่งหลังจากได้ทำร้ายผู้ตรวจการที่พยายามไล่เล่าปี่ออกจากตำแหน่ง ต่อมาเล่าปี่พร้อมผู้ติดตามเดินทางลงใต้เพื่อเข้าร่วมกองกำลังทหารอาสาอีกกลุ่มในการรบกับกบฏโพกผ้าเหลืองที่หลงเหลืออยู่ในมณฑลชีจิ๋ว (ปัจจุบันอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลเจียงซู) จากความชอบในการร่วมศึก ราชสำนักฮั่นจึงแต่งตั้งให้เล่าปี่เป็นนายอำเภอ (令 ลิ่ง) และผู้บังคับการทหาร (都尉 ตูเว่ย์) แห่งอำเภอเกาถัง (高唐縣 เกาถังเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกของอำเภอเกาถัง มณฑลชานตง)

ยุคขุนศึกแตกเป็นรัฐ

[แก้]

รับราชการกับกองซุนจ้าน (ค.ศ. 189-194)

[แก้]
ประติมากรรมของเล่าปี่ในวัดของจูกัดเหลียงในเมืองเฉิงตู

เล่าปี่ไม่เคยเข้าร่วมในการทัพปราบตั๋งโต๊ะ แม้จะกล่าวกันว่าเล่าปี่จัดตั้งกองกำลังเพื่อจะยกไปร่วม[9] เล่าปี่ยกกองกำลังขึ้นเหนือไปเข้าร่วมกับขุนศึกกองซุนจ้านที่เป็นเพื่อนเก่า[9] ในปี ค.ศ. 191 กองซุนจ้านและเล่าปี่มีชัยในการรบกับขุนศึกอ้วนเสี้ยว (อดีตผู้นำพันธมิตรในการรบกับตั๋งโต๊ะ) ในการต่อสู้ช่วงชิงการควบคุมมณฑลกิจิ๋ว (ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของมณฑลเหอเป่ย์) และมณฑลเฉงจิ๋ว (ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของมณฑลชานตงและเหอเป่ย์)[9] กองซุนจ้านได้เสนอชื่อเล่าปี่ให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ (相 เซียง) ของเพงงวนก๋วน (平原國 ผิงยฺเหวียนกั๋ว; ปัจจุบันอยู่บริเวณอำเภอผิงยฺเหวียน มณฑลชานตง) และส่งเล่าปี่ไปเข้าร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาชื่อเต๊งไก๋ในการรบกับอ้วนถำบุตรชายคนโตของอ้วนเสี้ยวที่มณฑลเฉงจิ๋ว[9][c]

สืบทอดตำแหน่งจากโตเกี๋ยม (ค.ศ. 194)

[แก้]

ในปี ค.ศ. 194 โจโฉพันธมิตรของอ้วนเสี้ยว ยกทัพไปรบกับโตเกี๋ยมผู้ปกครองมณฑลชีจิ๋ว ในเวลานั้นมีกลุ่มพันธมิตรอยู่สองฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ฝ่ายหนึ่งคืออ้วนสุด โตเกี๋ยม และกองซุนจ้าน อีกฝ่ายหนึ่งคืออ้วนเสี้ยว โจโฉ และเล่าเปียว เมื่อเผชิญหน้ากับความกดดันจากโจโฉ โตเกี๋ยมจึงได้ส่งหนังสือไปขอความช่วยเหลือจากเต๊งไก๋ เต๊งไก๋และเล่าปี่จึงนำทหารมาสนับสนุนโตเกี๋ยม

แม้ว่าโจโฉจะได้เปรียบในช่วงแรกของการบุก แต่เตียวเมาผู้ใต้บังคับบัญชาของโจโฉได้ก่อกบฏและเปิดทางให้ลิโป้เข้ายึดฐานอำนาจของโจโฉที่มณฑลกุนจิ๋ว (ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของมณฑลชานตงและมณฑลเหอหนาน) ทำให้โจโฉต้องถอนทัพกลับจากชีจิ๋ว โตเกี๋ยมได้ขอให้เล่าปี่นำทหารมาตั้งมั่นใกล้เมืองเสียวพ่าย (小沛 เสี่ยวเพ่ย์; ปัจจุบันคืออำเภอเพ่ย์ มณฑลเจียงซู) และมอบทหารเพิ่มเติมอีก 4,000 คน จากเดิมที่เล่าปี่มีทหารใต้บังคับบัญชา 1,000 คนกับทหารม้าชาวออหวน (อูหฺวัน) อีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้นเล่าปี่จึงออกจากการบังคับบัญชาของเต๊งไก๋เพื่อโตเกี๋ยม โตเกี๋ยมได้กลายเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่เล่าปี่ เล่าปี่ได้ประโยชน์อย่างมากภายใต้การปกครองของโตเกี๋ยมที่ปกครองด้วยรูปแบบประชานิยมแบบลัทธิขงจื๊อ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการปกครองของเล่าปี่ในภายหลัง ขณะเดียวกันเล่าปี่ก็ได้เกณฑ์กำลังทหารในพื้นที่โดยรอบ และสร้างสัมพันธ์กับตระกูลที่มีอิทธิพลและราษฏรในมณฑล ภายในเวลาสั้น ๆ เล่าปี่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสองตระกูลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในชีจิ๋ว คือตระกูลบิ (หมี) นำโดยบิต๊กและบิฮอง และตระกูลตัน (เฉิน) นำโดยตันกุ๋ยและตันเต๋ง เล่าปี่ยังได้แต่งงานกับบิฮูหยินน้องสาวของบิต๊กเพื่อดึงการสนับสนุนจากตระกูลบิ

เมื่อโตเกี๋ยมเสียชีวิตในปี ค.ศ. 194[10] ตระกูลบิเข้าหนุนหลังเล่าปี่แทนที่จะเป็นบุตรชายคนใดคนหนึ่งของโตเกี๋ยม ยกให้เล่าปี่ขึ้นเป็นผู้ปกครองคนใหม่ของชีจิ๋ว เล่าปี่ลังเลและกังวลที่จะรับตำแหน่งเมื่อตันกุ๋นบอกเล่าปี่ว่าอ้วนสุดก็จะคิดการช่วงชิงการควบคุมเหนือมณฑลชีจิ๋ว[11] เล่าปี่จึงปรึกษากับขงหยงและตันเต๋ง ซึ่งได้แนะนำให้เล่าปี่ขอเป็นพันธมิตรกับอ้วนเสี้ยว ในที่สุดเล่าปี่จึงได้ขึ้นครองชีจิ๋วหลังจากที่อ้วนเสี้ยวให้การรับรองสิทธิ์ในการปกครอง[12]

ขัดแย้งกับลิโป้ (ค.ศ. 195–198)

[แก้]

ในปี ค.ศ. 195 ลิโป้พ่ายแพ้ให้กับโจโฉและมาเข้าพึ่งด้วยเล่าปี่ ในปีถัดมา อ้วนสุดส่งขุนพลกิเหลงให้นำทัพเข้ารุกรานมณฑลชีจิ๋ว เล่าปี่จึงนำทัพไปตอบโต้การบุกของกิเหลงในบริเวณใกล้เคียงกับอำเภอสฺวีอี๋ในปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายตั้งยันกันประมาณหนึ่งเดือนโดยไม่รู้ผลแพ้ชนะ ในเวลาเดียวกัน เตียวหุยซึ่งเล่าปี่ให้รักษาเมืองแห้ฝือ (下邳郡 เซี่ยพีจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองพีโจว มณฑลเจียงซู) เมืองหลวงของมณฑลชีจิ๋ว ได้สังหารโจป้าผู้สำเร็จราชการเมืองแห้ฝือหลังจากเกิดการวิวาทกันอย่างรุนแรง การเสียชีวิตของโจป้าก่อให้เกิดความวุ่นวายในเมืองแห้ฝือ ลิโป้จึงฉวยโอกาสนี้ประสานกับผู้แปรพักตร์จากฝ่ายเล่าปี่เข้ายึดครองเมืองแห้ฝือและคุมตัวครอบครัวของเล่าปี่ไว้

เมื่อได้ข่าวการยึดครองแห้ฝือของลิโป้ เล่าปี่จึงเรียกมุ่งหน้ากลับไปเมืองแห้ฝือทันที แต่กำลังทหารส่วนใหญ่ของเล่าปี่ยังอยู่ในแห้ฝือ เล่าปี่จึงนำทหารที่เหลือหนีไปเมืองกองเหลง (廣陵郡 กฺวั่งหลิงจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองไหฺวอัน มณฑลเจียงซู) กองทัพของอ้วนสุดยกมาตีทัพเล่าปี่แตกที่เมืองกองเหลง เล่าปี่จึงถอยไปอยู่อำเภอไห่ซี (海西縣 ไห่ซีเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอกฺวั้นหนาน มณฑลเจียงซู) เล่าปี่และทหารถูกศัตรูล้อมไว้และขาดแคลนเสบียงอาหารจึงจำต้องกินเนื้อของคนที่ตายเพื่อประทังชีวิต ในที่สุดเล่าปี่จึงยอมสวามิภักดิ์ต่อลิโป้ ลิโป้ยอมรับการสวามิภักดิ์และคืนครอบครัวของเล่าปี่ให้เพื่อแสดงความจริงใจ จากนั้นลิโป้จึงให้เล่าปี่ช่วยเหลือตนในการต้านอ้วนสุด[13] ลิโป้กลัวว่าอ้วนสุดจะหันมาเล่นงานตนหลังจากกำจัดเล่าปี่แล้ว จึงขัดขวางความพยายามจะกำจัดเล่าปี่ของอ้วนสุด ต่อมาเล่าปี่ย้ายไปอยู่ที่เมืองเสียวพ่าย (小沛 เสี่ยวเพ่ย์; ปัจจุบันคืออำเภอเพ่ย์ มณฑลเจียงซู) เล่าปี่ระดมทหารที่เมืองเสียวพ่ายได้ประมาณ 10,000 นาย เมื่อลิโป้เห็นว่ากำลังของเล่าปี่เติบใหญ่ขึ้นจึงกังวลว่าเล่าปี่จะกลับมาต่อต้านตน จึงนำทัพเข้าโจมตีเมืองเสียวพ่าย เล่าปี่หนีไปเมืองหลวงฮูโต๋ (許昌 สวี่ชาง; ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน) เพื่อเข้าพึ่งโจโฉซึ่งเป็นขุนศึกที่เข้าควบคุมราชสำนักฮั่นตั้งแต่เมื่อเชิญเสด็จพระเจ้าเหี้ยนเต้มาเมืองฮูโต๋ในปี ค.ศ. 196 โจโฉให้การต้อนรับเล่าปี่ และใช้พระปรมาภิไธยของพระเจ้าเหี้ยนเต้ในการแต่งตั้งให้เล่าปี่เป็นผู้ครองมณฑลอิจิ๋ว และให้เป็นผู้บังคับการกองทหาร ต่อมาเล่าปี่กลับไปยังเมืองเสียวพ่ายเพื่อจับตามองลิโป้

ในปี ค.ศ. 198 ลิโป้กลับเป็นพันธมิตรกับอ้วนสุดในการต่อต้านอิทธิพลของโจโฉ และได้ส่งโกซุ่นกับเตียวเลี้ยวไปโจมตีเมืองเสียวพ่าย โจโฉส่งแฮหัวตุ้นไปช่วยเหลือเล่าปี่แต่กลับถูกโกซุ่นตีแตกพ่าย เล่าปี่หนีไปเมืองฮูโต๋เพื่อเข้าพึ่งโจโฉอีกครั้ง โจโฉนำทัพพร้อมด้วยเล่าปี่ไปโจมตีลิโป้ที่มณฑลชีจิ๋ว ต่อมาในปีเดียวกัน กองกำลังร่วมของโจโฉและเล่าปี่เอาชนะลิโป้ได้ในยุทธการที่แห้ฝือ ลิโป้ถูกจับตัวได้และถูกประหารชีวิต

บทบาทในความขัดแย้งระหว่างโจโฉและอ้วนเสี้ยว (ค.ศ. 199–201)

[แก้]
จิตรกรรมฝาผนังแสดงภาพรถศึกและทหารม้าจากสุสานต๋าหู่ถิงในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25-220) ตั้งอยู่ในเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน

ในปี ค.ศ. 199 โจโฉมีความพอใจในข้อได้เปรียบเหนือข้าศึกคนอื่น ๆ เพราะตนมีพระเจ้าเหี้ยนเต้และราชสำนักฮั่นอยู่ภายใต้การควบคุม ในเวลานั้น เล่าปี่ได้เข้าร่วมในการสมรู้ร่วมคิดกับตังสินและคนอื่น ๆ คิดการลอบสังหารโจโฉ หลังจากที่ตังสินได้อ้างว่าตนได้รับพระราชโองการลับจากพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้สังหารโจโฉ แต่ในขณะเดียวกันเล่าปี่ก็ร้อนรนใจอยากจะออกจากฮูโต๋เพื่อเป็นอิสระจากการควบคุมของโจโฉ ด้วยเหตุนี้เมื่อเล่าปี่ได้ข่าวว่าอ้วนสุดกำลังเดินทางไปเข้าร่วมกับอ้วนเสี้ยวหลังการพ่ายแพ้ในการทัพปราบอ้วนสุด เล่าปี่จึงเสนอตนกับโจโฉขออนุญาตนำทหารไปหยุดอ้วนสุด โจโฉอนุญาตแล้วส่งเล่าปี่และจูเหลงให้นำทหารไปสกัดอ้วนสุด อ้วนสุดพ่ายแพ้หนีกลับไปยังฐานกำลังที่เมืองฉิวฉุน (ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) และเสียชีวิตที่นั่นในภายหลังในปีเดียวกัน จูเหลงเดินทางกลับเมืองฮูโต๋ ส่วนเล่าปี่ยังคงบัญชาทหารแล้วนำทหารไปโจมตีและยึดครองมณฑลชีจิ๋วหลังจากสังหารกีเหมา (車冑 เชอโจ้ว) ผู้ว่าราชการมณฑลชีจิ๋วซึ่งโจโฉแต่งตั้ง จากนั้นเล่าปี่จึงย้ายไปตั้งมั่นที่เมืองเสียวพ่าย (小沛 เสี่ยวเพ่ย์; ปัจจุบันคืออำเภอเพ่ย์ มณฑลเจียงซู) โดยให้กวนอูอยู่รักษาเมืองแห้ฝือ (下邳郡 เซี่ยพีจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองพีโจว มณฑลเจียงซู) เมืองหลวงของมณฑลชีจิ๋ว

ในขณะนั้น อ้วนเสี้ยวปราบกองซุนจ้านได้และกำลังเตรียมการจะโจมตีโจโฉในภูมิภาคโห้หล้ำ (เหอหนาน) เล่าปี่จึงส่งซุนเขียนที่ปรึกษาไปพบอ้วนเสี้ยวและเสนอให้อ้วนเสี้ยวยกพลเข้าโจมตีโจโฉทันที แต่อ้วนเสี้ยวปฏิเสธ ในปี ค.ศ. 200 โจโฉล่วงรู้แผนสมคบคิดของตังสิน จึงให้จับกุมตัวผู้สมรู้ร่วมคิดทั้งหมดพร้อมครอบครัวมาประหารชีวิต เล่าปี่รอดพ้นการกวาดล้างมาได้เพราะไม่ได้อยู่ในเมืองฮูโต๋

หลังจากควบคุมสถานกาณ์ในเมืองฮูโต๋ได้แล้ว โจโฉจึงหันไปเตรียมการจะทำศึกกับอ้วนเสี้ยว โจโฉได้เสริมกำลังในหลายจุดสำคัญตลอดฝั่งใต้ของแม่น้ำฮองโห (แม่น้ำเหลือง) และตั้งค่ายหลักขึ้นที่ตำบลกัวต๋อ ขณะเดียวกันโจโฉได้ส่งผู้ใต้บังคับบัญชาสองคนคือเล่าต้าย (劉岱 หลิวไต้)[d]และอองต๋งให้โจมตีเล่าปี่ที่มณฑลชีจิ๋วแต่พ่ายแพ้กลับมา โจโฉคาดการณ์ว่าอ้วนเสี้ยวจะยังคงไม่ยกมาทำศึก โจโฉจึงลอบยกออกจากตำแหน่งป้องกันตลอดแม่น้ำฮองโห และนำทัพด้วยตนเองไปโจมตีเล่าปี่ ด้วยการโจมตีอย่างหนักหน่วงทำให้กองกำลังของเล่าปี่ถูกตีแตกพ่ายอย่างรวดเร็ว และมณฑลชีจิ๋วก็เสียแก่โจโฉ เตียวหุยคุ้มครองเล่าปี่หนีจากเมืองเสียวพ่ายหลังพ่ายแพ้ ฝ่ายกวนอูที่อยู่โดดเดี่ยวในเมืองแห้ฝือได้ถูกจับโดยกองกำลังของโจโฉ กวนอูจึงตัดสินใจยอมจำนนและรับราชการอยู่กับโจโฉชั่วคราว เล่าปี่ได้ขึ้นเหนือไปเข้าร่วมด้วยอ้วนเสี้ยว ต่อมาเล่าปี่ร่วมกับบุนทิวรบในยุทธการที่ท่าเหยียนจิน แต่ถูกตีแตกพ่ายและบุนทิวถูกสังหารในที่รบ

เมื่อเล่าเพ็กอดีตกบฏโพกผ้าเหลืองได้เริ่มก่อจลาจลในเมืองยีหลำ (汝南郡 หรู่หนานจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณอำเภอซี มณฑลเหอหนาน) เล่าปี่โน้มน้าวอ้วนเสี้ยวให้ตน "ยืม" กำลังทหารไปช่วยเล่าเพ็ก จากนั้นเล่าปี่และเล่าเพ็กได้นำกองกำลังจากเมืองยีหลำไปโจมตีเมืองฮูโต๋ระหว่างที่โจโฉไปทำศึกที่กัวต๋อ แต่ก็ถูกตีแตกพ่ายโดยโจหยินและถูกไล่ให้ล่าถอยไป จากนั้นเล่าปี่จึงกลับมาหาอ้วนเสี้ยวและเสนอให้อ้วนเสี้ยวเป็นพันธมิตรกับเล่าเปียวผู้ครองมณฑลเกงจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่มณฑลหูเป่ย์และมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) จากนั้นอ้วนเสี้ยวได้ส่งเล่าปี่และกำลังทหารส่วนหนึ่งไปเมืองยีหลำเพื่อช่วยก๋งเต๋า (共都/龔都 กงตู) ผู้นำกบฏอีกคนหนึ่ง เล่าปี่และก๋งเต๋าทำศึกเอาชนะซัวหยง (蔡陽 ไช่หยาง) นายทหารคนหนึ่งของโจโฉที่ยกมาโจมตี และสังหารซัวหยงได้

ลี้ภัยมาพึ่งเล่าเปียว (ค.ศ. 201–208)

[แก้]

ในปี ค.ศ. 201 หลังจากโจโฉได้ชัยชนะเหนืออ้วนเสี้ยวในยุทธการที่กัวต๋อ โจโฉนำทัพเข้าโจมตีเล่าปี่ที่เมืองยีหลำ เล่าปี่แตกพ่ายจึงหนีไปมณฑลเกงจิ๋วเข้าพึ่งเล่าเปียว แม้ว่าเล่าเปียวจะปฏิบัติต่อเล่าปี่เยี่ยงแขกผู้ทรงเกียรติ แต่เล่าเปัยวก็ไม่เคยไว้ใจเล่าปี่ เล่าเปียวเพียงแต่ให้เล่าปี่ไปตั้งมั่นที่ตำบลซินเอี๋ยทางตอนเหนือของมณฑลเกงจิ๋วเพื่อป้องกันการรุกรานของโจโฉ

แต่ในพงศาวดารวุยก๊ก ได้ระบุว่าเมื่อเล่าเปียวล้มป่วยจึงขอให้เล่าปี่ว่าราชการเมืองแทนโดยกล่าวว่า "บุตรของข้าพเจ้าไร้ความสามารถ บรรดาแม่ทัพก็ไม่สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียว เมื่อข้าพเจ้าตายแล้ว ขอให้ท่านจงรักษาเกงจิ๋วต่อไป"

เล่าปี่จึงตอบว่า "บุตรชายของท่านนั้นมีความสามารถอยู่ ขอท่านจงอย่าเป็นกังวล"
คนอื่นๆ ต่างร้องขอให้เล่าปี่รับตำแหน่ง แต่เล่าปี่ก็ปฏิเสธพร้อมกล่าวว่า "เล่าเปียวดีต่อเรายิ่งนัก หากเรายอมรับตามคำขอ ผู้อื่นจะครหานินทาว่าตัวเรามักใหญ่ใฝ่สูง จ้องแต่จะช่วงชิงบ้านเมืองผู้อื่น"

เล่าปี่อาศัยในมณฑลเกงจิ๋วเป็นเวลาประมาณเจ็ดปี ครั้งหนึ่งเมื่อเข้าพบกับเล่าเปียว เล่าปี่เริ่มร้องไห้ เล่าเปียวถามว่าเหตุใดจึงร้องไห้ เล่าปี่จึงตอบว่า "แต่กาลก่อนข้าไม่เคยห่างจากอานม้าเลย ต้นขาของข้าจึงผอม บัดนี้ข้าไม่ได้ขี่ม้าอีกต่อไป ต้นขาจึงอ้วนและหย่อนยาน วันเดือนผ่านไปเหมือนสายน้ำและวัยชราจะมาเยือน แต่ข้ายังทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง ด้วยเหตุนี้ข้าจึงเศร้าใจ"[14] ในปี ค.ศ. 202 โจโฉส่งอิกิ๋มและแฮหัวตุ้นไปโจมตีเล่าปี่ เล่าปี่ทำการซุ่มโจมตีและเอาชนะได้ในยุทธการที่ทุ่งพกบ๋อง

ในปี ค.ศ. 207 โจโฉวางแผนทำศึกในยุทธการที่เขาเป๊กลงสานเพื่อพิชิตชนเผ่าออหวนทางตอนเหนือ แต่โจโฉเกรงว่าเล่าเปียวจะโจมตีฐานที่มั่นตลบหลัง กุยแกจึงให้ความเห็นว่าเล่าเปียวจะไม่ทำเช่นนั้น ตราบใดที่เล่าเปียวยังเกรงกลัวว่าเล่าปี่จะขึ้นมามีอำนาจเหนือตน โจโฉเห็นด้วยกับกุยแก ซึ่งภายหลังความเห็นของกุยแกก็เป็นความจริง เมื่อเล่าเปียวปฏิเสธที่จะโจมตีเมืองฮูโต๋ตามคำแนะนำของเล่าปี่

ภาพวาด ขงเบ้งลงจากเขา (ภาพสมัยราชวงศ์หมิง) แสดงภาพจูกัดเหลียง (ขี่ม้าทางด้านซ้าย) ออกจากที่เร้นกายในชนบทไปเข้าด้วยเล่าปี่ (ขี่ม้าทางด้านขวา)

ด้วยเหตุที่มณฑลเกงจิ๋วห่างไกลจากสงครามไปทางตะวันออกและอยู่ภายใต้การปกครองอย่างมีประสิทธิภาพของเล่าเปียว เกงจิ๋วจึงมีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่เหล่าปัญญาชนหนีภัยสงครามเข้ามาอาศัย เล่าปี่ได้ถามสุมาเต๊กโช ผู้สันโดษที่เป็นที่เคารพนับถือ ถึงเรื่องของนักปราชญ์ สุมาเต๊กโชจึงเอ่ยชื่อจูกัดเหลียงและบังทอง ผู้มีความสามารถพิเศษในการเข้าใจสถานการณ์สำคัญในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ชีซีเป็นอีกคนหนึ่งที่แนะนำเล่าปี่ให้เรียกจูกัดเหลียงมาร่วมงาน เล่าปี่จึงเดินทางไปหาจูกัดเหลียง และในที่สุดก็พบกับจูกัดเหลียงหลังการไปเยี่ยมสามครั้ง จูกัดเหลียงได้เสนอแผนหลงจงกับเล่าปี่ อันเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวที่มีเนื้อหาถึงการเข้ายึดครองมณฑลเกงจิ๋วและเอ๊กจิ๋ว เพื่อจัดตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญสองจุดในการเข้าตีกระหนาบที่เมืองหลวงฮูโต๋

เล่าเปียวเสียชีวิตในปี ค.ศ. 208 บุตรชายคนเล็กของเล่าเปียวชื่อเล่าจ๋องได้สืบทอดตำแหน่ง ต่อมาได้ยอมจำนนต่อโจโฉโดยไม่ได้แจ้งเล่าปี่ให้ทราบ เมื่อเล่าปี่ได้ข่าวการยอมจำนนของเล่าจ๋องและทัพโจโฉยกมาถึงเมืองอ้วนเซีย (宛 หว่าน; ปัจจุบันคือเมืองหนานหยาง มณฑลเหอหนาน) แล้ว เล่าปี่จึงยกกองกำลังทิ้งเมืองฮวนเสีย นำราษฎรและผู้ติดตาม (รวมถึงอดีตผู้ติดตามของเล่าเปียวบางคน) อพยพลงไปทางใต้ เมื่อยกมาถึงตงหยง (當陽 ตางหยาง; ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้ของ เขตตัวเตา เมืองจิงเหมิน มณฑลหูเป่ย์) เล่าปี่มีผู้ติดตามมากกว่า 100,000 คน และเดินทางได้เพียงวันละ 10 ลี้ เล่าปี่ส่งกวนอูล่วงหน่าไปรอที่อำเภอกังเหลง (江陵縣 เจียงหลิงเซี่ยน; ปัจจุบันคือเมืองจิงโจว มณฑลหูเป่ย์) อันเป็นที่สะสมเสบียงและอาวุธจำนวนมากของทัพเรือมณฑลเกงจิ๋ว

โจโฉเกรงว่าเล่าปี่อาจจะไปถึงกังเหลงก่อนตน โจโฉจึงนำทหารม้าไล่ตาม เพียงหนึ่งวันหนึงคืนโจโฉก็ตามกองกำลังของเล่าปี่ทัน จับได้คนและสัมภาระจำนวนมากในยุทธการที่สะพานเตียงปันเกี้ยว เล่าปี่ทิ้งครอบครัวไว้ด้านหลังและหลบหนีไปพร้อมกับผู้ติดตามเพียงเล็กน้อย ด้วยความช่วยเหลือจากกองกำลังเรือของกวนอู เล่าปี่และผู้ติดตามจึงข้ามแม่น้ำเหมี่ยนไปยังเมืองกังแฮ และข้ามแม่น้ำแยงซีไปยังเมืองแฮเค้า ที่ซึ่งเล่าปี่ได้เข้าหลบภัยกับเล่ากี๋ บุตรชายคนโตของเล่าเปียว เล่ากี๋คัดค้านการยอมจำนนของเล่าจ๋องน้องชาย และยังคงรักษาเมืองกังแฮและแฮเค้าไว้ได้ ทำให้สามารถรับอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าเปียวผู้เป็นบิดาที่หลบหนีจากโจโฉได้จำนวนมาก

การเป็นพันธมิตรกับซุนกวน

[แก้]

ศึกผาแดงและศึกกังเหลง

[แก้]

ขณะที่เล่าปี่ยังอยู่ที่ตงหยง โลซกได้มาเสนอให้เล่าปี่เป็นพันธมิตรกับขุนศึกซุนกวนต่อต้านโจโฉ จูกัดเหลียงในฐานะตัวแทนของเล่าปี่ได้เดินทางติดตามโลซกไปเข้าพบซุนกวนที่อำเภอชีสอง (柴桑縣 ไฉซางเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองจิ่วเจียง มณฑลเจียงซี) จูกัดเหลียงเจรจาความกับซุนกวนก่อตั้งพันธมิตรซุน-เล่าต่อต้านโจโฉ

พันธมิตรเล่าปี่และซุนกวนร่วมมิอรับมือการบุกลงใต้ของโจโฉ ทั้งสองฝ่ายปะทะกันในยุทธการที่เซ็กเพ็ก (ผาแดง) ฝ่ายพันธมิตรซุน-เล่าได้ชัยเด็ดขาดในการรบ ฝ่ายโจโฉหลังจากพ่ายแพ้ก็ถอยทัพกลับขึ้นเหนือ และมอบหมายให้โจหยินและซิหลงอยู่รักษาอำเภอกังเหลง และให้งักจิ้นอยู่ป้องกันเมืองซงหยง

หลังชัยชนะในยุทธการที่ผาแดง กองทัพของซุนกวนที่มีจิวยี่เป็นแม่ทัพเข้าโจมตีโจหยินหวังจะครอบครองอำเภอกังเหลง เล่าปี่ได้เสนอชื่อเล่ากี๋ให้เป็นข้าหลวงคนใหม่ของมณฑลเกงจิ๋ว และนำกองกำลังเข้ายึดสี่เมืองทางส่วนใต้ของมณฑลเกงจิ๋ว ได้แก่ เมืองเตียงสา (長沙 ฉางซา), เลงเหลง (零陵 หลิงหลิง), ฮุยเอี๋ยง (桂陽 กุ้ยหยาง) และบุเหลง (武陵 อู่หลิง) เล่าปี่ตั้งฐานกำลังที่อำเภอกองอั๋น และดำเนินการเสริมกำลังกองทัพต่อไป เมื่อเล่ากี๋เสียชีวิตในปี ค.ศ. 209 หลังเล่าปี่เข้าครองเกงจิ๋วใต้ได้ไม่นาน เล่าปี่ขึ้นดำรงตำแหน่งข้าหลวงคนใหม่ของมณฑลเกงจิ๋วแทนเล่ากี๋ ต่อมาเล่าปี่เดินทางไปยังอาณาเขตของซุนกวนเพื่อแต่งงานกับซุนฮูหยิน น้องสาวของซุนกวน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของพันธมิตรซุน-เล่า หลังการแต่งงานทางการเมือง ซุนกวนให้การรับรองสิทธิ์ในการปกครองเกงจิ๋วใต้ของเล่าปี่ ทั้งยังตกลงให้เล่าปี่ "ยืม" เมืองลำกุ๋น (南郡 หนานจฺวิ้น; ปัจจุบันคือเมืองจิงโจว มณฑลหูเป่ย์)

จากนั้นมา อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าเปียวที่ไม่ประสงค์จะรับราชการกับโจโฉก็มาเข้าด้วยกับเล่าปี่ หลังการเสียชีวิตของจิวยี่ในปี ค.ศ. 210 และอิทธิพลของเล่าปี่ในเกงจิ๋วใต้เติบใหญ่ขึ้น โลซกสืบทอดตำแหน่งของจิวยี่ขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่ของกองทัพซุนกวน และย้ายกองบัญชาการมาตั้งอยู่ที่ลกเค้า (陸口 ลู่โข่ว) โลซกยินยอมให้ทุกเมืองของเกงจิ๋ว (ยกเว้นเมืองกังแฮ) และสิทธิ์ในการบุกเข้ามณฑลเอ๊กจิ๋วเป็นของเล่าปี่ ในแง่ของการทูตแล้ว ฝ่ายซุนกวรเข้าใจว่าฝ่ายตนให้เล่าปี่ "ยิม" เกงจิ๋วเป็นฐานที่มั่นชั่วคราว และฝ่ายเล่าปี่ควรคืนเกงจิ๋วแก่ซุนกวนหลังจากที่เล่าปี่ได้ฐานที่มั่นอื่นแล้ว

สรุปเหตุการณ์สำคัญ
ค.ศ. 161 เกิดที่อำเภอตุ้นก้วน เมืองจัวจฺวิ้น
ค.ศ. 184 เป็นทหารอาสาในการรบกับกบฏโพกผ้าเหลือง
ค.ศ. 194 ขึ้นปกครองชีจิ๋ว
ค.ศ. 198 พ่ายแพ้ลิโป้
เป็นพันธมิตรกับโจโฉ
ค.ศ. 200 พ่ายแพ้โจโฉ
หนีไปร่วมด้วยอ้วนเสี้ยว
เข้าร่วมด้วยเล่าเปียว
ค.ศ. 208 เป็นพันธมิตรกับซุนกวนและชนะยุทธการที่ผาแดง
ยึดครองเกงจิ๋ว
ค.ศ. 215 เอาชนะเล่าเจี้ยงและยึดครองเอ๊กจิ๋ว
ค.ศ. 219 พิชิตเมืองฮันต๋ง
สถาปนาตนเป็นฮันต๋งอ๋อง
ค.ศ. 221 สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊ก
ค.ศ. 222 พ่ายแพ้ในยุทธการที่อิเหลงในการรบกับง่อก๊ก
ค.ศ. 223 สวรรคตที่เมืองเป๊กเต้เสีย

สถาปนาจ๊กก๊ก

[แก้]

ยึดครองเอ๊กจิ๋ว

[แก้]

ในปี ค.ศ. 211 เล่าเจี้ยง ผู้ครองมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและเมืองฉงชิ่งในปัจจุบัน) ได้ข่าวว่าโจโฉมีแผนจะโจมตีขุนศึกเตียวฬ่อในเมืองฮันต๋ง เมืองฮันต๋งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญและเป็นปากทางทางเหนือสู่มณฑลเอ๊กจิ๋ว เล่าเจี้ยงจึงส่งหวดเจ้งไปเจรจาเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่ตามคำแนะนำของเตียวสง เตียวสงและหวดเจ้งนั้นในใจเห็นว่าเล่าเจี้ยงไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้ครองเอ๊กจิ๋ว จึงมีความคิดจะให้เล่าปี่ขึ้นเป็นผู้ครองเอ๊กจิ๋วแทน ฝ่ายเล่าเจี้ยงเชิญเล่าปี่มาที่เอ๊กจิ๋วเพื่อขอให้ช่วยเหลือในการยึดเมืองฮันต๋งก่อนที่โจโฉจะยึดได้

เล่าปี่นำกองกำลังยกเข้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว มอบหมายให้จูกัดเหลียง กวนอู เตียวหุย และเตียวจูล่งอยู่รักษามณฑลเกงจิ๋ว เล่าเจี้ยงต้อนรับเล่าปี่และมอบทหารเพิ่มเติมให้อยู่ใต้บังคับบัญชาของเล่าปี่ เล่าปี่นำกองกำลังมุ่งหน้าไปด่านแฮบังก๋วน (ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองกว่างยฺเหวียน มณฑลเสฉวน) ตรงชายแดนระหว่างอาณาเขตของเล่าเจี้ยงและของเตียวฬ่อ แต่แทนที่จะเข้ารบกับเตียวฬ่อ เล่าปี่กลับหยุดทัพไว้และทำการเชื่อมสัมพันธ์เอาใจราษฎรและเพิ่มอิทธิพลของตนโดยรอบพื้นที่นั้น[15]

ในปี ค.ศ. 212 หวดเจ้ง, เตียวสง และเบ้งตัดเริ่มดำเนินแผนจะโค่นเล่าเจี้ยงและยกเล่าปี่ขึ้นแทน ทางด้านเล่าปี่ บังทองได้เสนอแผนการสามแผนให้เล่าปี่เลือก แผนการแรกคือการเคลื่อนไหวอย่างฉับพลันมุ่งหน้าเข้ายึดเมืองเซงโต๋ (เฉิงตู) เมืองหลวงของมณฑลเอ๊กจิ๋วจากเล่าเจี้ยงโดยใช้กองกำลังพิเศษ แผนการที่สองคือการเข้าควบคุมทหารของเล่าเจี้ยงทางตอนเหนือจากนั้นจึงเคลื่อนกำลังเข้ายึดเมืองเซงโต๋ แผนการที่สามคือการยกกลับไปเมืองเป๊กเต้ (ไป๋ตี้เฉิง) รอโอกาสทำการต่อไป เล่าปี่เลือกแผนการที่สอง จากนั้นเล่าปี่จึงส่งหนังสือถึงเล่าเจี้ยงขอกำลังทหารเพิ่มเติมเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของโจโฉไปทางทิศตะวันออก (ที่ซึ่งซุนกวนกำลังถูกโจมตี) และขอทหารเพิ่มอีก 10,000 คนกับเสบียงเพิ่มเติมเพื่อไปช่วยป้องกันมณฑลเกงจิ๋ว เล่าเจี้ยงมอบทหารให้เล่าปี่เพียง 4,000 คนกับเสบียงเพียงครึ่งเดียวของที่เล่าปี่ร้องขอ

เตียวซกพี่ชายของเตียวสงล่วงรู้ว่าน้องชายลอบติดตามกับเล่าปี่จึงนำความไปแจ้งให้เล่าเจี้ยงทราบ เล่าเจี้ยงโกรธและแปลกใจมากที่เตียวสงช่วยเหลือเล่าปี่จะยึดมณฑลเอ๊กจิ๋ว จึงสั่งประหารชีวิตเตียวสงและมีคำสั่งไปยังนายทหารของตนที่รักษาด่านทางไปเมืองเซงโต๋ให้รักษาความลับเรื่องที่ตนทราบความว่าเล่าปี่คิดโจมตีตน แต่ในที่สุดเล่าปี่ก็ได้ทราบความนี้จากสายสืบที่วางไว้รอบตัวเล่าเจี้ยง ฝ่ายหวดเจ้งและเบ้งตัดเข้าด้วยกับฝ่ายเล่าปี่ ก่อนหน้าที่เอียวหวย (楊懷 หยาง หฺวาย) และโกภาย (高沛 เกา เพ่ย์) ผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าเจี้ยงที่รักษาด่านโปยสิก๋วนจะรู้เจตนาที่แท้จริงของเล่าปี่ เล่าปี่ลวงเอียวหวยและโกภายให้ติดกับดักและประหารชีวิตในข้อหาว่าทั้งคู่ประพฤติไร้มารยาทกับตน เล่าปี่เข้าควบคุมกองกำลังของเอียวหวยและโกภายซึ่งมีจำนวน 5,000 คน จากนั้นจึงเข้าโจมตีอำเภอฝูเซี่ยน (涪縣; ปัจจุบันคือเมืองเหมียนหยาง มณฑลเสฉวน)

ในปี ค.ศ. 213 ฤดูใบไม้ผลิ เล่าเจี้ยงส่งเล่ากุ๋ย, เหลงเปา, เตียวหยิม, เตงเหียน, งออี้ และนายทหารคนอื่น ๆ ไปป้องกันเมืองกิมก๊ก (เหมียนจู๋) นายทหารทั้งหมดถูกฆ่าหรือถูกจับกุมโดยกองทัพของเล่าปี่ งออี้แม้จะเป็นคนที่เล่าเจี้ยงไว้ใจมากที่สุดแต่ภายหลังก็แปรพักตร์เข้าด้วยฝ่ายเล่าปี่ ด้วยเหตุนี้ลิเงียมและอุยหวนจึงถูกส่งไปรักษากิมก๊กแทน แต่ทั้งคู่ก็สวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่เช่นกัน ถึงตอนนี้เหลือเพียงกองกำลังภายใต้การบัญชาของเล่าชุนบุตรชายของเล่าเจี้ยง เล่าชุนถอยทัพเข้าอำเภอลกเสีย (ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน) ที่อำเภอลกเสียนี้ บังทองเสียชีวิตด้วยการโดนลูกหลงจากเกาทัณฑ์ และการล้อมอำเภอลกเสียได้ยืดเยื้อออกไป เล่าปี่จึงจำต้องขอกำลังเสริมจากมณฑลเกงจิ๋ว

ในปี ค.ศ. 214 หลังอำเภอลกเสียตกเป็นของเล่าปี่ เล่าเจี้ยงยังคงตั้งมั่นอยู่ภายในเมืองเซงโต๋ ม้าเฉียวอดีตขุนศึกและบริวารของเตียวฬ่อได้แปรพักตร์มาเข้าด้วยฝ่ายเล่าปี่ และร่วมกับเล่าปี่ในการโจมตีเมืองเซงโต๋ ราษฎรชาวเมืองเซงโต๋ยินดีสู้กับข้าศึกอย่างเต็มกำลัง แม้จะหวาดกลัวต่อทหารของม้าเฉียว[16] แต่ในที่สุดเล่าเจี้ยงก็ยอมจำนนต่อเล่าปี่เพราะเล่าเจี้ยงเห็นว่าตนไม่อยากให้มีการหลั่งเลือดไปมากกว่านี้อีก[17] จากนั้นเล่าปี่จึงขึ้นเป็นผู้ครองมณฑลเอ๊กจิ๋วแทนเล่าเจี้ยง และย้ายเล่าเจี้ยงไปอยู่ที่อำเภอกองอั๋นในมณฑลเกงจิ๋ว

เล่าปี่แต่งงานกับน้องสาวของงออี้ (งอซี) และออกเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ในเอ๊กจิ๋วเพื่อควบรวมอำนาจการบัญชาการของมณฑลเอ๊กจิ๋วที่ยึดได้ใหม่ เล่าปี่เลื่อนให้จูกัดเหลียงมีตำแหน่งที่ควบคุมทุกกิจการของรัฐ และแต่งตั้งให้ตั๋งโหเป็นผู้ช่วยของจูกัดเหลียง ผู้ติดตามที่เหลือของเล่าปี่ทั้งคนเก่าและคนใหม่ล้วนได้รับมอบหมายความรับผิดชอบใหม่และได้รับการเลื่อนตำแหน่งใหม่

กรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตกับซุนกวน

[แก้]

หลังจากเล่าปี่เข้าครองมณฑลเอ๊กจิ๋ว ซุนกวนได้ส่งโลซกเป็นทูตมาเจรจาเพื่อให้เล่าปี่คืนเมืองในเกงจิ๋วใต้แก่ซุนกวน แต่เล่าปี่ปฏิเสธ ซุนกวนจึงให้ลิบองและเล่งทองนำทหาร 20,000 นายไปโจมตีเกงจิ๋วใต้และยึดได้เมืองเตียงสา, ฮุยเอี๋ยง และเลงเหลง ขณะเดียวกัน โลซกและกำเหลงได้มุ่งหน้าสู่อำเภออี้หยางพร้อมทหาร 10,000 นายเพื่อสกัดกวนอู และเข้าควบคุมการบัญชาทหารที่ลกเค้า (陸口 ลู่โข่ว) เล่าปี่เดินทางด้วยตนเองไปยังอำเภอกองอั๋น ขณะที่กวนอูนำทหาร 30,000 นายมายังอำเภออี้หยาง เมื่อสงครามกำลังจะเริ่มต้น เล่าปี่กลับได้ข่าวว่าโจโฉมีแผนจะโจมตีเมืองฮันต๋ง เล่าปี่กังวลเรื่องที่โจโฉจะยึดเมืองฮันต๋ง จึงยื่นข้อเสนอขอทำสัญญาชายแดนกับซุนกวน โดยเล่าปี่ขอให้ซุนกวนคืนเมืองเลงเหลงและให้ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของโจโฉโดยการโจมตีเมืองหับป๋า ฝ่ายเล่าปี่ต้องยกเมืองเตียงสาและฮุยเอี๋ยงให้ซุนกวน กับกำหนดเขตแดนใหม่ตลอดแม่น้ำเซียง

ยุทธการที่ฮันต๋ง

[แก้]

ในปี ค.ศ. 215 โจโฉทำศึกชนะเตียวฬ่อได้ในยุทธการที่เองเปงก๋วนและเข้ายึดเมืองฮันต๋ง สุมาอี้และเล่าหัวแนะนำโจโฉให้ถือโอกาสนี้เข้าโจมตีมณฑลเอ๊กจิ๋ว เนื่องจากการปกครองมณฑลเอ๊กจิ๋วที่เพิ่งยึดได้ใหม่ของเล่าปี่ยังไม่มีเสถียรภาพและขณะนั้นตัวเล่าปี่อยู่ไกลถึงมณฑลเกงจิ๋ว โจโฉซึ่งไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศของเอ๊กจิ๋วได้ปฏิเสธคำแนะนำนี้ไป แล้วมอบหมายให้แฮหัวเอี๋ยน, เตียวคับ และซิหลงอยู่ป้องกันเมืองฮันต๋ง

เตียวคับคาดการณ์ว่าจะเกิดศึกระยะยาวจึงนำทหารไปเมืองเพ็กเงียม (宕渠郡 ต้างฉฺวีจฺวิ้น; ปัจจุบันคืออำเภอฉฺวี มณฑลเสฉวน) เพื่อย้ายราษฎรของเมืองปากุ๋น (巴郡 ปาจฺวิ้น; ปัจจุบันคือเมืองฉงชิ่ง) มายังเมืองฮันต๋ง ขณะเดียวกันนั้น เล่าปี่แต่งตั้งให้เตียวหุยเป็นเจ้าเมืองปาเส (巴西郡 ปาซีจฺวิ้น) และมีคำสั่งให้เตียวหุยไปยึดปากุ๋น เตียวหุยและเตียวคับรบกันเป็นเวลา 50 วัน จบลงด้วยชัยชนะของเตียวหุยจากการโจมตีเตียวคับโดยฉับพลัน เตียวคับหนีรอดไปได้แล้วถอยหนีไปยังอำเภอลำเต๋ง (หนานเจิ้ง) ปากุ๋นจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในอาณาเขตของเล่าปี่

ในปี ค.ศ. 217 หวดเจ้งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ของการเข้ายึดเมืองฮันต๋ง และแนะนำเล่าปี่ให้ขับไล่กองกำลังของโจโฉออกจากพื้นที่ เล่าปี่จึงส่งเตียวหุย, ม้าเฉียว และคนอื่น ๆ ให้เข้ายึดเมืองปูเต๋า (武都郡 อู่ตูจฺวิ้น) ขณะเดียวกันเล่าปี่ก็รวบรวมทหารมุ่งไปยังด่านเองเปงก๋วน เตียวหุยจำต้องถอยทัพหลังจากที่นายทหารผู้ช่วยคืองอหลัน (吳蘭 อู๋หลัน) และลุยต๋อง (雷銅 เหลย์ ถง) ถูกกองทัพโจโฉปราบและถูกสังหาร เล่าปี่นำทัพเข้าปะทะกับแฮหัวเอี๋ยนที่ด่านเองเปงก๋วน พยายามจะตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงของข้าศึก โดยส่งขุนพลตันเซ็กไปยังหม่าหมิงเก๋อ (馬鳴閣) แต่ก็ถูกสกัดทางได้โดยซิหลงรองขุนพลของแฮหัวเอี๋ยน จากนั้นเล่าปี่จึงเข้าตีกระหนาบกองกำลังของเตียวคับที่กว่างฉือ (廣石) แต่ไม่สำเร็จ ขณะเดียวกัน แฮหัวเอี๋ยนและเตียวคับก็ไม่สามารถขัดขวางเล่าปี่จากการระดมพลในพื้นที่โดยรอบ การศึกอยู่ในสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายไม่อาจเอาชนะกันได้ และโจโฉก็ตัดสินใจรวบรวมกองทัพที่เมืองเตียงฮันเพื่อรบกับเล่าปี่

ในปี ค.ศ. 218 ฤดูใบไม้ผลิ เล่าปี่และแฮหัวเอี๋ยนเผชิญหน้ากันเป็นเวลาหนึ่งปีกว่า เล่าปี่นำกองกำลังหลักไปยังทางใต้ของแม่น้ำเหมี่ยน (沔水) และสั่งให้ฮองตงตั้งค่ายบนเขาเตงกุนสัน ซึ่งจะสามารถสังเกตการณ์ภายในค่ายของแฮหัวเอี๋ยนในหุบเขาด้านล่างได้ง่าย คืนหนึ่ง เล่าปี่ส่งทหาร 10,000 นายไปโจมตีเตียวคับที่กว่างฉือ และจุดไฟเผารั้วค่ายของแฮหัวเอี๋ยน แฮหัวเอี๋ยนนำกองกำลังย่อยไปดับไฟ และส่งกองกำลังหลักไปเสริมเตียวคับ หวดเจ้งเห็นโอกาสเข้าโจมตีจึงส่งสัญญาณให้เล่าปี่ยกทัพบุก เล่าปี่ส่งฮองตงยกลงจากเขาเข้าโจมตีข้าศึกที่อ่อนล้า ฮองตงมุ่งไปยังกองกำลังของแฮหัวเอี๋ยนเข้าสกัดไว้ได้ ทั้งแฮหัวเอี๋ยนและเจ้าอ๋างซึ่งเป็นข้าหลวงมณฑลเอ๊กจิ๋วที่โจโฉแต่งตั้งขึ้นล้วนถูกสังหารระหว่างการรบ

เตียวคับซึ่งได้รับเลือกให้ทำหน้าที่แทนแฮหัวเอี๋ยนโดยโตสิบและกุยห้วยได้ถอยทัพไปทางฝั่งเหนือของแม่น้ำฮันซุยแล้วรอคอยกำลังเสริมจากโจโฉ ขณะเดียวกัน เล่าปี่เข้ารักษาทุกจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นปากทางสู่เมืองเตียงฮันและเมืองฮันต๋ง ขณะที่โจโฉได้ยกทัพมาถึงเขาเสียดก๊ก เล่าปี่เผชิญหน้ากับโจโฉเป็นเวลาหลายเดือนแต่ไม่ยกเข้ารบกับโจโฉ สถานการณ์บังคับให้โจโฉถอยทัพจากเหตุที่เริ่มมีทหารหนีทัพ[18] ฝ่ายเตียวคับก็ถอยทัพไปยังอำเภอตันฉอง (陳倉縣 เฉินชางเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเป่าจี มณฑลส่านซี) เพื่อตั้งแนวป้องกันจากการบุกของเล่าปี่ ฝ่ายเล่าปี่นำกองกำลังหลักไปอำเภอลำเต๋ง และส่งเบ้งตัดกับเล่าฮองไปยึดเมืองห้องเหลง (房陵 ฝางหลิง) และซงหยง (上庸 ซ่างยง)

ขึ้นเป็นจักรพรรดิ

[แก้]
เล่าปี่ตั้งตนเป็นอ๋อง ภาพจิตรกรรมที่ระเบียงยาวของพระราชวังฤดูร้อน กรุงปักกิ่ง

ในปี ค.ศ. 219 หลังจากเล่าปี่ยึดได้เมืองฮันต๋ง ขุนนางของเล่าปี่เสนอให้เล่าปี่ตั้งตนเป็นอ๋องเพื่อท้าทายโจโฉซึ่งได้รับการสถาปนาจากพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้เป็นวุยอ๋องในปี ค.ศ. 216 เล่าปี่จึงประกาศตั้งตนเป็น "ฮันต๋งอ๋อง" (漢中王 ฮั่นจงหฺวาง) และตั้งฐานบัญชาการที่เมืองเซงโต๋ เมืองหลวงของมณฑลเอ๊กจิ๋ว เล่าปี่กำหนดให้เล่าเสี้ยนบุตรชายเป็นทายาทผู้สืบทอดตำแหน่ง มอบหมายให้อุยเอี๋ยนดูแลเมืองฮันต๋ง แต่งตั้งให้เคาเจ้งและหวดเจ้งเป็นราชครูและราชเลขาธิการตามลำดับ ส่วนกวนอู, เตียวหุย, ม้าเฉียว และฮองตงได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลหน้า, ขุนพลขวา, ขุนพลซ้าย และขุนพลหลังตามลำดับ

ต้นฤดูหนาวของปี ค.ศ. 219 กองทัพของซุนกวนนำโดยลิบองเข้ารุกรานอาณาเขตของเล่าปี่ในมณฑลเกงจิ๋ว จับได้ตัวกวนอูแล้วประหารชีวิต เมื่อเล่าปี่ทราบข่าวการตายของกวนอูและการเสียมณฑลเกงจิ๋วก็โกรธมาก จึงมีคำสั่งให้ตระเตรียมกองทัพจะทำศึกับซุนกวน ในต้นปี ค.ศ. 220 โจโฉเสียชีวิตและโจผีบุตรชายสืบตำแหน่งแทน ต่อมาในปีเดียวกัน โจผีชิงราชบัลลังก์จากพระเจ้าเหี้ยนเต้ เป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและเป็นการก่อตั้งของรัฐวุยก๊กซึ่งมีโจผีเป็นจักรพรรดิ เมื่อเบ้งตัดทราบข่าวว่าเล่าปี่กำลังจะยกทัพไปรบกับซุนกวนก็กลัวว่าตนจะถูกลงโทษจากการที่เบ้งตัดไม่ส่งกำลังเสริมไปช่วยกวนอูก่อนหน้านี้ เบ้งตัดจึงแปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊ก ขณะเดียวกัน เตียวจูล่ง จินปิด และคนอื่น ๆ ได้เตือนเล่าปี่ให้ควรมุ่งไปที่การโจมตีโจผีแทนที่จะเป็นซุนกวน แต่เล่าปี่ปฏิเสธคำแนะนำ ฝ่ายเบ้งตัดเห็นว่าเล่าปี่ไม่ได้เตรียมการป้องกันทางด้านวุยก๊กที่เข้มแข็งเพียงพอ จึงเสนอแผนกับโจผีให้โจมตีเมืองห้องเหลง, ซงหยง และซีเฉิง เล่าฮองบุตรบุญธรรมของเล่าปี่ต่อสู้ป้องกันฝ่ายข้าศึกแต่ถูกผู้ใต้บังคับบัญชาทรยศและพ่ายแพ้ไป เมื่อเล่าฮองกลับไปยังเมืองเซงโต๋ เล่าปี่โกรธเล่าฮองเรื่องที่เล่าฮองพ่ายแพ้และเรื่องที่เล่าฮองไม่ส่งกองกำลังเสริมไปช่วยกวนอูในปี ค.ศ. 219 เล่าปี่จึงสั่งให้นำตัวเล่าฮองไปประหารชีวิต ในปี ค.ศ. 221 เล่าปี่สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิและก่อตั้งรัฐจ๊กก๊ก เล่าปี่อ้างเจตนาของตนว่าเพื่อรักษาเชื้อสายของราชวงศ์ฮั่นให้ดำรงอยู่ต่อไป เล่าปี่ตั้งให้เล่าเสี้ยนบุตรชายเป็นรัชทายาท

พ่ายแพ้และสวรรคต

[แก้]
สุสานของเล่าปี่

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 222 เล่าปี่นำทัพโดยตนเองยกไปโจมตีซุนกวนเพื่อแก้แค้นให้กวนอูและยึดอาณาเขตในมณฑลเกงจิ๋วที่ถูกยึดไปคืนมา โดยให้จูกัดเหลียงอยู่ดูแลราชการในเมืองเซงโต๋ ซุนกวนส่งหนังสือขอสงบศึกแต่เล่าปี่ปฏิเสธ แม้ว่าเตียวหุยจะถูกผู้ใต้บังคับบัญชาสังหารในช่วงต้นของการศึก แต่ในช่วงแรกเล่าปี่ก็ยังคงทำศึกได้ชัยในเบื้องต้นต่อแม่ทัพของซุนกวนที่จีกุ๋ย จนกระทั่งลกซุนแม่ทัพหน้าของกองทัพซุนกวนมีคำสั่งให้ถอยทัพไปยังอิเหลง (ปัจจุบันคือเมืองอี๋ชาง มณฑลหูเป่ย์) ลกซุนตั้งมั่นอยู่ที่แห่งนั้นและปฏิเสธที่จะเข้ารบกับข้าศึก[19]

ขณะนั้นเป็นฤดูร้อน ทหารของจ๊กก๊กตั้งค่ายตลอดเส้นทางการบุกรุกและเกิดความอ้อนล้าจากอากาศร้อน เล่าปี่จึงย้ายค่ายเข้าไปตั้งในปาเพื่อให้ได้ร่มเงาและสั่งให้อุยก๋วนนำทัพเรือไปตั้งค่ายอยู่นอกป่า ฝ่ายลกซุนคาดการณ์ว่าฝ่ายเล่าปี่ คงจะไม่มีการเข้าโจมตีโดยฉับพลัน จึงมีคำสั่งให้โจมตีกลับโดยการจุดไฟเผาค่ายของกองทัพจ๊กก๊กซึ่งติดต่อถึงกันไปยังค่ายอื่นด้วยรั้วไม้ ค่าย 40 แห่งของกองทัพเล่าปี่ถูกเผาทำลายในการโจมตีด้วยไฟ กองกำลังที่เหลืออยู่แตกพ่ายหนีไปทางทิศตะวันตกของเนินเขาม้าอั๋ว (ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอิเหลง) และตั้งแนวป้องกัน ลกซุนนำทัพไล่ตามมาและล้อมเล่าปี่ไว้ที่นั้นก่อนที่ทหารของเล่าปี่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้ เล่าปี่หนีออกมาได้และถอยไปถึงเมืองเป๊กเต้ โดยเล่าปี่สั่งให้ทหารทิ้งเสื้อเกราะแล้วจุดไฟเผาให้เป็นแนวป้องกันขัดขวางการไล่ตามของข้าศึก[20]

เล่าปี่สวรรคตที่เมืองเป๊กเต้ในปี ค.ศ. 223 ฤดูร้อน ก่อนที่จะสวรรคต เล่าปี่ได้ตั้งให้จูกัดเหลียงและลิเงียมเป็นผู้สำเร็จราชการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือเล่าเสี้ยน ร่างของเล่าปี่ถูกนำกลับไปเมืองเซงโต๋และฝังไว้ที่หุ้ยเหลง (惠陵 ฮุ่ยหลิง; ปัจจุบันอยู่ที่ชานเมืองด้านใต้ของเมืองเฉิงตู) ในอีกสี่เดือนหลังจากนั้น เล่าปี่ได้รับพระราชสมัญญานามว่า พระเจ้าเลียดห้องเต้ (เจาเลี่ยหฺวางตี้) เล่าเสี้ยนขึ้นสืบราชสมบัติเป็นจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กแทน ภายหลังจูกัดเหลียงได้สงบศึกกับซุนกวนและคืนความเป็นพันธมิตรซุน-เล่าเพื่อต่อต้านโจผี

พระราชวงศ์

[แก้]
แจกันสมัยราชวงศ์ชิง มีภาพเหตุการณ์การแต่งงานของเล่าปี่

ในนิยาย สามก๊ก

[แก้]
ภาพพิมพ์ของเล่าปี่จากนิยายอิงประวัติศาสตร์สามก๊กที่ตีพิมพ์ในสมัยราชวงศ์ชิง (สวมเสื้อคลุมและหมวกแบบบัณฑิตในช่วงราชวงศ์จีนยุคกลาง ซึ่งผิดยุคสมัยกับความเป็นจริง)

สามก๊ก เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 มีเนื้อเรื่องที่อ้างอิงจากบุคคลและเหตุการณ์ช่วงก่อนและระหว่างยุคสามก๊กของจีน เขียนขึ้นโดยล่อกวนตง (หลัวกว้านจง) เมื่อภายหลังมากกว่า 1,000 ปีจากยุคสามก๊ก นิยายได้รวบรวมนิทานพื้นบ้านและบทละครงิ้วจำนวนมากเพื่อสร้างเป็นบุคลิกลักษณะของเล่าปี่ ซึ่งนิยายแสดงบุคลิกลักษณะของเล่าปี่ว่าเป็นผู้นำที่มีจิตเมตตาและรักความเป็นธรรมประกอบกับความเป็นผู้มีบุญญาบารมี (เรียกว่า เต๋อ 德 ในภาษาจีน)[21] เป็นผู้สร้างรัฐขึ้นจากพื้นฐานของค่านิยมในลัทธิขงจื๊อ จุดนี้สอดคล้องกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาที่นิยายถูกเขียนขึ้น นอกจากนี้นิยายยังเน้นย้ำถึงความที่เล่าปี่มีความเกี่ยวพันเป็นเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์ฮั่นแม้เป็นความเกี่ยวพันอย่างห่าง ๆ ทำให้เกิดข้อถกเถียงถึงเรื่องความชอบธรรมในการครองราชย์ของเล่าปี่ ในนิยาย เล่าปี่ใช้กระบี่คู่ที่เรียกว่า ซฺวางกู่เจี้ยน (雙股劍) เป็นอาวุธ

ดูเนื้อเรื่องส่วนหนึ่งที่เสริมแต่งขึ้นในนิยายสามก๊กที่เกี่ยวข้องกับเล่าปี่ตามรายการต่อไปนี้:

ความนิยมในรูปแบบอื่น ๆ

[แก้]
ภาพยนตร์
ละครโทรทัศน์
  • ละครโทรทัศน์ เรื่อง สามก๊ก ของประเทศจีน ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นการเชิดชูและยกย่องวรรณกรรมอมตะของจีนเรื่องสามก๊ก ในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการถ่ายทอดเรื่องราวของเล่าปี่ตั้งแต่ยังเป็นสามัญชนจนกระทั่งสวรรคตที่เมืองเป๊กเต้ โดย ซุนกวินจ้าน นักแสดงชาวจีนที่รับบทเล่าปี่
  • สามก๊ก เป็นละครที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2553 มีการถ่ายทอดเรื่องราวของเล่าปี่ตั้งแต่สาบานเป็นพี่น้องกับกวนอูเตียวหุยจนกระทั่งเสียชีวิต แสดงโดย Yu Hewei
การ์ตูน
  • ในการ์ตูนไทย สามก๊ก มหาสนุก ผลงานการ์ตูนสามก๊กของสุชาติ พรหมรุ่งโรจน์ ได้มีการกล่าวถึงเล่าปี่ด้วยเช่นกัน
  • และในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง 'อินาสึมะ อีเลฟเวน Go chrono stone' เล่าปี่ได้ปรากฏตัวในช่วงที่พวกเท็นมะ (พระเอกของเรื่อง) ได้ทำการย้อนเวลาออกตามหา 11 ผู้สุดยอดในประวัติศาสตร์ เพื่อนำพลังของท่านเหล่านั้นมาใช้ในการกอบกู้ฟุตบอลคืนจากองค์กรร้ายที่ต้องการพรากฟุตบอลไปจากทุกคน โดยเมื่อพวกเท็นมะเดินทางมาถึงในยุคสามก๊กก็ได้พบกับเล่าปี่ และผู้ที่ได้รับพลังของเล่าปี่นั้นคือ 'ชินสุเกะ' เพื่อนสนิทของเท็นมะ
วิดีโอเกม
  • เล่าปี่เป็นตัวละครแบบบังคับได้ในเกมซีรีส์ Dynasty Warriors โดยจัดเป็นหัวหน้าแห่งจ๊กก๊ก และปรากฏในทุก ๆ เกมของซีรีส์ ฝ่ายเล่าปี่จะเป็นฝ่ายสีเขียว และมีสัญลักษณ์คือดอกท้อ ซึ่งแสดงถีงการสาบานเป็นพี่น้องของเล่าปี่
  • เล่าปี่เป็นตัวละครในเกมซีรีส์ Romance of the Three Kingdoms ซึ่งสามารถเล่นบงการตัวละครเล่าปี่ได้ สามารถอยู่ในตำแหน่งต่างกันออกไปได้ อาทิ เจ้าเมือง ผู้ครองมณฑล ไปตลอดจนถึงฮ่องเต้ ซึ่งฝ่ายเล่าปี่ปรากฏเป็นฝ่ายสีเขียว ในเกมนั้น เล่าปี่ ถึงจะมีความสามารถสูงกว่าตัวละครอื่น ๆ อย่างมาก แต่การเล่นจะค่อนข้างยาก และเหมาะสำหรับผู้เล่นที่เชี่ยวชาญแล้ว แสดงถึงชีวิตที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ของเล่าปี่ในประวัติศาสตร์จริง เล่าปี่ เป็นตัวละครที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ใน Total War: Three Kingdoms เขาเป็นหัวหน้าฝ่ายและเป็นหนึ่งในฮีโร่ระดับผู้บัญชาการในกลุ่มของเขา  เป้าหมายสูงสุดของ เล่าปี่ คือการรักษาสายเลือดของราชวงศ์ฮั่นก่อตั้งอาณาจักร Shu-han และพยายามรวมประเทศจีนทั้งหมดเข้าด้วยกันภายใต้การปกครองของเขา
  • เล่าปี่เป็นตัวละครในเกม Destiny of an Emperor

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 1 บรรยายความถึงเล่าปี่เมื่อเริ่มมีบทบาทว่า "แลเมืองตุ้นก้วนมีชายคนหนึ่งชื่อเล่าปี่ เมื่อน้อยชื่อเหี้ยนเต๊ก"[2] โดยระบุว่า "เหี้ยนเต๊ก" เป็นชื่อในวัยเด็กของเล่าปี่ แต่ในความเป็นจริงชื่อรองเป็นชื่อที่ตั้งเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ (เมื่ออายุ 20 ปีตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)
  2. ตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์จีน ไม่มีจักรพรรดิผู้ประสบความสำเร็จพระองค์ใดเลยที่ปกครองด้วยลัทธิขงจื๊อแท้ ๆ (แม้มีบางพระองค์ที่ปกครองโดยนิตินิยมแท้ ๆ) ในงานศึกษาหลายชิ้นเช่น Political Reality of Transforming Legalism by Confucianism in the Western Han Dynasty as Seen from Selection System โดย Wang Baoding หรือ Aspects of Legalist Philosophy and the Law in Ancient China: The Chi'an and Han Dynasties and Rediscovered Manuscript of Mawangdui and Shuihudi โดย Matthew August LeFande ได้ระบุว่าราชวงศ์จีนโบราณก่อนราชวงศ์ฉินส่วนใหญ่ปกครองโดยใช้ลัทธิขงจื๊อและนิตินิยมแบบผสมผสานกัน
  3. เพงงวนก๋วนตั้งอยู่บนพรมแดนระหว่างอาณาเขตของอ้วนเสี้ยวและกองซุนจ้าน เป็นเมืองเดียวที่อ้วนถำควบคุมก่อนจะขยายอาณาเขต เต๊งไก๋มีตำแหน่งเป็นผู้ตรวจการมณฑลเฉงจิ๋วภายใต้กองซุนจ้าน และเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของเล่าปี่
  4. เล่าต้ายคนนี้ไม่ได้คนเดียวกันกับเล่าต้าย (ชื่อรอง กงชาน) ข้าหลวงมณฑลกุนจิ๋วซึ่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 192

อ้างอิง

[แก้]

อ้างอิงจากสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ) เล่มที่ 32

[แก้]
  1. (身長七尺五寸,垂手下膝,顧自見其耳。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
  2. (先主姓劉,諱備,字玄德,涿郡涿縣人,漢景帝子中山靖王勝之後也。勝子貞,元狩六年封涿縣陸城亭侯,坐酎金失侯,因家焉。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.

อ้างอิงจากอรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้)

[แก้]

อ้างอิงจากสามก๊กจี่ เล่มอื่น ๆ

[แก้]

อ้างอิงจากหฺวาหยางกั๋วจื้อ

[แก้]
  1. (布目先主曰:「大耳兒最叵信者也。」) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 6.
  2. (公曰:「大耳翁未之覺也。」) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 6.

อ้างอิงอื่น ๆ

[แก้]
  1. de Crespigny, Rafe (2007). A biographical dictionary of Later Han to the Three Kingdoms (23–220 AD). Brill. p. 478. ISBN 978-90-04-15605-0.
  2. "สามก๊ก ตอนที่ ๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ February 28, 2024.
  3. Crowell, Bill (2006). "Sanguo zhi 32 (Shu 2): Biography of Liu Bei" (ภาษาอังกฤษ). {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  4. (生得身長七尺五寸,兩耳垂肩,雙手過膝,目能自顧其耳,面如冠玉,唇如塗脂) สามก๊ก ตอนที่ 1.
  5. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 1
  6. de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. p. 478. ISBN 9789004156050.
  7. de Crespigny, Rafe (2007). A biographical dictionary of Later Han to the Three Kingdoms (23–220 AD). Brill. p. 1075. ISBN 978-90-04-15605-0.
  8. de Crespigny, Rafe (2007). A biographical dictionary of Later Han to the Three Kingdoms (23–220 AD). Brill. p. 760. ISBN 978-90-04-15605-0.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 de Crespigny, Rafe (2006). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms (23-220 AD). Leiden: Brill. pp. 1012–1013. ISBN 9789047411840. สืบค้นเมื่อ 27 January 2019.
  10. (時先主自有兵千餘人及幽州烏丸雜胡騎,又略得饑民數千人。既到,謙以丹楊兵四千益先主,先主遂去楷歸謙。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
  11. (群说备曰:“袁术尚强,今东,必与之争) สามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  12. (獻帝春秋曰:陳登等遣使詣袁紹曰:「天降災沴,禍臻鄙州,州將殂殞,生民無主,恐懼奸雄一旦承隙,以貽盟主日昃之憂,輒共奉故平原相劉備府君以為宗主,永使百姓知有依歸。方今寇難縱橫,不遑釋甲,謹遣下吏奔告於執事。」紹答曰:「劉玄德弘雅有信義,今徐州樂戴之,誠副所望也。」) อรรถาธิบายจากเซี่ยนตี้ชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
  13. (英雄記曰:備軍在廣陵,飢餓困踧,吏士大小自相噉食,窮餓侵逼,欲還小沛,遂使吏請降布。布令備還州,並勢擊術。具刺史車馬僮僕,發遣備妻子部曲家屬於泗水上,祖道相樂。) อรรถธาธิบายจากอิงสฺยงจี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
  14. (九州春秋曰:備住荊州數年,嘗於表坐起至廁,見髀裡肉生,慨然流涕。還坐,表怪問備,備曰:「吾常身不離鞍,髀肉皆消。今不復騎,髀裡肉生。日月若馳,老將至矣,而功業不建,是以悲耳。」) อรรถาธิบายจากจิ่วโจวชุนชิวสามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
  15. (先主北到葭萌,未即討魯,厚樹恩德,以收眾心。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
  16. (先主遣人迎超,超將兵徑到城下。城中震怖) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
  17. (城中尚有精兵三萬人,谷帛支一年,吏民咸欲死戰。璋言:「父子在州二十餘年,無恩德以加百姓。百姓攻戰三年,肌膏草野者,以璋故也,何心能安!」遂開城出降,群下莫不流涕。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 31.
  18. (及曹公至,先主斂眾拒險,終不交鋒,積月不拔,亡者日多。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
  19. (車騎將軍張飛為其左右所害。初,先主忿孫權之襲關羽,將東征,秋七月,遂帥諸軍伐吳。孫權遣書請和,先主盛怒不許,吳將陸議、李異、劉阿等屯巫、秭歸;將軍吳班、馮習自巫攻破異等,軍次秭歸,武陵五谿蠻夷遣使請兵。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
  20. (備因夜遁,驛人自擔燒鐃鎧斷後,僅得入白帝城。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 26.
  21. Roberts 1991, p. 942

บรรณานุกรม

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]
ก่อนหน้า เล่าปี่ ถัดไป
จักรพรรดิฮั่นเซี่ยนตี้
(ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก)
จักรพรรดิจีน
จ๊กก๊ก

(ค.ศ. 221–223)
จักรพรรดิฮั่นเซี่ยวหวยตี้
(พระเจ้าเล่าเสี้ยน)
ตำแหน่งใหม่ อ๋องแห่งฮันต๋ง
(ค.ศ. 218–221)
เลื่อนตำแหน่งเป็นจักรพรรดิ



อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "อรรถาธิบายสามก๊กจี่" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="อรรถาธิบายสามก๊กจี่"/> ที่สอดคล้องกัน