ข้ามไปเนื้อหา

หองจูเปียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จักรพรรดิฮั่นเซ่า)
หองจูเปียน / เล่าเปียน (หลิว เปี้ยน)
劉辯
จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่น
ครองราชย์15 พฤษภาคม – 28 กันยายน ค.ศ. 189
ก่อนหน้าพระเจ้าเลนเต้
ถัดไปพระเจ้าเหี้ยนเต้
ผู้สำเร็จราชการโฮเฮา
โฮจิ๋น
ตั๋งโต๊ะ
อ๋องแห่งฮองหลง (弘農王 หงหนงหวาง)
ครองราชย์28 กันยายน ค.ศ. 189 – 6 มีนาคม ค.ศ. 190
ประสูติค.ศ. 176
สวรรคต6 มีนาคม 190 (อายุ 13–14)
พระชายาถังจี
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: เล่า (劉 หลิว)
ชื่อตัว: เปียน (辯 เปี้ยน)
พระสมัญญานาม
อ๋องหฺวายแห่งฮองหลง (弘農懷王 หงหนง-หฺวายหวาง)
ราชวงศ์ราชวงศ์ฮั่น
พระราชบิดาพระเจ้าเลนเต้
พระราชมารดาโฮเฮา
เล่าเปียน (หลิว เปี้ยน)
อักษรจีนตัวเต็ม劉辯
อักษรจีนตัวย่อ刘辩
อ๋องแห่งฮองหลง (หงหนงหวาง)
อักษรจีนตัวเต็ม弘農王
อักษรจีนตัวย่อ弘农王
จักรพรรดิฮั่นเช่าตี้
อักษรจีนตัวเต็ม漢少帝
อักษรจีนตัวย่อ汉少帝

เล่าเปียน (ค.ศ. 176[a] – 6 มีนาคม ค.ศ. 190) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หลิว เปี้ยน (จีน: 劉辯; พินอิน: Liú Biàn) เป็นที่รู้จักในประเทศไทยในพระนามที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า หองจูเปียน หรือในภาษาจีนกลางว่า หฺวางจื่อเปี้ยน (จีน: 皇子辯; พินอิน: Huángzǐ Biàn) มีความหมายว่า "ราชบุตรเปียน (辯 เปี้ยน)" นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นที่รู้จักในพระนามว่า จักรพรรดิฮั่นเช่าตี้ (จีน: 漢少帝; พินอิน: Hàn Shàodì) และ อ๋องแห่งฮองหลง หรือ หงหนงหวาง (จีน: 弘農王; พินอิน: Hóngnóng Wáng) เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 13 ของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกในประวัติศาสตร์จีน พระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิขณะพระชนมายุ 13 พรรษาหลังการสวรรคตของพระเจ้าเลนเต้พระบิดา และปกครองเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมถึง 28 กันยายน ค.ศ. 189 ก่อนถูกปลดจากตำแหน่ง หลังจากนั้นพระองค์ถูกลดฐานันดรศักดิ์ลงเป็น "อ๋องแห่งฮองหลง" พระนามในฐานะจักรพรรดิของพระองค์คือ "เช่าตี้" (แปลว่า "จักรพรรดิน้อย") ซึ่งยังเป็นพระนามที่ใช้เรียกจักรพรรดิพระองค์อื่นที่ครองราชย์เป็นเวลาสั้นมาก ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 190 พระองค์ถูกปลงพระชนม์ด้วยยาพิษโดยตั๋งโต๊ะขุนศึกผู้ปลดพระองค์จากตำแหน่งจักรพรรดิและตั้งหองจูเหียบหรือเล่าเหียบ (พระเจ้าเหี้ยนเต้) พระอนุชาต่างมารดาของพระองค์ขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน

ภูมิหลัง

[แก้]

หองจูเปียนประสูติใน ค.ศ. 176 พระบิดา คือ หลิว หง (劉宏) ซึ่งขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเลนเต้ พระมารดาคือโฮเฮา ในเวลาที่ประสูตินั้น หองจูเปียนเป็นพระโอรสพระองค์เดียวของพระเจ้าเลนเต้ เพราะพระองค์อื่น ๆ สิ้นพระชนม์ไปแต่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งเป็นเหตุให้พระเจ้าเลนเต้รับสั่งให้นักบวชในลัทธิเต๋านาม ฉื่อ จื๋อเหมี่ยว (史子眇) นำหองจูเปียนไปเลี้ยงไว้ เพื่อป้องกันโชคร้ายเหมือนพระโอรสพระองค์ก่อน ๆ และพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่หองจูเปียนว่า "ฉื่อโหว" (史侯; แปลว่า "โหว(แซ่)ฉื่อ")[1][2]

การประสูติของหองจูเปียน ทำให้พระมารดาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดินีมเหสี ตำแหน่ง "ฮองเฮา" (皇后 หฺวางโฮ่ว) การสถาปนามีขึ้นใน ค.ศ. 180[3]

ต่อมาใน ค.ศ. 181 พระสนมพระองค์หนึ่งของพระเจ้าเลนเต้คืออองบีหยิน (王美人 หวางเหม่ย์เหริน) ประสูติพระโอรสอีกพระองค์ให้แก่พระเจ้าเลนเต้คือหองจูเหียบ ทำให้โฮเฮาริษยา และวางยาพิษอองบีหยินจนอองบีหยินถึงแก่ความตาย พระมารดาของพระเจ้าเลนเต้คือตังไทฮอ (董太后 ต่งไท่โฮ่ว) จึงทรงนำหองจูเปียนผู้เป็นหลานไปเลี้ยงดูแทน เป็นเหตุให้พระเจ้าเลนเต้พระราชทานบรรดาศักดิ์แก่หองจูเหียบว่า "ต่งโหว" (董侯; แปลว่า "โหว(แซ่)ต่ง")[4]

เมื่อผู้คนเรียกร้องให้พระเจ้าเลนเต้ทรงกำหนดรัชทายาท พระเจ้าเลนเต้ทรงลังเลระหว่างหองจูเปียน กับหองจูเหียบ เพราะหองจูเปียนทรงด้อยความสามารถ มีพระนิสัยเหลาะแหละ ไม่อาจเป็นที่เคารพนับถือของราษฎรได้ พระเจ้าเลนเต้มีพระประสงค์จะให้หองจูเหียบได้เป็นรัชทายาทมากกว่า แต่ก็ทรงพระวิตกว่า ถ้าทรงเลือกหองจูเปียน พระมารดาของหองจูเปียนคือโฮเฮา กับพี่ชายของโฮเฮาคือโฮจิ๋นซึ่งคุมกองทัพในตำแหน่งมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) จะต้องเข้ามาก้าวก่ายเป็นแน่ สุดท้ายแล้ว พระเจ้าเลนเต้จึงทรงปล่อยให้ตำแหน่งรัชทายาทว่างไว้เช่นนั้น[5]

การครองราชย์

[แก้]

ใน ค.ศ. 189 พระเจ้าเลนเต้ประชวรหนัก ทรงฝากฝังหองจูเหียบไว้กับขันทีคนสนิทคือเกียนสิด ให้เกียนสิดช่วยอุปถัมภ์ค้ำชูด้วย ครั้นสิ้นพระเจ้าเลนเต้แล้ว เกียนสิดพยายามล่อลวงให้โฮจิ๋นเข้ามาในพระราชวัง จะได้ฆ่าโฮจิ๋น เปิดทางสะดวกให้หองจูเหียบได้ขึ้นครองราชย์ แต่ไม่สำเร็จ โฮจิ๋นชิงสถาปนาหองจูเปียน พระชันษา 13 ปี ขึ้นเป็นจักรพรรดิพระองค์ใหม่ได้ก่อน โดยมีโฮจิ๋นในฐานะมหาขุนพลกับอ้วนหงุย (袁隗 ยฺเหวียน เหว่ย์) ในฐานะราชครู (太傅 ไท่ฟู่) ช่วยกันสำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่วนน้องสาวของโฮจิ๋นคือโฮเฮาผู้เป็นสมเด็จพระชนนีช่วยทำนุบำรุงประคองราชการแผ่นดิน[6][7]

โฮจิ๋นเองเมื่อทราบว่าเกียนสิดประสงค์จะเอาชีวิตตนแล้ว ในฤดูร้อน ค.ศ. 189 โฮจิ๋นก็จับเกียนสิดประหาร[8] หลายเดือนให้หลัง อ้วนเสี้ยวเสนอให้โฮจิ๋น ปราบปรามกลุ่มขันทีในราชสำนัก เพื่อรวบอำนาจ แต่โฮเฮาทรงคัดค้าน โฮจิ๋นจึงเลื่อนแผนการออกไปก่อน แล้วเรียกขุนพลในภูมิภาคให้นำทัพเข้านครหลวงลกเอี๋ยงมาปราบปรามขันทีแทน ด้วยหวังว่า กลุ่มอำนาจจากภูมิภาคจะทำให้โฮเฮาจะทรงเลิกคัดค้านได้ แต่โฮเฮาก็ยังทรงอยู่ฝ่ายขันที[9] ส่วนกลุ่มขันทีเมื่อทราบถึงเจตนาของโฮจิ๋นแล้ว ก็ปลอมพระเสาวนีย์โฮเฮาเรียกโฮจิ๋น เข้ามาในพระราชฐาน และซุ่มทำร้ายโฮจิ๋น จนโฮจิ๋นถึงแก่ความตาย[10]

เมื่อโฮจิ๋น ถูกลอบฆ่าเช่นนั้น ผู้ใต้บัญชาของโฮจิ๋น คืออ้วนเสี้ยว, อ้วนสุด, เง่าของ (吳匡 อู๋ ควาง), จาง จาง (張璋), และคนอื่น ๆ นำสรรพกำลังบุกเข้าพระราชวังไปประหารขันทีทั้งสิ้น แต่ก็ได้ประหารบุคคลอื่น ๆ ที่คล้ายขันทีไปด้วย เช่น บุรุษที่ไม่ไว้เครา ทำให้หลาย ๆ คนต้องเปลื้องกางเกงต่อหน้าทหารที่กำลังโกรธเกรี้ยว เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้ถูกตอนอวัยวะเพศ มิได้เป็นขันที ในเวลาชุลมุนนั้นเอง ขันทีจับโฮเฮา หองจูเปียน และหองจูเหียบ เป็นองค์ประกัน และพยายามหลบหนีออกจากพระราชวัง ขุนพลโลติดสกัดขันทีต๋วนกุย (段珪 ตฺว้าน กุย) และช่วยโฮเฮาไว้ได้ ส่วนหองจูเปียนและหองจูเหียบถูกพาออกนอกพระราชวัง[11] นอกจากนี้ โฮเบี้ยว (何苗 เหอ เหมียว) น้องชายของโฮจิ๋น ที่เห็นใจขันที ถูกขุนพลเง่าของกับตั๋งบุ่น (董旻 ต่ง หมิน) ฆ่าทิ้งเสีย และในคราวนั้น มีผู้ล้มตายกว่า 2,000 คน[12]

ขุนพลโลติดกับบินของ (閔貢 หมิ่น ก้ง) ติดตามไปพบหองจูเปียนและหองจูเหียบริมลำน้ำ จึงอารักขากลับพระราชวัง[13] ขบวนเสด็จมาพบกองทัพมณฑลเลียงจิ๋วของตั๋งโต๊ะ ที่กำลังเดินทางเข้าพระนครตามคำสั่งของโฮจิ๋น หองจูเปียนตกพระทัยจนมิอาจตรัสเป็นภาษาได้ แต่หองจูเหียบตรัสอธิบายสถานการณ์ได้อย่างคล่องแคล่ว และทรงมีขวัญกำลังใจดี สมจะเป็นผู้นำได้ ทำให้ตั๋งโต๊ะประทับใจ และเริ่มคิดจะถอดหองจูเปียนออกจากราชบัลลังก์ แล้วยกหองจูเหียบขึ้นแทน

การพ้นจากราชสมบัติ

[แก้]

เมื่อตั๋งโต๊ะนำพาขบวนเสด็จกลับพระนครแล้ว ตั๋งโต๊ะอาศัยโอกาสที่ราชสำนักวุ่นวาย เข้ายึดอำนาจการปกครอง ถอดหองจูเปียนออกจากราชสมบัติ ยกหองจูเหียบขึ้นเป็นจักรพรรดิแทนซึ่งในประวัติศาสตร์เป็นที่รู้จักพระนาม "พระเจ้าเหี้ยนเต้" ส่วนหองจูเปียนนั้น ให้เป็น "อ๋องแห่งฮองหลง" ต่อมาในปีนั้นเอง ตั๋งโต๊ะ ส่งคนไปวางยาพิษฆ่าโฮเฮาสิ้นพระชนม์อยู่ในวังหย่งอัน (永安宮)[14][15]

ต้นปี ค.ศ. 190 ขุนศึกรวมกำลังกันมาปราบปรามตั๋งโต๊ะ เพื่อปลดปล่อยราชสำนักจากเงื้อมมือตั๋งโต๊ะ ตั๋งโต๊ะเริ่มวิตกว่าขุนพลเหล่านั้นจะยกหองจูเปียนกลับสู่ราชบัลลังก์ ซึ่งเป็นการสั่นคลอนความชอบธรรมของตนในฐานะผู้สถาปนาจักรพรรดิพระองค์ใหม่ เมื่อการรวมกำลังเริ่มแล้วหนึ่งเดือน ตั๋งโต๊ะส่งคนสนิทคือลิยูไปบีบให้หองจูเปียนเสวยยาพิษปลงพระชนม์พระองค์เอง พระศพฝังไว้ ณ สุสานซึ่งทำไว้สำหรับขันทีเตียวต๋ง และภายหลังมีการเฉลิมพระนามเป็น "อ๋องหฺวายแห่งฮองหลง" (弘農懷王 หงหนง-หฺวายหวาง)

รัชศก

[แก้]
  • "เจาหนิง" (昭寧) กินเวลาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 189 จนถึงวันที่ 28 กันยายน ปีเดียวกัน

ครอบครัว

[แก้]

พระชายา:

หมายเหตุ

[แก้]
  1. บันทึกประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ระบุว่าหองจูเปียนประสูติในปี ค.ศ. 176 แต่โฮ่วฮั่นชูระบุในบทประวัติของโฮเฮาว่าหองจูเปียนสิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุ 17 พรรษาในปี ค.ศ. 190 ซึ่งหมายความว่าพระองค์ประสูติในปี ค.ศ. 173 เนื่องจากปี ค.ศ. 176 ปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์บ่อยครั้งกว่า จึงอนุมานว่าน่าจะเป็นปีที่ถูกต้อง

อ้างอิง

[แก้]
  1. (長七尺一寸。生皇子辯,養於史道人家,號曰史侯。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 10 (บรรพ 2).
  2. (道人謂道術之人也。獻帝春秋曰:「靈帝數失子,不敢正名,養道人史子眇家,號曰史侯。」) อรรถาธิบายในโฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 10 (บรรพ 2).
  3. (光和三年,立為皇后。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 10 (บรรพ 2).
  4. (四年,生皇子恊,后遂酖殺美人。 ... 董太后自養協,號曰董侯。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 10 (บรรพ 2).
  5. (初,何皇后生皇子辯,王貴人生皇子協。羣臣請立太子,帝以辯輕佻無威儀,不可為人主,然皇后有寵,且進又居重權,故乆不決。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 69.
  6. (六年,帝疾篤,屬協於蹇碩。碩旣受遺詔,且素輕忌於進兄弟,及帝崩,碩時在內,欲先誅進而立協。及進從外入,碩司馬潘隱與進早舊,迎而目之。進驚,馳從儳道歸營,引兵入屯百郡邸,因稱疾不入。碩謀不行,皇子辯乃即位,何太后臨朝,進與太傅袁隗輔政,錄尚書事。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 69.
  7. (中平六年,帝崩,皇子辯即位,尊后為皇太后。太后臨朝。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 10 (บรรพ 2).
  8. (進素知中官天下所疾,兼忿蹇碩圖己,及秉朝政,陰規誅之。 ... 進乃使黃門令收碩,誅之,因領其屯兵。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 69.
  9. (袁紹復說進曰:「前竇武欲誅內寵而反為所害者, ... 我柰何楚楚與士人對共事乎?」進難違太后意,且欲誅其放縱者。紹以為中官親近至尊,出入號令,今不悉廢,後必為患。 ... 紹等又為畫策,多召四方猛將及諸豪傑,使並引兵向京城,以脅太后。進然之。 ... 進謀積日,頗泄,中官懼而思變。 ... 子婦言於舞陽君,入白太后,乃詔諸常侍皆復入直。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 69.
  10. (八月,進入長樂白太后,請盡誅諸常侍以下,選三署郎入守宦官廬。諸宦官相謂曰:「大將軍稱疾不臨喪,不送葬,今欻入省,此意何為?竇氏事竟復起邪?」又張讓等使人潛聽,具聞其語,乃率常侍段珪、畢嵐等數十人,持兵竊自側闥入,伏省中。及進出,因詐以太后詔召進。入坐省闥,讓等詰進曰:「天下憒憒,亦非獨我曹罪也。先帝甞與太后不快,幾至成敗,我曹涕泣救解,各出家財千萬為禮,和恱上意,但欲託卿門戶耳。今乃欲滅我曹種族,不亦太甚乎?卿言省內穢濁,公卿以下忠清者為誰?」於是尚方監渠穆拔劔斬進於嘉德殿前。讓、珪等為詔,以故太尉樊陵為司隷校尉,少府許相為河南尹。尚書得詔板,疑之,曰:「請大將軍出共議。」中黃門以進頭擲與尚書,曰:「何進謀反,已伏誅矣。」) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 69.
  11. (進部曲將吳匡、張璋,素所親幸,在外聞進被害,欲將兵入宮,宮閤閉。袁術與匡共斫攻之,中黃門持兵守閤。會日暮,術因燒南宮九龍門及東西宮,欲以脅出讓等。讓等入白太后,言大將軍兵反,燒宮,攻尚書闥,因將太后、天子及陳留王,又劫省內官屬,從複道走北宮。尚書盧植執戈於閣道䆫下,仰數段珪。段珪等懼,乃釋太后。太后投閣得免。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 69.
  12. (匡遂引兵與董卓弟奉車都尉旻攻殺苗,弃其屍於苑中。紹遂閉北宮門,勒兵捕宦者,無少長皆殺之。或有無須而誤死者,至自發露然後得免。死者二千餘人。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 69.
  13. (張讓、段珪等困迫,遂將帝與陳留王數十人步出穀門,奔小平津。公卿並出平樂觀,無得從者,唯尚書盧植夜馳河上,王允遣河南中部掾閔貢隨植後。貢至,手劔斬數人,餘皆投河而死。明日,公卿百官乃奉迎天子還宮,以貢為郎中,封都亭侯。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 69.
  14. (董卓遂廢帝,又迫殺太后,殺舞陽君,何氏遂亡,而漢室亦自此敗亂。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 69.
  15. (并州牧董卓被徵,將兵入洛陽,陵虐朝庭,遂廢少帝為弘農王而立協,是為獻帝。 ... 董卓又議太后踧迫永樂宮,至令憂死,逆婦姑之禮,乃遷於永安宮,因進酖,弒而崩。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 10 (บรรพ 2).

บรรณานุกรม

[แก้]
ก่อนหน้า หองจูเปียน ถัดไป
พระเจ้าเลนเต้ จักรพรรดิจีน
(ค.ศ. 189)
พระเจ้าเหี้ยนเต้