ข้ามไปเนื้อหา

ซัวเอี๋ยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไช่ เหวินจี)
ซัวเอี๋ยม
ภาพเขียนชุด ร้อยเรียงมณีสะคราญ (畫麗珠萃秀)
อักษรจีนตัวเต็ม蔡琰
อักษรจีนตัวย่อ蔡琰
ฮั่นยฺหวี่พินอินCài Yǎn

ซัวเอี๋ยม มีชื่อในสำเนียงจีนกลางว่าไช่ เหยี่ยน (จีน: 蔡琰; พินอิน: Cài Yǎn; เกิดเมื่อ 168 เสียชีวิตเมื่อ 224)[1] ชื่อรองว่า เหวินจี (文姬) เป็นที่รู้จักในชื่อ ไช่ เหวินจี (蔡文姬) เป็นกวีและคีตกวีหญิงชาวจีนซึ่งมีชีวิตอยู่ในปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เป็นธิดาของซัวหยง (蔡邕 ไช่ ยง)

เดิมนางมีชื่อรองว่า เจาจี (昭姫) แต่เปลี่ยนเป็น เหวินจี ในช่วงราชวงศ์จิ้น เพราะอักษร "เจา" พ้องกับชื่อของซือหม่า เจาหรือสุมาเจียว (司馬昭) บิดาของสุมาเอี๋ยน (司馬炎 ซือหม่า เหยียน) ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จิ้น

ในช่วงหนึ่งของชีวิต นางถูกชาวซฺยงหนูจับเป็นเชลย และอยู่กับชนเหล่านั้นจนกระทั่ง ค.ศ. 207 เมื่อโจโฉ (曹操 เฉา เชา) อัครมหาเสนาบดีแห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ใช้เงินมหาศาลไถ่นางคืนมาตุภูมิ

ชีวิต

[แก้]

ซัวหยง บิดาของซัวเอี๋ยม เป็นบัณฑิตจากอำเภอยฺหวี่ (圉縣) แห่งแคว้นเฉินหลิว (陳留郡) ปัจจุบันคืออำเภอฉี่ (杞县) แห่งนครไคเฟิง (开封市)[2]

ซัวเอี๋ยม สมรสกับชายชื่อ เว่ย์ จ้งเต้า (衛仲道) ใน ค.ศ. 192 แต่ชายผู้นั้นสิ้นชีวิตไปในไม่ช้าหลังแต่งงาน ยังไม่ทันมีบุตรด้วยกันแม้แต่คนเดียว[2]

ราว ค.ศ. 194–195 ประเทศจีนมีราชวงศ์ฮั่นตะวันออกปกครอง ชาวซฺยงหนูเข้ารุกราน และจับได้ซัวเอี๋ยมกลับไป ระหว่างเป็นเชลยอยู่นั้น ซัวเอี๋ยมสมรสกับหลิว เป้า (劉豹) ประมุขชาวซฺยงหนู ทั้งคู่มีบุตรชายด้วยกันสองคน[3]

สิบสองปีให้หลัง โจโฉ อัครมหาเสนาบดีฮั่น ใช้เงินจำนวนมากไถ่ซัวเอี๋ยมกลับคืนมาแทนซัวหยงผู้เป็นบิดา ซัวเอี๋ยมจึงได้กลับบ้านเกิดเมืองนอน แต่ให้บุตรชายทั้งสองอยู่ยังแดนซฺยงหนูต่อไป เหตุที่โจโฉไถ่นางกลับมานั้น เพราะต้องการหาคนแซ่ซัวมาไหว้สรวงผีสกุลซัว และนางเป็นคนเดียวในสกุลนี้ที่ยังมีชีวิตอยู่[3]

เมื่อกลับมาตุภูมิแล้ว ซัวเอี๋ยมสมรสเป็นครั้งที่สาม ครานี้กับชายชื่อตังกี๋ (董祀 ต่ง ซื่อ) เป็นข้าราชการที่เมืองบ้านเกิดของนาง แต่ภายหลังตังกี๋กระทำความผิดฉกรรจ์ ซัวเอี๋ยมจึงขอร้องให้โจโฉช่วยสามี หรือไม่ก็หาสามีใหม่ให้นาง เวลานั้นโจโฉกำลังเลี้ยงโต๊ะ ท่าทีและคำร้องขอของนางทำให้แขกเหรื่อของโจโฉแตกตื่น โจโฉจึงยอมออกคำสั่งอภัยโทษให้ตังกี๋[3]

มรณกรรมของซัวเอี๋ยมไม่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ มีแต่ร้อยกรองสองเรื่องที่นางประพันธ์ขึ้นในบั้นปลายชีวิตเพื่อพรรณนาความระส่ำระสายที่นางต้องเผชิญในช่วงนั้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. de Crespigny, Rafe (2007). A biographical dictionary of Later Han to the Three Kingdoms (23–220 AD). Brill. p. 29. ISBN 978-90-04-15605-0.
  2. 2.0 2.1 Hans H. Frankel, "Cai Yan and the Poems Attributed to Her". Chinese Literature: Essays, Articles, Reviews, Vol. 5, No. 1/2 (Jul 1983), pp. 133-156
  3. 3.0 3.1 3.2 Chang, Saussy and Kwong, p. 22.