ข้ามไปเนื้อหา

ตำนานหนังสือสามก๊ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำนานหนังสือสามก๊ก  
หน้าปกหนังสือตำนานหนังสือสามก๊กตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2471
ผู้ประพันธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ประเทศสยาม
ภาษาไทย
หัวเรื่องสามก๊ก
ประเภทสารคดี
สำนักพิมพ์โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
วันที่พิมพ์พ.ศ. 2471
ชนิดสื่อสิ่งพิมพ์

ตำนานหนังสือสามก๊ก เป็นพระนิพนธ์เชิงสารคดีในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์เป็นภาคผนวกประกอบหนังสือสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ตรวจชำระโดยราชบัณฑิตยสภาและตีพิมพ์เป็นของประทานในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวีในปี พ.ศ. 2471 ตำนานหนังสือสามก๊กมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติการประพันธ์นวนิยายสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ประวัติการแปลเป็นภาษาไทย และประวัติการตีพิมพ์ในประเทศสยาม

ประวัติ[แก้]

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคพระปับผาสะพิการเมื่อวันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2470[1] พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างพระเมรุที่ท้องสนามหลวง มีกำหนดจะพระราชทานเพลิงพระศพในช่วงต้นปี พ.ศ. 2471

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทรงพระปรารภจะบำเพ็ญพระกุศลสนองพระคุณพระชนนี จึงทรงปรึกษากับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งเวลานั้นทรงดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภาถึงเรื่องหนังสือที่จะตีพิมพ์เป็นของประทานในงานพระราชทานเพลิงพระศพ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงพระดำริจะให้ตีพิมพ์เรื่องสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) จึงทรงมอบหมายให้ราชบัณฑิตยสภารับหน้าที่ชำระต้นฉบับและตีพิมพ์

ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกราบทูลรับการมอบหมายจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ทรงพิจารณาถึงเรื่องการเขียนคำนำสำหรับหนังสือสามก๊ก ทรงเห็นว่าการเขียนความรู้เกี่ยวกับสามก๊กนั้นมีมากเกินกว่าจะเขียนในคำนำ แล้วทรงรำลึกถึงเมื่อครั้งที่พระองค์พระนิพนธ์ตำนานละครอิเหนาเป็นภาคผนวกของบทละครเรื่องอิเหนาพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่ตีพิมพ์เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวีทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ 60 พรรษาเมื่อปี พ.ศ. 2465 จึงทรงพระดำริจะทรงพระนิพนธ์ตำนานหนังสือสามก๊กเป็นภาคผนวกให้หนังสือสามก๊กเหมือนอย่างที่เคยทรงพระนิพนธ์ตำนานละครอิเหนาเป็นภาคผนวกของบทละครเรื่องอิเหนา[2]

ตำนานหนังสือสามก๊กได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรในปี พ.ศ. 2471

เนื้อหา[แก้]

  1. ว่าด้วยหนังสือสามก๊ก
  2. ว่าด้วยแปลหนังสือสามก๊ก
  3. ว่าด้วยสำนวนแปลหนังสือสามก๊ก
  4. ว่าด้วยพิมพ์หนังสือสามก๊กภาษาไทย
  5. ว่าด้วยรูปเรื่องสามก๊ก
  6. ว่าด้วยวินิจฉัยเรื่องสามก๊ก
  7. รูปภาพสามก๊ก
  8. ว่าด้วยแผนที่สามก๊ก

ส่วนท้ายของหนังสือตำนานสามก๊กเป็นรายชื่อภูมิประเทศในเรื่องสามก๊กซึ่งจัดทำโดยพระเจนจีนอักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์ เก็บถาวร 2009-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 44, ตอน ง, 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2470, หน้า 1198
  2. "คำนำของตำนานหนังสือสามก๊ก". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ June 7, 2023.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]