พิภพ ธงไชย
พิภพ ธงไชย | |
---|---|
พิภพ ธงไชย ใน พ.ศ. 2552 | |
เกิด | อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง | 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1945
อาชีพ | ผู้นำองค์การนอกภาครัฐ |
ปีปฏิบัติงาน | 2535-2558 |
พิภพ ธงไชย เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 ที่ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง หนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
ประวัติการศึกษา
[แก้]จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนนันทศึกษา กรุงเทพฯ แล้วเรียนต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ปก.ศ สูง) ที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จ ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ระหว่างศึกษาอยู่ที่นี่ได้ทำกิจกรรมและได้เป็นนายกองค์การนักศึกษาในปี พ.ศ. 2510 หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) จากวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
การทำงานด้านสังคม
[แก้]จุดเปลี่ยนที่สำคัญช่วงแรกคือ การได้ใกล้ชิดกับพี่ชายหัวก้าวหน้าที่ชื่อ กล้าหาญ ตระกูลแสง ทำให้ได้อ่านหนังสือนวนิยายและบทความที่ก้าวหน้ายุคนั้น จนสามารถเปลี่ยนความคิดให้เห็นความอยุติธรรมของสังคม
จุดเปลี่ยนที่สำคัญช่วง 2 คือ การเข้าร่วมสัมมนา “ปัญหาจริยธรรมกับการพัฒนาประเทศ” ที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน (ส.น.ค.) ในช่วงเผด็จการทหาร ปี พ.ศ. 2509 ทำให้ได้พบกับ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งเพื่อนชื่อ นิรันดร์ ประดิษฐ์กุล ประธาน ส.น.ค. จัดกลุ่มให้พบกัน หลังจากนั้นจึงถูกชักชวนมาทำกิจกรรมนอกสถาบัน ตั้งกลุ่มปริทัศน์เสวนา ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาหลายสถาบัน และหลายคนเป็นเพื่อนสนิทกันมาจนทุกวันนี้ อีกทั้งยังเข้าร่วมทำหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา ฉบับที่ 2 รวมถึงทำหนังสือ ศูนย์ศึกษา ของสมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทย
หลังจากเรียนจบ ป.ก.ศ.สูง ไปเป็นครูระยะหนึ่ง จึงถูกชวนมาเป็นเลขานุการอาจารย์สุลักษณ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการ ที่บริษัท ไทยวัฒนาพาณิชย์ จำกัด แล้วเข้าร่วมทำหนังสือ “วิทยาสาร”/“วิทยาสารปริทัศน์” ที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการ
ต่อมาได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิโกมลคีมทอง ทำหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่มี สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ ในขณะที่อยู่ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ในปี พ.ศ. 2517 ได้ก่อตั้ง หนังสือพิมพ์ชาวบ้าน ของมูลนิธิโกมลคีมทอง และทำวารสาร ปาจารยสาร เพื่อวิพากษณ์วิจารณ์ระบบการศึกษาไทย ทำหนังสือพิมพ์ ประชาชาติรายสัปดาห์ และร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์ จัตุรัสรายสัปดาห์ กับ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ และเพื่อน ๆ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์
จุดเปลี่ยนช่วงที่ 3 ในปี 2512 ได้ใช้ชีวิตสมรสกับคุณรัชนี โชติกล่อม โดยต่อมามีบุตรร่วมกน 2 คน คือ กานต์และธาร
หลังจากนั้น ก็มีบทบาทในการเคลื่อนไหวการเมืองสมัยนั้น คือ เป็น 1 ใน 100 ผู้ร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และเป็นกรรมการองค์กรประชาธิปไตยเพื่อประชาชน (ปช.ปช.) กับ นายธีรยุทธ บุญมี และร่วมเดินขบวนรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ต่อต้านฐานทัพอเมริกา ต่อต้านสงครามเวียดนาม และต่อต้านเผด็จการทหาร จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อ พ.ศ. 2516
จุดเปลี่ยนช่วงที่ 4 ในปี พ.ศ. 2520 ได้เดินทางไปประเทศอังกฤษ ร่วมก่อตั้งมูลนิธิมิตรไทย กับ อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์, อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์, นิวัติ กองเพียร และจอน อึ๊งภากรณ์ (ลูกชายอาจารย์ป๋วย) เมื่อกลับจากประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. 2521 ได้ก่อตั้ง โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ตามแนวคิดหนังสือชื่อ ซัมเมอร์ฮิล ที่ รังสรรค์ ธนะพระพันธุ์ แนะนำ ซึ่งเป็นการเสนอการศึกษาที่หลุดจากระบบการศึกษาของรัฐ ที่เรียกว่า “การศึกษาทางเลือก” ในปัจจุบัน
จุดเปลี่ยนช่วงที่ 5 ในปี 2522 ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเด็กกับนายแพทย์ประเวศ วะสี, นายเทพศิริ สุขโสภา และนางศิริพร สโครบาเน็ค โดยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการมูลนิธิเด็ก หลังจากนั้น ร่วมเป็นกรรมการมูลนิธิหมอชาวบ้าน และยังเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารข่าวครูไทย ของสมาพันธ์ครูประถมศึกษาแห่งประเทศไทย อีกด้วย ปี พ.ศ. 2527 ได้รับทุนบีบีซี ไปดูงานการศึกษาทางเลือกในประเทศอังกฤษ และดูงานที่โรงเรียนซัมเมอร์ฮิล รวมถึงโรงเรียนวอลดอฟ ที่ประเทศเยอรมนี และ โรงเรียนมองเตสซอรี่ ที่ประเทศฝรั่งเศส และรับเป็นเลขานุการมูลนิธิเด็ก ในปี พ.ศ. 2529 หลังจากนั้น ก็เข้าร่วมการสัมมนาการศึกษาทางเลือก และการเมืองทางเลือกในประเทศต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมรับเป็นกรรมการอาศรมวงศ์สนิท ของมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป กับเป็นกรรมการเลขานุการมูลนิธิจินดา-อิ่ม-จำเรียง ภังคานนท์
จุดเปลี่ยนช่วงที่ 6 ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ได้เคลื่อนไหวในนามมูลนิธิเด็ก ร่วมกับ น.พ.เสม พริ้งพวงแก้ว และกรรมการผู้ใหญ่ของมูลนิธิ ตั้งกองทุน “รวมทุนน้ำใจไทย” เพื่อช่วยเหลือญาติวีรชนพฤษภา 35 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ต่อมาได้รับเป็นรองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองตามแนวทางอุดมคติของตนเองและของคณะกรรมการ คือการเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน บนหลักการ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” โดยใช้วิธีวิพากษ์วิจารณ์ ร่วมชุมนุม ร่วมเดินขบวน ร่วมดื้อแพ่ง และจัดสัมมนาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง การพัฒนา และการศึกษา หลังจากนั้น ร่วมก่อตั้งและเป็นกรรมการกลุ่มเพื่อนประชาชนและร่วมก่อตั้งเสมสิกขาลัย สถาบันการศึกษาทางเลือกในระดับอุดมศึกษา เป็นกรรมการจัดงาน 50 ปี สันติภาพไทย, งาน 100 ปี ชาตะกาล ปรีดี พนมยงค์, งาน 100 ปี ชาตะกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์, เป็นกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำสถาบันราชภัฎกาญจนบุรี และสถาบันราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง, ที่ปรึกษาเลขาธิการ Asian Forum Human Rights and Development (Forum Asia) และสมัชชาคนจน
กิจกรรมอื่น ๆ ที่เสริมสร้างมติสาธารณะ คือ เป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุ รายการ "สู่อนาคต" ร่วมกับ ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ ทางสถานีวิทยุ มก. AM Stereo ทุกวันเสาร์, รายการ "เส้นทางสู่ประชาธิปไตย" ร่วมกับนายชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ ทางสถานีวิทยุทหารอากาศ F.M. 102.5 ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ และของสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น ทุกวันเสาร์และอาทิตย์อีกด้วย
จุดเปลี่ยนช่วงที่ 7 คือการได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เช่น สมัชชาคนจน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านกรูด-บ่อนอก และกลุ่มจะนะ ที่จังหวัดสงขลาไปพร้อม ๆ กับทำงานอาสาสมัครในฐานะ เลขาธิการและประธานของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ส่วนงานอื่น ๆ ได้แก่ การเป็นกรรมการกลางและประธานฝ่ายรณรงค์และเผยแพร่องค์กรกลางการเลือกตั้ง 4, เป็นกรรมการร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, เป็นประธานร่างแผนพัฒนาการศึกษาของสถาบันราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง, เป็นรองผู้อำนวยการสถาบันปรีดี พนมยงค์ และเป็นเลขาธิการคณะกรรมการอนุสรณ์สถานวีรชน
ในช่วงที่เป็น ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เคลื่อนไหวรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนในปี พ.ศ. 2540 กับกลุ่ม 30 องค์กรประชาธิปไตย และเข้าร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ เคลื่อนไหวต่อต้านการวางท่อก๊าซไทย-พม่า ในรัฐบาลชวน 2 ด้วย ทำให้ได้ร่วมงานกับนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ติดต่อมาจนถึงงานในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ และยังเข้าร่วมก่อตั้ง 30 องค์กรพัฒนาเอกชน กับร่วมก่อตั้ง คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เพื่อต่อสู้ความเป็นอิสระของสื่อและวิทยุชุมชน
ภาระหน้าที่การงานที่สำคัญหลังรัฐธรรมนูญ 2540
[แก้]- กรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ของรัฐสภา)
- กรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- ผู้แทนองค์การพัฒนาเอกชนเข้าร่วมการประชุมประจำปี ของคณะกรรมมาธิการสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ ครั้งที่ 57 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
- ได้รับทุนมูลนิธินิปปอนเพื่อปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (The Nippon Foundation Fellowships for Asain Public Intellectuals – API Fellowships)
- เลขาธิการและประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
- กรรมการมูลนิธิโกมล คีมทอง
- กรรมการมูลนิธิหมอชาวบ้าน
- กรรมการเลขานุการจินดา – อิ่ม – จำเรียง ภังคานนท์
- กรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์
- ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และกลุ่มเพื่อนประชาชน
- ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์กาญจน์, ที่ปรึกษาคณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา’ 35
- ที่ปรึกษาสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย FORUM – ASIA
- กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการอำนวยจัดงานฉลอง 100 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (ของรัฐบาล)
- กรรมการจัดงานฉลอง 100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์
- จบหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักวิชการระดับสูง (รุ่นที่ 2) สถาบันพระปกเกล้า
หน้าที่การงานในปัจจุบัน
[แก้]- กรรมการเลขานุการมูลนิธิเด็ก
- กรรมการผู้จัดการสถาบันการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม มูลนิธิเด็ก
- บรรณาธิการอำนวยการสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก
- ประธานสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
- ประธานสถาบันการ์ตูนไทย
- กรรมการบริหารสถาบันเด็ก
- ผู้จัดการ โรงเรียนอนุบาลหมู่บ้านเด็ก สานรัก
- กรรมการชี้ทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2547 – 2548
- กรรมการเหรัญญิกมูลนิธิสุขภาพไทย
- กรรมการมูลนิธิโกมล คีมทอง
- ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
- ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
- กรรมการ คณะกรรมการอำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก
- กรรมการอำนวยการ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย
- กรรมการกองทุนคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน
- สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
[แก้]นายพิภพเป็น 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ส่วนแกนนำที่เหลืออีก 4 คน ได้แก่
- สนธิ ลิ้มทองกุล
- พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
- สมศักดิ์ โกศัยสุข
- ผศ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
- ส่วน ดร.สุริยะใส กตะศิลา เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2552 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[1]
- พ.ศ. 2550 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2022-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๒๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-05-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๘ ข หน้า ๑๑, ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
- หนังสือ 60 ปี พิภพ ธงไชย “ทางเลือก” ที่ข้ามพ้นวาทกรรม
- ชีวประวัติ เก็บถาวร 2005-01-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (PDF)
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2488
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- บุคคลจากอำเภอป่าโมก
- นักเคลื่อนไหวชาวไทย
- ครูชาวไทย
- นักการศึกษาชาวไทย
- นักวิชาการชาวไทย
- การเมืองภาคประชาชน
- พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
- บุคคลจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง
- นายกองค์การนักศึกษาในประเทศไทย
- บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ม.