จิระนันท์ พิตรปรีชา
จิระนันท์ พิตรปรีชา | |
---|---|
จิระนันท์ พิตรปรีชา ในพิธีเปิดกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 38 พ.ศ. 2552 | |
เกิด | จิระนันท์ พิตรปรีชา 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 จังหวัดตรัง ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
ศิษย์เก่า | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยคอร์แนล |
อาชีพ | นักเขียน, ผู้จัดทำบทบรรยายภาพยนตร์ |
มีชื่อเสียงจาก | อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 |
คู่สมรส | เสกสรรค์ ประเสริฐกุล |
บุตร | 2 คน |
จิระนันท์ ประเสริฐกุล หรือเป็นที่รู้จักในชื่อสกุลเดิมว่า จิระนันท์ พิตรปรีชา (เกิด 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498) เป็นอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา ปัจจุบันเป็นนักเขียน และผู้จัดทำบทบรรยายภาพยนตร์ ได้รับรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2532 จากกวีนิพนธ์เรื่อง ใบไม้ที่หายไป
ประวัติ
[แก้]จิระนันท์ มีชื่อเล่นว่า "จี๊ด" เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 ที่ตำบลนาบินหลา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง มีความสนใจในการประพันธ์ตั้งแต่เด็ก จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง และจบการศึกษาระดับมัธยมตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นศึกษาต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ แผนกเตรียมเภสัช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเลือกให้เป็นดาวจุฬา พ.ศ. 2515
การเคลื่อนไหวทางการเมือง
[แก้]ใน พ.ศ. 2516 เป็นหนึ่งในผู้นำนักศึกษาที่ร่วมโครงการส่งเสริมประชาธิปไตยของศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตย (ศสป.) ซึ่งรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยการดูแลของทบวงมหาวิทยาลัย โดยมีประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ เป็นรัฐมนตรี ทั้งนี้ได้รับการชักชวนจากวิรัติ ศักดิ์จิรภาพงศ์ ผู้นำนักศึกษาที่เป็นนิสิตจุฬาฯ รุ่นพี่ กิจกรรมแรก คือ การจัดอบรมอาสาสมัครส่งเสริมประชาธิปไตยที่จิตตภาวันวิทยาลัย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2517 หลังจากนั้นเธอได้มีบทบาทในการแต่งคำประพันธ์เพื่ออ่านบนเวทีการชุมนุมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานและกลุ่มสตรีต่างๆ ในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน และต้องหนีเข้าป่าไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จิระนันท์มีชื่อจัดตั้งในป่าว่า สหายใบไม้ โดยมีที่มาจากชื่อเล่น (พยาธิใบไม้ หรือ พยาธิตัวจี๊ด)
หลังจากออกจากป่าในปี พ.ศ. 2523 จิระนันท์ได้ไปศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม ปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ และปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชีวิตครอบครัว
[แก้]ชีวิตครอบครัว สมรสกับ รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หรือ สหายไท อดีตผู้นำนักศึกษาที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกันตั้งแต่อยู่ในป่า ทั้งคู่มีบุตรชาย 2 คน ชื่อ แทนไท ประเสริฐกุล และ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล[1]
นอกจากนี้เรื่องราวของเธอกับสามีได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน เมื่อปี พ.ศ. 2544 และเรื่อง ฟ้าใสใจชื่นบาน พ.ศ. 2552
ผลงานหนังสือ
[แก้]- ใบไม้ที่หายไป, สำนักพิมพ์อ่านไทย, เมษายน พ.ศ. 2532 (รางวัลซีไรต์)
หนังสือเกี่ยวกับการแปลบทบรรยายภาพยนตร์
[แก้]มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการจัดทำบทแปล และการใช้ภาษาอังกฤษ
- ชะโงกดูเงา, แพรวเอนเตอร์เทน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ. 2541
ชุดหม้อแกงลิง
- หม้อแกงลิง “คำให้การของคนให้คำ”, แพรวเอนเตอร์เทน, กันยายน พ.ศ. 2541
- หม้อแกงลิง (2) “จารึกขอบจอ”, เอ.อาร์.บิซิเนส เพรส, พฤศจิกายน พ.ศ. 2546
- หม้อแกงลิง (3) “รำพึงถึงบทหนัง” , เอ.อาร์.บิซิเนส เพรส, ธันวาคม พ.ศ. 2546
ผลงานอื่นๆ
[แก้]ได้รับเชิญมาเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันขับเสภา ในรายการคุณพระช่วย ช่วงศิลปินเสภาวายุภักดิ์[2]
ผลงานภาพยนตร์
บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน (พ่อสอนไว้) รับบทเป็นแม่หมอน้ำแข็ง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สัมภาษณ์ : วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล[ลิงก์เสีย] sarakadee.com
- ↑ ศิลปินเสภาวายุภักดิ์
หมวดหมู่:นักคตินิยมสิทธิสตรีชาวไทย
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2498
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- บุคคลจากอำเภอเมืองตรัง
- นักเคลื่อนไหวชาวไทย
- นักเขียนชาวไทย
- กวีชาวไทย
- นักประพันธ์รางวัลซีไรต์ชาวไทย
- บุคคลจากโรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง
- บุคคลจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- บุคคลจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
- บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา
- บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา
- พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
- ศิลปินจากจังหวัดตรัง