ข้ามไปเนื้อหา

แผนฟินแลนด์

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวปราศรัยในการชุมนุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549

แผนฟินแลนด์ หรือ ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์ หรือ ปฏิญญาฟินแลนด์ เป็นทฤษฎีสมคบคิดที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกโดยปราโมทย์ นาครทรรพ ทางหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ซึ่งสนธิ ลิ้มทองกุลและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนำมาเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในบทความของปราโมทย์ นาครทรรพ ระบุว่า แผนนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2542 ที่ประเทศฟินแลนด์ กล่าวหาว่าทักษิณ ชินวัตรได้สมคบคิดกับอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพื่อล้มล้างราชวงศ์จักรี ยึดอำนาจการปกครองราชอาณาจักรไทย ก่อตั้งสาธารณรัฐคอมมิวนิสต์ และล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ทฤษฎีนี้ได้ส่งผลกระทบในด้านลบ และสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของทักษิณ แม้ไม่เคยมีผู้ใดแสดงหลักฐานพิสูจน์ว่าแผนสมคบคิดนี้มีจริง ทักษิณและอดีตผู้นำและผู้ร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ปฏิเสธในเวลาต่อมาว่าแผนสมคบคิดนี้ไม่มีจริง และฟ้องร้องดำเนินคดีกับปราโมทย์ นาครทรรพ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองซึ่งก่อรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ได้อ้างแผนการดังกล่าวเป็นสาเหตุของรัฐประหาร[1]

จนเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกปราโมทย์ นาครทรรพเป็นเวลา 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ดูหมิ่นด้วยการโฆษณาจากกรณีดังกล่าว

เบื้องหลัง

[แก้]

การประท้วงขับไล่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรขยายวงกว้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 2548-2549 โดยมีหลายปัจจัยประกอบกันเป็นเหตุผลในการขับไล่ รวมไปถึงการปรากฏตัวในพิธีทำบุญที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 การยกเลิกรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ซึ่งมีสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นผู้ดำเนินรายการในเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 แผนที่จะส่งมอบการควบคุมโรงเรียนรัฐบาลให้แก่ประชาคมท้องถิ่นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 การขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 และการกล่าวหาว่าทักษิณมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำลายศาลท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2549[2][3][4][5][6]

ทฤษฎีสมคบคิด

[แก้]

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 ก่อนหน้างานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ซึ่งสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นเจ้าของนั้น ได้ตีพิมพ์รายละเอียดของทฤษฎี "แผนฟินแลนด์" "ปฏิญญาฟินแลนด์" หรือ "ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์" ซึ่งเนื้อหาในบทความกล่าวหาว่าทักษิณ ชินวัตรและอดีตผู้นำนักศึกษาในขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงพุทธทศวรรษ 2510 ได้พบปะกันในประเทศฟินแลนด์ใน พ.ศ. 2542 เพื่อริเริ่มแผนการเพื่อจัดตั้งการปกครองแบบพรรคการเมืองเดียว ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาปนาสาธารณรัฐและจัดการเลือกตั้งสำหรับผู้ว่าราชการจังหวัด บทความ "ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์:แผนเปลี่ยนการปกครองไทย ?" ความยาว 5 ตอน เขียนขึ้นโดยปราโมทย์ นาครทรรพ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 17, 19, 22, 23 และ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับทักษิณได้ขยายรวมไปถึงสมาชิกพรรคไทยรักไทยคนอื่นด้วย ได้แก่ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, จาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี, สุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, อดิศร เพียงเกษ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งทั้งหมดเคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา[7]

ทฤษฎีดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงหลายคน รวมไปถึงผู้นำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชัยอนันต์ สมุทวณิช สมาชิกวุฒิสภา โสภณ สุภาพงษ์ นักเขียน และผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ถาวร เสนเนียม[8][9]

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีดังกล่าวไม่มีหลักฐานยืนยันเพื่อสนับสนันการกล่าวหาดังกล่าวแต่อย่างใด สนธิกล่าวว่าแหล่งข่าวของเขาเป็นผู้ "เอาใจออกห่าง" ในพรรคไทยรักไทย[10]

รายละเอียด

[แก้]

เนื้อหาของแผนฟินแลนด์ ระบุว่าทักษิณ ชินวัตรได้สมคบคิดกับอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยึดอำนาจการปกครอง และก่อตั้งรัฐคอมมิวนิสต์ ประเด็นสำคัญที่กล่าวถึงในแผนฟินแลนด์ ประกอบด้วย

  1. การสร้างระบบรัฐบาลแบบพรรคการเมืองเดียว
  2. การเปลี่ยนระบบราชการให้อยู่ภายใต้อำนาจสั่งการของพรรคการเมือง
  3. การโอนกิจการของรัฐเป็นของเอกชน ("การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ") ให้กลายเป็นของภาคเอกชน เพื่อสร้างระบบทุนนิยมที่สมบูรณ์แบบ พร้อมที่จะพลิกเป็นระบบคอมมิวนิสต์
  4. การลดทอนความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย
  5. การสร้างระบบพรรคการเมืองแบบรวมอำนาจที่กรรมการบริหารพรรคและผู้นำพรรค[11]

การดัดแปลงและการปฏิเสธ

[แก้]

จากทฤษฎีดั้งเดิม ได้มีการดัดแปลงทฤษฎีดังกล่าวเป็นอื่นด้วย รวมไปถึงการอ้างว่าแผนการนี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มโพ้นทะเลซึ่งมีเจตนาจะล้มล้างราชวงศ์จักรี การอ้างว่าการยุบรวมสื่อเป็นองค์ประกอบหลักของทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าว การอ้างว่าแผนการดังกล่าวมีเจตนาที่จะรักษารูปแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จนเหลือเพียงในนามเท่านั้น และการอ้างว่ากฎหมายได้รับการออกแบบมาเพื่อการกระจายอำนาจการปกครองออกจากศูนย์กลางไปยังจังหวัดอื่น ๆ ของไทยเพิ่มยิ่งขึ้น และการอ้างว่าทักษิณต้องการสถาปนารัฐบาลตามรูปแบบของประเทศประชาธิปไตยตะวันตก[12][9]

การดัดแปลงอีกแบบหนึ่งอ้างว่าผู้สมรู้ร่วมคิดกับทักษิณเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งรวมไปถึง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ภูมิธรรม เวชยชัย และได้ปรับใช้ทฤษฎีของมาร์กซิสต์ดั้งเดิมเพื่อกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ของพรรคไทยรักไทยในการส่งเสริมทุนนิยม การอ้างดังกล่าวระบุว่าประเทศไทยระหว่างพุทธทศวรรษ 2510 ยังคงเป็นสังคมกึ่งศักดินา และมีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมทุนนิยมอันเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมนิยม กลุ่มคอมมิวนิสต์ได้ทำงานร่วมกับทักษิณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมของไทยเต็มตัว ทำลายสิ่งที่เหลือของยุคศักดินา และแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในขณะเดียวกับที่สร้างเผด็จการพรรคการเมืองเดียว เพื่อที่จะสร้างเผด็จการสังคมนิยมในอนาคต[13]

การกล่าวหาดังกล่าวถูกปฏิเสธจากทักษิณ ชินวัตร และผู้นำพรรคไทยรักไทย รวมไปถึงสุรพงษ์ สืบวงศ์ลีและพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช[8][14]

ผลที่ตามมา

[แก้]
ผู้ชุมนุมต่อต้านทักษิณสวมเสื้อที่มีข้อความเขียนว่า "เราจะสู้เพื่อในหลวง"

การกล่าวหาได้ส่งผลกระทบในด้านลบต่อความนิยมของทักษิณและรัฐบาล ทักษิณจำต้องใช้เวลาและทุนทางการเมืองของตน เพื่อป้องกันความเสียหาย โดยอธิบายจุดยืนของเขา และสาบานว่าเขาจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์[15]

ในบทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านทักษิณทรงอิทธิพล เดอะ เนชั่น เขียนว่า

ประเด็นที่ว่าทฤษฎีดังกล่าวมีอยู่จริงหรือไม่นั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะพิสูจน์ แต่สนธิและคนอื่น ๆ ควรจะรู้มากกว่าจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองที่ปะทุขึ้นง่ายให้เลวร้ายลงไปอีกด้วยการกล่าวหาอย่างขาดความรับผิดชอบซึ่งอาจยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังและความรุนแรงระหว่างสองฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างกัน[16]

เดอะ เนชั่นยังได้กล่าวต่อไปว่าแผนฟินแลนด์ ไม่ว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม แต่การอุทธรณ์ของราชวงศ์กลาย ๆ ก็เพียงพอที่จะสร้างความเสียหายแก่พรรคไทยรักไทย[17] นักวิจารณ์หลายคนได้เปรียบเทียบความคล้ายกันระหว่างการกล่าวหาแผนการฟินแลนด์กับการกล่าวหาที่ใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามการเดินขบวนนักเรียนในเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งในบริบทของวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานั้นอาจสร้างความชอบธรรมให้แก่การก่อรัฐประหาร[18][19][20] กองทัพไทยประสบความสำเร็จในการรัฐประหารโค่นรัฐบาลทักษิณเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งหนึ่งในคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองได้อ้างเหตุผลของรัฐประหารว่าทักษิณหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์[1]

การฟ้องร้องและคำตัดสิน

[แก้]

30 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ทักษิณ ชินวัตรพร้อมกับธนา เบญจาธิกุล ทนายความจากพรรคไทยรักไทย ได้ยื่นฟ้องสนธิ ลิ้มทองกุล บรรณาธิการ ขุนทอง ลอเสรีวานิช คอลัมนิสต์ ปราโมทย์ นาครทรรพ ผู้บริหาร เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรงค์ และเว็บมาสเตอร์ ปัญจภัทร อังคสุวรรณ ในข้อหาหมิ่นประมาท การฟ้องร้องมีเนื้อหากล่าวหาว่าบทความดังกล่าวมีเจตนาทำลายพรรคไทยรักไทยและอนาคตทางการเมืองของทักษิณโดยการทำให้สาธารณชนเชื่อว่าพรรคมีแผนการล้มล้างราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่การฟ้องร้องดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และอ้างว่าทักษิณพยายามเซ็นเซอร์สื่อ[7]

คดีแผนฟินแลนด์มีความคืบหน้าที่ศาลอาญา โดยในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2550 พยานโจทย์ได้ประกาศชื่อพยานฝ่ายโจทก์จำนวน 12 คน ระบุชื่อ สุขุม นวลสกุล เป็นพยานปากที่ 1 ร้อยตำรวจเอก นิติภูมิ นวรัตน์ เป็นพยานปากที่ 2 สมัคร สุนทรเวช เป็นพยานปากที่ 4 พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ เป็นพยานปากที่ 6[21]

25 มีนาคม พ.ศ. 2552 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1747/2549 ที่ทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องสนธิและพวกเป็นจำเลยรวม 11 คน โดยมีความเห็นว่า แม้จะมีการกล่าวถึงปฏิญญาฟินแลนด์ แต่ไม่มีการยืนยันว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะมีจริงหรือไม่ ซึ่งแม้การกล่าวเสวนาของจำเลยจะใช้ถ้อยคำที่เกินเลยไปบ้าง แต่ก็เป็นไปในลักษณะของการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และโจทก์เป็นบุคคลสาธารณะ ตัดสินยกฟ้องจำเลยทั้ง 11 ราย[22]

วันเดียวกัน ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1818/2549 ที่ทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องปราโทย์ นาครทรรพและบริษัท แมเนเจอร์ มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 5 คน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา กรณีการพิมพ์บทความ "ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์:แผนเปลี่ยนการปกครองไทย ?" ศาลพิพากษาให้จำคุกนายปราโมทย์ และนายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการรายวัน เป็นเวลา 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ส่วนจำเลยคนอื่น ศาลให้ยกฟ้องเพราะเห็นว่าไม่มีส่วนร่วมในการกระทำดังกล่าว[23]

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.1818/2549 ที่ศาลชั้นต้นพิจารณายกฟ้อง โดยโจทก์ได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลย ทั้งนี้ เพราะปราโมทย์ นาครทรรพ จำเลย กำลังพักรักษาตัวอยู่ที่ต่างประเทศ แพทย์ไม่อนุญาตให้เดินทางกลับ ศาลพิเคราะห์เห็นว่าจำเลยดังกล่าวมีเหตุจำเป็นและคู่ความทั้งหมดไม่คัดค้าน จึงนัดอ่านคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 12 มีนาคม[24]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Asian Sentinel, Thailand's Uncharted Waters เก็บถาวร 2013-01-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 19 September 2007
  2. The Nation, PM’s Office dismisses report in 'Phujadkarn' เก็บถาวร 2013-04-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 11 November 2006
  3. Freedom House, Freedom Of The Press – Thailand (2006) เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. Danielle Sabai and Jean Sanuk, International Viewpoint, Crisis in the 'Land of the Smile' เก็บถาวร 2006-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, March 2006
  5. The Star, Dreaded day dawns – despite lies and dark forces, 2 April 2006
  6. The Nation, Vandal's dad distraught เก็บถาวร 2012-01-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 23 March 2006
  7. 7.0 7.1 The Bangkok Post, "Manager sued for articles on 'Finland plot'" เก็บถาวร 2006-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 31 May 2006
  8. 8.0 8.1 The Bangkok Post, "TRT goes on offensive over 'Finland Plan'", 22 May 2006
  9. 9.0 9.1 The Nation, Thaksin clearly wanted republic, critics charge, 25 May 2006 เก็บถาวร 12 กุมภาพันธ์ 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  10. The Nation,"'Finland plot' on dangerous ground" เก็บถาวร 2007-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 25 May 2006
  11. หน้าต่างความคิด :ปฏิญญาฟินแลนด์ กับความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข่าวจากกรุงเทพธุรกิจ
  12. The Bangkok Post, "Sondhi expands on 'Finland Plan'", 21 May 2006
  13. The Nation, 'Finland plot' on dangerous ground เก็บถาวร 2007-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 25 May 2006
  14. The Nation, "TRT: No such thing as 'Finland declaration'", 22 May 2006
  15. Kavi Chongkittavorn, Thailand's Current Political Crisis seminar presentation, 7 June 2006
  16. The Nation, Hatred debases public discourse เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 27 May 2006
  17. The Nation, "Burning Issue: Finland, monarchy: a dangerous mix", May 25, 2006
  18. Demosthenes (20 September 2006). "Yep, it was a coup". Shadow of the Hegemon. สืบค้นเมื่อ 2 July 2020.
  19. Etat de droit, ความเหมือนที่แตกต่าง, 21 May 2006
  20. Bookish, The Finland Declaration, 23 May 2006
  21. "รายการยามเฝ้าแผ่นดิน ออกอากาศวันที่ 24 ตุลาคม 2550". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2007-10-25.
  22. "ยกฟ้อง สนธิหมิ่นทักษิณเปลี่ยนการปกครอง"[ลิงก์เสีย]
  23. ยกฟ้องสนธิ-คุกปราโมทย์. ทนายคลายทุกข์อ้างจากโพสต์ทูเดย์. สืบค้น 12-12-2553.
  24. เลื่อนอ่านอุทธรณ์ "สนธิ ลิ้ม" กับพวกหมิ่น "แม้ว-ทรท." ชูปฏิญญาฟินแลนด์เปลี่ยนการปกครอง

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]